อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (6.2)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’

(ตอนที่ 6.2)

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสมควรให้คุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยรับทราบ จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย สุภลัคน์ ลวดลาย วรัญญู กองชัยมงคล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562 โดยแปลจากหนังสือ Child Psychology: A Very Short Introduction เขียนโดย Usha Goswami เนื่องด้วยผมอ่านแล้วเสียดายแทนท่านที่มิได้อ่าน อีกทั้งเดาว่าหากมิใช่นักวิชาการด้านเด็กแล้วก็อาจจะไม่อยากอ่าน[/su_note]

 

บทที่ 6 การเรียนรู้ของสมอง ตอนที่ 2

 

ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในหัวข้อนี้คือการควบคุมตนเองไม่ให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ไม่เป็นแก่นสาร หากเด็กทำเช่นนี้ไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งทางด้านสติปัญญาและสังคม โดยในด้านสติปัญญาคือเด็กเรียนรู้ไม่ได้ เพราะเขาจะวอกแวกไปตามสิ่งเร้าอยู่ตลอดเวลา

อาการหนักที่สุดของเรื่องนี้คือสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นได้ชื่อว่ามี EF deficit แปลว่าภาวะพร่อง EF แต่มิใช่ว่าเด็กทุกคนที่มีภาวะพร่อง EF จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder หรือ ADHD)

“ความรู้ในโลกแห่งความเป็นจริงอาจบ่อนเซาะการใช้เหตุผลอันจริงแท้”

นี่เป็นประโยคสำคัญที่ไม่อยากให้อ่านข้าม ความรู้ (knowledge) เป็นเรื่องดี การอ่านมากรู้มากหรือแม้กระทั่งท่องมากมิได้มีข้อเสียในตัวเอง แต่การยึดมั่นว่าเรื่องที่อ่านหรือรู้หรือท่องมาเป็นความจริงต่างหากที่ขัดขวางการเรียนรู้

ความยับยั้งชั่งใจไม่ให้ไหลไปตามสิ่งเร้าเป็นเรื่องยาก และมิได้ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ หรือไอคิว แต่เป็นความสามารถที่เด็กจำเป็นต้องได้รับการฝึกปรือ งานวิจัยเรื่องนี้มักใช้เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า Stroop test คือให้เด็กจัดเรียงไพ่ตามสี สลับกับจัดเรียงไพ่ตามดอก ตอนที่จัดเรียงไพ่ตามสี เด็กจำเป็นต้องยับยั้งสิ่งเร้าคือดอกบนไพ่ และตอนที่จัดเรียงไพ่ตามดอก เขาต้องยับยั้งสิ่งเร้าคือสี ผู้ใหญ่อาจจะคิดว่านี่เป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับเด็กที่กำลังพัฒนา EF พวกเขาทำเวลาได้แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ความแตกต่างนี้มีผลจากพัฒนาการด้านภาษา (language development) และพัฒนาการของหน่วยความจำใช้งาน (working memory) หนังสือละไว้มิได้พูดถึง Stroop Test อีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้ในงานวิจัย เช่น ให้เด็กอ่านตัวอักษรสีแดงที่เขียนว่า “เขียว” แล้วอ่านตัวอักษรสีเขียวที่เขียนว่า “แดง” จะเห็นว่าเด็กต้องยับยั้งสิ่งเร้าจากสีเพื่ออ่านให้ถูกต้อง การทดลองนี้แม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนยังทำคะแนนได้ไม่ต่างจากเด็กด้วยซ้ำ

 

ที่มา: www.bbc.co.uk

 

เราแบ่ง EF ออกเป็น 2 ชนิดคือ แบบร้อน (Hot EF) และแบบเย็น (Cool EF)

EF แบบร้อนจะได้ใช้ในสถานการณ์ที่เด็กมีอารมณ์ร่วมสูง ในขณะที่ EF แบบเย็นจะได้ใช้ในสถานการณ์ที่เด็กมีอารมณ์ร่วมน้อยกว่า เราพบว่าสมองที่รับผิดชอบ EF แต่ละแบบเป็นสมองคนละส่วนกัน งานวิจัยเด็กมักศึกษาเรื่อง EF แบบเย็นเพราะสภาพแวดล้อมได้รับการควบคุม แต่ในชีวิตจริงเด็กมักจะมีโอกาสใช้ EF แบบร้อนมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่นที่มักอยู่ใต้อิทธิพลของเพื่อนฝูง วัยรุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะควบคุมตนเองได้ยากและประเมินสถานการณ์เสี่ยงผิดพลาดด้วยกลัวถูกปฏิเสธทางสังคม จะเห็นว่า EF ที่ดีต้องควบคุมได้ทั้งความคิด อารมณ์ และการกระทำ

