อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’

(ตอนที่ 1)


นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสมควรให้คุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยรับทราบ จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย สุภลัคน์ ลวดลาย วรัญญู กองชัยมงคล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562 โดยแปลจากหนังสือ Child Psychology: A Very Short Introduction เขียนโดย Usha Goswami  เนื่องด้วยผมอ่านแล้วเสียดายแทนท่านที่มิได้อ่าน อีกทั้งเดาว่าหากมิใช่นักวิชาการด้านเด็กแล้วก็อาจจะไม่อยากอ่าน[/su_note]

 

บทที่ 1 ว่าด้วยทารกและสิ่งที่พวกเขารู้

ผมเขียนเสมอว่าขวบปีแรกสำคัญที่สุด พยายามไม่จากลูกไปไกลในขวบปีแรก ขวบปีแรกคือนาทีทองที่ทารกจะสร้างความไว้ใจโลกและแม่ ขวบปีแรกคือ trust หากขาดความไว้ใจนี้เสียแล้ว ทารกจะพัฒนาต่อไม่ได้

นอกจากนี้ผมยังเขียนเรื่องกระบวนการตัดแต่งสมอง หรือ pruning ที่จะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 9-12 ขวบ เด็กใช้ชีวิตอย่างไร ทำอะไรในช่วงนี้ ก็จะได้สมองอย่างนั้น

หนังสือเล่มนี้เขียนว่าประสบการณ์ที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าเครือข่ายของเซลล์ประสาทใดจะถูกทำลายและเครือข่ายใดที่ยังคงอยู่  สอดคล้องกับความรู้เรื่องการตัดแต่งสมองที่ยอมรับกันทั่วไปแล้ว โดยเริ่มกันตั้งแต่ขวบปีแรกเลยทีเดียว

ทารกแรกเกิดชอบมองใบหน้าที่ดวงตาจ้องมองมายังพวกเขาตรงๆ และไม่ชอบมองใบหน้าที่ดวงตาหันเหไปทางอื่น นอกจากนี้ทารกยังตอบสนองในทางลบต่อใบหน้าเฉยเมย”  ข้อความนี้คือที่ผมพยายามบอกกล่าวคุณแม่เสมอมาว่าที่ทารกจะขาดเสียไม่ได้ในสามเดือนแรกคือใบหน้าของท่าน

ใบหน้าของท่านทำให้คุณแม่มีอยู่จริง ในใบหน้ามีดวงตา ในดวงตามีดวงใจ อันเป็นของที่ทารกต้องใช้ในการสร้างสายสัมพันธ์ (attachment) ทารกควรได้ดูดวงตาของท่านมากกว่ามองหน้าจอที่ไม่มีดวงตา

นอกจากใบหน้าของแม่ยังมีเสียง เสียงของแม่ที่สูงต่ำขึ้นลงดังเสียงดนตรี เป็นภาษาแม่ที่เรียกว่า parentese ทารกเองเปล่งเสียงตอบสนองและเรียกร้องการตอบสนอง แต่ถ้าพบว่าท่านเฉยเมย ทารกจะเริ่มเปล่งเสียงให้หนักขึ้น หนังสือนี้เขียนต่อไปว่า

“งานวิจัยจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าระดับเสียงและแอมพลิจูด (ความดัง)ของเสียงทารกร้องไห้ได้พัฒนาขึ้นผ่านกระบวนการวิวัฒนาการเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ตอบสนองอย่างทันท่วงที เสียงร้องไห้ของทารกดูเหมือนจะออกแบบมาให้ผู้ที่ได้ยินรู้สึกตึงเครียดถึงที่สุด  มิน่าเล่าพวกเราถึงจะสติแตกกันให้ได้เมื่อทารกเริ่มไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเครื่องบิน

เด็กเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วว่าตนชอบใบหน้า  เสียง  และกลิ่นของผู้เลี้ยงดูหลักที่มอบปฏิสัมพันธ์อันอบอุ่นและต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ผมเขียนเรื่องสายสัมพันธ์บ่อยครั้ง ด้วยคาดหวังว่าสังคมไทยจะตื่นตัวและตระหนักว่าสำคัญ โดยมักใช้ฉากบรรยายที่อายุปลายขวบปีแรกเมื่อลูกเตาะแตะจากเราไป แต่หนังสือนี้ได้ลงรายละเอียดมากขึ้น โดยระบุว่าสายสัมพันธ์คือ

ความคาดหวังทางด้านจิตใจของเด็ก ซึ่งเกี่ยวโยงกับการสร้างคุณค่าของตนเองในฐานะบุคคลที่สมควรได้รับความรัก

