Brief – Workshop “From Emotion to Equality จับอารมณ์ในสังคมเหลื่อมล้ำ”

อธิกัญญ์ แดงปลาด เขียน

ตรัยภูมิ จงพิพัฒนสุข ภาพ

 

ในปี 2561 จากรายงานของ Credit Suisse – Global Wealth ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก มีคน 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถือครองความมั่งคั่งของประเทศถึง 66.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคน 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือถือครองความมั่งคั่งอีกไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ร่วมกัน

ตัวเลขข้างต้นสะท้อนถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ฝังลึกและแน่นแฟ้นในมิติทางเศรษฐกิจของสังคมไทย แต่สิ่งที่ตัวเลขไม่ได้บอกก็คือ ความเหลื่อมล้ำยังกระทบกับสังคมในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม มิติทางการศึกษา หรือแม้แต่โอกาสในชีวิต รวมไปถึงมิติทางจิตวิทยาอย่างเรื่องอารมณ์และความรู้สึก – ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความยากจนถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อความเหลื่อมล้ำเป็นตัวการทำให้คนรู้สึกว่า “บันได” ที่จะพาขยับชนชั้นนั้นหักพังลง

เมื่ออารมณ์ความรู้สึกกลายเป็นกับดัก ทางออกจึงต้องเปลี่ยนปัจจัยทางจิตวิทยาเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นตอ เป็นที่มาของเวิร์กช็อป “From Emotion to Equality จับอารมณ์ในสังคมเหลื่อมล้ำ สำรวจความเหลื่อมล้ำในมุมใหม่ผ่านเกมจิตวิทยา” จัดโดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง โดยถอดประเด็นจากหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา ออกมาเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและหนทางในการใช้อารมณ์ห้าแบบ แสวงหาจุดร่วมในการเอาชนะความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ

ร่วมให้ความรู้โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชนลักษณ์ ชัยศรีลักษณ์ นักวิจัย และนิสิตปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หลากรูปแบบความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

สำหรับกิจกรรมแรก กระบวนกรชวนให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่มกัน กลุ่มละ 10 คน แล้วช่วยกันวาดรูประบายสีบนกระดาษ เพื่อสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย จากนั้นให้แต่ละกลุ่มอธิบายมุมมองของตัวเองและสมาชิก ผู้เข้าร่วมทั้งหมดมองคล้ายกันว่า ปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทย อย่างแรกคือการขาดแคลนทุนสนับสนุนจากรัฐที่เพียงพอ โรงเรียนเล็กกับโรงเรียนใหญ่ได้ทุนไม่เท่ากัน กระทบถึงคุณภาพการเรียนการสอนหรือแม้แต่สวัสดิการของเด็ก อีกทั้งระบบการศึกษาไทยยังแฝงด้วยค่าใช้จ่ายอื่นที่ซ้อนทับ รัฐช่วยเพียงบางส่วนและไม่ใช่ทุกครอบครัวจะสามารถจ่ายที่เหลือได้ เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะจึงได้เปรียบกว่าในการแข่งขัน ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำยิ่งขยายห่างไปอีก

เมื่อแจกแจงคำตอบจากแต่ละกลุ่ม ผศ.ดร.ธานี สรุปว่า ปัญหาที่แฝงในระบบการศึกษาไทยสามารถแบ่งได้เป็นห้าประเภทใหญ่ ได้แก่

  • การจัดสรรงบประมาณ
  • การออกแบบนโยบายทางการศึกษา
  • การกระจายการศึกษา
  • การสร้างเสริมสุขภาวะของเด็ก
  • การเข้าถึงเทคโนโลยีทางการศึกษา

จุดมุ่งหมายของกิจกรรมแรกคือต้องการให้ทุกคนสัมผัสความรู้สึกเมื่อต้องพบเจอกับความเหลื่อมล้ำ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ ผลลัพธ์คือความแตกต่างหลากหลายทางความคิด

 

“การเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่นคือธรรมชาติของมนุษย์”

สิ่งที่ชวนสำรวจต่อมาคือ ความเหลื่อมล้ำนั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเราอย่างไรบ้าง ชนลักษณ์อธิบายโดยจำลองเหตุการณ์เปรียบเทียบเป็นสองกรณี เพื่อเสนอข้อเท็จจริงว่า การเปรียบเทียบนั้นมีอยู่เป็นปกติตามธรรมชาติของมนุษย์ ผลที่ตามมาคือความรู้สึกเหลื่อมล้ำที่ยากจะเลี่ยง

