รวม misc – The Broken Ladder ในสังคมเหลื่อมล้ำ ที่คนไม่เท่ากัน

ทำไมต้องอ่าน The Broken Ladder?

The Broken Ladder ฉบับภาษาอังกฤษ

“ความไม่เท่าเทียม” และ “ความเหลื่อมล้ำ” ช่องว่างที่ไม่อาจข้ามไปในโลกนี้นับวันยิ่งถ่างกว้างกว่าที่ใครจะเคยคาดคิดว่าเป็นไปได้ และที่น่าสะพรึงกลัวกว่านั้นคือช่องว่างดังกล่าวไม่ได้ปรากฏเพียงในพรมแดนรูปธรรมอย่างฐานะทางเศรษฐกิจหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเท่านั้น ทว่าขยายวงกัดกินพรมแดนที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาอย่างความคิดและความรู้สึกด้วย

งานวิจัยด้านจิตวิทยา ประสาทวิทยาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเผยข้อเท็จจริงน่าประหลาดใจ คือหลายครั้งความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงและเรื้อรังเท่ากับ “ความเหลื่อมล้ำที่รู้สึก” เมื่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมบิดผันวิธีคิดและมุมมองของบุคคล มันกำลังสร้างมโนทัศน์ว่าด้วยความแตกต่างและห่างชั้นจากผู้อื่นซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจของเขาหรือเธอต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกข้างทางการเมือง หรือการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน

The Broken Ladder หรือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา จะโต้แย้งสมมติฐานอันเป็นเท็จที่ว่าความด้อยกว่าของสถานะทางเศรษฐกิจเป็นผลจากความล้มเหลวส่วนบุคคล และย้ำว่า “การรู้สึกจน” ก็ขมขื่นเข้มข้นได้เท่ากับ “ความจนจริงๆ” เพื่อตอบคำถามว่าทำไมหญิงสาวในชุมชนข้นแค้นจึงมีลูกมากกว่า ทำไมคนรากหญ้าจึงไม่นิยมลงทุนเพื่อประโยชน์ในระยะยาว ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานะของตนเองในสังคมนำไปสู่การกำหนดอัตลักษณ์ทางการเมืองอย่างไร และทำไมชนชั้นกลางทั้งหลายจึงรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง

 

จดหมายถึงผู้ว่าฯ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำกัดกินชีวิตชาวกรุงเทพฯ มาเนิ่นนาน เราเห็นตึกระฟ้าหรูหราอยู่คู่กับแหล่งชุมชน เห็นคนจนเดินถนนข้างรถหรู ในเมืองฟ้าเมืองสวรรค์แห่งนี้ เศรษฐีเสวยสุขบนกองเงินกองทอง ชนชั้นกลางดิ้นรนไขว่คว้าฝัน คนยากจนปากกัดตีนถีบเพื่อมีชีวิตรอดในแต่ละวัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คาราคาซังนี้เป็นความผิดของใครกันแน่ เพราะขี้เกียจ? เป็นบุญวาสนา? เป็นเวรเป็นกรรม? แล้วในสังคมพิกลการนี้ ใครเล่าคือเหยื่อที่แท้จริง หรือเขาคือเหล่าคนจนผู้อยู่ ณ ฐานล่างสุดของพีระมิด

หรืออันที่จริงเราทุกคนล้วนตกเป็นเหยื่อของสภาพสังคมอันเลวร้ายและเหี้ยมโหดนี้

คีธ เพย์น (Keith Payne) นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา ชี้ว่า

แง่มุมสำคัญของความเหลื่อมล้ำก็คือ ขณะยืนอยู่กับที่เราก็อาจรู้สึกว่าตามคนอื่นไม่ทันได้ เพราะคนรอบตัวเราต่างก้าวไปข้างหน้ากันหมด สังคมเหลื่อมล้ำจึงกัดกร่อนกัดกินคนเราไม่เฉพาะในแง่มุมทางเศรษฐกิจ แต่ลึกซึ้งถึงระดับจิตใจ

มนุษย์ทุกคนล้วนมีความปรารถนาสถานะทางสังคมซ่อนอยู่ในใจ และเปรียบเทียบทางสังคมระหว่างตนเองกับผู้อื่นอยู่เสมอ “บันไดสถานะ” (status ladder) คือมุมมองส่วนบุคคลต่อสถานะทางสังคมโดยเปรียบเทียบกับผู้อื่น ขั้นบันไดสถานะนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ความมี” หรือ “ไม่มี” ของเราแต่อย่างใด

ในสังคมที่เหลื่อมล้ำ มนุษย์ผู้โหยหาสถานะทางสังคมย่อมรู้สึก “ขาด” ได้มากกว่าเดิม เราไม่ได้ตอบสนองต่อความเหลื่อมล้ำโดยพิจารณาจากเงินที่เรามี แต่จากตำแหน่งแห่งที่ของเราเมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่น แม้เมื่อเราหาเงินได้มากขึ้น เราก็อาจพึงพอใจน้อยลง เพราะเมื่อปีนบันไดสูงขึ้น ผู้คนรอบตัวที่เราเปรียบเทียบด้วยก็เปลี่ยนไป สิ่งที่เราใช้เปรียบเทียบก็จะเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นเราจึงอาจรู้สึกจนได้ แม้เมื่อไม่ได้ยากจนลงจริงๆ เสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ สังคมเหลื่อมล้ำจึงกระทบต่อผู้คนทั้งหมดในสังคม ไม่ว่าจะยากดีมีจนสักเพียงไร

คนเราไม่ได้ “จน เครียด กินเหล้า” เพราะโง่งม ขลาดเขลา ไร้ความรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองหรอก แต่สังคมที่เหลื่อมล้ำทอดทิ้งให้ผู้คนอยู่บนบันไดที่หักพัง ติดบ่วงการเปรียบเทียบทางสังคม ติดกับดัก “ความรู้สึกจน” ที่กัดกร่อนจนชีวิตไร้สุข

สังคมเหลื่อมล้ำจึงเป็นปัญหาสำหรับเราทุกคนผู้เป็นประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่บนขั้นบันไดนี้ และเราจึงต้องเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ หันมาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ แต่เพื่อสร้างสังคมที่คนเราจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และไม่ใช่เพียงเพื่อคนจนผู้ยากไร้ แต่เพื่อสมาชิกทุกคนในสังคม

 

คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น

คุณจนหรือเปล่า? แล้วคุณรู้สึกจนบ้างไหม?

คุณเล่นหวยหรือเปล่า? แล้วคุณเล่นหวยด้วยความรู้สึกอย่างไร?

จาก “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ถึง “จน เครียด กินเหล้า” นานาวาทธรรมในสังคมดูจะเห็นพ้องกันว่าคนจนมีโอกาสจะ “เล่นหวย” “กินเหล้า” “มีลูกเร็ว” หรือกระทำนานาพฤติกรรมที่เสี่ยงส่งผลเสียต่อตัวเองในระยะยาวมากกว่าคนที่มีฐานะทางสังคมดีกว่า แต่เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

เพื่อตอบคำถามนี้ เราอยากชวนให้นึกถึงอาชีพที่ความเสี่ยงสูงลิ่วอย่างการค้ายาเสพติด คนทั่วไปมักคิดว่าการค้ายาเสพติดเป็นวิธีรวยทางลัด แต่สุธีร์ เวงกเฎศ (Sudhir Venkatesh) นักสังคมวิทยาที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์ของการค้ายาเสพติด พบว่าผู้ค้ายาเสพติดทั่วไปมีรายได้ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำในสมัยนั้น แต่กลับเลือกเสี่ยงค้ายาเสพติดต่อไป

ถ้าหากเข้าแก๊งแล้วไม่รวย แถมยังต้องทำงานอันตราย พวกเขาจะทำไปทำไมกัน

คำตอบก็คือมีสมาชิกแก๊งตัวท็อปสองสามคนได้รับรายได้หลายแสนดอลลาร์ต่อปีอยู่อย่างไรเล่า พวกเขาอวดร่ำอวดรวยด้วยการขับรถหรู ใส่เสื้อผ้าหรูหรา สวมเครื่องประดับแวววาว และมีผู้ติดตามเมื่อไปไหนมาไหน

สมาชิกทั่วไปของแก๊งไม่ได้มองชีวิตกันและกันแล้วคิดว่างานนี้ไม่ได้เรื่อง แต่มองไปเบื้องบนและจินตนาการว่าชีวิตตัวเองจะสบายขึ้นได้อย่างไรบ้าง แม้ว่าความจริงแล้วโอกาสประสบความสำเร็จจะน้อยมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ แต่โอกาสก้าวสู่ความยิ่งใหญ่แม้เพียงน้อยนิดก็ผลักดันให้สมาชิกแก๊งพร้อมรับความเสี่ยงมหาศาลได้แล้ว

ยิ่งความเหลื่อมล้ำถ่างกว้าง และตนเองตกอยู่ในสภาวะที่ “ไม่มีอะไรจะเสีย” มากเท่าไร โอกาสที่จะอุดช่องว่างทางชนชั้นที่ปีนป่ายทั้งชีวิตไม่ถึงได้ในพริบตาเดียวด้วยเงินก้อนโตก็ยิ่งหอมหวาน

นักจิตวิทยานาม มิตช์ คัลแลน (Mitch Callan) และคณะ ทดสอบแนวคิดนี้โดยให้ผู้เข้าร่วมตอบคำถามหลายข้อเกี่ยวกับตนเองรวมถึงเรื่องการเงิน และบอกว่าคอมพิวเตอร์จะคำนวณว่าผู้เข้าร่วมมีเงินแค่ไหนเทียบกับคนอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับตนเอง

อันที่จริงเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้ทำการคำนวณใดๆ แต่สุ่มแสดงผลลัพธ์ให้ผู้เข้าร่วมครึ่งหนึ่งเห็นว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่มที่มีเงินมากกว่าคนอื่น และบอกอีกกลุ่มว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่มเงินน้อย จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมตัดสินใจทางการเงินระหว่างตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนน้อยแต่ได้เร็ว หรือให้ผลตอบแทนมากแต่ได้ช้า ผลการวิจัยพบว่า เมื่อรู้สึกว่าตนยากจน ผู้เข้าร่วมจะเอนเอียงไปทางความรวดเร็ว โดยเลือกตอบสนองความต้องการทันที แต่เมื่อรู้สึกว่าตนรวยกว่าผู้อื่น ผู้เข้าร่วมจะมองการณ์ไกลมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังมอบเงินให้ผู้เข้าร่วม 20 ดอลลาร์ และให้เลือกระหว่างจะเก็บเงินกลับบ้าน หรือใช้เงินเล่นพนันเพื่อให้ได้เงินเพิ่มทวีคูณหรืออาจเสียไปทั้งหมด ร้อยละ 60 ของกลุ่มผู้เข้าร่วมที่รู้สึกว่าตนรวยกว่าผู้อื่นตัดสินใจเล่นพนัน ส่วนกลุ่มที่รู้สึกว่าตนยากจนกว่าผู้อื่นเล่นพนันถึงร้อยละ 88 ทั้งๆ ที่ข้อมูลที่นักวิจัยแจ้งผู้เข้าร่วมไม่ได้เกี่ยวข้องกับสภาพทางการเงินจริงๆ ของแต่ละคนเลยด้วยซ้ำ แต่แค่ความรู้สึกยากจนก็ทำให้คนพร้อมจะเสี่ยงโชคมากขึ้นได้แล้ว

เราเห็นแนวโน้มเช่นนี้ได้ในสัตว์ชนิดต่างๆ ด้วย ในยามปกติ ผึ้งจะเลือกไปหาอาหารในทุ่งดอกซีบลัชซึ่งมีน้ำหวานไม่มากนักแต่ทุกดอกมีน้ำหวานเท่าๆ กัน (ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ) ทว่าในยามขาดแคลน ผึ้งจะเลือกไปยังทุ่งดอกฮักเคิลเบอร์รีแคระที่บางดอกมีน้ำหวานมาก ส่วนบางดอกไม่มีน้ำหวานเลย (ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง) ซึ่งชี้ว่า วิวัฒนาการทำให้สิ่งมีชีวิตตัดสินใจตามความจำเป็นได้ตามสถานการณ์ หากตกอยู่ในสภาวะจนตรอกในสังคมที่เหลื่อมล้ำ เรามีแนวโน้มจะเลือกตัวเลือกที่ได้ผลดีในระยะสั้น หรือเสี่ยงสูงค่าตอบแทนสูงมากกว่าในกรณีอื่น

จึงไม่แปลกที่ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูง คนไม่กี่เปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของรายได้ส่วนใหญ่ รวมทั้งยึดครองพื้นที่บนสื่อหลัก คนทั่วไปที่มองขึ้นไปจะ “รู้สึกจน” และมองไม่เห็นหนทางจะปีนป่ายบันไดสถานะที่หัก จึงเลือก “เล่นหวย” ยอมเสี่ยงเสียเงินต้นทั้งหมดเพื่อลุ้นเงินก้อนใหญ่ในทันที แทนที่จะเก็บเงินไว้สำหรับแผนการในระยะยาว – เพราะถ้าโชคดีก็คงเปลี่ยนชีวิตได้ แต่ถ้าโชคร้าย ชีวิตก็คงไม่อาจเลวร้ายลงจากปัจจุบันได้อีกสักเท่าไรหรอก

 

เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา

The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die

Keith Payne เขียน

วิทย์ วิชัยดิษฐ แปล

ยุทธภูมิ ปันฟอง ออกแบบปก

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่