ปั้นครู เปลี่ยนโลก: รวมบทความและอินโฟกราฟิก ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21 ผลงานชิ้นเอกของลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์และนักการศึกษาชั้นนำทั่วโลกเดินทางถึงมือนักอ่านชาวไทยในปีแห่งความท้าทาย เมื่อการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจและความปั่นป่วนเป็นประวัติการณ์ของกระแสการเมืองไทย มรสุมซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนกำลังนี้เผยให้เห็นบาดแผลเชิงนโยบายอันหลากหลาย โดยหนึ่งในนั้นคือนโยบายด้านการศึกษา

 

ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียนที่ถ่างกว้าง ภาระงานที่เกินกำลังครูจะแบกรับ และปัญหาสุขภาพจิตของทั้งครูและนักเรียนที่ทวีความรุนแรง เป็นเสมือนระฆังหมดยกของระบบนโยบายด้านการศึกษาที่ขาดความสอดคล้อง ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ตอบโจทย์ความผันแปรแห่งศตวรรษที่ 21 คำถามคือหากต้อง ‘ยกเครื่อง’ นโยบายด้านการศึกษาในวันนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่าแนวปฏิบัติใหม่รักษาบาดแผลเรื้อรังนี้ได้จริง

 

‘ปั้นครู เปลี่ยนโลก’ เสนอคำตอบอันรัดกุม ด้วยการตีแผ่ระบบนโยบายในห้าระบบการศึกษาแถวหน้าของโลก การันตีด้วยงานวิจัยของ OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) และผลการประเมิน PISA ได้แก่ ฟินแลนด์ แคนาดา (เฉพาะรัฐแอลเบอร์ตาและออนแทรีโอ) สิงคโปร์ ออสเตรเลีย (เฉพาะรัฐนิวเซาธ์เวลส์และวิกทอเรีย) และจีน (เฉพาะเซี่ยงไฮ้)

 

สำหรับผู้สนใจเนื้อหาในหนังสือเล่มดังกล่าว และมุ่งมั่นจะนำแนวปฏิบัติจากห้าระบบการศึกษาชั้นนำไปปรับใช้เพื่อพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สำนักพิมพ์บุ๊คสเคปเตรียมบทความนี้ไว้เพื่อคุณ!

 

ซีรีส์บทความแนะนำหนังสือและถอดบทเรียนจากหนังสือ

.

รู้จักมันสมองของทีมนโยบายการศึกษาสหรัฐฯ
ผู้เขียนหนังสือ Empowered Educators

 

รู้จักลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ (Linda Darling Hammond) ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และนักการศึกษาชาวอเมริกันซึ่งจวนเจียนจะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึงสองครั้ง

แม้เธอจะปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าว ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ก็ยังมีบทบาทสำคัญในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา โดยเป็นหนึ่งในผู้ให้คำปรึกษาด้านการศึกษาแก่ทั้งบารัก โอบามา และโจ ไบเดน ตลอดจนดำเนินการวิจัยทางการศึกษา และแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายด้านการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ

ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนักการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเธอชักชวนนักวิจัยและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั่วโลกให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเปรียบเทียบเพื่อ ‘ปั้น’ หนังสือเล่มนี้ ปั้นครู เปลี่ยนโลก จึงเป็นผลลัพธ์ของการประสานความร่วมมือระหว่างนักการศึกษาที่วิพากษ์ระบบนโยบายได้ลึกซึ้ง และให้คำแนะนำเพื่อปรับใช้ในบริบทสังคมที่แตกต่างกันได้อย่างตรงจุด

อ่าน ‘ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21’

 

แน่นอนว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพย่อมเต็มไปด้วยครูที่มีคุณภาพ ครูผู้สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล้าคิด กล้าทดลอง ครูผู้เข้าใจความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน และตระหนักว่าเด็กทุกคนมีกระบวนการเรียนรู้แตกต่างกัน คำถามคือ “เราจะสร้างครูผู้เปี่ยมศักยภาพเช่นนั้นได้อย่างไร”

การตอบคำถามนี้ไม่ง่ายนัก ทว่าลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ นักการศึกษาชั้นนำจากสแตนฟอร์ด ตอบรับโจทย์อันท้าทายด้วยการลงมือ ‘วิจัย’ นโยบายด้านการศึกษาในห้าประเทศที่มีระบบการศึกษา ‘ดีที่สุดในโลก’ ได้แก่ ฟินแลนด์ แคนาดา จีน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เด็กๆ ในประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงโอกาสและทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม

และหนังสือเล่มนี้คือผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมแห่งความทุ่มเทและความปรารถนาดีของเธอ

 

Empowered Educators: “ครู” อาชีพในฝันของเด็กนานาประเทศ

 

