
บ.ก. เมษ์ ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์
“ว่าไงเจ้าลิง วันนี้ก็เจอกันสักตั้ง”
นี่ไม่ใช่คำทักทายลิงในสวนสัตว์ที่ไหน แค่เอ่ยทักทายเจ้าลิงหน้าเดิมที่เลี้ยงไว้หลายปี เปล่า ไม่ได้เลี้ยงไว้ที่บ้านหรอกนะ เราทักทายลิงในสมองของเราเอง
ปราชญ์โบราณเปรียบจิตใจฟุ้งซ่านกังวลว่าเหมือนมีลิงคอยปั่นป่วนซุกซนในสมอง ก่อนจะได้อ่านเล่ม “หยุดเลี้ยงลิงในสมองคุณ!” เราเองคิดว่าตัวเองก็ขี้กังวลพอตัว แต่ถึงขั้นฟุ้งซ่านเหมือนมีลิงมายึดครองสมองเลยเหรอ คงไม่ขนาดนั้นมั้ง
ไหนดูซิ … “กูเกิลไม่หยุดเมื่อมีอาการป่วย”, “ทบทวนสิ่งที่พูดหรือทำไปแล้ว”
, “ไม่กล้าคุยกับคนแปลกหน้าเพราะกลัวพูดอะไรพลาดไป”
, “คิดหาข้ออ้างไม่หยุดเวลาต้องปฏิเสธคนอื่น”
… ไปๆ มาๆ ดูเหมือนว่าวิธีคิดแบบลิงทั้งสามแบบ ทั้งทนความไม่แน่นอนไม่ได้ นิยมความสมบูรณ์แบบ และรับผิดชอบจนล้นเกิน นี่มันตัวฉันทั้งนั้นเลยนี่นา
รู้ตัวอีกที ดูเหมือนเราจะเลี้ยงลิงไว้ฝูงใหญ่ แถมขยันป้อนอาหารให้มันไม่หยุดด้วย
เจนนิเฟอร์ แชนนอน ผู้เขียนหนังสือก็เคยถูกลิงยึดครองสมองเหมือนกัน แต่เธอไม่ยอมถูกลิงหลอกตลอดไป เธอสังเกตวงจรการป้อนอาหารลิงในสมอง หรือ “วงจรวิตกกังวล” ซึ่งส่วนนี้เราอ่านแล้วเซอร์ไพรส์มาก เพราะวิธี “คลายกังวล” ที่เราเคยคิดมาตลอด อย่างเช่นการย้อนกลับไปเช็กทุกอย่างให้แน่ใจในสิ่งที่กลัวลืมหรือกลัวพลาด หรือผัดวันประกันพรุ่งเรื่องที่คิดว่าจะทำได้ไม่ดีออกไป ที่จริงแล้วกลับเป็นการป้อนอาหารให้ลิงได้ใจ จะได้มีแรงร้อง “เจี๊ยกๆๆ ” มาคอยกระตุ้นวงจรวิตกกังวลให้ดำเนินต่อไปไม่รู้จบ
แสบนักนะเจ้าลิง แต่จะโทษใครได้ล่ะ เราป้อนอาหารมันมากับมือจนออกลูกหลานเต็มสมองเองนี่นา
โชคยังดีที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้แค่สะกิดให้เราเห็นลิง แต่ยังสอนวิธีสู้รบปรบมือกับลิงและยึดครองสมองกลับคืนมาด้วย มีตั้งแต่การฝึกต้อนรับความรู้สึกกังวล กล่าวขอบคุณเจ้าลิงที่คอยร้องเตือน จัดเวลาเพื่อกังวลเป็นช่วงๆ ไปจนถึงการฝึกวิธีคิดแบบเปิดกว้างมาสู้กับวิธีคิดแบบลิง ทั้งหมดนี้เราต่างฝึกทำได้เองด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรมตามแนวทางแบบ CBT
สารภาพตรงๆ ตามประสาคนเลี้ยงลิงไว้นานเกินไปว่า ทุกวันนี้เราก็ยังตกหลุมพรางลิงอยู่บ่อยๆ แหละ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังอ่านเล่มนี้คือ อย่างน้อยที่สุด หลายครั้งเราก็หยุดตัวเองได้ทันก่อนที่จะยื่นกล้วยเข้าปากลิง เลยหดมือกลับแล้วกล่าวทักทายลิงแทน ด้วยประโยคแรกของบทความนี้นั่นแหละ
“ว่าไงเจ้าลิง วันนี้ก็เจอกันสักตั้ง”

หยุดเลี้ยงลิงในสมองคุณ!
Jennifer Shannon เขียน
สุดคนึง บูรณรัชดา แปล