เรียนรู้ด้วยภาพ: ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูจากแคนาดา

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

แคนาดามีประชากรเกือบ 36 ล้านคนใน 10 รัฐและ 3 ดินแดน แม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ประชากรกว่าร้อยละ 80 กลับกระจุกตัวอยู่ทางใต้ บริเวณที่ติดต่อกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ในบรรดารัฐทั้งหมดของแคนาดา รัฐแอลเบอร์ตาและรัฐออนแทรีโอซึ่งมีระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพนั้นมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมมากเป็นพิเศษ โดยนอกจากผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติ ยังมีนักเรียนชาวปฐมชาติหรือชาวพื้นเมืองแคนาดาอื่นๆ หรือที่เรียกว่า FNMI (First Nations, Métis and Inuit) จำนวนไม่น้อย โดยชาวปฐมชาติหรือชาวพื้นเมืองแคนาดาส่วนใหญ่ลงหลักปักฐานทางตอนใต้ของเขตอาร์กติก ชาวอินูอิตตั้งรกรากในเขตอาร์กติก และชาวเมทิสคือกลุ่มผู้มีบรรพบุรุษเป็นชาวพื้นเมืองแคนาดาและผู้อพยพชาวยุโรป

ทั้งสองรัฐจึงมีภาษาพูดที่แตกต่างกันถึง 100 ภาษา กระนั้น ภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนสภาพทางภูมิศาสตร์อันทารุณกลับไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ด้วยรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิด เช่นเดียวกับการบริการสาธารณะสังคมอื่นๆ การลดค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปฐมวัย ตลอดจนฝึกหัดครูให้รับมือความหลากหลายของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม

แล้วไทยที่เริ่มมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมและความแตกต่างระหว่างผู้เรียนจะเรียนรู้จากแคนาดาได้อย่างไร ชวนผู้อ่านสำรวจนโยบายที่พันเกี่ยวระบบการศึกษาในสองรัฐนี้ และสร้างระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกระบบหนึ่ง เพื่อหาคำตอบที่ใช่ และสร้างคำตอบใหม่ของการจัดการเรียนรู้ที่เท่าเทียม

 

ทั้งสองรัฐมีภาษาพูดที่แตกต่างกันถึง 100 ภาษา กระนั้น ภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนสภาพทางภูมิศาสตร์อันทารุณกลับไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา อันเนื่องมาจากการจัดสรรรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิด เช่นเดียวกับการบริการสาธารณะสังคมอื่นๆ การลดค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปฐมวัย ตลอดจนฝึกหัดครูให้รับมือความหลากหลายของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม

 

การสรรหาและคัดเลือกผู้เรียนในหลักสูตรครู

ในแคนาดา น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สมัครเท่านั้นที่ได้รับการตอบรับจากหลักสูตรครูในรัฐแอลเบอร์ตาและออนแทรีโอ

ที่สถาบันศึกษาศาสตร์ออนแทรีโอ (Ontario Institute for Studies in Education) มหาวิทยาลัยโตรอนโต ซึ่งเป็นสถาบันผลิตครูที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดานั้น เพียงหนึ่งในสี่ของผู้สมัครเท่านั้นที่จะผ่านการคัดเลือก เกณฑ์การคัดเลือกทั่วไปมักครอบคลุมมาตรฐานทางวิชาการ ร่วมกับการนำเสนอหลักฐานแสดงศักยภาพของตนซึ่งจะได้รับการประเมินระหว่างการสัมภาษณ์ นอกจากนี้ ผู้สมัครยังต้องเขียนเรียงความแสดงทัศนคติต่อวิชาชีพ บอกเล่าประสบการณ์การทำงานร่วมกับเยาวชน และให้หลักฐานแสดงประสบการณ์การสอน

ขณะที่ในรัฐแอลเบอร์ตานั้น ผู้ประสงค์เข้าศึกษาในสถาบันผลิตครูเก้าสถาบันจะต้องผ่านการฝึกอบรมเบื้องต้น การสัมภาษณ์โดยบุคลากรของสถาบันผลิตครูเอง การเป็นอาสาสมัคร และในบางครั้งก็ต้องนำเสนอแฟ้มสะสมผลงานของตนด้วย เมื่อเป็นว่าที่ครูเต็มตัวแล้ว พวกเขาก็จะยังได้รับการประเมินระหว่างเรียนอย่างสม่ำเสมอ และอาจได้รับคำแนะนำให้ออกจากการศึกษา หากไม่สามารถบรรลุคุณลักษณะที่พึงประสงค์ได้

