
เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า
ทุกโรงเรียนต้องเป็นองค์กรต้นแบบแห่งการเรียนรู้ โดยครูและผู้บริหารโรงเรียนต้องแสวงหาแนวคิดและแนวทางใหม่ๆ ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้ของตนอย่างสม่ำเสมอ วิชาชีพทางการศึกษาต้องเป็นวิชาชีพแห่งการเรียนรู้ เช่นเดียวกับวิชาชีพที่ยึดโยงกับองค์ความรู้อื่นๆ ในอนาคต
— โก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์, 1997
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก ตลอดจนประเทศแห่งความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยมีพลเมืองต่างชาติกว่าร้อยละ 29 ของจำนวนประชากร นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นสังคมพหุภาษาและวัฒนธรรม โดยกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ชาวจีน (ร้อยละ 76) ชาวมาเลเซีย (ร้อยละ 15) และชาวอินเดีย (ร้อยละ 7.5)
แม้ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ก็มีชาวสิงคโปร์ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่งเพียงเล็กน้อย นักเรียนทุกคนจึงได้รับการสนับสนุนให้พูดได้สองภาษา และจำนวนไม่น้อยก็พูดได้มากกว่าสองภาษาด้วย
สิงคโปร์ได้เผชิญหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทว่าในเวลาเพียงครึ่งศตวรรษหลังการประกาศเอกราชในปี 1965 สิงคโปร์กลับเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นประเทศซึ่งนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ปัจจุบัน ชาวสิงคโปร์ร้อยละ 75 สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา และจำนวนที่เหลือก็ได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อประกอบอาชีพที่อาศัยทักษะด้านเทคโนโลยีระดับสูงในบริษัทข้ามชาติจำนวนมหาศาลซึ่งตั้งอยู่ในประเทศ
สิงคโปร์ซึ่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยยกระดับการจัดการศึกษาของตน และสร้างระบบการศึกษาแถวหน้าของโลกในครึ่งศตวรรษได้อย่างไร คำตอบของคำถามนั้นอยู่ในบทความนี้แล้ว
การสรรหาและคัดเลือกผู้เข้าเรียนในหลักสูตรครูสิงคโปร์
กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสถาบันการศึกษาแห่งชาติหรือ NIE (National Institute of Education) เป็นผู้ดูแลการสรรหาและฝึกหัดครูในประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่ทั้งความสามารถทางวิชาการของผู้สมัคร ทักษะการสื่อสาร และความกระตือรือร้นในวิชาชีพ โดยผู้ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินเดือนพร้อมคำมั่นว่าจะได้ประกอบอาชีพครูหลังสำเร็จการศึกษา
กระบวนการสรรหาเริ่มต้นด้วยการพิจารณาใบสมัครของผู้สมัครแต่ละคน โดยใบสมัครนั้นต้องแสดงความสามารถทางวิชาการระดับสูง โดดเด่นกว่าผู้อยู่ในวัยเดียวกัน ตลอดจนความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับเยาวชน พร้อมหลักฐานที่ชัดเจน ผู้สมัครที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาอื่นต้องมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ และผู้สมัครที่ประกอบอาชีพอื่นก็จะได้รับคำมั่นว่าเงินเดือนเริ่มต้นของพวกเขาจะไม่แตกต่างจากเมื่อประกอบอาชีพเดิม
หลังจากนั้น ผู้สมัครต้องผ่านการทดสอบข้อเขียน โดยเฉพาะทักษะการอ่านและการเขียน รวมถึงการสัมภาษณ์โดยกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนอาวุโสเพื่อทดสอบไหวพริบปฏิภาณ ผู้สมัครต้องผ่านการทดสอบภาคปฏิบัติระหว่างการสัมภาษณ์ด้วย โดยผู้สัมภาษณ์จะเฟ้นหาผู้มีทักษะการสื่อสารดี มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่น อันเป็นหัวใจของการบริการชุมชนระหว่างการฝึกหัดครู และการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียนในภายหลัง ตลอดจนมีศักยภาพในการเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน
กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสถาบันการศึกษาแห่งชาติหรือ NIE (National Institute of Education) เป็นผู้ดูแลการสรรหาและฝึกหัดครูในประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่ทั้งความสามารถทางวิชาการของผู้สมัคร ทักษะการสื่อสาร และความกระตือรือร้นในวิชาชีพ โดยผู้ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินเดือนกระทั่งพร้อมคำมั่นว่าจะได้ประกอบอาชีพครูหลังสำเร็จการศึกษา
ผู้สมัครที่ผ่านการสัมภาษณ์ต้องร่วมการปฐมนิเทศเพื่อแนะนำหลักสูตรครู หรือ ITP (Introduction to Teaching Program) ก่อนถูกส่งเข้าไปเป็นครูทดลองสอนโรงเรียน ตลอดหลายเดือนหรือหนึ่งปีในโรงเรียน ผู้สมัครจะได้รับค่าตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ และครูทดลองสอนจะปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การดูแลของครูพี่เลี้ยงในโรงเรียน (โดยมากเป็นครูผู้มีประสบการณ์มากกว่าหรือครูผู้นำ) และผู้รายงานผลการปฏิบัติงานต่อกระทรวงศึกษาธิการ (โดยมากเป็นหัวหน้าภาควิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้)
เมื่อสิ้นสุดการทดลองปฏิบัติงานแล้ว ผู้สมัครจึงจะได้รับการประเมินความเหมาะสมต่อการเป็นครู และจะเข้าเรียนในหลักสูตรครูได้เมื่อผ่านการประเมินเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ว่าที่ครูจะถูกเฝ้าสังเกตต่อไปจนสำเร็จการศึกษา และอาจถูกถอดถอนหากมีผลการปฏิบัติงานย่ำแย่ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงน้อยครั้งเท่านั้น
หลักสูตรครู
สิงคโปร์ปรับปรุงหลักสูตรครูในปี 2001 เพื่อยกระดับทักษะการจัดการเรียนรู้และองค์ความรู้ในวิชาเฉพาะของครู ตลอดจนเริ่มผลักดันหลักสูตรปริญญาโท ปัจจุบัน ครูราวสองในสามสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพหนึ่งปีหลังปริญญาตรี และหนึ่งในสามสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรครูสี่ปีโดยตรง
โครงสร้างหลักสูตรครูของสถาบันการศึกษาแห่งชาติในศตวรรษที่ 21 นั้นมุ่งฝึกหัดครูให้พร้อมดูแลนักเรียนที่มีความหลากหลาย คิดและตัดสินใจอย่างเป็นมืออาชีพขณะจัดการเรียนรู้ด้วยบทบาทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการความรู้ ผู้กระตุ้นการเรียนรู้ ผู้อำนวยความสะดวก ผู้ร่วมสืบเสาะหาความรู้ หรือผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้
กุญแจสำคัญสู่วิสัยทัศน์ข้างต้นคือการให้ความสำคัญแก่การเรียนรู้ที่เน้นการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง ร่วมกับกรอบแนวคิดการประเมินศักยภาพการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งนักการศึกษาต้องประเมิน ผล การเรียนรู้ ในฐานะ การเรียนรู้ เพื่อ การเรียนรู้ พวกเขาต้องสามารถออกแบบภาระงาน ตลอดจนการวัดและประเมินผลการศึกษาที่เหมาะสม ยิ่งกว่านั้น ครูในศตวรรษใหม่ยังต้องพัฒนาทักษะการประเมินตนเองของนักเรียน เพื่อสร้างเยาวชนที่เข้าใจตนเองและนำการเรียนรู้ของตนเองได้ด้วย
โครงสร้างหลักสูตรครูของสถาบันการศึกษาแห่งชาติในศตวรรษที่ 21 นั้นมุ่งฝึกหัดครูให้พร้อมดูแลนักเรียนที่มีความหลากหลาย คิดและตัดสินใจอย่างเป็นมืออาชีพขณะจัดการเรียนรู้ด้วยบทบาทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการความรู้ ผู้กระตุ้นการเรียนรู้ ผู้อำนวยความสะดวก ผู้ร่วมสืบเสาะหาความรู้ หรือผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้
นอกจากนี้ ผู้เรียนที่ NIE ยังต้องสร้างคุณลักษณะเชิงคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงมีส่วนร่วมในการบริการชุมชนอย่างน้อย 20 ชั่วโมงร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม โดยผู้เรียนแต่ละคนต้องสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมเมื่อการบริการชุมชนนั้นสิ้นสุด เช่น กลุ่มที่เลือกบริการผู้เป็นโรคจอตามีสารสี (Retinitis Pigmentosa: RP) ซึ่งเป็นความบกพร่องทางสายตาที่พบในประชากรชาวสิงคโปร์ถึงร้อยละ 10 ได้ระดมทุนเพื่อพัฒนาภาพสิ่งพิมพ์สำหรับผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยยืมใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ฯลฯ