“สมมติเราเข้าไปในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เราเคยสงสัยหรือตั้งข้อสังเกตไหมว่า ใครเป็นคนรวย ใครเป็นคนจน สำหรับบางคนอาจไม่เคยสังเกต ถามว่าเพราะอะไร คำตอบก็คือ เวลาที่เราเลือกเข้าร้านกาแฟ เรามักจะเลือกร้านที่คนในร้านอยู่ในฐานะหรือชนชั้นที่ใกล้เคียงกับเรา ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเข้าไปร้านที่แพงเกินหรือถูกเกิน เราอาจเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลว่าตัวเองอาจแต่งตัวไม่เข้ากับคนอื่นในร้าน”

“พอทุกคนอยู่ในสังคมที่ตัวเองเลือก จึงมองไม่เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่ คนเราจะรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำได้ก็ต่อเมื่อเราถูกเปรียบเทียบกับคนอื่น …”

“… อาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ เลือกเข้ากับชนชั้นตัวเองดีกว่า เกิดเป็นข้อสรุปว่า มนุษย์มีการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา เพราะการเปรียบเทียบมันเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม”

“อีกกรณี ลองนึกว่าเราอยู่ในที่ทำงานตัวเอง วันหนึ่งเราได้รับแจ้งว่าจะได้เงินโบนัส 1 เดือน จากเดิมได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เราก็ดีใจ แต่พอวันต่อมา เราดันมารู้ว่า คนอื่นที่ทำงานแบบเดียวกันได้โบนัส 2 เดือน กลายเป็นรู้สึกเสียใจแทน ถามว่าเพราะว่าอะไร เพราะเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แล้วการเปรียบเทียบก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งความรู้สึกนี้อาจมีพลังมากกว่ามูลค่าแท้จริงของสิ่งที่เราได้รับ”

ความรู้สึกจากการเปรียบเทียบไม่ได้เกิดแค่เฉพาะเวลาที่เรื่องนั้นกระทบตัวเรา แต่เรายังเปรียบเทียบเวลาที่เห็นความไม่เท่ากันเกิดขึ้นกับคนอื่น อาจเกิดเป็นความรู้สึกสงสารหรืออื่นๆ ตามมา ที่เป็นเช่นนี้ ผศ.ดร.ธานี ขยายความว่า เพราะการคิดของมนุษย์แยกเป็นสองส่วนคือ เรารู้สึกอะไร และเหตุผลคืออะไร ความรู้สึกจะเกิดก่อนการใช้เหตุผล ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม การทำงานของสมองและอารมณ์ความรู้สึกจะเกิดคู่กัน แม้เรายอมรับในเหตุผล แต่ก็อาจซ้อนไว้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างข้างใน

 

มนุษย์ใช้สัญชาตญาณในการเปรียบเทียบ ส่งผลต่อมุมมองเรื่องความเท่าเทียมในสังคม

แล้วถ้าเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการชี้วัดฐานะ ยังมีปัจจัยอื่นอีกไหมที่คนเราใช้แบ่งแยกกัน

ชนลักษณ์ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยของไมเคิล เคราส์ (Michael Kraus) และดาเชอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) ที่จากหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา งานวิจัยนี้หาข้อพิสูจน์ว่า มนุษย์เราคาดเดาชนชั้นทางสังคมได้แม่นยำแค่ไหน วิธีการคือ นำคนสองคนที่ไม่รู้จักกันมานั่งคุยกันแล้วอัดวิดีโอไว้ จากนั้นให้อาสาสมัครอีกกลุ่มมานั่งดู แล้วให้เดาว่าคนที่คุยกันมีฐานะแตกต่างอย่างไร ตัวชี้วัดคือระยะเวลาแสดงลักษณะอาการสนใจ (engagement cues) เช่น พยักหน้า หัวเราะ หรือจ้องมอง และระยะเวลาแสดงลักษณะอาการไม่สนใจ (disengagement cues) เช่น วาดรูปเล่นหรือเช็กเสื้อผ้าหน้าผม จากการทดลองพบว่า คนที่แสดงว่าตัวเองไม่สนใจคู่สนทนาถูกมองว่ามีฐานะสูงกว่า ตรงกันข้ามกับคนที่ให้ความสนใจกับคู่สนทนาเต็มที่ นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า มนุษย์เราใช้สัญชาตญาณในการบอกสถานะของคนว่ารวยหรือจนโดยมีพื้นฐานจากสิ่งที่เราเห็น