ส่วนความจำใช้งานนั้นมี 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ verbal working memory เป็นความจำใช้งานด้านภาษาพูด อีกส่วนหนึ่งคือ visio-spatial working memory เป็นความจำใช้งานด้านมิติสัมพันธ์ ประเด็นสำคัญคือความจำใช้งานมีความจุที่จำกัด (ตำราบางเล่มเรียกความจำใช้งานสองส่วนนี้ว่า phonological loop & visio-spatial sketchpad)  พูดง่ายๆ ว่าหากได้ยินหรือมองเห็นแล้วไม่ทบทวน ความจำใช้งานก็จะเลือนหายไป และเมื่อมีความจำชุดใหม่เข้ามา ความจำชุดเก่าก็อาจเลือนหายไปได้ นอกจากนี้สภาวะอารมณ์ก็มีผลกระทบต่อความจำใช้งานด้วยเช่นกัน

การทบทวนความจำใช้งานมักทำด้วยการพูดในใจ (inner speech) ซึ่งเราพบว่าเด็กอายุ 3-4 ขวบสามารถพูดในใจได้แล้ว ถึงตรงนี้ควรเน้นย้ำว่า ช่วงเวลาหลังจาก 3 ขวบคือช่วงที่เด็กคนหนึ่งจะพัฒนาก้าวกระโดดทั้งด้านความคิดและจิตใจ

เราจึงพูดเสมอว่าการเตรียมความพร้อมที่แท้นั้นคือการเลี้ยงลูกอย่างดีที่สุดในช่วง 3 ขวบปีแรก เพราะกว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้วจริงๆ

เมื่อความสามารถในการยับยั้งชั่งใจดีแล้ว และความจุของความจำใช้งานดีแล้ว เราก็มาถึงการใช้เหตุผลหรือตรรกะ เด็กต้องยับยั้งข้อมูลที่ไม่ตรงประเด็น ความรู้ที่ไม่เป็นความจริง รวมทั้งเหตุผลที่ใช้การไม่ได้ และความจำใช้งานของเด็กต้องมีความจุมากพอที่จะสลับสับเปลี่ยนความคิดและการใช้เหตุผล นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าคิดยืดหยุ่น หรือคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น ภาษา EF เรียกว่า cognitive flexibility เราพบว่าเด็กอายุ 4-5 ขวบจะพัฒนาความสามารถด้านนี้ได้เร็วที่สุด นับเป็นช่วงนาทีทองของการเรียนรู้อย่างแท้จริงๆ ในขณะที่เด็กเล็กและผู้สูงอายุจะทำไม่ได้

หนังสือได้เล่างานทดลองที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของความรู้และการฝึกฝน โดยยกตัวอย่างงานวิจัยเรื่องเชียร์ลีดเดอร์และนักดนตรี กับอัจฉริยะด้านหมากรุก

นอกจากนี้เด็กยังสามารถทดสอบสมมติฐาน (hypothesis testing) หนังสือยกตัวอย่างงานทดลองที่ให้เด็กอายุ 6 ขวบและ 8 ขวบดูภาพเหตุการณ์ที่สองพี่น้องวางแผนจับหนู คนพี่เชื่อว่าหนูที่จะจับเป็นหนูตัวใหญ่ ส่วนคนน้องคิดว่าเป็นหนูตัวเล็ก นักวิจัยถามเด็กว่าเราควรวางกรงกับดักที่มีประตูกรงเป็นแบบช่องใหญ่หรือช่องเล็ก เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าหนูที่แอบมากินอาหารตอนกลางคืนนั้นตัวใหญ่หรือตัวเล็กกันแน่? ซึ่งงานวิจัยพบว่าเด็กส่วนใหญ่ตอบถูก

การทดลองใหม่อีกชิ้นอาศัยตัวแปรที่มากขึ้นและซับซ้อนขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเด็กอายุ 11 และ 14 ปี โดยให้ดูภาพอาหารที่ทำให้เป็นหวัดหรือไม่ทำให้เป็นหวัดจำนวน 4 ภาพ แต่ละภาพมีอาหาร 4 ชนิด ปรากฏว่ามีร้อยละ 30 ของเด็ก 11 ขวบและร้อยละ 50 ของเด็ก 14 ขวบเท่านั้นที่ตอบถูก หลายคนตอบโดยอาศัย “ความเชื่อดั้งเดิม” ว่าอาหารอะไรสัมพันธ์กับหวัด แต่ไม่ได้พิจารณารูปภาพและใช้ตรรกะที่ถูกต้อง เราเรียกว่าปรากฏการณ์นี้ว่า ความผิดพลาดแบบเหมารวม (inclusion error)

 

 

“พบว่ามนุษย์มักให้เหตุผลอย่างลำเอียงโดยยืนยันเหตุผลเข้าข้างตัวเองอย่างรุนแรง ซึ่งพบได้ในทุกเพศทุกวัย กล่าวคือ คนเรามีแนวโน้มที่จะหาหลักฐานยืนยันสาเหตุที่สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมของเรา”

การเรียนรู้วิธีใช้เหตุผลควรเรียนรู้จากชีวิตจริง เพราะชีวิตจริงมีหลายตัวแปร

ประโยคข้างต้นน่าจะเป็นข้อสรุปสำคัญของเนื้อหาส่วนนี้ การใช้เหตุผลในข้อสอบปรนัยมักจำกัดตัวแปรลงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง

โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็กจะได้พัฒนาทักษะสังคมและจริยธรรมอย่างแท้จริง (แต่มิได้หมายความว่าเราควรส่งเด็กไปโรงเรียนก่อน 7 ขวบเพื่อการนี้) พัฒนาการด้านสังคมและจริยธรรมมักจะเกิดขึ้นหลังจากอายุราว 7 ขวบ หนังสือทดลองให้เด็กอายุ 8, 13 และ 16 ปี ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับกระเป๋าเงินที่มีคนทำตก ผลที่ได้พบว่าเด็ก 8 ขวบบอกให้เอาไปคืนเจ้าของ เด็กอายุ 13 ให้เก็บเอาไว้ และเด็กอายุ 16 ให้เอาไปคืนเจ้าของเช่นกัน

เด็ก 8 ขวบบอกว่าในเมื่อกระเป๋าเป็นของเจ้าของก็ต้องเอาไปคืน ขณะที่เด็กอายุ 13 บอกว่าถึงอย่างไรของก็หายไปแล้ว ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้หรือไม่ก็ตาม ส่วนเด็กอายุ 16 ให้เหตุผลว่าเพราะเราเป็นคนที่เห็นเหตุการณ์ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเอาไปคืน จะเห็นได้ว่าวิธีคิดตามหลักจริยธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลนั้นเกิดขึ้นช้ามากทีเดียว

หนังสือเขียนต่อไปว่า เด็กอายุ 13 คิดว่ากฎระเบียบในสังคมมาจากผู้มีอำนาจ ขณะที่เด็กอายุ 16 คิดว่าข้อตกลงทางสังคมเป็นกรอบของการอยู่ร่วมกันที่คนในสังคมช่วยกันกำหนด ความข้อนี้สอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการจริยธรรม (moral development) ของ Lawrence Kohlberg

อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ควรได้รับโอกาส “ใคร่ครวญ” ประเด็นทางจริยธรรม ดังที่เราทราบแล้วว่าจริยธรรมมิได้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ในตัวเองและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้ามาพัวพันด้วยอย่างมาก นอกจากนี้วัยรุ่นยังต้องรักษาสมดุลระหว่างอัตลักษณ์ ความต้องการเป็นอิสระ การป้องกันพื้นที่ส่วนตัว และสิทธิส่วนบุคคล

การให้เหตุผลภายหลังเหตุการณ์ (post-hoc reasoning) จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องจริยธรรมได้ลึกซึ้งและกว้างขวางมากขึ้น โดยที่ทั้งหมดนี้ยังคงสัมพันธ์กับ EF อันได้แก่การควบคุมตนเอง ความจำใช้งาน และการคิดยืดหยุ่น

ลองย้อนกลับไปพิจารณาตัวอย่างกระเป๋าเงินที่ตกหาย เด็กต้องควบคุมตัวเองไม่ให้เอาเงินในกระเป๋ามาเป็นของตน แล้วบริหารความจำใช้งานว่าด้วยข้อกำหนดทางจริยธรรมที่มีอยู่เดิม ก่อนที่จะคิดยืดหยุ่นไปสู่ข้อสรุปส่วนตนซึ่งตั้งอยู่บนอัตลักษณ์ ความต้องการเป็นอิสระ การป้องกันพื้นที่ส่วนตัว และสิทธิส่วนบุคคล

ลองจบบทที่ 6 นี้ด้วยตัวอย่างยากๆ สักตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเราพบเหตุการณ์ที่พ่อล่วงละเมิดทางเพศลูก เราต้องควบคุมตนเองให้ไม่คิดแต่จะเอาตัวรอด แล้วบริหารความจำใช้งานว่าด้วยข้อกำหนดทางจริยธรรมสากล ซึ่งอาจจะรวมถึงข้อกฎหมาย ก่อนที่จะคิดยืดหยุ่นไปสู่ข้อสรุปส่วนตนซึ่งตั้งอยู่บนบนอัตลักษณ์ ความต้องการเป็นอิสระ การป้องกันพื้นที่ส่วนตัว และสิทธิส่วนบุคคล

เห็นหรือยังว่าเรื่องนี้ยากเพียงใด

 

______________________

 

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5.1)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5.2)

อ่าน ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (6.1)