[TheMomentum] วรรณกรรม: โครงข่ายของจินตนาการ ที่สร้างสรรค์โลกที่เราเห็นและเป็นอยู่

เรื่อง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล

 

In Focus

– หนังสือหนึ่งเล่มไม่ได้เล่าแต่เรื่องของตัวมันเอง แต่เล่า ‘เรื่อง’ (เติม s) อีกหลายเรื่องที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุคเก่าก่อน และตัวมันเองยังสามารถถูก ‘อ่านใหม่’ ได้ในวันข้างหน้า

– ความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในกรอบที่เรียกว่า ‘ความสนุก’ ของผู้อ่าน หรือยอดขายถล่มทลายของมันในยุคยุคหนึ่ง

– แม้จะเต็มไปด้วยชื่อนักเขียนดัง…ที่เราไม่รู้จัก เพราะนักเขียนเหล่านี้คือเหล่าญาติมิตรในแวดวงน้ำหมึกของนักเขียนร่วมสมัยที่เขียนหนังสือชื่อดังซึ่งเรารู้จักดี ไม่ว่าจะเป็น แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง หรือแม้กระทั่งนิยายสุดป็อบอย่าง ทไวไลท์

 

 

คุณอาจจะจำเรื่องย่อของวรรณกรรมแต่ละเรื่องในเล่มนี้แทบไม่ได้ เพราะมันโผล่มาแบบแวบๆ ย่อหน้าเดียวจบ หรืออาจต้องพลิกกลับไปกลับมาเพื่อเตือนความจำว่า นักเขียนชื่อนี้ที่โผล่มาอีกรอบในบทที่กำลังอ่านอยู่ เขาเขียนเรื่องอะไรนะ?

 

แต่การบรรจุบทคัดย่อของวรรณกรรมทั้งหมดที่สำคัญในโลกลงไปในหัวของคุณ ไม่ใช่ภารกิจหลักของหนังสือเล่มนี้อย่างแน่นอน เพราะฉะน้ันไม่ต้องเป็นห่วงว่านักเขียนจะน้อยใจหากคุณจำไม่ได้ หรือไม่สามารถเอ่ยชื่องานวรรณกรรมขึ้นหิ้งในงานเลี้ยงที่คลาคล่ำด้วยเหล่าปัญญาชน

 

สิ่งที่ จอห์น ซัตเทอร์แลนด์ ผู้เขียน ต้องการ น่าจะเป็นการถักทอเส้นใยของงานวรรณกรรมชื่อดังที่พาดโยงถึงกันแบบข้ามยุค ข้ามประเทศ ข้ามทวีป แบบใยแมงมุม ตั้งแต่สมัยที่โลกนี้ยังไม่มีเวิลด์ไวด์เว็บ

 

เพราะหนังสือหนึ่งเล่มไม่ได้เล่าแต่เรื่องของตัวมันเอง แต่เล่า ‘เรื่อง’ (เติม s) อีกหลายเรื่องที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุคเก่าก่อน จากประวัติศาสตร์ จากเรื่องแต่ง หรือเรื่องเล่าเชิงศาสนา หรือย้อนไปไกลถึงตำนาน สมัยที่เรื่องเล่าเดินทางผ่านถ้อยคำ ไม่ใช่ตัวอักษร และตัวมันเองยังสามารถถูก ‘อ่านใหม่’ ได้ในวันข้างหน้า เพื่อเชื่อมโยงกับวรรณกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ กลายเป็นส่วนเติมเต็มให้หนังสืออีกหลายเล่มถัดๆ มา เพื่อที่เราจะได้เห็นและซาบซึ้งในความล้ำลึกของผู้เขียนมากขึ้น

 

ซัตเทอร์แลนด์ ในฐานะศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านวรรณกรรมอังกฤษสมัยใหม่แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน และนักวิจารณ์วรรณกรรม ถ่ายทอดตัวอย่างมากมายเหล่านี้เพื่อให้เห็นว่า ความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในกรอบที่เรียกว่า ‘ความสนุก’ ของผู้อ่าน หรือยอดขายถล่มทลายของมันในยุคยุคหนึ่ง

 

…และแม้แต่ความร่ำรวยของนักเขียนคนนั้นเมื่อยังมีชีวิตด้วย (น่าเสียดาย เพราะเขาคงไม่สามารถไปงานพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ไหนเพื่อหารายได้เสริมได้ด้วย) ไม่แปลกที่คำว่าไส้แห้งกลายเป็นภาพจำของอาชีพนี้

 

หมายความว่า แม้มันจะไม่สนุก หรือในบางทีก็น่าเบื่อแบบสุดๆ ไม่สื่อสารกับใคร และขายได้เพียงหลักร้อยเล่มเมื่อพิมพ์ครั้งแรก แต่อิทธิพลที่มันส่งต่อไปจนเกิดเป็นงานเขียนอีกหลายๆ เล่ม หรือวัฒนธรรมของคนทั้งสังคม กลับยิ่งใหญ่แบบปฏิเสธไม่ลง

 

โลกที่เคยเชิดชูการสงครามว่าคือประตูสู่เกียรติยศของลูกผู้ชายด้วยบทกวีแสนไพเราะ กลับเป็นเรื่องแสนโง่เง่า สะท้อนอยู่ในวรรณกรรมยุคต่อๆ มา (บทที่ 27 บทเพลงสดุดีต้องสาป) หรือวรรณกรรมที่แสดงบรรทัดฐานของสังคมที่เหยียดผิวได้อย่างหน้าตาเฉยในยุคหนึ่ง แถมยังเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการสดุดีในยุคนั้น กลับเป็นของแสลงที่คนรุ่นหลังได้แต่กลืนน้ำลายกลบเกลื่อนความรู้สึกกระดากอายในยุคต่อมา เมื่อการเหยียดความแตกต่าง เท่ากับความคิดที่ล้าหลังน่ารังเกียจ (บทที่ 26 จักรวรรดิ)

 

วรรณกรรมคือหนทางที่ทำให้ผู้คนได้อ่านถ้อยคำจากมุมมองอีกด้าน จากนักเขียนอีกกลุ่ม แล้วพวกเขาก็เปลี่ยนความคิด

 

ชีวิตนักเขียนคนหนึ่งอาจดูธรรมดาหรือล้มเหลวอย่างน่าใจหาย แต่วรรณกรรมของเขาอยู่ยงคงกระพัน เป็นเบสเซลเลอร์ในวันที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้ไปยืนมองมันอย่างภาคภูมิใจที่หน้าร้านด้วยตัวเอง

 

คุณอาจเลิกคิ้วสูง เมื่อพบว่าคาฟคาเป็นเพียงเสมียนที่หม่นหมอง และเขียนงานเก็บซ่อนไว้ไม่ตีพิมพ์ แถมกำชับเพื่อนสนิทว่าให้ทำลายทิ้งเมื่อเขาสิ้นอายุขัย แต่ในเมื่อเพื่อนรักไม่ทำแบบนั้น งานเขียนแบบคาฟคาที่อ่านไม่ค่อยจะรู้เรื่องนัก กลับกลายเป็นต้นธารของวรรณกรรม absurd ทั้งหลาย

 

ชื่อคาฟคาจึงไปไกลกว่าชีวิตซึมกะทือของคนคนหนึ่งในฐานะบุคคล ซึ่งดูเผินๆ ตามท้องถนนอาจไม่มีรัศมีเฉิดฉาย แต่คนที่รักแซมมวล เบกเกตต์ อัลแบร์ กามู หรือวรรณกรรมสะท้อนความไร้แก่นสารของชีวิตเล่มใดๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยต่อมา ก็คงอดไม่ได้ที่จะไปตามอ่านต้นตำรับอย่างงานแบบคาฟคาเอสก์

 

ในฐานะคนที่ไม่ได้อ่านวรรณกรรมเก่าๆ หรือไม่กระตือรือร้นที่จะรู้จักมันมากนัก หนังสือเล่มนี้ไม่ได้น่าเบื่อแต่อย่างใด แม้จะเต็มไปด้วยชื่อนักเขียนดัง…ที่เราไม่รู้จัก

 

เพราะนักเขียนเหล่านี้คือเหล่าญาติมิตรในแวดวงน้ำหมึกของนักเขียนร่วมสมัยที่เขียนหนังสือชื่อดังซึ่งเรารู้จักดี ไม่ว่าจะเป็น แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง  หรือแม้กระทั่งนิยายสุดป็อบอย่าง ทไวไลท์ คุณจึงเห็นความเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าในปัจจุบันได้ไม่ยาก

 

อีกทั้งการพาดพิงถึงวรรณกรรมเรื่องต่างๆ ย่อมพกพาเกร็ดประวัติศาสตร์ในเกิดร่วมยุคของนักเขียนผู้สร้างสรรค์มาด้วยอย่างเสียไม่ได้ อย่างยุคอุตสาหกรรมในลอนดอนเฟื่องฟูกับชาร์ลส์ ดิกเกนส์ หรือยุคที่ความสร้างสรรค์ถูกเซ็นเซอร์จนต้องพาดพิงถึงสถานที่อื่น แบบงานของเชกสเปียร์

 

นี่จึงกลายเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จักวรรดินิยม สงครามโลก การก่อร่างสร้างอเมริกา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ฯลฯ ผ่านงานวรรณกรรมอันแสนรื่นรมย์

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ THEMOMENTUM

วรรณกรรม : โครงข่ายของจินตนาการ ที่สร้างสรรค์โลกที่เราเห็นและเป็นอยู่