อีกตัวอย่างคืองานของ โธมัส มัสไวเลอร์ (Thomas Mussweiler) ทำการทดลองว่า การเปรียบเทียบทางสังคมเกิดขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่ เขาให้อาสาสมัครที่เล่นกีฬาลองประเมินทักษะทางกีฬาตัวเอง ก่อนประเมิน ผู้เข้าร่วมจะต้องดูหน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งตรงกลางจะมีข้อความแว่บขึ้นมาตลอดหนึ่งนาทีแบบสุ่ม มัสไวเลอร์ได้ทำการสอดแทรกชื่อคนดังเข้าไปในข้อความเหล่านั้น กลุ่มหนึ่งจะเป็นชื่อของโป๊ปฟรานซิส ขณะที่อีกอีกกลุ่มจะเห็นชื่อไมเคิล จอร์แดน ผลออกมาคือ คนกลุ่มที่เห็นชื่อไมเคิลเลือกให้คะแนนทักษะทางกีฬาตัวเองน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เห็นชื่อโป๊ป จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่า คนเราใช้สัญชาตญาณในการตัดสินจากสิ่งที่มองเห็นแต่ไม่รู้ตัวด้วย

คำถามต่อมา ในเมื่อความรู้สึกต่อความเหลื่อมล้ำมันมีจริง แล้วมันส่งผลกระทบอย่างไร ชนลักษณ์เลือกหยิบงานวิจัยในหนังสืออีกสามกรณีมาอธิบายต่อ ทั้งสามกรณีมีการแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่คิดว่าตัวเองมีเงินหรือได้กำไรมากกว่าคนส่วนใหญ่ กับคนอีกกลุ่มที่รู้สึกว่ามีเงินหรือได้รับกำไรน้อยกว่า จากนั้นจึงถามคำถามในประเด็นต่างๆ ผลที่ออกมาคือ คนที่คิดว่าตัวเองมีมากกว่าคนอื่นมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนนโยบายการกระจายรายได้ที่น้อยกว่า มองว่าการที่คนได้เงินไม่เท่ากันถือว่าเป็นธรรมแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะกีดกันคนที่เห็นต่างกับตัวเองมากกว่า

“ถึงตรงนี้เรารู้แล้วว่า ความรู้สึกของความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อความคิดเรื่องการกระจายรายได้ และที่ยากไปกว่านั้น คนที่มีเงินเองก็มีแนวโน้มจะมองว่าสถานะดังกล่าวเป็นธรรมหรือยุติธรรมดีแล้ว อีกทั้งยังอาจไปกีดกันคนอื่นอีกด้วย”

 

รู้จักอารมณ์พื้นฐานในตัวเราห้ารูปแบบ

กิจกรรมต่อมาพาชวนย้อนกลับมามองกรณีความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เพื่อให้แต่ละคนได้ลองสัมผัสความรู้สึกของทั้งตัวเองและคนอื่นเมื่อพบเห็นความเหลื่อมล้ำ กระบวนกรได้แจกกระดาษและปากกา ทุกคนจะได้ดูรูปเจ็ดรูป จากนั้นเขียนความรู้สึกของตัวเอง ทั้งเจ็ดรูปประกอบด้วยความหลากหลาย ทั้งภาพถนนที่ยังสร้างไม่เสร็จ เด็กที่ต้องนั่งสอบอย่างแออัดเพื่อเข้าโรงเรียนที่ตัวเองต้องการ ลูกที่ต้องดูแลแม่วัยชราโดยไม่มีความช่วยเหลือจากรัฐ หรือรัฐสภา นอกจากนี้ยังมีรูปภาพที่ดูต่างกันคนละอารมณ์ อย่างเด็กเล่นวาดรูประบายสีและสวนสนุกดิสนีย์แลนด์

ผู้เข้าร่วมแสดงความรู้สึกต่างกันไป ทั้งสิ้นหวัง ท้อแท้ หรือแม้แต่ดีใจ เพื่อทำความเข้าใจอารมณ์เหล่านั้น ชนลักษณ์เล่าว่า ในตัวเรามีพื้นฐานอารมณ์เบื้องต้นห้าแบบ สุข เศร้า กลัว โกรธ และขยะแขยง กระบวนกรขอให้ทุกคนดูรูปอื่นเพิ่มเติมอีกสี่รูป แล้วอธิบายอารมณ์ของตัวเองออกมาโดยอิงจากอารมณ์พื้นฐานห้าแบบโดยจดลงในกระดาษ พร้อมบอกเหตุผลเพื่อสำรวจว่าความรู้สึกโดยรวมคืออะไร แต่ละรูปมีทั้งข่าวเด็กติวสอบเข้า ป.1 หนังสือคัดลายมือของเด็กอนุบาล ข่าวของชายที่ต้องขโมยของเพื่อหาเงินจ่ายค่าเทอมลูก และมีรูปที่แตกต่างที่สุดอย่างรูปท้องฟ้า และเช่นเคย ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมมีทั้งเศร้า โกรธ กลัว รังเกียจ สิ่งที่แตกต่างคือความรู้สึกต่อรูปท้องฟ้า หลายคนรู้สึกโกรธเพราะมองภาพผูกโยงกับการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลซึ่งรัฐไม่ได้สนใจสนับสนุน คนขาดโอกาสในชีวิต บางคนก็รู้สึกเศร้า เพราะชวนย้อนให้นึกถึงคนชายขอบ ผศ.ดร.ธานี อธิบายว่า การที่เราเห็นภาพท้องฟ้าแล้วรู้สึกเช่นนั้นเพราะมีเหตุผลบางอย่างซ่อนอยู่

“ภาพของท้องฟ้า ทะเล ป่าเขา มันมองได้หลายแบบ มองท้องฟ้าอาจรู้สึกมีความหวังก็ได้ เศร้าก็ได้ หรือทุกข์ก็ได้ เพราะภาพคือตัวขยายความรู้สึกในตอนนั้น เวลาที่เราประสบความสำเร็จในอะไรบางอย่าง เดินออกมาเห็นท้องฟ้าอาจทำให้เรารู้สึกสดใส หรือเจอเรื่องเศร้ามา เห็นฟ้าสว่างสดใสก็อาจทำให้รู้สึกเศร้าก็ได้ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายความรู้สึก”

“ดังนั้นเมื่อเราเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ แล้วสิ่งนี้มันอยู่ในใจ มันก็จะช่วยขยายว่า จริงๆ ลึกข้างใน เรารู้สึกอย่างไร”

“ท้องฟ้าน่าสนใจเพราะมีแบบสำรวจหนึ่งที่สำรวจเกี่ยวกับเด็กชนบท ว่าเวลาที่เขาเห็นท้องฟ้า เขารู้สึกอย่างไร เด็กๆ มักจะนึกถึงเครื่องบิน แต่ถ้าเป็นเด็กในเมืองมักนึกถึงการเที่ยวต่างประเทศ เด็กต่างจังหวัดจะมองว่าท้องฟ้าเป็นสิ่งที่อยู่ข้างบน เป็นความคาดหวัง ขณะที่เด็กในเมืองมองอีกแบบ”

 

เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกให้เป็นหนทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

กิจกรรมต่อมาหลังจากนั้นคือกิจกรรม role play ผู้เข้าร่วมจะต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครที่ตัวเองสุ่มเลือกได้ ซึ่งมีฐานะทางสังคมต่างกันไป โจทย์คือ ในฐานะตัวละครดังกล่าว พวกเขาควรจะรู้สึกอย่างไร โดยอิงจากอารมณ์พื้นฐานห้าอย่าง และเพราะอะไรถึงรู้สึกเช่นนั้น เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์สมมติสี่กรณี ได้แก่

  1. น้องลิลลี ลูกสาวนักธุรกิจ ฝันอยากจะเป็นหมอเพื่อช่วยสังคม เธอมักจะไปเรียนพิเศษที่สถาบันกวดวิชาหลังเลิกเรียน ในที่สุดเธอก็สอบติดคณะแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
  2. น้องมะลิ ลูกสาวชาวนา ฝันอยากเป็นหมอเพื่อมารักษายายที่ป่วย และอยากร่ำรวยขึ้น หลังเลิกเรียน เธอมักจะกลับมาช่วยงานที่บ้านและใช้เวลาที่เหลือในการทบทวนบทเรียนเสมอ สุดท้ายแล้ว เธอสอบไม่ติดแพทย์ จึงต้องกลับมาช่วยที่บ้านทำนาต่อไป
  3. 10 ปี ผ่านไป หลังจากมะลิตื่นเช้ามาช่วยพ่อเตรียมแปลงนาเสร็จ เธอต้องพายายไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ในเมืองต่อ ทำให้เธอได้พบกับแพทย์หญิงลิลลี หมอเจ้าของไข้คนใหม่ของยายเธอ ที่พึ่งเรียนจบแพทย์เฉพาะทางมาจากอังกฤษ
  4. ถ้าคนในสังคมมีคนที่เป็นแบบน้องมะลิ 2000 คน และน้องลิลลี 20 คน

คำตอบของแต่ละคนประกอบด้วยอารมณ์ที่แตกต่าง ทว่าสิ่งที่น่าสนใจในทัศนะของ ผศ.ดร.ธานี คือข้อ 4. พบว่า จากการสอบถามคนกลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ตอบข้อนี้ว่าตัวเองรู้สึกเฉย ๆ

“ส่วนหนึ่งเพราะเราต่างอยู่ในระบบที่มันเหลื่อมล้ำในเกือบทุกมิติจนทำให้รู้สึกเฉยๆ กับกรณีนี้ อาจเพราะเชื่อว่ามะลิกับลิลลีไม่ได้เริ่มต้นจากจุดตั้งต้นเดียวกัน จุดมุ่งหมายของกิจกรรมนี้จึงเป็นไปเพื่อให้ทุกคนได้ลองสวมบทบาทเป็นคนอื่น เพื่อที่จะดึงความรู้สึกอะไรบางอย่างออกมา”

กิจกรรมสุดท้าย สิ่งที่อยากชวนคิดคือการแปลงอารมณ์ที่เกิดขึ้นออกมาเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในวงการศึกษา กรณีสถานการณ์สมมติที่ 4. กระบวนกรแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามอารมณ์ที่ตัวละครรู้สึกเมื่อเจอเหตุการณ์สี่กรณีก่อนหน้า จากนั้นจึงให้แต่ละกลุ่มฝึกซ้อมแสดงละครสั้นสามนาที เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ และเสนอหนทางแก้ปัญหาที่จับต้องได้

เนื่องจากบทบาทและฐานะทางสังคมที่แตกต่าง หนทางแก้ไขจึงหลากหลายตามความคิดของตัวละคร มีทั้งตัวละครที่ต้องการออกแบบเกมเพื่อช่วยเหลือคน ใช้เทคโนโลยีช่วยให้เด็กสามารถเรียนที่บ้านได้, ตัวละครดาราที่ประชาสัมพันธ์ขอความช่วยเหลือให้คนบริจาคเงิน, ตัวละครพระที่อาสาเป็นสะพานบุญขอให้ญาติโยมบริจาคเงินช่วยเด็กยากจน, ตัวละครที่มีเส้นสาย ติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐมนตรี, ตัวละครนักข่าวที่ทำข่าวเพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นปัญหา หรือแม้แต่ตัวละครโดราเอมอนที่ใช้ของวิเศษเพื่อเอาชนะความเหลื่อมล้ำ

หลังจากที่ละครสั้นจบ ผศ.ดร.ธานี อธิบายความสำคัญของกิจกรรมนี้ เพื่อเน้นให้เห็นว่าอารมณ์มีความสำคัญมากในการออกแบบนโยบายเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในสังคม และความท้าทายที่เกิดขึ้นเมื่อความรู้สึกของคนแตกต่างหลากหลายกันไป

“กิจกรรมสุดท้ายตั้งใจให้เห็นว่า เราสามารถแปลงอารมณ์ออกมาเป็นการกระทำได้ ความสำคัญคือ ในบางครั้ง มุมมองและการรับรู้ของแต่ละคนสัมพันธ์กับอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วย อารมณ์จึงสำคัญมากกว่าที่เราคิด”

“เวลาเรานึกถึงการออกแบบที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง (people center) ถ้าเราทำให้คนร่วมมีอารมณ์ความรู้สึกเดียวกันโดยไม่ต้องต่อรองกับความรู้สึกอื่น จะเกิดเป็นโยบายหรือการกระทำที่มีจุดร่วมภายใต้อารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ …”

“… ถ้าทุกคนโกรธก็อาจแสดงออกมาเป็นการชุมนุมประท้วง ถ้าทุกคนกลัวก็จะเกิดความพยายามแสวงหาความจริงเพื่อแก้ความกลัว ถ้าทุกคนมีความสุข ก็อยากจะแบ่งปันความสุข”

“เราจะเห็นว่าในสังคมไทย ความยากในการแก้ปัญหาก็คือคนมีอารมณ์หลากหลายมาก การรวมตัวจึงเป็นไปได้ยาก ถ้าเราสามารถจัดกลุ่มอารมณ์ความรู้สึกที่คนมีคล้ายกันก็จะทำให้นโยบายออกมาเป็นรูปธรรม และอาจทำให้สังคมดีขึ้นได้”

ผศ.ดร.ธานี บอกอีกว่า สิ่งที่อยากฝากไปหลังจากที่ออกจากห้องเวิร์กชอปคือ ให้ลองสังเกตุอารมณ์ตัวเองดู เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่อยู่กับเราตลอดเวลาไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรอยู่ก็ตาม เมื่อเริ่มรู้จักรู้สึกกับอารมณ์ของตัวเองแล้ว ให้รับรู้ไว้ด้วยว่า ในเรื่องเดียวกัน อารมณ์ของคนอื่นอาจจะไม่เหมือนกับเรา

 

“นี่คือหัวใจของสังคมมนุษย์ เป็นทั้งสีสัน เป็นทั้งความยาก”

ท้ายสุดของเวิร์กชอปเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ถามคำถามกับทางกระบวนกร หนึ่งในประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาคือความท้าทายของการทำให้ทุกคนรับรู้ว่ามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งคนแต่ละชนชั้นก็รู้สึกแตกต่างกันไป บ้างก็เฉยๆ บ้างก็ยอมรับ บ้างก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา การสร้างความเข้าใจร่วมจึงเป็นไปได้ยาก หนึ่งในผู้เข้าร่วมแบ่งปันทัศนะของตัวเองต่อประเด็นนี้บนฐานแนวคิดเชิงจิตวิทยา เธอมองว่า จริงๆ แล้วอาการ “เฉยๆ” ของคนเรานั้นอาจไม่มีอยู่จริง เพียงแต่มีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เขาหรือเธอไม่อาจแสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ภายในลึกๆ ออกมาได้ การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอาจต้องเริ่มจากการมองให้เห็นเงื่อนไขที่ว่าก่อน

“ในทางจิตวิทยา อารมณ์เฉยๆ เป็นสิ่งที่ไม่มีในโลก แต่มันคือพฤติกรรมสุภาพของการปกปิดบางอย่าง ดังนั้นเราจำเป็นต้องสืบให้ถึงสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งของแต่ละคน ว่าอะไรที่ทำให้เขาแสดงออกมาไม่ได้ อาจเป็นสภาพเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม บริบทแวดล้อม ถ้าอยากให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง แปลว่าเราต้องตอบโจทย์ในใจที่เขาต้องการ ถ้าต้องการให้คนลงถนนประท้วง แปลว่าการลงถนนมันต้องเกิดผลบางอย่างในใจของเขา ถ้าอยากให้เขาลุกขึ้นมามองเห็นว่ามีคนยากลำบาก ก็จะต้องดูว่าเขาจะได้อะไรจากการกระทำนั้น การที่คนบางคนรู้สึกเฉยๆ มองไม่เห็นความยากลำบากของคนอื่น มองว่าเป็นเรื่องปกติที่คนมีโอกาสย่อมก้าวได้ไกลกว่า อาจเป็นเพราะเขาไม่เคยมองเห็นคนยากลำบาก เวลาเราทำงานกับสังคม …”

“… จริงๆ แล้วคนรวยไม่ได้ใจร้าย เพียงแต่เขาไม่รู้ เพราะชีวิตเขาแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนอื่นเลย เขาเลยไม่รู้ว่าความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างไร …”

“… เพราะในนิเวศน์ของเขา เรื่องนี้ไม่กระทบกับชีวิต ต่างกันกับคนระดับล่าง ถ้าอยากให้คนระดับสูงลงมือทำ ก็ต้องสืบที่มาที่ไปว่าเราจะต้องตอบสนองอะไรจึงจะสร้างสะพานให้คนสองกลุ่มมาเจอกันได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”

 

 

เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา

(The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die)

Keith Payne เขียน

วิทย์ วิชัยดิษฐ แปล

อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา