สำรวจนโยบายเพื่อความเสมอภาคจากระบบการศึกษาชั้นนำทั่วโลก

เรื่อง: พิชญา โคอินทรางกูร

ความเสมอภาคทางการศึกษานั้นมีวัตถุประสงค์อันชัดเจนเพียงหนึ่งเดียว คือ “ความสำเร็จทางการศึกษาควรเป็นของเด็กทุกคน”

เป้าหมายดังกล่าวพูดง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง ประเทศส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ยังคงมีเด็กๆ ที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา เด็กๆ ที่ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากร ในขณะที่เด็กๆ ที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมดีก็จะไปเข้าเรียนในโรงเรียนคุณภาพสูง มีครูผู้เก่งกาจและมีทรัพยากรที่ถึงพร้อม

ทั้งหมดนั้นคือ “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จของโลกยอมให้เกิดขึ้น

ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ แคนาดา และจีน ไม่ยอมให้ภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของเด็กๆ มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของพวกเขา พวกเขาเชื่อมั่นว่าโรงเรียนทั้งหมดต้องมีคุณภาพทัดเทียมกัน และโรงเรียนทั้งหมดต้องตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลายของเด็กๆ ได้อย่างเสมอภาค

ความสำเร็จในการสร้างสรรค์บุคลากรและการจัดการเรียนการสอนคุณภาพสูงนั้นปรากฏอยู่ในโรงเรียนทุกหนทุกแห่ง ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ นักการศึกษาชั้นนำจากอเมริกา ได้ลงมือศึกษาวิจัยและถอดบทเรียนแห่งความเสมอภาคทางการศึกษาอันโดดเด่นจากกรณีศึกษาเหล่านี้ลงในบทที่ว่าด้วย “ความอุตสาหะในการสร้างความเสมอภาค” จากผลงานหนังสือ “ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21” (Empowered Educators: How High-Performing Systems Shape Teaching Quality Around the World)

มาร่วมถอดบทเรียนเชิงนโยบายที่มุ่งสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และเรียนรู้ว่าพวกเขามุ่งไปสู่ “ความสำเร็จทางการศึกษาของเด็กๆ ทุกคน” ได้อย่างไร

 

อุดหนุนสวัสดิการสำหรับเด็กทุกคน เพื่อให้เด็ก “พร้อม” ที่จะเรียนรู้ทันทีที่เข้าโรงเรียน

ประเทศและรัฐเหล่านี้ต่างตระหนักว่าความกินดีอยู่ดีของเด็กๆ มีความสำคัญต่อการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง เด็กๆ ที่ท้องหิว ไม่ได้นอนหลับเต็มอิ่ม ต้องเดินทางหลายชั่วโมงเพื่อมาโรงเรียน ย่อมไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงลงทุนอุดหนุนสวัสดิการสำหรับเด็กและครอบครัวอย่างมหาศาล เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนมีจุดเริ่มต้นที่เท่าเทียมกัน

และเพื่อเตรียมเด็กๆ ให้ “พร้อม” ต่อการเรียนรู้นับตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงเรียน

กล่องของขวัญสำหรับเด็กทารกชาวฟินแลนด์ หรือ “Finnish Baby Box” เป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นอันทัดเทียมที่รัฐบาลมอบให้แก่เด็กๆ ชาวฟินแลนด์ทุกคน คุณแม่ที่มีบุตรแรกเกิดจะได้รับกล่องที่บรรจุเสื้อผ้า เครื่องนอน ของเล่น ฟูก และของจำเป็นอื่นๆ และตัวกล่องเองก็สามารถดัดแปลงเป็นเปลอย่างง่ายๆ อีกด้วย

เมื่อเด็กๆ ชาวฟินแลนด์เติบโตขึ้น พวกเขาสามารถเข้าถึงสถานอนุบาลวัยเด็กตอนต้นที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัย ตลอดจนได้รับอาหารประจำวัน ประกันสุขภาพ และเข้าหลักสูตรปฐมวัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ส่วนรัฐบาลแคนาดาและออสเตรเลียนั้นก็จัดสรรบริการสุขภาพและบริการสาธารณะพื้นฐานอย่างทั่วถึงให้กับประชาชน ครอบครัวชาวแคนาดาที่มีบุตรอายุต่ำกว่าหกปียังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในฐานะ “ผู้ดูแลบุตร” คือพวกเขาจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการอนุบาลและการศึกษาปฐมวัย ส่วนครอบครัวชาวออสเตรเลียจะได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบของเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ทั้งเบี้ยเลี้ยงสำหรับเด็ก เบี้ยเลี้ยงสำหรับการศึกษา ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยของเด็กๆ และครอบครัว

ประชาชนชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่อาศัยในบ้านที่รัฐบาลจัดสรรให้ ซึ่งเป็นบ้านที่มีคุณภาพและออกแบบมาเป็นอย่างดี บ้านพักอาศัยเหล่านี้อยู่ใกล้กับโรงเรียนรัฐ ซึ่งได้รับการพิจารณาว่ามีคุณภาพสูงและเป็นที่พึงพอใจของครอบครัวส่วนใหญ่ แม้กระทั่งครอบครัวที่ร่ำรวยก็ตาม

รัฐบาลสิงคโปร์ยังช่วยลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับอุดมศึกษา เด็กๆ ราวร้อยละ 75 สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งในวิทยาลัยและในสถาบันต่างๆ และอีกร้อยละ 25 ก็เข้าฝึกอาชีพในสถาบันเทคนิคที่มีคุณภาพสูง

ดังนั้น ด้วยสวัสดิการพื้นฐานที่ได้อุดหนุนอย่างทั่วถึงแก่ทุกๆ ครอบครัว ระบบการศึกษาเหล่านี้จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีเด็กคนใดจะต้อง “พลาด” โอกาสทางการศึกษา เพียงเพราะครอบครัวของเขามีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่าคนอื่นๆ

และเมื่อเด็กๆ ทุกคนเข้ามาในห้องเรียนด้วยสภาวะ “อยู่ดี มีสุข” พวกเขาจึงมั่นใจได้ว่าการลงทุนกับการศึกษาในลำดับต่อๆ ไปนั้นจะคุ้มค่า เนื่องจากเด็กๆ เหล่านี้ “พร้อม” ที่จะเรียนรู้นั่นเอง

ระบบการศึกษาเหล่านี้จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีเด็กคนใดจะต้อง “พลาด” โอกาสทางการศึกษา เพียงเพราะครอบครัวของเขามีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่าคนอื่นๆ

อุดหนุนงบประมาณ “ตามความต้องการ”

การบริหารงบประมาณที่มีอยู่ในมืออย่างตรงจุดคือหัวใจสำคัญประการหนึ่งของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในประเทศเหล่านี้

แน่นอนว่าประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีงบประมาณล้นฟ้าหรือใช้จ่ายได้อย่างไม่อั้น แต่พวกเขาต่างเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า จะบริหารงบประมาณเท่าที่ “มีอยู่” ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร

การแจกจ่ายงบประมาณตามจำนวนเด็กนักเรียนย่อมไม่ใช่คำตอบ การอุดหนุนงบประมาณแก่โรงเรียนตามจำนวนนักเรียนทำให้ “โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบค่อนข้างมาก” และ “ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพโรงเรียนได้ แต่กลับทำให้สถานการณ์แย่ลง” (ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค, 2021) นั่นเป็นเพราะงบประมาณนั้นถูกเฉลี่ยแบ่งไปให้กับคนที่ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ ส่วนคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ก็ได้เงินอุดหนุนน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ

ออสเตรเลียเคยประสบกับปัญหานี้เช่นกัน รัฐบาลกลางออสเตรเลียมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา และได้ปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณจากรูปแบบ “ดั้งเดิม” สู่การจัดสรรโดยยึดโยงกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน และจัดสรรให้เพิ่มเติมสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษหรือขาดแคลนโอกาส ตามข้อเสนอในรายงานกอนสกี (Gonski Report) ซึ่งตั้งชื่อตามเดวิด กอนสกี นักธุรกิจและนักการกุศลชาวออสเตรเลีย

“ความเสมอภาคคือสิ่งที่ควรต้องคำนึงถึงในการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมภายในออสเตรเลีย” กอนสกีเคยกล่าวเอาไว้ในปี 2014 “เราเชื่ออย่างหนักแน่นและเป็นเอกฉันท์ว่า ระบบจัดสรรงบประมาณจะต้องรับประกันว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่แตกต่างกันนั้นไม่ใช่ผลจากความแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจ รายได้ อำนาจ และทรัพย์สินส่วนบุคคล” (ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์, 2021, หน้า 346.)

อาจจะกล่าวได้ว่าหลักการพื้นฐานของการจัดสรรทรัพยากรในรูปแบบนี้คือ “งบประมาณที่มากกว่า” ไปถึงมือของ “คนที่ต้องการมากกว่า”

และช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีพร้อมกับคนที่ขาดแคลนก็จะค่อยๆ ถูกถมให้ขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น ด้วยการบริหารทรัพยากรอย่างตรงจุดนั่นเอง

“เราเชื่ออย่างหนักแน่นและเป็นเอกฉันท์ว่า ระบบจัดสรรงบประมาณจะต้องรับประกันว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่แตกต่างกันนั้นไม่ใช่ผลจากความแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจ รายได้ อำนาจ และทรัพย์สินส่วนบุคคล”

โรงเรียน “ทุกแห่ง” คือโรงเรียนที่มีคุณภาพ

เมื่อระบบการศึกษาเหล่านี้สามารถจัดการเรียนการสอนคุณภาพสูงได้แล้ว พวกเขาก็ไม่ปล่อยให้เป็นความพิเศษของโรงเรียนแห่งหนึ่งแห่งใด ทว่ากระจายคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนนั้น ตลอดจนครูและผู้บริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพไปสู่ทุกๆ โรงเรียน

ปรากฏการณ์ที่โรงเรียนคุณภาพสูงอยู่ในเมืองหลวงหรืออยู่ตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ ขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลกลายเป็นโรงเรียนคุณภาพรองๆ ลงมาอาจเป็นภาพที่คุ้นชินในหลายๆ ประเทศ ทว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ประเทศเหล่านี้ยอมให้เกิดขึ้น โรงเรียนแทบทุกแห่งในฟินแลนด์และสิงคโปร์มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ออสเตรเลียพยายามดึงดูดให้บุคลากรไปปฏิบัติงานที่โรงเรียนในชนบทด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ จำนวนมากให้แก่ครูที่เลือกไปปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล

จีนเองก็มีข้อกำหนดให้ครูต้องไปปฏิบัติงานในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลเช่นกัน ทว่าพวกเขายังสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนอีกด้วย เพื่อให้นโยบายทั้งในภาพใหญ่และการขับเคลื่อนในระดับโรงเรียนส่งเสริมและเกื้อหนุนไปพร้อมกัน

โครงการดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ “เสริมพลังบริหารจัดการ” (empowered management) โครงการนี้มุ่งพัฒนาคุณภาพ “ระบบ” โรงเรียนโดยรวม แทนที่การบริหารรูปแบบเดิมที่เทศบาลนครพัฒนาโรงเรียน “เพียงจำนวนหนึ่ง” อย่างเต็มที่

ผู้บริหารแต่ละเขตการศึกษาจะจับคู่โรงเรียนที่มีประสิทธิภาพต่ำเข้ากับโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพสูง และให้ทำข้อตกลงระหว่างกันเพื่อสนับสนุนและพัฒนาโรงเรียนอีกแห่งในประเด็นต่างๆ

“ทุกๆ ปี เราจะส่งครูสามคนไปและรับครูสามคนมา เราส่งครูผู้เยาว์วัยและเก่งกาจไปสามคน ขณะที่พวกเขาส่งครูวัยกลางคนผู้เชี่ยวชาญมาสามคน” จาเจี้ยนเซิง ผู้บริหารโรงเรียนที่ทำข้อตกลงกับโรงเรียนประสิทธิภาพสูงกล่าว “อันที่จริงพวกเราไปที่โรงเรียนแห่งนั้นเพื่อเรียนรู้การจัดการเรียนการสอน และพวกเขามาที่โรงเรียนนี้เพื่อนำพวกเราในการจัดการเรียนรู้ และสาธิตการจัดการเรียนรู้ที่พวกเขาใช้ในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ” (ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์, 2021, หน้า 372.)

โครงการ “เสริมพลังบริหารจัดการ” มุ่งพึ่งพาความเชี่ยวชาญของโรงเรียนและครูที่ดีที่สุดเพื่อพัฒนาโรงเรียนประสิทธิภาพต่ำ และโอกาสในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวนำมาซึ่งเกียรติแก่โรงเรียนตลอดจนบุคลากรของโรงเรียน ซึ่งทางเทศบาลนครเองก็ยินดีจะหยิบยื่นความก้าวหน้าในอาชีพให้แก่นักการศึกษาผู้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพต่ำได้

เมื่อโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพต่ำได้รับความช่วยเหลือจากโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพสูง เมื่อโรงเรียนที่ขาดแคลนได้รับงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็น และเมื่อโรงเรียนที่ห่างไกลได้รับการจัดสรรบุคลากรคุณภาพสูง ระบบการศึกษาเหล่านี้จึงมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าเด็กๆ จะเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งใด พวกเขาจะได้รับการศึกษาคุณภาพสูงอย่างทัดเทียมกัน

และนั่นคือการยกระดับคุณภาพการศึกษา “ทั้งระบบ” อย่างแท้จริง

ไม่ว่าเด็กๆ จะเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งใด พวกเขาจะได้รับการศึกษาคุณภาพสูงอย่างทัดเทียมกัน

โอบรับความ “แตกต่างหลากหลาย” ของเด็กๆ

“บางครั้งครูก็เป็นต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำ” ศ.นพ.วิจารณ์เคยกล่าวเอาไว้ “เด็กบางคนก็ไม่น่ารัก ครูก็ไม่อยากเอาใจใส่ ดูแลแต่เด็กที่ตั้งใจ มันเป็นความไม่เสมอภาคที่เราไม่ค่อยรู้ตัว” (วิจารณ์ พานิช, 2021)

ระบบการศึกษาเหล่านี้ต่างตระหนักว่านักเรียนแต่ละคนล้วนเป็นปัจเจกบุคคลที่แตกต่างและหลากหลาย เด็กแต่ละคนย่อมมีวิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน และการสอนแบบ “เหมาโหล” ย่อมไม่สามารถพานักเรียนทุกคนไปสู่ความสำเร็จทางการศึกษาได้

ครูในฟินแลนด์ได้รับการฝึกฝนให้พร้อมต่อความแตกต่างหลากหลายของเด็กๆ และเรียนรู้กลวิธีการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนแต่ละคน โดยคำนึงว่านักเรียนที่เผชิญความลำบากในการเรียนด้านใดด้านหนึ่ง (เช่น การคูณเลขหรือการผันคำกิริยา) นั้นเป็นเพียงนักเรียนคนหนึ่งที่มีความต้องการพิเศษ อันเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายที่ปรากฏได้ทั่วไป แทนที่จะพิจารณาว่าเด็กคนนั้น “ขาดความสามารถ”

ทัศนคติดังกล่าวมาจากความมุ่งมั่นของฟินแลนด์ที่จะรักษานักเรียน “ทุกคน” เอาไว้ภายใต้ระบบโรงเรียนเดียวกัน

ฟินแลนด์ไม่ได้เรียกร้องให้เด็กๆ เป็นฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหาโรงเรียน ทว่าโรงเรียนและครูจะเป็นผู้โอบรับและปรับกลวิธีการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความแตกต่างของเด็กๆ เหล่านั้น นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังให้ความสนใจแก่สังคมพหุวัฒนธรรม เมื่อใดก็ตามที่มีนักเรียนอย่างน้อยสามคนพูดภาษาแม่เดียวกัน โรงเรียนจะพยายามออกแบบรายวิชาเฉพาะสำหรับพวกเขา และเมื่อใดก็ตามที่มีนักเรียนผู้โอบอุ้มวัฒนธรรมหรือนับถือศาสนาที่แตกต่างภายในชั้นเรียน โรงเรียนจะจัดการเรียนรู้วัฒนธรรมหรือศาสนาดังกล่าวในโรงเรียนอยู่เสมอ

นักเรียนแต่ละคนล้วนเป็นปัจเจกบุคคลที่แตกต่างและหลากหลาย เด็กแต่ละคนย่อมมีวิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน และการสอนแบบ “เหมาโหล” ย่อมไม่สามารถพานักเรียนทุกคนไปสู่ความสำเร็จทางการศึกษาได้

แคนาดาเองก็เป็นประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติมากเช่นกัน รัฐแอลเบอร์ตาและออนแทรีโอมีประชากรที่เป็นชาวพื้นเมือง หรือกลุ่ม FNMI (First Nations, Métis, and Inuit Initiatives) จำนวนมาก รัฐบาลแห่งรัฐแอลเบอร์ตาและออนแทรีโอจึงได้ยกระดับการจัดการเรียนรู้แก่ชาวพื้นเมือง เพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ตลอดจนเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมของชาวพื้นเมือง โดยการผลิตครูผ่านหลักสูตรครูชาวพื้นเมืองราว 1-2 กลุ่มต่อปี

สาระสำคัญของหลักสูตรเหล่านี้คือฝึกฝนให้ครูผู้เป็นสมาชิกของชุมชนชาวพื้นเมืองคงอยู่ในชุมชนนั้นๆ และหาหนทางที่จะประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนในชุมชน หลักสูตรเหล่านี้มักจะครอบคลุมวิชาภาษาพื้นเมือง บริบทการจัดการเรียนรู้ในชุมชนชาวพื้นเมือง และวัฒนธรรมของชาวพื้นเมือง

ด้วยความตระหนักในความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในเชิงพื้นเพทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของเด็กๆ และในเชิงกระบวนการเรียนรู้และความเป็นปัจเจกบุคคล ระบบการศึกษาเหล่านี้จึงตระหนักว่าการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการหนึ่ง แบบทดสอบรูปแบบหนึ่ง ย่อมตอบสนองต่อนักเรียนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และละทิ้งนักเรียนกลุ่มที่เหลือไป

การศึกษาในลักษณะดังกล่าวย่อมไม่ใช่ “ความเสมอภาค” อย่างแน่นอน

ทว่า แทนที่พวกเขาจะแปะป้ายและตีตราว่าเด็กเหล่านั้นไร้ความสามารถ หรือคาดหวังให้เด็กๆ เหล่านั้นเป็นฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหารูปแบบการจัดการเรียนรู้ พวกเขากลับเห็นว่าระบบการศึกษาต่างหากที่มีหน้าที่ต้องปรับและเปลี่ยนเพื่อรองรับความแตกต่างหลากหลายของเด็กแต่ละคน

ระบบการศึกษาเหล่านี้จึงตระหนักว่าการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการหนึ่ง แบบทดสอบรูปแบบหนึ่ง ย่อมตอบสนองต่อนักเรียนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และละทิ้งนักเรียนกลุ่มที่เหลือไป

ด้วยวัตถุประสงค์ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น นั่นคือ เพื่อไม่ให้นักเรียนคนใดหลุดจากระบบการศึกษา เพราะความสำเร็จทางการศึกษาควรเป็นของเด็กๆ ทุกคน

แน่นอนว่าหนทางไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาที่ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในบทความนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบ ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน และสิงคโปร์ ยังคงต้องปรับ ต่อยอด และพัฒนากลวิธีต่างๆ อีกมาก เพื่อให้ไปถึงจุดที่ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ทว่าเป้าหมายของพวกเขากระจ่างและชัดแจ้ง และความชัดเจนนั้นก็เป็นเครื่องหมายบอกทางที่พวกเขาจะมุ่งหน้าต่อไป

“ความสำเร็จทางการศึกษาควรเป็นของเด็กๆ ทุกคน”

และคำว่าเด็กทุกคน หมายถึง “เด็กทุกคน” อย่างแท้จริง

 

ร่วมเรียนรู้นโยบายจากระบบการศึกษาชั้นนำ และถอดกลยุทธ์ “ปั้นครู” ผู้เป็นกำลังสำคัญของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ที่หนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Empowered Educators: How High-Performing Systems
Shape Teaching Quality Around the World

Linda Darling-Hammond เขียน
ชลิดา หนูหล้า แปล