อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’

(ตอนที่ 3)

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสมควรให้คุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยรับทราบ จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย สุภลัคน์ ลวดลาย วรัญญู กองชัยมงคล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562 โดยแปลจากหนังสือ Child Psychology: A Very Short Introduction เขียนโดย Usha Goswami เนื่องด้วยผมอ่านแล้วเสียดายแทนท่านที่มิได้อ่าน อีกทั้งเดาว่าหากมิใช่นักวิชาการด้านเด็กแล้วก็อาจจะไม่อยากอ่าน[/su_note]

 

บทที่ 3 การเรียนรู้ด้านภาษา

 

“ในช่วงอายุ 15 เดือน หากได้ยินคำศัพท์ใหม่สักครั้ง ก็เพียงพอแล้วที่ทารกจะเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ได้อย่างถูกต้อง”

“ในแต่ละวันเด็กวัย 2 ขวบเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ได้ถึง 10 คำ”

 

ภาษาที่แม่พูดกับลูกเรียกว่า parentese มีลักษณะเป็นเสียงสูงต่ำและยืดยาว บางจังหวะเหมือนเสียงดนตรี เราพบว่าภาษาของแต่ละชาติมีน้ำเสียงและจังหวะต่างกัน และยังพบว่าทารกดูดนมตามจังหวะเสียงของแม่ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าทารกรัสเซียและทารกฝรั่งเศสดูดนมด้วยจังหวะที่แตกต่างกัน!

เป็นไปดังที่ผมเขียนเสมอ แม่ที่ให้นมลูกคือแม่ที่มีอยู่จริง ทารกกำลังเรียนรู้ว่าใครเป็นเจ้าของน้ำนม หัวนม เต้านม เสียงหัวใจ เสียงร้องเพลง อ้อมกอด และปัจจุบันยังมีงานวิจัยที่บอกว่าทารกเรียนรู้จังหวะของเสียงอีกด้วย (สำหรับแม่ที่พยายามแล้วแต่ไม่มีน้ำนมแม่ ทารกก็ยังคงดูดจุกขวดนมตามจังหวะที่แม่พูดเช่นกัน)

แต่ละชนชาติมี “เสียงของภาษา” ต่างกัน ภาษาอังกฤษมีเสียงหนักเบาของแต่ละพยางค์ในคำหนึ่งคำ ทารกเรียนรู้ความหนักเบานี้ได้ ทำให้รู้ว่าคำศัพท์คำใหม่เริ่มตรงไหน หากเราแกล้งอ่านหนักเบาผิดตำแหน่งในประโยคภาษาอังกฤษ ทารกจะฟังไม่เข้าใจ (ความข้อนี้ชวนให้นึกถึงเสียงเสมือนดนตรีของคนเมืองในล้านนา ซึ่งมักจะดึงดูดทารกได้มากกว่าโทนเสียงราบเรียบ) มีงานวิจัยต่อไปว่าเสียงที่แม่พูดกับทารก (ด้วยภาษาแม่) แตกต่างจากเสียงที่แม่พูดกับผู้ใหญ่ด้วยกัน และแตกต่างจากเสียงที่พูดกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเรียกว่า pet-ese แม้เราจะออดอ้อนลูกหมาที่บ้านด้วยท่วงท่ากริยาและน้ำเสียงคล้ายคลึงกันก็ตาม

สำหรับการอ่านนิทาน “พบว่าแม่จะยกเสียงขึ้นสูงกว่าในคำศัพท์คำใหม่ถึงร้อยละ 76 ของจำนวนครั้งที่พบคำศัพท์ใหม่ ในขณะที่หากอ่านครั้งที่สองก็ยังมากถึงร้อยละ 70” จะเห็นได้ว่าคุณแม่ที่อ่านนิทานมีส่วนพัฒนาภาษาของลูกในระดับที่ไม่รู้ตัวจริงๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ทารกยังรู้ได้เองว่าจะจัดเรียงพยัญชนะและสระอย่างไรเมื่อได้เห็นอักขระซ้ำๆ หลายๆครั้ง นับเป็นความสามารถทางสถิติที่มีมาแต่กำเนิด เป็นข้อดีเล็กๆ ของการอ่านนิทานโดยให้ทารกนอนเคียงข้างแล้วเปิดอ่านหนังสือไปด้วยกัน เมื่อเทียบกับการเล่านิทานทั่วไป (ซึ่งได้ใช้จินตนาการมาก) พูดง่ายๆ ว่าทารกสามารถจัดข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการปรากฏของพยัญชนะและสระได้ว่าควรจัดเรียงแบบใด ชวนให้นึกถึงบทเพลง Supercalifragilisticexpialidociousของแมรี่ ป๊อปปินส์ ฉบับจูลี่ แอนดรูวส์ ในหนังปี 1964 ของดิสนีย์ ที่เด็กๆ ร้องตามได้อย่างง่ายดาย

 

Supercalifragilisticexpialidocious Marry Poppins Dick van Dyke Julie Andrews
Credit: Disney

 

คนทั่วไปอย่างเราไม่จำเป็นต้องรู้ว่ากลไกของแต่ละเสียงเป็นอย่างไร เช่น p และ b ใช้อวัยวะส่วนไหนบ้างในการออกเสียง นั่นเป็นหน้าที่ของนักแก้ไขการพูดที่มีความสามารถ แต่เราควรรู้ว่าทารกต้องการมองหน้าแม่ตอนพูด มีงานวิจัยเปรียบเทียบโดยให้ทารกอเมริกันได้ขลุกอยู่กับชาวจีน พบว่าทารกสามารถเรียนรู้จังหวะเสียงแบบคนจีน ในขณะที่ทารกที่ดูวิดีโอคนจีนคนเดียวกันพูดกลับไม่สามารถเรียนรู้ได้ นั่นแสดงว่าการเรียนรู้ด้านภาษาที่ดีควรเป็นการเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่

ทารกเกิดใหม่ส่งเสียงอ้อแอ้ก่อนที่จะเปล่งเสียงพยัญชนะเสียงแรกได้ พยัญชนะเสียงแรกเปล่งออกมาได้ด้วย articulator หลายส่วน ได้แก่ ริมฝีปาก ลิ้น กล่องเสียง ฟัน จมูก และกระพุ้งแก้ม โดยที่ทารกแต่ละชนชาติเริ่มเปล่งเสียงด้วยเสียงพยัญชนะที่แตกต่างกัน

สิ่งที่น่ามหัศจรรย์คือ เมื่อให้ผู้ใหญ่จำแนกเสียงอ้อแอ้ของทารกตามชนชาติ ผู้ใหญ่สามารถจำแนกเสียงได้ถูกต้องด้วยว่า เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงทารกฝรั่งเศส อาหรับ หรือกวางตุ้ง นี่เป็นอีกหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าภาษาในช่วงรุ่งอรุณแห่งชีวิตเป็นการสื่อสารสองทางของคนสองคน ได้แก่ แม่-ลูก และพ่อ-ลูก อาจจะด้วยหลักฐานนี้เองทำให้การสอนสองภาษาโดยอาศัยหลักการพ่อ 1 ภาษา แม่ 1 ภาษา เป็นเรื่องที่ทำได้ตั้งแต่แรกเกิด

ตัวเลขต่อไปนี้อาจจะช่วยให้พ่อแม่ของเด็กพูดช้าสบายใจขึ้นบ้าง เด็กสองขวบบางคนยังไม่พูดแม้แต่คำเดียว พบว่าเด็กร้อยละ 50 จะพูดได้เท่าปกติเมื่ออายุ 5 ขวบ

อย่างไรก็ตาม อย่านิ่งนอนใจที่จะพูดกับเขาด้วยตัวเองมากกว่าที่จะจ้างคนอื่นพูด เพราะการพูดกับทารกเป็นเรื่องของคุณสองคน

นอกจากนี้ทารกยังพัฒนาภาษาท่าทางด้วย เช่น โบกมือ (ลา), ชี้ (จะเอา), หมุนมือ (จะเปิดประตูออกไป) หรือส่ายหัว (ไม่เอา) เราพบว่าทารกใช้ภาษาท่าทางมากในช่วงอายุ 10-18 เดือน แล้วเริ่มใช้ภาษาพูดเข้ามาแทนที่ในภายหลัง โดยทั่วไปเด็กมักใช้คำพยางค์เดียวก่อนที่จะใช้คำสองพยางค์ในเวลาต่อมา

ที่น่าสนใจคือ เด็กอาจจะใช้คำหนึ่งแทนที่อีกคำหนึ่งในช่วงที่จำนวนคำศัพท์ยังไม่มากพอ เช่น ใช้คำว่าผึ้งแทนแมลงอื่นๆ หรือคำว่าหมาแทนม้าและวัว ความรู้ข้อนี้สำคัญ ผู้ใหญ่ศีลธรรมจัดบางคนรีบร้อนกล่าวหาว่าเด็กโกหกโดยไม่ดูอายุของเด็กเลย ที่จริงแล้วเด็กเล็กยังสับสนเรื่องสถานที่ เวลา ประกอบกับมีคลังคำศัพท์จำกัด จึงเป็นไปได้ที่เขาจะเข้าใจผิดหรือใช้คำผิด สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือบอกคำที่ถูกหรือเรื่องราวที่ถูกต้องให้เขาทราบ เช่นนี้เขาจึงจะพัฒนา

พัฒนาการทางภาษาดำเนินต่อเนื่องจากพัฒนาการเรียนรู้ที่ได้เล่าไว้ในบทที่ 2 กล่าวคือเด็กเรียนรู้จากคุณสมบัติได้ เช่น หมาและม้ามีสี่ขา ในขณะที่รถเก๋งและรถบรรทุกมีสี่ล้อ เพียงเท่านี้เด็กก็สามารถจัดประเภทและหมวดหมู่ได้ด้วยตนเอง และอาจรู้สึกหงุดหงิดได้หากผู้ใหญ่อ่านผิดหรือพูดผิด เช่น เด็กรู้ว่ารองเท้ามิใช่แมวและแมวมิใช่รองเท้า เมื่อเราแกล้งอ่านผิดเขาจะหงุดหงิด เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่พ่อแม่พยายามอ่านนิทานก่อนนอนพลิกแพลงแล้วถูกลูกต่อว่าเอาอย่างจริงจังเสมอ พ่อแม่บางท่านก็อ่อนไหวมากถึงระดับที่เกรงว่าลูกจะเป็นเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิสต์หรือโรคย้ำคิดย้ำทำไปโน่นก็มี

เรื่องใหญ่โตที่สุดเกี่ยวกับภาษาน่าจะเป็นความรู้ที่ว่าภาษาเป็นสัญลักษณ์ ตัวอักษรคำว่าแมว หรือ cat เป็นสัญลักษณ์ของสองชนชาติที่หมายถึงสัตว์ตัวเดียวกัน

“คำศัพท์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่บรรจุข้อมูลและประสบการณ์ของเรา และเป็นตัวแทนมโนทัศน์และเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกทุกวันนี้”

“เมื่อเรารู้คำศัพท์ เราสามารถใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ภายในความคิดเพื่อทำความเข้าใจสิ่งใหม่”

ความข้อนี้สำคัญมาก หากไม่มีคำศัพท์ย่อมไม่มีสิ่งใหม่ ชวนให้นึกถึงนวนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ ที่สร้างคำศัพท์ใหม่ๆ ให้เรามากมาย เพื่อขยายพรมแดนความรู้และปัญญาของเราให้กว้างขวางกว่าเดิม

 

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Nineteen_Eighty-Four

 

สิ่งที่ดียิ่งกว่าคือ มนุษย์มิได้เพียงใช้ภาษาสื่อสารกับคนอื่น แต่ใช้สื่อสารกับตนเองด้วย ภาษาจึงเป็นเครื่องมือสำรวจตนเองไปจนถึงควบคุมตนเอง “เด็กสามารถทบทวนกระบวนการทางปัญญาและสำรวจความคิดตัวเอง เราเรียกว่ากระบวนการนี้ว่าอภิปัญญา (metacognition)” และ “เด็กยังใช้ภาษาสำรวจอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมได้อีกด้วย ในทางจิตวิทยา เด็กสามารถใช้ภาษาเพื่อกำกับตัวเอง (self-regulation)” นี่คือรากฐานของจิตวิทยาเชิงบวก

เป็นไปดังที่ผมเขียนเสมอว่า การอ่าน-เล่น-ทำงาน เป็นวิธีฝึกเด็กให้กำกับตัวเอง นอกจากการอ่านจะช่วยสร้างแม่ที่มีอยู่จริงแล้ว ยังช่วยพัฒนาภาษาด้วย การเล่นบทบาทสมมติก็เป็นวิธีพัฒนาภาษาที่ดีมาก และภาษานั้นเองที่จะกลับมาช่วยให้เด็กควบคุมตนเองได้ดีขึ้น

เด็กเรียนรู้ภาษาศาสตร์และไวยากรณ์ได้เองจากผู้ใหญ่รอบตัว และเมื่อเขาพูดผิดก็จะมีผู้ใหญ่คอยแก้ให้เองโดยธรรมชาติ เช่น คำว่า on หรือ in แม้ว่าจะแปลว่า “บน” และ “ใน” แต่เมื่อถึงเวลาใช้บ่งบอกตำแหน่งวัตถุ ก็จะมีวิธีใช้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาษา ไวยากรณ์การเรียงลำดับคำในประโยคก็เป็นเรื่องที่คนทุกท้องถิ่นสังเกตลูกหลานของตนเองได้ คนเมืองมีไวยากรณ์การเรียงคำไม่เหมือนภาษากลาง เด็กคนเมืองจึงรู้จักไวยากรณ์ภาษาแม่ ก่อนที่จะไปสอบหลักภาษาไทยตกในห้องเรียนเป็นประจำ เชื่อว่าคนภาคใต้ ตะวันออก  อีสาน พรมแดนตะวันตก หรือแม้แต่สุพรรณบุรี ก็มีไวยากรณ์ของตนเอง

ปัญหาสุดท้ายคือเรื่อง pragmatics ซึ่งหมายความว่า ในที่สุดเมื่อถึงเวลาใช้พูดในชีวิตจริงๆ บริบททางสังคมจะกลายเป็นเรื่องที่เด็กจะได้ค่อยๆ เรียนรู้อีกทอดหนึ่งว่าเมื่อไรควรพูดอะไร เช่น ควรพูดจาไพเราะแม้จะได้ของขวัญวันเกิดที่ไม่ถูกใจก็ตาม โดยในทางจิตวิทยาแล้ว การพูดปากไม่ตรงกับใจมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง

แต่การพูดแบบศรีธนญชัยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

______________________

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)