อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

ตอนที่ 1 อ่านทุกวัน อ่านให้สนุก

 

นี่เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วเสียดายว่าทำไมผมไม่ชิงเขียนเสียก่อนตั้งแต่แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ่านคำนำแล้วพบว่าผู้เขียนคือจิม เทรลีส (Jim Trelease) มิใช่นักวิชาการจากที่ไหน เขาเป็นเพียงคุณพ่อที่มีความสุขกับการอ่านนิทานให้ลูกฟังเท่านั้นเอง – เหมือนผม

คำตอบคือผมมีงานประจำวันมากเกินกว่าจะไปตามหาเอกสารอ้างอิงมายืนยันเรื่องที่ตนเองพูด บรรยาย และเขียนเสมอมา นั่นคือ

“พ่อแม่ควรอ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟังทุกคืนไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะไม่เอาเรา”  

แต่ที่จิมเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้มีมากกว่านั้น แม้พวกเขาจะไม่เอาเราเราก็จะอ่าน และที่จริงแล้วครูทุกโรงเรียนไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไรแล้วก็ตามควรจัดให้มีชั่วโมงอ่านออกเสียง

“ฉันอ่านหนังสือให้ลูกฟังเพราะฉันชอบ” นี่คือประโยคหนึ่งในบทที่ 1 เป็นดังที่ผมตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่ที่มักเขียนมาถามว่า “อ่านหนังสือเล่มไหนดีคะ” แล้วผมก็จะตอบเสมอว่า “เล่มไหนก็ได้ที่คนอ่านสนุก”

การอ่านนิทานให้ลูกฟังมีข้อสำคัญข้อหนึ่งคือเราต้องสนุก จะเป็นนิทานเรื่องอะไร เหมาะกับเด็กอายุเท่าไร อาจจะเป็นเรื่องควรพิจารณาอยู่บ้าง แต่สำหรับบ้านเราที่วัฒนธรรมการอ่านไม่เข้มแข็ง ผมเลือกที่จะสื่อสารสาธารณะซ้ำๆ ว่า “อ่านไปเถอะ”

จะนิทานจากหนังสือพิมพ์รายวัน ถุงกล้วยแขก หรือหนังสือนิทานประกอบภาพสี่สีสวยสดปกแข็งราคาเป็นร้อย ขอให้คนอ่านสนุกเป็นใช้ได้ ความสนุกนั้นเองที่เป็นแรงผลักดันให้คนอ่านอ่านได้ทุกวันนับสิบปี อาจจะมีเว้นบ้างบางคืนเพราะเราไม่สบายหรือไม่อยู่บ้าน แต่ถ้าเราสนุกเสียแล้ว เราเองที่จะไม่ยอมพลาดกิจกรรมแสนวิเศษก่อนนอนนี้ได้ และจะอ่านได้ปีละไม่ต่ำกว่า 300 คืนอย่างสบายๆ

หากต้องเลือกระหว่างงานส่วนตัวกับอ่านนิทานให้ลูกฟัง เราจะเลือกอย่างหลังก่อนเสมอ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่างานรอได้แต่อายุของลูกไม่รอ

ในเอกสารอ้างอิงหมายเลข 7 ของบทที่ 1 ซึ่งท่านที่สงสัยสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้เองสรุปไว้ว่าเด็กที่ทำคะแนนการทดสอบ PISA ได้ดีเมื่ออายุ 15 ปี มีประวัติพ่อแม่อ่านออกเสียงให้เด็กฟังตั้งแต่เล็ก ยิ่งตอนเด็กๆ พ่อแม่อ่านออกเสียงให้ฟังมากเท่าไรคะแนนที่ทำได้เมื่ออายุ 15 สูงขึ้นเท่านั้น  ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวกับรายได้ของครอบครัว

เอกสารอ้างอิงหมายเลข 7 และ 9 ของบทที่ 1

 

ความข้อนี้สนับสนุนเรื่องที่ผมพยายามเขียนถึงอีกเรื่องหนึ่งนั่นคือ

“ชนชั้นล่างในสังคมไทยไม่จำเป็นต้องส่งต่อความยากจน ทำได้เมื่อพ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน”

อย่างไรก็ตามผมยอมรับว่าชนชั้นล่างของสังคมไทยจะเอาเวลาที่ไหนมาอ่านนิทาน และจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อหนังสือนิทาน นำไปสู่เรื่องที่บ้านเราต้องทำอีก 2 เรื่องคือ

