นันท์ชนก คามชิตานนท์ เรื่อง
ความรู้สึกยากจนบนบันไดสถานะ
เมื่อกล่าวถึง “ความเหลื่อมล้ำ” หลายคนคิดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมหรือปัญหาความยากจน แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญของสังคมเหลื่อมล้ำ แต่นอกจากปัญหาในเชิงเศรษฐกิจแล้ว สังคมเหลื่อมล้ำยังสร้างปัญหาในเชิงจิตวิทยาด้วย
เมื่อมองผ่านแว่นจิตวิทยา ปัญหาในสังคมเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเพียง “ความยากจน” แต่ยังมี “ความรู้สึกยากจน” ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้เมื่อรายได้หรือสถานะทางเศรษฐกิจไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด
แล้วความรู้สึกยากจนนี้เกิดจากอะไร มนุษย์ทุกคนล้วนมีความปรารถนาสถานะทางสังคมซ่อนอยู่ในใจ เราโหยหาสถานะที่สูงขึ้น และเปรียบเทียบทางสังคมระหว่างตนเองและผู้อื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว เราจึงอาจรู้สึกว่าตัวเองสูงส่งหรือต่ำต้อยเมื่อเฝ้ามองผู้อื่น แม้เมื่อไม่ตั้งใจหรือไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ เช่น เวลาพลิกดูหน้านิตยสารหรืออินสตาแกรม จิตไร้สำนึกของเราเปรียบเทียบตัวเรากับผู้คนและวิถีชีวิตที่เรามองเห็นอยู่ตลอดเวลา
“บันไดสถานะ” (status ladder) คือมุมมองส่วนบุคคลต่อสถานะทางสังคมโดยเปรียบเทียบกับผู้อื่น หรือคนเรามองตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองอยู่ระดับไหนเมื่อเทียบกับคนรอบตัว ขั้นบันไดสถานะนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ความมี” หรือ “ไม่มี” ของเราแต่อย่างใด
ในสังคมที่เหลื่อมล้ำ มนุษย์ผู้โหยหาสถานะทางสังคมย่อมรู้สึก “ขาด” ได้มากกว่าเดิม เราตอบสนองต่อความเหลื่อมล้ำโดยไม่ได้พิจารณาจากเงินที่เรามี แต่จากตำแหน่งแห่งที่ของเราเมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่น
เพราะฉะนั้น แม้เมื่อเราหาเงินได้มากขึ้น เราก็อาจพึงพอใจน้อยลง เพราะเมื่อปีนบันไดสูงขึ้น ผู้คนรอบตัวที่เราเปรียบเทียบด้วยก็เปลี่ยนไป สิ่งที่เราใช้เปรียบเทียบก็จะเปลี่ยนไปด้วย เพราะเหตุนี้เอง หากมองในเชิงจิตวิทยา สังคมเหลื่อมล้ำจึงกระทบต่อผู้คนทั้งหมดในสังคม ไม่ว่าจะรวยหรือจน
nature vs nurture
สังคมที่ยึดความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าของคน (meritocracy) เชื่อว่าความสำเร็จเป็นผลของความขยัน ความรับผิดชอบ และความเก่ง ความฉลาดเป็นผลจากพันธุกรรม หากขาดคุณลักษณะเหล่านี้ เราก็หนีไม่พ้นวังวนของความยากจน การขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนั้น คนจนยังมีวัฒนธรรมต่างจากชนชั้นกลางเรื่องความขยัน ความรับผิดชอบ และการพึ่งพาตนเอง ซึ่งตอกย้ำซ้ำเติมวังวนเดิมๆ ให้สาหัสขึ้นไปอีก
จริงอยู่ที่คุณลักษณะอันบกพร่องทั้งหลายก่อให้เกิดความยากจน คนที่ฉลาดและมีความพยายามเป็นเลิศย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนไร้เชาวน์ปัญญาที่ขี้เกียจ ทว่าวิธีมองเช่นนั้นก็เป็นการมองข้ามอิทธิพลของสภาพแวดล้อมจนเกินไป หากมองให้กว้างขึ้น เราจะสามารถอธิบายพฤติกรรมบั่นทอนตัวเองโดยพิจารณาสถานการณ์ร่วมด้วย เช่น เด็กยากจนเรียนไม่ดีก็เพราะโรงเรียนไม่มีเงินจ้างครูเก่งๆ หรือคนจนมีปัญหาสุขภาพเพราะไม่ได้บริโภคอาหารที่มีประโยชน์
ธรรมชาติและการเลี้ยงดูล้วนส่งผลร่วมกัน คำถามที่สำคัญ ณ ที่นี้จึงเป็น ธรรมชาติมนุษย์เตรียมให้มนุษย์ตอบสนองอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมที่อุดมด้วยทรัพยากรหรือขัดสน และต่อภาวะความเหลื่อมล้ำสูงหรือต่ำ เมื่อพิจารณาในมุมนี้ เราจึงจะได้รู้ว่า ทำไมคนที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยจึงจะเลือกทำบางอย่างต่างออกไปหากเขาเกิดในครอบครัวยากจน และทำไมคนในสภาพแวดล้อมที่ความเหลื่อมล้ำสูงจึงมีพฤติกรรมต่างจากคนในสภาพแวดล้อมที่เท่าเทียม จากนั้นเราก็จะพิจารณาต่อได้ว่าว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำเปลี่ยนแปลงเราอย่างไรบ้าง
ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว
นักชีววิทยาวิวัฒนาการเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตสัตว์ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้วยยุทธศาสตร์สองแบบ แบบแรกคือ “ยุทธศาสตร์แบบช้า” ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ส่วนแนวทางที่สองเรียกว่า “ยุทธศาสตร์แบบเร็ว” ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ “ใช้ชีวิตให้เต็มที่อีกไม่นานก็ตายแล้ว” (live fast, die young)
ผีเสื้อในพื้นที่ซึ่งมีผู้ล่าจำนวนมากจะสืบพันธุ์เร็ว ใช้พลังงานเพื่อการเติบโตน้อยลง และใช้พลังงานเพื่อสืบพันธุ์มากขึ้น ส่วนผีเสื้อสปีชีส์เดียวกันในพื้นที่ซึ่งมีผู้ล่าน้อยจะมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานกว่าและใช้ยุทธศาสตร์อีกแบบ คือเริ่มสืบพันธุ์ช้า
ในทำนองเดียวกัน มีนักวิจัยเสนอด้วยว่าผู้หญิงที่เติบโตในสภาพแวดล้อมลำบากจะมีลูกเร็วและบ่อย โดย “ยุทธศาสตร์” นี้ไม่ใช่การตัดสินใจเลือก แต่เป็นการตอบสนองต่อความแน่นอนหรือไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อม ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทั้งทางกายและใจของพวกเธอกับโลกภายนอกและผู้อื่น เด็กผู้หญิงที่เติบโตในสภาพแวดล้อมอันแร้นแค้น อันตราย หรือสับสนอลหม่าน จะเป็นสาวและเริ่มมีประจำเดือนเร็วกว่าเด็กผู้หญิงที่เติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางอันมั่นคง หรือกล่าวได้ว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มมีลูกเร็วเพราะเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าคนอื่นนั่นเอง การคาดการณ์นี้นับเป็นการเสนอว่าสภาพแวดล้อมทางบ้านไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนเราเท่านั้น หากยังส่งผลต่อร่างกายด้วย
การสลับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แบบช้าและเร็วในกลุ่มมนุษย์นั้นพบได้มากกว่าที่คิด และส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้คนในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ด้วย เช่น การตัดสินใจทางการเงิน ที่ปรึกษาทางการเงินมักบอกว่า หากเรางดซื้อกาแฟในแต่ละวันและเก็บเงินสามดอลลาร์แทน เราจะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1,000 ดอลลาร์ แต่ถ้าเราต้องตัดสินใจเลือกทุกวันระหว่างการมีเงิน 1,000 ดอลลาร์ในธนาคารตอนสิ้นปี กับการได้ดื่มกาแฟลาเต้ตอนนี้เลย เราจะเลือกอะไร
เรายังประเมินแบบเดียวกันนี้เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต เช่น เราควรลงทุนและเวลาไปเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นในระยะยาว หรือทำงานที่ได้เงินเดือนแน่นอนเดี๋ยวนี้เลยดีกว่า เราควรทำงานทั่วไปและเล่นตามกฎ แม้จะต้องลำบากทางการเงินไปทั้งชีวิต หรือไปขายยาเสพติดจะดีกว่า หากเลือกยาเสพติด เราอาจสูญเสียทุกอย่างในระยะยาว ทั้งหมดตัว ติดคุก หรือตาย แต่ก็อาจหาเงินได้มหาศาลในวันนี้
อย่างไรก็ตาม แม้เมื่อไม่ได้ประสบสภาพแวดล้อมแร้นแค้นอย่างแท้จริง เพียงความรู้สึกยากจนแม้ชั่วขณะก็อาจทำให้คนเรามองไม่เห็นการณ์ไกล และตัดสินใจแบบใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้วได้เช่นกัน
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมระบุว่า การตัดสินใจแบบมีเหตุผลคือการทำให้ตนเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด ทว่าการคำนวณหาทางเลือกที่ดีที่สุดในสภาพแวดล้อมอันแปรปรวนเป็นเรื่องซับซ้อน หากความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เราก็จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ก็จะทำให้เราตัดสินใจสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือชนชั้นกลาง ความเหลื่อมล้ำก็อาจทำให้เรามีพฤติกรรมเสี่ยงได้ทั้งสิ้น
เราได้เห็นผลของความเหลื่อมล้ำต่อพฤติกรรมของคนเราแล้ว มาดูกันว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมเช่นไรบ้าง
ความเหลื่อมล้ำกับความแตกแยกทางการเมือง
