อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5.2)

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’

(ตอนที่ 5.2)

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสมควรให้คุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยรับทราบ จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย สุภลัคน์ ลวดลาย วรัญญู กองชัยมงคล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562 โดยแปลจากหนังสือ Child Psychology: A Very Short Introduction เขียนโดย Usha Goswami เนื่องด้วยผมอ่านแล้วเสียดายแทนท่านที่มิได้อ่าน อีกทั้งเดาว่าหากมิใช่นักวิชาการด้านเด็กแล้วก็อาจจะไม่อยากอ่าน[/su_note]

 

บทที่ 5 การเรียนและความจำ การอ่านและจำนวน ตอนที่ 2

 

หากว่าบทที่ 5 ตอนที่ 1 อ่านยากแล้ว บทที่ 5 ตอนที่ 2 นี้อ่านยากกว่า

เด็กเรียนรู้ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสก่อน นี่เป็นความรู้ที่เรารู้มาก่อนแล้วจากงานของเพียเจต์ หนังสือเขียนซ้ำอีกครั้งเพื่อตอกย้ำความชัดเจนว่าเด็กเรียนรู้ด้วยประสาทตาและหูก่อน

เด็กเรียนรู้อะไร เด็กเรียนรู้ฟิสิกส์ก่อน แล้วเรียนรู้เคมี และตามด้วยชีววิทยา ความข้อนี้ตรงกับที่เพียเจต์เคยเขียนเอาไว้แล้วเช่นกัน เพียเจต์เขียนหนังสือเอาไว้ 3 เล่มเป็นภาษาฝรั่งเศส คือ The Child’s Conception of Movement and Speed (1946) ,The Construction of Reality in the Child (1954) และ The Child’s Conception of Time (1969) เพื่ออธิบายขั้นตอนที่เด็กเรียนรู้การเคลื่อนที่และความเร็ว เรื่องเวลา และเรื่องความจริงหรือความเป็นจริง (reality)

 

 

หนังสือสามเล่มเขียนห่างกันหลายปี แต่การก่อร่างสร้างตัวของการเคลื่อนที่และความเร็ว เวลา และความจริง เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเสมอ

หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างเรื่องการตกของวัตถุ เด็กเรียนรู้ว่าวัตถุตกเป็นเส้นตรง นี่คือความจริงชุดที่หนึ่ง วัตถุเคลื่อนที่จากบนลงล่างด้วยความเร็วหนึ่ง แล้วโลกก็เกิดแนวคิดเรื่องเวลา ทั้งระบบนี้คือความจริง

แต่ความจริงนี้ถูกบิดเบือนได้ หนังสือยกตัวอย่าง “ข้อผิดพลาดเรื่องแรงโน้มถ่วง” เมื่อเราบิดงอท่อตรงเส้นหนึ่งให้ทางออกด้านล่างอยู่คนละตำแหน่งกับทางเข้าด้านบน จากนั้นทิ้งลูกบอลลงท่อให้เด็กดู เด็กจะเฝ้าดูปลายท่อตามแนวดิ่งก่อน เพราะโดยสมมติฐานที่เขาสร้างขึ้น ลูกบอลควรจะตกลงมาตรงๆ

ตัวอย่างนี้บอกอะไรแก่เรา มันบอกว่าเด็กกำลังสร้างโลกด้วยสายตา และสร้างสมมติฐานขึ้นมาจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าสมมติฐานนั้นไม่จริง

หนังสือยกตัวอย่างต่อไปเรื่องการทิ้งลูกบอลนอกหน้าต่างรถไฟที่กำลังวิ่ง แม้แต่ผู้ใหญ่บางคน (ซึ่งเรียนหนังสือมาแล้ว-ในบ้านเรา) ก็ยังคิดว่าลูกบอลควรตกลงไปตรงๆ แต่ที่จริงแล้วลูกบอลจะถูกกระทำด้วยแรงอื่นทำให้ตกลงไปไม่ตรงกับตำแหน่งที่ตั้งสมมติฐานไว้ นี่คือความจริงที่บิดเบี้ยวจากความจริงที่หนึ่ง ประเด็นคือหากเด็กมิได้รับโอกาสเรียนรู้ด้วยสายตาและฟังด้วยหูมากพอ เขาก็อาจเติบโตมาเหมือนผู้ใหญ่บางคนที่ว่านี้

หากอ่านงานของเพียเจต์จะพบว่า เพียเจต์เขียนเรื่องการเคลื่อนที่และความเร็วไว้ละเอียดมาก พร้อมด้วยการทดลองหลากหลายที่แสดงถึงพัฒนาการด้านแนวคิด (conception) ของเด็ก เช่น เปรียบเทียบการเดินทางจากซ้ายไปขวาตามเส้นทาง A1 และ A2 เส้นทางไหนที่เด็กจะได้ระยะทางมากกว่ากัน ด้วยความเร็วเท่าไร

 

 

แล้วทำให้เรื่องยากขึ้นไปอีกเมื่อให้เปรียบเทียบการเดินทางจากซ้ายไปขวาตามเส้นทาง B1 และ B2 (ซึ่งเราจะเห็นฟันปลาที่ย้อนกลับ) เด็กรับรู้การเปลี่ยนตำแหน่งของวัตถุ ระยะทางที่ได้ ความเร็วที่ใช้ แล้วสร้างความจริงขึ้นมาอย่างไร

 

 

จะเห็นว่าโลกของ A ไม่เหมือนโลกของ B เป็นโลกที่เด็ก “สร้าง” ขึ้นมา มิใช่เพียงแต่เด็กเห็นเอง

ประเด็นคือถ้าเราจับเด็กขังไว้ในห้องเรียนทั้งวัน เด็กจะสร้างโลกแบบไหน และเมื่อเทียบกับพาเด็กออกไปเล่นในสนามหรือเดินป่าเดินเมือง เด็กจะสร้างโลกแบบไหน โลก A ย่อมไม่เหมือนโลก B

จากฟิสิกส์มาถึงเคมี เด็กเรียนรู้โครงสร้างและคุณสมบัติ เสมือนหนึ่งล่วงรู้สูตรเคมีโดยมิได้ยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว จากนั้นจึงเป็นชีววิทยา สองกรณีนี้ได้ยกตัวอย่างแล้วในบทก่อนๆ

เมื่อเด็กสร้างความจริงหรือโลกขึ้นมาแล้ว มาถึงเรื่องระบบตรรกะ ส่วนนี้ไม่ยากเพราะเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้มาก่อนแล้ว ระบบตรรกะในเด็กมี 2 ระบบพื้นฐานเช่นกัน คือ induction และ deduction โดยที่เด็กเรียนรู้ได้เองตั้งแต่ก่อนวัยเรียน

กรณี induction ยกตัวอย่างเช่น “คนมีม้าม สุนัขมีม้าม แล้วกระต่ายมีม้ามหรือไม่” เด็กๆ จะดูออกด้วยความรู้เรื่องเคมีและชีววิทยาว่าสัตว์ที่เอ่ยชื่อมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกตัว ดังนั้นกระต่ายก็ควรจะมีม้าม แต่ถ้าลองอีกตัวอย่างหนึ่ง “สุนัขมีม้าม ผึ้งมีม้าม แล้วคนมีม้ามมั้ย” เช่นนี้เด็กจะเริ่มลังเล เพราะลักษณะภายนอกของผึ้งนั้นแตกต่างออกไปชัดเจน

เรื่องที่ควรให้ความสนใจคือการให้เหตุผลด้วย analogy ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์เพราะแรงโน้มถ่วง ขณะที่อิเล็กตรอนโคจรรอบนิวเคลียสด้วยแรงโน้มถ่วงเช่นกัน เพราะโครงสร้างของสุริยจักรวาลและโครงสร้างอะตอมคล้ายคลึงกัน ความสามารถด้าน analogy นี้จะช่วยให้เด็กขยายความจริงหรือโลกของตนเองออกไปได้อย่างกว้างขวาง

สำหรับกรณี deduction หนังสือยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยอีกเช่นกัน “แมวทุกตัวเห่า เร็กซ์เป็นแมว เร็กซ์เห่าไหม” คำตอบคือใช่ นี่เป็นการอ้างเหตุผลเชิงตรรกะที่เด็ก 4 ขวบเรียนรู้และยอมรับได้ก่อนที่จะเผชิญเหตุผลที่ค้านกับความจริงต่อไป นั่นคือแมวไม่เห่า

ทั้งสามกรณีคือ induction, analogy และ deduction เป็นพัฒนาการพื้นฐานของช่วงปฐมวัย ซึ่งหากผู้ออกแบบการศึกษาเข้าใจความจริงข้อนี้ แล้วต่อยอดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่สอดรับกับพัฒนาการด้านตรรกะก็จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กอย่างมาก

พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช้วิธีท่องจำ แต่ให้รู้ที่มา

เรื่องถัดไปเป็นเรื่องการร่ำเรียนเขียนอ่าน หนังสือจิตวิทยาเด็กเล่มนี้ยกตัวอย่างอักษรและคำในภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับตำราที่อธิบายเรื่องกลไกการอ่านทั่วไป เวลาอ่านตำราเหล่านี้ เราต้องคอยยกตัวอย่างเป็นภาษาไทยเพื่อทำความเข้าใจควบคู่กัน กล่าวโดยสรุปคือ เด็กจำแนกเสียงได้ก่อน ตามด้วยการจำแนกอักขระ “เด็กส่วนใหญ่จะเรียนรู้หลักการเชื่อมโยงเสียงกับตัวอักษรได้อย่างรวดเร็ว” อันที่จริงหนังสือเล่มนี้มิได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่าเพราะอะไรเด็กส่วนใหญ่จึงเชื่อมโยงได้ แต่พวกเขาทำได้จริงๆ

หนังสือพูดถึงสองเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องแรกคือเรื่องความบกพร่องด้านการอ่าน (dyslexia) ใช่ว่าเด็กกลุ่มนี้จำแนกเสียงมิได้ แต่อาจจะเป็นเพราะพวกเขา “แยกแยะเสียงที่แตกต่างได้ดีเกินไป” พวกเขาแยกแยะความแตกต่างของเสียงได้ในรายละเอียดมากเกินกว่าที่เด็กคนอื่นทำได้ “ซึ่งโดยทั่วไป เมื่ออายุ 12 เดือน ทารกก็จะไม่ได้ยินเสียงแบบนี้แล้ว” นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้ยังไม่สามารถระบุการเน้นเสียงพยางค์และจังหวะ โดยเรื่องการเน้นเสียงพยางค์นั้นเป็นลักษณะเฉพาะตัวของภาษาอังกฤษ

เรื่องที่สองคือเรื่องการเขียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนที่ยังไม่เกิดได้”

เรื่องสุดท้ายของบทที่ 5 นี้คือเรื่องจำนวน เด็กมิได้เรียนรู้จำนวนด้วยการนับ การนับมิได้มีอะไรแตกต่างจากการท่องจำ แต่เด็กเรียนรู้ด้วยระบบสัญลักษณ์ การจัดลำดับ และการแบ่งกลุ่ม คือ symbolization, ordering และ grouping

ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนจำนวน ทว่าตัวเลขมิได้ใช้แทนจำนวนเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้แทนลำดับที่และแทนคุณสมบัติของวัตถุได้ด้วย “เพราะลำดับเลขคือสัญลักษณ์บ่งชี้ขนาด โดยเรียงตามลำดับก่อนหลัง” กล่าวคือ 2 อยู่หลัง 1 ดังนั้น 2 ย่อมใหญ่กว่า 1 หรือมากกว่า 1 จะเห็นว่าความจริงข้อนี้มิได้เกิดจากการนับ แต่เกิดขึ้นได้จากการจัดกลุ่มและการจัดลำดับ กลุ่มที่มีวัตถุ 5 ชิ้น นับได้ว่ามีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่มีวัตถุ 3 ชิ้น เด็กจึงได้เรียนรู้ความหมายของคำว่า “มากกว่า” เช่นนี้เอง

พูดง่ายๆ ว่าการเล่นหมากเก็บคือการเรียนรู้คณิตศาสตร์พื้นฐาน ได้แก่การจัดกลุ่ม จัดลำดับ ระบุจำนวนมากกว่าน้อยกว่า จากนั้นจึงนับแล้วเก็บขึ้นมา

หนังสือเล่มนี้ได้เสนอโมเดลของสมองที่เกี่ยวข้องกับจำนวนว่าสมองมี 2 ระบบ คือ analogue magnitude representation ใช้เป็นตัวแทนเปรียบเทียบจำนวนชุดใหญ่ และ object individuation ใช้บ่งชี้จำนวนวัตถุ

การทำงานของสองระบบนี้ทำให้เด็กสามารถเปรียบเทียบจำนวนที่มากกว่าหรือน้อยกว่าได้ และสามารถนับจำนวนเป็นหลักหน่วยได้ด้วย เด็กที่มีความบกพร่องด้านการคำนวณ (dyscalculia) อาจจะมีความผิดปกติของระบบ analogue magnitude representation เมื่อระบบนี้ผิดพลาด การเปรียบเทียบจำนวนจะทำไม่ได้ จึงคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ไม่ได้

“ทุกคนพูดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะอ่านได้หรือเขียนได้ … ทุกคนนับได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักคณิตศาสตร์ได้”

ตัวแปรสำคัญคือระบบสัญลักษณ์

และระบบสัญลักษณ์นั้นได้จากการเล่น -ประโยคสุดท้ายนี้ผมเขียนเอง

 

______________________

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5.1)