  1. จัดระบบหนังสือแห่งชาติใหม่ให้ราคาหนังสือถูกลง เพราะหนังสือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ควรปล่อยไว้กับราคาตลาด
  2. จัดระบบห้องสมุดชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ให้เด็กไทยทุกคนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงหนังสือนิทานโดยเสรีและไม่เสียค่าใช้จ่าย

รู้ตัวนะครับว่าเขียนง่ายแต่ทำยาก อย่างไรก็ตามนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์และชาญฉลาดควรพยายาม

เรื่องชนชั้นนี้มิใช่เรื่องพูดจาเพ้อเจ้อ ในเอกสารอ้างอิงหมายเลข 9-10 ของบทที่ 1 นี้ พูดถึงงานวิจัยที่ทำในครอบครัว 42 ครอบครัว แล้วพบว่าเด็ก 4 ขวบจากชนชั้นวิชาชีพได้ยินคำ 45 ล้านคำใน 4 ปี ชนชั้นแรงงานได้ยิน 26 ล้านคำ ชนชั้นพึ่งสวัสดิการได้ยิน 13 ล้านคำ จะเห็นว่าความแตกต่างนี้สูงมาก คือ มากกว่า 3 ต่อ 2 ต่อ 1 (คำแปลที่ย่อหน้านี้ไม่น่าจะใช้คำว่า “คำศัพท์”) เช่นกัน ท่านที่สงสัยสามารถค้นคว้าต่อเองได้

ทำไมการได้ยินเป็นเรื่องสำคัญ คำอธิบายง่ายๆ คือทารกได้ยินเสียงก่อนการอ่าน เราไม่จำเป็นต้องรอเด็กเล็กให้อ่านได้ เราควรพูดกับเขาและอ่านออกเสียงให้เขาฟังได้เลย นั่นเท่ากับการสร้างคลังคำศัพท์จำนวนมหาศาลตั้งแต่วันแรก และในงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่เราเคยได้ยินมาบอกแล้วว่าท่านอ่านนิทานให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ แม้ว่าประการหลังนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างคลังคำศัพท์ แต่เสียงที่คุ้นเคยของแม่ตั้งแต่ในครรภ์จะช่วยให้เขาเป็นเด็กที่มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีได้ (temperament)

คลังคำศัพท์ที่ต่างกันมากมายนี้ไม่สามารถชดเชยได้ในเวลาต่อมา เป็นอีกประโยคหนึ่งที่สำคัญ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยหมายเลข 11 คือหลักฐานสนับสนุนประโยคที่ผมพูดไว้ “การอ่านคือกิจกรรมที่ไม่มีวันไล่กันทัน”

ตอนที่ผมพูดประโยคนี้ครั้งแรกผมเพียงคิดว่าใครที่เริ่มต้นชีวิตนักอ่านได้ก่อนจะสปีดความเร็วของการอ่านและการทำงานของสมองเร็วขึ้นทุกขณะ ในขณะที่ผู้ที่เริ่มอ่านช้ากว่าแม้จะดีกว่าไม่อ่านแต่จะเร่งสปีดอย่างไรก็ไม่ทันคนที่ออกวิ่งไปล่วงหน้า ปรากฏว่าความข้อนี้เป็นจริงกับเรื่องการอ่านออกเสียงให้เด็กฟังด้วย

“เล่านิทานได้มั้ยครับ” เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ผมได้รับเป็นประจำ คำถามนี้มาจากพ่อมากกว่าแม่ หรือไม่ก็เป็นพ่อฝากแม่มาถาม เราคงไม่ตีความว่าผู้ชายขี้เกียจอ่านมากกว่าผู้หญิง หรืออัตราส่วนของการอ่านหนังสือคล่องในผู้ชายไทยมีน้อยกว่า แต่ก็ไม่แน่?

การพูดจากันในชีวิตประจำวันของคนเราใช้คำศัพท์เพียง 5,000 คำ อย่างมากไม่เกิน 10,000 คำ และคำที่ใช้บ่อยจริงๆ มีเพียง 1,000 คำ ตัวเลขเหล่านี้แตกต่างกันบ้างในตำราเล่มต่างๆ แต่ก็ใกล้เคียงกัน ความละเอียดมีปรากฏในบทที่ 1 หน้า 43 ของหนังสือเล่มนี้ แต่ในหนังสือนิทานสำหรับเด็ก หรือหนังสือนิทาน หรือหนังสือวรรณกรรมเยาวชน มีคลังคำศัพท์มากมายกว่าตัวเลขนี้มาก ดังนั้นการอ่านนิทานด้วยการอ่านออกเสียงเป็นเรื่องสำคัญ

จะเล่านิทานก็ไม่ห้ามแต่ขอให้รู้ว่าผลลัพธ์ต่างกันไกล