รู้จักมันสมองของทีมนโยบายการศึกษาสหรัฐฯ ผู้เขียนหนังสือ Empowered Educators

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

รู้จักมันสมองของทีมนโยบายการศึกษาสหรัฐฯ
ผู้เขียนหนังสือ Empowered Educators

 

ในวงการศึกษานานาชาติ แทบไม่มีใครไม่รู้จักลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ (Linda Darling Hammond) ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และนักการศึกษาชาวอเมริกันซึ่งจวนเจียนจะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึงสองครั้ง ทั้งระหว่างบารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดี และหลังโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้เธอจะปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าว ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ก็ยังมีบทบาทสำคัญในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา โดยเป็นหนึ่งในผู้ให้คำปรึกษาด้านการศึกษาแก่รัฐบาลใหม่ (Education Transition Team) ทั้งสองรัฐบาล ตลอดจนดำเนินการวิจัย และแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายด้านการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ

ด้วยความเชี่ยวชาญนี้ ดาร์ลิง-แฮมมอนด์จึงถูกทาบทามเป็นผู้วิจัยและผู้เขียนหนังสือชุด Empowered Educators เพื่อเปรียบเทียบนโยบายด้านการศึกษานานาชาติ โดยเฉพาะในรัฐหรือประเทศที่มีระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพ ได้แก่ ฟินแลนด์ สิงคโปร์ แคนาดา (เฉพาะรัฐแอลเบอร์ตาและออนแทรีโอ) ออสเตรเลีย (เฉพาะรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกทอเรีย) และจีน (เฉพาะเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้) รวมถึงแสวงหาจุดร่วม และถอดบทเรียนจากประเทศและรัฐเหล่านี้เพื่อตอบคำถามว่า หากการพัฒนาแรงงานครูคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน นโยบายใดหรือจะนำไปสู่การผลิตครูที่มีคุณภาพ ผู้ปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสดงและพัฒนาศักยภาพ ทั้งสามารถคงพวกเขาไว้ในระบบการศึกษาตราบวันสุดท้ายในวิชาชีพ

 

ปกหนังสือ Empowered Educators

 

หากการพัฒนาแรงงานครูคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน นโยบายใดหรือจะนำไปสู่การผลิตครูที่มีคุณภาพ ผู้ปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสดงและพัฒนาศักยภาพ ทั้งสามารถคงพวกเขาไว้ในระบบการศึกษาตราบวันสุดท้ายในวิชาชีพ

 

หนังสือชุดดังกล่าวจึงเป็นเสมือนความหวังของระบบการศึกษาสหรัฐฯ ที่เป็นระบบการศึกษาแถวหน้าในทศวรรษ 1970 ก่อนเผชิญปัญหาหลากหลายจนชะงักงัน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายที่ขาดความต่อเนื่องด้วยพลวัตทางการเมือง ความล้มเหลวในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และผลลัพธ์ที่ไม่ตอบโจทย์ความผวนผันในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผู้เรียนถูกคาดหวังให้มีความยืดหยุ่น สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูประบบการศึกษา กระทั่งหนังสือการศึกษาจำนวนมากหลากไหลสู่ท้องตลาด โดย Empowered Educators ซึ่งสำนักพิมพ์บุ๊คสเคปจะจัดพิมพ์เร็ว ๆ นี้ก็เป็นหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น

นอกจากการให้ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาอย่างรัดกุม ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของคณะผู้เขียนก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหนึ่งที่ดึงดูดนักอ่าน ด้วยการอุทิศตนแก่การพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิต ดาร์ลิง-แฮมมอนด์จึงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนักการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเธอชักชวนนักวิจัยและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เช่น แครอล แคมป์เบล (Carol Campbell) จากแคนาดา, อี ลิง โลว์ (Ee Ling Low) จากสิงคโปร์, ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) จากฟินแลนด์ ฯลฯ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเปรียบเทียบนี้ Empowered Educators จึงเป็นผลลัพธ์ของการประสานความร่วมมือระหว่างนักการศึกษาที่วิพากษ์ระบบนโยบายได้ลึกซึ้ง และให้คำแนะนำเพื่อปรับใช้ในบริบทสังคมที่แตกต่างได้ตรงจุด

 

ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนักการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเธอชักชวนนักวิจัยและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเปรียบเทียบนี้ Empowered Educators จึงเป็นผลลัพธ์ของการประสานความร่วมมือระหว่างนักการศึกษาที่วิพากษ์ระบบนโยบายได้ลึกซึ้ง และให้คำแนะนำเพื่อปรับใช้ในบริบทสังคมที่แตกต่างได้ตรงจุด

 

เส้นทางนักการศึกษาชั้นนำของดาร์ลิง-แฮมมอนด์ เริ่มต้นหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยลด้วยผลการเรียนยอดเยี่ยม ก่อนประกอบอาชีพครูในโรงเรียนรัฐบาล และศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยเทมเพิล จนสามารถให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อปรับปรุงนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

บทบาทของดาร์ลิง-แฮมมอนด์ทวีความโดดเด่นในทศวรรษ 1990 โดยระหว่างปี 1994-2001 เธอเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงาน What Matters Most: Teaching for America’s Future ในปี 1996 อันเป็นรายงานที่ทรงอิทธิพลต่อระบบการศึกษาสหรัฐฯ ที่สุดในทศวรรษนั้น รายงานดังกล่าวชี้ว่าองค์ความรู้และทักษะของครูส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนมากที่สุด นอกจากนี้ รายงานข้างต้นยังเสนอแนวทางสรรหา ฝึกหัด และคงครูผู้เก่งกาจไว้ในระบบการศึกษา ตลอดจนยืนยันว่าการปฏิรูปการศึกษาไม่มีวันประสบผลสำเร็จ หากไม่อาจสร้างสภาพแวดล้อมที่ครูแสดงและพัฒนาศักยภาพของตนได้เต็มที่ กล่าวคือ เนื้อหาในรายงานฉบับนั้นเป็นต้นสายความสนใจของดาร์ลิง-แฮมมอนด์ที่ออกผลเป็น Empowered Educators นั่นเอง

 

การปฏิรูปการศึกษาไม่มีวันประสบผลสำเร็จ หากไม่อาจสร้างสภาพแวดล้อมที่ครูแสดงและพัฒนาศักยภาพของตนได้เต็มที่

 

และด้วยความทุ่มเทนั้น ปี 2006 ดาร์ลิง-แฮมมอนด์จึงได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในสิบบุคคลผู้มีอิทธิพลในวงการศึกษา และในปี 2008 จึงได้รับคัดเลือกเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลใหม่ เมื่อบารัก โอบามา ชนะการเลือกตั้ง พร้อมก่อตั้งศูนย์พัฒนานโยบายเพื่อโอกาสทางการศึกษาหรือ SCOPE (Stanford Center for Opportunity Policy in Education) เพื่อส่งเสริมการวิจัย นโยบาย และแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาระบบการศึกษา ด้วยความเชื่อมั่นในการจัดการศึกษาที่มีพื้นฐานจากงานวิจัยที่เชื่อถือได้

หนังสือของดาร์ลิง-แฮมมอนด์ก่อนการตีพิมพ์ Empowered Educators เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Preparing Teachers for a Changing World หรือ The Flat World and Education ซึ่งโดยมากกล่าวถึงความเสมอภาคทางการศึกษา และการฝึกหัดครูให้พร้อมต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยข้อเสนอที่อาจกล่าวได้ว่าท้าทายที่สุดของเธอ ได้แก่การกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีเท็ด ทอล์ก ในปี 2015 ว่าแบบทดสอบมาตรฐานที่ครั้งหนึ่งเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษานั้น กำลังกัดกร่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลายอย่างไร

 

 

ระบบการศึกษาสหรัฐฯ ริเริ่มใช้แบบทดสอบดังกล่าวอย่างแพร่หลาย เพื่อกำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ของนักเรียนทั่วประเทศ และประสบผลสำเร็จในช่วงเวลาหนึ่งกระทั่งเป็นต้นแบบของนานาประเทศ กระนั้น เมื่อโลกพลิกผัน แบบทดสอบมาตรฐานกลับขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น ตลอดจนทักษะการแก้ไขปัญหาที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพราะ “เยาวชนในประเทศนี้กำลังเดินทางสู่โลกซึ่งเรียกร้ององค์ความรู้ที่ยังไม่มีใครค้นพบ เทคโนโลยีที่ยังไร้ผู้คิดค้นในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่พวกเราไม่อาจแก้ไข พวกเขาจึงต้องมีความสามารถมากกว่าเพียงเลือกคำตอบเดียวที่ถูกต้องที่สุดจากห้าคำตอบที่มี” โดยดาร์ลิง-แฮมมอนด์เสริมด้วยว่า ครูกว่าร้อยละ 85 เชื่อว่าแบบทดสอบมาตรฐานจำกัดศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของตน ขณะที่กว่าร้อยละ 45 บอกว่าแบบทดสอบนี้ทำให้ตนต้องการออกจากวิชาชีพ

การบังคับใช้แบบทดสอบมาตรฐานอย่างไม่เหมาะสมถูกโจมตีอย่างหนักในทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศจึงตื่นตัวลดใช้ หรือปรับปรุงแบบทดสอบมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์หรือแคนาดาที่จำกัดจำนวนนักเรียนที่ต้องทำทดสอบแบบมาตรฐานนั้น นักการศึกษาในไทยก็เริ่มศึกษาผลกระทบของแบบทดสอบมาตรฐานต่อการจัดการเรียนรู้ของครู ตลอดจนความรับรู้เกี่ยวกับการศึกษาของผู้ปกครองและนักเรียนแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือ O-NET ซึ่งนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รวมถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ต้องร่วมการทดสอบ โดยดาร์ลิง-แฮมมอนด์ได้สอดแทรกความคิดเห็นและองค์ความรู้ของเธอเกี่ยวกับอิทธิพลของแบบทดสอบมาตรฐานในหนังสือเล่มนี้ด้วย จึงเชื่อได้ว่า Empowered Educators จะนำนักอ่านชาวไทยผ่านปัญหาการศึกษาอันเรื้อรังนี้ไปได้เช่นกัน

 

เมื่อโลกพลิกผัน แบบทดสอบมาตรฐานกลับขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น ตลอดจนทักษะการแก้ไขปัญหาที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพราะ “เยาวชนกำลังเดินทางสู่โลกซึ่งเรียกร้ององค์ความรู้ที่ยังไม่มีใครค้นพบ เทคโนโลยีที่ยังไร้ผู้คิดค้นในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่พวกเราไม่อาจแก้ไข พวกเขาจึงต้องมีความสามารถมากกว่าเพียงเลือกคำตอบเดียวที่ถูกต้องที่สุดจากห้าคำตอบที่มี”

 

ล่าสุด ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ยังเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงการจัดการศึกษาเพื่อรับมือการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนทั่วโลก โดยเธอและนักการศึกษาผู้ร่วมอุดมการณ์ได้ลงนามในแถลงการณ์เพื่อพิจารณาปรับปรุงนโยบายด้านการศึกษาในวิกฤตโรคระบาด ประกอบด้วยข้อเสนอเจ็ดข้อ ที่เน้นการแจกจ่ายทรัพยากรทางการศึกษาแก่โรงเรียนเพื่อจัดการเรียนรู้ ให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่นักเรียนกลุ่มเปราะบาง เพิ่มการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพิ่มการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ให้มากที่สุด ตลอดจนดูแลความเป็นอยู่และติดตามภาวะสุขภาพจิตของนักเรียนอย่างใกล้ชิด

โลกก้าวหน้าต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง เช่นเดียวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขที่กะพริบตาครั้งเดียวก็อาจเปลี่ยนแปลง จะเข้าใจความก้าวหน้าและรู้เท่าทันปัญหาการศึกษาใหม่ๆ ได้ ก็ด้วยการศึกษาพลวัตทางการศึกษาอย่างลึกซึ้ง จนครอบคลุมความเปลี่ยนแปลงและเห็นทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อปรับใช้ทางเลือกเหล่านั้นในสถานการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง ความอุตสาหะของดาร์ลิง-แฮมมอนด์จึงเป็นคุณอย่างยิ่งต่อการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะระบบการศึกษาสหรัฐฯ เท่านั้น หากรวมถึงระบบการศึกษาอื่นๆ ในโลกที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งด้วย

อดใจรอไม่นาน และพบกับ Empowered  Educators: How High-Performing Systems Shape Teaching Quality Around the World ผลผลิตของกลุ่มนักการศึกษาผู้มุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 เร็ว ๆ นี้

 

 

Empowered Educators:
How High-Performing Systems
Shape Teaching Quality Around the World

Linda Darling-Hammond เขียน
ชลิดา หนูหล้า แปล
สำนักพิมพ์ bookscape

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่