รวมเสวนาสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน กสศ. ปี 2563 – 2564

ตลอดปี 2563 – 2564 สำนักพิมพ์ bookscape ได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะที่ต่อยอดจากหนังสือในโครงการขับเคลื่อนความรู้จากหนังสือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ปีที่ 2 เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ด้านการเรียนการสอนให้กับบุคลากรด้านการศึกษา และเกิดความเข้าใจ ความตระหนักรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการศึกษา โดยจัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะทั้งสิ้น 4 งาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) เสวนาสาธารณะ “Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์”

จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ CONNEXT ชั้น 3 Clazy Cafe The Seasons Mall (BTS สนามเป้า)

ศตวรรษที่ 21 มาถึงพร้อมโจทย์ใหม่ที่ท้าทายเยาวชนหลายประการ ทั้งเทคโนโลยีที่เข้ามาแทรกแซงชีวิตการทำงาน สื่อที่แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวัน รวมทั้งวัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายที่ไหลบ่าเข้ามารอบตัวเรา การเรียนรู้แบบดั้งเดิมไม่อาจช่วยให้เด็กๆ รับมือกับโจทย์เหล่านี้ได้อีกต่อไป ที่เวลาที่เราต้องมองหา ‘ก้าวใหม่’ ทางการศึกษา เพื่อนำพาเยาวชนของเราก้าวต่อไปในโลกแห่งอนาคตนี้

ชวนมาขบคิดหาทางออกให้การศึกษาไทยในศตวรรษใหม่ โดยต่อยอดแนวคิดจากประเทศผู้นำด้านการศึกษาอย่างฟินแลนด์ เพื่อทำความเข้าใจและนำนวัตกรรมการศึกษาล้ำยุคมาใช้ในบริบทไทย

  • ถกสถานการณ์วงการศึกษาไทยในปัจจุบัน เราเผชิญปัญหาอะไร และได้เรียนรู้อะไรมาแล้วบ้าง
  • ทำความรู้จัก “สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21” ทั้ง 7 ประการ เยาวชนในโลกยุคดิจิทัลต้องเรียนรู้อะไรเพื่อให้เติบโตได้อย่างเท่าทันและมั่นใจ
  • ทำความเข้าใจ “การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์” (phenomenal-based learning) นวัตกรรมการเรียนรู้ล่าสุดจากฟินแลนด์ เราจะนำมาปรับใช้ในห้องเรียนและครอบครัวไทยอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร
  • มองอนาคตการศึกษาไทย ก้าวต่อไปของเราคืออะไร และเราจะตั้งความหวังอะไรได้บ้าง

กิจกรรมเสวนาสาธารณะ “Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์” จะพานักเรียน นักศึกษา พ่อแม่ ครู นักการศึกษา และผู้สนใจทั่วไปทุกท่าน ท่องไปในห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ทั้งกว้างและลึกยิ่งกว่าที่เคย

ร่วมสนทนาโดย

  • ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.
  • ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ.
  • ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki Thailand
  • ครูทิว – ธนวรรธน์ สุวรรณปาล กลุ่มครูขอสอน
  • เมนู – สุพิชฌาย์ ชัยลอม นักเรียน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ชวนสนทนาโดย

  • ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสอนสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์

2) เสวนาสาธารณะ “พลิกวิกฤตการเรียนรู้ สู่ความสำเร็จที่เท่าเทียม”

จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.30 – 16.30 น. Live ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก bookscape / สสส. / Thai PBS

ในช่วงที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายเป็นบางพื้นที่ สถานศึกษาหลายแห่งเริ่มเปิดทำการ แต่มีกรณีอีกไม่น้อยที่ยังต้องจัดการเรียนรู้ออนไลน์ต่อไป วิกฤตครั้งนี้มีแนวโน้มต่อเนื่องและยาวนานกว่าที่คิด ทั้งยังเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ ไม่ว่าวิกฤตจากโรคระบาด วิกฤตเชิงสังคม ไปจนถึงวิกฤติระดับปัจเจก จะทำอย่างไรไม่ให้วิกฤตรอบนี้ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างกว้างขึ้นกว่าเดิม และเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการประสบความสำเร็จในชีวิตของเด็กและเยาวชน  เสวนาสาธารณะครั้งนี้ชวนร่วมขบคิดและหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ในเสวนาสาธารณะออนไลน์ “พลิกวิกฤตการเรียนรู้ สู่ความสำเร็จที่เท่าเทียม”

ต่อยอดจากหนังสือ “ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” (Helping Children Succeed) ผลงานเล่มล่าสุดโดยพอล ทัฟ เจ้าของหนังสือขายดี เลี้ยงให้รุ่ง (How Children Succeed) ในประเด็นดังต่อไปนี้

  • แลกเปลี่ยนสถานการณ์การเรียนการสอนในพื้นที่ รวมถึงอุปสรรคด้านการเรียนรู้ต่างๆ
  • การจัดการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมและเหมาะกับเด็กและเยาวชน
  • แนวทางช่วยเหลือเพื่อให้เด็กทุกคนประสบความสำเร็จทั้งด้านการเรียนและชีวิต

นอกจากการเรียนในช่วงโรคระบาดที่มีหลากหลายความท้าทายให้ต้องรับมือแล้ว ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเดิมที่ควรเร่งแก้ไข อาทิ เด็กไทยร้อยละ 60 ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า หรือแต่ละปีมีเด็กๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษาไปไม่น้อยด้วยสาเหตุอันหลากหลาย และหนึ่งในนั้นมีความยากจนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ชวนทำความเข้าใจปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จของเด็กๆ ไม่ว่าทักษะด้านพฤติกรรม ความสัมพันธ์กับผู้คน หรืออุปนิสัยที่เป็นจุดแข็งอย่างความอดทนอดกลั้น การควบคุมตนเอง หรือการมองโลกในแง่ดี และร่วมพลิกแนวคิดจากการ “สอน” ในห้องเรียน มาเป็นการสร้าง “สภาพแวดล้อม” เชื่อมโยง บ้าน – โรงเรียน – สังคม เข้าด้วยกัน ซึ่งจะเอื้อให้ทักษะแห่งความสำเร็จของเด็กได้เบ่งบาน เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เท่าเทียม ตลอดจนหาแนวทางสร้าง “สภาพแวดล้อม” ที่ใช่ ให้การเรียนรู้ยุคใหม่เป็นมิตรกับเด็กทุกคน

ร่วมสนทนาโดย

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล / โฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร
  • ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ สำนักความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • พชร สูงเด่น ผู้แปลหนังสือ “ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน”
  • ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม TEDxYouth@Bangkok Speaker 2020 / ประธานสภานักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์

ชวนสนทนาโดย

  • ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

3) เสวนาสาธารณะ “ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21”

จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2564 เวลา 13.30 – 16.30 น. Live ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก bookscape / สสส. / Thai PBS

เพราะ “ครู” คือตัวแปรสำคัญของคุณภาพการศึกษา bookscape ร่วมกับ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชวนพูดคุยเพื่อเรียนรู้นโยบายด้านการศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากนานาประเทศ ถอดกลยุทธ์ “สร้างครู” ผู้เปี่ยมศักยภาพ ตลอดจนสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทย พร้อมร่วมค้นหาคำตอบว่าการศึกษาไทยควรจะ “ไปต่อ” อย่างไร ในเสวนาสาธารณะที่ต่อยอดจากหนังสือ “ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21” (Empowered Educators: How High-Performing Systems Shape Teaching Quality Around the World) ผลงานโดยลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ นักการศึกษาชั้นแนวหน้าจากสแตนฟอร์ด ในประเด็น

  • ทำไม “ครู” ถึงเป็นคำตอบของระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ
  • ระบบการศึกษาชั้นนำของโลกสร้างครูผู้เปี่ยมคุณภาพได้อย่างไร พวกเขาสรรหา ฝึกฝน พัฒนา และคงครูไว้ในวิชาชีพได้อย่างไร
  • ปัญหาของระบบการศึกษาไทยคืออะไร ครูและบุคลากรในแวดวงการศึกษาต้องเผชิญกับอุปสรรคอะไร และการศึกษาไทยควรจะมุ่งไปในทิศทางใดเพื่อจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ท่ามกลางปัญหาจำนวนนับไม่ถ้วนของระบบการศึกษาไทย ตั้งแต่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่กลายเป็นหมากในเกมการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไปจนถึงวิกฤติโรคระบาดที่นำไปสู่การเรียนออนไลน์และกระทบกับตารางสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันหาทางออกเพื่อ “ยกเครื่อง” ระบบการศึกษา และทำความเข้าใจว่า “ครูที่มีคุณภาพ” และ “ระบบการศึกษาที่เอื้อให้ครูได้แสดงศักยภาพ” จะเป็นทางออกแห่งความหวังของปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร

ร่วมสนทนาโดย

  • ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) กสศ. และประธานกรรมการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
  • ศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
  • รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการการศึกษาานานาชาติ และอดีตผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
  • ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.

ชวนสนทนาโดย

  • ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

4) เสวนาสาธารณะ “เตรียมพร้อม เติบโต เติมเต็ม: กอดนวัตกรรมการศึกาาฉับ Summit School สู่อนาคตของเด็กทุกคน”

จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน 2564 เวลา 13.30 – 16.30 น. Live ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก bookscape / สสส. / Thai PBS

เมื่อจุดประสงค์ของการจัดการศึกษาคือการเตรียมเด็กทุกคนให้ ‘พร้อม’ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยทั้งองค์ความรู้ ทักษะ และอุปนิสัยที่จำเป็นต่อการยืนหยัดและพัฒนาตนเอง ตลอดจนการมีชีวิตที่เติมเต็ม คำถามสำคัญท่ามกลางความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 คือเด็กๆ ของเราพร้อมเผชิญอนาคตอันผันผวนแล้วหรือไม่ และพวกเขาคนใดหล่นหายจากเส้นทางสู่ความพร้อมหรือเปล่า

งานเสวนานี้ชวนทบทวนสถานการณ์ความพร้อมของเยาวชนไทย แลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาเด็กๆ ให้เข้าใจและนำการเรียนรู้ของตนได้ เพื่อสร้างเยาวชนที่เติบโตอย่างมั่นใจ ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง ในเสวนาสาธารณะออนไลน์ “เตรียมพร้อม เติบโต เติมเต็ม: ถอดนวัตกรรมการศึกษาฉบับ Summit School สู่อนาคตของเด็กทุกคน”

ต่อยอดจากหนังสือ “Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต” (Prepared: What Kids Need for a Fulfilled Life) ผลงานของไดแอน ทาเวนเนอร์ (Diane Tavenner) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งซัมมิต เครือโรงเรียนสุดล้ำที่พลิกโฉมการศึกษาอเมริกา ในประเด็นต่อไปนี้

  • ‘ความพร้อม’ ต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะ และอุปนิสัยใดบ้าง
  • ปัจจัยใดบ้างที่อาจผลักเด็กๆ ให้หล่นร่วงจากเส้นทางสู่ความพร้อม และจะนำเด็ก ‘ทุกคน’ ไปสู่ความพร้อมที่แท้จริงได้อย่างไร
  • แนวทางจัดการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความสามารถในการจัดการตนเอง และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องของเด็ก
  • แนวทางสร้างเสริมอุปนิสัยที่จำเป็นต่อการเผชิญความท้าทายในอนาคต และการมีชีวิตที่เติมเต็ม

ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองจากหลากหลายแง่มุมในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบโรงเรียน หรือการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อปรับใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้ซึ่งเน้นเสริมสร้างความเข้าใจตนเองและกระบวนการเรียนรู้ของตน ตลอดจนกลไกในสถานศึกษาที่โอบอุ้มความหลากหลายของผู้เรียนในบริบทการศึกษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เด็กๆ ในวันนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้รอบ เท่าทันเหตุการณ์ พัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน ‘พร้อมสู้อนาคต’ อย่างแท้จริง

ร่วมสนทนาโดย

  • ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป
  • นิสา แก้วแกมทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ.
  • สัญญา มัครินทร์ (ครูสอญอ) ครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น
  • ธนายุทธ ณ อยุธยา กลุ่ม Klongtoey Crew

ชวนสนทนาโดย

  • ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล กลุ่มครูขอสอน

ในปี 2565 สำนักพิมพ์ bookscape ยังมีจัดกิจกรรมพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB Page: bookscape