Brief: เสวนาสาธารณะ “พลิกวิกฤตการเรียนรู้ สู่ความสำเร็จที่เท่าเทียม”

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

“พลิกวิกฤตการเรียนรู้ สู่ความสำเร็จที่เท่าเทียม”

สำนวน “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” นั้นคุ้นหู แต่พูดย่อมง่ายกว่าทำ เพราะเมื่อปราศจากแนวทางที่ชัดเจนและการสะท้อนคิดอย่างมีประสิทธิภาพ โอกาสที่จะพลิกวิกฤตได้ก็แทบเป็นศูนย์ แย่กว่านั้นคือพระศุกร์เพิ่งเข้า พระเสาร์ยังเพียรแทรก ปัญหาหนึ่งยังไม่คลี่คลาย อีกปัญหาที่ท้าทายก็เผยโฉม

การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เรียกร้องให้ผู้คน “รักษาระยะห่าง” กระทั่งกิจกรรมออนไลน์รุกคืบไปทั้งในพื้นที่สาธารณะ สถานประกอบการ ตลอดจนสถานศึกษาก็เป็น “วิกฤต” หนึ่งซึ่งเมื่อปรากฏแล้วขับเน้นวิกฤตเดิมให้เด่นชัด และซ้ำเติมปัญหาการศึกษาอย่างไม่ปรานีปราศรัย เมื่อโรงเรียนหลายแห่งต้องปิดทำการ การจัดการเรียนรู้โดยไม่เห็นหน้าค่าตาจะเอื้อมถึงความต้องการที่หลากหลายของเด็กๆ ได้อย่างไร

อาจถึงเวลาแล้วที่จะร่วมกันสะท้อนคิดเพื่อหาคำตอบว่ามีวิกฤตใดบ้างที่ซ้อนทับกันในสภาวะไม่ปกตินี้ ผ่านปากคำของนักเรียน นักการศึกษา และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาสอย่างแท้จริง ผ่านงานเสวนาออนไลน์ต่อยอดจากหนังสือ ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน (Helping Children Succeed) โดยสำนักพิมพ์บุ๊คสเคป ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ทำความเข้าใจปัจจัยที่เอื้อต่อการประสบความสำเร็จ ไม่ว่าทักษะด้านพฤติกรรม ความสัมพันธ์ หรืออุปนิสัย และร่วมพลิกแนวคิดจากการ “สอน” ในห้องเรียน เป็นการสร้าง “สภาพแวดล้อม” ที่เชื่อมโยงบ้าน โรงเรียน และสังคมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทักษะแห่งความสำเร็จของเด็กๆ แบ่งบาน เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เท่าเทียม ตลอดจนหาแนวทางสร้าง “สภาพแวดล้อม” ที่ใช่ ให้การเรียนรู้ยุคใหม่เป็นมิตรกับเด็กทุกคน

 

เสียงสะท้อนจากเยาวชน

จะรู้ว่าบริการหนึ่งๆ เป็นอย่างไรต้องอาศัยความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ ด้วยเหตุนี้ เมื่อประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ถามว่าสถานการณ์การเรียนรู้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร แซก – ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม ประธานสภานักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ จึงพาผู้ร่วมเสวนาเข้าสู่ประเด็นทันที “ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าห้องเรียนปกติและห้องเรียนออนไลน์ไม่เหมือนกัน ยังไม่นับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่ไม่เหมือนกันด้วย เด็กบางคนก็ขาดการติดต่อไป เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องถามว่าเรียนได้ดีแค่ไหน เพราะแค่เข้าเรียนได้ก็ยากแล้ว”

และที่สอดคล้องกับการเรียกร้องให้เลื่อนการทดสอบเข้ามหาวิทยาลัยเร็ว ๆ นี้ คือการเปิดเผยว่าห้องเรียนออนไลน์ส่งผลกระทบต่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เช่นเขาและเพื่อนๆ อย่างไร “ยังเรียนรู้เนื้อหาไม่ครบถ้วน แกทแพท โอเน็ต และเก้าวิชาสามัญก็ไม่เลื่อนตามการเปิดและปิดภาคเรียน ช่องว่างระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็สั้น จึงไม่มีพื้นที่สำหรับค้นหาตัวเอง การจัดการเรียนรู้ออนไลน์ยังเป็นการสื่อสารทางเดียวด้วย ออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเองหรือของบ้านไม่ได้เลย”

ทั้งนี้ ประธานสภานักเรียนยังเสริมด้วยว่าเหตุผลที่เด็กหลายคนไม่เปิดกล้องขณะเรียนออนไลน์อาจเรียบง่ายกว่าที่ผู้ใหญ่หลายคนคาดเดาและคาดโทษ

“สำหรับแซก แซกรู้สึกเหมือนถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว อยู่ในห้องครูกวาดตามองได้ แต่ในกล้องเหมือนถูกจับจ้องตลอดเวลา จริงๆ จะเปิดหรือไม่เปิดเป็นประเด็นที่เด็กต้องตัดสินใจ ครูออกแบบแทนไม่ได้ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น เด็กก็ต้องได้รับการฝึกฝนให้มีความตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) เข้าใจความต้องการของตัวเองด้วย”

ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าห้องเรียนปกติและห้องเรียนออนไลน์ไม่เหมือนกัน ยังไม่นับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่ไม่เหมือนกันด้วย เด็กบางคนก็ขาดการติดต่อไป เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องถามว่าเรียนได้ดีแค่ไหน เพราะแค่เข้าเรียนได้ก็ยากแล้ว

 

 ‘ประสบการณ์’ ที่หล่นหายในโลกออนไลน์

เสียงสะท้อนจากนักเรียนบอกชัดเจนว่า แม้การเรียนรู้ออนไลน์จะให้ประโยชน์ได้มากกว่าที่หลายคนคิด ทว่าต้องอาศัยการสนับสนุนที่เหมาะสมเพื่ออุดช่องโหว่ในโลกไร้สายเช่นกัน อย่างที่อิม – พชร สูงเด่น ผู้แปลหนังสือเล่มนี้อธิบาย

“ข้อดีคือเด็กๆ เข้าถึงอะไรต่อมิอะไรที่ไกลออกไปได้มากขึ้น แต่โครงสร้างเพื่อเติมเต็มการเข้าถึงนั้นยังมีปัญหา ปัญหาที่พบคือ ‘อย่างไร’ ในการเรียนหรือ ‘how’ นั้นหายไปในการเรียนออนไลน์ เราเชื่อเหมือนในหนังสือเล่มนี้ว่ามนุษย์ยังต้องการมนุษย์ด้วยกันอยู่ การได้รับข้อมูลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ มนุษย์ต้องการสถานการณ์บางอย่างเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วย”

เธอยังเสริมประสบการณ์ที่เชื่อว่าหลายคนเคยสัมผัสด้วยว่า “เท่าที่อิมสังเกต เมื่อไรที่อิมปิดกล้อง คืออิมกำลังทำงานหลายงานพร้อมกัน การฟังแต่ทำสารพัดสิ่งไปด้วยทำให้มีปัจจัยรบกวน (distraction) มาก ส่งผลต่อการเรียนรู้ระดับระบบประสาท เด็กจะไม่สามารถตั้งสมาธิหรือพัฒนาคุณสมบัติบางประการอย่างการอดทนอดกลั้นได้ อาจเรียน ‘เสร็จ’ แต่การเรียนรู้ไม่ ‘สำเร็จ’ คือเนื้อหาไม่กลายเป็นตัวตนของเรา การอภิปรายและถกเถียงก็ไม่มีคุณภาพ”

อีกคนหนึ่งที่แลกเปลี่ยนมุมมองต่อประสบการณ์การเรียนรู้ที่แหว่งวิ่นนี้ได้อย่างน่าสนใจคือวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล และพ่อของลูกสาวผู้เป็นดิจิทัลเนทีฟ (digital native) หรือผู้ที่เกิดและเติบโตในยุคดิจิทัล

“สิ่งสำคัญในการศึกษาไม่ใช่ข้อมูล แต่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ การได้ฉุกคิด ได้ลองผิดลองถูก ได้ตอบคำถาม และเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับสิ่งที่ไม่เคยเรียนหรือไม่เคยรู้ แต่ในการเรียนออนไลน์นั้น ประสบการณ์การเรียนรู้แทบไม่เกิด”

นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่ถูกขับเน้นระหว่างการรักษาระยะห่างครั้งนี้ด้วย “สื่อการเรียนรู้ของแต่ละโรงเรียนยังมีคุณภาพแตกต่างกันมาก เซี่ยงไฮ้จัดทำสื่อการเรียนรู้กลางที่มีคุณภาพ แล้วให้ทุกโรงเรียนได้ใช้สื่อนั้น มีทั้งมัลติมีเดีย อินโฟกราฟิก เครื่องไม้เครื่องต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา แต่โรงเรียนในไทยยังต้องจัดทำสื่อการเรียนรู้ของตัวเอง โรงเรียนที่มีเงิน มีชมรมผู้ปกครองที่แข็งขันก็ทำได้ โรงเรียนที่ยากจนก็ทำไม่ได้”

 

เท่าที่สังเกต เมื่อไรที่ปิดกล้อง คือเรากำลังทำงานหลายงานพร้อมกัน การฟังแต่ทำสารพัดสิ่งไปด้วยทำให้มีปัจจัยรบกวน (distraction) มาก ส่งผลต่อการเรียนรู้ระดับระบบประสาท เด็กจะไม่สามารถตั้งสมาธิหรือพัฒนาคุณสมบัติบางประการอย่างการอดทนอดกลั้นได้ อาจเรียน ‘เสร็จ’ แต่การเรียนรู้ไม่ ‘สำเร็จ’ คือเนื้อหาไม่กลายเป็นตัวตนของเรา การอภิปรายและถกเถียงก็ไม่มีคุณภาพ

 

เพราะการไม่ไปโรงเรียน มี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพิ่มเติมมุมมองของผู้พยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนี้

“ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ไทยมีเด็กที่มีคุณภาพการเรียนรู้ต่ำประมาณร้อยละ 20 และการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้ยิ่งถดถอยเพราะขาดเรียน อีกปัญหาที่พวกเขาพบคือปัญหาโภชนาการ เด็กจากครอบครัวที่ยากจนนั้น เมื่อไม่ไปโรงเรียนก็จะไม่มีอาหาร โดยเฉพาะหากผู้ปกครองขาดรายได้”

ที่น่าตกใจกว่าคือ มีงานวิจัยรองรับว่าเด็กไทยกว่าร้อยละหกสิบไม่ได้รับประทานอาหารเช้า โรงเรียนจึงเป็นมากกว่าเพียงสถานที่จัดการเรียนรู้ แต่เป็นผู้รับประกันพัฒนาการที่สมบูรณ์ของพวกเขาด้วย

“ถึงมีหลักสูตรออนไลน์ที่ดีมาก มีครูเก่งๆ ในทุกโรงเรียน มีหนังสือที่ดีที่สุด แต่เด็กเรียนไปหิวไปก็ไม่มีประโยชน์ เด็กๆ ควรได้รับสารอาหารครบถ้วน ได้เล่นอย่างปลอดภัย ไม่ถูกทำร้ายในโรงเรียน เมื่อทำได้แล้วก็ใช้การเรียนออนไลน์เสริมส่วนที่ขาด สร้างสื่อการเรียนรู้ดีๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในป่าหรือบนเขาก็เรียนรู้ได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ผู้แทนราษฎรชี้แนะ

“ผมเคยถามเด็กต่างจังหวัด วันหยุดได้กินอะไรเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง ดังนั้น ขอให้การปิดโรงเรียนเป็นทางเลือกสุดท้าย ไทยไม่ได้ปิดโรงเรียนเพราะกลัวโรคด้วยซ้ำ แต่เพราะต้องการผลักภาระให้ผู้ปกครอง แล้วครอบครัวที่แหว่งกลางจะทำอย่างไร ที่สิงคโปร์ เด็กที่ครอบครัวไม่พร้อมมาโรงเรียนได้ แล้วครูจะหาพื้นที่ปลอดภัยให้ ผมต้องการเห็นอะไรแบบนี้”

 

ถึงมีหลักสูตรออนไลน์ที่ดีมาก มีครูเก่งๆ ในทุกโรงเรียน มีหนังสือที่ดีที่สุด แต่เด็กเรียนไปหิวไปก็ไม่มีประโยชน์ เด็กๆ ควรได้รับสารอาหารครบถ้วน ได้เล่นอย่างปลอดภัย ไม่ถูกทำร้ายในโรงเรียน เมื่อทำได้แล้วก็ใช้การเรียนออนไลน์เสริมส่วนที่ขาด สร้างสื่อการเรียนรู้ดีๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในป่าหรือบนเขาก็เรียนรู้ได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

 

ธันว์ธิดาเห็นด้วยกับแนวทางนั้น “ในต่างประเทศ โรงเรียนเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะปิดทำการ เพราะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และรับภาระจากพ่อแม่ ช่วยเหลือทั้งครอบครัวและเด็กให้อยู่ในสภาวะปลอดภัย ในแอฟริกา จำนวนเด็กหญิงที่ตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมากหลังปิดโรงเรียน เพราะสภาพแวดล้อมมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นต้องหาแนวทางที่เหมาะสม อาจใช้แนวทางไฮบริด (hybrid) คือแบ่งพื้นที่เหมือนในสหรัฐอเมริกา พื้นที่สีแดงคืออันตราย อาจต้องเรียนออนไลน์ สีส้มยังเปิดโรงเรียนได้ ควบคู่กับการเรียนออนไลน์และสื่อการเรียนรู้อื่นๆ เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ใช่ทางออกเดียวของการศึกษา”

อีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงคือการเรียนรู้และฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักเรียนอาชีวศึกษา ที่ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้เสนอแนวทางแก้ไขระหว่างการเสวนาเช่นกัน

“นักเรียนอาชีวศึกษาอาจใช้เทคโนโลยีได้ดีกว่าเด็กเล็ก แต่ปัญหาคือพวกเขาต้องฝึกงาน เท่าที่รวบรวมข้อมูล นักเรียนอาชีวศึกษายังประสบปัญหาถูกเลื่อนหรือยกเลิกการฝึกงาน จะใช้ห้องปฏิบัติการอะไรก็ไม่สะดวก ลองสำรวจแนวทางแก้ไขจากประเทศอื่นๆ พบแนวทางที่น่าสนใจคือแนวทางของสหราชอาณาจักร ที่รัฐบาลชดเชยรายได้ให้สถานประกอบการต่างๆ ถึงร้อยละ 50 เป็นการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ คือเด็กๆ ก็ได้ฝึกงาน สถานประกอบการก็อยู่ได้ ภายใต้เงื่อนไขการระบาดในพื้นที่นั้นๆ ”

 

อาจใช้แนวทางไฮบริด (hybrid) คือแบ่งพื้นที่เหมือนในสหรัฐอเมริกา พื้นที่สีแดงคืออันตราย อาจต้องเรียนออนไลน์ สีส้มยังเปิดโรงเรียนได้ ควบคู่กับการเรียนออนไลน์และสื่อการเรียนรู้อื่นๆ เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ใช่ทางออกเดียวของการศึกษา

 

สุขภาพจิตก็สำคัญ

ด้วยตำแหน่งประธานสภานักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ แซกจึงสามารถรวบรวมข้อมูลปัญหาของเพื่อนๆ และเห็นปัญหาที่อาจรุนแรงและถูกละเลยมากกว่าการเรียนรู้ นั่นคือปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียน

“นอกจากโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยแล้ว สำหรับบางคน บ้านก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยด้วย และเมื่อไปโรงเรียนไม่ได้ก็ไม่รู้จะก้าวข้ามปัญหานี้อย่างไร ไหนจะความเครียดจากปริมาณการบ้าน การผลักภาระการเรียนรู้ให้เด็กโดยไม่พิจารณาบริบทของเด็กคนหนึ่งๆ ว่าเรียนรู้ด้วยตนเองได้มากน้อยแค่ไหน

