อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

เอกสารอ้างอิงของบทที่ 1 หมายเลข 11 เล่าถึงงานวิจัยในปี 2010 ที่ทำกับเด็ก 6,800 คนอายุ 3-12 ปี

“พวกเขาพบว่าเด็กจากฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำกว่าจะมีจำนวนคลังคำศัพท์น้อยกว่าเมื่อเริ่มเข้าเรียน (ล้าหลังกว่าคนอื่น 12-14 เดือน)

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือประโยคถัดมา

“แล้วเมื่อโตขึ้นก็ยังชดเชยความสูญเสียนั้นมิได้”

หากใช้คำพูดของเพจเพจหนึ่งบนโลกออนไลน์วันนี้ก็จะอุทานว่า “เรื่องสำคัญแบบนี้ทำไมไม่บอกกู!” บ้านที่เริ่มอ่านนิทานช้ากว่า-โตขึ้นก็ชดเชยความเสียหายไม่ได้!

หากเรายึดหลักเรื่อง epigenesis พัฒนาการมีลำดับชั้นของมัน และเรื่อง critical period พัฒนาการมีเวลาวิกฤตของมัน หากเราไม่ทำสิ่งที่ควรทำในเวลาที่ควรทำเราจะทำงานนั้นมิได้อีกเลย และไม่อาจจะชดเชย “เวลาที่สูญหาย” ได้ด้วย อย่างมากก็เพียงเริ่มต้นใหม่ซึ่งช้ากว่าเด็กที่ออกวิ่งไปก่อนแล้ว

เพราะอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงกว่าจึงได้เปรียบ ว่าที่จริงประโยคนี้ก็อาจจะมีปัญหาในบ้านเราอยู่ดี ดังที่พอทำนายได้ว่าชนชั้นกลางก็ไม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเช่นกัน นี่คือโอกาสของชนชั้นล่างที่จะวิ่งแซง

เพื่อให้เข้าใจความข้อนี้มากขึ้นจะเล่าเรื่องธรรมชาติของการรักษาทางจิตเวชศาสตร์ให้ฟัง

สมมติว่าเราวินิจฉัยเด็กคนหนึ่งเป็นออทิสติกเทียม คือไม่สบตาแม่ ไม่สบตาใคร ไม่ยิ้มตอบแม่ ไม่ยิ้มตอบใคร และไม่พูด อาการเหล่านี้เหมือนเด็กออทิสติกที่เป็นแต่กำเนิดแต่เราใช้คำศัพท์ออทิสติกเทียมเพราะส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยให้เด็กดูหน้าจอมือถือมากจนเกินไปตั้งแต่แรก

แม้ว่าเราจะรักษาได้บ้าง ด้วยการหยุดหน้าจอทันที แต่บุคคลที่เป็นต้นเหตุของการให้เด็กดูหน้าจอมักไม่ให้ความร่วมมือ และพ่อแม่บ้านเราก็ได้แต่เกรงใจผู้อื่นจนลูกตนเองป่วย ดังนั้นเรื่องรักษาจึงไม่ง่าย และถึงแม้ว่ารักษาได้หายดี เด็กกลับมามองหน้าแม่ มองหน้าคน ยิ้มให้แม่ ยิ้มให้คน และพูดได้ แต่ระยะเวลาของความเจ็บป่วย 12-36 เดือนนั้นคือ “เวลาที่สูญหาย”

ความหมายคือพัฒนาการหลายอย่างจะสูญหายไป มันไม่กลับมาโดยอัตโนมัติ เด็กจะต้องใช้เวลา 12-36 เดือนเพื่อพัฒนาตนเองซึ่งจะไม่มีวันไล่ทันเด็กที่พัฒนาไปก่อนหน้าแล้ว

แม้ว่าปรากฏการณ์นี้จะเป็นกึ่งอุปมาอุปไมย กล่าวคือเด็กป่วยที่ถดถอยมิได้ต้องใช้เวลาตีทุนคืนเท่าเวลาที่เจ็บป่วยเสมอไป แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ใช้เวลานาน และขึ้นอยู่กับว่าพัฒนาการอะไรที่สูญหายและพัฒนาการอะไรที่เร่งสปีดได้ พัฒนาการอะไรที่ไม่มีทางเร่งสปีดได้

บทที่ 1 หน้า 45 ภาพประกอบที่ 1.2 คือภาพที่ง่ายและช่วยให้เราเข้าใจเรื่องทั้งหมดโดยง่าย

ภาพประกอบ 1.2 บทที่ 1

 

เราอ่านนิทานให้เด็กฟังเพื่อสร้างคลังคำ คลังคำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับชั้น

กลุ่มแรก คือคำศัพท์เพื่อการฟัง (listening vocabulary) อ่างน้ำที่ใช้เก็บคลังคำเพื่อการฟังได้จากการฟัง ฟังจนล้นแล้วจึงไหลลงสู่อ่างที่สองอันเป็นที่อยู่ของคลังคำกลุ่มต่อมาคือคำศัพท์เพื่อการพูด (speaking vocabulary)

พัฒนาการด้านภาษาเป็นเช่นนี้เอง การสร้างคลังคำที่เกิดจากการได้ยินจึงเป็นเรื่องสำคัญและเราสร้างได้ทันทีตั้งแต่แรกเกิด เด็กที่มีคลังคำเพื่อการฟังมากกว่าจะฟังเก่งขึ้นทุกวัน นำไปสู่พัฒนาการของคลังคำด้านอื่นๆ มากขึ้นทุกเดือน แล้วเรื่องก็จะไปจบที่โรงเรียน

เด็กที่มีคลังคำไปจากบ้านมากกว่าจะฟังครูพูดรู้เรื่องมากกว่า ง่ายๆ เท่านี้เอง เด็กๆ ไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือก็จริงแต่จะเอาอะไรไปใส่เนื้อหาหากไม่มีคลังคำไว้ใส่เนื้อหาตั้งแต่แรก ง่ายๆ เท่านี้เอง

ถ้าการอ่านที่โรงเรียนเป็นเรื่องไม่สนุก ถ้าการอ่านเป็นยาขม ไม่มีทางเลยที่จะให้เขาอ่านนอกห้องเรียน คำถามคือโรงเรียนของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนอนุบาลทำให้การอ่านเป็นยาขมตั้งแต่ปฐมวัยมากน้อยเพียงใด

ดูเอกสารอ้างอิงหมายเลข 29 ของบทที่ 1 นี้ งานวิจัยที่ทำในนักเรียน 150,000 คนจาก 35 ประเทศเมื่อปี 2010 พบว่าบ้านที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ ทำคะแนนเมื่อชั้นประถม 4 มากกว่าบ้านที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นบางครั้ง 30 คะแนน เช่นเดิม หากแคลงใจการค้นพบนี้กรุณาไปหาเอกสารหมายเลข 29 เพื่ออ่านเอง

บ้านเรานิยมส่งลูกไปเรียนก่อน 3 ขวบ โรงเรียนของเรานิยมสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ก่อน 4 ขวบ ค่านิยมเหล่านี้ผิดทั้งธรรมชาติและวิชาการ วิชาการที่ว่านี้คือวิชาการเรื่องพัฒนาการเด็กซึ่งมีเขียนในตำราแพทย์มามากกว่าครึ่งศตวรรษ ว่าเราไม่ควรพรากลูกไปจากแม่ก่อน 3 ขวบเพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดพยาธิสภาพทางจิตในอนาคต และเราไม่ควรเร่งเรียนในช่วง 4-7 ขวบ เพราะเป็นเวลาวิกฤตของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ในสนาม และการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของนิ้วมือด้วยการละเล่น ศิลปะ กีฬา และดนตรี

การอ่านนิทานให้ลูกๆ กับเด็กนักเรียนฟังเป็นพื้นฐานของการเล่น ศิลปะ กีฬา และดนตรี เป็นรากฐานที่เราสร้างได้ตั้งแต่แรกเกิด ถ้าบ้านใดเชื่อแล้วลงมือทำวันนี้ผลลัพธ์ในสิบปีข้างหน้าต่างจากบ้านที่ไม่ทำอย่างเห็นได้ชัด

และถ้าการศึกษาไทยยอมเปลี่ยนแปลงวันนี้ สิบปีสังคมไทยก็เปลี่ยนไปแล้ว

 

 

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง (ตอน 1)

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่