เรียนรู้ด้วยภาพ: ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูจากออสเตรเลีย

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

พวกเรามุ่งมั่นที่จะยกระดับฐานะวิชาชีพทางการศึกษา จูงใจและรักษาครูผู้มีคุณภาพที่สุดไว้ในโรงเรียนรัฐบาลทั่วรัฐวิกทอเรีย

— เจมส์ เมอร์ลิโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการวิกทอเรีย

 

ประชากรออสเตรเลียส่วนใหญ่อาศัยในเมืองชายฝั่งทะเลทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม นอกเมืองใหญ่นั้น โรงเรียนจำนวนมากอยู่ห่างไกลจากเมืองที่ใกล้ที่สุดหลายชั่วโมงหากเดินทางด้วยรถยนต์ ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษา รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดครูให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนการจัดการฝึกอบรมและการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

รัฐนิวเซาธ์เวลส์และรัฐวิกทอเรียเป็นสองรัฐที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในออสเตรเลีย โดยประมาณร้อยละ 28 เป็นผู้มีภูมิลำเนานอกออสเตรเลีย นอกจากนี้ นักเรียนร้อยละ 6 ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ยังเป็นชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย การยกระดับความเสมอภาคจึงเป็นหัวใจของการพัฒนานโยบายด้านการศึกษาทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ

ระบบการศึกษาออสเตรเลียอาจนับว่าเปี่ยมประสิทธิภาพ ทว่ายังปรากฏความเหลื่อมล้ำในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในรัฐและภูมิภาคต่างๆ อันเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสถานภาพชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย แล้วทั้งสองรัฐจัดการความเหลื่อมล้ำในพื้นที่กระทั่งเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาระดับประเทศได้อย่างไร ไทยเรียนรู้จากออสเตรเลียเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาโดยคำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์และความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้มากน้อยเพียงใด หาคำตอบได้ในบทความนี้

 

การสรรหาและคัดเลือกผู้เข้าเรียนในหลักสูตรครู

การแข่งขันเพื่อประกอบอาชีพครูในออสเตรเลียนั้นอาจไม่ตึงเครียดนัก อย่างไรก็ตาม มาตรฐานเพื่อการรับรองคุณภาพหลักสูตรครูกำหนดให้ทุกสถาบันผลิตครูเลือกผู้สมัครจากกลุ่มที่มีทักษะการอ่านและการคำนวณสูงที่สุด และบัณฑิตต้องบรรลุมาตรฐานการบรรจุครูก่อน จึงจะสามารถประกอบอาชีพครูได้

กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครในออสเตรเลียยังทวีความละเอียดลออและครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของบัณฑิตควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ หลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น รัฐวิกทอเรีย ยังพัฒนากระบวนการคัดเลือกใหม่ๆ ด้วย มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่เพียงพิจารณาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและประสบการณ์การทำงานของผู้สมัครเท่านั้น ทว่ารวมถึงความมุ่งมั่นและคุณสมบัติอื่นๆ ของครูผู้มีประสิทธิภาพ ผ่านเครื่องมือคัดเลือกที่สถาบันผลิตครูในมหาวิทยาลัยเพิ่งคิดค้น

เครื่องมือนี้จะให้คะแนนด้านต่างๆ ได้แก่ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น มโนธรรม ความวิตกกังวล ความใจกว้าง ความยับยั้งชั่งใจ การกำหนดเป้าหมาย การจัดการสภาพแวดล้อม การจัดการงาน การบริหารเวลา การแสวงหาความช่วยเหลือ การวิเคราะห์และวิพากษ์ ความมุ่งมั่น การมองโลกในแง่ดี ความสามารถในการฟื้นฟูตนเองหลังประสบเหตุไม่พึงประสงค์ และการดูแลตนเองแก่ผู้สมัคร จากนั้น ผู้คัดเลือกจึงพิจารณาผลประเมินร่วมกับเอกสารประกอบการสมัครอื่นๆ ต่อไป

 

หลักสูตรครู

นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา หลักสูตรครูในออสเตรเลียต้องผ่านการรับรองว่าจะสามารถผลิตบัณฑิตที่บรรลุมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาของรัฐนั้นๆ

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังยกระดับหลักสูตรครูสู่ระดับปริญญาโท พร้อมกับที่ยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรหนึ่งปี ตลอดจนขยายเวลาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และกวดขันการรับรองคุณภาพบัณฑิตผ่านข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ในประเด็นการชี้แนะและความช่วยเหลือที่บัณฑิตพึงได้รับระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

การขยายเวลาฝึกหัดครูนั้นนำไปสู่โอกาสในการเรียนรู้เนื้อหาวิชาอย่างลึกซึ้งด้วย โดยรายงานฉบับล่าสุดของกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรครูของกระทรวงศึกษาธิการหรือ TEMAG (Teacher Education Ministerial Advisory Group) ระบุว่า หลักสูตรครูควรให้ความสำคัญแก่ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของครู เพื่อให้ครูสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ในวิชาเหล่านั้นกับเพื่อนร่วมงาน และเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มวิชานั้นๆ ในโรงเรียน

แนวปฏิบัติเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าศตวรรษ โดยหนึ่งในสถาบันผลิตครูที่เป็นผู้นำการยกระดับวิชาชีพทางการศึกษา คือมหาวิทยาลัยซิดนีย์ รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ผ่านหลักสูตร MTeach หรือหลักสูตรปริญญาโทสองปีหลักสูตรแรกในออสเตรเลีย ซึ่งผู้เรียนจะได้สัมผัสการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่เน้นการสืบเสาะหาความรู้ เพื่อดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการอันเป็นเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษาต่อไป

อีกหนึ่งหลักสูตรหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือหลักสูตรปริญญาโทสาขาต้นแบบการจัดการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne’s Master of Teaching model) อันเป็นหลักสูตรฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่เน้นการวิจัย และการบูรณาการองค์ความรู้ระดับปริญญาโทเข้ากับการปฏิบัติการสอนในโรงเรียน เพื่อพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการตอบสนองความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยอ้างอิงจากหลักฐานการเรียนรู้ที่ตนสังเกตได้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งความพยายามเพื่อยกระดับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในออสเตรเลีย ผ่านการก่อตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศในการจัดการเรียนรู้หรือ SCTE (School Centres for Teaching Excellence) ซึ่งส่งผลให้บุคลากรมหาวิทยาลัยต้องทำงานร่วมกับครูในโรงเรียน และผู้เรียนในหลักสูตรครู ทั้งในการออกแบบหลักสูตร การปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ และการดำเนินการวิจัย คล้ายการดำเนินงานของโรงเรียนฝึกหัดครูในฟินแลนด์

 

การแนะแนวและชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู

การแนะแนวครูใหม่ในออสเตรเลียนั้นมีเสถียรภาพพอสมควร โดยในต้นทศวรรษ 2000 รัฐนิวเซาธ์เวลส์เริ่มจ้างงานครูพี่เลี้ยงจำนวน 50 คนให้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนที่มีครูใหม่จำนวนกว่า 90-100 แห่งทั่วรัฐ และในปัจจุบันก็มีหลักสูตรการเรียนรู้ทางวิชาชีพออนไลน์เพื่อสนับสนุนทั้งครูพี่เลี้ยงและครูใหม่ด้วย

ขณะที่รัฐวิกทอเรียนั้นเริ่มเชื่อมโยงการแนะแนวครูใหม่กับการบรรจุครูในปี 2004 โดยกว่าร้อยละ 90 ของครูที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราวจะได้รับความช่วยเหลือจากครูพี่เลี้ยง ผู้ผ่านการฝึกอบรมโดยสถาบันการจัดการเรียนรู้วิกทอเรีย (Victorian Institute of Teaching) เมื่อเริ่มต้นภาคการศึกษา

ปัจจัยที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการแนะแนวครูใหม่ในออสเตรเลีย ได้แก่ การให้ความสำคัญแก่มาตรฐานวิชาชีพ โดยบรรจุมาตรฐานนั้นในเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิหรือบรรจุครูใหม่ การเชื่อมโยงการแนะแนวกับมาตรฐานดังกล่าวช่วยขยายมุมมองต่อการแนะแนว จากเพียงมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมวิชาชีพ สู่ความช่วยเหลืออันมีที่มาจากข้อถกเถียงเกี่ยวกับการศึกษา โดยครูใหม่จะถูกสนับสนุนให้ใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ดังที่ระบุในมาตรฐานวิชาชีพแห่งชาติ และดังปรากฏในแผนภาพด้านล่าง

 

จากหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21 หน้า 199

 

เคล็ดลับความสำเร็จอีกประการหนึ่งของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในออสเตรเลีย คือการจัดสรรเวลาในการปฏิบัติงานร่วมกัน รัฐวิกทอเรียลดภาระงานของครูใหม่ลงอย่างน้อยร้อยละ 5 และรัฐนิวเซาธ์เวลส์อุดหนุนงบประมาณเฉพาะเพื่อเพิ่มเวลาสองชั่วโมงต่อสัปดาห์แก่ครูใหม่ โดยครูใหม่จะใช้เวลาดังกล่าวสังเกตชั้นเรียนและทำงานเคียงคู่ครูผู้มีประสบการณ์มากกว่า ด้วยความเชื่อว่าการได้รับคำติชมที่ตรงจุดจะสามารถพัฒนาครูได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้น ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ การเข้าร่วมการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างน้อย 100 ชั่วโมงในห้าปียังจำเป็นต่อการรับรองคุณวุฒิ โดยครูต้องชี้แจงว่าการเรียนรู้นั้นสอดคล้องกับอย่างน้อยหนึ่งในเจ็ดมาตรฐานการจัดการเรียนรู้แห่งชาติอย่างไร เช่นเดียวกับครูในรัฐวิกทอเรียที่ต้องจัดทำเอกสารแสดงการเรียนรู้ทางวิชาชีพของตนอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อปีเพื่อคงอยู่ในวิชาชีพต่อไป

 

การเติบโตในอาชีพ

มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษามีบทบาทในการสร้างครูยิ่งขึ้นทุกขณะ โดยมาตรฐานวิชาชีพแห่งออสเตรเลียได้กำหนดการเติบโตในอาชีพของครูสี่ขั้น ได้แก่ การสำเร็จการศึกษา การเป็นผู้เชี่ยวชาญ การเป็นผู้ได้รับความนับถือ และการเป็นผู้นำ

การกำหนดให้การสำเร็จการศึกษาเป็นลำดับแรกของการเติบโตในอาชีพนำไปสู่การเชื่อมโยงความคาดหวังต่อองค์ความรู้ ทักษะ และความมุ่งมั่นของบัณฑิต กับความคาดหวังต่อครูผู้อยู่ในวิชาชีพแล้ว ขณะที่มาตรฐานระดับสูงขึ้นไปจะกำหนดแนวทางพัฒนาความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องของครู โทนี่ แมกเคย์ (Tony Mackay) อดีตผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเรียนรู้และภาวะผู้นำทางการศึกษาออสเตรเลีย (AITSL) อธิบายความสำคัญของแนวคิดดังกล่าวว่า

 

หากคุณไม่มีระบบควบคุมคุณภาพของครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ครอบคลุมทุกมิติ (การฝึกหัดครู การจัดการเรียนรู้ และการพัฒนาความเป็นผู้นำ) ย่อมเป็นการยากที่จะผลักดันนโยบายอันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเยาวชน

— ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21, หน้า 295

 

นอกจากนี้ ด้วยอิทธิพลของผู้บริหารโรงเรียนต่อสภาพแวดล้อมการจัดการเรียนรู้ มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารโรงเรียนของออสเตรเลียจึงกำหนดพันธกิจของผู้บริหาร เพื่อการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

 

  1. การนำการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้
  2. การพัฒนาตนเองและผู้อื่น
  3. การนำการพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลง
  4. การนำการบริหารจัดการโรงเรียน
  5. การมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกับชุมชน

 

และเพราะเชื่อว่าผู้บริหารเป็นกุญแจยกระดับศักยภาพของโรงเรียนนั่นเอง รัฐวิกทอเรียจึงลงทุนในการฝึกอบรมผู้นำทางการศึกษาผ่านสถาบันผู้นำทางการศึกษาบาสโตว์ (Bastow Institute of Educational Leadership) ซึ่งก่อตั้งในปี 2009 โดยโครงสร้างหลักสูตรปัจจุบันของสถาบันดังกล่าว ประกอบด้วย

 

  1. กำเนิดผู้นำ เพื่อ สร้างความเปลี่ยนแปลง ใน 3-5 ปีแรกของการประกอบอาชีพครู
  2. ผู้นำระดับกลาง เพื่อ สร้างสรรค์ กลุ่มครูผู้นำในโรงเรียน
  3. ว่าที่ผู้บริหาร เพื่อ ปลดล็อกศักยภาพ ของผู้ช่วยผู้บริหารและครูผู้นำ
  4. ผู้บริหารมือใหม่ เพื่อ การพัฒนาตนเอง ของผู้นำมือใหม่
  5. ผู้บริหารมือฉมังและอดีตผู้บริหาร จากการฝึกอบรมผู้บริหาร สู่หลักสูตรผู้นำทางการศึกษาระดับปริญญาโทสำหรับผู้มีศักยภาพเป็นผู้นำในระบบการศึกษา

 

รายวิชาเหล่านี้ถูกออกแบบให้สัมพันธ์กับรายวิชาลำดับถัดไป ด้วยแนวคิดว่าหากพบผู้มีศักยภาพบริหารจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ องค์ความรู้เหล่านี้ก็จะเป็นบันไดสู่การฝึกอบรมผู้นำทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่พวกเขายังคงอยู่ในวิชาชีพ

ปัจจุบัน บาสโตว์พยายามสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้บริหารที่รับการฝึกอบรมมีโอกาสรวบรวมหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยผ่านการฝึกอบรมในสถาบัน อาทิ บางส่วนของรายวิชาผู้นำการจัดการเรียนรู้จะถูกถ่ายทอดโดยคณาจารย์ในภาควิชาการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น หรือ MGSE (Melbourne Graduate School of Education) โดยเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรผู้นำการจัดการเรียนรู้ระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ บาสโตว์ยังร่วมมือกับมหาลัยโมแนชเพื่อเทียบโอนหน่วยกิตหลักสูตรผู้นำทางการศึกษาระดับปริญญาโทด้วย

 

การส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา

 

การจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษานั้นยึดโยงกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน โดยจะมีการอุดหนุนงบประมาณ “พิเศษ” แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ขาดแคลนโอกาส เป็นชาวพื้นเมืองออสเตรเลียหรือชาวหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรส ขาดความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ หรืออยู่ในเขตทุรกันดาร

 

โดยทั่วไป รัฐบาลท้องถิ่นออสเตรเลียเป็นผู้บริหารการจัดการศึกษาในรัฐ กระทั่งในปี 2008 ที่รัฐบาลกลางเริ่มมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา ผ่านประกาศนครเมลเบิร์นว่าด้วยเป้าหมายการศึกษาของเยาวชนออสเตรเลีย (Melbourne Declaration on Educational Goals for Young Australians) เพื่อกำจัดความไม่เท่าเทียมในโอกาสการเรียนรู้ในรัฐต่างๆ

การจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษานั้นยึดโยงกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน โดยจะมีการอุดหนุนงบประมาณ “พิเศษ” แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ขาดแคลนโอกาส เป็นชาวพื้นเมืองออสเตรเลียหรือชาวหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรส ขาดความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ หรืออยู่ในเขตทุรกันดาร

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังมีโครงการเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ครูให้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ซึ่งมีผู้ต้องการไปปฏิบัติหน้าที่น้อยกว่าเขตพลุกพล่านในซิดนีย์หรือเมลเบิร์น เช่น กระทรวงศึกษาธิการและชุมชนรัฐนิวเซาธ์เวลส์ให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิต นักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่แสวงหาความเปลี่ยนแปลงในอาชีพ เพื่อรับการฝึกฝนในหลักสูตรครูระดับมัธยมศึกษาหรือการศึกษาพิเศษที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ที่มีความต้องการพิเศษ