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนความหลากหลายของบุคลากรครู ตลอดจนประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนชาวพื้นเมือง ผู้สมัครซึ่งมีองค์ความรู้เกี่ยวกับชาวปฐมชาติ รวมถึงมีความเชื่อมโยงกับชุมชนและนักเรียนชาวปฐมชาติจะได้รับการพิจารณาก่อน

 

หลักสูตรครู

เช่นเดียวกับออสเตรเลียและฟินแลนด์ สองประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำ การฝึกหัดครูในแคนาดาค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นสูงกว่าปริญญาตรี โดยมหาวิทยาลัยโตรอนโต รัฐออนแทรีโอ ได้เปิดหลักสูตรสองปีในระดับปริญญาโทพร้อมการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูอันเข้มข้น โดยผู้เรียนถูกคาดหวังให้แสดงคุณลักษณะ ดังนี้

 

  • มีองค์ความรู้ของครู อาทิ เข้าใจว่าความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการจัดการเรียนรู้อย่างไร
  • มีอัตลักษณ์ของครู เช่น สามารถพัฒนาปรัชญาการศึกษาส่วนบุคคลที่โอบอุ้มหลักการความเสมอภาค ความหลากหลาย และการไม่กีดกันนักเรียนคนใดจากการศึกษา ฯลฯ
  • มีความมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เข้าใจบทบาทของครู นักเรียน ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และระบบการศึกษาในกระบวนการปฏิรูปการศึกษา
  • เข้าใจจุดประสงค์รายวิชาและการจัดการเรียนรู้วิชานั้นๆ
  • เข้าใจการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนในบริบทสังคมหนึ่งๆ

 

ด้วยจำนวนครูที่เกินความต้องการในรัฐ ผู้กำหนดนโยบายจึงเลือกจะฝึกหัดครูจำนวนน้อยลงด้วยความกวดขันยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การปฏิรูปหลักสูตรครูในรัฐยังเน้นการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนที่มีความหลากหลาย และนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ตลอดจนมุ่งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา โดยให้ความสำคัญแก่แนวทางจัดการเรียนรู้ที่มีชั้นเชิงและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เพื่อจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนที่มีความต้องการแตกต่างกัน

ในรัฐแอลเบอร์ตา สถาบันผลิตครูแปดจากเก้าแห่งเปิดหลักสูตรสองปีหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อส่งเสริมความน่าเชื่อถือในวิชาชีพ พร้อมกับการขยายเวลาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ตลอดจนเน้นพัฒนาเจตคติต่อการเรียนรู้ของครูเพื่อสร้างมาตรฐานบัณฑิตอันสูงลิ่ว โดยพอล แมกลอด (Paul MacLeod) อดีตหัวหน้าแผนกมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา (Professional Standards Branch) ในกระทรวงศึกษาธิการท้องถิ่นอธิบายว่า

 

พวกเรามักอ้างถึงศัลยแพทย์หัวใจ ผมคงต้องการให้เขาสำเร็จการศึกษาก่อนลงมือผ่าตัด และคงไม่ขอให้เขาปฏิบัติหน้าที่ไปพลาง เรียนรู้ไปพลาง พวกเราต่างรู้ว่าเขาต้องผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และถึงจะรู้อย่างนั้น เราก็ยังอยากให้เขาสำเร็จการศึกษา แล้วเสียก่อนจะผ่าตัดจริง ครูก็เช่นเดียวกัน พวกเราต่างรู้ว่าพวกเขาจะเติบโต รู้ว่าคุณจะไม่หยุดเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาชีพ แต่คุณก็ควรจะสำเร็จการศึกษาจริงๆ และบรรลุมาตรฐานที่พึงมีเสียก่อน

— ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21, หน้า 176

 

