อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’
(ตอนที่ 7)
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสมควรให้คุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยรับทราบ จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย สุภลัคน์ ลวดลาย วรัญญู กองชัยมงคล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562 โดยแปลจากหนังสือ Child Psychology: A Very Short Introduction เขียนโดย Usha Goswami เนื่องด้วยผมอ่านแล้วเสียดายแทนท่านที่มิได้อ่าน อีกทั้งเดาว่าหากมิใช่นักวิชาการด้านเด็กแล้วก็อาจจะไม่อยากอ่าน[/su_note]
บทที่ 7 ทฤษฎีและประสาทชีววิทยาของพัฒนาการ
หนังสือเล่มนี้พูดถึงงานพัฒนาการเด็กตามทฤษฎีของเพียเจต์และไวกอตสกีในฐานะทฤษฎีที่ยังมีอิทธิพลสูง แม้ว่าจะถูกท้าทายด้วยงานวิจัยด้านประสาทชีววิทยาสมัยใหม่
เช่น ข้อสังเกตอันมีชื่อเสียงของเพียเจต์ที่ว่า ทารกก่อน 10 เดือนยังไม่สามารถรับรู้ว่าวัตถุที่หายไปแท้จริงยังดำรงอยู่ แต่งานวิจัยด้านคลื่นสมองไฟฟ้าพบการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมองเมื่อทารกเห็นว่าวัตถุหายไปจากตำแหน่งที่ควรจะมี
หนังสือเล่างานของเพียเจต์อย่างง่ายๆ ว่า ทารกเกิดมาพร้อม “โครงสร้างทางปัญญา” ที่จำกัด แต่มีประสาทสัมผัสและพัฒนาการของกล้ามเนื้อ เช่น การดูด จับ (และปา) ทารกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาเพื่อรองรับสิ่งที่พบเห็น และเมื่อโครงสร้างทางปัญญาใหม่พบประสบการณ์ที่ไม่เข้ากันกับโครงสร้างเดิม ทารกก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาต่อไปอีก นี่คือพัฒนาการในช่วง 18 เดือนแรกที่เพียเจต์เรียกว่า ขั้นเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ (sensory-motor period)
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ขั้นถัดมา นั่นคือ ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (pre–operational period) อายุ 2-7 ปี เด็กช่วงวัยนี้เริ่มมีภาพในใจและใช้สัญลักษณ์ เพียเจต์บรรยายถึงปรากฏการณ์สำคัญๆ ได้แก่ การเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะนำไปสู่ลักษณะวิธีคิดของเด็กเล็กก่อนวัยเรียนหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ egocentrism ,centration, reversibility ,conservation, transitivity ,seriation และ class inclusion
สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับคำศัพท์จำนวนมากเหล่านี้ให้ทำความเข้าใจรูปประกอบในหน้า 195 ซึ่งคำบรรยายใต้ภาพตามต้นฉบับออกจะสั้นไปเล็กน้อย
คราวนี้ลองอธิบายใหม่
ขั้นแรก ดูรูปบน เด็กเล็กจะบอกว่าจำนวนแถวบนและแถวล่างเท่ากัน (แม้จะยังนับเลขไม่ได้) แต่เพราะเด็กยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและมุ่งสนใจสิ่งหนึ่งโดยละเลยสิ่งอื่น (centration) เมื่อเรายืดหมากแถวล่างให้ห่างออกจากกันทำให้แถวยาวกว่า เด็กเล็กจะตอบว่าแถวล่างมีจำนวนหมากมากกว่า
ขั้นที่สอง ดูรูปแถวกลาง เด็กเล็กจะบอกว่าน้ำในภาชนะสองใบด้านซ้ายมีปริมาตรเท่ากัน ครั้นเราเทน้ำจากภาชนะใบหนึ่งลงในภาชนะทรงสูง เด็กจะบอกว่าน้ำในภาชนะทรงสูงมีปริมาตรมากกว่า เด็กตอบเช่นนี้เพราะขาดความสามารถที่จะอนุรักษ์ความไม่แปรเปลี่ยนเอาไว้ (conservation)
ขั้นที่สาม ดูรูปแถวล่าง เด็กเล็กจะบอกว่าลูกบอลดินเหนียวสองลูกมีขนาดเท่ากัน ถ้าเราทำให้ลูกบอลลูกหนึ่งแบนลง เด็กจะบอกว่าลูกบอลที่แบนลงมีขนาดเล็กกว่า จะเห็นว่าเด็กไม่สามารถอนุรักษ์ปริมาณดินเหนียวเดิมเอาไว้ได้ สนใจมิติด้านความสูงแต่ละเลยมิติด้านเส้นผ่าศูนย์กลาง และขาดความสามารถในการคิดย้อนกลับ (reversibility)
ความสามารถพื้นฐานเหล่านี้ทำงานประสานกันตลอดเวลา เด็กจึงพัฒนาตนเองด้วยการทำงานทีละอย่าง เพื่อปรับโครงสร้างทางปัญญาให้เข้ากับข้อสังเกตใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยสมัยใหม่ได้แสดงให้เห็นว่า เด็กจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถด้านการบริหารจัดการหรือ EF และอภิปัญญาหรือ meta-cognition เพื่อให้สามารถควบคุมตนเอง ยับยั้งความคิดหนึ่งเพื่อแปรเปลี่ยนไปสู่อีกความคิดหนึ่ง และสลับความคิดไปมาได้โดยไม่สูญเสียเป้าหมาย อีกทั้งเด็กต้องสามารถใคร่ครวญตนเองด้วยการสลับปรับเปลี่ยนมุมมองอย่างหลากหลาย พัฒนาการทั้งสองประการนี้เริ่มต้นในช่วงประมาณ 3-4 ขวบด้วยเช่นกัน
“ในขั้นก่อนปฏิบัติการคิด แนวโน้มที่จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง มุ่งสนใจเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่งและละเลยสิ่งอื่น และขาดความสามารถในการคิดย้อนกลับ จะทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลในโครงสร้างทางปัญญาของเด็ก”
นั่นทำให้เด็กต้องพัฒนาจากระดับปฏิบัติการคิดไปสู่ปฏิบัติการคิดเชิงรูปธรรมต่อไป
ขั้นปฏิบัติการคิดเชิงรูปธรรม (concrete operation) อายุ 7-11 ปี เด็กจะเข้าใจเรื่องจำนวนและปริมาณดีขึ้น พูดง่ายๆ ว่าเด็กมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และสามารถเข้าใจระบบตรรกะได้แล้ว โครงสร้างทางปัญญาปรับตัวเองเข้าสู่โลกแห่งตรรกะซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับสมการทางคณิตศาสตร์ ด้วยความสามารถที่เรียกว่าการถ่ายทอด (transitivity) ซึ่งแท้จริงแล้วเริ่มมีมาตั้งแต่ก่อน 7 ขวบ เพราะเหตุนี้งานวิจัยระยะหลังจึงชี้ให้เห็นว่า ที่จริงแล้วปฏิบัติการคิดเชิงรูปธรรมอาจจะมาเร็วกว่าที่เพียเจต์คาดการณ์ไว้
ขั้นปฏิบัติการคิดเชิงนามธรรม (abstract operation) อายุ 11 ปีขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ เด็กวัยรุ่นตอนต้นสามารถเชื่อมโยงปฏิบัติการคิดเชิงรูปธรรมหลายๆ กระบวนการเข้าด้วยกัน ในที่นี้คำสำคัญคือคำว่า “เชื่อมโยง” จากนั้นเด็กต้องปรับโครงสร้างทางปัญญาไปสู่ระดับที่สูงขึ้นอีก หากใช้คำศัพท์สมัยใหม่ก็คือการสร้างอัลกอริธึมอันซับซ้อนเพื่อรองรับตรรกะของการคิด (ในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์จะเขียนอัลกอริธึมให้ตัวเองเพื่อยกระดับตัวเอง)
ในขณะที่เพียเจต์เน้นว่าเด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง ไวกอตสกีกลับเน้นว่าเด็กเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่มีต่อสังคม วัฒนธรรม การใช้สัญลักษณ์ และภาษา
ระบบสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดคือภาษา อันนำไปสู่การที่เด็กสามารถพูดในใจและคิดในใจ ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาที่สำคัญ
ไวกอตสกีเขียนเรื่อง พื้นที่ของขอบเขตพัฒนาการ (zone of proximal development, ZPD) อันหมายถึงช่วงชั้นของพัฒนาการของเด็กคนหนึ่งซึ่งหากได้รับความช่วยเหลือก็จะพัฒนาต่อไป โครงสร้างนี้ได้มาจากความพยายามของไวกอตสกีที่จะช่วยเหลือเด็กพิเศษ ก่อนจะพบว่าเด็กพิเศษรวมทั้งเด็กคนอื่นๆ ที่เรียนรู้ช้าล้วนมีพื้นที่ของขอบเขตพัฒนาการส่วนตน ซึ่งหากมีคนช่วยเหลือก็จะไปต่อได้
ไวกอตสกีให้ความสำคัญกับการเล่นของเด็กมาก ด้วยเห็นว่าการเล่นเป็นพื้นที่ของขอบเขตพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กๆ อยู่แล้ว
“ระหว่างที่เด็กเล่น พวกเขาจะอยู่ในพื้นที่ของขอบเขตพัฒนาการเสมอ ดังนั้นเท่ากับว่าเด็กจะพัฒนาความคิดเชิงนามธรรมไปด้วยระหว่างเล่น”
ประเด็นต่อมาคือเรื่องทฤษฎีการสร้างความรู้ในเชิงประสาทวิทยา (Neuroconstructivism)
แม้ว่างานวิจัยด้านประสาทวิทยาและพันธุกรรมจะก้าวหน้าไปมาก และเป็นที่ยอมรับว่าสมองที่ดีแต่กำเนิดหรือยีนที่ดีแต่กำเนิดมีผลต่อพัฒนาการ แต่เรื่องที่ประชาชนทั่วไปควรตระหนักมี 2 ข้อ
- ยีนมิใช่ปัจจัยชี้ขาด ต่อให้เรารู้ว่ายีนหนึ่งๆ กำหนดสีของตา แต่ยีนนั้นก็มิได้ทำงานโดดเดี่ยว ยีนทำงานโดยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเสมอ นอกจากนี้ยีนยังมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเสมอด้วย อัจฉริยะทางดนตรีที่มาเกิดผิดที่ย่อมไม่สามารถเป็นอัจฉริยะทางดนตรีได้
- ความรู้เรื่องยีนนี้เองยิ่งทำให้เราควรใส่ใจเรื่องการจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับเด็กทุกคน เพื่อเปิดโอกาสให้ยีนของเด็กทำหน้าที่ได้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ ด้วยวิธีนี้เด็กที่มียีนบกพร่องด้านการอ่านก็อาจจะไม่แสดงออกมากมายเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เพราะเราได้จัดสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเหลือด้านการอ่านให้แก่เด็กทุกคนโดยเสมอภาคกัน
ยีน DRD4 (dopamine receptor D4 gene) เป็นยีนที่รับผิดชอบ executive function โดปามีนเป็นสารสื่อประสาทที่รับผิดชอบระบบการให้รางวัลและการทำโทษ รวมทั้งความยืดหยุ่น งานวิจัยพบว่ามีการแปรผันจำเพาะ (specific variation) รูปแบบหนึ่งของยีน DRD4 ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กอย่างมาก เราเรียกว่ารูปแบบนี้ว่า 7-repeat allele
หากว่าเด็กมีลักษณะการแปรผันจำเพาะ 7-repeat allele นี้ จะทำให้โดปามีนตอบสนองต่อระบบการให้รางวัลและลงโทษลดลง ส่งผลให้การเรียนรู้ปั่นป่วน งานวิจัยพบว่าการเลี้ยงดูที่ไม่ดีในช่วง 10 เดือนส่งผลต่อพฤติกรรมต่อต้านสังคมเมื่ออายุ 39 เดือน การเลี้ยงดูในทางลบอย่างการดุด่าและใช้ความรุนแรงจะส่งผลให้เด็กที่มีการแปรผันจำเพาะของยีนรูปแบบนี้มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมมากกว่าคนทั่วไปและควบคุมตนเองได้ต่ำกว่าเด็กทั่วไป ในขณะที่เด็กที่ไม่มี 7-repeat allele ยับยั้งชั่งใจได้ดีกว่า จะเห็นว่ายีนมีอิทธิพลอย่างแท้จริง
ไม่ว่าเด็กมียีนแบบไหนก็ตาม ประเด็นการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับเด็กถือเป็นเรื่องจำเป็น
งานวิจัยสมองสมัยใหม่ยังพบด้วยว่า โครงสร้างสมองของเด็กคล้ายคลึงกับโครงสร้างสมองของผู้ใหญ่ เช่น ศูนย์ควบคุมการได้ยินตั้งอยู่บริเวณเดียวกันและทำงานด้วยกลไกที่คล้ายคลึงกัน วิธีนี้ทำให้เรามีความหวังที่จะค้นหาเด็กที่อาจจะมีปัญหาการพูดได้รวดเร็วกว่าเดิมแล้วรีบแก้ไขแต่เนิ่นๆ
งานวิจัยด้านสมองส่วนมากเป็นการค้นหาสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร เช่น เรารู้แล้วว่าสมองส่วนหน้าสัมพันธ์กับ executive function อย่างแน่นอน แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งใดเกิดก่อนเกิดหลัง อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล โดยสมมติฐานคือ สมองส่วนหน้าและ executive function พัฒนาพร้อมกันเป็นวงจรที่เกื้อหนุนกันและกัน
สมองคนเรามิได้อ่านหนังสือเป็นตั้งแต่แรก มนุษย์โบราณไม่จำเป็นต้องอ่าน แต่สมองเด็กทุกวันนี้ต้องพัฒนาสมองส่วนต่างๆ เพื่ออ่าน ได้แก่ ส่วนที่ใช้ดูตัวอักษร ลากนิ้วไปตามตัวอักษร ฟังเสียงจากแม่ที่กำลังอ่าน และฝึกออกเสียงตามเสียงที่ได้ยิน เหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นการอ่าน งานวิจัยพบว่าการลากนิ้วไปตามตัวอักษรด้วยมือทำให้สมองส่วนการมองตัวอักษรพัฒนาและสามารถลากสายตาไปตามตัวอักษรโดยไม่ต้องใช้นิ้ว จะเห็นว่าสมองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
หนังสือเล่มนี้ทิ้งท้ายว่า แม้สมองจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถึงอย่างไรสมองก็ประกอบด้วยเซลล์มากถึง 86,000 ล้านเซลล์ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือปัจจัยด้านจิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม
การจัดสภาพแวดล้อมที่บ้าน สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน และสังคมที่เป็นมิตร ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดโดยไม่ต้องคำนึงว่าสมองของเด็กเป็นอย่างไร เพราะสมองจะปรับตัวได้เสมอ
______________________
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5.1)
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5.2)