(Dis)Empowered Educators: ไม่มีนโยบายแห่งความหวัง หากไม่ฟังเสียงนักการศึกษา

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

แม้ไม่ได้อยู่ในวงการศึกษา หลายคนก็อาจสัมผัสได้ว่าผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในไทยไม่เคยกระเตื้อง ปัญหาการศึกษาครั้งยังเยาว์แทบจะเป็นภาพซ้อนของข่าวเศร้าที่ฟังแกล้มกาแฟยามสาย “การศึกษาไทยก็ล้าหลังอย่างนี้แต่ไหนแต่ไร” คุณอาจพูดแล้วสั่นศีรษะเหนื่อยหน่าย “กี่ปีๆ ก็ไม่เปลี่ยน”

“ครูไม่เก่ง” บ้าง “สถาบันผลิตครูไม่ได้ความ” บ้าง “เงินเดือนครูน้อยเกินไป” บ้าง “ครูเดี๋ยวนี้ไม่มีอุดมการณ์” บ้าง สารพัดเหตุผลที่ผู้คนใช้อธิบายภาวะการเรียนรู้ชะงักงัน และคุณภาพครูผู้เป็นมดงานในระบบการศึกษาก็ดูจะเป็นข้อใหญ่ใจความ การมุ่งมั่นพัฒนาครูนั้นชอบด้วยเหตุผล แต่หากปัญหาจิปาถะเหล่านี้จะบอกอะไรได้ ก็คงบอกว่าอุปสรรคที่แท้จริงไม่ใช่ทักษะหรือความทุ่มเทของครูรายบุคคล แต่เป็น ‘ระบบนโยบาย’ ที่ไม่อุ้มชูการเติบโตของครูผู้มีศักยภาพ ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการศึกษา

แม้แนวทางพัฒนาการเรียนรู้ในระยะหลังจะให้ความสำคัญแก่ประเด็นดังกล่าว ผ่านหลากหลายข้อบังคับเพื่อรับรองคุณภาพ สารพันการฝึกอบรม การกำหนดให้มีชั่วโมงการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และคำสั่งฟ้าผ่าให้ปรับปรุงหลักสูตรครูอย่างเร่งด่วน ทว่าการยกระดับการศึกษาไม่ได้เรียบง่ายเพียงบรรจุ ‘นโยบายแห่งความหวัง’ ลงในเอกสารแล้วข้อขัดข้องสะสมจะกะเทาะล่อนเหมือนใช้น้ำยาขจัดคราบสูตรมหัศจรรย์

 

 

“โมเดลการพัฒนาครูในหลายประเทศไม่ได้ซับซ้อนหรืออาศัยนวัตกรรมขั้นสูงอะไรเลย แต่อาศัยวิธีคิดและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของครู คุณภาพการศึกษาในสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ แล้วว่าวัฒนธรรมไม่ใช่ข้อจำกัดของการจัดการศึกษา แต่เป็นวิธีคิดต่างหาก” อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการ ‘ดูงาน’ ของเธอในต่างประเทศ ชวนให้ตั้งข้อสงสัยต่อไปว่าเพราะเหตุใดการศึกษาดูงานของหน่วยงานภาครัฐจึงไม่ออกดอกออกผลให้ชื่นชมบ้าง

ไม่เพียงผู้บริหารสถานศึกษาอย่างอธิษฐาน์เท่านั้นที่ชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าว เพราะบุคลากรระดับปฏิบัติการอย่าง ‘ครูพล’ – อรรถพล ประภาสโนบล อดีตครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี ก็มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน “สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีคิดของนโยบายเหล่านั้น หลายๆ ครั้งเมื่อเราย้อนไปดูการดูงานของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายที่ติดตามมาเป็นการนำแนวปฏิบัติจากประเทศนั้นๆ มาใช้โดยตรง แต่ไม่ได้นำวิธีคิดมาด้วยเพื่อจะปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม อย่างนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ก็เห็นได้ชัด ยกมาใช้อย่างนั้นโดยไม่เข้าใจว่าต้องปรับใช้อย่างไร”

การปรับใช้นโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาล้มเหลวได้ด้วยเหตุผลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดความเข้าใจบริบททางการศึกษาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หรือการขาดความร่วมมือของทุกฝ่ายเป็นระยะเวลานานเพียงพอ กระนั้น ก็ดูเหมือนสภาพการณ์ดังกล่าวจะยังไม่ใช่ต้นตอปัญหา

‘ว่าที่’ บุคลากรทางการศึกษาอย่าง ‘มายมิ้น’ – ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามนี้ว่า “ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารการจัดการศึกษาในไทย ผู้กำหนดนโยบายไม่เคยถามว่าบุคลากรระดับปฏิบัติการต้องการอะไร เหมือนให้ใครก็ได้เข้ามากำหนดนโยบายด้านการศึกษา มีความคิดอย่างไรก็ชี้นิ้วบอกให้ทำ โดยไม่รู้ว่าคนอื่นๆ กำลังทำอะไร มีอะไรให้ทำบ้าง แล้วปีสองปีก็จากไป” เธอบอก “เป็นเหมือนกันหมดทุกคน ผู้กำหนดนโยบายต้องถามความคิดเห็นของยูสเซอร์ (user) มากกว่านี้ ไม่ใช่คิดเองว่าแบบนี้ต้องดีแน่ ยูสเซอร์ต้องชอบแน่ แล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือนักเรียน”

 

หลายๆ ครั้งเมื่อเราย้อนไปดูการดูงานของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายที่ติดตามมาเป็นการนำแนวปฏิบัติจากประเทศนั้นๆ มาใช้โดยตรง แต่ไม่ได้นำวิธีคิดมาด้วยเพื่อจะปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม อย่างนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ก็เห็นได้ชัด ยกมาใช้อย่างนั้นโดยไม่เข้าใจว่าต้องปรับใช้อย่างไร

 

ทั้งเธอ ครูพล และอธิษฐาน์ ล้วนเป็นบุคลากรในวงการศึกษาที่ก้าวเข้ามาด้วยความมุ่งมั่น ทั้งยังมีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาในระบบการศึกษาแตกต่างกัน

สำหรับอธิษฐาน์ เธอเริ่มต้นด้วยการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้สนใจการศึกษาทางเลือก อธิษฐาน์ประทับใจแนวทางพัฒนาเด็กแบบเป็นองค์รวม (holistic) หรือการพัฒนาทุกมิติของเด็ก ไม่เพียงความสำเร็จทางวิชาการ และชีวิตในวงการศึกษานอกโรงเรียนก็ทำให้เธอเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาการเรียนรู้ของวอลดอร์ฟ (Waldorf) ที่มุ่งสนับสนุนเด็กให้ค้นพบศักยภาพของตนเอง หรือแนวทางจัดการเรียนรู้ฉบับยืดหยุ่นในบ้านเรียน (home school)

“หลายแนวทางสร้างสรรค์และน่าสนใจ มีผู้ต้องการขับเคลื่อนการศึกษามากมาย” เธอบอก “แต่ไม่รู้เพราะอะไร การศึกษาในระบบเติบโตได้ช้าจริงๆ ”

ความสงสัยนั้นนำเธอมาที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้าง “นักการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของสังคมได้” และไม่ช้าอธิษฐาน์ก็เห็นปัญหาสำคัญในสถาบันผลิตครู คือหลักสูตรครูไทยนั้นถูกรัดรึงด้วยข้อบังคับจนแทบปรับเปลี่ยนไม่ได้ แม้จะดีต่อการควบคุมคุณภาพ แต่ก็เป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

“เราต้องการสร้างครูที่เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ มนุษย์ไม่เพียงเรียนรู้ผ่านสมอง แต่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ส่วนบุคคลด้วย ซึ่งความคิดที่ว่านั้นก็ถ่ายทอดไปสู่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงเรียนนี้มีจุดยืนที่ชัดเจนคือไม่เน้นการสอบแข่งขัน แต่เน้นการพัฒนาศักยภาพ เน้นสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เด็ก ผู้ปกครอง และโรงเรียน จะเกื้อหนุนกันและกัน”

 

 

ขณะที่การก้าวสู่วงการศึกษาของครูพลนั้นต่างออกไป เดิมเขาสนใจอาชีพครูเพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง กระทั่งหนังสือเล่มหนึ่ง ‘กระตุก’ ความคิดของเด็กหนุ่มคนนั้น และเปลี่ยนเขาเป็นนักการศึกษาผู้มุ่งมั่นในวันนี้

“ระหว่างรอเข้าเรียนในคณะศึกษาศาสตร์ ผมได้อ่านหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 ของสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส ทำให้ได้หันกลับไปมองการศึกษาที่ได้เผชิญมาตั้งแต่เด็กจนโต แล้วเอะใจว่านี่ไม่ตอบโจทย์ของเราเลย มันควรจะเป็นอีกแบบหนึ่งต่างหาก เป็นจุดเริ่มต้นที่ความต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษา”

ครูพลต่อสู้เพื่อยกระดับการศึกษาตั้งแต่ยังเป็นครู โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในโลกออนไลน์ จนถึงปัจจุบันที่เขากำลังรอศึกษาต่อระดับปริญญาโท

 

ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารการจัดการศึกษาในไทย ผู้กำหนดนโยบายไม่เคยถามว่าบุคลากรระดับปฏิบัติการต้องการอะไร เหมือนให้ใครก็ได้เข้ามากำหนดนโยบายด้านการศึกษา มีความคิดอย่างไรก็ชี้นิ้วบอกให้ทำ โดยไม่รู้ว่าคนอื่นๆ กำลังทำอะไร มีอะไรให้ทำบ้าง แล้วปีสองปีก็จากไป

 

เมื่อถามว่าการเป็นครูทำให้ครูพล ‘หมดไฟ’ ในการพัฒนาการศึกษาหรือไม่ เขาตอบว่า “ถามว่าเมื่อประกอบอาชีพครูจริงๆ แล้วผิดหวังไหมก็พูดยาก ผมตั้งใจเป็นครูเพราะต้องการสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ในโรงเรียน และก็รู้แต่แรกว่าระบบราชการไม่ได้สนับสนุนความหวังนั้น เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์นั้นจริงๆ จึงไม่ได้คิดเลิกเป็นครู ผมเห็นมันเป็นความท้าทายมากกว่า จึงยังทำงานกระตุ้นความคิดของผู้คนในโลกออนไลน์ต่อไป นับเป็นอีกโจทย์หนึ่งของตัวเอง”