ทั้งนี้ เพราะครูในสิงคโปร์ถูกคาดหวังให้เป็นมากกว่าเพียงผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้ แต่ต้องเป็นผู้ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน ครอบครัว และชุมชนด้วยนั่นอง
การแนะแนวและชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู
เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของครู ครูใหม่ทุกคนในสิงคโปร์ต้องเข้าร่วมโครงการแนะแนวครูเป็นเวลาสองปีซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงศึกษาธิการ แม้อาจกล่าวได้ว่าการแนะแนวครูในสิงคโปร์เริ่มต้นก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อพวกเขาร่วมพิธีเข็มทิศครู (Teachers’ compass ceremony) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาระงานและความคาดหวังที่มีต่อวิชาชีพก่อนเข้ารับการฝึกหัด
หลังสำเร็จการศึกษา ครูเหล่านี้ต้องผ่านการปรับพื้นฐานเพื่อกระตุ้นความเข้าใจบทบาทและความคาดหวังต่อวิชาชีพของตนอีกครั้ง และในสองปีแรกของการประกอบอาชีพก็ต้องร่วมโครงการแนะแนวที่เน้นพัฒนาการจัดการชั้นเรียน การรับมือกับผู้ปกครอง การสานสัมพันธ์กับนักเรียน การวิพากษ์การปฏิบัติการสอน ศาสตร์การจัดการเรียนรู้ ตลอดจนการวัดและประเมินผลการศึกษา และเมื่อการเดินทางตลอดสองปีสิ้นสุดลง ครูทั้งหลายก็จะร่วมงานสัมมนาครูใหม่ดังโครงสร้างการแนะแนวด้านล่าง
จากหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21 หน้า 187
การแนะแนวในสองปีแรกนั้นเน้นเพิ่มพูนองค์ความรู้ของครูใหม่ในชุมชนวิชาชีพด้วยความช่วยเหลือของผู้มีประสบการณ์มากกว่า โดยทั่วไป ครูใหม่จะมีชั่วโมงปฏิบัติการสอนเพียงร้อยละ 80 ของครูอาวุโสเพื่อพัฒนาศักยภาพของตน และครูพี่เลี้ยงต้องร่วมการฝึกอบรมเฉพาะก่อนปฏิบัติหน้าที่ด้วย
นอกจากการแนะแนวโดยครูพี่เลี้ยง สิงคโปร์ยังเชื่อในการเติบโตจากการนำการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู จึงทุ่มเทงบประมาณ ทรัพยากร และเวลา เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งสถาบันครูสิงคโปร์หรือ AST (Academy of Singapore Teachers) ตลอดจนสถาบันและศูนย์การเรียนรู้ภาษาอื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาทางวิชาชีพของครูที่นำโดยครู (by teacher for teacher) โดยหน่วยงานเหล่านี้จะร่วมมือกับครูและโรงเรียนต่างๆ ผ่านเครือข่ายครูผู้นำในสิงคโปร์ เพื่อจัดการเรียนรู้ทางวิชาชีพ สร้างสรรค์ชุมชนการเรียนรู้ พัฒนาทรัพยากรทางการศึกษาและความเชี่ยวชาญอันหลากหลาย
การแนะแนวในสองปีแรกนั้นเน้นเพิ่มพูนองค์ความรู้ของครูใหม่ในชุมชนวิชาชีพด้วยความช่วยเหลือของผู้มีประสบการณ์มากกว่า โดยทั่วไป ครูใหม่จะมีชั่วโมงปฏิบัติการสอนเพียงร้อยละ 80 ของครูอาวุโสเพื่อพัฒนาศักยภาพของตน และครูพี่เลี้ยงต้องร่วมการฝึกอบรมเฉพาะก่อนปฏิบัติหน้าที่ด้วย
AST ยังมุ่งสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียน โดยจัดการฝึกอบรมแก่กระบวนกรและให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนเหล่านี้ทั้งในและระหว่างโรงเรียน ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพระหว่างโรงเรียนหรือเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ (networked learning communities) ของสิงคโปร์จึงกว้างขวางและเข้มแข็ง นำโดยครูผู้นำในท้องถิ่นนั้นๆ
การเติบโตในอาชีพ
แนวทางการเติบโตในอาชีพของครูในสิงคโปร์นั้นยืดหยุ่น กว้างขวาง และสร้างสรรค์ โดยแบ่งเป็นสามเส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นทางผู้นำการจัดการเรียนรู้ เส้นทางผู้บริหารการศึกษา และเส้นทางผู้ชำนาญการ ดังแผนภาพด้านล่าง ซึ่งครูเปลี่ยนเส้นทางได้อย่างอิสระตามแต่ความจำเป็นและความสนใจของตน
จากหนังสือ หน้า 284
เส้นทางผู้นำการจัดการเรียนรู้
เส้นทางทั้งสามล้วนมีมาตรฐานการปฏิบัติงานแตกต่างกัน โดยเส้นทางผู้นำการจัดการเรียนรู้นั้นยึดโยงกับผลงานทางวิชาการ ครูผู้ต้องการเลื่อนตำแหน่งต้องแสดงข้อเขียนระบุเหตุผลของการเลื่อนตำแหน่ง หลักฐานแสดงการบรรลุมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ และข้อมูลประกอบหลักฐานนั้นๆ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ครูต้นแบบที่มีตำแหน่งบริหารหรือผู้ชำนาญการต้นแบบนั้นจะได้รับค่าตอบแทนเทียบเท่าผู้บริหารสถานศึกษา ดังนั้น ครูผู้เชี่ยวชาญจึงมีแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะตามความสนใจของตนอย่างแท้จริง
ขณะที่กำลังเติบโตในเส้นทางผู้นำการจัดการเรียนรู้นั้น ครูเหล่านี้จะมีบทบาทนำในโรงเรียนและในวิชาชีพ ในฐานะผู้นำศาสตร์การจัดการเรียนรู้ ครูพี่เลี้ยง และผู้นำการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยพวกเขาต้องส่งเสริมการดำเนินงานของทั้งโรงเรียนและเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ วิชาชีพทางการศึกษาในสิงคโปร์จึงเต็มไปด้วยความท้าทาย และโอกาสพัฒนาตนเองเพื่อเผชิญอุปสรรคใหม่ๆ เสมอ
เส้นทางผู้บริหารการศึกษา
ครูผู้แสดงคุณสมบัติเหมาะสมต่อการบริหารจัดการจะได้รับการเฟ้นหา บ่มเพาะ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ โดยในแต่ละปี ครูต้องร่วมการประเมินศักยภาพการเป็นผู้นำเช่นเดียวกับทักษะการจัดการเรียนรู้ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะติดตามความก้าวหน้าของครูผู้มีศักยภาพดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และพวกเขาจะมีโอกาสรับผิดชอบภาระงานใหม่ๆ รวมถึงเข้าร่วมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาตนเอง
ยิ่งกว่านั้น ครูเหล่านี้ยังมีโอกาสเป็นผู้นำทางการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ ครูในสิงคโปร์จึงมีปากเสียงในการกำหนดนโยบาย พัฒนาหลักสูตร ตลอดจนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา โดยครูสามารถทดลองปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงเป็นเวลา 2-4 ปี และหากตัดสินใจไม่เดินทางบนเส้นทางสายนี้ต่อ พวกเขาก็กลับไปสู่ชั้นเรียนได้
เส้นทางผู้ชำนาญการ
เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางสำหรับครูผู้มีความสนใจลึกซึ้งในด้านใดด้านหนึ่ง และเลือกเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีความรู้และทักษะลึกซึ้งในด้านใดด้านหนึ่งเกี่ยวกับการศึกษา (เช่น หลักสูตร การออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ การออกแบบรายวิชา เทคโนโลยีการศึกษา ฯลฯ) พวกเขาจะได้มีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรการศึกษา ประยุกต์ใช้องค์ความรู้จิตวิทยาในการจัดการศึกษา ดำเนินการวิจัยด้านการศึกษา วัดและประเมินผลการศึกษา ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังสนับสนุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขานี้ด้วย
การสร้างเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา
สิงคโปร์มีโครงการเพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ที่แตกต่างของนักเรียนหลายโครงการ อาทิ โครงการสนับสนุนนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้นที่ประสบปัญหาการอ่านและการคำนวณ (Learning Support Program) ในปี 1992 โดยครูที่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษจะให้ความช่วยเหลือประจำวันแก่นักเรียนเหล่านี้ซึ่งถูกจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ ราว 8-10 คน เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ของเด็กๆ
นอกจากนี้ ครูในสิงคโปร์ยังมีความตระหนักเกี่ยวกับความต้องการทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ ในเดือนมกราคม ปี 2015 โรงเรียน 105 แห่งจากโรงเรียนประถมศึกษาในสิงคโปร์จำนวน 187 แห่งได้จัดตั้งศูนย์ดูแลนักเรียนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมหลังเรียนที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ ในที่สุด กระทรวงศึกษาธิการจึงขยายขอบเขตของโครงการดังกล่าว และจัดตั้งศูนย์ดูแลนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่ง
