Brief – “เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา”

อธิกัญญ์ แดงปลาด เขียน

ในพื้นที่ต่างจังหวัดไกลออกไปจากเมืองหลวง เด็กนักเรียนต่างทยอยเดินทางไปโรงเรียนขนาดเล็ก บ้างสวมชุดนักเรียนที่ตกทอดมาจากพี่น้องหลายต่อหลายมือ บ้างเดินทางมาจากบ้านหลายกิโลทุกวันเพียงเพราะโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนเดียวที่มีในพื้นที่ ขณะที่ครูหนึ่งคนกลับต้องรับมือสอนเด็กควบหลายระดับชั้น เนื่องจากโรงเรียนได้รับงบจ้างงานจากส่วนกลางไม่เพียงพอ มองถัดเข้ามาพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เด็กนักเรียนบ้างเดินทางมาเรียนด้วยรถยนต์ส่วนตัว บ้างมาด้วยรถไฟฟ้า ตกเย็นหลังเลิกเรียน พวกเขายังต้องไปเรียนพิเศษต่อ ความหนักใจอย่างเดียวในวัยนี้คือการไขว่คว้าโอกาสเพื่อเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในคณะที่ฝันไว้

สองภาพข้างต้นไม่ได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำแค่ในมิติคุณภาพการศึกษา แต่ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ควรจะช่วยขยับชนชั้นทางเศรษฐกิจไม่ได้มีสำหรับทุกคน อาจจะเหมือนมองโลกในแง่ร้าย แต่การที่เด็กกลุ่มแรกจะขยับฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้เป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก หากเทียบกับเด็กกลุ่มที่สอง ปัจจัยไม่ใช่ความ “ยากจน” อย่างเดียว แต่ยังแฝง “ความรู้สึกจน” ซึ่งเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่เด็กกลุ่มแรกต้องแบกรับ ทั้งยังกระทบต่อเนื่องไปในทุกมิติของชีวิตแม้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนมาขบคิดผ่านงานเสวนาสาธารณะ “เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา” หยิบเอาแว่นจิตวิทยามาใช้รับมือกับโจทย์ใหญ่เรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย – ร่วมกันหาคำตอบว่า “ความรู้สึกจน” คืออะไร ปัจจัยใดบ้างที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว และมันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้และเติบโตของพวกเขาได้อย่างไร มีทางใดบ้าง ในฐานะครูและผู้ปกครอง ที่จะช่วยหยุดยั้งวงจรดังกล่าวไม่ให้สืบทอดต่อไป

 

****************

 

เริ่มต้นการพูดคุย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินรายการ อธิบายถึงความเป็นมาของกิจกรรมในครั้งนี้ โดยอ้างอิงสองประเด็นหลักในหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา คือ ความยากจนและความรู้สึกจน ในฐานะความเหลื่อมล้ำเชิงเปรียบเทียบ พาให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดจิตวิทยาซึ่งสอดสัมพันธ์กับมิติในทางเศรษฐกิจ แบ่งแยกผู้คนเป็นลำดับชั้นในระดับโครงสร้าง เริ่มต้นตั้งแต่ในห้องเรียน

ในปี 2561 รายงานของ Credit Suisse – Global Wealth ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก มีคน 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถือครองความมั่งคั่งของประเทศถึง 66.9เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นการถือครองร่วมกันระหว่างคน 99 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้างานเสวนา ทาง The Economist เพิ่งรายงานเรื่องดัชนีทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism Index) ซึ่งประเทศไทยเพิ่งติด 10 อันดับแรกของประเทศที่สัดส่วนความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีเกิดจากการทำธุรกิจใกล้ชิดกับรัฐมากที่สุด เทียบกับสัดส่วน GDP ในขณะที่ช่วงปี 2559–2561 ไทยมีสัดส่วนคนยากจนมากขึ้น แม้เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยตลอด 5–6 ทศวรรษ สอดคล้องกับงานวิจัยที่กำลังจะตีพิมพ์ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาเรื่องการขยับฐานะของครอบครัวคนยากจนและพบว่า แม้คนจำนวนหนึ่งจะมีคุณภาพการศึกษาดีขึ้น แต่กลับไม่สามารถขยับฐานะหรือชนชั้นในสังคมได้

 

สัญญาณเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เราเห็นอะไร

 

ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อ้างอิงข้อมูลเพื่อขยายความต่อว่า โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 5–6 ปี ที่ผ่านมา เป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบที่เรียกว่าเป็นการขยายแบบไม่มีส่วนร่วม (non inclusive growth) คนที่มีส่วนผลักดันมักเป็นนายทุน ขณะที่คนระดับล่างลงมา รวมทั้งคนชนชั้นกลาง หรือกล่าวอย่างเจาะจงก็คือชนชั้นกลางระดับล่าง กลับต้องเจอปัญหาหนักสุด กรณีนี้เกิดขึ้นในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน

“(คนชนชั้นกลางระดับล่างในไทย) อาจเป็นคนที่จบจากมหาวิทยาลัยขนาดเล็กในภูมิภาค เมื่อต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน กลับไม่สามารถแข่งขันกับคนชนกลางระดับกลาง-สูง ทั้งที่อาจเรียนจบปริญญาตรีเหมือนกัน ทำให้มีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่า”

“ในประเทศอเมริกา การขยับฐานะของคนชั้นกลางเองเริ่มหยุดอยู่กับที่ แม้ว่าหลายคนจะมีการศึกษาสูงพอสมควร เพียงแต่ระบบเศรษฐกิจไม่เอื้อให้เขามีส่วนร่วม จนช่วงหลังภาพนี้เริ่มรุนแรงขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน หรือใช้น้อยลง คนที่มีส่วนร่วมในงานที่เหลือจึงเป็นเหมือนซุปเปอร์แมน คือมีการศึกษาดี มาจากครอบครัวที่มีฐานะ มีโอกาสในชีวิตที่มากกว่า เทียบกับที่จบปริญญาตรีจากนอกเมือง โลกของคนกลุ่มหลังแคบกว่า เลยทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจของเขาน้อยลง”

การที่คนชนชั้นบนสามารถขยับฐานะได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะสามารถหาประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากระบบทุนนิยมพวกพ้องอีก สำหรับ ดร. สมชัย เห็นว่า ระบบดังกล่าวได้สร้างคนจำนวนมากที่ “รวยอย่างไม่สมควรรวย” ในขณะที่จำนวน “คนจนอย่างที่ไม่ควรจน” กลับเพิ่มขึ้น และภาวะนี้ก็เกรงว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

กรรณิการ์เปิดประเด็นต่อมา เล่าเรื่องในหนังสือซึ่งเปรียบเรื่องความจนกับความรู้สึกจนว่าคล้ายกับการที่เรานั่งรถไฟที่หยุดอยู่กับที่ ทว่าเมื่อเห็นขบวนข้างๆ เคลื่อนไปข้างหน้า เรากลับรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถอยหลัง ภาวะแบบนี้เกิดขึ้นแม้กับคนที่มีฐานะ เมื่อต้องเปรียบตัวเองกับคนจากชนชั้นที่สูงกว่า

 

ทำไมความเหลื่อมล้ำถึงเป็นเรื่องใหญ่  แล้วมันส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความรู้สึก หรือประสิทธิภาพในการเรียนของเด็กได้อย่างไร

 

ภก. ณภัทร สัตยุตม์ นักวิชาการด้านพฤติกรรมศาสตร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อธิบายนิยามของคำว่าความจนและความรู้สึกจน อย่างแรก ความจนหมายถึงการที่เราไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เพียงพอได้ แต่ความรู้สึกจนคือการที่รู้สึกว่าสิ่งที่เรามียังไม่พอเมื่อเทียบกับคนอื่น จากการยกตัวอย่างเรื่องรถไฟ ในมุมของเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม การมีมากหรือน้อยไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีเป็นอันดับที่เท่าไหร่ (relative ranking)

การเปรียบเทียบที่ว่าเกิดจากการตอบสนองอย่างรวดเร็วของสมอง การคิดแบ่งได้เป็นสองรูปแบบคือ ความคิดที่เกิดขึ้นไวๆ เพื่อตอบสนองความอยู่รอด กล่าวคือการเลือกว่าจะทำอะไรหรือจะรู้สึกอย่างไร อีกรูปแบบคือ การคิดแบบไตร่ตรอง หรือคิดโดยมีหลักฐานประกอบ ในการใช้ชีวิตปกติ มนุษย์มักจะใช้ระบบคิดแบบแรกเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เจอ เมื่อต้องเจอกับความต่างทางฐานะ เราจึงคิดในรูปแบบแรกโดยไม่ได้ไตร่ตรองปัจจัยอื่นประกอบ เป็นเรื่องอัตโนมัติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก พาให้ตัวเองรู้สึกว่า เราไม่อาจเอื้อมที่จะไขว่คว้าปัจจัยทางเศรษฐกิจได้เทียบเท่ากับอีกฝ่าย เป็นที่มาของคำว่า “บันได” ที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้

“ในแง่จิตวิทยาสังคม ตามหลักวิวัฒนาการของมนุษย์ …

“… เวลาเรามีข้อมูล ทรัพย์สิน หรือความสามารถหนึ่งชุด สมมติว่า เรามีความสามารถในการปีนต้นไม้ ถ้ามีคนถามเราว่า เราปีนต้นไม้ได้หรือไม่ เราอาจตอบว่าปีนได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่คำถามเปลี่ยนเป็น เราปีนต้นไม้ได้เก่งไหม เรื่องนี้ไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน การเปรียบเทียบในทางสังคมก็จะเข้ามาทำบทบาทแทน ว่าเรากำลังนำหรือตามหลังคนอื่นอยู่”

 

กรรณิการ์อ้างอิงเนื้อหาในหนังสือเกี่ยวกับข้อโต้เถียงเรื่องคุณลักษณะนิสัยเฉพาะของคนที่ส่งผลต่อความยากจน ฝ่ายหนึ่งมองว่า เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวของบุคลแต่แรก (nature) ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่า สภาพแวดล้อมหรือการเลี้ยงดู (nurture) ต่างก็มีส่วนในการหล่อหลอมลักษณะนิสัยนั้นๆ คำถามคือ เราควรจะมองเรื่องนี้อย่างไรดี

 

อ. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำตอบโดยอิงหลักจิตวิทยาว่า เรื่องนี้มองได้สองมุม สำหรับลักษณะนิสัยที่ส่งผลต่อความยากจนอย่างความขี้เกียจ การเลือกงาน หรือความไม่ตั้งใจ แง่หนึ่งก็เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่คนคนนั้นเติบโตมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็ก ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวแต่แรก แต่ในขณะเดียวกัน ความยากจนเองก็สามารถส่งผลทางชีวภาพระยะยาวจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็น nature ได้

“ในมิติทางชีวภาพ มีงานวิจัยหลายชิ้นอธิบายว่า ความจนถูกฝังลึกใต้เนื้อหนัง (under the skin) อุปสรรคปัญหาจากความขาดแคลน ย้อนไปตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ของแม่ มันสามารถส่งผลทางชีวภาพได้ในระดับยีนส์ เป็นผลระยะยาวต่อเนื่องสู่วัยผู้ใหญ่ กระทบทั้งสุขภาพ มุมมอง หรือแม้แต่ทัศนะต่อสังคม”

“ถ้าคนในครอบครัวต้องเผชิญกับความยากจน ลำบาก ความไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูหรือส่งเสริมทางการศึกษา ผลก็จะถูกส่งต่อไปยังเด็ก สะท้อนคำที่ว่า ความยากจนเป็นสิ่งที่ถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่น การที่คนคนหนึ่งไม่สามารถก้าวขึ้นบันไดต่อไปได้ นั่นเพราะมันมีอิทธิพลถึงเรื่องการเรียนรู้ด้วย”

 

คำถามต่อมาที่กรรณิการ์ชวนขบคิดคือ ในโลกของการศึกษาแบบไทยๆ อะไรบ้างที่ก่อเป็นสาเหตุให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกจน ต้องอยู่ในสภาวะที่ความเหลื่อมล้ำสูง

 

ภก.ณภัทร เห็นว่า เดิมทีเด็กอาจไม่รู้สึกว่าตัวเองจน จนเมื่อถูกกระทบด้วยเรื่องบางเรื่อง อย่างเช่น ในช่วงโควิดระบาดแล้วต้องถูกให้เรียนออนไลน์ จากการสำรวจเด็กที่ได้รับทุนของ กสศ. ภก.ณภัทร พบว่า เด็กบางคนทางบ้านขาดความพร้อมเรื่องอุปกรณ์การเรียน บ้างต้องอยู่ในบ้านที่สภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการเรียน ต้องแชร์พื้นที่กับญาติพี่น้องคนอื่น สภาพแวดล้อมแบบนี้เองที่ทำให้เด็กคิดเปรียบเทียบตัวเองทันที

เมื่อเกิดความรู้สึกจนแล้ว ภาวะดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อการเรียนได้อย่างไร อ. เจนนิเฟอร์ สะท้อนว่า อย่างแรกเลยคือการตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองของเด็กที่ลดลงเมื่อเทียบกับเพื่อนในห้อง รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งจนอาจทำให้ไม่อยากทำกิจกรรมการเรียนร่วมกัน หรือบางรายอาจถูกเพื่อน หรือแม้แต่ครูเอง มองด้วยสายตาตัดสินเพราะการเหมาะรวม (stereotype) ที่ผูกโยงความจนกับการขาดความสามารถ

นอกจากนั้น ความรู้สึกจนยังทำให้เด็กใส่ใจการเรียนน้อยลง ในทางจิตวิทยา มนุษย์มีสิ่งที่เรียกว่าตัวความจุการประมวลข้อมูลต่างๆ (bandwidth) มนุษย์มีขีดความสนใจที่จำกัด ความจนอาจทำให้เด็กใส่ใจแค่วิธีแก้ปัญหาเรื่องความขาดแคลนของตัวเองแทนที่จะเอาความคิดไปจดจ่อเรื่องการเรียนอย่างเดียว บีบให้มองหาวิธีเติมเต็มความต้องการระยะสั้น (short-term requirement) มากกว่า เพราะเชื่อว่าหากได้สิ่งนั้นในทันทีจะทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่าเท่าเทียมกับคนอื่น กรณีเช่นนี้จะทำลายความสามารถในการตั้งเป้าหมายระยะยาว (long-term reward) อย่างเรื่องการเรียนต่อ เป้าหมายในอนาคต หรือการคิดว่าจะต้องพัฒนาทักษะตัวเองอย่างไรเพื่อเอาไปใช้ต่อยอด

ด้าน ดร. สมชัย ให้ข้อมูลเสริมว่า ความแตกต่างของเด็กแต่ละชนชั้นด้านประสิทธิภาพทางการเรียนมีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิดจากหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนสนับสนุนการศึกษาที่ให้โรงเรียนใหญ่ในตัวเมืองมากกว่า หรือแม้แต่ภูมิหลังของครอบครัว อ้างอิงจากงานวิจัยที่ศึกษาผลคะแนนสอบ PISA ซึ่งเป็นการสอบวัดผลที่เด็กวัยรุ่นตอนต้นจะต้องสอบ เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างความเหลื่อมล้ำกับภูมิหลังของครอบครัวว่าเกี่ยวพันกันหรือไม่ พบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะ ซึ่งมีแนวโน้มว่าพ่อแม่เองก็มีการศึกษา สามารถทำคะแนนได้สูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจน จนเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดขึ้น ความแตกต่างที่ว่าก็ยิ่งขยายห่างออกไปอีก

“(กรณีการเรียนออนไลน์) ต้องดูว่าพ่อแม่สามารถไกด์ลูกในการเรียนได้ไหม เพราะการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ เด็กเขาไม่เคยเรียนมาก่อน ต้องมาเรียนรู้ใหม่ ถ้าพ่อแม่ไม่มีฐานะก็ไม่สามารถช่วยนำช่วยสอนลูก ยิ่งยากจน แล้วยังต้องเจอความเครียดที่เกิดจากสถานการณ์โควิดอีก ก็จะไปบั่นทอนประสิทธิภาพในการเรียนของลูก”

“ถ้าไปดูผลกระทบ จะเห็นว่าเด็กเล็กถูกกระทบหนักกว่าเด็กโต เพราะอยู่ในวัยที่ยังไม่พร้อมกับการเรียนออนไลน์ ตั้งสมาธิได้ยากกว่า การใช้เครื่องมือเข้าถึงยากกว่า ซึ่งเด็กโตเขาจะมีปัญหาเรื่องนี้น้อย”

ดร.สมชัย สะท้อนอีกว่า สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปอาจเข้าใจผิดคือ ไม่ใช่ว่าเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนจะมี IQ ด้อยกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวมีฐานะ ทว่ามีเหตุผลทางด้านครอบครัวประการอื่นที่ทำให้พวกเขาไม่อาจก้าวไปต่อในเส้นทางการศึกษา จากการทำงานวิจัยร่วมกับ TDRI ในประเด็นแม่วัยรุ่นที่ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน ดร.สมชัยพบว่า เด็กเหล่านี้โดยมากมีภูมิหลังครอบครัวที่ยากจน ปรากฏว่าภาวะความเป็นแม่วัยรุ่นถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากยายถึงหลาน พร้อมกันกับความยากจน การศึกษาที่ควรจะช่วยหยุดยั้งวงจรดังกล่าวกลับไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควร

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เด็กจากครอบครัวยากจนเท่านั้นที่รู้สึกจน แต่ความรู้สึกนี้ยังเกิดได้กับเด็กชนชั้นสูงขึ้นไป อย่างชนชั้นกลาง ภก. ณภัทร อธิบายว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่ยังรวมถึงเรื่องโอกาสและคุณภาพในการศึกษาไทย ใช่ว่าเด็กชนชั้นกลางทุกคนจะได้รับโอกาสให้ก้าวขึ้นบันไดไปยังชนชั้นที่สูงกว่า มีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้เด็กๆ เหล่านั้นมองการณ์ใกล้ หวังผลระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ไม่ต่างจากกลุ่มเด็กยากจน ในทางจิตวิทยาอาจกล่าวได้ว่า ความเหลื่อมล้ำส่งผลต่ออารมณ์และการตัดสินใจของคนที่ต่างกัน

งานวิจัยหลายชิ้นยังสะท้อนว่า การต้องอาศัยอยู่ในสังคมที่ความยากจนและความร่ำรวยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลให้คนที่อยู่ในสังคมนั้นเกิดความเครียด สำหรับชนชั้นกลาง อาจก่อความกังวลในหลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ในทางเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมองว่า ความจนสัมพันธ์กับการเกิดอาชญากรรม โดยตัวแปรก็คือค่าเสียโอกาสที่คนแต่ละชนชั้นมีไม่เท่ากัน

“เวลาที่เรามองเรื่องการก่ออาชญากรรม เราจะมองเรื่องค่าเสียโอกาสของคนคนหนึ่งในการที่เขาต้องเลือกว่าจะก่ออาชญากรรมหรือไม่ สำหรับบางคน ค่าเสียโอกาสเขาไม่สูง เพราะตัวเขาไม่ได้มีอะไรในชีวิตที่ต้องแลก ต่างจากคนชนชั้นกลางหรือสูง การจะก่ออาชญากรรมสำหรับคนกลุ่มหลังอาจรู้สึกว่ายังมีสิ่งที่ต้องแลกเยอะ”

“เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเชิงบุคคล แต่เป็นในเรื่องของโครงสร้าง คนบางคนเขาขาดโอกาสในการสะสมทุนหรือทำสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่า การกระทำความผิดมีค่าเสียโอกาสอยู่”

ในฐานะยูทูบเบอร์ที่ทำงานใกล้ชิดกับวัยรุ่น อิสระ ฮาตะ คิดว่า หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เด็ก ๆ ยุคนี้ตระหนักเรื่องความเหลื่อมล้ำดีก็คือโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาได้เห็นไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของเหล่าเซเลบริตี แล้วนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเอง ไม่ได้ตระหนักว่าภาพที่เห็นเป็นชีวิตของคนส่วนน้อยมากๆ ในสังคม บางรายเกิดเป็นภาวะหรือแม้แต่โรคซึมเศร้า เพราะถูกป้อนข้อมูลจากอัลกอรึธึมที่แสดงเนื้อหาคล้ายๆ กัน แม้จะเป็นเช่นนั้น อิสระยังมองว่าโซเชียลมีเดียก็มีข้อดีอยู่บ้าง เพราะช่วยให้ทุกคนสามารถเขาถึงข้อมูลได้มากขึ้น ในบางครั้งอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กล้าลุกขึ้นมาทดลองทำสิ่งที่ท้าทายแตกต่างจากคนในรุ่นเดียวกับเขา

 

ประเด็นต่อมาที่พูดคุยกันคือเรื่องการเรียนรู้ที่สูญเสียไป (learning loss) จากการเรียนออนไลน์ตลอดระยะเวลาสองปี คำถามในประเด็นนี้คือ รัฐมีนโยบายในการศึกษาเพื่อหาทางแก้ไขอย่างเพียงพอหรือยัง

 

ด้าน ดร.สมชัยมองว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้รับความสนใจมากนักในระดับนโยบายรัฐ เทียบกับประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ควรจะมีการทบทวนศึกษากันว่า ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็กยุคนี้เทียบกับยุคก่อนโควิดแล้วแตกต่างกันหรือไม่ การเรียนรู้ที่อาจขาดหายไปจากการเรียนออนไลน์จะกระทบกับตัวเด็กในระยะยาวไหม คาดว่าปัญหานี้อาจก่อบาดแผลให้กับเด็กจากครอบครัวยากจนมากกว่าเด็กชนชั้นอื่น นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่จะขยายตัวมากขึ้น

ด้าน อ.เจนนิเฟอร์ ให้ความเห็นเสริมจาก ดร.สมชัย ว่า นอกจากคุณภาพทางการศึกษาที่ถูกกระทบจากการเรียนออนไลน์ เด็ก ๆ ยังต้องสูญเสียโอกาสในการสร้างต้นทุนอื่นที่อาจนำไปใช้ต่อยอดในอนาคต สำหรับเด็กมหาวิทยาลัย ทุนที่ว่ามีสามประการ ได้แก่ ทุนมนุษย์ เหตุเพราะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนโดยตรง ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเรียนรู้จากความคิดเห็นคนอื่น ต่อมาคือทุนสังคม เด็กขาดโอกาสสร้างคอนเนคชันระหว่างกัน อาจทำให้พลาดโอกาสในการเข้าถึงงานหลังเรียนจบ สุดท้ายคือ ทุนทางจิตใจ เด็กๆ ต้องเจอกับความเครียด บางคนได้รับความกังวลจากสภาวะทางการเงินของครอบครัวที่กำลังลำบาก ภาวะหมดไฟ ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการกับทางมหาวิทยาลัย และยังต้องแบกรับความคาดหวังและความกดดัน นอกจากนั้นยังกระทบครูผู้สอนอีกด้วย เพราะต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างมาตรฐานของเนื้อหา โดยที่ต้องไม่สร้างความกดดันให้ผู้เรียนเกินไปจนกระทบจิตใจ เป็นความท้าทายที่ทั้งเด็กและครูต้องเผชิญ

 

พูดถึงปัญหามาค่อนข้างมาก แล้วทางออกเพื่อจัดการตัวเองมีอะไรบ้าง กรรณิการ์เปิดประเด็นเรื่องศาสนาในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพื่อกอบกู้จิตใจให้บางคนหยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

 

อิสระเทียบให้เห็นว่า ศาสนาก็คล้ายกับแนวคิดอื่นๆ ที่ถูกมองผ่านเลนส์ของความโรแมนติก (romanticize) เพื่อช่วยประโลมใจให้คนคนหนึ่งสามารถอยู่รอดไปได้ภายใต้ภาวะไม่เท่าเทียมหรือถูกเอาเปรียบ เป็นความจำยอมเพราะไม่อาจเลือกเส้นทางที่ดีกว่าให้กับตัวเองได้

“คนไม่รู้จะหันไปทางไหน เลยหันหาศาสนาเพื่อให้ตัวเองมีกำลังต่อลมหายใจตัวเองในแต่ละวัน ฟังแล้วมันน่าเศร้าที่สังคมไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งพื้นฐานที่เขาควรจะมี ความฝันที่เขาควรจะไปต่อ ทั้งหมดถูกลดทอนให้เหลือแค่เท่านั้น”

ด้าน ภก.ณภัทร เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีจัดการความคิดเวลาที่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการเปรียบเทียบเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เป็นสัญชาตญาณ

แต่เราสามารถฝึกฝนตัวเองเพื่อใช้ประโยชน์จากภาวะดังกล่าวได้ด้วยการเลือกเปรียบเทียบให้เหมาะสมแทน โดยเปรียบกับคนที่เหนือกว่าเราเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความท้าทาย เปรียบเทียบเรื่องความพยายามแทนที่จะเป็นเรื่องเงินหรือฐานะ

เรียนรู้ที่จะเพิ่มพูนทักษะ ศักยภาพของตัวเอง พร้อมกันนั้นก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะปัญหาที่กำลังเจอว่าไม่ใช่สิ่งที่คงทนถาวร แค่อาจใช้เวลามากในการแก้ไขเท่านั้น และต้องไม่ปล่อยให้ความคิดด้านลบลามไปยังเรื่องอื่น จนคิดไปว่าจะเจอกับความล้มเหลวอยู่ร่ำไป

ส่วน อ.เจนนิเฟอร์ มองว่า การจัดการความรู้สึกต้องทำควบคู่กับการแก้ปัญหาที่เป็นต้นต่อไปพร้อมกัน หากจัดการแค่อารมณ์อย่างเดียวอาจก่อเป็นความเครียดจนทำให้ไม่อยากเผชิญหน้ากับปัญหา

ดร. สมชัย ตอบโดยอ้างอิงสิ่งที่มองว่าเป็นพื้นฐานที่สุด นั่นคือ มนุษย์ควรมีเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ เป็นการเลือกของตัวเองจริงๆ โดยที่ไม่ได้มาจากการกดทับของโครงสร้างหรือความไม่เท่าเทียม ในแง่นี้ ศาสนาจึงไม่ควรเป็นเครื่องมือที่ใช้ปลอบประโลมจิตใจเมื่อต้องทนอยู่กับสภาะจำยอม แต่ควรเป็นสิ่งที่เราเลือกเองเพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข

“การที่คนเลือกเอาสิ่งอื่นมาปลอบประโลมตัวเองในสิ่งที่เขาไม่ได้เลือก มันเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะเขาไม่ได้เลือกอยากจะเป็นแบบนั้น แต่เพราะถูกบังคับโดยระบบ โดยโครงสร้าง ศาสนาอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ชีวิต และควรเป็นสิ่งที่เราเลือกเพื่อให้ชีวิตเป็นสุขขึ้น แต่ต้องเป็นการเลือกของเราเองจริง ๆ ที่ไม่ได้มาจากการถูกบังคับให้ต้องเลือก

“ไม่ใช่การยัดเยียดคนให้ทนอยู่กับความเหลื่อมล้ำ แล้วสุดท้ายเอาศาสนามากรอก”

 

กรรณิการ์ต่อยอดจากคำถามที่เพิ่งถามไปว่า การที่ปัจเจกพยายามอย่างเต็มที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นั่นเพียงพอไหมสำหรับการจัดการปัญหาดังกล่าวที่นับวันยิ่งถ่างกว้างขึ้น

 

ดร.สมชัย อ้างถึงสมมติฐานหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำในแต่ละสังคมเกิดมาจากความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างอำนาจ อำนาจที่ว่าอาจเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่ศาสนา และได้หยิบประเด็นหนึ่งจากหนังสือเพื่อมาขยายความต่อ

“ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เจอกับคำถามที่ว่า การจะขจัดความเหลื่อมล้ำออกไปนี่หมายถึงการต้องเป็นสังคมนิยมเลยหรือเปล่า เขาตอบว่า ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น …

“แต่สิ่งที่ผู้เขียนเสนอคือ การพยายามจัดการความเหลื่อมล้ำให้อยู่ในสัดส่วน ควรมีพื้นที่มากพอสำหรับทุกคนในการแข่งขันกันก้าวขึ้นบันไดที่สูงขึ้น โดยไม่ถูกจำกัดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การแข่งขันต้องไม่ใช่แบบที่ผู้ชนะสามารถกอบโกยได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการจำกัดโครงสร้างอำนาจในสังคม”

ดร.สมชัยเสนอทางออกว่า กุญแจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำที่ใช้ได้ผลจริงก็คือ นโยบายด้านสวัสดิการสังคม พิสูจน์แล้วด้วยการวัดผลทางตัวเลขในหลายประเทศ แต่น่าเสียดายที่ในช่วง 20 ปี หลังที่ผ่านมานี้ รัฐบาลไทยแทบไม่ได้มีการใช้นโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านระบบสวัสดิการสังคมเลย ถึงมีก็น้อย นโยบายหลายอย่างสมควรถูกตั้งคำถามว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ อย่างนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แม้ว่าแนวคิดพื้นฐานคือการศึกษาไม่สมควรถูกจำกัดด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงกลับมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่ประชาชนต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางหรือแม้แต่ค่าอุปกรณ์การเรียนบางชนิด หรือแม้แต่นโยบายสวัสดิการดูแลเด็กเล็ก อายุ 0–6 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เว้าแหว่งมาก รัฐเพิ่งเข้ามาเติมเต็มเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง

“มีตัวเลขน่าสนใจคือเด็กและเยาวชนไทยอายุไม่เกิน 20 ปี กว่า 54 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กจากครอบครัวระดับล่างสุด (bottom poverty) ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นอนาคตประเทศ แต่กลับไม่ได้รับโอกาสหรือการดูแลอย่างเต็มที่ กลายเป็นจุดบอดอย่างยิ่งของนโยบายไทย”ฃ

“ความเหลื่อมล้ำ ถ้าไม่แก้ตั้งแต่ยังเด็ก ก็จะคงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ”

เรื่องสวัสดิการทางสังคม บางคนเชื่อว่าปัญหาสำคัญคือการที่รัฐไม่มีงบพอสนับสนุน แต่ ดร.สมชัย ชี้ว่า จริงๆ แล้วรัฐสามารถจัดสรรงบนี้ได้ด้วยการลดงบที่มีความจำเป็นน้อยกว่าอย่างงบด้านความมั่นคง แล้วจัดสรรมาสนับสนุนงบด้านรัฐสวัสดิการแทน หรือหางบเพิ่มจากภาษีบางประเภท เช่น เพิ่มภาษีในกลุ่มคนรายได้สูง ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในสังคมไทยคือเรื่องความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ กฎหมายเพิ่มภาษีคนรวยกว่าจะผ่านการพิจารณาในสภาก็ต้องถูกปรับแก้หลายรอบ แต่ละครั้งที่แก้ คนรวยกลับต้องจ่ายน้อยลง สะท้อนว่านโยบายด้านสวัสดิการสังคมไม่ได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจ

 

เมื่อรู้แล้วว่าเด็กๆ เองก็สามารถรับรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำได้ กรรณิการ์ชวนขบคิดต่อว่า ในฐานะครูหรือผู้ปกครอง เราจะสามารถช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนของเด็กๆ ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างกว้างออก

 

ภก. ณภัทร มองว่า สำหรับครู สามารถแบ่งได้เป็นสามประเด็น หนึ่ง การจะดูแลแด็กที่ต้องเผชิญความขาดแคลน เริ่มต้นด้วยการมีหลักคิดก่อนว่า คนเราอาจมีจุดเริ่มต้นไม่เท่ากัน แต่เราสามารถเข้าเส้นชัยด้วยกันได้ การเรียนการสอนต้องผลักดันเด็กทั้งห้องไปพร้อมกัน ให้คุณค่าเรื่องความพยายาม มุมานะ การเพิ่มพูนทักษะของเด็กแต่ละคนที่เชี่ยวชาญแตกต่างกัน สอง ครูช่วยพาดบันไดให้เด็กๆ ก้าวต่อ ซึ่งไม่ใช่บันไดเดิมที่วัดผลดัวยผลการเรียนเชิงวิชาการ แต่เป็นบันไดที่เด็กสามารถใช้ความสามารถ จุดแข็งของตัวเอง เพื่อก้าวขึ้นบันไดขั้นต่อไป ช่วยปลูกฝังกรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ให้เด็กเชื่อในการพัฒนาตัวเอง และสาม ครูต้องช่วยซ่อมบันไดที่หัก คอยแนะแนว ช่วยชี้ทางเลี่ยงในการเรียนรู้ที่แม้อาจใช้เวลามาก แต่เป็นก้าวที่เด็กไปต่อได้

ในส่วนพ่อแม่ อ.เจนนิเฟอร์ เห็นว่า อย่างแรกต้องเริ่มที่ตัวของพ่อแม่เองก่อน ถ้าพ่อแม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ลูกเองก็มีแนวโน้มจะทำตาม พ่อแมจึงต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี เรื่องความสัมพันธ์ พ่อแม่ต้องพยามยามสร้างรูปแบบความผูกพันธ์ที่มั่นคง (secured attachment) เพื่อให้ลูกมีที่พึ่งเวลาเจออุปสรรค การเป็นที่พึ่งอาจไม่ใช่เรื่องการให้เงิน แต่สิ่งสำคัญคือการตอบสนองความต้องการทางจิตใจ คอยชื่นชม สนับสนุนลูก เห็นคุณค่าในความพยายามของเขามากกว่าผลลัพธ์ สอนให้เขาเป็นตัวของตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัด ท้ายสุด ต้องช่วยลูกกำหนดเป้าหมายในชีวิตระยะยาว คอยให้คำแนะนำและหาจุดแข็งในตัวเขาเพื่อพัฒนาศักยภาพจากจุดนั้น

 

เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา

(The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die)

Keith Payne เขียน

วิทย์ วิชัยดิษฐ แปล

อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา