เรียนรู้ด้วยภาพ: ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูจากจีน

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

 

หยิบยืมพลังจากนวัตกรรมและการปฏิรูป เสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ ผลักดันการพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นระบบจากจุดเริ่มต้นใหม่ในสายธารแห่งประวัติศาสตร์ และเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากระบบการศึกษาที่ใหญ่สุดในโลก สู่ระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก จากชาติอันเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรมนุษย์ สู่ชาติแห่งทรัพยากรมนุษย์อันเพียบพร้อม

— แผนระยะกลางและระยะยาวเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ, 2010

 

ไม่นานหลังจีนเพิ่มการลงทุนในการศึกษา เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องนโยบายก็ได้รับความสนใจในวงการศึกษานานาชาติด้วยอันดับในการประเมิน PISA ซึ่งสูงลิ่ว ทั้งความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

ปัจจุบัน เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้เน้นการแจกจ่ายงบประมาณอย่างเสมอภาคแก่โรงเรียนทั้งที่อยู่ห่างไกลและที่อยู่ในเขตเมือง เช่นเดียวกับการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนจากครอบครัวผู้อพยพซึ่งกำลังทวีจำนวน แรงงานผู้อพยพเหล่านี้สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้ที่มีอัตราการเกิดต่ำ และเต็มไปด้วยประชากรผู้สูงอายุมาก

นอกจากนี้ จีนยังหมายมั่นจะปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนรู้ จากการบรรยายโดยครูและเน้นการเตรียมสอบเป็นการมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอของนักเรียนและกิจกรรมสันทนาการ เนื่องจากภาวะเครียดในเด็กและการขาดความคิดสร้างสรรค์อันเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 จีนพลิกโฉมการฝึกหัดครู การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ การเรียนรู้ทางวิชาชีพ และโครงสร้างการเติบโตในอาชีพที่เน้นให้ครูผู้มีประสบการณ์มากกว่าช่วยเหลือครูใหม่ แก้ไขข้อบกพร่อง ต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม และประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์

การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของจีนนั้น ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวที่มองข้ามได้เลย

 

การสรรหาและคัดเลือกผู้เข้าเรียนในหลักสูตรครู

เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีครูเกินความต้องการเสมอ โดยมีสถาบันผลิตครูสองสถาบัน ได้แก่มหาวิทยาลัยอีสต์ ไชน่า นอร์มอล และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ นอร์มอล ซึ่งกวดขันผู้เรียนทั้งระหว่างการสมัครเข้าเรียนและตลอดสี่ปีหลังจากนั้น ผู้ผ่านทุกรายวิชาและการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูแล้วต้องขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการเพื่อปฏิบัติงานในโรงเรียน

ครูในจีนต้องผ่านการทดสอบระดับชาติจึงจะได้รับใบอนุญาต โดยต้องผ่านการทดสอบข้อเขียนว่าด้วยศาสตร์การจัดการเรียนรู้ จิตวิทยา และวิธีการจัดการเรียนรู้ จากนั้นจึงร่วมการสัมภาษณ์โดยครูต้นแบบและบุคลากรทางการศึกษาในท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นครูมาก่อน ระหว่างการสัมภาษณ์ ผู้สมัครต้องสาธิตการจัดการเรียนรู้วิชาหนึ่งๆ และต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการจัดการชั้นเรียนและการตั้งคำถามในชั้นเรียน นอกจากนี้ ผู้สมัครทุกคนยังต้องผ่านการทดสอบภาษาจีนกลางด้วย

สำหรับการเป็นครูในเซี่ยงไฮ้นั้น ผู้สมัครต้องผ่านการทดสอบและร่วมการสัมภาษณ์เช่นกัน โดยคำถามในการสัมภาษณ์ประกอบด้วยองค์ความรู้เฉพาะสาขาวิชา การจัดการเรียนรู้สาระหนึ่งๆ คำถามทั่วไปเกี่ยวกับนักเรียนและศาสตร์การจัดการเรียนรู้ หลายครั้งผู้สมัครต้องทดลองสอนเนื้อหาที่ถูกกำหนดให้สั้นๆ ด้วย มาตรฐานการได้รับคัดเลือกเป็นครูในเซี่ยงไฮ้นั้นสูงทีเดียว ต้องมีทั้งความรู้แตกฉานในสาขาวิชา ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์การจัดการเรียนรู้ รวมถึงความพร้อมที่จะทบทวนและปรับปรุงตนเองระหว่างปฏิบัติหน้าที่

