เมื่อบันไดหัก: รวมบทความชวนมองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา

เมื่อกล่าวถึง “ความเหลื่อมล้ำ” หลายคนคิดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมหรือปัญหาความยากจน แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญของสังคมเหลื่อมล้ำ แต่นอกจากปัญหาในเชิงเศรษฐกิจแล้ว สังคมเหลื่อมล้ำยังสร้างปัญหาในเชิงจิตวิทยาด้วย

เมื่อมองผ่านแว่นจิตวิทยา ปัญหาในสังคมเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเพียง “ความยากจน” แต่ยังมี “ความรู้สึกยากจน” ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้เมื่อรายได้หรือสถานะทางเศรษฐกิจไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา (The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die) ผลงานของ Keith Payne พาไปมองความเหลื่อมล้ำในมุมใหม่ผ่านแว่นจิตวิทยา เพื่อทำความเข้าใจปัญหานี้อย่างมีมิติมากขึ้น เพราะ “การต่อสู้กับความยากจนเป็นเพียงศึกแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น”

bookscape ชวนอ่านบทความต่อยอดจากหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา เพื่อทำความรู้จักความสัมพันธ์ระหว่าง “ความเหลื่อมล้ำ-อารมณ์ความรู้สึก” ก่อนไปอ่านหนังสือเล่มจริง

 

อ่าน “เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา”

 

มนุษย์ทุกคนล้วนมีความปรารถนาสถานะทางสังคมซ่อนอยู่ในใจ เราโหยหาสถานะที่สูงขึ้น และเปรียบเทียบทางสังคมระหว่างตนเองและผู้อื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว เราจึงอาจรู้สึกว่าตัวเองสูงส่งหรือต่ำต้อยเมื่อเฝ้ามองผู้อื่น แม้เมื่อไม่ตั้งใจหรือไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ เช่น เวลาพลิกดูหน้านิตยสารหรืออินสตาแกรม จิตไร้สำนึกของเราเปรียบเทียบตัวเรากับผู้คนและวิถีชีวิตที่เรามองเห็นอยู่ตลอดเวลา

“บันไดสถานะ” (status ladder) คือมุมมองส่วนบุคคลต่อสถานะทางสังคมโดยเปรียบเทียบกับผู้อื่น หรือคนเรามองตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองอยู่ระดับไหนเมื่อเทียบกับคนรอบตัว ขั้นบันไดสถานะนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ความมี” หรือ “ไม่มี” ของเราแต่อย่างใด

ในสังคมที่เหลื่อมล้ำ มนุษย์ผู้โหยหาสถานะทางสังคมย่อมรู้สึก “ขาด” ได้มากกว่าเดิม เราตอบสนองต่อความเหลื่อมล้ำโดยไม่ได้พิจารณาจากเงินที่เรามี แต่จากตำแหน่งแห่งที่ของเราเมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่น

เพราะฉะนั้น แม้เมื่อเราหาเงินได้มากขึ้น เราก็อาจพึงพอใจน้อยลง เพราะเมื่อปีนบันไดสูงขึ้น ผู้คนรอบตัวที่เราเปรียบเทียบด้วยก็เปลี่ยนไป สิ่งที่เราใช้เปรียบเทียบก็จะเปลี่ยนไปด้วย เพราะเหตุนี้เอง หากมองในเชิงจิตวิทยา สังคมเหลื่อมล้ำจึงกระทบต่อผู้คนทั้งหมดในสังคม ไม่ว่าจะรวยหรือจน

เมื่อมองผ่านแว่นจิตวิทยา เรายังจะเห็นได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังส่งผลกระทบต่อสังคมในหลากหลายแง่มุมอย่างที่เรานึกไม่ถึง เช่น ความเชื่อของผู้คนในสังคม สุขภาวะ ไปจนถึงการทำงานในบริษัท

อ่านหลากหลายมิติของความเหลื่อมล้ำได้ในบทความสรุปหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา 

 

ทำไมต้องอ่าน เมื่อบันไดหัก – จดหมายถึงผู้ว่าฯ – คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น:

รวมเกร็ดชวนคิดในสังคมเหลื่อมล้ำ ที่คนไม่เท่ากัน

 

