อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5.1)

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’

(ตอนที่ 5.1)

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสมควรให้คุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยรับทราบ จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย สุภลัคน์ ลวดลาย วรัญญู กองชัยมงคล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562 โดยแปลจากหนังสือ Child Psychology: A Very Short Introduction เขียนโดย Usha Goswami เนื่องด้วยผมอ่านแล้วเสียดายแทนท่านที่มิได้อ่าน อีกทั้งเดาว่าหากมิใช่นักวิชาการด้านเด็กแล้วก็อาจจะไม่อยากอ่าน[/su_note]

 

บทที่ 5 การเรียนและความจำ การอ่านและจำนวน ตอนที่ 1

 

ช่วงแรกของบทนี้พูดเรื่องความจำ ความจำมีหลายชนิด ได้แก่

  • การจำความหมาย (semantic memory) หรือความรู้ทั่วไปของโลกบนพื้นฐานข้อเท็จจริง
  • การจำเหตุการณ์ (episodic memory) คือความสามารถที่จะระลึกเหตุการณ์ในชีวิตของตนเองในอดีต

โรงเรียนทั่วไปมักจะจัดบทเรียนให้เด็กได้พัฒนาความจำสองแบบแรกนี้ แต่ที่จริงแล้วยังมีความจำอีกสองแบบที่สำคัญ ได้แก่ ความจำโดยปริยาย (implicit memory) และความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) หนังสืออธิบายสองเรื่องหลังนี้ไว้อย่างรวบรัด และอาจเข้าใจยากสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย

ผมขออธิบายใหม่ดังนี้

ความจำโดยปริยาย หรือ implicit memory เป็นความจำในระดับจิตก่อนสำนึก (subconscious) นั่นแปลว่าพร้อมจะผุดขึ้นมาได้ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ จัดเป็นส่วนหนึ่งของความจำระยะยาว (long-term memory)

และเพราะเป็นความจำระยะยาวนี่เองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก นี่มิใช่ความจำชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว แต่เป็นความจำที่อยู่กับเด็กและเราต่อไปอีกนาน

ยิ่งไปกว่านั้น นี่มิใช่ความจำที่ถูกขังลืม มิได้อยู่ในจิตใต้สำนึก (unconscious) อันลึกสุดคณาจนเจ้าตัวยังไม่รู้ว่ามี แต่มันอยู่แค่ใต้ผืนน้ำเท่านั้น

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ให้เปรียบเทียบกับคำว่า explicit memory หรือความจำชัดแจ้ง เช่น บทอาขยานที่เราท่องได้ทุกตัวอักษรโดยไม่ผิด เด็กเอ๋ยเด็กน้อย ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา ความแข็งแกร่งของความจำชัดแจ้งนี้อาจจะมีมากถึงระดับที่เราพยายามจะลบอย่างไรก็ลบมิได้ หนำซ้ำยังส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างนึกไม่ถึงเช่นกัน เช่น ความรู้ผิดๆ ทั้งปวงในวิชาประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้น

หากเราพิจารณาภาษาจัดการความรู้ (knowledge management) จะพบคำว่า explicit knowledge ซึ่งใช้เรียกความรู้ที่ตั้งมั่น เป็นความรู้ที่ถูกสถาปนาเอาไว้แล้ว (established knowledge) กับคำตรงข้ามที่นักจัดการความรู้พูดบ่อยคือ tacit knowledge ใช้เรียกความรู้แฝงในตัวคนที่เกิดจากประสบการณ์ตรง ความรู้แฝงนี้เองที่อยู่คู่กายคนทำงาน เช่นเดียวกับความจำเชิงปริยายที่อยู่คู่ใจคนทุกคน

หนังสือเขียนถึงอีกคำหนึ่งคือ ความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) ความจำเชิงกระบวนวิธีเป็นส่วนย่อยของความจำโดยปริยาย ได้แก่ ความจำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในกระบวนการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การผูกเชือกรองเท้า

เด็กผูกเชือกรองเท้าได้ด้วยความจำเชิงกระบวนวิธี แน่นอนว่าเขาได้รับการสอนและฝึกในวันแรกๆ ของชีวิต แต่เขาจะทำได้เองในภายหลังโดยไม่ต้องคิด เพราะมันเป็นความจำเชิงปริยายและความจำเชิงกระบวนวิธี

