
เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า
ภาพ: ยุทธภูมิ ปันฟอง
ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการศึกษาย่อมได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงประสิทธิภาพของระบบการศึกษา “ฟินแลนด์” ด้วยอันดับสูงลิ่วในโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลหรือ PISA และความพยายามถอดบทเรียนจากดินแดนหมื่นทะเลสาบของนักการศึกษา เพื่อยกระดับการจัดการเรียนรู้ในนานาประเทศ
ผลลัพธ์หนึ่งของความพยายามดังกล่าว คือ Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์ หนังสือที่อธิบายการจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ (Phenomenon-based Learning – PhBL) ในฟินแลนด์ เพื่อสร้างทักษะและสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 หรือศตวรรษแห่งข้อมูลและความหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มต้นที่ปลายนิ้วมือของเด็กทุกคน
เพื่อเร่งกระบวนการ “ตกผลึก” ต่อยอดองค์ความรู้จากหนังสือเล่มนี้ สำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดเสวนาสาธารณะเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน โดยมุ่งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทยต่อไป

“ราก” การจัดการศึกษาที่แตกต่าง
ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เริ่มต้นโดยกล่าวถึงบริบทประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ ประเทศซึ่งมีรัฐบัญญัติการศึกษาขั้นพื้นฐานในทศวรรษ 1920 และต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามมหาศาล ตลอดจนฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฟินแลนด์จึงมีจุดเริ่มต้นพัฒนาการจัดการศึกษาไม่แตกต่างจากไทยนัก หากกลับ “ล้ำหน้า” อย่างเห็นได้ชัด
และการให้ความสำคัญแก่ “บริบท” ประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ในหนังสือเล่มนี้เอง เป็นความประทับใจของผู้ร่วมเสวนาทุกคนที่ต่างเชื่อว่า บริบทการเมืองและสังคมมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษาในประเทศนั้นๆ
“หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงหลักสูตร ‘เจ็ดสมรรถนะ’ และการจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ พร้อมบริบทการศึกษาฟินแลนด์หรือแนวคิดการจัดการศึกษาในฟินแลนด์ บางครั้ง เรานำวิธีหรือฉากหน้ามาปะการศึกษาของไทยอย่างฉาบฉวย การพัฒนาการจัดการศึกษาจึงไม่สมบูรณ์” ครูทิว – ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน กล่าวถึงความประทับใจของตนต่อหนังสือเช่นนั้น “อ่านแล้วชวนย้อนมองภูมิหลังของสังคมไทย พื้นฐานเป็นอย่างไร มีภาษาที่กำหนดความคิดของผู้คนแตกต่างจากฟินแลนด์อย่างไร และหากต้องการไปถึงจุดเดียวกัน ต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างไร”
ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki Thailand ก็เห็นเช่นนั้น
“สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจในหนังสือเล่มนี้ คือการกล่าวถึงบริบทการศึกษาของฟินแลนด์ การจะนำหลักสูตรการศึกษาฟินแลนด์มาปรับใช้ ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับท้องถิ่น เพราะแม้มีครูที่ดีที่สุด หนังสือที่ดีที่สุดในโลก หากเด็กไม่พร้อมต่อการเรียนรู้ อดอยาก ขาดแคลนปัจจัยสี่ ก็คงเรียนรู้ได้ไม่ดีนัก บริบทประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ไม่เหมือนไทย คือเป็นประเทศที่ต้องฟื้นฟูตนเองหลังสงคราม และคล้ายสิงคโปร์ คือไม่มีทรัพยากรสำคัญ มีเพียงคน จึงต้องให้ความสำคัญแก่คน
ประโยคหนึ่งในหนังสือที่ชอบมากคือ ‘รัฐบาลเห็นว่าการศึกษาคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะเป็นรากฐานการกินดีอยู่ดีของประชากร’

ร่วมนิยาม “บริบทการศึกษา” ฟินแลนด์
พิชญ์วดีกล่าวถึงการวิพากษ์ตนเองอย่างสม่ำเสมอของบุคลากรทางการศึกษาในฟินแลนด์ อันนำมาซึ่งการพัฒนาการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยฟินแลนด์เริ่มดำเนินการวิจัยผลกระทบของ Digital Disruption ต่อการจัดการศึกษาราวสองทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อทดลองและนำร่องแนวทางการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งครูไม่อาจผูกขาดการถ่ายทอดองค์ความรู้อีกต่อไป จึงต้องฝึกฝนเด็กให้ “เรียนรู้เพื่อนำการเรียนรู้ของตน”
โดยผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นว่า กระบวนการสะท้อนคิดเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ และก้าวต่อไปอย่างมั่นคงในฟินแลนด์นั้น เติบโตจากบริบทการเมืองและสังคมซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการ มีความเป็นประชาธิปไตย และเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่อุ้มชูความหลากหลาย นำมาซึ่งความร่วมมือและเห็นอกเห็นใจ
ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. อธิบายว่าหลักสูตรการศึกษานั้นมีหน้าที่สองประการ คือเป็น “แผนที่ชีวิต” ของคนในชาติ กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของประชากรต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต ทั้งเป็น “พันธสัญญา” ระหว่างรัฐและประชาชน โดยรัฐซึ่งเป็นผู้ให้คำมั่นว่าเยาวชนของชาติจะมีคุณลักษณะดังหลักสูตรการศึกษากำหนดนั้น ย่อมมีภาระรับผิดชอบในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. เสริมว่าในระบบการศึกษาฟินแลนด์ “ครอบครัวมีภาระรับผิดชอบต่อพัฒนาการของนักเรียนเช่นกัน แต่ละครอบครัวจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเตรียมบุตรหลานให้พร้อมต่อการศึกษาภาคบังคับเมื่อมีอายุ 8 ปี โดยทั้งครูและผู้ปกครองมีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กที่สอดคล้องกัน แตกต่างจากไทยที่เมื่อนักเรียนอนุบาลอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ผู้ปกครองกลับตำหนิครู”

จุดหมายและจุดเด่นของการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์
เมื่อเข้าใจบริบทการศึกษาฟินแลนด์แล้ว จึงถึงเวลาร่วมพิจารณา “การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์” หรือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถนะทั้งเจ็ด อันจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ในฐานะ “มนุษย์และพลเมืองโลก” ได้แก่ การนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความฉลาดรู้ด้านภาษา การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะอาชีพและการประกอบการ ตลอดจนการร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
“การจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์นั้นเน้นการเรียนรู้เพื่อนำการเรียนรู้ของตน (Learn how to learn) โดยมุ่งสร้างมนุษย์และพลเมืองดี เพราะหลัง Digital Disruption เทคโนโลยีจะมีบทบาทยิ่งขึ้น มนุษย์จึงต้องกลับเป็นมนุษย์อีกครั้ง มีทักษะของมนุษย์ มีความเห็นอกเห็นใจ ดูแลตนเองได้ เท่าทันข่าวสาร มีคุณสมบัติที่หุ่นยนต์ไม่มี” พิชญ์วดีกล่าว
โดยการเป็นพลเมืองดีในศตวรรษที่ 21 นั้นหมายถึงการเป็นพลเมืองดีของโลก ดังที่เฉลิมชัยอธิบายว่า “ด้วยโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน การจัดการศึกษาในแต่ละประเทศไม่อาจให้ความสำคัญแก่เพียงปัญหาในประเทศ ไม่อาจเตรียมเพียงพลเมืองของตน แต่ต้องเตรียมพลเมืองของโลกด้วย เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีที่จะกระจายไปอาศัยในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก”
นอกจากนี้ เมนู – สุพิชฌาย์ ชัยลอม นักเรียนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังเน้นความสำคัญของสมรรถนะทั้งเจ็ดในศตวรรษแห่งเทคโนโลยี โดยถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของตนว่า
“เด็กๆ เติบโตโดยมีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายดาย การมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ความสามารถในการกลั่นกรองและรับมือข่าวปลอมจึงจำเป็น ทั้งนี้ ด้วยบรรยากาศทางสังคมที่ค่อยๆ เปิดกว้าง เด็กๆ ต้องเรียนรู้การแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตน โดยไม่เบียดเบียนหรือลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น”
จากนั้น พิชญ์วดีจึงอธิบายการจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์โดยกระชับว่า “การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ ไม่ใช่เพียงการศึกษาปรากฏการณ์ แต่เป็นการศึกษาสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัว โดยแตกต่างจากการเรียนรู้ผ่านการดำเนินโครงการ (Project-based learning) คือครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกแก่การแสวงหาความรู้ของนักเรียน ไม่ใช่ผู้กำหนดคำถามการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเด็กๆ เป็นผู้เลือกโจทย์ หรือประเด็นที่ต้องการศึกษาเองในขอบเขตที่ครูกำหนด
“เพราะฟินแลนด์เป็นประเทศที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านความสนใจส่วนบุคคล เด็กจึงเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เรียนรู้ได้เร็วและมีแรงจูงใจ ครูชาวฟินแลนด์เองก็ยังต้องปรับตัวกับการจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และเรียนรู้ร่วมกัน”
โดยครูทิวได้ขยายความคำอธิบายดังกล่าวให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
“องค์ความรู้จากหลายสาระการเรียนรู้จะถูกผนวกระหว่างการศึกษาปรากฏการณ์หนึ่งๆ โดยครูต้องช่วยดึงองค์ความรู้ที่หลากหลายของเด็กเพื่อศึกษาปรากฏการณ์นั้นๆ เช่น ให้มองประเด็นหนึ่งๆ ผ่านเลนส์องค์ความรู้ที่ตนสนใจที่สุด จากนั้นจึงเลือกหัวข้อการศึกษาค้นคว้าร่วมของกลุ่ม ฯลฯ
“การจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ท้าทายประสบการณ์ของครูเช่นกัน เพราะเน้นการสร้างองค์ความรู้โดยไม่ต้องมีผลลัพธ์เป็นชิ้นงาน ครูเองไม่ต้องรู้ทุกประเด็น ไม่ต้องถนัดทุกเรื่อง แต่ครูควรรู้ว่าในโลกยังมีประเด็นนี้ และนำทางเด็กให้หาองค์ความรู้ด้วยตนเอง”

ความท้าทายของการปรับใช้การจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ในบริบทการศึกษาไทย
ดังกล่าวข้างต้นว่าด้วยบริบทประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองที่แตกต่าง ย่อมไม่อาจใช้หลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างสมรรถนะทั้งเจ็ด หรือจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ในบริบทการศึกษาไทยได้ทันที คำถามคือ จะเอาชนะความท้าทายนั้นได้อย่างไร
อุดมชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำในการกระจายทรัพยากรทางการศึกษาในไทย โดยครูแต่ละโรงเรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้แตกต่างกัน นำไปสู่อุปสรรคในการจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ในระบบการศึกษาทั้งระบบ
“โรงเรียนต้องมีกรอบความคิดเติบโต (growth mindset) ต้องเชื่อว่าพัฒนาตนเองได้ ต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองและครู กลุ่มครูในโรงเรียนก็สำคัญ ต้องปฏิบัติงานร่วมกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเห็นความพยายามนั้นและให้ความช่วยเหลือ ครูซูเปอร์แมนในโรงเรียนหมดแรงได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน”
พิชญ์วดีเห็นด้วย โดยให้ตัวอย่างอุปสรรคการปฏิรูปการจัดศึกษาในสิงคโปร์เร็วๆ นี้ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ยกเลิกแบบทดสอบมาตรฐานระดับประถมศึกษาปีที่ 1-2 โดยให้ความสำคัญแก่กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายของเด็ก ผู้ปกครองกลับไม่พอใจ และเรียกร้องหลักฐานการเรียนรู้ที่ชัดเจนของบุตรหลาน สถาบันกวดวิชาทั้งหลายที่ได้รับประโยชน์จากการทดสอบนั้นก็ไม่เห็นด้วย และเริ่มดำเนินการทดสอบเอง
“เห็นได้ชัดว่าครูต้องเผชิญความลำบาก เพราะผู้ปกครองคาดหวังอีกอย่างหนึ่ง ไม่มีความเชื่อมั่นในแนวทางการจัดการเรียนรู้ใหม่ ต้องอาศัยเวลาและความพยายามเพื่อเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของทุกภาคส่วนพร้อมกัน”
ครูทิวเองก็ชี้ว่า “การจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์นั้นอาศัยพลังงานมาก โดยเฉพาะในบริบทที่ไม่เกื้อหนุน ครูไทยต้องดูแลนักเรียนราว 40-60 คน จะสังเกตกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างไร เมื่อสภาพแวดล้อมไม่อำนวย องค์ความรู้ก็ไม่อาจถูกประกอบสร้าง ครูไม่สามารถวางหมากเพื่อนำเด็กไปสู่จุดหมาย ได้เพียงบอกคำตอบและให้เด็กจำคำตอบนั้น โดยไม่ได้เรียนรู้การหาคำตอบด้วยตนเอง”
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและไม่สอดคล้องกันระหว่างผู้ปกครอง ครู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นความกังวลของเฉลิมชัยเช่นกัน เพราะ “ผู้ปกครองเองต้องระบุได้ว่านักเรียนหรือลูกของตนมีสมรรถนะใดบ้าง อยู่ในระดับใด และจะให้การสนับสนุนได้อย่างไร ต้องเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของลูกด้วย เพราะทั้งโรงเรียน ประเด็นสังคม การเมือง โรคระบาด บ้าน และกิจวัตรประจำวัน เป็นพื้นที่สร้างสมรรถนะทั้งสิ้น”
แม้จะมีการประชุมผู้ปกครองนักเรียน หรือการพบปะเพื่อหารือระหว่างผู้ปกครองและครูโดยทั่วไป ครูทิวยังเห็นว่าควรมีการเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มข้นยิ่งขึ้น
“ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนต้องกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน เพราะบางครั้งความคาดหวังของผู้ปกครองไม่สอดคล้องกับความจริง โรงเรียนและบ้านต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เด็กบางคนไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครอง เพราะไม่อาจเป็นตัวของตัวเองและถูกตัดสิน ผู้ปกครองก็จะไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าลูกคิดหรือฝันอย่างไร ผมเองพยายามสื่อสารกับพวกเขาเสมอว่าอย่าโทษตนเอง เพราะไม่มีใครเป็นพ่อแม่แต่เกิด รัฐเองต้องให้ความช่วยเหลือแก่การเรียนรู้ของผู้ปกครองด้วย”
นอกจากนี้ เฉลิมชัยยังเน้นความสำคัญของการดำเนินการปฏิรูปการจัดการศึกษาโดยหน่วยงานภาครัฐที่โปร่งใสและพิถีพิถัน
“การเปลี่ยนผ่านสู่การจัดการเรียนรู้ที่เน้นสร้างสมรรถนะ (Competency-based learning) ต้องใช้เวลาหลายปี จะยกเลิกและออกแบบหลักสูตรการศึกษาใหม่ทันทีไม่ได้ หากต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ต้องมีการดำเนินการวิจัยคู่ขนานกัน ต้องมีการเสริมสร้างความเข้าใจ ครูต้องรู้ว่าจะปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ของตนภายใต้หลักสูตรการศึกษาที่ครอบตนอย่างไร แนวทางการวัดและประเมินผลการศึกษาก็ต้องถูกปรับปรุงเช่นกัน
“ทั้งนี้ยังต้องส่งเสริมการปฏิบัติงานร่วมกันของครู ทั้งชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community – PLC) และโรงเรียนในฐานะชุมชนการเรียนรู้ (School as Learning Community – SLC) เพราะการฝากฝังเด็กกับครูคนใดคนหนึ่งตลอดปีไม่ใช่เรื่องดี การพัฒนาเด็กต้องเป็นภารกิจของครูทุกคน ไม่ใช่เพียงในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง แต่ในเครือข่ายที่ประกอบด้วยโรงเรียน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ปกครอง ความร่วมมือนี้ยังนำมาซึ่งการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานซึ่งกันและกัน
“ต้องคิดอย่างรอบด้าน แล้วขับเคลื่อนทุกด้านพร้อมกัน ครูอาจเริ่มต้นในชั้นเรียน ผมอาจเริ่มต้นในหน่วยงาน โดยต้องมีดวงดาวที่เป็นเป้าหมายดวงเดียวกัน คือการเห็นสมรรถนะทั้งเจ็ดในนักเรียน”
ท้ายที่สุด ผู้ร่วมเสวนายังกล่าวถึงอุปสรรคเชิงวัฒนธรรมที่ขัดขวางการจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ในไทย เพราะหลายครั้งความพยายามปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ของครูต้องชะงักด้วยความเห็นของผู้อาวุโสกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าในโรงเรียน
ครูที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงไม่อาจจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ที่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเคารพความหลากหลายระหว่างบุคคล เพราะ “การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ต้องอาศัยวัฒนธรรมที่เอื้อให้นักเรียนมีอำนาจกำหนดทิศทางการเรียนรู้ หากครูยังไม่อาจละวางความพยายามควบคุม กำหนดคุณค่า หรือตัดสินนักเรียนได้ ก็ไม่อาจสร้างชั้นเรียนที่เรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์” ครูทิวกล่าว ก่อนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองส่งท้ายการเสวนาด้วยการเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยของเด็กทั้งในและนอกโรงเรียน
“ไม่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก มีเพียงระบบการศึกษาที่เหมาะสมที่สุด” เมนูบอก “อุปสรรคหนึ่งในปัจจุบันคือผู้คนที่ไม่พร้อม และวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง จึงต้องสร้างพื้นที่สำหรับการหารือ และกำหนดเป้าหมายร่วมกันของทุกฝ่ายในทุกประเด็น ไม่เพียงประเด็นการศึกษา”
เพราะการจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ อันเป็นการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ย่อมพึ่งพาการเคารพภูมิปัญญา บุคลิกภาพ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตลอดจนการยอมรับข้อจำกัดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาด้วยความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน
คำถามสำคัญที่สุด จึงอาจไม่ใช่ “จะปรับใช้การจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ในไทยอย่างไร” หากเป็น “จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ในโรงเรียน ชุมชน และสังคมอย่างไร” อันเป็นคำถามที่ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครู หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันหาคำตอบ ด้วยความตระหนักในศักยภาพของตน ผู้เป็นฟันเฟืองหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงศักยภาพของผู้อื่น ผู้ร่วมขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยในศตวรรษแห่งเทคโนโลยี