อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5)

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ตอนที่ 5 หนังสือสำหรับปฐมวัย ประถม และมัธยม (1)

 

“เรายังไม่ได้ข้อสรุปว่าช่วงเวลาสามขวบปีแรกของชีวิตนั้นแท้จริงแล้วมีความสำคัญแค่ไหน ประตูแห่งโอกาสนั้นปิดตายลงหลังจากสามขวบจริงๆ หรือ หรือว่ายังจะมีโอกาสครั้งที่สอง สาม และสี่ต่อไปอีก”

บทที่สามเริ่มต้นย่อหน้าแรกด้วยข้อความนี้ ตามด้วยเอกสารอ้างอิงทั้งที่เป็นเอกสารหรือคลิปเสียงให้ท่านผู้สนใจได้ศึกษารายละเอียดของวิวาทะนี้

ที่บ้านเรามีวิวาทะเรื่องนี้ไม่มาก ปัญหาไปอยู่ที่เราตีความความข้อนี้อย่างไรมากกว่า คำพูดที่ว่าสมองเด็กเรียนรู้ได้มากที่สุดในหนึ่งพันวันแรกถูกนำไปใช้คนละวัตถุประสงค์ กลุ่มหนึ่งใช้เพื่อเร่งการเรียนรู้บางประการ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งใช้เพื่อเตรียมความพร้อม

“การศึกษาปฐมวัยไม่ควรเป็นแค่การศึกษา แต่ควรเป็นการเล่นสนุก การสำรวจค้นคว้า และการหล่อเลี้ยงพัฒนาการทางอารมณ์ พูดสั้นๆ คือทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเด็ก” เป็นข้อสรุปของ ดร.แจ็ก ชองกอฟฟ์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการสมองของเด็ก

“งานวิจัยยืนยันว่าการเก็บสะสมรูปแบบของเสียงและคำศัพท์ระยะยาวที่สามารถวัดได้นั้นเริ่มต้นตั้งแต่อายุแปดเดือน เด็กที่ได้ยินภาษามากที่สุดจะมีโอกาสมากที่สุดที่จะมีทักษะทางภาษาที่ดี” และ “เป็นหนทางสู่การเรียนรู้และประสบความสำเร็จในโรงเรียน”

แล้วย้ำว่า “ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความตั้งใจที่จะสร้างทารกอัจฉริยะ” แต่เป็น “การสร้างสายสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างพ่อแม่กับลูก และการสร้างสะพานเชื่อมแสนสุขระหว่างเด็กกับหนังสือ ให้พวกเขาพร้อมข้ามไปเมื่อไรก็ได้ที่มีพัฒนาการพร้อมจะอ่านหนังสือเอง”

หนังสืออะไรเหมาะกับทารกที่สุด? คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมได้รับเป็นส่วนตัวเสมอว่าหนังสืออะไรเหมาะกับอายุเท่าไร เป็นที่สังเกตได้ว่าผมไม่ตอบคำถามนี้ลงในรายละเอียดด้วยเหตุผลที่จำเพาะต่อสถานการณ์การอ่านและสังคมวัฒนธรรมของบ้านเราซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างหรือหาเช้ากินค่ำ ดังจะอธิบายต่อไป

แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายไว้อย่างยืดยาวและลงรายละเอียดตามสมควรเหมาะแก่บุคคลที่สนใจรายละเอียดได้อ่านด้วยตนเอง กล่าวอย่างสั้นคือหนังสือสำหรับทารกควรเป็นหนังสือที่มีรูปภาพขนาดใหญ่ เห็นชัด สีสันสดใส และมีตัวหนังสือไม่มากนัก ดีกว่านี้คือมีตัวหนังสือคล้องจองหรือมีคำอ่านซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง

ส่วนรูปลักษณ์ของหนังสือที่อาจจะต้องใช้คือบอร์ดบุ๊ค หนังสือกันน้ำ และหนังสือผ้า เหล่านี้เพื่อป้องกันการฉีกกัดและดูดอมของเด็กเล็ก

หนังสือของจิมเล่มนี้ได้ยกตัวอย่างหนังสือสำหรับทารกและเด็กเล็กขวบหรือสองขวบปีแรกไว้มากมาย แต่ไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา หากจะยกตัวอย่างเป็นหนังสือไทยและยังร่วมสมัย ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง เกริก ยุ้นพันธ์ หนังสือของท่านเป็นภาพวาดสองมิติ ตัดเส้นคมชัดหรือมีขอบเขตของรูปชัดเจน ใช้คำสั้น น้อย และบางเล่มใช้คำซ้ำหรือคำคล้องจอง มีหนังสือลักษณะนี้อีกในตลาดหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กฝีมือนักเขียนไทยท่านอื่นๆ อีก ลูกสองคนของผมเติบโตมากับหนังสือของอาจารย์เกริกมากกว่าท่านอื่นๆ นั่นคือเหตุการณ์เมื่อสามสิบปีก่อน

ตัวอย่างผลงานโดยเกริก ยุ้นพันธ์

กลับมาที่เพราะอะไรผมมักไม่ตอบคำถามว่าหนังสืออะไรเหมาะกับเด็กอายุเท่าไร ที่ผมตอบมักจะมีเพียงว่า “อ่านอะไรก็ได้ที่คว้าได้” หรือ “อ่านอะไรก็ได้ที่คนอ่านสนุก”