แนวคิดทางการเมืองแบ่งออกได้เป็นสองขั้วหลักๆ คือฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยม ฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นผลจากการให้ความสำคัญต่อสิทธิ ความสามารถ และความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล เมื่อมนุษย์แต่ละคนเอาชนะผู้อื่นได้ ก็ย่อมเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นไม่มากก็น้อย ฝ่ายอนุรักษนิยมมิได้ชื่นชอบการแบ่งชนชั้นทางสังคม พวกเขาแค่ไม่เดือดร้อนกับเรื่องชนชั้นมากนัก พวกเขาเชื่อว่าความสามารถและความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลนั้นทรงพลัง คนที่เก่งกาจจะสามารถหลุดพ้นความยากจนและด้อยโอกาสแล้วก้าวไปประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้เอง
ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมเองก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องสิทธิ ความรับผิดชอบส่วนบุคคล หรือการแข่งขันของตลาด เพียงแต่มองว่าคุณสมบัติของบุคคลเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวในตลาดที่มีการแข่งขัน คนที่ชีวิตเริ่มต้นจากศูนย์ส่วนใหญ่ก็มักจะยากจนไปตลอดชีวิต ส่วนคนที่เกิดมาร่ำรวยก็มักจะร่ำรวยไปตลอดชีวิต ฝ่ายเสรีนิยมจึงมักมองระบบเศรษฐกิจเป็นองค์รวมมากกว่ามองผู้เล่นรายบุคคล โดยคิดคำนึงถึงปัจจัยอย่างการผูกขาด การเล่นเส้นสาย การเหยียดเชื้อชาติหรือเพศในระดับสถาบัน และวัฏจักรการได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งล้วนกำหนดผลลัพธ์ให้ผู้คนโดยไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติส่วนตัวของพวกเขาเลย ฝ่ายเสรีนิยมมองว่าทั้งนโยบายของรัฐบาลและกลไกตลาดต่างเป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาสังคม ที่แม้จะมีประโยชน์แต่ก็มีส่วนบกพร่อง
ที่สุดแล้วทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยมก็เห็นพ้องต้องกันว่าความรับผิดชอบ ความสามารถ และความขยันเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ อีกทั้งยังเห็นตรงกันว่าบริบทก็สำคัญเช่นกัน ทว่าสิ่งสำคัญในมุมมองของฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงปัจจัยเสริมในมุมมองของอีกฝ่าย เมื่อมองที่ระบบ เราย่อมเห็นชนชั้นและความเหลื่อมล้ำชัดเจน ทว่าเมื่อมองที่ปัจเจกบุคคล ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำก็กลายเป็นเรื่องช่วยไม่ได้
เรามักคิดว่าคนจนส่วนมากเป็นพวกอนุรักษนิยม ส่วนคนรวยส่วนมากเป็นพวกเสรีนิยม แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า การตัดสินใจทางการเมืองอย่างขึ้นอยู่กับว่าเรามีเงินเท่าไร ยิ่งรายได้สูงเท่าไร ก็ยิ่งสมเหตุสมผลที่จะสนับสนุนการลดภาษีและลดการกระจายความมั่งคั่ง และยิ่งรายได้น้อยเท่าไร ก็ยิ่งมีแรงจูงใจให้สนับสนุนการเก็บภาษีสูงขึ้นและกระจายความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ในกรอบคิดเช่นนี้ คนเราดูเหมือนจะประพฤติตามภาพลักษณ์ของมนุษย์ผู้มีเหตุผลและใช้ความคิดเพื่อตัดสินใจโดยพิจารณาผลประโยชน์ส่วนตนด้านเศรษฐกิจ ทว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้อย่างแท้จริงว่าตนเองจะได้ผลประโยชน์อะไรจากนโยบายของแต่ละขั้วการเมือง เมื่อความรู้สึกนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วย หากอาศัยในเมืองยากจนและมีรายได้ปีละ 200,000 ดอลลาร์ เราย่อมรู้สึกว่าตนรวยกว่าคนรอบตัวส่วนใหญ่ แต่ถ้าอาศัยในแมนฮัตตันและมีรายได้เท่ากันนี้ เราอาจรู้สึกว่าตนเป็นแค่ชนชั้นกลาง
การเปรียบเทียบทางสังคมเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อวิธีคิดถึงประเด็นทางการเมืองมากกว่าตัวทรัพย์สินจริงๆ ความรู้สึกว่ารวยหรือจนกว่าคนอื่นในกลุ่มเดียวกัน หรือการเปรียบเทียบทางสังคม ส่งผลให้ความเชื่อทางการเมืองของคนเราแตกต่างกัน สุดท้ายคนเราก็ลงคะแนนเสียงเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน ทั้งที่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าอะไรที่เป็นประโยชน์สำหรับตน
ความเหลื่อมล้ำกับความเป็นความตาย
ความยากจนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ด้วยหลายสาเหตุ นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า ตำแหน่งบนบันไดสถานะสามารถพยากรณ์สุขภาพของพวกเขาได้ดีกว่ารายได้หรือระดับการศึกษาจริงๆ เสียอีก สถานะทางอาชีพส่งผลต่อมุมมองส่วนบุคคลเรื่องสถานะทางสังคม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอีกทอดหนึ่ง
ดังนั้นในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง ประชาชนจึงสุขภาพย่ำแย่ไปด้วย ข้อมูลจากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่มีความเท่าเทียมทางรายได้สูงจะมีอายุคาดเฉลี่ยสูงด้วย
ทว่าความเหลื่อมล้ำหรือการเปรียบเทียบทางสังคมส่งผลต่อสุขภาพได้อย่างไรกันแน่
ความเหลื่อมล้ำนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง เมื่ออนาคตไม่แน่นอน คนเราก็พร้อมมองโลกแบบหุนหันพลันแล่น และเลือกทางเดินชีวิตตามแนวคิดแบบใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว แรงกระตุ้นให้โหยหาความสุขแบบฉับพลันทันทีเกี่ยวโยงชัดเจนกับการปฏิเสธเรื่องผลประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาว ในพื้นที่ที่ความเหลื่อมล้ำสูงมาก ประชากรจะมีแนวโน้มใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์มากขึ้น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ บริโภคอาหารมากเกินไป และออกกำลังกายน้อยเกินไปด้วย
ดังนั้นความเหลื่อมล้ำจึงไปสู่ความเจ็บป่วยและอายุขัยที่สั้นลงได้
นอกจากนั้น ความเครียดเป็นวิธีตอบสนองของร่างกายต่อวิกฤตเฉพาะหน้าโดยละเลยผลเสียระยะ ความเครียดทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง เรามักมองว่าการตอบสนองของร่างกายเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายใดๆ ทว่าฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในช่วงเครียดเป็นเหมือนยาฤทธิ์แรงที่ร่างกายผลิตได้เอง ฮอร์โมนความเครียดที่ร่างกายเราสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติก็เหมือนยาชนิดอื่นๆ ที่ปลอดภัยหากใช้เป็นครั้งคราวและเป็นเวลาสั้นๆ แต่ร่างกายเรามักไม่ได้ทำเช่นนั้น
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างสถานะทางสังคมกับความเครียด ความยากลำบากทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคมที่ต่ำต้อยก่อให้เกิดความเครียดต่อร่างกายได้ และสุดท้ายก็จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในทีสุด
ความเหลื่อมล้ำกับความเชื่อ
ประชากรในประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงจะเคร่งศาสนามากกว่าประเทศที่เท่าเทียม คนทั่วไปจะรู้สึกว่าตนเองยากจนและต้อยต่ำเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งเหลื่อมล้ำสูง เมื่อรู้สึกไร้อำนาจหรือถูกทอดทิ้ง คนเราก็มักจะยึดมั่นในระบบความเชื่อที่ทำให้โลกนี้ดูยุติธรรม คาดเดาได้ และมีความหมาย
เมื่อความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ทุกคนจะรู้สึกมั่นคงน้อยลงและศาสนาก็ดึงดูดใจมากขึ้น คนเรามักจะหันไปหาระบบความเชื่อตามที่ตนถูกเลี้ยงดูมาเมื่อรู้สึกหวาดหวั่นต่อโลก
ในทางกลับกัน เมื่อสังคมร่ำรวยและเศรษฐกิจพัฒนาขึ้น ศาสนาก็จะเริ่มเสื่อมคลาย ยิ่งประเทศร่ำรวยขึ้น ศาสนาก็ยิ่งสำคัญต่อชีวิตของประชาชนทั่วไปน้อยลง เพราะเมื่อประชาชนรู้สึกมั่นคงในเชิงวัตถุ ก็ยิ่งต้องการศาสนาเพื่อปลอบประโลมใจน้อยลงเท่านั้น
ความเหลื่อมล้ำกับอคติต่อเชื้อชาติ
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นการราดน้ำมันลงบนกองเพลิงของอคติต่อเชื้อชาติ อีกทั้งการเหมารวมทางเชื้อชาติก็ช่วยสร้างความชอบธรรมและรักษาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ไว้
การอยู่ในตำแหน่งที่เสียเปรียบหรือได้เปรียบสามารถเพิ่มอคติต่อเชื้อชาติได้ ลองนึกภาพบริษัทสองแห่งที่มีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติ บริษัท ก ค่อนข้างสบายๆ ไม่มีลำดับขั้นเท่าไรนัก อย่างบริษัทสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีในซิลิคอนแวลลีย์ที่มีโต๊ะปิงปอง ลานเบียร์ และสกูตเตอร์ให้ขี่ไปมาในออฟฟิศ แม้จะมีเจ้านาย แต่เธอก็ใส่กางเกงยีน นั่งโต๊ะรวม ทำงานโดยใช้ไอแพดเหมือนคนอื่น ไม่มีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน พนักงานทำงานเป็นทีมที่รวมตัวอย่างหลวมๆ เพื่อทำงานแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน และสลายทีมเมื่อย้ายจากโครงการหนึ่งไปอีกโครงการหนึ่ง