ทุนดังกล่าวได้รับการออกแบบเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนรัฐบาลในพื้นที่ห่างไกลจากชายฝั่ง โดยผู้รับทุนจะได้รับทุนจำนวน 5,000 ดอลลาร์ออสเตรเลียระหว่างการฝึกอบรมขณะศึกษาเต็มเวลาในสถาบันผลิตครู เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับเงินจำนวน 3,000 ดอลลาร์ออสเตรเลียเพื่ออุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายถิ่นฐาน หลังจากนั้นก็อาจได้รับการชดเชยหนี้การศึกษาจากรัฐบาลด้วย

ในปี 2014 ทุนกว่า 300 ทุนถูกแจกจ่ายแก่ผู้เรียนในหลักสูตรครูเพื่อรับการฝึกฝนเป็นครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) เทคโนโลยีและศาสตร์ประยุกต์ ภาษาอังกฤษ และการศึกษาพิเศษระดับมัธยมศึกษา โดยทุนจำนวน 80 ทุนจากจำนวนดังกล่าวถูกแจกจ่ายให้นักเรียนชาวพื้นเมืองหรือชาวหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรสที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ผู้รับทุนต้องประกอบอาชีพครูอย่างน้อยสามปี มิฉะนั้นต้องชดใช้ทุนเป็นสัดส่วนตามจำนวนที่ได้รับ

นอกจากทุนนี้ ครูที่เลือกปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลยังได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อย โดยสิทธิประโยชน์นั้นอาจแตกต่างกันในแต่ละโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น

 

  1. เวลาฝึกอบรมและพัฒนาตนเองเพิ่มเติม
  2. การลดหย่อนค่าเช่าที่พักร้อยละ 70-90 ในพื้นที่ทุรกันดาร
  3. สิทธิในการโยกย้ายก่อนเมื่อปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารครบตามเงื่อนไขแล้ว
  4. สิทธิโยกย้ายเป็นกรณีพิเศษสำหรับเพื่อนร่วมงาน หากได้รับการบรรจุในพื้นที่ห่างไกลและกำลังโยกย้ายออก
  5. เงินสนับสนุนการคงอยู่ในตำแหน่งรายปี 5,000 ดอลลาร์ออสเตรเลียแก่ครูในพื้นที่ทุรกันดาร 40 โรงเรียน
  6. เงินชดเชยอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น เช่น เนื่องจากสภาพอากาศ ความห่างไกลจากสินค้าและบริการ ค่าใช้จ่ายการเดินทาง การชดเชยค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และทันตกรรม และเงินเบี้ยเลี้ยงสำหรับผู้อยู่ในความอุปถัมภ์ ฯลฯ
  7. วันหยุดฤดูร้อนเพิ่มเติมหนึ่งสัปดาห์สำหรับโรงเรียนในภาคตะวันตกของนิวเซาธ์เวลส์

 

กระทรวงศึกษาธิการฯ รัฐวิกทอเรียก็ให้ทุนการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายแก่บัณฑิตครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ที่ยินดีปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนที่มีความต้องการพิเศษ โรงเรียนห่างไกล และโรงเรียนที่ขาดแคลนครูเช่นกัน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ระหว่าง 3,000-7,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ขึ้นอยู่กับประเภทโรงเรียนและสาขาวิชา นอกจากนี้ ครูที่อยู่ในพื้นที่เดิมเป็นเวลาสี่ปีขึ้นไปยังอาจได้รับโบนัสถึง 4,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย

 

 

ด้วยเหตุนี้ ระบบการศึกษาออสเตรเลียจึงทะยานขึ้นเป็นระบบการศึกษาแถวหน้าของโลก และเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาอย่างเสมอภาคที่หลายประเทศนำไปปรับใช้ในปัจจุบัน!

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Linda Darling-Hammond เขียน

ชลิดา หนูหล้า แปล

472 หน้า