เรียนรู้ด้วยภาพ: ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูจากฟินแลนด์

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

ต้นแบบของระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาล มีคุณภาพดี เสมอภาค สามารถเข้าถึงได้สะดวก และยังมีราคาสมเหตุสมผล

— ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) จาก Educational change in Finland

 

แทบไม่มีวงสนทนาการศึกษานานาชาติใดที่ไม่มีใครพูดถึงฟินแลนด์!

ใครเล่าจะจินตนาการได้ว่าประเทศที่มีระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพ ด้วยคะแนนเฉลี่ยทุกด้านเกือบสูงที่สุดในหมู่ประเทศสมาชิก OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ที่ร่วมการประเมิน PISA ตลอดจนมีรัฐสวัสดิการอันเลื่องชื่อ จะเป็นประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามมหาศาล แร้นแค้น และมีระบบการศึกษาย่ำแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังรักษามาตรฐานสูงลิ่วนั้นได้ แม้จำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐานจากประเทศที่มีระบบการศึกษาด้อยคุณภาพกว่ากำลังทวีจำนวนในเฮลซิงกิ และโรงเรียนต่างๆ ต้องเผชิญความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม โดยผู้อพยพกลุ่มใหญ่ที่สุดประกอบด้วยชาวบอสเนีย อังกฤษ จีน เอสโตเนีย เยอรมัน อินเดีย อิหร่าน อิรัก รัสเซีย เซอร์เบีย โซมาเลีย สวีเดน ตุรกี ไทย อเมริกัน และเวียดนาม

แน่นอนว่าโรงเรียนในฟินแลนด์เต็มไปด้วยครูที่มีคุณภาพ และครูจะมีคุณภาพได้ก็ด้วยระบบนโยบายที่ครอบคลุมจากต้นถึงปลายน้ำ หรือตั้งแต่การสรรหาและคัดเลือกผู้เรียนในหลักสูตรครู จนถึงการให้การสนับสนุนที่เหมาะสม และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของครูผู้กำลังปฏิบัติหน้าที่ ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกลไกเหล่านั้นครบถ้วน โดยระบบนโยบายที่ยกระดับการเรียนรู้ในฟินแลนด์นั้น ประกอบด้วย

 

แน่นอนว่าโรงเรียนในฟินแลนด์เต็มไปด้วยครูที่มีคุณภาพ และครูจะมีคุณภาพได้ก็ด้วยระบบนโยบายที่ครอบคลุมจากต้นถึงปลายน้ำ หรือตั้งแต่การสรรหาและคัดเลือกผู้เรียนในหลักสูตรครู จนถึงการให้การสนับสนุนที่เหมาะสม และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของครูผู้กำลังปฏิบัติหน้าที่

 

การสรรหาและคัดเลือกผู้เข้าเรียนในหลักสูตรครู

แม้รายได้ของครูจะไม่แตกต่างจากของผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ นัก ทว่าด้วยสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานที่เอื้อต่อการแสดงศักยภาพ ฐานะทางสังคมที่สูงของวิชาชีพ ตลอดจนการฝึกหัดครูที่ปราศจากค่าใช้จ่ายและมีเงินเดือนให้ จึงมีผู้สมัครเข้าเรียนในหลักสูตรครูเป็นจำนวนมากทุกปี โดยอาจสูงถึง 20,000 คน ต่อ 4,000 ที่นั่ง นำไปสู่กระบวนการคัดสรรอันเข้มข้น

ผู้สมัครสาขาวิชาประถมศึกษาต้องร่วม VAKAVA หรือการทดสอบระดับประเทศ โดยต้องตอบคำถามจากบทความวิจัยจำนวนห้าถึงแปดบทความ เนื้อหางานวิจัยล้วนแปรผันตามความท้าทายที่ว่าที่ครูเหล่านี้ต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ ผู้สมัครจะมีเวลาราวหกสัปดาห์เพื่ออ่านและวิเคราะห์บทความวิจัยก่อนร่วมการทดสอบในเดือนพฤษภาคม และต้องเลือกว่าจะเข้าสถาบันผลิตครูใดจากแปดมหาวิทยาลัย ผู้ผ่านการทดสอบจำนวนสามเท่าของที่นั่งที่มีจะเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์ต่อไป