“แซกคิดว่าครูต้องแจ้งให้ชัดเจนว่าอะไรคือจุดประสงค์ของการบ้านแต่ละชิ้น อะไรคือความคาดหวังของครู อยู่ในตัวชี้วัดไหน และนักเรียนทำได้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ก็อาจเปลี่ยนวิธีการ เพราะเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนชอบถ่ายทำวิดีโอ บางคนอยากเขียนมากกว่า”

ผู้แปลหนังสือก็เห็นด้วย โดยเธอกล่าวถึงผลของความเครียดต่อการเรียนรู้ของเด็กว่า “ความเครียดเป็นปัญหาการศึกษาที่ทั่วโลกร่วมเผชิญ ชื่อหนังสือ ‘ปั้นให้รุ่ง’ นั้นหมายถึงสภาพแวดล้อมที่ปั้นเด็กคนหนึ่งได้ แล้วจะปั้นพวกเขาเป็นอะไรหรือในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างนี้ จากความเปลี่ยนแปลงรายทศวรรษเป็นรายปี ไม่มีใครรู้จะว่าจะกำหนดเนื้อหาที่จำเป็นได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ควรปั้นจึงเป็นคุณสมบัติที่พึงปรารถนา คุณลักษณะที่ทำให้คนคนหนึ่งเรียนรู้ได้ สภาพแวดล้อมที่จะปั้นคุณลักษณะนั้นได้คือสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยเกื้อหนุนและลดปัจจัยที่ไม่เอื้อ ได้แก่ ความเครียดและทุพโภชนาการ เพราะทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตและระบบประสาทของเด็กซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้

 

ครูต้องแจ้งให้ชัดเจนว่าอะไรคือจุดประสงค์ของการบ้านแต่ละชิ้น อะไรคือความคาดหวังของครู อยู่ในตัวชี้วัดไหน และนักเรียนทำได้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ก็อาจเปลี่ยนวิธีการ เพราะเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนชอบถ่ายทำวิดีโอ บางคนอยากเขียนมากกว่า

 

“น่าสนใจที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่หน่วยงานภาครัฐหรือครู แต่รวมถึงผู้ปกครองและทุกคนที่ใกล้ชิดเด็ก ต้องลดระดับความเครียดและส่งเสริมให้พวกเขาเชื่อว่าตัวเองไปได้ไกลกว่านี้ สังคมเองก็ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ควรมีโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่ปิดกั้นการเรียนรู้ ทิศทางนโยบายด้านการศึกษาก็เช่นกัน ถ้าสามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างตรงจุดก็จะลดค่าใช้จ่ายในอนาคตได้มาก เช่น เพิ่มการลงทุนในการศึกษาระดับปฐมวัย ฯลฯ เพราะเพิ่มงบประมาณเพียงร้อยละ 20 ก็ลดค่าใช้จ่ายในระดับสูงขึ้นได้ในระยะยาว”

ทั้งนี้ วิโรจน์ผู้เป็นพ่อของลูกสาววัยหกขวบยังเห็นว่า นอกจากปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนรู้ออนไลน์แล้ว การส่งเสริมให้เด็กใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ทำลายสุขภาพจิตก็สำคัญ เพราะอย่างไรเสีย พวกเขาก็หลีกเลี่ยงโลกออนไลน์และสารพัดเทคโนโลยีในอนาคตไม่ได้

“เด็กต้องสามารถดำรงชีวิตได้โดยมีพัฒนาการสมบูรณ์ทั้งทางกาย สติปัญญา และจิตใจในโลกออนไลน์ แรกๆ ภรรยาของผมไม่เห็นด้วยกับการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษออนไลน์ แต่ผมบอกทันทีว่าจำเป็น เพราะนี่จะเป็นชีวิตของลูกสาวในอนาคต เด็กรุ่นใหม่ๆ ต้องเติบโตเป็นพลโลก และนายจ้างของพวกเขาอาจเป็นชาวต่างชาติ ประเด็นที่ผมกังวลคือการมีเพื่อนและการเล่นต่างหาก

