ถอดแว่นตา ‘ผู้ใหญ่’ แล้วเรียนรู้โลกใบใหม่ของวัยรุ่น

 

เรื่อง: ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์

 

นับตั้งแต่เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และอีกสารพัดสื่อโซเชียลก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรา ประเด็นเรื่องโซเชียลมีเดียกับวัยรุ่นก็ไม่เคยจางหายไปจากสื่อและวาทกรรมสาธารณะทั้งหลาย ‘ผู้ใหญ่’ จำนวนมากมองว่าโซเชียลมีเดียส่งผลเสียต่อเยาวชนมากกว่าผลดี แต่มุมมองเหล่านี้ล้วนเป็นมุมมองจาก ‘วงนอก’ ทั้งสิ้น

It’s Complicated: the social lives of networked teens (เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต) คือหนังสือที่เขียนขึ้นมาเพื่อนำเสนอชีวิตในโลกโซเชียลของวัยรุ่นผ่านสายตาของคน ‘วงใน’ อย่างตัววัยรุ่นเอง ผู้เขียนใช้เวลากว่าแปดปีเดินทางไปพบปะพูดคุยกับวัยรุ่นหลากหลายเชื้อชาติทั่วอเมริกา และกลั่นกรองเป็นหนังสือที่ตีแผ่ ‘ชีวิตโซเชียล’ ของวัยรุ่นได้อย่างถึงแก่น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการค้นหาตัวตน ความเป็นส่วนตัว ภัยอันตราย การรังแกบนโลกออนไลน์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังไขสารพัดข้อข้องใจเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่น เช่น ทำไมวัยรุ่นจึงนิยมแชร์ทุกสิ่ง โซเชียลมีเดียมีส่วนผลักดันความรุนแรงจริงหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจคือ ผู้เขียนทลายกำแพงที่กั้นขวางระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ และชี้ให้เห็นว่าโดยเนื้อแท้แล้ว พฤติกรรมของวัยรุ่นในโลกออนไลน์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากในโลกออฟไลน์สักเท่าไร โซเชียลมีเดียเพียงแต่ทำให้เรามองเห็นพฤติกรรมดังกล่าวได้มากขึ้นเท่านั้น

วัยรุ่นในอดีตอาจออกไปพบปะสังสรรค์กันตามศูนย์การค้าเพื่ออัปเดตข่าวสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล แสดงออกถึงตัวตนและพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคม อันเป็นสิ่งที่วัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยต่างเสาะแสวงหา เพียงแต่ด้วยกรอบเกณฑ์ทางสังคม ครอบครัว หรือระบบการศึกษาที่เคร่งครัด ทำให้วัยรุ่นในยุคปัจจุบันไม่สามารถออกไปพบปะกันอย่างอิสระได้ดังใจ พวกเขาจึงต้องเสาะหาพื้นที่ใหม่ในโลกดิจิทัล

สาเหตุที่วัยรุ่นใช้เวลามากมายในโลกโซเชียลไม่ใช่เพราะพวกเขาเสพติดเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะพวกเขาต้องการ ‘พื้นที่’ ในการพบปะ เรียนรู้ แสดงออกถึงตัวตน และทวงคืนอำนาจทางสังคม พูดง่ายๆ คือ พวกเขาเพียงแต่ ‘โยกย้าย’ สิ่งที่เคยทำในโรงเรียนหรือศูนย์การค้าไปอยู่บนโลกออนไลน์นั่นเอง

 

ที่มา: http://www.businessofapps.com/mobile-ad-fraud-on-the-rise-and-its-costing-the-industry-billions/

 

แน่นอนว่าพื้นที่แห่งใหม่ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งรูปแบบใหม่ การรังแกบนโลกออนไลน์กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่วัยรุ่นต้องเผชิญ สิ่งที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอแตกต่างจากภาพการรังแกที่เราคุ้นชินตามสื่อ อันเป็นมุมมองจากผู้ใหญ่เป็นหลัก ในหนังสือเล่มนี้ เราจะได้รับฟังเสียงจากวัยรุ่น ทั้งฝ่ายที่เคยรังแกคนอื่นและถูกรังแกในโลกออนไลน์ เรื่องราวจากคำบอกเล่าของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าปัญหาความขัดแย้งของวัยรุ่นนั้นซับซ้อนกว่าแค่ ‘ผู้ล่า’ และ ‘เหยื่อ’ ผลวิจัยบ่งชี้ว่าบางครั้งการรังแกที่เกิดขึ้นกลับเป็น “การทำร้ายตนเอง” เพื่อเรียกร้องความสนใจด้วยซ้ำ

วิธีรับมือกับปัญหาการรังแกจึงควรเริ่มต้นจากทำความเข้าใจสถานการณ์และที่มาที่ไปของพฤติกรรมเหล่านั้นเสียก่อน แทนที่จะด่วนตัดสินด้วยมุมมองแบบ ‘ผู้ใหญ่’ เพียงฝ่ายเดียว

ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นว่า ประเด็นการรังแกนั้นก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ บนโลกออนไลน์ นั่นคือโดยแก่นแท้แล้วมันไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออฟไลน์เลย เด็กที่ชอบรังแกคนอื่นในชีวิตจริงมีแนวโน้มที่จะรังแกคนอื่นในโลกออนไลน์ด้วย ฉะนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่ต้องสาวไปถึงประเด็นทางสังคมและสภาพจิตใจ อันเป็นต้นตอของปัญหาที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้ วิธีแก้ปัญหาที่คิดแต่จะปกป้องเหยื่อและมุ่งหาตัวคนผิดเพื่อนำมาลงโทษจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

แทนที่จะใช้ร่องรอยที่วัยรุ่นทิ้งไว้บนโลกออนไลน์มาเป็นหลักฐานลงโทษผู้กระทำผิด เราควรใช้มันเพื่อช่วยเหลือเยาวชนซึ่งกำลังร่ำร้องให้ผู้คนหันมาสนใจมากกว่า บางครั้งวัยรุ่นเก็บงำปัญหาของตัวเองไว้ แต่ส่งสัญญาณผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ หากเรารู้จักสังเกตและใช้ประโยชน์จากช่องทางเหล่านี้ ก็อาจช่วยเหลือวัยรุ่นที่กำลังสับสนได้ก่อนจะสายเกินไป

 

ที่มา: http://resources.uknowkids.com/blog/bid/330067/Cyberbullying-Teens-Speak-Out

 

ประเด็นสำคัญข้อหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้เน้นย้ำอยู่เสมอคือ การกล่าวโทษเทคโนโลยี (หรือที่หลายคนชอบใช้คำว่า ถูกเทคโนโลยี ‘ทำร้าย’) และคิดเอาเองว่าปัญหาจะคลี่คลายหากเราควบคุมให้เด็กและเยาวชนอยู่ห่างจากโลกออนไลน์ให้มากที่สุด ล้วนเป็นการกระทำที่ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างสิ้นเชิง ปัญหาของวัยรุ่นบนโลกออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการค้นหาตัวตนและจุดยืนในสังคม เทคโนโลยีอาจเพิ่มความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต

สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือเข้าใจและยอมรับว่าวัยรุ่นต้องการเสาะแสวงหาสิ่งใด พร้อมทั้งร่วมมือกับพวกเขาเพื่อหาจุดสมดุล เพราะการรับมือกับชีวิตในโลกโซเชียลของวัยรุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องซับซ้อนอย่างที่ชื่อหนังสือบอกไว้นั่นเอง

หนังสือเล่มนี้คือคู่มือชั้นดีสำหรับพ่อแม่ ครู ผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงตัววัยรุ่นเอง ที่ต้องการทำความเข้าใจและรับมือกับความซับซ้อนในโลกเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้าง ‘พื้นที่’ แห่งใหม่ที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ เติบโต และก้าวเดินไปบนหนทางของตนเองได้อย่างมั่นคง

 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน a day BULLETIN ฉบับที่ 542 (11 มิ.ย. 2018)

 

 

 

 

 

 

 

 

รายละเอียดหนังสือ

หนังสือ: เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต

แปลจาก: It’s Complicated: the social lives of networked teens

ผู้เขียน: danah boyd

ผู้แปล: ลลิตา ผลผลา

พิมพ์ครั้งแรก: มิถุนายน 2561

ราคา: 385 บาท