เหตุผลคือลำพังการเริ่มต้นอ่านนิทานให้ลูกฟังก็เป็นเรื่องยากแล้วสำหรับพ่อแม่บ้านเราที่ส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ชนชั้นกลางกว่าจะเลิกงานฝ่าจราจรถึงบ้านก็มืดค่ำ ชนชั้นล่างปากกัดตีนถีบหาเงินเลี้ยงตัวแทบไม่รอดมิพักพูดถึงซื้อหนังสือนิทานเข้าบ้าน บอร์ดบุ๊ค หนังสือกันน้ำ และหนังสือผ้าไม่ต้องฝัน

ดังนั้นที่ผมพยายามทำเสมอมาคือ “สตาร์ตให้ได้ก่อน” เรื่องอื่นว่ากันทีหลัง

แล้วเราจะพบปรากฏการณ์ที่น่ามหัศจรรย์ เพราะเรามิได้ต้องการสร้างทารกอัจฉริยะ เราแค่จะสร้างสายสัมพันธ์พ่อแม่ลูก และสะพานเชื่อมเด็กกับหนังสือ แน่นอนว่าหนังสือบางเล่มไม่เหมาะกับเด็กบางอายุ แต่กฎเหล่านี้ก็ไม่แน่นัก หนังสือบางเล่มหากเราไม่อ่านวันนี้จะพบภายหลังว่าน่าเสียดายเวลาที่เสียไปมาก เพราะลูกของเราชอบมันมากแม้ว่าหนังสือจะเกินอายุ

หนังสือบางเล่มอาจจะไม่เหมาะกับเด็กบางคนไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม ดังนั้นถ้าเราพบเหตุการณ์ที่ว่าหนังสือบางเล่มไม่เหมาะกับลูกของเรา เราเพียงเก็บขึ้นปีหน้าว่ากันใหม่เท่านั้นเอง

บ้านเรามีความอ่อนไหวกับประเด็นทางศีลธรรมและจริยธรรมมากมายเป็นพิเศษ ทำให้หนังสือบางเล่มไม่เหมาะกับพ่อแม่บางท่าน ดังที่มีคำถามเสมอว่าแจ็กผู้ฆ่ายักษ์เป็นตัวอย่างไม่ดีด้วยประการทั้งปวงตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นต้น

เมื่อเด็กพ้นวัยทารก เขาย่อมไม่นอนนิ่งๆ ฟังพ่อแม่อ่านนิทานอีกแล้ว เพราะเขาพัฒนากล้ามเนื้อมือและนิ้วมือได้แข็งแรงมากพอจะแย่งหนังสือในมือแม่มาขยำและฉีก เขาสามารถพลิกหน้าต่อไปได้โดยที่พ่อแม่อ่านยังไม่จบหน้า และกล้ามเนื้อขาของเขาทรงพลังมากพอที่จะเดินไปจากเราในขณะที่เราอ่าน นอกจากนี้เขายังมีสมอง สติปัญญา และปากที่จะถามขัดจังหวะการอ่าน เรื่องเหล่านี้สร้างความเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ หรือหงุดหงิดกับพ่อแม่ต่างๆ กัน

คำตอบที่ผมตอบเสมอคือ “อ่านต่อไป” ตามด้วย “แล้วอะไรๆ จะดีเอง” ซึ่งรับรองว่าจริง

แต่ถ้าท่านต้องการอ่านวิธีแก้ไขละเอียดมากกว่าที่ผมเขียนสักเล็กน้อยก็ลองหาอ่านจากหนังสือของจิมเล่มนี้ได้ แต่เชื่อเถอะว่า “อ่านต่อไป แล้วอะไรๆ จะดีเอง” ง่ายกว่าเยอะ

ที่ผมแนะนำทำได้ง่ายๆ คือเตรียมหนังสือสำรองไว้ข้างตัว แย่งได้แย่งไป ฉีกได้ฉีกไป เราก็อ่านเล่มใหม่ไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องเดินไปรอบห้องนอนนั้น ให้ทำห้องนอนให้ไม่กว้างนักและเอาสิ่งเร้าคือตุ๊กตา หนังสืออื่นๆ แจกันดอกไม้ และทุกสิ่งทุกอย่างออกไปเสียบ้าง เขาเดินจนเบื่อก็จะวนกลับมาหาเราเอง

อย่างไรก็ตาม จิมได้ยกตัวอย่างบทสนทนาที่แม่ท่านหนึ่งคุยกับลูกสลับกับอ่านให้ฟังได้อย่างลื่นไหลและน่าฟัง จะเลือกใช้วิธีนี้ก็ได้ แต่ก็เป็นทักษะที่พ่อแม่ต้องฝึกฝน อ่านบ้าง คุยบ้าง ถามบ้าง หยุดเพื่อตอบคำถามบ้าง แล้วชวนอ่านต่ออย่างนางเอก

มิใช่แม่ทุกคนจะเป็นนางเอกได้

 

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 1

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 2

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 3

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 4

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่