มุมมองดังกล่าวยังเปลี่ยนทิศทางการบริหารองค์กรสอนเพื่อแคนาดา (Teach for Canada) ของรัฐแอลเบอร์ตาซึ่งมุ่งรองรับนักเรียนชาวปฐมชาติด้วย จากเดิมที่ครูหลายคนเริ่มต้นสอนก่อนได้รับการฝึกหัด องค์กรดังกล่าวจะรับเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรครูที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น รวมถึงต้องผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูร่วมกับนักเรียนที่เป็นชาวปฐมชาติ เมทิส และอินูอิต ก่อนด้วย

 

การแนะแนวและชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู

โอกาสได้รับการแนะแนวของครูใหม่ทั่วแคนาดานั้นแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ โรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดโครงการแนะแนวเป็นปกติ แม้รัฐแอลเบอร์ตาจะยังไม่มีข้อบังคับและไม่ได้อุดหนุนงบประมาณเพื่อการแนะแนวอย่างเป็นทางการ ผลสำรวจในปี 2013 ก็ชี้ว่า ครูมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าถึงโครงการแนะแนวที่เป็นทางการมากกว่าร้อยละ 80 และครูใหม่ในเกือบทุกโรงเรียนก็เข้าถึงโครงการแนะแนวที่ไม่เป็นทางการ

ทว่าในรัฐออนแทรีโอนั้น ครูใหม่ทุกคนทั้งที่มีสัญญาจ้างพนักงานประจำ และที่มีสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวระยะยาว ต้องเข้าร่วมโครงการแนะแนวครูใหม่หรือ NTIP (New Teacher Induction Program) ซึ่งได้รับอุดหนุนงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับแนวทางบริหารจัดการและคณะกรรมการโรงเรียน รับคำแนะนำอย่างต่อเนื่องจากครูที่มีประสบการณ์มากกว่าตลอดปีแรก ตลอดจนรับการพัฒนาทางวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของครูใหม่

NTIP จะจัดสรรเวลาว่างสำหรับทั้งครูพี่เลี้ยงและครูใหม่ให้ปฏิบัติงานร่วมกันด้วย โดยโรงเรียนเลือกใช้รูปแบบการแนะแนวได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแนะแนวตัวต่อตัว หรือการแนะแนวเป็นกลุ่มเล็กและใหญ่ ผลการดำเนินโครงการก็น่าประทับใจ เพราะคณะกรรมการโรงเรียนในเขตการศึกษาโตรอนโตพบว่าจากจำนวนครูใหม่เกือบ 4,000 คนที่ถูกจ้างงานระหว่างปี 2005 ถึง 2010 นั้น เขตการศึกษาสามารถรักษาผู้เริ่มปฏิบัติงานในปีแรกไว้ในวิชาชีพได้กว่าร้อยละ 98-99 ต่อปี

สำหรับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการรัฐออนแทรีโอได้อุดหนุนงบประมาณ เวลา ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แก่สหพันธ์ครูเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิชาชีพด้วย ทั้งนี้ แรงจูงใจต่อการเข้าร่วมการเรียนรู้ทางวิชาชีพในรัฐออนแทรีโอยังรวมถึงโครงสร้างเงินเดือนซึ่งจะให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมแก่คุณสมบัติพิเศษหรือ AQs (Additional qualifications) ของครู โดยคณะศึกษาศาสตร์ออนตาริโอ (Ontario faculties of education: TEAS) สหพันธ์ครู และองค์กรอื่นๆ ที่ผ่านการรับรองร่วมกันจัดการฝึกอบรมเพื่อสร้างคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้กว่า 400 รายการในปี 2014

 

การเติบโตในอาชีพ

โอกาสก้าวหน้าในอาชีพของครูในรัฐออนแทรีโอนั้นหลากหลายและไม่เป็นลำดับชั้นนัก ครูสามารถเติบโตในอาชีพได้ด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ หรือการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อสร้าง AQs ตลอดจนสามารถมุ่งสู่เส้นทางที่แตกต่างกันในระดับโรงเรียน ระดับคณะกรรมการการศึกษา และระดับรัฐ เช่น เป็นครูผู้ช่วยเพื่อช่วยเหลือว่าที่ครูในสถาบันผลิตครู เป็นครูพี่เลี้ยง เป็นผู้มีส่วนร่วมในสหพันธ์ครูหรือหน่วยงานด้านการศึกษาระดับรัฐ หรือเป็นคณะกรรมการบริหารและผู้บริหารโรงเรียน โดยรัฐจะให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมแก่ภาระงานที่เพิ่มขึ้นในตำแหน่งต่างๆ ด้วย