อีกตัวอย่างหนึ่ง คนเราขับรถได้โดยไม่ต้องคิด มีบางครั้งที่เราเหม่อขับรถไปได้จนถึงปลายทางโดยมิได้ใส่ใจเรื่องราวระหว่างทางเลย เมื่อถึงปลายทาง เรานึกไม่ออกด้วยซ้ำไปว่าเมื่อสักครู่เราผ่านสี่แยกไฟแดงที่ผ่านทุกเช้าทุกเย็นหรือเปล่า ผ่านตอนไหน ผ่านมาได้อย่างไร มีใครข้ามถนนบ้าง ไฟแดงนานเท่าไร เป็นต้น เราไม่ต้องคิดถึงวิธีขับรถ แตะเบรก หรือหมุนพวงมาลัย เราทำทั้งหมดด้วยความจำเชิงปริยายและความจำเชิงกระบวนวิธี

หนังสือโยงเรื่องนี้มาถึงเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับงานพัฒนาการเด็ก นั่นคือเรื่องของ “ตัวบท”

เด็กพัฒนาตนเองโดยใช้ตัวบทเป็นเครื่องมือ สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งกว่าคือ เรารู้ว่าเด็กพัฒนาความจำด้วยการใช้ตัวบทเป็นเครื่องมืออีกด้วย และความจำที่เด็กพัฒนาขึ้นมานี้เรียกว่า ความจำใช้งาน (working memory)

เราพัฒนาเด็กเล็กหรือแม้กระทั่งทารกด้วยตัวบท ตำราบางเล่มใช้คำว่าจังหวะ (rhythm) กล่าวคือเราฝึกเด็กให้รู้จักเวลาดูดนมและเวลานอนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ด้วยวิธีนี้เด็กจะเรียนรู้ตัวบท (หรือจังหวะ) โดยที่ยังไม่มีความคิดคำนึงเรื่องเวลาแม้แต่น้อย

เราทำเรื่องการดูดนมและการนอนให้เป็น “กิจวัตร” เด็กจะทำได้เองเมื่อถึงเวลา โดยไม่ต้องบังคับนอนหรือบังคับดูดแต่อย่างใด

หลังจากทารกได้ตัวบทแรก เมื่อเวลาผ่านไป เขาจะเริ่มจดจำกิจวัตรใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาง่ายขึ้น วันหนึ่งเขารู้เวลากิน เวลาดูดนม เวลาอ่านนิทานก่อนนอน และเวลานอน แล้วตัวบทชุดที่สองก็ตั้งมั่น

เมื่อทารกได้ตัวบทชุดที่สอง หลังจากเวลาผ่านไปอีก เขาจะเริ่มจดจำกิจวัตรใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แล้ววันหนึ่งเขาก็จะรู้เวลาที่ควรเก็บจานไปล้าง แปรงฟัน อาบน้ำ แล้วไปอ่านหนังสือ ในตอนเช้าของวันจันทร์ถึงศุกร์ ยกเว้นเสาร์อาทิตย์ เขารู้เวลาตื่นนอน เก็บที่นอน แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว เขารู้วิธีใส่เสื้อ กลัดกระดุม ใส่กางเกง กลัดตะขอ คาดเข็มขัด ใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้า พร้อมไปโรงเรียน บัดนี้ความจำเชิงปริยายและความจำเชิงกระบวนวิธีสอดประสานเป็นหนึ่งเดียว เขาทำทุกอย่างนี้ได้โดยอัตโนมัติ

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เขาจำเป็นต้องผ่านการจดจำตัวบทแรก แล้วเขาจะจดจำตัวบทที่สองได้ง่าย และเมื่อจดจำตัวบทที่สองได้ง่าย เขาจะจดจำตัวบทที่สามได้ง่ายยิ่งขึ้น และง่ายยิ่งขึ้นทุกขณะเมื่อเวลาผ่านไป

