
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’
(ตอนที่ 2)
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสมควรให้คุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยรับทราบ จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย สุภลัคน์ ลวดลาย วรัญญู กองชัยมงคล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562 โดยแปลจากหนังสือ Child Psychology: A Very Short Introduction เขียนโดย Usha Goswami เนื่องด้วยผมอ่านแล้วเสียดายแทนท่านที่มิได้อ่าน อีกทั้งเดาว่าหากมิใช่นักวิชาการด้านเด็กแล้วก็อาจจะไม่อยากอ่าน[/su_note]
บทที่ 2 การเรียนรู้โลกภายนอก
ทารกเกิดมาพร้อมพันธุกรรมบางอย่าง จึงมิใช่ผ้าขาว แต่ทารกก็ไม่ถึงกับเป็นฝ่ายตั้งรับ ที่จริงแล้วทารกเป็นฝ่ายเลือกที่จะเรียนรู้ ด้วยการมองและฟัง
“งานทดลองสมัยใหม่พบว่าทารกสนใจดูวิดีโอภาพแม่ยื่นของให้เด็กมากกว่าที่จะยื่นของให้พ่อ นั่นคือเขาสนใจเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเขา”
วันหนึ่ง ผมนั่งในร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เฝ้ามองทารกนั่งไฮแชร์ปัดผ้าเช็ดมือผืนเล็กที่พนักงานมาวางไว้ให้ตกพื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พ่อเด็กซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นจะลุกเดินอ้อมมาหยิบขึ้นจากพื้นวางบนโต๊ะลูกทุกครั้ง แล้วกลับไปนั่งที่ตัว
“ทารกจะกำผ้านั้น ขยี้ขยำแล้วปาลง บางทีก็โยน บางทีก็ปัด พ่อก็ลุกมาเก็บขึ้น ไม่ห้ามสักคำ ไม่ดุ ไม่ว่า” เป็นดังที่ผมเขียนเสมอคือทารกกำลังทดสอบพลังกล้ามเนื้อต้นแขนและมือ เขาจะปัด โยน ปาได้ไกลแค่ไหน นี่คือพัฒนาการล้วนๆ
หนังสือเล่มนี้ได้ช่วยขยายมุมมองออกไปอีก ทารกกำลังเรียนรู้โลก และเรื่องแรกที่เขาเรียนคือการเคลื่อนที่และการเปลี่ยนตำแหน่ง ความรู้นี้เพียเจต์เขียนมานานแล้วคือ placement & displacement แต่หนังสือนี้ขยายความต่อไปว่าทารกสนใจเหตุ-ผลและวิถีโค้งด้วย “หนูทิ้ง-แม่เก็บ” คือ juxtaposition
“ของตกด้วยวิถีโค้ง ของสิ่งเดียวจะปรากฏสองที่พร้อมกันมิได้ แต่ของสองสิ่งปรากฏบนตำแหน่งเดียวกันได้” นอกไปจากนี้ทารกยังเรียนรู้ข้อแตกต่างระหว่างธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์ คือเรื่อง animism ที่เพียเจต์เขียนไว้ก่อนแล้วเช่นกัน ขยายความว่าทั้งสองสิ่งมีต้นธารร่วมกัน
ทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้ของทารกทั้งเรื่องพื้นฐานทางจิตวิทยา ฟิสิกส์ และชีววิทยา ในหนังสือเรียกว่า naive psychology, naive physics และ naive biology
หลังจากการเฝ้ามองและคอยฟัง การนั่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อทารกลุกนั่งโลกจะกลายเป็นสามมิติมากขึ้น และเมื่อเขาเดินไปโลกจะเป็นสามมิติมากขึ้นไปอีก สนุกกว่านี้คือทารกขวบปีแรกจะเลือกของเล่นและกำหรือถือของเล่นเดินไปด้วยเมื่อเขาทำได้ ตอนนี้เขาเปลี่ยนตนเองเป็นผู้กระทำอย่างสมบูรณ์
“ทารกเดินได้ 2,000 ก้าวใน 1 ชั่วโมง นั่นเท่ากับ 7 สนามฟุตบอล” ความข้อนี้ชวนให้ผมนึกถึงสองเรื่อง หนึ่ง คือการเดินตามป้อนข้าว เรากำลังพยายามหยุดพัฒนาการของเขาโดยไม่ทันระวัง สอง คือการห้ามเด็กไปไกลแทนที่เราจะสละเวลาคอยเดินตาม หาที่โล่งกว้างมากๆ ให้เขาได้เดิน หยิบ จับ สำรวจ น่าเสียดายมาก
หนังสือนี้เขียนต่อไปด้วยว่าเด็กจะเดินเข้าหาจุดหวงห้ามเสมอ ปลั๊กไฟ บันได เตาผิง (บ้านเราต้องว่าหมูกระทะ) และเมื่อไรที่เขาพบทางต่างระดับเขาจะพยายาม ทดลอง แล้วหกล้ม ตกลงไปได้ทุกครั้ง แน่นอนว่าจนกว่าจะทำได้ ข้อความบรรยายนี้รวมเรื่องที่ผมเขียนเสมอคือทดสอบและทดลอง ทดสอบข้อห้ามและทดลองพลังกล้ามเนื้อ ใช่ พลังใจด้วย
“เด็กเป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์ จะถอดปลั๊กเครื่องดูดฝุ่นขณะใช้งาน กดปุ่มทีวีเปลี่ยนช่อง และตั้งค่าเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่”
ชวนให้นึกถึงครั้งที่หลานมาที่บ้านแล้วตั้งค่าเครื่องให้อาหารหมาโดยที่พวกเราไม่ทันระวัง กลางดึกคืนนั้นเครื่องให้อาหารหมาเปิดเทปบันทึกส่งเสียงเรียกหมามากินอาหารทุกหนึ่งชั่วโมง
ทารกมีความจำหรือไม่เป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่ถามแต่มักไม่ได้คำตอบ หนังสือเล่มนี้ตอบด้วยการเล่าถึงการทดลองหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งน่าสนใจเป็นการทดลองในทารกอายุ 3 เดือนด้วยการผูกเชือกจากโมไบล์บนเพดานมาที่ข้อเท้า ทุกครั้งที่ทารกถีบข้อเท้าโมไบล์จะส่งเสียง เมื่อปล่อยให้ทารกเรียนรู้เสียงที่เกิดขึ้นสักระยะหนึ่งแล้วนำออกไปพัก จากนั้นนำทารกมาไว้ใต้โมไบล์โดยไม่มีเชือก พบว่าแม้ว่าเวลาจะผ่านไปทารกยังคงถีบเท้าแม้ว่าจะไม่มีเสียงเกิดขึ้น
อีกงานทดลองหนึ่งน่าสนใจมาก เมื่อปล่อยรถไฟแล่นเข้าอุโมงค์แล้วทำกลไกมิให้รถไฟแล่นออกจากอุโมงค์ พบว่าคลื่นสมองไฟฟ้าของทารกเปลี่ยนไป และเมื่อเรายกอุโมงค์ขึ้นให้ดูภายใน ปรากฏว่ารถไฟได้หายไปแล้วอีกต่างหาก แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นไปตามคาดและสิ่งที่ไม่เป็นไปตามคาดโดยสาธิตให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมอง
งานทดลองที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกของเพียเจต์คือ A not B task ได้ถูกนำมาอธิบายอีกครั้งหนึ่งด้วยการทดลองที่แตกต่าง จากเดิมที่เด็กถูกกำหนดให้ค้นหาของที่ตำแหน่ง A อยู่เช่นนั้นโดยไม่ยอมเปลี่ยนไปสู่การค้นหาที่ตำแหน่ง B เพราะของถูกผ้าบังเอาไว้และเด็กอยู่ภายใต้กฎไม่เห็นคือไม่มี การทดลองไปไกลถึงระดับแม้ว่าจะเฉลยให้เด็กเห็นว่าของอยู่ที่ตำแหน่ง B หรืออยู่ในกล่อง B ซึ่งโปร่งใส แต่ว่าเด็กก็จะยังคงหาของที่ตำแหน่ง A อยู่นั่นเอง!
นอกเหนือจากนี้ยังมีการทดลองเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ทารกสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนที่ของรถยนต์กับการเคลื่อนที่ของสุนัขได้ นำไปสู่ข้อสรุปอื่นๆ เช่น สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เคลื่อนที่ด้วยตัวเองไม่ได้และมีลูกไม่ได้ แต่สิ่งมีชีวิตทำได้ เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่รู้กันว่าเด็กทุกคนเรียนรู้ได้เองโดยไม่ต้องสอน
“ใบไม้เปลี่ยนสีด้วยตัวมันเองได้ แต่กีตาร์เล่นเพลงเองไม่ได้”
ความรู้ข้อนี้ช่วยยืนยันเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วคือ ณ จุดใดจุดหนึ่งของพัฒนาการ ทุกอย่างที่เคลื่อนไหวได้ล้วนมีชีวิต คือ animism ก่อนที่ของบางอย่างจะไร้ชีวิตในเวลาต่อมา
ยังมีการทดลองอีกชิ้นที่ดีมากแสดงให้เห็นว่าทารกและเด็กเล็กแยกแยะวัตถุด้วยการดูคุณสมบัติมากกว่าการดูรูปลักษณ์ภายนอก เช่น เด็กๆ สามารถชี้ว่านกโดโด้เป็นนกทั้งที่มันไม่เหมือนนกเท่าไรนัก แต่เทอโรซอร์ (Pterosaur) มิใช่นกแม้ว่ามันจะดูคล้ายนก ด้วยเหตุผลที่ว่ามันไม่มีรัง ในทำนองเดียวกัน เด็กรู้จักเก้าอี้และจะเรียกทุกอย่างที่ใช้นั่งว่าเก้าอี้ พอๆ กับที่รู้จักกระเป๋าและจะเรียกอะไรที่ใส่ของได้ว่ากระเป๋า
นกโดโด้ ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Frohawk_Dodo.png
เทอราโนดอน หนึ่งในสกุลของเทอโรซอร์ ที่มา: By NobuTamura – Own work, CC-BY-SA-3.0,
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Pteranodon_NT.jpg
เด็กเรียนรู้ทั้งหมดนี้ด้วย“multisensory learning คือการเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัสอันหลากหลาย” ได้แก่ การมอง ฟัง สัมผัส ดมกลิ่น และชิมรส คือระบบประสาทพื้นฐานทั้งห้า ซึ่งกรีกโบราณเรียกว่า common sense และควรจะเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาปฐมวัย
มิใช่การเรียนที่จับเจ่าแต่ในห้องเรียนเพื่ออ่านเขียนเรียนเลขและท่องจำ
______________________
อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)