 

หลักสูตรครู

ในเซี่ยงไฮ้ ครูเกือบทุกคนหรือร้อยละ 95 สำเร็จการศึกษาในระดับวิทยาลัย โดยร้อยละ 72 สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรสี่ปีซึ่งเน้นพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อสร้างครูผู้รอบคอบ มีจรรยาบรรณ และรู้จักตั้งคำถาม

ในปีแรกที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้นั้น ผู้เรียนจะได้พัฒนาองค์ความรู้การศึกษาพื้นฐาน ได้แก่ ประวัติศาสตร์การศึกษา สังคมวิทยา จิตวิทยา จรรยาบรรณวิชาชีพ ปรัชญาการศึกษา ระเบียบวิธีวิจัยทางการศึกษา การบริหารการศึกษา การพัฒนาและจัดการทรัพยากรมนุษย์ จิตวิทยาสังคม และการศึกษาครอบครัว

ในปีที่สองของหลักสูตร พวกเขาต้องผ่านรายวิชาเพื่อปูพื้นฐานองค์ความรู้ในรายวิชาเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ การแสดง หรือศิลปะ ซึ่งครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในรายวิชาใดรายวิชาหนึ่ง

ในปีที่สาม พวกเขาจะได้ศึกษาศาสตร์การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนแต่ละช่วงวัย ทดลองปฏิบัติการสอน ใช้งานโสตทัศนศึกษา คอมพิวเตอร์เบื้องต้น และเรียนรู้การปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน ที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ พวกเขาต้องฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูสองสัปดาห์ในแต่ละภาคการศึกษาพร้อมกับที่ศึกษาเนื้อหารายวิชาและศาสตร์การจัดการเรียนรู้

ในปีที่สี่ซึ่งเป็นปีการศึกษาสุดท้าย พวกเขาต้องใช้เวลาแปดสัปดาห์เพื่อฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงเรียนที่ได้รับการพิจารณาว่ามีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้ว่าที่ครูได้รับประสบการณ์ปฏิบัติงานที่ดีที่สุด ร่วมกับการรับผิดชอบภาระงานอื่นๆ โดยมหาวิทยาลัยจะเชิญครูที่ประสบความสำเร็จและมีตำแหน่งสูงมาบรรยายในมหาวิทยาลัยด้วย

ระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูนั้น ว่าที่ครูจะได้รับการชี้แนะโดยครูหรือครูพี่เลี้ยงในโรงเรียน เช่นเดียวกับครูพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัย ยิ่งกว่านั้น จีนยังมีแผนจะขยายเวลาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเป็นสองเดือนในปีที่สาม และหนึ่งภาคการศึกษาในปีที่สี่ ตลอดจนปรับปรุงการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยกับการปฏิบัติการสอนจริง เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพ

 

ระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูนั้น ว่าที่ครูจะได้รับการชี้แนะโดยครูหรือครูพี่เลี้ยงในโรงเรียน เช่นเดียวกับครูพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัย ยิ่งกว่านั้น จีนยังมีแผนจะขยายเวลาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเป็นสองเดือนในปีที่สาม และหนึ่งภาคการศึกษาในปีที่สี่ ตลอดจนปรับปรุงการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยกับการปฏิบัติการสอนจริง เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพ

 

ว่าที่ครูเองก็เห็นคุณค่าของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และต่างแสวงหาประสบการณ์นั้นด้วยการเป็นอาสาสมัครในโรงเรียนในชุมชน รับจ้างกวดวิชา หรือสอนภาษาอังกฤษให้นักธุรกิจเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์สอน ราวกับว่าการอาสาสอนเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกประสบการณ์ด้วย

 

 

การแนะแนวและชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู

เซี่ยงไฮ้มอบโอกาสให้ครูได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องหลังสำเร็จการศึกษา ผ่านการพัฒนาโครงการแนะแนวครูอย่างเป็นทางการในปลายทศวรรษ 1980 โดยครูใหม่จะมีเวลาฝึกฝนตนเองหนึ่งปีในความดูแลของครูพี่เลี้ยงผู้ได้รับเลือกด้วยประสบการณ์และวิทยฐานะ ทั้งสองจะสังเกตการปฏิบัติงานของกันและกัน และครูพี่เลี้ยงจะบันทึกพัฒนาการของครูใหม่อย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งให้ผู้บริหารโรงเรียนพิจารณา