บริษัท ข เป็นแบบดั้งเดิม ซึ่งมีลำดับขั้นและสายการบังคับบัญชาชัดเจน ผู้บริหารระดับสูงนั่งอยู่ที่ห้องมุมออฟฟิศ ออกคำสั่งกับผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งจะส่งต่องานไปตามลำดับ หากพนักงานมีปัญหาก็ห้ามทำอะไร “ข้ามหัวนาย” เป็นอันขาด
ลำดับชั้นในบริษัทที่สองเอื้อให้เกิดอคติและความขัดแย้ง พนักงานแต่ละคนล้วนเป็นเจ้านายหรือไม่ก็ลูกน้อง ลำดับขั้นเช่นนี้เน้นย้ำความแตกต่างของสถานะตลอดเวลา ในระดับประเทศหรือรัฐก็เช่นกัน หากมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงจะให้ความสำคัญกับสถานะและลำดับขั้นเป็นพิเศษ เมื่อคิดตามเหตุผลแล้วพวกเขาก็น่าจะมีอคติต่อเชื้อชาติสูงเช่นกัน
นอกจากนั้น อคติต่อเชื้อชาติยังหล่อเลี้ยงให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้คงอยู่ต่อไป มีงานวิจัยที่ศึกษาว่ารัฐใดในสหรัฐอเมริกามีอคติต่อเชื้อชาติสูงหรือต่ำที่สุด และรัฐเหล่านี้มีอะไรแตกต่างกันบ้าง หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดคือความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ รัฐที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำก็จะมีอคติต่ำไปด้วย
ความเหลื่อมล้ำกับค่าจ้างที่ยุติธรรม
คนส่วนใหญ่เผชิญความเหลื่อมล้ำในชีวิตประจำวันแบบตรงไปตรงมาที่สุดในสถานที่ทำงาน ทั้งความเท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำด้านเงินเดือน สถานะ และอำนาจ
สถานที่ทำงานออกแบบมาให้มีลำดับขั้น ซึ่งในแง่หนึ่งก็ช่วยให้องค์กรทำงานดีขึ้นได้ เพราะเป็นแรงจูงใจให้พนักงานขยันมากขึ้นเพื่อไต่บันไดของบริษัทให้สูงขึ้น นอกจากนั้น ลำดับขั้นยังสร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเรื่องบทบาทและความคาดหวังต่อผู้อยู่ในตำแหน่งต่างๆ จึงช่วยลดความขัดแย้งและช่วยให้แต่ละคนนิยามงานของตนเองได้ดีขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ ลำดับขั้นเอื้อให้แต่ละคนพัฒนาความชำนาญเฉพาะเรื่องที่ตนมีทักษะดีที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้ การมีลำดับขั้นก็น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจ ยิ่งบริษัทมีลำดับขั้นมากเท่าไรก็น่าจะยิ่งดี ทว่าความเป็นจริงไม่ได้เรียบง่ายเช่นนั้น เพราะบริษัทอาจจัดการลำดับขั้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างส่งผลต่อผลิตภาพและความพอใจในตัวงานได้อย่างซับซ้อนและน่าประหลาดใจ เราคิดว่าความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้พนักงาน คนงานที่ผลิตภาพสูงได้รับรางวัลตอบแทนความเหนื่อยยาก ทุกคนก็น่าจะทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ได้ค่าจ้างมากขึ้น วิธีคิดเช่นนี้อาจสมเหตุสมผลในทางเศรษฐศาสตร์ ทว่าผลกระทบในแง่ลบก็คือ ความเหลื่อมด้านค่าจ้างสร้างความขุ่นเคืองใจในหมู่พนักงานได้
ผู้บริหารที่ต้องการกำหนดค่าจ้างเป็นระดับต่างกันเพื่อกระตุ้นพนักงาน ควรต้องชี้แจงโดยโปร่งใสว่าพนักงานแต่ละคนได้รับค่าตอบแทนเท่าไร เพราะพนักงานจะปรับความพยายามตามค่าตอบแทนได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีข้อมูลครบถ้วนว่าแต่ละตำแหน่งในองค์กรได้ค่าตอบแทนเท่าไร
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแล้ว บริษัทส่วนใหญ่มีนโยบายที่เป็นทางการหรือแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นทางการเพื่อควบคุมไม่ให้ข้อมูลเรื่องเงินเดือนเผยแพร่สู่สาธารณะ ทั้งที่จริงแล้ว การปิดบังค่าจ้างให้เป็นความลับจะสมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อเราเชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างส่งผลให้เกิดความขุ่นเคืองมากกว่าจะสร้างแรงกระตุ้นในการทำงาน
ความขุ่นเคืองใจอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างนี่เองที่กลับลดทอนผลงานของพนักงาน สาเหตุหลักคือมันบั่นทอนความร่วมไม้ร่วมมือและการทำงานเป็นทีม ความสามัคคีในทีมจะลดลง
