อ่าน ‘ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21’

เรื่อง: พิชญา โคอินทรางกูร

 

ในโลกอันผันผวนรวดเร็วแห่งศตวรรษที่ 21 การศึกษาและการจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลานี้ย่อมทวีความท้าทายยิ่งกว่าช่วงเวลาใดที่ผ่านมา คอมพิวเตอร์และระบบอัตโนมัติในทุกวันนี้สามารถทำหน้าที่แทนทักษะพื้นฐานได้เกือบทั้งหมด องค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เด็กๆ ที่เข้าโรงเรียนในวันนี้ต้อง “เรียน” เพื่อใช้องค์ความรู้ที่ยังไม่ปรากฏ เห็นได้ชัดว่าครูที่เพียงแค่ยืนและถ่ายทอดความรู้จากหน้าชั้นเรียนจึงไม่เพียงพออีกต่อไป

แน่นอนว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพย่อมเต็มไปด้วยครูที่มีคุณภาพ ครูผู้สามารถจัดการเรียนรู้ให้สอดรับกับองค์ความรู้ของเนื้อหาวิชานั้นๆ ครูผู้กล้าคิดและลงมือทดลองวิธีการสอนแนวทางใหม่ๆ ครูผู้เข้าใจความแตกต่างหลากหลายของเด็กนักเรียน และตระหนักว่าเด็กทุกคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

“ครู” ที่เห็นว่าการเรียนรู้ของ “เด็กๆ” คือเป้าหมายที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

คำถามคือ “เราจะสร้างครูผู้เปี่ยมศักยภาพเช่นนั้นได้อย่างไร”

การตอบคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ นักการศึกษาชั้นนำจากสแตนฟอร์ด ตอบรับโจทย์อันท้าทายนี้ด้วยการลงมือ “วิจัย” นโยบายจากห้าประเทศที่ถือกันว่ามีระบบการศึกษาที่ “ดีที่สุดในโลก” ได้แก่ ฟินแลนด์ แคนาดา จีน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้ล้วนประสบความสำเร็จในการประเมินคุณภาพระบบการศึกษา และยังสามารถกระจายความสำเร็จเหล่านั้นไปสู่เด็กทุกๆ คนได้อย่างเสมอภาค

หนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21  (Empowered Educators: How High-Performing Systems Shape Teaching Quality Around the World) ได้รวบรวมและถอดบทเรียนจากงานวิจัยดังกล่าว ตอบคำถามที่ว่าระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพเหล่านี้ปั้นครูให้กลายเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับระบบการศึกษาได้อย่างไร ผ่านนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ “สร้างครู” ดังต่อไปนี้

“ครู” ที่เห็นว่าการเรียนรู้ของ “เด็กๆ” คือเป้าหมายที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

คำถามคือ “เราจะสร้างครูผู้เปี่ยมศักยภาพเช่นนั้นได้อย่างไร”

การสรรหา

ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับ “ต้นน้ำ” อย่างยิ่ง พวกเขากวดขันในการสรรหาบุคลากรผู้มีศักยภาพ โดยมีเกณฑ์สำคัญคือ คัดเลือกคนที่มีส่วนผสมอันลงตัวระหว่างความเป็นเลิศทางวิชาการและความสามารถในการทำงานร่วมกับเด็กๆ

บางประเทศ เช่น ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ คัดเลือกผู้เข้ามาเป็นครูจากนักเรียนที่มีความสามารถเชิงวิชาการสูงสุดร้อยละ 30 แรกเท่านั้น ทว่าเพียงแค่คะแนนก็ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ประเทศเหล่านี้ยังให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำงานร่วมกับเด็กๆ โดยประเมินผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต หรือในกรณีของสิงคโปร์ ใช้วิธีให้ว่าที่ครูเข้าไปทำงานในฐานะครูทดลองสอนในโรงเรียนเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะตอบรับให้เข้าเรียนในหลักสูตรครู

นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์ในการประเมินประกอบอีกจำนวนมาก เช่น ฟินแลนด์นั้นเชื่อว่าครูเป็นวิชาชีพที่จะต้องหาความรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต การคัดเลือกจึงให้ความสำคัญกับทักษะในการวิจัยอย่างยิ่ง โดยผู้สมัครจะได้รับแบบทดสอบให้อ่าน ตีความ และวิเคราะห์งานวิจัยด้านการศึกษาชิ้นต่างๆ

 

การฝึกหัด

เมื่อคัดสรรบุคลากรที่มีศักยภาพเข้ามาแล้ว ระบบการศึกษาเหล่านี้ก็ทุ่มเทกำลังฝึกหัดว่าที่ครูให้พร้อมต่อการประกอบวิชาชีพ โดยเน้นฝึกหัดครูอย่างดีที่สุดในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น มากกว่าจะฝึกครูเผื่อเหลือเผื่อขาดเป็นจำนวนมากๆ โดยที่มาตรฐานต่ำ

และเนื่องจากครูเหล่านี้เป็นคนที่จะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเด็กๆ ต่อไปในอนาคต หลักสูตรครูจึงเน้นการศึกษาทฤษฎีขององค์ความรู้ ประกอบกับการปฏิบัติเพื่อจัดการเรียนการสอนองค์ความรู้นั้นๆ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพจึงสอดประสานไปกับการศึกษาทฤษฎีในหลักสูตรครูมากกว่าจะแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง

สถาบันผลิตครูในประเทศเหล่านี้มักจะมีโรงเรียนในความร่วมมือเพื่อเป็นสถานที่ให้ครูฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เพราะการเรียนรู้วิธีการสอนที่ดีที่สุดย่อมเกิดขึ้นในห้องเรียนจริงๆ ไม่ใช่ในห้องบรรยาย ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรครูแล้ว พวกเขาจะยังได้รับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพต่อไปในโครงการแนะแนวของโรงเรียน โดยครูอาวุโสจะจับคู่กับครูใหม่เพื่อแนะนำให้พวกเขารู้จักกับวัฒนธรรมของโรงเรียนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน

นอกจากนี้ การศึกษาหลักสูตรครูในประเทศเหล่านี้ยังไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมอบทุนการศึกษาที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมด บางประเทศเช่นสิงคโปร์ยังมอบเงินเดือนให้ว่าที่ครูระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพอีกด้วย

เพราะการเรียนรู้วิธีการสอนที่ดีที่สุดย่อมเกิดขึ้นในห้องเรียนจริงๆ ไม่ใช่ในห้องบรรยาย

 

การพัฒนาทางวิชาชีพ

เช่นเดียวกับที่เชื่อมั่นว่าเด็กๆ ทุกคนล้วนเรียนรู้ได้ ระบบการศึกษาเหล่านี้ก็เชื่อว่าครูเองก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน

วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม ระบบการศึกษาเหล่านี้จึงพยายามจัดสรรทั้งเวลาและโอกาสให้ครูได้ร่วมกันเรียนรู้ภายในโรงเรียน มากกว่าที่จะจ้างวิทยากรภายนอกเข้ามาฝึกอบรมครู หรือเชิญครูให้ไปเข้าร่วมการฟังบรรยาย

การจัดสรรจำนวนชั่วโมงทำงานของครูจึงให้น้ำหนักกับชั่วโมงสอนไม่มากเท่าไรนัก และเผื่อเวลาสำหรับชั่วโมงที่ครูจะเตรียมการสอนหรือพัฒนาตนเอง เพราะประเทศเหล่านี้พิจารณาว่าภาระงานของการจัดการเรียนการสอนไม่ใช่แค่การ “สอน” ในชั้นเรียน หากแต่รวมถึงช่วงเวลาสำหรับการเตรียม การประเมิน และการพัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของครูแต่ละคน

พวกเขายังจัดสรรโอกาสในรูปของสถานที่ที่เอื้อแก่การทำงานร่วมกันของครู การนัดประชุมทุกๆ สัปดาห์ การเยี่ยมสังเกตชั้นเรียนและโรงเรียน ตลอดจนการเข้าร่วมการเรียนรู้ทางวิชาชีพผ่านเครือข่ายโรงเรียน ซึ่งเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนทั้งวิธีและทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอนระหว่างกลุ่มครูในระดับชั้นเดียวกันหรือสาขาวิชาเดียวกัน

การพัฒนาตัวเองของครูยังจำเป็นต้องยึดโยงกับทักษะในการวิจัย การพัฒนาตนเองหรือการพัฒนาการเรียนการสอนจะต้องอ้างอิงจากหลักฐาน ครูต้องตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ และหาคำตอบว่าเด็กๆ ต้องการจะเรียนรู้อย่างไร ฉันจะจัดการเรียนรู้ให้ตอบรับกับความต้องการเหล่านั้นได้อย่าไร ฉันจำเป็นต้องมีทักษะอะไร ตลอดจนฉันจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ทักษะนั้นๆ มา เป็นต้น

 

การมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย

เนื่องจากประเทศเหล่านี้ลงทุนอย่างมหาศาลในการปั้นบุคลากรครูที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การคัดสรรผู้ที่จะเข้าสู่วิชาชีพ ฝึกฝนจนเป็นครูที่เก่งกาจ และยังมอบโอกาสให้ครูได้พัฒนาตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ พวกเขาจึงเชื่อมั่นในความสามารถของบุคลากรของตนเป็นอย่างยิ่ง และมอบอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาจำนวนหนึ่งให้ครูเหล่านั้น

หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติของฟินแลนด์เพียงแต่วางกรอบเอาไว้อย่างหลวมๆ เท่านั้น ในขณะที่การปรับใช้หลักสูตร การจัดการเรียนรู้ ตลอดจนการประเมินนักเรียนเป็นอำนาจของครูในแต่ละโรงเรียนทั้งหมด ส่วนกระทรวงศึกษาธิการรัฐออนแทรีโอ แคนาดา ใช้วิธีดึงครูเข้ามาทำงานภายในกระทรวงเป็นเวลาสามปี เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างบุคลากรภาคนโยบายและภาคปฏิบัติ และยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่จะทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

เพราะนอกจากครูในประเทศเหล่านี้จะเก่งกาจแล้ว พวกเขายังเป็นผู้ที่ลงมือปฏิบัติและรับรู้ความเป็นไปต่างๆ ภายในห้องเรียนอย่างแท้จริง เสียงสะท้อนของพวกเขาจึงควรจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการศึกษา การวางนโยบายด้านการศึกษาในประเทศเหล่านี้จึงเป็นส่วนผสมระหว่างการกำหนดนโยบายจากเบื้องบนร่วมกับการปฏิบัติจริงจากแต่ละพื้นที่

เพราะนอกจากครูในประเทศเหล่านี้จะเก่งกาจแล้ว พวกเขายังเป็นผู้ที่ลงมือปฏิบัติและรับรู้ความเป็นไปต่างๆ ภายในห้องเรียนอย่างแท้จริง เสียงสะท้อนของพวกเขาจึงควรจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการศึกษา

ความเสมอภาค

หัวใจหลักของความเสมอภาคคือ กระจายการจัดการเรียนการสอนคุณภาพสูงไปยังโรงเรียนทุกๆ แห่ง ไปถึงเด็กทุกๆ คน

เมื่อได้ลงทุนเพื่อสร้างครูและการจัดการเรียนการสอนเปี่ยมประสิทธิภาพแล้ว ระบบการศึกษาเหล่านี้ก็ไม่ปล่อยให้คุณสมบัติดังกล่าวเป็นความพิเศษของโรงเรียนแห่งหนึ่งแห่งใด หรือนักเรียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทว่ากระจายให้ไปถึงเด็กทุกๆ คนอย่างเสมอภาค

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ โรงเรียนทุกๆ แห่งมีคุณภาพทัดเทียมกัน

กลยุทธ์สำคัญคือการใช้งบประมาณอย่างตรงจุด พวกเขามุ่งกระจายงบประมาณและความช่วยเหลือที่มากกว่าไปสู่โรงเรียน ครู หรือนักเรียนที่ขาดแคลนมากกว่า ไม่ใช่การกระจายงบประมาณเท่าๆ กัน ไปยังทุกๆ โรงเรียนโดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขและความจำเป็นที่แตกต่างกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศเหล่านี้ยังตระหนักว่าเด็กๆ ย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย เด็กแต่ละคนมีเงื่อนไขทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และครูคือผู้ที่จะต้องจัดการเรียนรู้ให้ตอบรับกับความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้น แทนที่จะคาดหวังให้เด็กๆ เป็นฝ่ายต้องปรับตัวเข้ากับระบบโรงเรียนของพวกเขา ตัวอย่างเช่น เซี่ยงไฮ้โอบอุ้ม “เด็กทุกๆ คน” อันรวมถึงเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของครอบครัวผู้อพยพ แคนาดาสอดแทรกวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น

เพราะความเสมอภาคเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของระบบการศึกษาเหล่านี้ พวกเขามุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษา “ทั้งหมด” มิใช่โรงเรียนชั้นนำเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องการให้ทรัพยากรมนุษย์ทุกคนในประเทศเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและความสามารถ

เด็กๆ ย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย เด็กแต่ละคนมีเงื่อนไขทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และครูคือผู้ที่จะต้องจัดการเรียนรู้ให้ตอบรับกับความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้น

 

นโยบายเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเกื้อหนุนกัน การสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพทำให้การฝึกหัดครูสามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเมื่อว่าที่ครูได้รับการฝึกหัดจนถึงพร้อม พวกเขาย่อมสามารถตัดสินใจและหาหนทางพัฒนาตนเองต่อไปได้เมื่อเข้าสู่วิชาชีพแล้ว ตลอดจนยังสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้เก่งกาจคนอื่นๆ ภายในและระหว่างโรงเรียน

ในทางกลับกัน การฝึกหัดครูอันเข้มข้นตลอดจนการลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการเข้าเรียนในหลักสูตรครู รวมถึงภาพลักษณ์ของการเป็นครูว่าเป็นวิชาชีพที่เปิดพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาตนเอง และการเติบโต ก็จะดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพให้อยากเข้าสู่วิชาชีพต่อไป

และเมื่อวิชาชีพครูมีแต่บุคลากรที่มีคุณภาพ ประเทศเหล่านี้จึงสามารถไว้วางใจและแบ่งอำนาจในการตัดสินใจด้านการศึกษาส่วนหนึ่งให้แก่ครู ตลอดจนมีบุคลากรเพียงพอที่จะกระจายการจัดการเรียนการสอนคุณภาพสูงไปสู่ทุกๆ โรงเรียนอย่างเสมอภาค และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศทั้งหมด

แต่ละนโยบายซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนฟันเฟืองอันสอดรับกันนั้นต่างขับเคลื่อนไปด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน นั่นคือ “มุ่งจัดการเรียนรู้อันเปี่ยมคุณภาพสำหรับเด็กทุกๆ คน” และแม้ว่าการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวยังอาจจะต้องฟันฝ่าไปอีกยาวไกล แต่พวกเขาก็ได้เริ่มออกเดินไปบนเส้นทางที่มุ่งตรงไปยังจุดหมายนั้นแล้ว

ร่วมเรียนรู้นโยบายจากระบบการศึกษาชั้นนำ และถอดกลยุทธ์ “ปั้นครู” ผู้เป็นกำลังสำคัญของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ที่หนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Empowered Educators: How High-Performing Systems Shape Teaching Quality Around the World

Linda Darling-Hammond เขียน
ชลิดา หนูหล้า แปล