นอกจากนี้ ครูส่วนใหญ่ยังมีเวลาอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่ไม่ต้องปฏิบัติการสอน โดยครูพี่เลี้ยงจะได้รับจัดสรรเวลาเพื่อทำงานร่วมกับครูใหม่และสังเกตชั้นเรียน และยังได้รับการประเมินผ่านคำติชมของครูใหม่ร่วมกับความคาดหวังของผู้บริหารโรงเรียนต่อพัฒนาการของครูใหม่ด้วย

 

ครูส่วนใหญ่มีเวลาอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่ไม่ต้องปฏิบัติการสอน โดยครูพี่เลี้ยงจะได้รับจัดสรรเวลาเพื่อทำงานร่วมกับครูใหม่และสังเกตชั้นเรียน และยังได้รับการประเมินผ่านคำติชมของครูใหม่ร่วมกับความคาดหวังของผู้บริหารโรงเรียนต่อพัฒนาการของครูใหม่ด้วย

 

นอกจากการแนะแนวที่เป็นทางการแล้ว ครูใหม่ยังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับครูผู้มีประสบการณ์คนอื่นๆ ในโรงเรียนผ่านชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่หลากหลายทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ไม่ว่าจะผ่านการฝึกอบรมหรือการร่วมกลุ่มการเรียนรู้ อาทิ กลุ่มการวิจัยทางการศึกษา

การปฏิบัติงานร่วมกันทำให้ครูใหม่ได้แบ่งปันองค์ความรู้และความเข้าอกเข้าใจระหว่างเพื่อนร่วมอาชีพ ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวทางสนับสนุนนักเรียนของตน ทั้งนี้ กฎหมายจีนยังระบุว่าครูทุกคนต้องร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิชาชีพอย่างน้อย 240 ชั่วโมงในห้าปี โดยมหาวิทยาลัยและเขตการปกครองต่างๆ ต้องจัดการฝึกอบรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีการศึกษา การปฏิบัติการสอน หรือเทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้

 

การเติบโตในอาชีพ

เซี่ยงไฮ้มีโครงสร้างการเติบโตในอาชีพที่น่าประทับใจ โดยครูจะถูกแบ่งเป็นครูทดลองสอน ครูชั้นสอง ครูชั้นหนึ่ง และครูอาวุโส ด้วยศักยภาพและการเป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพ สำหรับการได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่งนั้น ครูจะต้องเขียนสรุปผลการปฏิบัติงานของตน และต้องผ่านแบบทดสอบข้อเขียน ตลอดจนตีพิมพ์งานวิจัยด้านการจัดการเรียนรู้ ผ่านการสัมภาษณ์ และผ่านการพิจารณาของครูที่มีประสบการณ์มากกว่า

อาจน่าประหลาดใจสำหรับชาวต่างชาติเมื่อพิจารณาปริมาณงานวิจัยทางการศึกษาที่ครูจีนใช้ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเชิงปฏิบัติการนั้นเป็นเสมือนกิจวัตรประจำวันของครูจีน และยังได้รับการส่งเสริมผ่านกลุ่มการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียน เมื่อต้องอธิบายแนวทางการจัดการเรียนรู้ของตน ครูจีนมักอ้างถึงงานวิจัยของพวกเขาและสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ระหว่างดำเนินการวิจัยเสมอ

จากแบบสำรวจระดับชาติที่มีครูร่วมตอบกว่า 11,000 คนนั้น ครูประมาณร้อยละ 75 ระบุว่าตนเคยตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ขณะที่ร้อยละ 30 เคยตีพิมพ์ผลงานตั้งแต่สี่ชิ้นขึ้นไป และร้อยละ 8 เคยตีพิมพ์ผลงานเก้าชิ้นขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น ครูบางคนยังมีตำแหน่งครูนักวิจัยหรือมีตำแหน่งงานในหน่วยงานด้านการศึกษา และผลงานของพวกเขาก็มีส่วนช่วยเหลือ รวมถึงกำหนดทิศทางงานวิจัยในเขตการปกครอง

 

จากแบบสำรวจระดับชาติที่มีครูร่วมตอบกว่า 11,000 คนนั้น ครูประมาณร้อยละ 75 ระบุว่าตนเคยตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ขณะที่ร้อยละ 30 เคยตีพิมพ์ผลงานตั้งแต่สี่ชิ้นขึ้นไป และร้อยละ 8 เคยตีพิมพ์ผลงานเก้าชิ้นขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น ครูบางคนยังมีตำแหน่งครูนักวิจัยหรือมีตำแหน่งงานในหน่วยงานด้านการศึกษา และผลงานของพวกเขาก็มีส่วนช่วยเหลือ รวมถึงกำหนดทิศทางงานวิจัยในเขตการปกครอง

 

ทั้งนี้ ครูที่มีตำแหน่งสูงต้องเป็นผู้สนับสนุนและแนะแนวเพื่อนร่วมอาชีพผู้มีประสบการณ์แต่ไม่ได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่งด้วย อาจกล่าวได้ว่า ไม่เพียงครูใหม่เท่านั้นที่มีโอกาสร่วมการเรียนรู้ทางวิชาชีพและได้รับความช่วยเหลือ ทว่าครูทุกคนในเซี่ยงไฮ้จะได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสมกับตำแหน่งและประสบการณ์ของตนเสมอ

ไม่เพียงการเติบโตในอาชีพผ่านจำนวนชั่วโมงปฏิบัติงานเท่านั้น ครูผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น ครูที่ชนะการประกวดการจัดการเรียนรู้ ครูผู้เป็นที่ยอมรับด้วยผลงานวิจัยหรือผลงานการแนะแนวผู้อื่น ฯลฯ ก็มักได้รับรางวัลแห่งความอุตสาหะของตน โดยในวันที่ 10 กันยายนซึ่งเป็นวันครูแห่งชาติ นอกจากครูทั้งหลายจะได้เฉลิมฉลองร่วมกันแล้ว ยังมีงานประกาศรางวัลแด่ครูผู้ประสบความสำเร็จด้วย

 

การเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ความเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการจัดการศึกษาในเซี่ยงไฮ้เร็วๆ นี้คือการยกระดับโรงเรียนที่นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำผ่านโครงการ “เสริมพลังการบริหารจัดการ” (empowered management) เพื่อพัฒนาคุณภาพโดยรวมของระบบโรงเรียน โดยแต่ละเขตการศึกษาจะจับคู่โรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกับโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง โรงเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงจะลงนามในข้อตกลงเพื่อสนับสนุนและพัฒนาอีกโรงเรียนหนึ่ง ทั้งคุณภาพการจัดการเรียนรู้ การบริหารจัดการโรงเรียน และสัมพันธภาพกับผู้ปกครอง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเขตการศึกษาจะประเมินพัฒนาการของโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างระมัดระวัง ขณะที่โรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงนั้นจะได้รับอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมหากปฏิบัติหน้าที่ข้างต้นได้ดี  กล่าวคือโรงเรียนในความดูแลแสดงความก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจะสิ้นสุดเช่นเดียวกับการอุดหนุนงบประมาณ หากสัมพันธภาพดังกล่าวไม่นำไปสู่ความก้าวหน้าใดๆ

โครงการข้างต้นมุ่งปฏิรูปโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำโดยอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้บริหารโรงเรียนและครูที่ดีที่สุดในเซี่ยงไฮ้ สำหรับโรงเรียนที่มีคุณภาพนั้น โอกาสร่วมโครงการนำมาซึ่งความภาคภูมิใจและเกียรติยศ เพราะเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ยินดีหยิบยื่นความก้าวหน้าในอาชีพและอำนาจตัดสินใจแก่นักการศึกษาที่สามารถเปลี่ยนแปลงโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำได้ ด้วยเหตุนี้ นโยบายดังกล่าวจึงประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจ

 

เคล็ดลับความสำเร็จของโรงเรียนในเซี่ยงไฮ้อันรวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน

 

ทั้งนี้ โครงการเสริมพลังการบริหารจัดการดำเนินไปทั้งในเซี่ยงไฮ้ และดำเนินการผ่านโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาโรงเรียนยากจนในพื้นที่ห่างไกล รายงานปี 2011 ของ OECD กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า

 

ในปี 2007 เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ได้ร้องขอให้โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ 10 แห่งในเขตเมืองและหน่วยงานด้านการศึกษาอื่นๆ ดูแลโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 20 แห่งใน 10 เขตและตำบลห่างไกล โรงเรียนในเขตเมืองและหน่วยงานเหล่านี้ร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลลงนามในสัญญาสองปีที่ระบุให้ฝ่ายแรกส่งผู้บริหารอาวุโสและครูผู้มีประสบการณ์สูงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับฝ่ายหลัง โดยเทศบาลนครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของความร่วมมือดังกล่าว ข้อตกลงนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนยากจน แต่ยังเป็นการให้พื้นที่ในการพัฒนาครูแก่โรงเรียนที่ดีอีกด้วย

—  ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21, หน้า 371

 

เซี่ยงไฮ้ยังมีนโยบายอื่นๆ เพื่อสนับสนุนโรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำเช่นกัน อาทิ ผู้บริหารโรงเรียนจากโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอาจต้องบริหารจัดการโรงเรียนหลายแห่งในเวลาเดียวกัน โดยโรงเรียนในละแวกใกล้เคียงกันจะสร้างเครือข่ายเพื่อแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษา ตลอดจนแบ่งปันครูผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายดังกล่าวมักครอบคลุมทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ด้วย

กระนั้น เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศบาลนครที่ร่ำรวยที่สุดในจีนก็ยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างโรงเรียน คณะกรรมการการศึกษาเทศบาลนครจึงพยายามยกระดับความเสมอภาคในการแจกจ่ายงบประมาณด้านการศึกษาระหว่างโรงเรียนที่ร่ำรวยและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจากเทศบาลนคร โดยกำหนดงบประมาณขั้นต่ำต่อนักเรียน และให้ทุนเพิ่มเติมแก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค จัดหาทรัพยากรการศึกษา และให้ค่าตอบแทนแก่ครู

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังเป็นเขตการศึกษาแรกที่ยกเลิกระบบ “โรงเรียนต้นแบบ” ที่กำหนดให้โรงเรียนดังกล่าวได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่า ครูที่ดีกว่า ตลอดจนมีการคัดเลือกนักเรียนที่กวดขันกว่า เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียม และเพื่อการลงทุนอย่างเสมอภาคยิ่งขึ้นในทุกโรงเรียน

คณะกรรมการการศึกษาเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ยังขยายโอกาสทางการศึกษาสู่กลุ่มนักเรียนที่เป็นผู้อพยพด้วย และพยายามเพิ่มอัตราการเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลของนักเรียนเหล่านี้ จากเดิมที่กำหนดให้นักเรียนเหล่านี้เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสำหรับนักเรียนผู้อพยพ ทั้งนี้ คณะกรรมการยังประกาศว่าพวกเขาจะอุดหนุนงบประมาณแก่โรงเรียนเอกชนเพิ่มเติมโดยอาศัยงบประมาณที่ได้รับแจกจ่ายจากรัฐบาลแห่งชาติ หากโรงเรียนเหล่านี้ขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนที่ขึ้นตรงต่อมณฑล อันเป็นที่อยู่ของนักเรียนผู้อพยพจำนวนมหาศาล

 

เซี่ยงไฮ้ยังเป็นเขตการศึกษาแรกที่ยกเลิกระบบ “โรงเรียนต้นแบบ” ที่กำหนดให้โรงเรียนดังกล่าวได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่า ครูที่ดีกว่า ตลอดจนมีการคัดเลือกนักเรียนที่กวดขันกว่า เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียม และเพื่อการลงทุนอย่างเสมอภาคยิ่งขึ้นในทุกโรงเรียน

 

ด้วยปณิธาน การลงทุนในระบบการศึกษา และการพัฒนาระบบนโยบายด้านการศึกษาอย่างจริงจังนั่นเอง เซี่ยงไฮ้จึงเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในการประเมิน PISA ซึ่งนำทางเขตการศึกษาอื่นๆ ในจีนสู่ความสำเร็จเดียวกัน

อาจถึงเวลาแล้วที่ระบบการศึกษาไทยจะกำหนดเป้าหมาย ให้ความสำคัญแก่การศึกษา และมุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เช่นนี้บ้าง เพราะความเคลื่อนไหวย่อมปรากฏด้วยความมุ่งมาดปรารถนา และความมุ่งมาดปรารถนานั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งมวล

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Linda Darling-Hammond เขียน

ชลิดา หนูหล้า แปล

472 หน้า