หนังสือนี้แบ่งสายสัมพันธ์หรือความผูกพันออกเป็น 2 ประเภท คือความผูกพันแบบมั่นคง (secure attachment) ซึ่งจะได้จากการเลี้ยงดูที่ตอบสนองต่อความต้องการของทารกอย่างดี กับความผูกพันแบบไม่มั่นคง (insecure attachment) อันจะทำให้ทารกมีวิธีตอบโต้ 2 รูปแบบ ได้แก่

1. หลีกเลี่ยง 
ในงานศึกษาต่างๆเด็กที่พยายามหลีกเลี่ยงความผูกพันแบบไม่มั่นคง  จะค่อยๆยอมรับชะตากรรมของตนเอง พวกเขาพัฒนากลยุทธ์ในการป้องกันตนเอง เช่น ไม่เป็นฝ่ายเข้าหาเมื่อผู้เลี้ยงดูอยู่ใกล้ๆ ราวกับต้องการป้องกันตัวเองจากความผิดหวัง

2. ยึดติด 
มักจะทำตัวแบบลูกแหง่และไม่ยอมแยกจากผู้เลี้ยงดู ราวกับพยายามบังคับให้ผู้ใหญ่แสดงพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่เหมาะสม

งานวิจัยพบว่าทั้งสองรูปแบบเชื่อมโยงกับการมองเห็นคุณค่าในตนเองและการรู้จักควบคุมตนเอง ไปจนถึงผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการหรือปัญญาในอนาคต

แม้จะมิได้อ่านต้นฉบับ แต่เชื่อได้ว่าการมองเห็นคุณค่าในตนเองคือ self esteem และการรู้จักควบคุมตนเองคือ self control อันเป็นส่วนประกอบของ EF (Executive Function)

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่สามคือ ความผูกพันแบบไม่เป็นระเบียบ (disorganized attachment) เนื่องจากผู้เลี้ยงดูมีพฤติกรรมที่ยากจะคาดการณ์ได้ ทารกจึงไม่สามารถหาแนวทางจัดการพฤติกรรมของตนเพื่อให้อีกฝ่ายตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสมอันจะเชื่อมโยงไปสู่ภาวะซึมเศร้า ดื้อ ต่อต้าน เกเร และก้าวร้าว

พ่อแม่ที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้  ดุด่าว่าตีเป็นประจำควรใส่ใจความข้อที่สามนี้แล้วพยายามปรับปรุงตนเอง

หนังสือเล่มนี้ให้ความหวังและกำลังใจเช่นเดียวกับที่ผมพยายามบอกกล่าวเสมอมา นั่นคือพ่อแม่จะเป็นใครก็ได้ ผู้เลี้ยงคือพ่อแม่ตัวจริง หากเด็กขาดพ่อแม่เพราะเหตุผลใดก็ตาม ใครสักคนควรก้าวออกมาทำหน้าที่แม่

“ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย พ่อแม่อุปถัมภ์ หรือพวกพี่ๆ ของทารก ล้วนเป็นบ่อเกิดความผูกพันแบบมั่นคงได้ทั้งสิ้น”

ตอนท้ายของบทนี้ได้เล่าเรื่องงานวิจัยที่มีชื่อเสียงมากชิ้นหนึ่งคือ “หน้าผามายา” วิธีการคือให้ทารกคลานบนโต๊ะลายตาหมากรุกมาจนถึงแผ่นกระจกซึ่งพื้นด้านล่างมีลายตาหมากรุกรออยู่ ทารกจะหยุดและมองหน้าแม่ หากแม่มีสีหน้าหวาดกลัว ทารกจะหยุดคลาน นี่แสดงให้เห็นความสามารถของทารกในการล่วงรู้จิตใจของบุคคลที่มอบความผูกพันแบบมั่นคงให้แก่เขา โดยในหนังสือใช้คำว่า ความสนใจร่วมกัน

ที่มา: https://www.brainpickings.org/2012/02/29/visual-cliff-study/

 

บทที่ 1 นี้ปิดท้ายด้วยข้อความในหน้า 45-46  สรุปและยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าใครก็ล้วนสามารถก้าวออกมารับหน้าที่อันมีคุณค่ายิ่งใหญ่อย่างการเป็นแม่นี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นครู พี่เลี้ยง หรือเจ้าหน้าที่สถานรับเลี้ยงเด็กที่ช่วยให้ทารกมีความผูกพันแบบมั่นคง โดยอ้างงานวิจัยที่วัดระดับคอร์ติซอลอันเป็นตัวบ่งชี้ความสุขของทารก