อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’

(ตอนที่ 4)

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสมควรให้คุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยรับทราบ จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย สุภลัคน์ ลวดลาย วรัญญู กองชัยมงคล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562 โดยแปลจากหนังสือ Child Psychology: A Very Short Introduction เขียนโดย Usha Goswami เนื่องด้วยผมอ่านแล้วเสียดายแทนท่านที่มิได้อ่าน อีกทั้งเดาว่าหากมิใช่นักวิชาการด้านเด็กแล้วก็อาจจะไม่อยากอ่าน[/su_note]

 

บทที่ 4 มิตรภาพ ครอบครัว การเล่นสมมติ และจินตนาการ

 

เนื้อหาในตอนต้นของบทที่ 4 ค่อนข้างเก็บประเด็นยากตามแบบฉบับของหนังสือจิตวิทยาทั่วๆ ไป นั่นคือ พูดถึงเรื่องจิตใจในส่วนที่จับต้องได้ยากและทำความเข้าใจยาก อีกทั้งจะพยายามเขียนอธิบายอย่างไรก็ยากที่จะทำให้ผู้อ่านจับประเด็นได้ว่า แล้วที่เขียนมาแตกต่างจากที่ทำอยู่ตรงไหน และควรทำอย่างไรกันแน่

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผมจะตีความและเขียนใหม่เป็นเรื่องๆ

เรื่องแรกเกี่ยวกับตัวคุณแม่เอง เราสรุปได้ว่าคุณแม่มี 2 แบบ แบบหนึ่งใส่ใจจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกของลูกสม่ำเสมอ มีคำเรียกแม่แบบนี้ว่า minded-mind mother แบบที่สองใส่ใจเรื่องที่มองเห็นได้ชัดเจนกว่า เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง การแต่งกาย  ทำผิดกฎหรือไม่ผิดกฎ (ด้วยการตัดสินแบบดำ-ขาว) เป็นต้น (ตำราบางเล่มเรียกแบบแรกว่า psychological minded และเรียกแบบหลังว่า organic-minded)

เราพบว่าแม่แบบแรกช่วยให้ลูกสามารถล่วงรู้ความต้องการของผู้อื่นได้ดีกว่า และมีแนวโน้มจะแปลเจตนาของผู้อื่นไปในแง่ดี โดยแสดงออกให้เห็นในการเล่นกับเพื่อนหรือพี่น้อง

เรื่องที่สองเกี่ยวกับอารมณ์ของคุณแม่ (รวมถึงคุณพ่อด้วย) ผลการศึกษาพบว่าบ้านที่ด่าทอ ใช้กำลัง พ่อแม่เป็นอารมณ์ต่อกันมากและเป็นอารมณ์กับลูกมาก จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมการเล่นที่รุนแรงเมื่อเล่นกับเด็กคนอื่นหรือพี่น้อง รวมทั้งการเล่นที่ดูน่าเป็นห่วง เช่น เล่นฆ่ากัน แขวนคอหรือตัดคอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะแปลเจตนาของผู้อื่นไปในทางร้ายด้วย

เรื่องที่สามคือเรื่องพี่น้อง

“การถกเถียงและการต่อสู้กันแบบทั่วๆ ไประหว่างพี่น้องและเด็กคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็ก”

ความข้อนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่จำนวนมากไม่ยอมรับ หลายบ้านคาดหวังให้พี่น้องรักกันตั้งแต่เกิดและไม่ควรทะเลาะกันเลย แต่แท้จริงแล้วพวกเขาจำเป็นต้องผิดใจกันบ้างเพื่อจะได้เรียนรู้กันและกัน

การได้พูดคุยถึงสาเหตุที่พี่น้องทะเลาะกันเป็นเรื่องดี แต่เราควรหยุดไว้ตรงคำบอกเล่าและความรู้สึกของแต่ละคนก็พอ โดยไม่จำเป็นต้องก้าวข้ามเส้นไปตัดสินว่าใครผิดใครถูก

พ่อแม่จำนวนมากมักไม่สามารถหยุดตนเองไว้แค่ขั้นตอนที่ปล่อยให้เด็กระบายความรู้สึก แล้วเริ่มมีคำพูดที่ทำให้เด็กตีความได้ว่าพ่อแม่ฟังความข้างเดียว ในกรณีเช่นนี้ การแยกวงโดยไม่พูดอะไรมักจะปลอดภัยกว่า เพราะถึงอย่างไรเด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้วิธีดับอารมณ์ตนเองอยู่แล้ว

ครึ่งหลังของบทนี้แทบจะเป็นการปูพื้นฐานจิตวิทยาเชิงบวก งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า พ่อแม่ที่มักจะก้าวร้าว รุนแรง ทำโทษ และลำเอียง จะทำให้เด็กๆ บกพร่องทางสังคม เพราะเขาจะวางโปรแกรมตีความพฤติกรรมของคนอื่นไปในทางร้ายอยู่เสมอ

ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ที่อบอุ่นกว่า เปิดกว้างกว่า รับฟังมากกว่า และไม่ตัดสินผิดถูก กลับช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สังคมตามที่เป็นจริงมากกว่า และช่วยวางโปรแกรมตีความพฤติกรรมของคนอื่นไปในทางบวกอยู่เสมอ

หนังสือใช้คำศัพท์ว่า ความลำเอียงในการอนุมานสาเหตุในทางที่เป็นปฏิปักษ์ และ ความลำเอียงในการอนุมานสาเหตุในทางที่เป็นมิตร

การเล่นสมมติเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เด็กเข้าสู่สังคมได้ดี การเล่นสมมติทำได้ 3 ระดับ ทั้งกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน กับพ่อแม่ หรือกับเพื่อนในจินตนาการ ล้วนแล้วแต่ดีทั้งนั้น

หนังสือเล่มนี้ระบุตัวเลขว่าเด็กอนุบาลมีเพื่อนในจินตนาการมากถึงร้อยละ 20-50 ซึ่งมากกว่าที่เราเคยคิดไว้มาก เด็กหญิงมักมีเพื่อนในจินตนาการมากกว่าเด็กชาย เด็กมักมีเพื่อนในจินตนาการเป็นเพศเดียวกันและบ้างก็มีมากกว่า 1 คน

งานวิจัยยังพบอีกว่า เด็กที่มีเพื่อนในจินตนาการมิได้เป็นเด็กขี้อายหรือขี้วิตกมากกว่าเด็กที่ไม่มีเพื่อนในจินตนาการ อีกทั้งยังมีทักษะทางภาษาสูงกว่าด้วย

ความรู้เรื่องเพื่อนในจินตนาการนี้น่าจะช่วยให้พ่อแม่ที่เป็นห่วงเรื่องลูกพูดคนเดียวคลายความกังวลลงได้บ้าง นอกเหนือจากเรื่องที่เรารู้แล้วว่าเด็กพูดคนเดียวเพื่อบริหารความจำใช้งาน (working memory)

ข้อดีอีกข้อหนึ่งของการเล่นสมมติคือ ช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ยอมรับกฎเกณฑ์ และยอมรับบรรทัดฐานของสังคม หนังสือยกตัวอย่างงานวิจัยจากรัสเซีย ซึ่งจำนวนหนึ่งได้รับอิทธิพลจาก Lev Vygotsky (1896-1934) นักจิตวิทยาเด็กชาวรัสเซียผู้มีชื่อเสียง

 

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Lev_Vygotsky

 

ในตัวอย่างงานวิจัย เด็กๆ เล่นเป็นพนักงานดับเพลิง เมื่อพนักงานดับเพลิงสมมติไปถึงที่เกิดเหตุ เด็กคนที่รับบทบาทสมมติให้เป็นพนักงานขับรถลงจากรถจะไปช่วยเพื่อนๆ ดับเพลิง แต่เขาถูกห้ามว่าทำไม่ได้เพราะเขามีหน้าที่เฝ้ารถ ซึ่งเด็กคนนั้นก็ยอมรับกติกาแต่โดยดี

จากกติกาและกฎเกณฑ์นำไปสู่บรรทัดฐานของสังคม เช่น ห้ามทำร้ายคนอื่น และควรช่วยเหลือผู้อื่น หนังสือมิได้เขียนชัดเจนว่าทำไม แต่อธิบายได้ไม่ยาก เพราะพัฒนาการทุกเรื่องขยายตัวจากตนเองซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลสู่ภายนอกอยู่แล้ว จากการเล่นกับเด็กคนอื่นและพี่น้อง ขยายตัวสู่บทบาทสมมติในจินตนาการ ส่วนขยายต่อไปย่อมต้องเป็นบรรทัดฐานทางสังคมโดยธรรมชาติ

สุดท้ายเด็กจะพัฒนาสำนึกของความเป็นกลุ่ม เด็กๆ มักเห็นความสำคัญของเพื่อนในกลุ่มมากกว่านอกกลุ่ม ตอบสนองทางบวกมากกว่าและเห็นอกเห็นใจมากกว่า ที่น่าสนใจมากคือ หนังสือได้อ้างงานวิจัยที่ชี้ว่าภาษาเป็นเครื่องมือชี้บ่งความเป็นกลุ่ม ในขณะที่ผิวสีมิใช่ตัวชี้บ่ง!

บทนี้เป็นงานวิชาการที่รองรับจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) ซึ่งค่อยๆ เข้ามาแทนที่จิตวิทยาคลาสสิก (classical psychology) ที่มีอยู่เดิม

การเลี้ยงดูเด็กมิใช่เรื่องของการวางเงื่อนไขเท่านั้น และการปรับพฤติกรรมเด็กก็มิใช่เพียงการให้รางวัล เพิกเฉย หรือทำโทษ

เด็กมีจิตใจมากกว่าสัตว์ และเราสามารถทำความเข้าใจในตัวเขา ไปจนถึงเตรียมให้เขาพร้อมทำความเข้าใจโลกรอบตัวด้วย

 

______________________

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)