การฝึกอบรมเพื่อสร้าง AQs นั้นเน้นพัฒนาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของครูเพื่อรับมือความต้องการของนักเรียน เช่น การศึกษาพิเศษ การสอนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สอง ฯลฯ โดยคุณลักษณะเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาให้ทันต่อเหตุการณ์เสมอ ยิ่งกว่านั้น กระทรวงศึกษาธิการยังโยกย้ายครูผู้มีประสบการณ์เข้ามาทำงานในกระทรวงชั่วคราวเป็นระยะๆ เพื่อการดำเนินงานที่สอดคล้องกันระหว่างโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ กลยุทธ์สร้างผู้นำทางการศึกษาออนแทรีโอหรือ OLS (The Ontario Leadership Strategy: OLS) เพื่อเฟ้นหาและพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนยังยึดโยงกับงานวิจัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยเขตการศึกษาแต่ละเขตในรัฐออนแทรีโอจะได้รับอุดหนุนงบประมาณและความช่วยเหลือผ่าน OLS เพื่อปรับใช้กลยุทธ์พัฒนาภาวะผู้นำอย่างครอบคลุมหรือ BLDS (Board Leadership Development Strategy) อันประกอบด้วย

 

  • จ้างงานและคัดเลือกผู้นำ ผ่านแผนการสืบทอดตำแหน่งที่เป็นระบบระเบียบและสร้างสรรค์
  • บรรจุและโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียน ด้วยวิธีที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในการพัฒนาโรงเรียนและระบบการศึกษา
  • พัฒนาผู้นำทางการศึกษา ผ่านการแนะแนว การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการให้โอกาสทางการเรียนรู้ที่แตกต่างซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้นำในหลากหลายบริบทของและหลากหลายระดับของการเติบโตในอาชีพ
  • ผสมผสานการสนับสนุนที่หลากหลายแก่ผู้นำ เพื่อป้องกันพวกเขาจากภาวะหยุดชะงัก ทำให้ข้อมูลด้านการศึกษาเข้าถึงได้ง่าย และช่วยเหลือพวกเขาเพื่อสร้างความต่อเนื่องสอดคล้องของนวัตกรรมต่างๆ

 

โดยผู้บริหารโรงเรียนในรัฐต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หรือมีประกาศนียบัตรความเชี่ยวชาญพิเศษในสองสาขา มีประสบการณ์จัดการเรียนรู้ห้าปี มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการบริหารการศึกษาในสามระดับ ได้แก่ ปฐมวัยและประถมศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 1-4 และมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ในหมู่โรงเรียนคาทอลิกนั้น ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีความเชี่ยวชาญด้านศาสนวิทยาด้วย

ผู้บริหารและรองผู้บริหารโรงเรียนต่างได้รับความช่วยเหลือตลอดสองปีแรกที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับครูใหม่ทั่วไป โดยการแนะแนวนั้นจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ และดำเนินการโดยคณะกรรมการโรงเรียนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมผู้บริหารพี่เลี้ยง แนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างพี่เลี้ยงและผู้บริหาร หรือการจับคู่และและยุติการแนะแนวอย่างโปร่งใส เพื่อรับประกันว่าผู้บริหารจะมีพี่เลี้ยงที่เหมาะสมกับตนเอง

 

การเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

แต่ละรัฐของแคนาดามีบริการสุขภาพพื้นฐานที่ทั่วถึง โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบร้อยละ 70 ของงบประมาณ แคนาดายังให้ความช่วยเหลือด้านการเงินรายเดือนแก่ครอบครัวที่มีบุตร และให้เป็นพิเศษในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ด้วยสิทธิประโยชน์ของผู้มีบุตรในแคนาดา (Canada Child Tax Benefit) นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรสิทธิประโยชน์ของผู้ดูแลบุตร (Universal Child Care Benefit) ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการอนุบาลและการศึกษาระดับปฐมวัยแก่ครอบครัวที่มีบุตรอายุต่ำกว่าหกปี

