อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

ตอนที่ 3 คลังคำและความจำใช้งาน (1)

 

ในตอนต้นของบทที่ 2 นี้ผู้เขียนอ้างถึงหนังดังในอดีตปี 1987 เรื่อง Three Men and a Baby ซึ่งสร้างใหม่จากหนังฝรั่งเศสชื่อ Trois hommes et un couffin (Three Men and a Cradle) ฉบับฮอลลีวู้ดเข้ามาฉายในเมืองไทยโดยใช้ชื่อว่า อะไรอยู่ในตะกร้า นำแสดงโดยทอม เซลเล็ค สตีฟ กุทเทนเบิร์ก และเทด แดนสัน

โปสเตอร์ “Three Men and a Baby”

หนังเล่าเรื่องชายหนุ่มสามคนตกที่นั่งเป็นพ่อของเด็กทารกหญิงคนหนึ่งซึ่งถูกนำใส่ตะกร้ามาทิ้งไว้หน้าบ้านของคนทั้งสาม เป็นหนังครอบครัวที่ดูสนุกและทำรายได้มหาศาลในปีนั้น มีตอนหนึ่งในหนังที่ตัวละครของทอม เซลเล็ค พูดว่าที่เขาอ่านหนังสือให้ทารกฟังมิได้คิดว่าทารกตัวเท่านี้จะฟังอะไรรู้เรื่อง เขาเพียงแค่ต้องการให้ทารกได้ยิน (โทน) เสียงของเขาเท่านั้นเอง ทั้งนี้เพื่อสร้าง “สายสัมพันธ์”

เป็นไปดังที่ผมเขียนเสมอว่า เราอยากให้พ่อแม่ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน โดยมิได้คาดหวังว่าเด็กจะฉลาดหรือเด็กจะรักการอ่าน แต่เพียงเพื่อประกันว่าพ่อแม่จะปรากฏตัวในห้องนอนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน อันจะเป็นการสร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริง ตามด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกในที่สุด

แต่หนังสือเล่มนี้ได้เขียนต่อไปว่าเด็กที่พ่อแม่เริ่มอ่านออกเสียงให้ฟังก่อน เป็นไปได้ว่าเด็กจะรักการอ่านมากกว่าจริงๆ อธิบายว่าเด็กที่ฟังพ่อแม่อ่านออกเสียงมามากกว่าจะมีคลังคำมากกว่า เด็กที่มีคลังคำมากกว่าจะอ่านหนังสือที่มีคำศัพท์มากกว่ารู้เรื่อง ทำให้ได้คลังคำเพิ่มเติม แล้วสร้างความสามารถที่จะอ่านหนังสือที่มีคำศัพท์มากขึ้นได้เรื่อยๆ เปรียบเทียบกับเด็กที่พ่อแม่อ่านออกเสียงน้อยกว่าทำให้มีคลังคำน้อยกว่า นำไปสู่ความไม่สามารถเลือกหนังสืออ่านได้มากนักเพราะคลังคำที่จำกัด เด็กสองคนนี้จึงทิ้งห่างจากกันมากขึ้นทุกที

คือคำอธิบายสำหรับคำพูดที่ว่าเพราะอะไรเด็กที่มีคลังคำน้อยกว่าจะไม่สามารถลดช่องว่างที่ห่างกันนี้ได้ในภายหลัง

พ่อแม่อ่านออกเสียงให้ลูกฟังทำให้เด็กมีคำศัพท์เพื่อการฟังมากกว่า นำไปสู่คำศัพท์เพื่อการพูด การอ่าน และการเขียนมากกว่าตามลำดับ ปรากฏการณ์นี้อธิบายได้ด้วยระบบสัญลักษณ์ คือภาษามิได้มีอยู่ในตอนแรก แต่เกิดจากเส้นสมมติของชนชาติต่างๆ เพื่อแทนคำพูด การฟังซ้ำ พูดซ้ำ และอ่านซ้ำจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสัญลักษณ์นี้แล้วนำไปสู่ความสามารถในการเขียนในที่สุด ทำให้ช่องว่างด้านความสามารถทางภาษาของเด็กที่มีคลังคำมากและคลังคำน้อยทิ้งห่างจากกันมากขึ้นไปอีก

หนังสือเล่มนี้เขียนมานานแล้ว ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าพ่อแม่อ่านออกเสียงตั้งแต่แรกเกิดช่วยให้ทารกพัฒนาความจำใช้งาน ความจำใช้งานมี 2 ชนิดคือ ความจำใช้งานด้านเสียง เรียกว่า phonological loop และความจำใช้งานด้านภาพ เรียกว่า visuospatial sketchpad ทั้งสองส่วนประสานเข้าหากันด้วยส่วนที่สามคือส่วนบริหารกลาง เรียกว่า central executive

กล่าวเฉพาะความจำใช้งานด้านเสียง เสียงพ่อแม่ที่อ่านนิทานให้ฟังจะช่วยพัฒนาโมเดลความจำใช้งานโดยตรง ทารกบางคนนอนฟังนิทานดีๆ แต่บางคนเล่นยุกยิก และเมื่อถึงวันที่เขาคลานหรือเดินเตาะแตะได้เขาจะเดินไปรอบห้องนอนทำให้พ่อแม่บางท่านหมดกำลังใจที่จะอ่านนิทานออกเสียงต่อ

แต่พ่อแม่ควรอ่านนิทานออกเสียงต่อไป เพราะทุกย่างเท้าที่ทารกเดินเกาะไปรอบห้องนอน หูเขายังคงได้ยิน เขาอาจจะมีลักษณะเหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาในตอนแรกๆ แต่ที่แท้แล้วสมองกำลังพัฒนาโมเดลความจำใช้งาน เขากำลังถือครองความจำของประโยคที่หนึ่งแม้ว่าจะคลานหรือเดินอยู่เพื่อรอให้ประโยคที่สองมาต่อติด จากนั้นถือครองความจำของประโยคที่หนึ่งและสองเพื่อรอให้ความจำใช้งานของประโยคที่สามมาต่อติด เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป เขาถือครองได้กี่ประโยคเป็นเวลานานเท่าไรคือขนาดของถังความจำใช้งานที่ใหญ่ขึ้น วันนี้เขาเป็นเพียงทารกที่ยังไม่เข้าใจเรื่องที่พ่อแม่อ่าน ดังที่ตัวละครของสตีฟ กุทเทนเบิร์ก หยอกตัวละครของทอม เซลเล็ค ในหนังอะไรอยู่ในตะกร้าตอนต้นบทความว่าเด็กจะไปรู้อะไร แต่การอ่านออกเสียงนั้นมิได้สูญเปล่า นอกเหนือจากสร้างสายสัมพันธ์แล้วยังเปิดปากถังความจำใช้งานให้กว้างขึ้น เพื่อรอเวลาที่เด็กจะประมวลผล (process) ประโยคหลายประโยคที่พ่อแม่อ่านออกเสียงให้ฟังเป็น “อ่านเอาเรื่อง” ในตอนท้าย

เรื่องโมเดลปากถังความจำใช้งานนี้เป็นเรื่องสำคัญ ปากถังที่กว้างกว่าช่วยให้เด็กประมวลผลหลายข้อมูลได้ในเวลาเดียวกัน เด็กกลุ่มนี้จะสามารถวางแผนทำการบ้านล่วงหน้าได้หลายวัน ตื่นเช้าแล้วแต่งตัวไปโรงเรียนทันเวลาเพราะรู้ขั้นตอนกระจ่าง เริ่มตั้งแต่ไปล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว กินอาหารเช้า ใส่รองเท้า ถือกระเป๋า แล้วออกจากบ้าน ในขณะที่เด็กซึ่งมีปากถังความจำใช้งานแคบกว่าจะปล่อยข้อมูลนำเข้าได้เพียงครั้งละ 1-2 ข้อมูลแล้วประมวลผลเพียงเท่านั้น เด็กเหล่านี้จึงไม่รู้ว่าตนเองต้องทำการบ้านตอนนี้เพื่อจะส่งวันพรุ่งนี้ หรือไม่รู้ว่าการแต่งตัวไปโรงเรียนตอนเช้านั้นใช้กระบวนการทั้งหมดกี่ขั้นตอนตั้งแต่การใช้แขนหนึ่งสอดเข้าแขนเสื้อหนึ่ง ไปจนถึงผูกเชือกรองเท้าเสร็จ ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องล้างหน้า แปรงฟัน และอาบน้ำ มีขั้นตอนย่อยทั้งหมดกี่ขั้นตอน

พัฒนาการของโมเดลความจำใช้งานนี้ช่วยอธิบายเรื่องที่หนังสือเล่มนี้เขียนอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องความจำใช้งานเพื่อการฟังมาก่อนความจำใช้งานเพื่อการพูด

เด็กได้ยิน จำไว้สักครู่ แล้วก็จะลืมในเวลาไม่กี่วินาที เด็กจะถือครองความจำใช้งานได้นานขึ้นเมื่อพูดกับตัวเอง เวลาเราเห็นเด็กพูดคนเดียว หรือพากย์การกระทำของตัวเองระหว่างเล่นทำครัวมิใช่เรื่องผิดปกติ เขากำลังพัฒนา “ความยาวของความจำใช้งาน”

พ่อแม่อ่านออกเสียงหลายคำ เขาจำได้ไม่กี่คำ จำนวนคำที่ได้ฟังมีมากกว่าจำนวนคำที่ได้พูด แต่ถ้าเราอ่านออกเสียงมากเท่าไร จำนวนคำที่ได้ฟังจะมากขึ้น แล้วจำนวนคำที่ได้พูดจะมากตามไปด้วย นั่นคือคำศัพท์เพื่อการฟังมากกว่าคำศัพท์เพื่อการพูด การพูดคนเดียวหรือการพูดกับคนอื่นเป็นการตอกลิ่มคำศัพท์เพื่อการพูดบ่อยให้ฝังแน่นและคงทน เด็กสามารถทำให้คงทนได้มากยิ่งขึ้นด้วยการอ่านและการเขียน อ่านหนังสือที่ตัวอ่านออกด้วยคลังคำตั้งต้น แต่หนังสือที่ดีจะนำเข้า (import) คลังคำใหม่ๆ อีกจำนวนมากที่เรามิได้ใช้ในการพูดประจำวัน หรือแม้กระทั่งในการเล่านิทาน

วรรณกรรมเรื่อง “แมงมุมเพื่อนรัก”

ยกตัวอย่าง แมงมุมเพื่อนรัก (Charlotte’s Web) วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกปี 1952 ของอี.บี. ไวต์ เล่าเรื่องมิตรภาพระหว่างชาร์ล็อตต์ แมงมุมในโรงนา กับวิลเบอร์ หมูเลี้ยงน่ารักน่าเอ็นดู จะว่าไปนี่คือหนังสือที่เด็กไทยทุกคนควรอ่าน ไม่เพียงเพราะเนื้อเรื่อง เนื้อหา และกลวิธีการเขียนที่ดีเลิศ แต่เพราะเป็นหนังสือที่มีคลังคำใหม่ๆ จำนวนมาก ดังที่หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่าง

 

 

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 1
อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 2

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่