 

 

สำหรับมายมิ้น เธอใช้ความเจ็บปวดในอดีตผลักดันความฝันและความปรารถนาดีต่อนักเรียน “ประสบการณ์ที่เราได้รับในโรงเรียนไม่ดีเอาเสียเลย เรารู้สึกว่าโรงเรียนทำร้ายเรา จนเราอยู่ในภาวะซึมเศร้าไประยะหนึ่ง ได้แต่สงสัยว่าทำไม ทำไมทำอย่างนั้นกับเรา ทำไมพูดอย่างนั้นกับเรา”

มายมิ้นอธิบายว่าแรกเริ่มเดิมที ความเจ็บปวดนั้นไม่ได้ทำให้ต้องการเป็นครู แต่เพราะมีครูคนหนึ่งในโรงเรียนช่วยเหลือเธอ เธอจึงหวังว่าเด็กๆ ในอนาคตจะได้รับประสบการณ์เดียวกัน

มายมิ้นเป็นนิสิตวิชาเอกการศึกษานอกระบบโรงเรียนและสังคมศึกษา เธออธิบายสาเหตุที่เลือกสองเอกวิชานี้ว่า “ช่วงที่ไม่คิดมีชีวิตอยู่ในโรงเรียนแล้ว เราหาข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบโรงเรียนเพื่อหาทางออก และก็ประทับใจปรัชญาการศึกษานอกระบบโรงเรียนที่อนุญาตให้ทุกคนมีรูปร่างของตัวเอง เชื่อว่าทุกคนมีความถนัดและบุคลิกภาพแตกต่างกัน ขณะที่โรงเรียนเหมือนเป็นบล็อก บังคับให้ทุกคนออกมาเหมือนกัน”

“อีกอย่างหนึ่งคือเราเชื่อในการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และก็เลือกเป็นครูสังคมศึกษาเพื่อสร้างนักเรียนให้เป็นอย่างนั้น เนื้อหาวิชานี้ยังปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามสถานการณ์บ้านเมืองด้วย อย่างน้อยถ้าการเป็นครูในระบบการศึกษานี้น่าเบื่อ เนื้อหาวิชานี้คงไม่ทำให้เราเบื่อ”

ช่วงที่ไม่คิดมีชีวิตอยู่ในโรงเรียนแล้ว เราหาข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบโรงเรียนเพื่อหาทางออก และก็ประทับใจปรัชญาการศึกษานอกระบบโรงเรียนที่อนุญาตให้ทุกคนมีรูปร่างของตัวเอง เชื่อว่าทุกคนมีความถนัดและบุคลิกภาพแตกต่างกัน ขณะที่โรงเรียนเหมือนเป็นบล็อก บังคับให้ทุกคนออกมาเหมือนกัน

 

นี่เป็นเพียงสามความฝันของนักการศึกษา ท่ามกลางบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมหาศาลในประเทศซึ่งย่อมมีความมุ่งมั่นและข้อจำกัดแตกต่างกัน ปัญหาคือไม่มีใคร ‘ฟัง’ ความในใจของพวกเขา นโยบายแห่งความหวังจึงกดทับบุคลากรทุกระดับอย่างน่าเสียดาย

อธิษฐาน์ยอมรับว่า การปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตที่ได้ร่วมมือกับคณาจารย์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างต่อเนื่องนั้น แตกต่างจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วไปมากทีเดียว

“ในโรงเรียนทั่วไป เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนดำรงตำแหน่งครบวาระก็ต้องย้ายไปโรงเรียนอื่น ปัญหาที่ชัดเจนจึงเป็นการดำเนินนโยบายที่ขาดตอน ผู้อำนวยการคนหนึ่งกำหนดนโยบายอย่างนี้ เมื่อผู้อำนวยการคนใหม่เข้ามากลับต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตไม่ต้องย้ายไปเมื่อครบวาระอย่างนั้น”

นอกจากการดำเนินนโยบายที่ขาดความต่อเนื่องแล้ว อธิษฐาน์ยังชี้ให้เห็นปัญหาของระบบราชการซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารไฟแรงได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าความท้าทายทางการศึกษาอื่นๆ

“ต้องขอบคุณการอยู่ในโรงเรียนสาธิตฯ ที่ให้อิสระในการปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานร่วมกับครู ได้ลองผิดลองถูก ถอดบทเรียน และแก้ไขได้เร็ว ไม่ใช่อยู่ในวัฒนธรรมแห่งความกลัวที่ต้องรอคำสั่ง ผิดจากคำสั่งก็จะถูกลงโทษ ถูกตัดสิน เป็นบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต”

 

 

นอกจากนี้ อธิษฐาน์ยังชี้อธิบายประโยชน์ของอำนาจบริหารจัดการโรงเรียนด้วยตนเองซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการว่า “เรามีชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ของตัวเองที่แบ่งด้วยกลุ่มประสบการณ์ ไม่ใช่กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพราะเราเชื่อในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงองค์ความรู้”

กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ที่ว่า ได้แก่ กลุ่มประสบการณ์เรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics) มนุษย์และสังคม (People and Society) สุขภาพและสุขภาวะ (Health and Well-being) การสื่อสารและภาษา (Communication and Languages) รวมถึงสุนทรียะทางศิลปะ (Appreciation of Arts) ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้และทักษะจากหลายสาขาวิชา

“ดังนั้น ในแต่ละภาคเรียน พวกเราจะออกแบบการจัดการเรียนรู้เป็นทีมและจัดการเรียนรู้เป็นทีมจริงๆ เน้นมองให้ขาดว่าเป้าหมายของการเรียนรู้นั้นๆ คืออะไร และจะพาเด็กไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร โดยที่ครูต้องถอดบทเรียนร่วมกันทุกสัปดาห์ และกลางภาคเรียนก็จะพักการเรียนการสอนเพื่อเปิดพื้นที่ให้ครูได้หารือและสะท้อนคิดว่าที่ผ่านมาเราเห็นอะไรบ้าง และจะทำอย่างไรต่อไป”

อย่างไรก็ตาม อธิษฐาน์ไม่กล่าวโทษโรงเรียนอื่นๆ ว่าขาดความมุ่งมั่นและความพยายามในการพัฒนาเยาวชน ทว่าการ ‘จ้องจับผิดกัน’ ต่างหากที่ฉุดรั้งโรงเรียนเหล่านั้น

“เราเคยเปิดวง ‘ก่อการครูใหญ่’ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วไปมาเรียนรู้ร่วมกัน พวกเขาอึดอัดใจเพราะการปฏิบัติตามคำสั่งและนโยบายที่เปลี่ยนระดับรายวันมาก ไม่ว่ากระทรวงไหนจะมีนโยบายอะไรก็มักส่งต่อมาที่โรงเรียน เดี๋ยวห้องเรียนสีขาว เดี๋ยวสีเขียว เดี๋ยวพลเมืองรักสิ่งแวดล้อม แทนที่ครูจะได้ทุ่มเทจัดการเรียนรู้ก็ต้องถูกดึงไปดำเนินโครงการทำนองนี้ ซึ่งดูดีนะ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็ก”

“อีกเหตุผลหนึ่งคือการบริหารงบประมาณโรงเรียนมีข้อจำกัดมากเหลือเกิน จะนำเงินไปพัฒนาโรงเรียนสัก 20 บาทต้องผ่านไม่รู้กี่ขั้นตอน ต้องจัดทำเอกสารอะไรต่อมิอะไร เพราะฉะนั้นจะมีความคิดริเริ่มก็ไม่ง่าย” อธิษฐาน์เปิดเผยอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ “แล้วผู้บริหารโรงเรียนก็กลัวการตรวจสอบด้วย อย่าง O-NET นี่เคยให้คุณให้โทษโรงเรียนได้มาก ถึงขั้นกำหนดว่าการได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์จะส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณและเงินเดือนผู้อำนวยการโรงเรียน ใกล้สอบทีไรต้องทรมาน วุ่นวายกันทุกโรงเรียน”

 

เราเคยเปิดวง ‘ก่อการครูใหญ่’ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วไปมาเรียนรู้ร่วมกัน พวกเขาอึดอัดใจเพราะการปฏิบัติตามคำสั่งและนโยบายที่เปลี่ยนระดับรายวันมาก ไม่ว่ากระทรวงไหนจะมีนโยบายอะไรก็มักส่งต่อมาที่โรงเรียน เดี๋ยวห้องเรียนสีขาว เดี๋ยวสีเขียว เดี๋ยวพลเมืองรักสิ่งแวดล้อม แทนที่ครูจะได้ทุ่มเทจัดการเรียนรู้ก็ต้องถูกดึงไปดำเนินโครงการทำนองนี้ ซึ่งดูดีนะ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็ก

 

ทั้งนี้ อธิษฐาน์เชื่อว่า สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนและชุมชนรอบโรงเรียน จะลดแรงกระแทกของคำสั่งเหล่านั้นได้ “คือโรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนจากชุมชน ระดมทุนจากชุมชนได้บ้าง ไม่อย่างนั้นก็เหมือนต่างคนต่างอยู่ โรงเรียนก็ไม่ได้ใส่ใจพัฒนาเด็กในชุมชน และชุมชนก็โดดเดี่ยวโรงเรียน จะขยับตัวทำอะไรก็ลำบาก”

ไม่เพียงผู้อำนวยการโรงเรียนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดนโยบายแห่งความหวังดีโดยไม่ไถ่ถาม เพราะครูทั้งหลายก็ประสบปัญหาดังกล่าวโดยถ้วนหน้า

“ที่สร้างปัญหาจริงๆ คือวัฒนธรรมการทำงาน การจัดการเรียนรู้ของครูไม่ถูกนับเป็นการทำงาน แต่เป็นการปฏิบัติงานในฝ่ายธุรการบ้าง ฝ่ายปกครองบ้าง” ครูพลอธิบาย “ใครทำได้ก็ยกย่องว่าเป็นคนเก่ง แต่นี่เป็นการดึงครูออกจากห้องเรียน แทนที่สอนแล้วจะได้สะท้อนคิดกับเพื่อนครูก็ไม่ได้ทำ เพราะคุณค่าของครูไม่ได้อยู่ตรงนั้น คุณค่าของครูอยู่ที่สอนแล้วไปทำงานอื่นได้มากน้อยแค่ไหน จึงไม่มีพื้นที่ PLC ที่เป็นธรรมชาติ”

เมื่อถามว่าแล้ว PLC ที่หน่วยงานภาครัฐจัดหาให้มีประสิทธิภาพเพียงใด ครูพลตอบว่า “ผมมักเรียก PLC ว่า Photo Community Learning เพราะถึงเวลาที่ต้องส่งหลักฐานการเข้าร่วม ครูก็เปลี่ยนชุด หากระดาษถือแล้วถ่ายภาพกันไป สัก 20 ภาพก็ใช้ได้แล้ว ถามว่ามีประสิทธิภาพไหม ก็พูดได้เลยว่าไม่มี ทั้งที่จริงๆ PLC คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูว่าแต่ละคนประสบปัญหาอะไรและจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งไม่ต้องกำหนดเป็นชั่วโมงก็ได้ แต่ต้องสร้างบรรยากาศที่ทำให้ครูอยากมาหารือกัน เป็นวัฒนธรรมที่ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่โยนคำสั่งลงมา”

 

 

นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่า แนวปฏิบัติที่ไม่สมเหตุสมผลดังกล่าว มาจากความไม่เข้าใจลักษณะงานของครูอย่างแท้จริง “ถ้าคุณอยากให้ครูทุ่มเทให้ห้องเรียนจริงๆ ก็ต้องคิดใหม่ด้วยว่ากระบวนการจัดการเรียนรู้จริงๆ ของครูประกอบด้วยอะไรบ้าง ไม่ใช่ออกจากห้องเรียนแล้วจบ เพราะครูต้องมีเวลาเตรียมการจัดการเรียนรู้ แก้ไขปัญหา ประเมินผลงานนักเรียน บางทีกว่าจะมีเวลาทำอย่างนั้นก็หลังเลิกเรียนหรือในวันหยุด ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นงาน และนั่นก็ไม่ใช่เวลางาน นี่เท่ากับครูทำงานสองเท่าไม่ใช่หรือ”

ยิ่งกว่านั้น ครูพลยังขยายความว่า การมีจำนวนนักเรียนต่อห้องมากเกินไปยิ่งซ้ำเติมปัญหานี้ให้ย่ำแย่ เพราะลำพังการประเมินผลงานนักเรียนก็หมดวันแล้ว ไม่เหลือเวลาไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ เงินเดือนเริ่มต้นของครูยังน้อยมาก ครูใหม่ๆ ที่พร้อมเรียนรู้และอยู่ในวัยก่อร่างสร้างตัวจึงต้องสาละวนกับการหารายได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของครู

“อะไรที่เป็นอุปสรรคและไม่จำเป็นต่องานก็ควรตัดออกไปบ้าง หาเจ้าหน้าที่มาแบ่งเบาภาระของครูก็ได้ หรืออะไรที่จัดทำในรูปแบบดิจิทัลได้ก็ควรทำ ไม่ต้องคอยกรอกโน่นหรือจัดทำเอกสารนี่ตลอดเวลา” เขาเสริม

 

ที่สร้างปัญหาจริงๆ คือวัฒนธรรมการทำงาน การจัดการเรียนรู้ของครูไม่ถูกนับเป็นการทำงาน แต่เป็นการปฏิบัติงานในฝ่ายธุรการบ้าง ฝ่ายปกครองบ้าง ใครทำได้ก็ยกย่องว่าเป็นคนเก่ง แต่นี่เป็นการดึงครูออกจากห้องเรียน แทนที่สอนแล้วจะได้สะท้อนคิดกับเพื่อนครูก็ไม่ได้ทำ เพราะคุณค่าของครูไม่ได้อยู่ตรงนั้น คุณค่าของครูอยู่ที่สอนแล้วไปทำงานอื่นได้มากน้อยแค่ไหน

 

ขณะที่มายมิ้นซึ่งผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนและศูนย์การศึกษานอกระบบโรงเรียนบ้างแล้วบอกว่า เธอและเพื่อนๆ ได้รับ ‘ผลกระทบมือสอง’ จากสภาพการณ์นี้เช่นกัน โดยเฉพาะต่อความต้องการเป็นครู

“ระบบปัจจุบันทำให้อาชีพครูไม่ดึงดูดใจ หลายคนบอกว่าเป็นครูมักได้รับผิดชอบอะไรที่ไม่ใช่การสอน ซึ่งก็จริง ยังไม่ได้เป็นครูจริงๆ ก็เห็นแล้ว บางอย่างก็ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร ไปยืนให้นักเรียนสวัสดี ไปตรวจทรงผม จัดทำเอกสาร” มายมิ้นบรรยาย “ที่บ้านเป็นร้านเครื่องเขียน เราก็เห็นครูในโรงเรียนเทศบาลรับผิดชอบทุกอย่างในอำเภอมาตลอด ทั้งจัดพานพุ่ม ติดไฟประดับในงานเทศกาล รุ่นพี่หลายคนก็กลับมาบอกว่าต้องอยู่เวรบ้าง ต้องเป็นแคชเชียร์ในโรงอาหารบ้าง อะไรก็ไม่รู้ โยนให้ครูเสียทุกอย่าง”

เมื่อรวมกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่บางครั้งลงเอยไม่ชวนอภิรมย์นัก หลายคนจึง ‘เข็ดขยาด’ เปลี่ยนอาชีพทันทีหลังสำเร็จการศึกษา

“แค่ไปฝึกสอนก็เห็นแล้วระบบนี้ปฏิบัติต่อเราอย่างไม่ปกติ ถ้าไม่มีภาระงานมากเกินไป ครูคนอื่นๆ ก็คงไม่โยนงานให้นิสิตฝึกสอนจนไม่เป็นอันสอน อย่างนี้เป็นต้น ระบบทั้งนั้นที่ทำให้ครูเป็นอาชีพที่ไม่น่าเป็น”

 

 

นอกจากนี้ สวัสดิการและการสนับสนุนที่ไม่สอดคล้องกับภาระงานและความกดดันของอาชีพก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้หลายคนล้มเลิกความตั้งใจ

“การเรียนในคณะทำให้ความคาดหวังต่อผู้เรียนของเราเปลี่ยนไป เราเคยฝันว่าจะทำให้เด็กๆ เชื่อฟังและตั้งใจเรียนอย่างที่ระบบการศึกษาหล่อหลอมเรา ทั้งที่เงื่อนไขในชีวิตของพวกเขาต่างกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมเรียนทุกวัน ครูจึงต้องมีแผนสำรองเสมอ เป็นอาชีพที่ต้องคิดมากกว่าที่หลายคนเห็น” มายมิ้นบอก “แต่เงินเดือนก็ไม่ได้มาก การสนับสนุนอะไรก็ไม่มี ยิ่งช่วงสอนออนไลน์ยิ่งเห็นชัด หลายคนต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง หาอุปกรณ์ต่างๆ เอง เป็นไปได้ยากเหลือเกินที่เป็นครูในระบบนี้แล้วจะไม่เบิร์นเอาต์ (burnout)”

ยิ่งกว่านั้น เธอยังบอกอีกด้วยว่า การส่งเสียงเพื่อกระตุ้นการพัฒนาระบบการศึกษา ตลอดจนพัฒนาครูอย่างตรงจุด ยังถูกจำกัดแม้ในสถาบันผลิตครูซึ่งกล่อมเกลี้ยงครูรุ่นใหม่ๆ ให้ออกไปเผชิญปัญหาดังกล่าว “ทุกคนดูมีความในใจ แต่เราไม่พูดกันสักเท่าไร เราสัมผัสได้ว่าสถาบันผลิตครูเป็นแหล่งอำนาจนิยม มีกฎ มีระเบียบที่ละเอียดและเข้มงวด ส่งผลให้นิสิตนักศึกษาไม่พูดหรือไม่ตระหนักในสิ่งที่ตนต้องตระหนัก”

มายมิ้นขยายความว่า “เหมือนถูกกำหนดว่าเมื่อมี ‘ความเป็นครู’ หรือ ‘ความเป็นนิสิตครู’ แล้วจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะจะถูกเพ่งเล็ง ผู้หลักผู้ใหญ่สร้างเส้นสมมตินั้นขึ้นมา และพวกเราก็ไม่กล้าล้ำเส้น แต่นิสิตก็ส่งเสียงในประเด็นนี้มากขึ้นแล้วในปีที่ผ่านมา รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของเพื่อนร่วมวิชาชีพ อาจเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ชวนให้กระตือรือร้นมากขึ้นด้วย”

 

การเรียนในคณะทำให้ความคาดหวังต่อผู้เรียนของเราเปลี่ยนไป เราเคยฝันว่าจะทำให้เด็กๆ เชื่อฟังและตั้งใจเรียนอย่างที่ระบบการศึกษาหล่อหลอมเรา ทั้งที่เงื่อนไขในชีวิตของพวกเขาต่างกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมเรียนทุกวัน ครูจึงต้องมีแผนสำรองเสมอ เป็นอาชีพที่ต้องคิดมากกว่าที่หลายคนเห็น

 

เพราะถูกรัดรึงจะกระดิกกระเดี้ยไม่ได้อย่างนี้นี่เอง บุคลากรทางการศึกษาเป็นเสมือนฟันเฟืองซึ่งถูกริดรอนพลัง ไม่เห็นว่าตนจะแก้ไขปัญหาที่เผชิญได้อย่างไร นำไปสู่การขาดแรงจูงใจและความกระตือรือร้นในการพัฒนาการศึกษา หรือกระทั่งการเป็นกระบอกเสียงเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนต่อไป

คำถามคือต้องเสริมพลังของพวกเขาอย่างไรจึงจะเหมาะสม จุดไฟให้ครูเชื่อมั่นในศักยภาพของตนว่าพวกเขามีส่วนร่วมยกระดับการเรียนรู้ เกื้อกูลเยาวชน และผลักดันนโยบายที่ถูกที่ควรได้ เชื่อในการเติบโตและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายของทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต่อไป