ในสังคมเหลื่อมล้ำที่ “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมบิดผันวิธีคิดและมุมมองของบุคคล จนสร้างมโนทัศน์ว่าด้วยความแตกต่างและห่างชั้นจากผู้อื่นซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจของเขาหรือเธอต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกข้างทางการเมือง หรือการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วเราจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร มีอะไรที่เราอยากร้องขอต่อรัฐบ้าง มาอ่านเสียงของคนในสังคมเหลื่อมล้ำได้ในบทความนี้

 

เสวนา “เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา”

 

ในพื้นที่ต่างจังหวัดไกลออกไปจากเมืองหลวง เด็กนักเรียนต่างทยอยเดินทางไปโรงเรียนขนาดเล็ก บ้างสวมชุดนักเรียนที่ตกทอดมาจากพี่น้องหลายต่อหลายมือ บ้างเดินทางมาจากบ้านหลายกิโลทุกวันเพียงเพราะโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนเดียวที่มีในพื้นที่ ขณะที่ครูหนึ่งคนกลับต้องรับมือสอนเด็กควบหลายระดับชั้น เนื่องจากโรงเรียนได้รับงบจ้างงานจากส่วนกลางไม่เพียงพอ มองถัดเข้ามาพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เด็กนักเรียนบ้างเดินทางมาเรียนด้วยรถยนต์ส่วนตัว บ้างมาด้วยรถไฟฟ้า ตกเย็นหลังเลิกเรียน พวกเขายังต้องไปเรียนพิเศษต่อ ความหนักใจอย่างเดียวในวัยนี้คือการไขว่คว้าโอกาสเพื่อเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในคณะที่ฝันไว้

สองภาพข้างต้นไม่ได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำแค่ในมิติคุณภาพการศึกษา แต่ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ควรจะช่วยขยับชนชั้นทางเศรษฐกิจไม่ได้มีสำหรับทุกคน อาจจะเหมือนมองโลกในแง่ร้าย แต่การที่เด็กกลุ่มแรกจะขยับฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้เป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก หากเทียบกับเด็กกลุ่มที่สอง ปัจจัยไม่ใช่ความ “ยากจน” อย่างเดียว แต่ยังแฝง “ความรู้สึกจน” ซึ่งเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่เด็กกลุ่มแรกต้องแบกรับ ทั้งยังกระทบต่อเนื่องไปในทุกมิติของชีวิตแม้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

“ความรู้สึกจน” คืออะไร ปัจจัยใดบ้างที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว และมันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้และเติบโตของพวกเขาได้อย่างไร มีทางใดบ้าง ในฐานะครูและผู้ปกครอง ที่จะช่วยหยุดยั้งวงจรดังกล่าวไม่ให้สืบทอดต่อไป

หาคำตอบได้จากสรุปงานเสวนาสาธารณะ “เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา” ซึ่งจัดโดย bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในบทความนี้

 

Workshop “From Emotion to Equality จับอารมณ์ในสังคมเหลื่อมล้ำ”

 

ความเหลื่อมล้ำกระทบสังคมในหลากหลายด้าน รวมไปถึงมิติทางจิตวิทยาอย่างเรื่องอารมณ์และความรู้สึก – ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความยากจนถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อความเหลื่อมล้ำเป็นตัวการทำให้คนรู้สึกว่า “บันได” ที่จะพาขยับชนชั้นนั้นหักพังลง

เมื่ออารมณ์ความรู้สึกกลายเป็นกับดัก ทางออกจึงต้องเปลี่ยนปัจจัยทางจิตวิทยาเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นตอ เป็นที่มาของเวิร์กช็อป “From Emotion to Equality จับอารมณ์ในสังคมเหลื่อมล้ำ สำรวจความเหลื่อมล้ำในมุมใหม่ผ่านเกมจิตวิทยา” จัดโดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง โดยถอดประเด็นจากหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยาออกมาเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและหนทางในการใช้อารมณ์ห้าแบบ แสวงหาจุดร่วมในการเอาชนะความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ

ร่วมให้ความรู้โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชนลักษณ์ ชัยศรีลักษณ์ นักวิจัย และนิสิตปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ค้นพบอีกมิติในการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในวงการศึกษาไทยได้ในบทความนี้

 

เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา

(The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die)

Keith Payne เขียน

วิทย์ วิชัยดิษฐ แปล

อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา