[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ตอนที่ 6 หนังสือสำหรับปฐมวัย ประถม และมัธยม (2)
เมื่ออายุ 2-3 ขวบ เด็กเริ่มเตาะแตะไปจากเราด้วยจังหวะก้าวที่มั่นคงขึ้นและไปไกลมากขึ้น คือวันเวลาที่เด็กจะสนใจ “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ที่พบเห็น แม้กระทั่ง “รู” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รู”
เพราะอะไรเด็กๆ จึงมักสนใจรู คำตอบง่ายมาก เขาอยากรู้ว่าในรูมีอะไรอีก นั่นคือเหตุผลที่อลิซผ่านรูกระต่ายไปสู่อีกโลกหนึ่ง [จากหนังสือ อลิซในแดนมหัศจรรย์ (Alice’s Adventures in Wonderland)]
จิมเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการแปะป้าย เด็กจะสนใจและสนุกกับการแปะป้ายชื่อสิ่งของต่างๆ การอ่านหนังสือประเภทรวบรวมวัตถุสิ่งของเป็นหมวดหมู่แล้วบอกชื่อจึงมิใช่ข้อห้าม ในทางตรงข้ามเด็กๆ มักให้ความสนใจมาก มีหนังสือประเภทนี้มากมายในท้องตลาดบ้านเรา
หนังสือที่มีแต่รูปโดยไม่มีตัวหนังสือเลยก็น่าสนใจและมิใช่ข้อห้ามเช่นกัน หนังสือประเภทนี้คุณพ่อคุณแม่จะอ่านแบบชี้ให้ดูส่วนประกอบต่างๆ ก็ทำได้ไม่ยาก ในกรณีที่ท่านขยันเล่าเรื่องก็สะดวกที่ท่านจะเล่าเอาเอง ตัวอย่างหนังสือลักษณะนี้ในตลาดบ้านเรามีไม่มากนัก
อีกคำถามหนึ่งที่ผมได้รับเสมอคือเรื่องลูกชอบอ่านเล่มเดิมซ้ำๆ ทำอย่างไรดีคะ?
คำตอบที่ให้เสมอคืออ่านต่อไป
จิมให้ข้อมูลงานวิจัยตั้งแต่ปี 2011 ว่าเด็กชอบฟังคำซ้ำและหนังสือซ้ำ พวกเขาจะเรียนรู้คำศัพท์ซ้ำๆ จากหนังสือเล่มเดิมได้ดีกว่าฟังคำศัพท์คำเดิมจากหนังสือต่างเล่ม
เราเรียกกระบวนการเรียนรู้คำศัพท์ของเด็กวัยนี้ว่า immersion คือที่ผมมักอธิบายเสมอว่าสมองของเด็กสร้างจุดเชื่อมต่อประสาทจำนวนมากมายทุกคืน เส้นประสาทที่ยืดยาวออกนับร้อยเส้นต่อเซลล์สมอง 1 ตัวไขว้และประสานกันเป็นจุดเชื่อมต่อประสาทเหล่านี้ด้วยความเร็วสูง หนังสือบางเล่มให้ตัวเลขประมาณ 40,000 จุดต่อวินาที คำศัพท์คำเดิมได้ immerse ทุกคืนและคมชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
“ช้างคืนนี้ไม่เหมือนช้างตัวเมื่อคืน และช้างคืนพรุ่งนี้จะไม่เหมือนช้างตัววันนี้ ในตอนแรกๆ เด็กอาจจะมีมโนภาพของช้างลายเส้น ก่อนที่จะเป็นช้างเอราวัณใน 7 วันข้างหน้า”
พูดสั้นๆ ว่า “ช้างตัวใหญ่ขึ้นทุกวัน” แม้ว่าจะมาจากหนังสือเล่มเดียวกัน
เด็กชอบถามคำถามขัดจังหวะการอ่านแล้วทำให้แม่ๆ หงุดหงิดได้เสมอ ที่จริงเราควรดีใจที่เด็กถามเพราะเด็กสนใจใคร่รู้ เราไม่ควรหงุดหงิด เราแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ ด้วยการตอบสั้นๆ แล้วอ่านต่อไปด้วยท่าทีเรียบง่าย
พลันที่เราหงุดหงิดเขาจะถามซ้ำอีกเสมอ อีกวิธีหนึ่งคือบอกลูกว่าแม่ไม่รู้แต่แม่จะจดไว้ก่อนนะ แล้วเตรียมโพสต์อิทจดแปะคั่นหน้าไว้ตรงนั้น วิธีนี้เท่ากับบอกลูกว่าเราใส่ใจ แต่ก็อย่าลืมที่จะหาเวลามาคุยกัน
จิมแนะนำให้มีช่วงเวลาการคุยกันหลังหนังสือจบ มิใช่จบแล้วนอนเลย แต่วิธีนี้ผมเกรงว่าอาจจะไม่เหมาะในบ้านเราเหตุเพราะบ้านเรานิยมการสั่งสอน ถ้าจบแล้วพูดต่อเป็นได้ไปไม่พ้นถามลูกว่า “นิทานเรื่องนี้สอนว่าอะไร” หรือเราเองสรุป หรือเริ่มเอาการคำศัพท์หรือเนื้อหาวิชาการไปเสีย ดังนั้นอ่านจบแล้วนอนๆๆๆ จะดีกว่า
พ่อแม่จะได้ย่องลงไปตั้งวงปิกนิกกันส่วนตัว
ถ้าอยากจะถาม คิดยังไง รู้สึกยังไง สงสัยอะไรบ้าง เป็นสามคำถามที่เราถามลูกได้หนังสือจบ หรือครูถามนักเรียนได้ในบุ๊คคลับ เป็นคำถามปลายเปิด ชวนใช้สมอง และไม่ครอบงำ
การเปลี่ยนผ่านจากหนังสือนิทานประกอบภาพเป็นหนังสือนวนิยายขนาดยาวเป็นเรื่องควรทำ และทำเป็นขั้นเป็นตอน หลักง่ายๆ คือ
- อ่านนิทานประกอบภาพสั้นๆ
- อ่านนิทานประกอบภาพที่ยาวขึ้น
- อ่านนวนิยายที่มีภาพประกอบที่มีความยาวต่อบทสั้น
- อ่านนวนิยายที่มีภาพประกอบที่มีความยาวต่อบทยาวขึ้น
- อ่านนวนิยายที่ไม่มีภาพประกอบเลย 100 หน้า
อ่านถึงตรงนี้อย่าลืมว่าจิมกำลังเขียนเรื่องการอ่านออกเสียง ในบริบทของหนังสือเล่มนี้คือพ่อแม่อ่าน หรือครูอ่าน และเป็นการอ่านออกเสียง การพาเด็กข้ามสะพานแห่งการอ่านไปสู่ระดับที่สูงขึ้นจึงทำได้ไม่ยาก
สมมติวัฒนธรรมอ่านออกเสียงบ้านเราไม่เข้มแข็ง การแนะนำหนังสือให้เด็กอ่านโดยใช้หลักค่อยๆ ขยับเป็นขั้นเป็นตอนตามความสามารถของเด็กเป็นเรื่องควรพิจารณา ระมัดระวังอย่าทำให้การอ่านเป็นยาขมเท่านั้นเอง
- เราอ่านวรรณกรรมให้เด็กประถมฟังได้หรือไม่ – ได้
- เราอ่านวรรณกรรมเยาวชนให้เด็กอนุบาลฟังได้หรือไม่ – ได้
- เราอ่านนิทานประกอบภาพให้วัยรุ่นฟังได้หรือไม่ – ได้
- เราควรเลิกอ่านนิทานประกอบภาพเมื่อลูกอายุเท่าไร – ไม่เลิก
ที่จริงแล้วจิมใช้คำว่า “ห้ามเลิก”
ประเด็นคือเราอ่านวรรณกรรมให้เด็กเล็กฟังได้พอๆ กับที่จะอ่านนิทานประกอบภาพให้วัยรุ่นฟังก็ได้ สำคัญที่เราอาจจะต้องสละเวลาลงไปคัดสรรหนังสือด้วยตนเอง หนังสือเล่มนี้ให้ตัวอย่างหนังสือไว้มากมายที่ไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา (เข้าใจว่าผมต้องเปิดคอลัมน์แนะนำวรรณกรรมเยาวชนเร็วๆ นี้เสียแล้ว)
แนนซี ฟุต เมืองฮิกลีย์ รัฐแอริโซนา เป็นครูทำงานที่โรงเรียนมัธยมปลายซึ่งประกอบด้วยนักเรียนวัยรุ่นติดยาและก่ออาชญากรรม เธอเริ่มชั่วโมงเช้าด้วยการอ่านวรรณกรรม จากห้องเรียนที่ว่างเปล่าในตอนแรกเพราะเด็กมาสาย ปรากฏว่ามีนักเรียนทยอยมาโรงเรียนเร็วขึ้นเพื่อฟังเธออ่านมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนขอให้เธออ่านส่วนที่ผ่านไปแล้ว บางคนขอยืมหนังสือไปอ่านต่อเอง
นักเรียนอายุ 19 ที่ติดยาไอซ์คนหนึ่งซึ่งกำลังเผชิญปัญหาการเลี้ยงลูกวัยทารกที่เกิดจากแม่ที่หนีไปใช้ยาได้เดินมาขอบคุณคุณครูที่ช่วยให้ชีวิตใหม่แก่เขา
อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 1
อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 2
อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 3
อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 4
อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 5
Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่