‘ครู’ น่าจะเป็นอาชีพในฝันของเด็กๆ หลายคน และคุณอาจจะเคยเป็นเด็กคนนั้นเช่นกัน

ทว่าการเป็นครูในระบบการศึกษาไทยอาจไม่เป็นดังที่ใครเคยวาดหวัง คุณอาจพบว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่บ่มเพาะความใฝ่รู้ ระเบียบอันรัดรึงไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คุณเปลี่ยนเป็นครูแบบที่เคยจงเกลียดจงชังทีละน้อย และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณปฏิบัติหน้าที่ได้ดีหรือยัง เพราะลำพังออกไปยืนถ่ายทอดองค์ความรู้หน้าชั้นเรียนได้ก็เต็มกลืน

อาชีพในฝันไม่อาจเป็นดังฝันในระบบการศึกษาดับฝัน แล้วระบบการศึกษา ‘ในฝัน’ เล่า อุ้มชูความฝันของว่าที่ครูตัวน้อยอย่างไร

 

Brief: เสวนาสาธารณะ “ปั้นครู เปลี่ยนโลก
ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21”

 

“ถ้าพูดแรงๆ อย่างไม่เกรงใจกัน ก็ต้องบอกว่านักเรียนของเราถูกทำให้โง่หมดทุกคน” ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เปิดประเด็นการเสวนาด้วยประโยคสั้นๆ ที่อธิบายความเป็นไปในระบบการศึกษาไทยได้หมดจด

เพื่อหาเส้นทาง ‘ไปต่อ’ ของระบบการศึกษาไทย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคปร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดวงเสวนาว่าด้วยนโยบายด้านการศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากนานาประเทศ ต่อยอดผลงานของลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ นักการศึกษาแนวหน้าจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ของวิทยากรจากหลากหลายภาคส่วนในวงการศึกษา ทั้ง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์,  รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ  ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ดำเนินรายการโดย ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่องสาม

สำรวจนโยบายเพื่อความเสมอภาคจากระบบการศึกษาชั้นนำทั่วโลก

ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ แคนาดา และจีน  ไม่ยอมให้ภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของเด็กๆ ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของพวกเขา พวกเขาเชื่อว่าโรงเรียนทุกแห่งต้องมีคุณภาพทัดเทียมกัน และโรงเรียนทุกแห่งต้องตอบสนองกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนความต้องการที่หลากหลายของเด็กๆ ได้อย่างเสมอภาค

มาถอดบทเรียนเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และเรียนรู้ว่าห้าระบบการศึกษาชั้นนำของโลกมุ่งสู่ “ความสำเร็จทางการศึกษาของเด็กๆ ทุกคน” ได้อย่างไรในบทความนี้

 

 

ซีรีส์อินโฟกราฟิก: เรียนรู้ด้วยภาพ

.

เรียนรู้ด้วยภาพ: ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูจากฟินแลนด์

 

แทบไม่มีวงสนทนาการศึกษานานาชาติใดที่ไม่มีใครพูดถึงฟินแลนด์!

ใครเล่าจะจินตนาการได้ว่าประเทศที่มีระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพ ด้วยคะแนนเฉลี่ยทุกด้านเกือบสูงที่สุดในหมู่ประเทศสมาชิก OECD (ที่ร่วมการประเมิน PISA ตลอดจนมีรัฐสวัสดิการอันเลื่องชื่อ จะเป็นประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามมหาศาล แร้นแค้น และมีระบบการศึกษาย่ำแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

แน่นอนว่าโรงเรียนในฟินแลนด์เต็มไปด้วยครูที่มีคุณภาพ และครูจะมีคุณภาพได้ก็ด้วยระบบนโยบายที่ครอบคลุมจากต้นถึงปลายน้ำ แล้วไทยจะเรียนรู้จากฟินแลนด์เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้!

 

เรียนรู้ด้วยภาพ: ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูจากออสเตรเลีย

 

รัฐนิวเซาธ์เวลส์และรัฐวิกทอเรียเป็นสองรัฐที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในออสเตรเลีย โดยประมาณร้อยละ 28 เป็นผู้มีภูมิลำเนานอกออสเตรเลีย นอกจากนี้ นักเรียนร้อยละ 6 ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ยังเป็นชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย การยกระดับความเสมอภาคจึงเป็นหัวใจของการพัฒนานโยบายด้านการศึกษาทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ

ระบบการศึกษาออสเตรเลียอาจนับว่าเปี่ยมประสิทธิภาพ ทว่ายังปรากฏความเหลื่อมล้ำในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในรัฐและภูมิภาคต่างๆ อันเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสถานภาพชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย แล้วทั้งสองรัฐจัดการความเหลื่อมล้ำในรัฐ กระทั่งเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาระดับประเทศได้อย่างไร ไทยเรียนรู้จากออสเตรเลียเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาโดยคำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์และความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้มากน้อยเพียงใด หาคำตอบได้ในบทความนี้

 

เรียนรู้ด้วยภาพ: ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูจากแคนาดา

 

ในบรรดารัฐทั้งหมดของแคนาดา รัฐแอลเบอร์ตาและรัฐออนแทรีโอซึ่งมีระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพนั้นมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมมากเป็นพิเศษ โดยนอกจากผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติ ยังมีนักเรียนชาวปฐมชาติหรือชาวพื้นเมืองแคนาดาอื่นๆ หรือที่เรียกว่า FNMI (First Nations, Métis and Inuit) จำนวนไม่น้อย

ทั้งสองรัฐมีภาษาพูดที่แตกต่างกันถึง 100 ภาษา กระนั้น ภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนสภาพทางภูมิศาสตร์อันทารุณกลับไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ด้วยรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิด เช่นเดียวกับการบริการสาธารณะสังคมอื่นๆ

แล้วไทยที่เริ่มมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมและความแตกต่างระหว่างผู้เรียนจะต่อยอดจากความสำเร็จของแคนาดาได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

เรียนรู้ด้วยภาพ: ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูจากจีน

 

ไม่นานหลังจีนเพิ่มการลงทุนในการศึกษา เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องนโยบายก็ได้รับความสนใจในวงการศึกษานานาชาติด้วยอันดับในการประเมิน PISA ซึ่งสูงลิ่ว ทั้งความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

จีนพลิกโฉมการฝึกหัดครู การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ การเรียนรู้ทางวิชาชีพ และโครงสร้างการเติบโตในอาชีพที่เน้นให้ครูผู้มีประสบการณ์มากกว่าช่วยเหลือครูใหม่ แก้ไขข้อบกพร่อง ต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม และประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์

การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของจีนนั้น ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวที่มองข้ามได้เลย

 

เรียนรู้ด้วยภาพ: ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูจากสิงคโปร์

 

สิงคโปร์ได้เผชิญหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทว่าในเวลาเพียงครึ่งศตวรรษหลังการประกาศเอกราชในปี 1965 สิงคโปร์กลับเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นประเทศซึ่งนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ปัจจุบัน ชาวสิงคโปร์ร้อยละ 75 สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา และจำนวนที่เหลือก็ได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อประกอบอาชีพที่อาศัยทักษะด้านเทคโนโลยีระดับสูงในบริษัทข้ามชาติจำนวนมหาศาลซึ่งตั้งอยู่ในประเทศ

สิงคโปร์ซึ่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยยกระดับการจัดการศึกษาของตน และสร้างระบบการศึกษาแถวหน้าของโลกในครึ่งศตวรรษได้อย่างไร คำตอบของคำถามนั้นอยู่ในบทความนี้แล้ว

 

 

 

(Dis)Empowered Educators:
ไม่มีนโยบายแห่งความหวัง หากไม่ฟังเสียงนักการศึกษา

 

กระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด ทั้งยังมี ‘นโยบายแห่งความหวัง’ จำนวนนับไม่ถ้วน เพื่อยกระดับการจัดการเรียนรู้ของเยาวชน กระนั้น ปัญหาการศึกษากลับยังเป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังที่ชวนให้ ‘หมดไฟ’ และ ‘หมดใจ’ จะแก้ไขที่สุดท่ามกลางปัญหาสารพันในประเทศ ไม่ว่าจะด้วยการนำนำนโยบายมาใช้โดยไม่คำนึงถึงบริบทการศึกษาจำเพาะ และการ ‘ไม่รับฟัง’ ปัญหาและความคิดเห็นของบุคลากรระดับปฏิบัติการ

“ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารการจัดการศึกษาในไทย ผู้กำหนดนโยบายไม่เคยถามว่าบุคลากรระดับปฏิบัติการต้องการอะไร เหมือนให้ใครก็ได้เข้ามากำหนดนโยบายด้านการศึกษา มีความคิดอย่างไรก็ชี้นิ้วบอกให้ทำ โดยไม่รู้ว่าคนอื่นๆ กำลังทำอะไร มีอะไรให้ทำบ้าง แล้วปีสองปีก็จากไป”

ร่วม ‘ฟังเสียง’ ของสามนักการศึกษาผู้มุ่งมั่น ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู และว่าที่ครู เพื่อสร้างความเข้าใจปัญหา และความร่วมมือเพื่อพัฒนานโยบายอย่างแท้จริงได้ในบทความนี้

 

 

หรืออ่านหนังสือทั้งเล่ม เพื่อความเข้าใจที่สมบูรณ์!

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Linda Darling-Hammond เขียน

ชลิดา หนูหล้า แปล

472 หน้า