ผู้สมัครจะถูกสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม โดยผู้สมัครสามถึงสี่คนจะได้รับข้อเขียนหรือแผนภาพที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาระงานของครู จากนั้น พวกเขาต้องหารือกันว่าจะนำเสนอข้อเขียนหรือแผนภาพดังกล่าวในการอภิปรายกลุ่มอย่างไร ผู้สัมภาษณ์ต่างเฟ้นหาผู้มีความกระตือรือร้น พร้อมให้ความร่วมมือกับผู้อื่น และมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการจัดการเรียนรู้ โดยผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกสามารถร่วมการทดสอบใหม่ในปีถัดไปได้ แบบสำรวจเร็วๆ นี้ชี้ว่าร้อยละ 56 ของผู้ร่วมการทดสอบ VAKAVA ร่วมการทดสอบเป็นครั้งแรก ร้อยละ 28 เป็นครั้งที่สอง และกว่าร้อยละ 18 เป็นครั้งที่สาม

 

หลักสูตรครู

ฟินแลนด์เน้นผลิตครูจำนวนน้อยที่มีคุณภาพสูงและรักษาพวกเขาไว้ในวิชาชีพ โดยยกระดับหลักสูตรครูสู่หลักสูตรห้าปีที่ผนวกปริญญาตรีและโทเข้าด้วยกันในปลายทศวรรษ 1970 ร่วมกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพอย่างเข้มงวด

นอกจากการศึกษารายวิชาต่างๆ ที่ต้องจัดการเรียนรู้ในอนาคต ผู้เรียนต้องเข้าใจศาสตร์การจัดการเรียนรู้ พัฒนาการเด็ก การสื่อสาร การดำเนินการวิจัย และการวิเคราะห์ผลการวิจัย รวมถึงต้องเขียนวิทยานิพนธ์ทั้งระดับปริญญาตรีและโท

การเตรียมครูในฟินแลนด์ยังให้ความสำคัญแก่กระบวนการเรียนรู้และบุคลิกภาพที่หลากหลายผ่านรายวิชาต่างๆ ในหลักสูตร เช่น “การเผชิญความจำเพาะและความหลากหลาย: การจัดการศึกษาแก่ผู้เรียนที่แตกต่าง (Facing Specificity and Multiplicity: Education for Diversities)” และ “ความแตกต่างทางวัฒนธรรมในสถานศึกษา (Cultural Diversity in Schools)” รวมถึง “การศึกษาและความยุติธรรมในสังคม (Education and Social Justice)” ฯลฯ

นอกจากนี้ กว่าสองในสามของระยะเวลาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูยังดำเนินไปในโรงเรียนฝึกหัดครูในความร่วมมือของมหาวิทยาลัย โดยโรงเรียนเหล่านี้จะได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม ซึ่ง แจกจ่ายผ่านมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามข้อตกลงประจำปีระหว่างมหาวิทยาลัยและกระทรวง ตลอดจนบริหารจัดการโดยบุคลากรจากสถาบันผลิตครู ซึ่งเป็นผู้ออกแบบหลักสูตร แนวทางการจัดการเรียนรู้ รวมถึงสถาปัตยกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทั้งของนักเรียนและว่าที่ครู

โรงเรียนเหล่านี้จึงมีห้องสำหรับหารือ ตู้และชั้นบรรจุทรัพยากรทางการศึกษา ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและพื้นที่รับประทานอาหารกลางวัน ทั้งยังพรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ยิ่งกว่านั้น ครูในโรงเรียนยังเป็นผู้เปี่ยมประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และดำเนินการวิจัยทางการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะฟินแลนด์ให้ความสำคัญแก่การดำเนินการวิจัยและการสืบเสาะหาความรู้ของครู ผู้เรียนจำนวนมากจึงศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ต่อไป

 

การแนะแนวและชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู

แม้การแนะแนวครูใหม่ในฟินแลนด์จะยังไม่เป็นระบบระเบียบนัก ทว่าฟินแลนด์ได้ยกระดับการสนับสนุนการเรียนรู้ทางวิชาชีพผ่านโครงการ โอซาวา (Osaava) (หมายถึง “เก่งกาจ” หรือ “ช่ำชอง”) โดยอัดฉีดงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มเติมกว่า 8-10 ล้านยูโรต่อปีเพื่อบรรลุเป้าหมายต่อไปนี้

 

  1. สนับสนุนความเสมอภาคและความเป็นผู้นำในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของครู
  2. เสริมสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
  3. สนับสนุนการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาทางวิชาชีพที่สร้างสรรค์
  4. พัฒนาเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและผู้จัดการพัฒนาทางวิชาชีพ
  5. ประชาสัมพันธ์แนวทางการพัฒนาทางวิชาชีพที่ประสบความสำเร็จ

 

การเรียนรู้ทางวิชาชีพที่ได้รับการสนับสนุนครอบคลุมการแนะแนวครูใหม่ จนถึงการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้นำทางการศึกษา โดยรัฐบาลและโรงเรียนในท้องถิ่นจะเป็นผู้บริหารจัดการการเรียนรู้ทางวิชาชีพเหล่านี้ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งกิจกรรมภายในและนอกโรงเรียน ครูผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านี้ ฟินแลนด์ยังให้ครูมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร พัฒนารูปแบบการวัดและประเมินผลการศึกษา ในฐานะการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาแห่งชาติของฟินแลนด์เพียงกำหนดเป้าหมาย แนะนำเนื้อหาและเกณฑ์การประเมินผลการศึกษา โรงเรียนและครูจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดของหลักสูตร และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังต่อไป โดยนอกจากการประเมินผลการศึกษาในโรงเรียน ครูยังมีส่วนร่วมในการออกแบบแบบทดสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาซึ่งนักเรียนร่วมการทดสอบได้ตามความสมัครใจ โดยใช้คู่มือจากกระทรวงเพื่อประเมินแบบทดสอบดังกล่าวเป็นการภายในท้องถิ่น

เพราะครูในฟินแลนด์มีบทบาทสำคัญในการออกแบบหลักสูตรและการประเมินผลการศึกษาเช่นนี้เอง ฮานเนเลอ คานเทลล์ (Hannele Cantell) อดีตครูและบุคลากรภาควิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ จึงกล่าวว่า ครูมักไม่แสดงความตึงเครียดหรือความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรนัก พวกเขาได้เห็น ได้อ่าน และได้วิพากษ์วิจารณ์แบบร่างเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ “พวกเขารู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น” อย่างชัดเจน

หัวใจความเข้มแข็งของระบบการศึกษาฟินแลนด์ จึงเป็นการให้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของครูเป็นกุญแจกำหนดนโยบายด้านการศึกษา และทิศทางการจัดการเรียนรู้แห่งชาตินั่นเอง

 

การเติบโตในอาชีพ

โดยทั่วไป ผู้บริหารโรงเรียนในฟินแลนด์มักถูกคัดเลือกจากกลุ่มครูผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งยังมีข้อบังคับให้ผู้บริหารโรงเรียนหนึ่งๆ เป็นครูผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจากโรงเรียนนั้นๆ ตลอดจนผ่านการฝึกอบรมเชิงวิชาการในมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเรียนนอกเวลาขณะที่บุคคลดังกล่าวยังสอนหรือปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน การอบรมเชิงวิชาการในบางมหาวิทยาลัยยังเน้นจับคู่ผู้นำทางการศึกษาเพื่อให้ความช่วยเหลือกันและกัน โดยการฝึกอบรมจะดำเนินไปพร้อมกับการติดตาม และการให้คำแนะนำของผู้บริหารโรงเรียนรุ่นพี่

คุณลักษณะเช่นนี้ของผู้นำทางการศึกษาในฟินแลนด์มีที่มาจากโครงสร้างการพัฒนาศักยภาพที่ยึดโยงกับท้องถิ่น ดังที่แอนดี ฮาร์เกรฟส์ (Andy Hargreaves) และคณะ สรุปในบทวิเคราะห์ว่าด้วยการพัฒนาความเป็นผู้นำทางการศึกษาในฟินแลนด์ (The Finnish approach to system leadership) ว่า ผู้นำทางการศึกษาจะสร้างประโยชน์ต่อระบบการศึกษาได้ ก็ด้วยการให้ความสำคัญแก่การพัฒนาสภาพแวดล้อม กระบวนการ และเป้าหมายที่นำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพระบบการศึกษาโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานในระบบการศึกษาที่ครอบคลุมทว่าไม่ก้าวก่ายกันและกัน การส่งเสริมภาวะผู้นำทางการศึกษาที่เข้มแข็งในระดับเทศบาลนคร พร้อมการลงทุนของท้องถิ่นในการพัฒนาหลักสูตรและการศึกษา การเฟ้นหาครูผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตั้งแต่เริ่มงาน ตลอดจนการสร้างความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำทางการศึกษา และผู้บริหารโรงเรียนที่มีความใกล้ชิดกับชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน รวมถึงวัฒนธรรมการจัดการเรียนรู้

 

การเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ฟินแลนด์จัดสรรบริการสุขภาพที่ไร้ค่าใช้จ่ายแก่พลเมือง เช่นเดียวกับที่พักอาศัยและรายได้ นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังลงทุนในสวัสดิการสำหรับเด็ก รัฐบาลมอบกล่องบรรจุเสื้อผ้า เครื่องนอน ของเล่น ผ้าอ้อม และเครื่องใช้ที่จำเป็น แด่แม่ที่มีบุตรแรกเกิดทุกคน โดยกล่องเองเป็นเปลอย่างง่ายๆ ได้ด้วย กล่องดังกล่าวเป็นเครื่องประกันว่าเด็กๆ ในฟินแลนด์มีจุดเริ่มต้นที่เท่าเทียมกัน และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสมอภาค

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลฟินแลนด์ยังอนุญาตให้ผู้ปกครองลางานได้หนึ่งปีโดยยังมีรายได้ เพื่อรับประกันว่าพวกเขาจะดูแลดูแลบุตรหลานที่บ้านได้ เด็กทุกคนในฟินแลนด์เข้าถึงการอนุบาลเด็กแรกเกิดที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูง ทั้งนี้ หลักสูตรเตรียมประถมศึกษายังปราศจากค่าใช้จ่าย ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความร่วมมือกับผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก เมื่อเด็กๆ เหล่านี้เข้าเรียนโรงเรียนประถมศึกษา ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นก็จะมีหน้าที่ชี้แจงความต้องการและความสนใจของเด็กแต่ละคนต่อครูด้วย เพื่อไม่ให้พัฒนาการของพวกเขาหยุดชะงัก โดยนักเรียนทุกคนยังได้รับอาหาร ประกันสุขภาพ ค่าเดินทาง ทรัพยากรการศึกษา และบริการให้คำปรึกษาในโรงเรียน เด็กๆ จึงมีพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้อย่างพร้อมสรรพ

นอกจากนี้ โรงเรียนต่างๆ ยังมุ่งมั่นจะตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักเรียนทุกคน เด็กๆ ชาวฟินแลนด์ทุกคนจึงรู้สองภาษา และจำนวนมากก็รู้สามภาษา เพราะมีการจัดการเรียนรู้ภาษาฟินแลนด์ อังกฤษ และภาษาแม่อื่นๆ ในโรงเรียน ในเฮลซิงกินั้น เมื่อไรก็ตามที่นักเรียนอย่างน้อยสามคนในโรงเรียนพูดภาษาแม่เดียวกัน โรงเรียนจะออกแบบรายวิชาเฉพาะสำหรับพวกเขา โดยภาษาที่มีการจัดการเรียนรู้ทั่วไปในเมืองหลวงคือภาษาโซมาลีและอาหรับ เช่นเดียวกับภาษาซามี สวีเดน และรัสเซีย

เมื่อมีนักเรียนที่มีเชื้อชาติ หรือนับถือศาสนาที่แตกต่างกันในชั้นเรียน ครูยังมีหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและศาสนานั้นๆ ในชั้นเรียนด้วย เป้าหมายของแนวปฏิบัติเช่นนี้คือการรับประกันว่าเด็กทุกคน รวมถึงเด็กคนอื่นๆ ที่ร่วมเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมนั้นๆ จะรู้สึกมีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้รักษาภาษาและวัฒธรรมของตน เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้พหุวัฒนธรรมและพหุภาษาอย่างแท้จริง

 

เมื่อมีนักเรียนที่มีเชื้อชาติ หรือนับถือศาสนาที่แตกต่างกันในชั้นเรียน ครูยังมีหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและศาสนานั้นๆ ในชั้นเรียนด้วย เป้าหมายของแนวปฏิบัติเช่นนี้คือการรับประกันว่าเด็กทุกคน รวมถึงเด็กคนอื่นๆ ที่ร่วมเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมนั้นๆ จะรู้สึกมีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้รักษาภาษาและวัฒธรรมของตน เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้พหุวัฒนธรรมและพหุภาษาอย่างแท้จริง

 

โรงเรียนในฟินแลนด์ยังได้รับการออกแบบให้สามารถให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนที่ประสบปัญหาการเรียนรู้ ไม่ว่านักเรียนคนที่ว่าจะมีสถานะ “นักเรียนผู้มีความต้องการการศึกษาพิเศษ” หรือไม่ ทั้งนี้ ฟินแลนด์มุ่งใช้รูปแบบการเรียนรวม (inclusive approach) หรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เด็กๆ ที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไปได้ ซึ่งแตกต่างจากนโยบายดั้งเดิมที่เน้นความ “บกพร่อง” ของเด็ก โดยเด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องเข้าสู่สถานศึกษาเฉพาะสำหรับพวกเขา ดังนั้น นอกจากการช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ครูในฟินแลนด์จึงได้รับการฝึกหัดให้สามารถจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาระบบโรงเรียนเช่นนี้ในฟินแลนด์ดำเนินไปเพื่อรักษานักเรียน ทุกคน ไว้ในระบบการศึกษา โดยหนึ่งในแนวทางที่ใช้คือการ “จัดการศึกษาพิเศษนอกเวลา” (part-time special education) สำหรับนักเรียนทุกคนที่ต้องการ ซึ่งเป็นแนวทางที่แพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษ 1980 อันแตกต่างจากการ “รอให้หล่นหาย” (wait-to-fail) ในหลายระบบการศึกษา แนวปฏิบัตินี้มุ่งให้ความหมายแก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในฐานะนักเรียน ทั่วไป ผู้ต้องการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนเพิ่มเติม ไม่ว่าพวกเขาจะกำลังเผชิญอุปสรรคอันเนื่องมาจากความต้องการพิเศษของตน หรือเพียงเผชิญความลำบากด้านใดด้านหนึ่งเพียงชั่วขณะ เช่น การคูณเลข หรือปัญหาความเข้าใจ ฯลฯ แนวความคิดเช่นนี้สะท้อนการถือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างที่ปรากฏได้ทั่วไป ไม่ใช่เพียงการตีตราว่านักเรียนคนนั้น ขาดความสามารถ บางประการ

ทั้งนี้ ราวร้อยละ 30 ของนักเรียนชาวฟินแลนด์ในระบบการศึกษาภาคบังคับยังได้รับความช่วยเหลือพิเศษในการเรียนรู้ทันที ร่วมกับคำแนะนำอย่างรอบคอบเมื่อไรก็ตามที่พวกเขาต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องรอกระบวนการวินิจฉัยและยืนยันว่าพวกเขามีความต้องการพิเศษในการเรียนรู้ ตลอดจนกระบวนการทางกฎหมายเพื่อรับรองบริการดังกล่าว ผลลัพธ์ของการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเสมอ คือนักเรียนเหล่านี้ไม่ต้องการความช่วยเหลือดังกล่าวในระยะยาว ดังนั้น จำนวนนักเรียนที่ถูกระบุว่ามีความต้องการพิเศษจึงต่ำลง และจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาโดยไม่เคยหลุดจากระบบการศึกษาจึงสูงมาก คือถึงร้อยละ 93 ในปี 2012

 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า เพราะเหตุใด ระบบการศึกษาฟินแลนด์จึงดึงดูดใจ และเป็นที่พึงปรารถนาของนักการศึกษาทั่วโลก!

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Linda Darling-Hammond เขียน

ชลิดา หนูหล้า แปล

472 หน้า