ยิ่งกว่านั้น การเพิ่มอัตราการลงทุนในรัฐสวัสดิการในทศวรรษ 1990 ยังเพิ่มพูนความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการศึกษาระดับประถมศึกษาในปัจจุบันนั้นไร้ค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชน โดยรัฐบาลจะอุดหนุนงบประมาณเพื่อการจัดการเรียนรู้ การจัดหาแบบเรียน และเครื่องแบบแก่ทุกโรงเรียนที่ไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้
ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่อาศัยในบ้านจัดสรรโดยรัฐบาลในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ โดยโรงเรียนที่มีคุณภาพหลายแห่งจะเชื่อมต่อกับบ้านจัดสรรเหล่านี้ โรงเรียนรัฐบาลจึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมขนาดเล็กและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ทั้งยังเป็นที่ยอมรับแม้สำหรับครอบครัวที่ร่ำรวย
ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่อาศัยในบ้านจัดสรรโดยรัฐบาลในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ โดยโรงเรียนที่มีคุณภาพหลายแห่งจะเชื่อมต่อกับบ้านจัดสรรเหล่านี้ โรงเรียนรัฐบาลจึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมขนาดเล็กและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ทั้งยังเป็นที่ยอมรับแม้สำหรับครอบครัวที่ร่ำรวย
การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาก็ต้อนรับชาวสิงคโปร์ทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง ค่าเล่าเรียนต่ำเพราะได้รับการลดหย่อนค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ทุกคนจึงสำเร็จการศึกษาระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายได้ และราวร้อยละ 75 ของเยาวชนก็ได้ใบปริญญาจากวิทยาลัยหรือสถาบันต่างๆ ขณะที่จำนวนที่เหลือเข้าถึงการฝึกอาชีพในสถาบันเทคนิคที่มีคุณภาพเพื่อเป็นแรงงานในภาคบริการหรือภาคอุตสาหกรรมอันก้าวหน้าของสิงคโปร์ต่อไป
เป้าหมายการศึกษาของสิงคโปร์ในยุคหลังโควิด-19
เน้นการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม
การพุ่งทะยานในครึ่งศตวรรษของสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า หลักความเสมอภาคซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และวัฒนธรรมชื่นชมผู้มีความสามารถ (meritocratic culture) นั้น นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่โดดเด่นและการเติบโตของประเทศได้อย่างไร ดังปรากฏคำอธิบายใน ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21 ว่า
ระบบโรงเรียนนั้นแสดงวิสัยทัศน์อันโดดเด่นของผู้นำสิงคโปร์อย่างแจ่มชัดกว่าสถาบันทางสังคมใด โดยให้ความสำคัญแก่ภูมิปัญญา การแข่งขัน เทคโนโลยี และมาตรฐานระดับนานาชาติ รวมถึงการปฏิเสธที่จะมอบอภิสิทธิ์พิเศษแด่กลุ่มใดๆ ชาวสิงคโปร์ทุกชาติพันธุ์ ทุกชนชั้น อยู่ร่วมกันในโรงเรียน และระบบการศึกษาก็ให้คุณแก่แทบทุกครอบครัวอย่างชัดเจนและลึกซึ้ง เกือบทุกประเด็นการเมืองภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ การแข่งขันเพื่อเลื่อนชั้นทางสังคม มาตรการความปลอดภัยทางสังคมของชาติและประชาชนในอนาคต หรือการแบ่งปันทรัพยากรอันมีจำกัด ล้วนสะท้อนให้เห็นทั้งในโรงเรียนและนโยบายด้านการศึกษา คุณค่าอันเป็นนามธรรมว่าด้วยสังคมพหุชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ของชาวสิงคโปร์นั้นเห็นเป็นรูปเป็นร่างในโรงเรียนมากกว่าในสถาบันทางสังคมอื่นใด
— ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21, หน้า 350
อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่
ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21
Linda Darling-Hammond เขียน
ชลิดา หนูหล้า แปล
472 หน้า