4 เคล็ดลับความสุข ฉบับ Lykke

นี่คือเคล็ดลับบางส่วนที่เราคัดสรรจาก ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก ที่จะช่วยให้ชีวิตคุณมี “ความสุข” หรือ “ลุกกะ” (ในภาษาเดนมาร์ก) ยิ่งขึ้นในทุกๆ วัน

เคล็ดลับความสุข #1 เวลางานที่ไม่ถูกขัดจังหวะ

เชื่อว่าสิ่งแรกที่หลายคนต้องทำในเช้าวันจันทร์คือเช็กอีเมลงานจำนวนมหาศาล วิ่งรอกประชุมเป็นว่าเล่น และรายงานความคืบหน้าของงานให้เจ้านายฟัง

ประเด็นก็คือ ถ้าคุณต้องจัดสรรเวลาไปกับสารพัดธุระแทรกแซงเหล่านี้ คุณจะเอาเวลาที่ไหนมาทำงานให้คืบหน้ากันเล่า?

ลองนึกภาพว่าคุณได้อยู่ตามลำพังในที่ทำงานทั้งวัน ไม่มีการประชุมใดๆ ทั้งสิ้น เจ้านายไม่โทรศัพท์มาถามหารายงานความคืบหน้าโปรเจกต์ และไม่มีอีเมลเด้งเตือนพร้อมจั่วหัวว่า “ด่วน”

ช่างเป็นฝันที่แสนดีใช่ไหม นึกภาพดูสิว่าคุณจะทำอะไรกับเสรีภาพขนาดนั้นได้บ้าง ลองนึกดูว่าวันนั้นคุณจะทำงานได้มากขนาดไหน งานที่ลึกซึ้ง งานที่ต้องใส่ใจและทุ่มเทสมาธิอย่างเต็มที่ งานที่คุณเลือกจะทำและมีความสุขที่ได้ทำ

บริษัท Intel เคยทดลองใช้โมเดลที่ลักษณะคล้ายกับ “ป้ายห้ามรบกวนหน้าประตู” โดยกำหนดช่วงเวลาสงบเงียบยามเช้าวันอังคาร กล่าวคือ ในเช้าวันอังคาร พวกเขาจะพยายามขัดจังหวะกันให้น้อยที่สุด ไม่มีกำหนดการประชุม โทรศัพท์จะตัดเข้าเครื่องบันทึกเสียงทันที พร้อมทั้งปิดอีเมลและโปรแกรมส่งข้อความคุยกัน เป้าหมายของมาตรการนี้คือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานจะมี “เวลาขบคิด” สี่ชั่วโมงเต็ม

โครงการนำร่องนี้กินเวลานานเจ็ดเดือน ผู้เข้าร่วม 71 เปอร์เซ็นต์แนะนำให้นำไปใช้กับแผนกอื่นๆ อีกทั้ง Intel ยังพบว่าการทดลองนี้ “ประสบความสำเร็จในการยกระดับประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และคุณภาพชีวิตของพนักงานจำนวนมาก ซึ่งมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป”

ที่ทำงานในเดนมาร์กเองก็มีระดับอิสรภาพในการปกครองตนเองสูงและยืดหยุ่นมากทีเดียว ผู้คนมักได้รับอนุญาตให้ทำงานบางส่วนที่บ้าน นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ชาวเดนมาร์ก 94 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าพวกเขามีความสุขกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน และชาวเดนมาร์ก 58 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขาจะยังคงทำงานต่อไป แม้ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อเหตุผลทางการเงินแล้วก็ตาม

งานสามารถเป็นบ่อเกิดของความสุข และควรจะเป็นเช่นนั้นด้วย ซึ่งการออกแบบรวมทั้งการใช้งานที่ทำงานอย่างเหมาะสมมีส่วนช่วยผลักดันให้เราเข้าใกล้ความสุขมากขึ้นได้ และหนึ่งในนั้นคือการจัดหาองค์ประกอบของเสรีภาพให้คนทำงาน อันได้แก่เวลาว่างที่ไม่ถูกขัดจังหวะนั่นเอง

