อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

ตอนที่ 4 คลังคำและความจำใช้งาน (2)

 

คลังคำที่ได้จากการอ่านออกเสียงให้ลูกฟังมีมากกว่าคลังคำที่ได้จากการพูดคุยหรือเล่านิทาน ดังนั้นเราจึงควรอ่านออกเสียงให้ลูกฟังนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ไม่เป็นความจริงที่ว่าเราควรเลิกอ่านออกเสียงเมื่อพบว่าลูกอ่านหนังสือเองเป็นแล้ว

ใจความสำคัญของครึ่งหลังของบทที่สองนี้มีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก

เรื่องที่หนึ่ง คือการอ่านออกเสียงให้เด็กพิเศษ 

หนังสือได้ยกตัวอย่างเจนนิเฟอร์ เจนนิเฟอร์คลอดก่อนกำหนดและเป็นดาวน์ซินโดรม เธอรับการผ่าตัดแก้ไขหัวใจพิการแต่กำเนิดและต้องอยู่ในห้องไอซียู แล้วอยู่โรงพยาบาลอีกเจ็ดสัปดาห์ คุณหมอบอกกล่าวว่าเธออาจจะตาบอด หูหนวก และปัญญาอ่อน

นี่คือเรื่องที่คุณแม่ของเจนนิเฟอร์ทำ คุณแม่อ่านนิทานคืนละ 10 เล่มทุกวันตั้งแต่แรก ช่วงที่เจนนิเฟอร์อยู่ในไอซียูคุณแม่จะเปิดเสียงนิทานทิ้งเอาไว้ และคุณแม่ทำเช่นนี้เสมอมาจนกระทั่งเจนนิเฟอร์เรียนชั้นประถมหนึ่ง

เจนนิเฟอร์อ่านเก่งที่สุดในห้องและมีคลังคำศัพท์มากมาย สอบอ่านได้คะแนนเต็มทุกครั้ง เธอเป็นนักเรียนดีเด่น เป็นนักไวโอลิน เรียนจบประกาศนียบัตรหลังประถมปลายสำหรับผู้มีปัญหาการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยเวสลีย์ วันนี้เธอมีคอนโดมิเนียมของตนเองและมีพจนานุกรมสองเล่มวางอยู่บนโต๊ะตลอดเวลา

ผมได้รับคำถามจากคุณพ่อคุณแม่ของเด็กพิเศษเสมอๆ ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตดี การไปพบนักพัฒนาการหรือนักแก้ไขการพูดทุก 1-2 เดือนเป็นเรื่องที่กระทำอยู่แล้วแต่เห็นความก้าวหน้าไม่มากนัก

คำตอบที่ผมให้เสมอคือควรไปพบนักพัฒนาการหรือนักฝึกพูดตามนัดเสมอ อย่าหมดหวังหรือหมดกำลังใจ และให้ตั้งใจฝึกหรือกระตุ้นลูกตามคำแนะนำของนักพัฒนาการหรือนักฝึกพูดตลอดช่วงเวลาที่อยู่บ้านเพื่อรอนัดครั้งต่อไป เราต้องทำเอง มิใช่ยกหน้าที่ให้นักพัฒนาการหรือนักฝึกพูดทำเพียงเดือนละ 1 ชั่วโมง หากเราลงมือทำเองทุกวันเด็กจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ผมเติมเสมอว่าให้อ่านนิทานก่อนนอนทุกคืน อย่าหยุดอ่าน ที่ผมไม่ได้พูดคืออ่านอย่างน้อย 10 เล่มแบบคุณแม่ของเจนนิเฟอร์ ที่ผมพูดเสมออีกเรื่องคืออ่านเล่มไหนก็ได้ที่ลูกฟัง และคนอ่านสนุกกับการอ่าน

หนังสือเล่มนี้ได้ให้คำแนะนำเรื่องการเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็กพิเศษในตอนเริ่มต้นไว้ดังนี้

  1. ใส่ใจหน้าปก ขนาด หน้าหนังสือ ขนาดรูปภาพ และขนาดตัวอักษร
  2. เลือกที่มีคำซ้ำหรือคำคล้องจอง
  3. เลือกเรื่องสั้นๆ ข้อความไม่เยอะ
  4. เลือกเรื่องที่มีรูปภาพง่ายๆ ไม่รกตา
  5. เลือกเรื่องที่มีการตั้งคำถาม

หน้าปก “The Very Hungry Caterpillar”

ทั้งนี้โดยยกตัวอย่างหนังสือหลายเล่ม เล่มที่มีแปลไทยแล้วคือ หนอนจอมหิว (The Very Hungry Caterpillar) ของเอริก คาร์ล อย่าลืมว่าเด็กพิเศษหรือเด็กสมาธิสั้นไม่อยู่นิ่งในวันแรกๆ ขอให้อดทนที่จะอ่านต่อไป เด็กจะนิ่งหรือมีสมาธิเพิ่มขึ้นได้เมื่อมีระบบความจำใช้งานที่แข็งแรงขึ้น ทั้งหมดนี้ใช้เวลาหลายเดือน

เมื่อหมดกำลังใจให้ดูเจนนิเฟอร์เป็นตัวอย่าง

เรื่องที่สอง คือเรื่องการอ่านออกเสียงให้วัยทีนหรือวัยรุ่น

คำแนะนำคือเราอ่านออกเสียงให้ลูกฟังได้จนกระทั่งเขาอายุประมาณ 11-12 ปี และอายุ 11-12 ปีนี้เป็นที่ยืนยันว่าที่จริงแล้วเขายังอยากฟัง

หนังสือยกตัวอย่างกรณีของคริสเตน โบรซินา ที่พ่อของเธอ จิม โบรซินา อ่านหนังสือให้เธอฟังรวม 3,218 คืน โดยไม่มีใบงานหรือการทดสอบคำศัพท์ อีกครั้งหนึ่ง อ่านนิทานให้ลูกฟังด้วยความสนุกสนาน ไม่ต้องมีใบงานหรือทดสอบคำ

“เธอมีอะไรตอบแทนความพยายามของพ่อบ้างนอกเหนือจากความรัก ความผูกพัน และประสบการณ์ร่วมกัน” คำตอบคือเกรดเอเกือบทุกวิชาในสี่ปีที่วิทยาลัย ชนะเลิศงานเขียนระดับประเทศสองครั้ง และเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ที่เธอมีร่วมกับพ่อหนึ่งเล่มโดยใช้นามปากกาว่า อลิซ ออซมา ชื่อหนังสือว่า สัญญาที่จะอ่าน พ่อของฉันและหนังสือที่เราอ่านด้วยกัน (The Reading Promise: My Father and the Books We Shared)

หนังสือ “The Reading Promise: My Father and the Books We Shared” โดย อลิซ ออซมา และจิม โบรซินา

 

การชักชวนวัยรุ่นให้มาอ่านหนังสือด้วยกันมิใช่เรื่องง่ายนักหากมิได้มีการเตรียมตัวมาก่อนจนกระทั่งคุ้นเคย คำแนะนำที่หนังสือนี้มีให้ คือ 3 B

ในประดาวัฒนธรรมคำย่อที่แสนน่าเบื่อ ผมพบว่าคำย่อ 3 B นี้เข้าท่ามาก

 

Books ให้หนังสือแก่เด็ก ให้เด็กได้เขียนชื่อตัวเองและเป็นเจ้าของหนังสือ มิใช่ทุกเล่มต้องขอยืมจากห้องสมุด

Baskets ทำตะกร้าหนังสือไว้ในที่ที่เด็กจะได้หยิบ และหยิบง่าย วางหนังสือไว้ทั่วบ้านดีกว่าเก็บหนังสือไว้กระจุกเดียว

Bed Lamp ซื้อโคมไฟหัวเตียงอ่านหนังสือให้แก่ลูก ข้อนี้อ่านแล้วออกจะโหดเล็กน้อย ถ้าเด็กอ่านหนังสือเราจะเปิดไฟให้อ่านแล้วขยายเวลาเข้านอนไปได้อีก 15 นาที ถ้าเด็กไม่อ่านหนังสือเราจะปิดไฟนอนตามเวลาเดิม เป็นไปได้หากทำจนเป็นนิสัยตั้งแต่เล็กเพียงเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านก่อนเข้านอน

 

มีอีกคำแนะนำหนึ่งข้อที่เข้าท่า อ่านออกเสียงในรถให้ลูกฟังเมื่อขับรถส่วนตัวเดินทางไกล ถ้าพ่อหรือแม่ขับรถเองและอีกคนมิได้ไปด้วยให้เปิดเทปนิทาน นวนิยาย หรือวรรณกรรมไประหว่างทาง

 

ทั้งหมดนี้ภายใต้ข้อเท็จจริงที่พูดถึงแล้วนั่นคือ คำศัพท์เพื่อการฟัง มาก่อนคำศัพท์เพื่อการอ่าน

 

 

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 1

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 2

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ตอน 3

 

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่