หากงานของบริษัทเป็นเหมือนกีฬาเดี่ยว ลำดับข้นของค่าจ้างก็อาจเป็นผลดี เพราะผู้แข่งขันแต่ละคนจะใช้สมาธิหรือเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของตนเองได้เมื่อเงินรางวัลเพิ่มขึ้น แต่สำหรับกีฬาที่เล่นเป็นทีม ความสามารถในการทำงานเป็นทีมสำคัญกว่าพรสวรรค์ของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ผู้บริหารจึงต้องพิจารณาด้วยว่างานมีลักษณะเหมือนกีฬาทีมหรือกีฬาเดี่ยว และควรจะจัดการเงินเดือนพนักงานอย่างไรจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ดี พนักงานไม่ได้ต้องการความเท่าเทียม พวกเขาเข้าใจว่าคนที่ได้รับการอบรมและมีทักษะหรือประสบการณ์มากกว่าคนอื่นย่อมได้ค่าจ้างมากกว่าพนักงานใหม่ที่ไร้ทักษะ แต่คนเราก็ต้องการสมดุลระหว่างแรงงานที่ตนเองทุ่มเทลงไปกับรางวัลที่ได้รับ
หากสัดส่วนของรางวัลต่อการลงแรงไม่เหมาะสม คนเราก็จะพยายามปรับสมดุลเสียเอง โดยอาจทำได้ทั้งการเพิ่มรางวัลหรือลดงานลง เมื่อพนักงานรู้สึกว่าไม่ได้รับค่าจ้างเหมาะสมกับงานที่ทำพวกเขาก็อาจต่อรองขอค่าจ้างและสวัสดิการเพิ่มขึ้น แต่เมื่อไม่สำเร็จหรือเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ พนักงานก็อาจหันมาใช้วิธีอื่นที่แหวกแนวมากขึ้น เช่น เกียจคร้านขึ้น ขโมยของ หรือกระทั่งบ่อนทำลายสร้างความเสียหายโดยไร้เหตุผล
เมื่อคนงานรู้สึกไร้อำนาจควบคุม พวกเขาก็จะเครียด และเมื่อรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม พวกเขาก็จะแก้แค้น
ใช้ชีวิตในโลกเหลื่อมล้ำ
นับตั้งแต่อดีตจนไม่นานมานี้ เราเชื่อว่าวงจรความยากจนเป็นผลมาจากความขาดแคลนวัตถุเท่านั้น แต่เราก็เห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าความยากจนโดยเปรียบเทียบและความเหลื่อมล้ำซึ่งขับเคลื่อนความยากจนนั้น ล้วนสำคัญต่อการแบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจนเช่นกัน ความเหลื่อมล้ำเป็นผลจากความมั่งคั่งของคนรวยเท่าๆ กับที่เป็นผลจากความยากไร้ของคนจน
แน่นอนว่าการบรรเทาความยากจนเป็นเรื่องจำเป็นทั้งในแง่ศีลธรรมและในเชิงปฏิบัติ
การลดความยากจนเป็นเรื่องจำเป็น แต่เป็นเพียงศึกครึ่งเดียว
เพราะเราไม่สามารถหลุดพ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันได้ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏในสถิติต่างๆ เป็นผลมาจากทรัพย์สินของคนรวยแทบทั้งสิ้น หากมีอัจฉริยะทางเศรษฐกิจคิดค้นวิธีเพิ่มรายได้เป็นเท่าตัวให้ทุกคนในชั่วข้ามคืนได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับจะยิ่งแย่ลงไปอีก เพราะเมื่อรายได้ของเศรษฐีทวีคูณ ทรัพย์สินของพวกเขาย่อมเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่หาเงินได้ปีละ 15,000 ดอลลาร์แล้วรายได้ทวีคูณ ทุกคนจะฐานะดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นโดยถ้วนหน้า ทว่าเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นกับคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ร่ำรวยที่สุด
งานวิจัยชี้ว่า ระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้คนมีความสุขมากขึ้นเสมอไป ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้นี้ทำให้ระดับความทุกข์เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามไปด้วย ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง คนเรามักจะไม่ไว้ใจคนอื่น และคิดว่าพวกเขาจะเอาเปรียบเราหากมีโอกาส ความไม่ไว้ใจนี้เองที่บ่งชี้ว่าจะเกิดความทุกข์ขึ้น ความทุกข์เช่นนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในกลุ่มคนจน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลางด้วย อันที่จริงความสัมพันธ์นี้ส่งผลกระทบต่อทุกคน ยกเว้นกลุ่มคนร่ำรวยที่สุด
ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตย่อมดีกว่าเศรษฐกิจซบเซา แต่การเติบโตที่หลั่งไหลไปแต่ทางคนรวยกลับยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแย่ลง แล้วเราจะทำอย่างไรดีเล่า
วิธีแก้ปัญหามีสองแนวทาง กล่าวคือ