เห็นหรือยังว่าช่วงเวลา 3 ขวบปีแรกของเด็ก สิ่งที่เราควรทำและต้องทำคือการบริหารความจำโดยปริยายและความจำใช้งาน ไม่ใช่การจำความหมายและการจำเหตุการณ์ อันนี้เขาเรียกว่าท่องหนังสือสอบ

แต่ความจำโดยปริยายมีข้อควรระวังด้วย เป็นเรื่องที่งานจิตวิทยาสับสนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เหตุเพราะความจำโดยปริยายเป็นจิตก่อนสำนึก ซึ่งก็เป็นส่วนย่อยของจิตใต้สำนึกอยู่ดี ดังนั้นเราอาจเผลอเติมความจำนี้ได้โดยไม่ทันระวัง และอาจเติมผิดๆ ด้วย ในทำนองเดียวกัน เด็กก็สามารถเติมมันได้และเติมผิดๆได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างคำให้การของเด็กเล็กต่อตำรวจหรือครู เราต้องพึงระวังให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กถูกบีบคั้น ตัวอย่างเช่น คำให้การไปคนละทางของเด็กสองคนในตอนต้นของซีรีส์ Big Little Lies

 

photo: courtesy of HBO

 

ในทำนองเดียวกัน เมื่อผู้ป่วยเล่าเรื่องราวสมัยเป็นเด็กเล็กให้แก่จิตแพทย์ เราพึงระวังเช่นกัน ด้วยความจำเหล่านี้อาจผิดเพี้ยนได้

ความจำโดยปริยายเป็นความจำที่ไม่เสถียร สามารถแต่งเติมได้ทั้งที่เจตนาหรือไม่เจตนา เรื่องที่พึงระวังมากยิ่งขึ้นคือ บางครั้งเด็กแต่งเติมในครั้งแรก แล้วฝังลงไปเป็นความจำระยะยาวที่ตนเองคิดว่าถูกต้องตลอดไป

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยหลายชิ้นทั้งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้และในที่อื่นๆ ซึ่งพบว่าเด็กสามารถจดจำเหตุการณ์สะเทือนขวัญได้ดีกว่าเหตุการณ์ปกติ

เราจะเสริมสร้างความจำของเด็กได้อย่างไร หนังสือได้ยกตัวอย่างเรื่องแม่พาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์ หากเราไม่ทบทวนความจำหลังเที่ยวเลย ความจำจะหายไปเร็ว หรือหากทบทวนเพียงหัวข้อ เช่น วันนี้เห็นตัวอะไรบ้าง ความจำจะยังคงเลือนหายได้ แต่ถ้าเราทบทวนในรายละเอียด เช่น วันนี้เราพบสิงโต สิงโตอยู่ในกรงตัวใหญ่มากเลย แผงคอสะท้อนแสงสีทอง มันตะปบลูกชายจอมซนของมันด้วยนะ เช่นนี้เราพบว่าเด็กจะจดจำได้นานกว่า เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เด็กกลุ่มนี้จำเหตุการณ์วันเที่ยวสวนสัตว์ได้ดีกว่า

เวลาโรงเรียนสมัยใหม่พาเด็กออกนอกสถานที่ ไปสวนสัตว์ ป่าเขา ลำธาร หรือพิพิธภัณฑ์ เมื่อกลับมา โรงเรียนมิได้สั่งให้เด็กเขียนรายงาน แต่ให้นั่งเป็นกลุ่มพูดคุยกันถึงกิจกรรมที่ผ่านมา เด็กมิได้มีความจำชัดแจ้ง แต่เด็กได้ความจำโดยปริยาย ซึ่งไม่แข็งกระด้างและพร้อมพัฒนาอย่างมีเสรีภาพและความยืดหยุ่นต่อไป ทั้งยังส่งผลดีต่อชีวิตมากกว่าอย่างมหาศาล

งานวิจัยยังพบอีกว่า ภาษาเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาความจำโดยปริยาย ดังนั้นการเขียนจึงเป็นกลวิธีที่ดี

เมื่อเด็กๆ ได้เขียนถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยความสุข (มิใช่เขียนรายงานด้วยความทุกข์) พัฒนาการของความจำโดยรวมก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก

แล้วคุณให้ลูก “เขียน” บ้างหรือยัง

 

______________________

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)