Empowered Educators: “ครู” อาชีพในฝันของเด็กนานาประเทศ

เรื่อง: พิชญา โคอินทรางกูร

“ครู” น่าจะเป็นอาชีพในฝันของเด็กๆ หลายคน ใฝ่ฝันว่าจะเป็นคนสอน ถ่ายทอด และผลักดันเด็กรุ่นต่อๆ ไป

คุณอาจจะเคยเป็นเด็กคนนั้นเช่นกัน คุณอาจจะเคยฝันว่าคุณจะไม่มีวันเป็นครูที่สอนด้วยวิธีการน่าเบื่อหน่ายใดๆ อย่างที่เคยเจอมา คุณอาจจะหวังว่าคุณจะเป็นคนที่มีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

ทว่า การเป็นครูในระบบการศึกษาไทยอาจจะไม่ได้เป็นดังภาพที่เคยวาดหวังเอาไว้ คุณอาจจะพบว่านี่ไม่ใช่ที่ที่เอื้อต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ คุณพบว่าตัวเองค่อยๆ กลายเป็นครูแบบที่ไม่อยากเป็นทีละน้อย คุณไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสอนมาหลายปีแล้ว คุณไม่รู้ว่าเพื่อนครูคนอื่นๆ สอนด้วยวิธีอะไร และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณสอนได้ดีหรือเปล่า เพราะแค่ออกไปยืนสอนเด็กหน้าชั้นเรียนได้ก็เต็มที่แล้ว

สุดท้าย คุณก็ไม่เห็นว่าความฝันของคุณจะเกิดขึ้นภายใต้ระบบการศึกษานี้ได้อย่างไร

ความฝันของคนเป็นครูถูกโครงสร้างบดขยี้ลง พร้อมๆ กับความหวังของระบบการศึกษาที่ค่อยๆ เลือนรางลงเช่นกัน

ท่ามกลางโครงสร้างระบบการศึกษาอันบิดเบี้ยวทั่วโลก มีประเทศจำนวนหนึ่งที่สามารถหล่อเลี้ยงความฝันของครูเอาไว้ พร้อมกับพัฒนาครูเหล่านั้นให้กลายเป็นครูผู้เก่งกาจ

เพราะเชื่อว่า “ครู” คือพลังที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งมวล

คำถามคือ พวกเขาคงความฝันนั้นได้อย่างไร?

ลินดา ดาร์ลิงแฮมมอนด์ นักการศึกษาชั้นแนวหน้าจากสแตนฟอร์ด ใคร่ครวญที่จะตอบคำถามดังกล่าวในหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21 (Empowered Educators: How HighPerforming Systems Shape Teaching Quality Around the World) เธอตั้งคำถามว่า ถ้าครูคือขุมพลังของระบบการศึกษา พวกเขาสร้างครูผู้มีความสามารถ มีศักยภาพ ทั้งยังเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนระบบการศึกษาได้อย่างไร?

และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “ปั้นครู” ในระบบการศึกษาชั้นนำของโลก อันได้แก่ฟินแลนด์ แคนาดา จีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย พวกเขาสร้างครูผู้เก่งกาจ และมอบหมายให้ครูเป็นผู้ “ปั้นโลกการศึกษา” ต่อไป

 

หลักสูตรครู เรียนฟรี!

ครูเป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพยอดนิยมของเด็กๆ ในประเทศเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กๆ เคยได้รับประสบการณ์ภายในโรงเรียนที่ดี อีกส่วนเป็นเพราะวิชาชีพครูนั้นน่าดึงดูดใจ ทั้งด้วยฐานะทางสังคมที่สูงและเงินเดือนที่มากเทียบเท่ากับวิชาชีพเฉพาะทางอื่นๆ เงินเดือนเริ่มต้นของครูนั้นเทียบเท่าวิศวกรหรือนักการบัญชี อีกทั้งยังจะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต

ครูจึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีการแข่งขันสูงที่สุด (คุณอาจจะลองจินตนาการถึงการแข่งขันสอบเข้าคณะครุศาสตร์ที่เข้มข้นพอๆ กับการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ในบ้านเราก็ได้) และแม้ว่าการเรียนครูจะเป็นที่ใฝ่ฝันของเด็กๆ อย่างยิ่ง แต่หลายๆ ประเทศก็ยังกำหนดให้หลักสูตรครูนั้นไร้ค่าใช้จ่าย หรือมอบทุนการศึกษาเพื่อลดหย่อนค่าใช้จ่ายอีกด้วย

หากคุณเรียนเป็นครูในฟินแลนด์ คุณไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเล่าเรียนใดๆ

และถ้าคุณเรียนเป็นครูในสิงคโปร์ นอกจากจะเรียนฟรีแล้ว คุณยังได้รับเงินเดือนระหว่างการศึกษาอีกด้วย!

และนั่นทำให้การเลือกเรียนเป็นครูนั้นน่าดึงดูดใจยิ่งขึ้น เด็กๆ หัวกะทิในประเทศเหล่านี้ต่างแข่งขันกันสอบเข้าเรียนในหลักสูตรครู กระบวนการคัดเลือกจึงเข้มข้นอย่างยิ่ง ออสเตรเลียคัดเฉพาะเด็กในกลุ่มที่มีทักษะทางวิชาการสูงสุด 30% เท่านั้น ฟินแลนด์คัดเลือกด้วยแบบทดสอบที่วัดความสามารถในการวิเคราะห์และตีความงานวิจัย ส่วนนักเรียนครูในสิงคโปร์จะต้องผ่านการเป็นครูทดลองสอนเสียก่อนจะได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนในหลักสูตรครู

นี่คือหนทางที่บุคลากรเปี่ยมคุณภาพเข้าสู่วงการวิชาชีพครู

และที่สำคัญที่สุดคือ หลักสูตรครูที่ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือได้รับลดหย่อนค่าใช้จ่ายทำให้ผู้ประสงค์จะเป็นครูล้วนได้รับการฝึกหัดตามที่ “ควร” จะได้รับ ไม่ใช่เพียงการฝึกหัดตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคน

และแม้ว่าการเรียนครูจะเป็นที่ใฝ่ฝันของเด็กๆ อย่างยิ่ง แต่หลายๆ ประเทศก็ยังกำหนดให้หลักสูตรครูนั้นไร้ค่าใช้จ่าย หรือมอบทุนการศึกษาเพื่อลดหย่อนค่าใช้จ่ายอีกด้วย

คุณมีชั่วโมงสอนน้อยกว่า 19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

งานวิจัยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD ระบุว่าเฉลี่ยแล้วครูใช้เวลาสอนประมาณ 19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าครูแต่ละคนจะสอนวันละประมาณ 4 ชั่วโมง และบางประเทศก็น้อยยิ่งกว่านั้น ครูชาวสิงคโปร์ใช้เวลาจัดการเรียนการสอนประมาณ 17 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และครูชาวเซี่ยงไฮ้ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจจะฟังดูเหลือเชื่อ แต่ถ้าคุณเป็นครูในเซี่ยงไฮ้ คุณจะสอนเฉลี่ยแค่วันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น!

แล้วพวกเขาเอาเวลาที่เหลือไปทำอะไรกัน แน่นอนว่าไม่ใช่ภาระงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน ครูเหล่านี้ไม่ได้มีหน้าที่ทำงานเอกสารหรือนั่งจัดการสลิปเงินเดือนของเพื่อนร่วมงาน ทว่าโรงเรียนได้ออกแบบตารางงานเอาไว้ให้ครูมีเวลาเพิ่มเติมสำหรับ “พัฒนาแผนการเรียนการสอน” “พัฒนาตัวเอง” และ “พัฒนาเพื่อนร่วมงาน”