แนวทางแรกเป็นเรื่องบริบททางสังคม เน้นการทำให้บันไดเตี้ยลง และอีกแนวทางหนึ่งเป็นเรื่องการตอบสนองต่อบริบททางสังคมนั้น เน้นการอยู่บนบันไดแต่ละขั้นอย่างมีความสุขมากขึ้น
การทำให้บันไดเตี้ยลงหรือการลดความเหลื่อมล้ำเป็นวิธีที่ได้ผลทันทีและทรงพลังที่สุดในการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะแก้ปัญหาหลายอย่างไปพร้อมกันได้ เพราะจุดร่วมของปัญหาสังคมแต่ละเรื่องที่เราประสบก็คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแบบสุดโต่ง
ในทางปฏิบัติ การลดความเหลื่อมล้ำหมายถึงการยกระดับบันไดสังคมขั้นล่างสุด และลดระดับบันไดขั้นสูงสุด วิธีลดความเหลื่อมล้ำนี้มีทั้งมาตรการแบบฝ่ายซ้าย เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การขยายการศึกษาปฐมวัย การกำหนดขีดจำกัดของค่าจ้างผู้บริหาร การส่งเสริมความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และการเพิ่มจำนวนวันลาคลอด
ในขณะที่ฝั่งอนุรักษนิยมและอิสรนิยมจะชอบวิธีแก้ปัญที่อาศัยอำนาจตลาดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมากกว่า เช่น มีงานวิจัยที่พบว่า เมื่อลูกค้ารู้ว่าค่าจ้างระหว่างซีอีโอกับพนักงานทั่วไปของบริษัทมีความเหลื่อมล้ำสูง พวกเขาก็พร้อมจะลงโทษด้วยการซื้อสินค้าจากบริษัทคู่แข่งที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำกว่า
นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่นที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่าย เช่น การขยายมาตรการชดเชยภาษีเงินได้ ซึ่งช่วยพยุงรายได้ของครอบครัวแรงงานที่ยากจน ฝ่ายเสรีนิยมชอบนโยบายนี้เพราะให้สวัสดิการแก่คนจน ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมชอบเพราะเป็นการตอบแทนการทำงาน ที่ชัดเจนกว่านั้นคือทั้งฝ่ายก้าวหน้านิยม และฝ่ายอิสรนิยมต่างก็สนับสนุนให้มีการประกันรายได้พื้นฐาน
เป้าหมายของแนวทางนี้ไม่ใช่การกำจัดความเหลื่อมล้ำให้หมดสิ้น เพราะไม่ว่าอุดมการณ์จะแรงกล้าเพียงใด เราก็ไม่อาจขจัดความเหลื่อมล้ำได้
เป้าหมายของเราจึงเป็นการปรับระดับความเหลื่อมล้ำให้อยู่ในสัดส่วนมนุษย์ ซึ่งประชาชนมีพื้นที่มากพอให้แข่งขันกันและขยับขึ้นสู่บันไดขั้นสูงขึ้นได้ โดยที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจไม่กลายเป็นการแข่งแบบผู้ชนะได้กอบโกยรางวัลทั้งหมดไป
แนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอีกแนวทางคือการแก้ที่การตอบสนองต่อบริบททางสังคมนั้น อย่างแรกคือการเปรียบเทียบทางสังคมอย่างระมัดระวัง
การเปรียบเทียบทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าในเมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นไปทั่ว และการเปรียบเทียบนั้นฝังลึกอยู่ในวิธีที่เรามองทุกสิ่งทุกอย่าง โดยที่เรามักไม่รู้ตัวว่ากำลังเปรียบเทียบอยู่ แล้วเราจะเปรียบเทียบอย่างชาญฉลาดหรือระมัดระวังได้อย่างไรเล่า
ก่อนอื่นต้องฝึกให้ตัวเองรู้ตัวว่าเมื่อไรที่ตกอยู่ในอุ้งมือของการเปรียบเทียบ เราจะเกิดความรู้สึกกังวลแบบคลุมเครือว่าสิ่งที่เรามีอยู่ยังดีไม่พอ เคาน์เตอร์ครัวของเราดูหม่นหมอง เสื้อผ้าที่เราใส่เชยเสียแล้ว วัตถุเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่มุมมองของเราเปลี่ยน ความรู้สึกขาดตกบกพร่องเช่นนี้ดึงดูดเราสองลักษณะคือ กระตุ้นให้รู้สึกต้องการ และสร้างความชอบธรรมให้ความต้องการนั้น
การเปรียบเทียบทางสังคมแฝงอยู่ในรูปของความคิดว่า “ข้าวของที่ฉันมีอยู่ยังไม่ดีพอ” เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หลายคนใช้เงินแบบเดือนชนเดือนแม้ว่าจะมีรายได้ดีก็ตาม การเปรียบเทียบทางสังคมกับคนที่อยู่เหนือกว่าสร้างแรงกดดันให้เราใช้เงินไปจนสุดขอบเขตที่เราจะมีปัญญาจ่าย
เมื่อตระหนักรู้ถึงอารมณ์ชั่ววูบอันเกิดจากการเปรียบเทียบแล้ว ขั้นตอนต่อจากนั้นเลือกให้ดีว่าการเปรียบเทียบใดสำคัญและมีประโยชน์อย่างแท้จริง
การเปรียบเทียบแบบต่างๆ ส่งผลแตกต่างกันไป การเปรียบเทียบกับคนที่อยู่เหนือกว่าทำให้รู้สึกยากจน ไร้ความสามารถ และกระหายอยาก ดังนั้นหากต้องการจัดการความรู้สึกและความต้องการเหล่านี้ ให้เปลี่ยนทิศทางการเปรียบเทียบไปยังคนที่ด้อยกว่าเราแทน การเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าอาจกระตุ้นความสะใจและหยิ่งผยองได้ก็จริง แต่ยังสร้างความรู้สึกสำนึกขอบคุณได้ด้วย ประเด็นคือการตระหนักว่า หากสภาพการณ์แตกต่างออกไปหรือโชคชะตาแปรผันโดยไม่คาดคิด เราเองก็อาจตกที่นั่งลำบากกว่านี้ได้เช่นกัน
ทว่าอันตรายของการเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าคือความเฉื่อยชา เมื่อรู้สึกว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นแล้ว เราก็จะคิดว่าลดความพยายามลงหน่อยก็ได้ ในขณะที่ถ้าเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เหนือกว่า เราจะเกิดแรงบันดาลใจให้ขยันและพิชิตความสำเร็จมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงบันดาลใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเชื่อว่าบรรลุเป้าหมายได้จริง หากเปรียบเทียบตนเองกับคนอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือไมเคิล จอร์แดน ก็รังแต่จะทำให้เรารู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง
ประเด็นไม่ใช่การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ชนะหรือผู้แพ้ แต่เราต้องเปรียบเทียบอย่างชาญฉลาด การเปรียบเทียบทั้งกับคนที่เหนือกว่าและด้อยกว่าเป็นวิธีจัดกลุ่มให้ประสบการณ์ของเรา ขีดจำกัดสูงสุดและต่ำสุดทำให้เรามีกรอบคิดและมุมมองที่เหมาะสม ซึ่งย้ำเตือนเราว่า แม้จะอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก สถานการณ์ก็ยังไม่ถึงกับเลวร้าย
อีกทางเลือกหนึ่งคือเปลี่ยนจากการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น ไปเปรียบเทียบกับตนเองในอดีต หากเราเคยเอาชนะปัญหาที่หนักหน่วงมาก่อนในชีวิต การเปรียบเทียบตนเองในปัจจุบันกับตนเองในอดีตก็อาจมีประโยชน์ทั้งในแง่การเปรียบเทียบกับสภาพที่เหนือกว่าและด้อยกว่าได้ในเวลาเดียวกัน เราจะได้ประโยชน์จากการเปรียบเทียบกับสภาพที่ด้อยกว่า และรับรู้ว่าตนเองกำลังก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยจัดการผลกระทบของความเหลื่อมล้ำก็คือ การเปลี่ยนแปลงบริบท มีหลักฐานว่าความเหลื่อมล้ำสูงสัมพันธ์กับอัตราการเกิดอาชญากรรม การเจ็บป่วยจากความเครียด และการแบ่งขั้วทางการเมืองที่สูงขึ้นตามไปด้วย ปัญหาเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรแย่ลง ซึ่งรวมถึงเหล่าคนรวยด้วย จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนในพื้นที่ที่เท่าเทียมจึงมีความสุขมากกว่า ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รอบตัว จากพื้นที่เหลื่อมล้ำไปยังพื้นที่ที่มีความเท่าเทียมมากกว่า จึงอาจส่งผลดีกับเราได้ในหลายด้านเลยทีเดียว
ยุทศาสตรส์รับมือความเหลื่อมล้ำอีกอย่างคือการตระหนักถึง “โชค” ยิ่งไต่บันไดสถานะสูงขึ้น โชคก็ยิ่งมีผลต่อความสำเร็จร่วมกับความสามารถและความพยายาม การเตือนใจตัวเองว่าเรามีโชควาสนาเป็นวิธีรับมือความรู้สึกสูงส่งที่มักมาพร้อมกับความสำเร็จ หากใส่ใจบทบาทของโชคควบคู่ไปกับการใส่ใจความสามารถของตนเอง ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง ต่อไปเมื่อคิดว่าตัวเองทำงานหนักและสมควรได้สิ่งต่างๆ ที่หามา อย่าลืมถามตัวเองด้วยว่าระหว่างทางเราบังเอิญโชคดีเรื่องอะไรบ้าง
ยุทธศาสตร์สุดท้าย ประเมินว่าสิ่งที่มีความหมายที่สุดสำหรับเราคืออะไร หากเราหันมาใส่ใจเรื่องที่ตนมองว่าสำคัญเช่นนี้ จะส่งผลต่อประสบการณ์เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำได้มากทีเดียว เพราะเราจะสนใจน้อยลงว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตน เลิกเปรียบเทียบตัวเองกันคนอื่น แล้วหันไปใส่ใจสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่าอย่างแท้จริงกับตนมากขึ้น
เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา
(The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die)
Keith Payne เขียน
วิทย์ วิชัยดิษฐ แปล
อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อหนังสือ เมื่อบันไดหัก: มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา