อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’
(ตอนที่ 6.1)
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
บทที่ 6 การเรียนรู้ของสมอง ตอนที่ 1
แล้วเราก็มาถึงบทที่สำคัญที่สุด และเป็นเรื่องที่เราอยากให้เด็กไทยมีมากที่สุด
สมองของเด็กปัจจุบันเริ่มต้นด้วยการอ่าน เขียน และคำนวณเป็นพื้นฐาน ก่อนจะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนคิดวิเคราะห์ นี่คือโครงร่างอย่างง่ายๆ แต่ปัญหาของบ้านเราคือ เราทำลายโครงร่างอย่างง่ายๆ นี้ด้วยระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ได้อย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้วันนี้คือเด็กไทยอ่านไม่ออก อ่านจับใจความไม่ได้ เขียนไม่ได้ เขียนไม่รู้เรื่อง ไปจนถึงคิดเชิงตรรกะไม่ได้และคิดวิเคราะห์ไม่เป็น
การคิดวิเคราะห์เริ่มจากวิธีคิดแบบ deduction ในบทที่แล้ว “แมวทุกตัวเห่า เร็กซ์เป็นแมว เร็กซ์เห่าไหม” คำตอบคือใช่ นี่เป็นการอ้างเหตุผลเชิงตรรกะที่เด็ก 4 ขวบเรียนรู้และยอมรับได้ก่อนที่จะเผชิญความจริงที่ค้านกับเหตุผล นั่นคือแมวไม่เห่า
บทที่ 6 นี้ยกอีกหนึ่งตัวอย่างมาพิจารณา หมีทุกตัวในดินแดนไกลโพ้นตอนเหนือที่มีหิมะตกมีสีขาว หมู่เกาะโนวายาเซมล์ยาเป็นดินแดนไกลโพ้นตอนเหนือที่มีหิมะตก ขนหมีที่นั่นจะมีสีอะไร?
หากถามชาวนา เขาจะไม่ตอบและให้ไปถามคนที่นั่น แต่ถ้าถามเด็กที่ได้เรียนตรรกะ เขาจะใช้เหตุผลเชิงตรรกะควบคู่กับประสบการณ์ตรง ด้วยวิธีนี้เขาจะขยายโลกทัศน์ออกไปได้โดยไร้ขอบเขต (นั่นคือไม่ต้องเดินทางไปถามคนที่นั่นก็หาคำตอบได้)
[โนวายาเซมล์ยา (Novaya Zemlya) อยู่ทางตอนเหนือของรัสเซีย และเคยเป็นเขตทดลองนิวเคลียร์]
หมีขาวที่โนวายาเซมล์ยา
ที่มา: https://siberiantimes.com
“การศึกษาช่วยให้เด็กกลายเป็น ‘ผู้เรียนที่รู้จักขบคิดใคร่ครวญ’ เพราะทักษะทาง ‘อภิปัญญา’ (การตระหนักรู้ถึงปัญญาความรู้ของตนเอง) จะพัฒนาขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงที่เด็กศึกษาเล่าเรียน” และ “การศึกษาเล่าเรียนช่วยให้เด็กโตเรียนรู้วิธีเอาชนะอคติหรือความลำเอียงที่อาจขัดขวางการใช้เหตุผล เช่น ความลำเอียงโดยยืนยันเหตุผลเข้าข้างตนเอง (confirmation bias)”
ยกตัวอย่างเช่น การอ่านหนังสือ Animal Farm ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ควรประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือการตระหนักรู้ถึงปัญญาความรู้ของตนเอง และขั้นตอนที่สองคือเอาชนะความลำเอียงโดยยืนยันเหตุผลเข้าข้างตนเอง เป็นต้น
พูดง่ายๆ ว่าเราอยากให้เด็กไทยรู้ว่าตนเองไม่รู้อะไร และจะเอาชนะความไม่รู้นั้นได้อย่างไร มากกว่าที่จะรู้มากๆ อย่างที่การศึกษาไทยทำอยู่
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือการพัฒนาความจำใช้งานและทักษะสมองด้านการบริหารจัดการ หรือ Executive Function (EF) ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถยับยั้งความคิด อารมณ์ และการกระทำได้
เด็กที่ทบทวนตนเองได้ดีกว่าจะมีอภิปัญญาสูงกว่า สามารถ “ใคร่ครวญ” ทักษะประมวลผลของตนเอง สามารถตรวจสอบ “ประสิทธิภาพของการทำงาน” ของสติปัญญาตนเอง และสามารถ “ตระหนักรู้” ถึงสมรรถนะของสติปัญญาตนเอง ขอให้ใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (เครื่องหมายคำพูด) ให้ถูกตำแหน่ง จะเห็นว่าจุดสำคัญมิได้อยู่ที่ทักษะประมวลผลหรือสติปัญญา แต่เป็นสิ่งที่เหนือกว่านั้น (อภิ- หรือ epi-)
หนังสือได้ยกตัวอย่างงานทดลองการท่องจำระหว่างเด็กเล็กกับเด็กโต พบว่าเด็กโตพัฒนากลไกท่องจำได้ดีกว่า จากนั้นจึงทดลองการเชื่อมโยงสัญลักษณ์ พบว่าเด็กโตเชื่อมโยงสัญลักษณ์ได้ดีกว่า ประเด็นคือเด็กโตควรมีอภิปัญญามากพอที่จะใคร่ครวญถึงกลไกที่เคยทำ นั่นคือการท่องจำ แล้วก้าวข้ามไปสู่กลไกที่สูงกว่า นั่นคือการเชื่อมโยงสัญลักษณ์ ทว่าปัญหาของบ้านเราคือ เด็กมักจะติดอยู่กับที่เดิม ไม่ก้าวข้ามต่อไป