งบประมาณด้านการศึกษาในรัฐแอลเบอร์ตาส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลท้องถิ่น โดยสองในสามมาจากรายได้ทั่วไป และหนึ่งในสามมาจากภาษีทรัพย์สินของสถานศึกษา (Education property tax) อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโรงเรียนท้องถิ่นและบุคลากรทางการศึกษาในท้องถิ่นจะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการแจกจ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดตามแต่สถานการณ์

ทั้งนี้ ยังมีการจัดสรรงบประมาณเฉพาะเพื่อสนับสนุนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ผู้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง นักเรียนชาวปฐมชาติ นักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ นักเรียนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา ค่าเดินทาง การดูแลและซ่อมบำรุงสาธารณูปโภค เทคโนโลยีและการลงทุนต่างๆ แม้คณะกรรมการโรงเรียนท้องถิ่นจะเก็บภาษีการศึกษาเพิ่มเติมได้ ก็เก็บได้สูงสุดเพียงร้อยละ 3 ของงบประมาณรายปีเท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมของระบบจัดสรรงบประมาณ

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการรัฐออนแทรีโออุดหนุนงบประมาณแก่คณะกรรมการโรงเรียน ในรูปแบบเงินช่วยเหลือตามความต้องการของนักเรียนรายปี เงินช่วยเหลือจะถูกจัดสรรอย่างเท่าเทียมเพื่อรับประกันว่าทุกเขตการปกครองจะสามารถให้การศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันแก่นักเรียน ร่วมกับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลน โดยคณะกรรมการโรงเรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการใช้งบประมาณดังกล่าว

แต่ละรัฐของแคนาดามีบริการสุขภาพพื้นฐานที่ทั่วถึง โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบร้อยละ 70 ของงบประมาณ แคนาดายังให้ความช่วยเหลือด้านการเงินรายเดือนแก่ครอบครัวที่มีบุตร และให้เป็นพิเศษในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ด้วยสิทธิประโยชน์ของผู้มีบุตรในแคนาดา (Canada Child Tax Benefit) นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรสิทธิประโยชน์ของผู้ดูแลบุตร (Universal Child Care Benefit) ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการอนุบาลและการศึกษาระดับปฐมวัยแก่ครอบครัวที่มีบุตรอายุต่ำกว่าหกปี

 

นอกจากนี้ การจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนกลุ่ม FNMI ยังเป็นอีกประเด็นที่ได้รับความสำคัญ โดยมีการจัดสรรงบประมาณผ่านโครงการในรัฐแอลเบอร์ตาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยเชิงปฏิบัติการระหว่างครูและผู้ประสานงานในชุมชนซึ่งมุ่งพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มนี้ ตลอดจนพัฒนาการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ปกครองนักเรียน รวมถึงเพิ่มพูนความตระหนักเกี่ยวกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม

สถาบันผลิตครูในรัฐแอลเบอร์ตาและออนแทรีโอยังมีหลักสูตรเฉพาะเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่ม FNMI ด้วย ว่าที่ครูในหลักสูตรครูชาวพื้นเมืองหรือ ATEP (Aboriginal Teacher Education Program: ATEP) มหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตานั้นมักเป็นบุคลากรสมทบเดิมในโรงเรียนในชุมชมชาวปฐมชาติ และได้รับคัดเลือกเข้าเรียนในหลักสูตรเพื่อสร้างครูผู้เป็นสมาชิกชุมชนชาวพื้นเมือง และมุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนในชุมชนต่อไป นอกจากหลักสูตร ATEP แล้ว มหาวิทยาลัยคาลการี (University of Calgary) และมหาวิทยาลัยเลธบริดจ์ (University of Lethbridge) ก็มีหลักสูตรชาวปฐมชาติที่ยึดโยงกับชาวพื้นเมืองในพื้นที่เช่นกัน

 

มหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตายังมีหลักสูตรประกาศนียบัตรออนไลน์ (MOOC)
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชนพื้นเมืองแคนาดาด้วย โดยผู้สอนเป็นชาวเมทิส ชาวครี และชาวปฐมชาติ

 