อธิษฐาน์ยืนยันว่ามีผู้อำนวยการหลายคนที่ ‘มีไฟ’ และพยายามผลักดันความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้มีอำนาจเช่นกัน “ความฝันหนึ่งที่ได้ยินจากผู้อำนวยการโรงเรียนหลายคนคือขอให้ผู้กำหนดนโยบายไว้วางใจโรงเรียนบ้าง เชื่อว่าโรงเรียนมีศักยภาพเพียงพอจะดูแลและพัฒนาตนเองได้ ไม่ใช่ควบคุมหรือกำกับจนแทบทำอะไรไม่ได้”

“ระบบราชการมีพื้นฐานบนความไม่ไว้วางใจ มีข้อบังคับที่จำกัดศักยภาพของโรงเรียนมากมาย ไม่ได้บอกว่าโรงเรียนสะอาดหมดจด แต่ต้องเปิดโอกาสให้โรงเรียนกำหนดเป้าหมายและพัฒนาตนเองอย่างเป็นอิสระมากกว่านี้ เพราะแต่ละโรงเรียนมีบริบทไม่เหมือนกัน บางโรงเรียนมีลูกหลานชาวนามาก บางโรงเรียนมีลูกหลานข้าราชการมาก ก็ควรให้พวกเขามีแนวทางพัฒนาเด็กของตนเอง เชื่อมโยงตนเองกับชุมชน ตรวจสอบพวกเขาได้ แต่อย่ามากจนกระดิกตัวไม่ได้” เธออธิบาย

 

 

สำหรับภาระงานที่ล้นเกินและการขาดความเข้าใจลักษณะงานจริงๆ ของครูนั้น ครูพลเห็นว่ามีที่มาจากวัฒนธรรมจับผิดและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเช่นกัน

“เหมือนคุณยึดติดกับความคิดที่ว่า ไม่ว่าจะทำอะไร คุณต้องเห็น ต้องจับต้องได้ จะสอนก็ต้องส่งแผนหนาๆ ไปให้ แล้วก็ไม่มีใครอ่าน ในที่สุดก็เป็นขยะ จะประเมินครูแต่ละครั้ง ครูก็ต้องไปหาภาพมายืนยันว่าฉันสอนจริงๆ เบนเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนไปที่การรอประเมินหรือรอส่งเอกสาร” เขาชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่สร้างความเจ็บปวดให้ครูหลายคน

“เราแค่ร่วมกันสรุปความเป็นไปในโรงเรียนทุกปีก็พอไหม สร้างพื้นที่ในการพูดคุยจะดีกว่าไหม ให้ครูได้หารือกันว่าต้องการเห็นปลายทางแบบไหน สมมติอยากเห็นเด็กกล้าแสดงออก จะวัดอย่างไร ต้องดำเนินการวิจัยอะไรหรือเปล่า คุณต้องรื้อวัฒนธรรมนี้ต่างหาก ไม่ใช่แค่บอกว่าโรงเรียนต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้”

 

เหมือนคุณยึดติดกับความคิดที่ว่า ไม่ว่าจะทำอะไร คุณต้องเห็น ต้องจับต้องได้ จะสอนก็ต้องส่งแผนหนาๆ ไปให้ แล้วก็ไม่มีใครอ่าน ในที่สุดก็เป็นขยะ จะประเมินครูแต่ละครั้ง ครูก็ต้องไปหาภาพมายืนยันว่าฉันสอนจริงๆ เบนเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนไปที่การรอประเมินหรือรอส่งเอกสาร

 

นอกจากนี้ ครูพลยังเห็นว่า วัฒนธรรมอำนาจนิยมเน้นการบังคับบัญชาที่หยั่งรากลึกส่งผลเสียกับเยาวชนมากกว่าที่หลายคนคิด และเป็นอีกวัฒนธรรมที่ต้องกำจัดอย่างเร่งด่วน “การศึกษาเป็นพื้นที่แรกๆ ที่เด็กคนหนึ่งจะได้สัมผัสวัฒนธรรมนี้ และเด็กเหล่านั้นก็เติบโตกลับมาเป็นครูที่จะออกคำสั่งกับเด็กรุ่นต่อไป”

ผมคิดว่าหากสถาบันผลิตครูและกระทรวงจะร่วมกันฉายให้เห็นความเป็นไปได้อื่นในการจัดการเรียนรู้ กฌจะบรรเทาปัญหานี้ได้” เขาชี้แจง “เราเข้าไปในคณะศึกษาศาสตร์ เราไม่ได้อะไรใหม่เลยนะ ครูเคยสอนเราอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น และการฝึกอบรมหลังจากนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้เห็นอะไรใหม่ๆ เลย”

ไม่เพียงผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น ครูพลยังคาดหวังความเปลี่ยนแปลงจากการเคลื่อนไหวของครูรุ่นใหม่ที่เขาคิดว่ายังต้องใช้เวลาอีกมาก “ปีที่แล้วเราพยายามผลักดันให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราไปที่กระทรวงศึกษาธิการ คิดว่าจะมีครูมาเข้าร่วมหลักร้อย แต่มาจริงๆ แค่สามสิบคน หลายคนเห็นด้วย แต่มาไม่ได้เพราะมีอำนาจของรัฐอยู่ในโรงเรียน พยายามจำกัดการแสดงออกของครู ก็คงต้องรอเวลาให้ครูกล้าลุกขึ้นมาสื่อสารอย่างชัดเจนต่อไป”