แม้แต่เรื่องความจำ เด็กที่ใส่ใจส่วนที่อยู่เหนือกว่า (อภิ- หรือ epi-) ความจำ จะจดจำได้ดีกว่า โดยทดลองให้เด็กกลุ่มหนึ่งดูวิดีโอที่ฉายภาพวิธีจำรูปภาพชุดหนึ่ง พบว่าเด็กที่บรรยายวิธีจำได้ดีกว่าจะจดจำได้มากกว่า จากงานทดลองนี้นำไปสู่อีกสองคำที่ควรรู้คือ “ความยากง่ายในการเรียนรู้ (ease of learning) และความมั่นใจในสิ่งที่รู้ (feeling of knowing)” โดยทั่วไปความยากง่ายในการเรียนรู้ไม่สัมพันธ์กับอายุ กล่าวคือ เด็กโตบางคนไม่ได้พัฒนาความสามารถนี้ และโดยส่วนใหญ่คนเราประเมินจากความมั่นใจในสิ่งที่รู้มากกว่าความเป็นจริง
ยกตัวอย่างหนังสือสองเล่มของจอร์จ ออร์เวลล์ หนังสือเล่มแรกคือ Animal Farm นั้นอ่านง่ายและเข้าใจได้ง่ายกว่าหนังสือเล่มที่สอง นั่นคือ Nineteen Eighty-Four แต่สำหรับผู้ที่อภิปัญญาไม่สูงนักย่อมไม่สามารถใคร่ครวญสมรรถนะของสติปัญญาและความยากง่ายในการเรียนรู้ของตนเองว่าอ่านหนังสือทั้งสองเล่มรู้เรื่องมากเพียงใด
เรื่องต่อไปคือเรื่องทักษะสมองด้านการบริหารจัดการ แปลมาจากคำว่า Executive Function (EF) ซึ่งสัมพันธ์กับสติปัญญาทั่วไป ทักษะภาษา และความจำใช้งาน ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมยับยั้งความคิด นำไปสู่การควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำ
สิ่งที่ควรรู้คือ EF สามารถพัฒนาได้ แม้ในเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน
หนังสือกล่าวถึงเรื่อง “ความสามารถที่จะชะลอความต้องการเติมเต็มความพอใจ” หรือ delayed gratification โดยยกตัวอย่างการทดลองที่ห้ามไม่ให้เด็กหยิบขนมจนกว่าจะได้ยินเสียงกริ่ง และอีกประเด็นคือเรื่อง “การยับยั้งความคิด” หรือ inhibitory control โดยยกตัวอย่างการทดลองที่เรียกว่า Go-No Go task ซึ่งกำหนดให้เด็กพูดว่ากลางวันเมื่อเห็นดวงจันทร์และพูดว่ากลางคืนเมื่อเห็นดวงอาทิตย์ สมองจะบริหารจัดการโจทย์เหล่านี้ได้ด้วย EF ที่ดี กล่าวคือ ยับยั้งหนึ่ง พูดอีกหนึ่ง
อีกประเด็นคือเรื่องสิ่งเร้าหรือสิ่งยั่วยวน สมองเด็กจะบริหารจัดการได้ดีกว่าเมื่อจัดการสิ่งเร้าหรือสิ่งเย้ายวนที่มาก่อกวนสมาธิได้ดี เด็กสมาธิสั้นได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่มี EF Deficit แต่ถ้าเราเข้าใจและแยกแยะกลไก EF ได้ ก็น่าจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้มากขึ้น
“ทักษะภาษาที่อ่อนด้อยทำให้เด็กไม่อาจควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำผ่านการพูดคุยกับตัวเองในใจอย่างเต็มที่”
จะเห็นว่าเด็กที่พูดคนเดียวระหว่างเล่นคนเดียวหรือทำงานคนเดียว แท้จริงแล้วเขากำลังฝึกทักษะภาษา (private speech) หรือที่มากกว่านั้นคือเขากำลังบริหารความจำใช้งาน (working memory)
อีกเรื่องหนึ่งของ EF คือความยืดหยุ่นทางปัญญา (cognitive flexibility) ได้แก่ “ความสามารถคิดสลับไปมาระหว่างงานที่แตกต่างกัน และการพิจารณาหลากหลายมุมมองในเวลาเดียวกัน” จะเห็นว่าเด็กสมัยใหม่ในยุคไอทีไม่สามารถทำงานชิ้นเดียวตรงหน้าอย่างซื่อๆ พวกเขาจำเป็นต้องมีความสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (multi-task) และได้ผลลัพธ์ที่ดีทุกงานอีกด้วย เด็กไทยทำงานแบบนี้มิได้หากสมองไม่มี EF ที่ดีพอ เพราะการระดมยิงข้อมูลข่าวสารอย่างท่วมท้นในปัจจุบันเป็นภาระหนักของสมองมากเกินกว่าที่การท่องจำอย่างซื่อๆ และตอบข้อสอบปรนัยอย่างง่ายๆ จะรับมือได้อีกต่อไป
แม้เราจะพูดถึงเฉพาะ EF แต่ขณะเดียวกัน EF ก็สัมพันธ์กับ Ego อย่างใกล้ชิด EF ที่ดีช่วยให้เด็กมีความสามารถล่วงรู้จิตใจตนเองไปจนถึงล่วงรู้จิตใจผู้อื่น โดยพบว่าเด็กหญิงพัฒนาเร็วกว่าเด็กชาย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเด็กหญิงมักพัฒนาทักษะภาษาได้เร็วกว่าเด็กชายนั่นเอง
______________________
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)