หลักสูตรครูชาวพื้นเมืองที่มีครอบคลุมที่สุดในรัฐออนแทรีโอคือหลักสูตรปริญญาตรีสองหลักสูตรในมหาวิทยาลัยเลกเฮด (Lakehead University) เมืองธันเดอร์เบย์ ซึ่งอยู่ทางเหนือของรัฐ โดยเป็นสถาบันเดียวที่มีภาควิชาการศึกษาชาวพื้นเมือง (Department of Aboriginal Education) หลักสูตรเกียรตินิยม สาขาการศึกษาชาวพื้นเมือง [honors bachelor of education (Aboriginal) program] ระดับปริญญาตรีนั้นมุ่งพัฒนาชาวพื้นเมืองให้เติบโตเป็นครูและผู้นำชุมชน ประกอบด้วยรายวิชาต่างๆ ในภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รวมถึงรายวิชาภาษาพื้นเมืองเพิ่มเติม [ภาษาครีและโอจิบวา (Cree and Ojibwa] และรายวิชาว่าด้วยการจัดการเรียนรู้ในบริบทชุมชนชาวพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูเด็กๆ ในชุมชน การจัดการชั้นเรียน จิตวิทยาการศึกษา หรือการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ

อีกหลักสูตรหนึ่งของมหาวิทยาลัยเลกเฮดคือหลักสูตรครูชาวพื้นเมืองหรือ NTEP (Native Teacher Education Program: NTEP) ซึ่งประกอบด้วยสี่หลักสูตรย่อยที่เปิดโอกาสให้ผู้มีบรรพบุรุษเป็นชาวพื้นเมือง รวมถึงผู้ที่ไม่ใช่ชาวพื้นเมืองแต่มีความมุ่งมั่น ได้เป็นครูในชุมชนชาวพื้นเมือง หลักสูตรดังกล่าวประกอบด้วยรายวิชาเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมพื้นเมือง ตลอดจนศาสตร์การจัดการเรียนรู้สาขาวิชาต่างๆ

นอกจากหลักสูตรย่อยเหล่านี้ NTEP ยังให้ประกาศนียบัตรแก่ผู้ต้องการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนชาวพื้นเมืองแก่ผู้เรียนในหลักสูตรครูอื่นๆ โดยผู้เรียนต้องผ่านรายวิชาศิลปะและหัตถกรรมท้องถิ่น วรรณคดีภาษาปฐมชาติ โอจิบวา หรือครี รวมถึงพื้นฐานการเรียนรู้ของชาวพื้นเมือง ท้องถิ่นศึกษา ตลอดจนรายวิชาอื่นๆ ในหลักสูตรของตนก่อนได้รับประกาศนียบัตร

 

นอกจากนี้ การจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนกลุ่ม FNMI ยังเป็นอีกประเด็นที่ได้รับความสำคัญ โดยมีการจัดสรรงบประมาณผ่านโครงการในรัฐแอลเบอร์ตาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยเชิงปฏิบัติการระหว่างครูและผู้ประสานงานในชุมชนซึ่งมุ่งพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มนี้ ตลอดจนพัฒนาการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ปกครองนักเรียน รวมถึงเพิ่มพูนความตระหนักเกี่ยวกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม สถาบันผลิตครูในรัฐแอลเบอร์ตาและออนแทรีโอยังมีหลักสูตรเฉพาะเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่ม FNMI ด้วย

 

 

เห็นได้ชัดว่ากุญแจสู่ความสำเร็จของการจัดการศึกษาคือการบริหารจัดการที่ยึดโยงกับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันผลิตครูที่คำนึงถึงความต้องการของชุมชนในรัฐ การจัดสรรงบประมาณ และการคัดเลือกผู้เรียนในหลักสูตรครู ที่ล้วนให้อำนาจแก่ท้องถิ่น ชุมชนจึงเข้มแข็งและพัฒนาเยาวชนผู้จะขับเคลื่อนสังคมต่อไปได้ในระยะยาว

การกระจายอำนาจและการคำนึงถึงความหลากหลายจึงเป็นประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาไทยเรียนรู้จากทั้งรัฐแอลเบอร์ตาและออนแทรีโอได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Linda Darling-Hammond เขียน

ชลิดา หนูหล้า แปล

472 หน้า