‘วัฒนธรรมองค์กร’ เป็นอุปสรรคที่มายมิ้นกังวลเช่นกัน “การไร้ปากเสียงของครูก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่บอกว่าการกล้าพูดนั้นเป็นความก้าวร้าว ทำให้คนถูกระบบกดทับ ได้แต่อึดอัดอยู่ในใจ ก็คงต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก่อน ลดการรวมศูนย์อำนาจที่ให้ศูนย์กลางหรือผู้บริหารเป็นผู้ตัดสินใจเท่านั้น ต้องมีพื้นที่ให้แสดงออก มีบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เมื่อเป็นอย่างนั้น เสียงของทุกคนคงมีคุณค่าเท่าเทียมกันกว่านี้”

 

 

ทั้งนี้ การสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรที่มีศักยภาพต้องการประกอบอาชีพครู และให้การสนับสนุนที่จำเป็นแก่พวกเขาก็เป็นอีกประเด็นที่มายมิ้นให้ความสำคัญ ที่ “โมเดลของสิงคโปร์หรือฟินแลนด์ [ให้เงินเดือนผู้เรียนในหลักสูตรครู] ก็น่าสนใจ เป็นการจูงใจให้คนเก่งมาเป็นครู คุณสร้างรุ่นโปรโตไทป์ (prototype) ก็ได้นะ นำร่องด้วยครูหนึ่งร้อยคนที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ได้รับทุนการศึกษาและการันตีว่าจะมีเงินเดือนเริ่มต้นสูง แล้วสร้างครูรุ่นนั้นให้เป็นครูที่มีคุณภาพ พร้อมกับการพัฒนาส่วนอื่นๆ ในระบบการศึกษา”

เพราะนโยบายที่ใช่และเป็นความหวังอย่างแท้จริง คือนโยบายที่เกิดจากความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และสามารถจูงใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความร่วมมือได้อย่างแท้จริง ด้วยความเชื่อมั่นว่าเสียงของพวกเขาจะเป็นที่ได้ยิน ปัญหาของพวกเขาจะเป็นที่รับรู้และได้รับการแก้ไข เป็นสภาพแวดล้อมที่ต่างคนต่างมีพลังขับเคลื่อนตนเองเพื่อเป้าหมายที่สำคัญกว่า คือการมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดให้เด็กๆ ในวันนี้ ซึ่งต้องเติบโตเป็นพลเมืองของรัฐและของโลกต่อไป

 

การไร้ปากเสียงของครูก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่บอกว่าการกล้าพูดนั้นเป็นความก้าวร้าว ทำให้คนถูกระบบกดทับ ได้แต่อึดอัดอยู่ในใจ ก็คงต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก่อน ลดการรวมศูนย์อำนาจที่ให้ศูนย์กลางหรือผู้บริหารเป็นผู้ตัดสินใจเท่านั้น ต้องมีพื้นที่ให้แสดงออก มีบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

 

นโยบายสำคัญเช่นนี้ต้องได้รับความสำคัญ และต้องได้รับการฟูมฟักอย่างเห็นความสำคัญ คือผ่านการรังสรรค์และบังคับใช้อย่างรอบคอบเพื่อยุติปัญหาเรื้อรัง เพราะผลกระทบของการ ‘ไม่รับฟัง’ และ ‘ไม่ใส่ใจ’ อาจมากมายกว่าที่ใครจะจินตนาการได้

“อาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกพวกเราว่า ‘คุณอาจเป็นนิสิตฝึกสอน แต่เด็กๆ ไม่ได้ฝึกเรียนกับคุณ’ ” เป็นประโยคท้ายๆ ที่มายมิ้นพูดในการสัมภาษณ์ซึ่งกินเวลานานกว่าที่คาด เพราะปัญหาที่เธอและนักการศึกษาต้องเผชิญนั้นยุ่งเหยิงเกินกว่าจะรวบรัดตัดความได้ในไม่กี่นาที “ผู้กำหนดนโยบายเองก็ควรคิดอย่างนี้ นี่คือการศึกษาจริงๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเด็กรุ่นหนึ่งๆ ซึ่งจะกลับเข้ามาเป็นอนาคตของประเทศต่อไป ดังนั้นต้องฟังว่าพวกเขาต้องการอะไร ต้องการพื้นที่แบบใด”

เหตุผลของเธอหนักแน่น และคงเป็นเหตุผลที่สะท้อนความในใจของใครหลายคน ในวันที่ระบบการศึกษาชั้นนำของโลกพุ่งทะยานไปไกลจากไทยยิ่งขึ้นทุกที

“คุณไม่ควรใช้ทรัพยากรมหาศาลเพียงเพื่อดำเนินการทดลองในระบบการศึกษาค่ะ”

 

 

 

พบแนวทางพัฒนานโยบายด้านการศึกษาอย่างครอบคลุมได้ใน

ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Linda Darling-Hammond เขียน

ชลิดา หนูหล้า แปล

472 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่