เคล็ดลับความสุข #2 อาบป่า เยียวยาจิตใจ

จงเสพธรรมชาติ เพื่อเป็นยาบำรุงรักษาอาการไม่พึงพอใจในชีวิต

Henry David Thoreau

ชาวญี่ปุ่นมีวิถีปฏิบัติที่เรียกว่า “ชินริง-โยะกุ” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “การอาบป่า” หรือสูดบรรยากาศของป่า หมายถึงการซึมซับภาพ กลิ่น และเสียงของธรรมชาติที่แวดล้อมรอบตัวเพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายใจ

คำว่าชิงริน-โยะกุคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1982 วิถีดังกล่าวแตกต่างจากการเดินป่าทั่วไป เพราะชิงริน-โยะกุคือการซึมซับทุกสิ่งและกระตุ้นทุกผัสสะของเรา ทั้งยังมุ่งเน้นไปที่การบำบัดเป็นหลัก ทุกวันนี้มีคนญี่ปุ่นนับล้านๆ คนเดินไปตามเส้นทาง “ป่าบำบัด” ทั้ง 48 สาย เพื่อรับยาขนานนี้

มีผลการวิจัยที่ระบุว่าการบำบัดวิธีนี้ช่วยลดระดับคอร์ติซอลในเลือด ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อรู้สึกเครียด ทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ การอาบป่าอาจไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพกายของเราเท่านั้น งานค้นคว้าวิจัยของสหราชอาณาจักรพบว่า กิจกรรมอย่างการเดินท่องชนบท ล่องเรือ และทำสวน ล้วนส่งผลดีต่ออารมณ์และความเคารพตนเองของผู้เข้าร่วม

โดยรวมแล้วเรามีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งชี้ว่า การใช้เวลาในโลกธรรมชาติมีประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งย่อมส่งผลต่อความสุข หรือ “ลุกกะ” ในชีวิตเราเช่นกัน

เคล็ดลับความสุข #3 “หาเวลาไปกินข้าวด้วยกันนะ”

ในโรงเรียนรัฐบาลของฝรั่งเศส เด็กๆ จะได้กินอาหารมื้อละสามจาน ซึ่งอาจประกอบด้วยอาหารเรียกน้ำย่อยอย่างสลัด อาหารจานหลักเป็นเนื้อลูกวัวหมักกับเห็ดและบร็อกโคลี ตามด้วยทาร์ตแอปเปิลเป็นของหวาน แน่ละว่ามีชีสกับขนมปังมาด้วยพร้อมสรรพ

ผ้าเช็ดปากและเครื่องเงินแท้เผยให้เห็นว่าพิธีรีตองที่รายล้อมอาหารมื้อนั้นแทบจะสลักสำคัญเท่ากับตัวอาหารเองเลยทีเดียว นี่เป็นเรื่องของการนั่งลงกินอย่างสงบ ชาวฝรั่งเศสกินอาหารร่วมกัน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้ชาวฝรั่งเศสเป็นชนชาติที่ใช้เวลากินอาหารในแต่ละวันยาวนานที่สุด

แม้ว่าประชากรของประเทศนี้จะกินอาหารมื้อละสามจาน แถมยังนั่งอยู่ที่โต๊ะตลอดมื้ออาหาร แต่ฝรั่งเศสยังคงมีจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป เรื่องนี้อาจมีสาเหตุมาจากความจริงที่ว่า คนเรากินเยอะขึ้นเวลานั่งอยู่หน้าจอทีวี

งานศึกษาชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลซึ่งตีพิมพ์ใน American Journal of Clinical Nutrition ระบุว่า เราอาจกินเยอะขึ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์เมื่ออยู่หน้าจอทีวี

ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่มีคำแนะนำด้านอาหารอย่างเป็นทางการว่าเราควรกินผักผลไม้กี่ส่วนในแต่ละวัน คำแนะนำอย่างเป็นทางการข้อหนึ่งในฝรั่งเศสกลับบอกว่า คุณควรกินอาหารร่วมกับคนอื่นๆ

แบ่งเวลาให้กับการกิน เอาเวลามื้อกลางวันของคุณกลับคืนมา นั่งล้อมวงกับเพื่อนๆ ครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน แล้วกินอาหารอย่างช้าๆ และเพลิดเพลินพร้อมกับคนอื่นๆ

นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนสามารถตั้งมั่นว่าจะทำให้บ่อยขึ้นได้

เคล็ดลับความสุข #4 เริ่มพูดคุยเรื่องสุขภาพจิต

ครั้งต่อไปที่คุณถามใครสักคนว่าสบายดีหรือเปล่า ขอให้สนใจรับฟังคำตอบของพวกเขาจริงๆ และอย่ายอมให้ตอบแค่ว่า “สบายดี”

ในจำนวนกลุ่มประเทศโออีซีดี 28 ประเทศ เดนมาร์กบริโภคยาแก้ซึมเศร้ามากเป็นอันดับ 7 ขณะที่เกาหลีใต้รั้งอันดับ 27 นี่หมายความว่าชาวเดนมาร์กป่วยด้วยภาวะซึมเศร้ามากกว่าชาวเกาหลีอย่างนั้นหรือ

ไม่ใช่เลย มันแค่หมายความว่าพวกเขาได้รับการรักษาเท่านั้นเอง

ส่วนการใช้ยารักษาจะเป็นหนทางที่ถูกต้องหรือไม่นั้นยังต้องถกเถียงกันต่อไป แต่เป็นเรื่องดีที่ได้อยู่ในสังคมซึ่งมีบริการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตในราคาที่พอจ่ายไหว (โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล) และตราบาปที่สังคมมีต่อผู้ป่วยทางจิตก็ลดลงมากจนผู้คนกล้าที่จะก้าวออกมาหาหนทางรักษาเยียวยา

เราควรสรรเสริญเหล่าผู้ที่กำลังต่อสู้กับความคิดที่ว่าความเจ็บป่วยทางจิตเป็นสิ่งที่ต้องปกปิด เมื่อสองสามปีก่อน นักเขียน นางแบบนายแบบ และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเดนมาร์ก ต่างตบเท้าเข้ามามีส่วนร่วมในรายการโทรทัศน์ชุดหนึ่งทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิตที่พวกเขากำลังรับมือ

เมื่อปี 2017 เจ้าชายแฮร์รีก็ทรงเปิดเผยถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญ พระองค์ตรัสว่า “มีหลายครั้งที่แทบจะเสียสติไปโดยสิ้นเชิง” และขณะนี้ทรงชักชวนให้ผู้คนยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และเปลี่ยนบทสนทนาเรื่องสุขภาพจิตให้กลายเป็นเรื่องปกติ

“จากประสบการณ์ที่เจอมา ทันทีที่คุณเริ่มพูดถึงเรื่องนี้ คุณจะตระหนักว่า ความจริงแล้วคุณเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มใหญ่มากเชียวละ” พระองค์ตรัสกับหนังสือพิมพ์ Telegraph เมื่อเดือนเมษายน 2017

เคล็ดลับความสุข #5 “ … ” (โปรดเติมเคล็ดลับของคุณในช่องว่าง)

“ความสุขอยู่รอบตัวเรา”

เพราะเชื่อในคำพูดเรียบง่ายนี้ ไมก์ วิกิง ผู้บริหารสถาบันวิจัยความสุข และผู้เขียนหนังสือเรื่อง ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก จึงอยากชักชวนผู้คนมามองหา “ความสุข” หรือ “ลุกกะ” ในชีวิตประจำวัน ด้วยแฮชแท็กน่ารักๆ อย่าง #Look4Lykke

ไมก์ชักชวนให้เราออกตามหาความสุข ค้นหาว่าผู้คนและสังคมกำลังกรุยทางสู่ความสุขด้วยวิธีใดบ้าง มีหนทางใดที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้จริง แล้วประกาศต่อไปให้เป็นที่รู้กัน เพื่อที่เราทุกคนจะได้ช่วยกันแพร่กระจายความสุขออกไป

ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นค้นหา “ลุกกะ” จากตรงไหนดี ไมก์ได้แนะแนวทางไว้ในหนังสือ The Little Book of Lykke ซึ่งจะพาไปสำรวจว่าผู้คนทั่วโลกมีหนทางสู่ความสุขอย่างไรบ้าง ปัจจัยใดที่กำหนดให้ผู้คนในประเทศหนึ่งๆ มีความสุขมากกว่าประเทศอื่น แล้วเราจะก้าวไปสู่ความสุขในแบบของตนได้อย่างไร

อ่านแล้วก็อย่าลืมมองหาความสุขรอบตัว แล้วติดแฮชแท็ก #Look4Lykke เพื่อส่งต่อความสุขและแนวคิดดีๆ ให้คนอื่นได้รับรู้และอิ่มเอมใจไปด้วยกัน