“ผมไม่เคยกังวลว่าลูกจะทะเลาะกับใคร เพราะผมจะได้มีโอกาสบอกลูกสาวว่าจะจัดการความขัดแย้งอย่างไร เมื่อเด็กๆ ไม่ได้เล่นด้วยกันต่างหากที่ยาก อาจต้องให้ลูกได้เล่นกับลูกพี่ลูกน้องหรือเพื่อนบ้านบ้าง บางครั้งลูกสาวไม่ได้ต้องการให้ผมสอนด้วยซ้ำ แค่ต้องการเล่าวิธีแก้ไขปัญหาให้ฟัง ผมฟังแล้วเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็บอก วันหนึ่งเด็กคนหนึ่งก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ ขังเขาไว้ก็จะขาดทักษะการแข่งขันและสร้างความร่วมมือเปล่าๆ ผมก็กลัวโรคระบาด แต่จะไม่กลัวเกินไป”

 

วันหนึ่งเด็กคนหนึ่งก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ ขังเขาไว้ก็จะขาดทักษะการแข่งขันและสร้างความร่วมมือเปล่าๆ ผมก็กลัวโรคระบาด แต่จะไม่กลัวเกินไป

 

ส่งเสียงถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังส่งเสียงถึงผู้กำหนดนโยบายอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับที่เขาทำในทุกการประชุมของรัฐสภา “กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างความปลอดภัยและส่งเสริมการรักษาระยะห่างในโรงเรียน ยกเว้นการระบาดรุนแรงมากและจำเป็นต้องปิด ในโรงเรียนควรมีอ่างล้างมือเพียงพอ หลายโรงเรียนที่ผมเยี่ยมชมไม่มี และโรงเรียนก็บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ได้รับแจกจ่ายงบประมาณ

อาจไม่ต้องลงทุนในทุกโรงเรียนด้วยซ้ำ แต่ควรให้มีอย่างน้อยหนึ่งโรงเรียนที่เป็นศูนย์พักพิง ให้ผู้ปกครองนำลูกมาฝากได้ แต่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องมีรถโรงเรียน มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี จะอุดหนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นจัดหารถโรงเรียนก็ได้ เพื่อให้โรงเรียนเป็นที่มั่นของเด็กในสถานการณ์นี้ เด็กที่ดูแลตัวเองได้หรือมีอินเทอร์เน็ตใช้ก็อยู่บ้าน ไม่มีก็มาโรงเรียน”

ขณะที่ความในใจของแซกคือความเจ็บปวดของเด็กๆ ซึ่งมีที่มาจากความหวังดีของผู้ใหญ่ จากการกำหนดบรรทัดฐานและพฤติกรรมที่พึงประสงค์โดยขาดความเข้าใจ “ผมอยากเห็นห้องเรียนที่เด็กได้เป็นตัวเอง แต่อย่างที่ผมบอกก่อนหน้านี้ว่า กว่าเด็กจะเข้าใจความต้องการของตัวเองต้องได้รับการส่งเสริมแต่เล็ก อีกอย่างที่อยากเห็นคือโครงสร้างที่ค้ำจุนพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ขาดรายได้จะมีเวลาหารือและแก้ไขพัฒนาการที่ช้าของลูกได้อย่างไร”

ยิ่งกว่านั้น เขายังไม่เห็นด้วยกับการประเมินสุขภาพจิตนักเรียนที่เป็นที่ฮือฮาเร็วๆ นี้  “ได้ยินว่ากรมสุขภาพจิตจะประมวลผลจากแบบสอบถาม ผมคิดว่ากรมสุขภาพจิตรู้อยู่แล้วว่าจะประเมินสุขภาพจิตจากคำถามไม่กี่ข้ออย่างนั้นไม่ได้ การประเมินสุขภาพจิตต้องอาศัยความเข้าใจสภาพแวดล้อมของเด็กคนหนึ่งๆ สมมติเด็กคนหนึ่งตอบว่าเขาไม่มีปัญหาครอบครัว ก็หมายถึงไม่มีจริงๆ หรือ”

 

ได้ยินว่ากรมสุขภาพจิตจะประมวลผลจากแบบสอบถาม ผมคิดว่ากรมสุขภาพจิตรู้อยู่แล้วว่าจะประเมินสุขภาพจิตจากคำถามไม่กี่ข้ออย่างนั้นไม่ได้ การประเมินสุขภาพจิตต้องอาศัยความเข้าใจสภาพแวดล้อมของเด็กคนหนึ่งๆ สมมติเด็กคนหนึ่งตอบว่าเขาไม่มีปัญหาครอบครัว ก็หมายถึงไม่มีจริงๆ หรือ

 

ขณะที่ประเด็นคือที่ธันว์ธิดาเป็นกังวลคือการมีส่วนร่วมของนักเรียนในห้องเรียน “หัวใจสำคัญของการเรียนรู้คือสิ่งที่หลายคนมองข้าม นั่นคือการมีส่วนร่วมของเด็ก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ปัจจัยหนึ่งที่ผลักเด็กจากระบบการศึกษานั้นรวมถึงครูด้วย ไม่ใช่เพียงความยากจน หลักสูตรที่เด็กๆ ไม่เห็นความหมาย หรือครูที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างไม่เข้าใจก็ผลักพวกเขาได้เหมือนกัน ครูต้องสังเกตเด็ก นำสิ่งที่พวกเขารักและสนใจเข้ามาในห้องเรียน แค่ครูจำชื่อได้ เด็กๆ ก็รู้สึกดีแล้ว”

เมื่อมีผู้ร่วมเสวนากล่าวถึงเด็กๆ ที่ถูกผลักจากระบบการศึกษาเช่นนี้ พชรจึงชูปัญหาการจัดการศึกษานอกโรงเรียนที่ต้องอาศัย ‘การคิดใหม่ทำใหม่’ ไม่แพ้กัน

“ถ้าจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ อิมคิดว่ามีสามขั้น ขั้นแรกคือเชิงกายภาพ (physical) เด็กรุ่นใหม่เป็นดิจิทัลเนทีฟ ผู้ใหญ่ต้องคิดว่าจะสร้างสมดุลหน้าที่ของโลกออนไลน์และออฟไลน์ในชีวิตของเด็กๆ อย่างไร โลกออฟไลน์อาจมีหน้าที่สร้างเสริมทักษะ ขณะที่โลกออนไลน์ให้ข้อมูล ขั้นที่สองคือเชิงจิตภาพ (mental) ต้องจัดการอารมณ์และความเครียดที่เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้ ดังนั้น ถ้าจะประเมินสุขภาพจิต ต้องเน้นการระบุ (identify) ไม่ใช่การประเมิน (evaluate) เน้นหาปัญหาให้พบเพื่อแก้ไข ไม่ใช่ประเมินว่าดีหรือไม่ดีแล้วจัดอันดับ ไม่ใช่แค่กับความเครียด แต่การเรียนรู้ก็ต้องอาศัยการระบุเช่นกัน ระบุว่าเรียนรู้อะไรแล้วบ้าง ขาดเหลืออะไรก็ส่งเสริมต่อไป

ขั้นที่สามคือเชิงอภิปรัชญา (metaphysical) ทุกวันนี้คำว่าการเรียนรู้และการศึกษายังแทบเป็นคำเดียวกันทั้งที่แตกต่างกันมาก เป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะคำคำหนึ่งส่งผลต่อความคิด การเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นไร้ขอบเขตทั้งเชิงกาละและเทศะ แต่ไทยจะไปไม่ถึงจุดนั้น ถ้าการเรียนรู้ยังถูกครอบด้วยการศึกษาที่มีระยะเวลาจำกัด คือสิ้นสุดที่ระดับอุดมศึกษา ทั้งที่การเรียนรู้ไปไกลกว่านั้นและต้องอาศัยการบริการทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่สิงคโปร์มีความร่วมมือหนึ่งระหว่างสองฝ่ายคือ หากสถานประกอบการมีนวัตกรรมหรือองค์ความรู้ที่แบ่งปันได้ ก็เปิดโอกาสให้คนได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากภาครัฐ เป็นการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม”

 

ถ้าจะประเมินสุขภาพจิต ต้องเน้นการระบุ (identify) ไม่ใช่การประเมิน (evaluate) เน้นหาปัญหาให้พบเพื่อแก้ไข ไม่ใช่ประเมินว่าดีหรือไม่ดีแล้วจัดอันดับ ไม่ใช่แค่กับความเครียด แต่การเรียนรู้ก็ต้องอาศัยการระบุเช่นกัน ระบุว่าเรียนรู้อะไรแล้วบ้าง ขาดเหลืออะไรก็ส่งเสริมต่อไป

 

ส่งท้ายการเสวนา

“นี่เป็นช่วงเวลาท้าทายที่กระทรวงศึกษาธิการต้องคิด ถ้าผมจำไม่ผิด ไอแซก นิวตัน คิดค้นอะไรใหม่ๆ ได้เมื่อมีอายุเพียง 20 ปีต้นๆ ณ เวลานี้ เด็กไทยเข้าใจทฤษฎีนั้นเมื่อมีอายุน้อยกว่านิวตันหน่อยเดียว ผมถามหน่อยว่า เรามีแต้มต่อนิวตันแค่ไม่กี่ปีเท่านั้นหรือ” วิโรจน์ทิ้งท้ายด้วยคำถามชวนคิด “เรามีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่มากน้อยแค่ไหน เคยสังคายนาเนื้อหาที่เด็กต้องจดจำไหม องค์ความรู้บางอย่างก็พ้นสมัยแล้ว ไม่จำเป็นต้องสุมให้ ให้เด็กๆ มีทักษะการค้นคว้าข้อมูลแล้วค้นคว้าด้วยตัวเองจะดีกว่า สมมติโลกนี้ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ถ้าผมถามว่าจะปรับปรุงพัดลมอย่างไรให้ดีกว่านี้ เด็กๆ ก็อาจตอบแค่ทำใบพัดให้ใหญ่ขึ้น แต่จะไม่มีใครตอบว่าต้องสร้างเครื่องปรับอากาศ ไม่มีใครคิดถึงมัน ดังนั้นต้องเปิดพื้นที่ให้องค์ความรู้ใหม่ๆ เติบโต

“การทดสอบก็ต้องปรับปรุง ต้องไม่ใช่การพิพากษาแต่เป็นการบอกว่าครูยังส่งเสริมอะไรเด็กคนนี้ได้ไหม” เขาทบทวนเรื่องราวในอดีตอึดใจหนึ่ง แล้วถ่ายทอดถ้อยคำของพ่อในวันที่เขาสูญเสียความมั่นใจ “ผมเคยน้อยใจที่เพื่อนบ้านเก่งกว่า ผมถามพ่อว่าทำไมเพื่อนคนนั้นเก่งจัง ผมสู้เขาไม่ได้ พ่อตีแขนผมแล้วบอกว่า จะสู้กับเขาทำไม เขาเก่งกว่าก็เก่งกว่าในแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ผมเก่งอย่างหนึ่ง เขาก็เก่งอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นไม่ต้องแข่งขันกับเขาแต่ให้เป็นเพื่อนเขา ไปร่วมมือกับเขา ขณะที่ระบบการศึกษาไม่เคยบอกเด็กๆ อย่างนี้เลย”

“แซกคิดว่ามีหลายอาชีพที่ยังไม่ปรากฏในโลกนี้ อาชีพอย่างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (content creator) ก็เพิ่งมีเมื่อไม่เกินสิบปีมานี้ ฉะนั้นคงไม่มีใครบอกได้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทฤษฏีหรือเนื้อหา” ประธานสภานักเรียนรวบยอดความคิดของผู้ร่วมเสวนาได้อย่างแหลมคม ส่งท้ายการเสวนาได้อย่างน่าสนใจ “ที่ทำได้คงเป็นการเสริมสร้างทักษะที่เด็กต้องใช้ในการเรียนรู้ มากกว่าแค่บอกว่าพวกเขาต้องรู้อะไร พร้อมๆ กับที่บ่มเพาะความตระหนักรู้ในตนเอง ความเมตตาต่อตัวเอง เข้าใจตนเอง ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าและรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ ทำให้รักตัวเองได้ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลง และไม่อนุญาตให้พวกเขาเป็นตัวเองอย่างที่หวังก็ตาม”

 

 

ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน

Paul Tough เขียน

พชร สูงเด่น แปล

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่