โรงเรียนในฟินแลนด์นั้นจะจัดสรรเวลาให้ครูส่วนใหญ่ได้พบกันในบ่ายวันหนึ่งของทุกๆ สัปดาห์เพื่อร่วมกันออกแบบ ประเมิน และปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียน ครูในสิงคโปร์ทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยและเข้าร่วมกลุ่มการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ครูชาวเซี่ยงไฮ้ทุกคนเป็นสมาชิกกลุ่มวิจัยภายในโรงเรียนและยังทำกิจกรรมต่างๆ มากมายเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เช่นการเยี่ยมชั้นเรียนหรือเยี่ยมชมโรงเรียนอื่นๆ

การจัดสรรเวลาว่างเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อให้ครูพัฒนาตนเองและพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอน เพราะระบบการศึกษาเหล่านี้เห็นว่าครูไม่ได้มีหน้าที่แค่เข้าไปปรากฏตัวในชั้นเรียน แต่ครูต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนกำลังเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาควรจะได้เรียนรู้

ดังนั้นประสิทธิภาพของครูจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “จำนวน” ชั่วโมงสอน ทว่าขึ้นอยู่กับชั่วโมงสอน “ที่มีคุณภาพ”

ระบบการศึกษาเหล่านี้เห็นว่าครูไม่ได้มีหน้าที่แค่เข้าไปปรากฏตัวในชั้นเรียน แต่ครูต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนกำลังเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาควรจะได้เรียนรู้

คุณมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนและแนะนำวิธีการสอนระหว่างเพื่อนครู

และเพื่อให้ครูทุกคนสามารถจัด ชั่วโมงสอนที่มีคุณภาพ ระบบการศึกษาเหล่านี้จึงลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อพัฒนาคุณภาพของครู ทว่าไม่ใช่ด้วยการจ้างวิทยากรผู้มีชื่อเสียง หรือจัดสัมมนาสามวันสองคืนที่โรงแรมริมทะเล แต่ลงทุนกับการสร้างสรรค์โอกาสให้ครูได้เรียนรู้ระหว่างกันภายในโรงเรียน

ระบบการศึกษาเหล่านี้เชื่อมั่นในศักยภาพของการทำงานร่วมกันระหว่างครู วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพแห่งความร่วมมือ เป็นเสมือนกีฬาประเภททีม นั่นไม่ได้หมายความว่าครูควรจะเข้าสอนพร้อมกันสามคนแล้วชั่วโมงสอนจะมีคุณภาพที่ดีขึ้น ทว่าหมายถึงการแลกเปลี่ยนกลวิธีการสอนในหมู่ครู การรับฟังข้อติชมและความคิดเห็นจากเพื่อนครูด้วยกัน การแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษา และการเรียนรู้จากครูผู้มีประสบการณ์

ครูในเซี่ยงไฮ้จะจัดกิจกรรม “เปิดห้องเรียน”  (open classroom) ภายในโรงเรียนอยู่เสมอๆ ครูจะร่วมกันออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ จากนั้นจึงให้ครูคนหนึ่งนำไปทดลองปฏิบัติในชั้นเรียน โดยที่มีครูคนอื่นๆ คอยสังเกตการสอนนั้น เมื่อจบชั้นเรียนแล้วบรรดาครูจึงจะร่วมอภิปรายกัน เพื่อวิพากษ์ ติชม และสรุปผลลัพธ์ของการจัดการเรียนการสอนนั้นเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ต่อไป

เซี่ยงไฮ้ยังมีกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนกลวิธีการจัดการเรียนการสอนระหว่างโรงเรียนอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ นวัตกรรม “จับคู่โรงเรียน” เขตการศึกษาจะจับคู่โรงเรียนที่มีประสิทธิภาพต่ำเข้ากับโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพสูง โรงเรียนเหล่านี้จะคัดเลือกตัวแทนบุคลากรขึ้นมา แล้วส่งให้เข้าไปทำงานในโรงเรียนของอีกฝ่าย เพื่อเรียนรู้ว่าโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จบริหารจัดการกันอย่างไร ขณะที่ครูในบาง (หรือหลาย) พื้นที่ของโลกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าครูที่อยู่ในห้องเรียนข้างๆ ใช้วิธีอะไรจัดการเรียนการสอน

คุณอาจจะคิดว่ากิจกรรมเหล่านี้ย่อมมอบโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่ครูอย่างเหลือเฟือแล้ว ทว่าจีนไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ พวกเขายังลงแรงมหาศาลเพื่อจัด “ประกวดการสอน” ทั้งในระดับมณฑลและระดับชาติ และแบ่งปันกลวิธีการจัดการเรียนการสอนของครูผู้ชนะ ครูคนอื่นๆ จึงได้เห็นว่าวิธีจัดการเรียนการสอน “ที่โดดเด่นในระดับชาติ” นั้นเป็นอย่างไร

ความรู้และวิสัยทัศน์ของครูจึงไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในห้องเรียนที่ตนสอน ทว่าขยายขอบเขตไปยังห้องเรียนอื่นๆ โรงเรียนอื่นๆ ทั้งในระดับเขตและระดับชาติ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ครูต่างได้เห็นว่าแบบอย่างที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างไร และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนของครูแต่ละคน

ความรู้และวิสัยทัศน์ของครูจึงไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในห้องเรียนที่ตนสอน ทว่าขยายขอบเขตไปยังห้องเรียนอื่นๆ โรงเรียนอื่นๆ ทั้งในระดับเขตและระดับชาติ ครูต่างได้เห็นว่าแบบอย่างที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างไร

 

คุณมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการศึกษา

คุณเคยตั้งคำถามกับเนื้อหาที่คุณกำลังสอนหรือไม่ คุณเคยสงสัยหรือเปล่าว่าหลักสูตรการศึกษาใช้เกณฑ์อะไรกำหนดว่าเด็กประถมห้าต้องหาค่าของมุมกลับเป็น เด็กประถมหกต้องรู้จักทศนิยมอย่างน้อยสามตำแหน่ง และคุณเคยสะดุดใจหรือเปล่าว่าทำไมการเรียนในชั้นมัธยมหกถึงกลายเป็นการเก็งข้อสอบและกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย

โครงสร้างการศึกษาของประเทศส่วนใหญ่จะบอกว่า “คนเป็นครูมีหน้าที่สอนไปตามหลักสูตรการศึกษา” ทว่าระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพไม่ได้เห็นเช่นนั้น พวกเขา “คัด” คนที่มีคุณภาพสูงสุด “ฝึกฝน” พวกเขาจนพร้อมที่สุด และยังทำทุกวิถีทางเพื่อให้ครูเหล่านี้ “พัฒนา” ตัวเองอยู่เสมอ นอกจากนี้ ครูยังเป็นคนที่เข้าไปยืนในชั้นเรียนและสอนจริงในทุกๆ วัน ดังนั้น ระบบการศึกษาเหล่านี้จึงถามว่า “แล้วใครจะกำหนดทิศทางหลักสูตรการศึกษาได้ดีไปกว่าครูล่ะ”

หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติของฟินแลนด์ยืดหยุ่นอย่างเหลือเชื่อ พวกเขาเพียงแต่วางกรอบเอาไว้หลวมๆ เท่านั้น นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังไม่มีการจัดการทดสอบเพื่อวัดผลการศึกษาในระดับชาติอีกด้วย (นอกจากการสอบเข้าศึกษามหาวิทยาลัย) ครูจะเป็นคนประเมินความสามารถของเด็กๆ แต่ละคนด้วยตัวเอง และการวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรดังกล่าวเพื่อพัฒนาและปรับปรุงก็ยังมีครูเป็นศูนย์กลาง ประสบการณ์ของพวกเขาจึงเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวทางการศึกษาของฟินแลนด์

ส่วนการบริหารจัดการการศึกษาต่อจากนั้น ฟินแลนด์ไว้วางใจและมอบหมายให้อยู่ในมือของ “ครู”

หากคุณเป็นครูชาวสิงคโปร์ คุณมีเส้นทางอาชีพสามสายให้คุณเลือก ถ้าคุณอยากเป็นคนที่มีบทบาทในการออกแบบหลักสูตรการศึกษา คุณสามารถเลือกเติบโตไปบนเส้นทางของผู้บริหารการศึกษา ซึ่งจะพาคุณไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้บริหารภายในกระทรวงศึกษาธิการ หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คุณอาจจะเดินบนเส้นทางของผู้ชำนาญการ และเติบโตต่อไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรการศึกษา ซึ่งจะพาคุณเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ

ส่วนรัฐออนแทรีโอในแคนาดาใช้วิธีดึงครูให้เข้ามาทำงานภายในกระทรวงศึกษาธิการเป็นการชั่วคราวแทน ครูเหล่านี้จะได้เห็นและเรียนรู้การบริหารจัดการภายในกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะเดียวกัน ทางภาครัฐก็ได้รับคำแนะนำและมุมมองจากผู้ที่ปฏิบัติการสอนจริง กระทรวงศึกษาธิการรัฐออนแทรีโอจึงสามารถปรับกลยุทธ์การศึกษาในระดับรัฐให้เหมาะสมกับความเป็นจริงของการปฏิบัติการสอน ทั้งครูและกระทรวงศึกษาธิการจะสร้างวิสัยทัศน์ทางการศึกษาร่วมกัน

ดังนั้น ครูจึงเป็นกำลังสำคัญในการกำหนดทิศทางของหลักสูตรการศึกษาในประเทศเหล่านี้ เพราะพวกเขาคือจุดเชื่อมต่อระหว่างนโยบาย ทฤษฎี และการปฏิบัติจริง พวกเขาไม่ได้เพียงแค่ต้องปฏิบัติตามนโยบายที่โยนลงมาจากเบื้องบนหรือทำตามคำสั่งของผู้บริหารโรงเรียน ทว่าครูเป็นกลไกสำคัญที่พาระบบการศึกษาไปข้างหน้าด้วยจุดมุ่งหมายที่มีร่วมกัน

ครูจึงเป็นกำลังสำคัญในการกำหนดทิศทางของหลักสูตรการศึกษาในประเทศเหล่านี้ เพราะพวกเขาคือจุดเชื่อมต่อระหว่างนโยบาย ทฤษฎี และการปฏิบัติจริง

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “ปั้นครู” ของระบบการศึกษาอันทรงประสิทธิภาพ พวกเขายังมีกลวิธีอีกมากมายที่จะสร้างสรรค์ให้ครูเป็นกำลังสำคัญของแวดวงการศึกษา

ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ระบบการศึกษาเหล่านี้มีร่วมกัน อาจจะเป็น “ทัศนคติ” ที่มีต่อครู

เพราะครูไม่ใช่เรือจ้าง ครูไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่พาเด็กๆ เรียนไปตามหลักสูตรจนครบถ้วน หรือส่งให้พวกเขาสอบติดมหาวิทยาลัย

หาก “ครู” คือคนที่ฝันจะ “ปั้น” เด็กๆ เหล่านั้นให้เรียนรู้และเติบโตไปตามเส้นทางของแต่ละคน

พวกเขาจึงหล่อเลี้ยงความฝันนั้นไว้ เสริมศักยภาพให้ครู และปล่อยให้ “ครู” ลงมือทำ

.

ร่วมเรียนรู้นโยบายจากระบบการศึกษาชั้นนำ และถอดกลยุทธ์ “ปั้นครู” ผู้เป็นกำลังสำคัญของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ที่หนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Empowered Educators: How High-Performing Systems
Shape Teaching Quality Around the World

Linda Darling-Hammond เขียน
ชลิดา หนูหล้า แปล