Brief: Workshop “Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์”

เรื่อง: อภิรดา มีเดช
ภาพ: อินทุพิมพ์ เลิศวิริยะไพบูลย์

 

ชวนมาทำความรู้จักกับ “สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21” ทั้งเจ็ดประการ ที่จะเป็นหมุดหมายในการเรียนรู้และเป็นเครื่องมือการใช้ชีวิตสำหรับเด็กๆ ในยุคดิจิทัล รวมทั้ง “การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์” (Phenomenon-based Learning) นวัตกรรมการเรียนรู้ล่าสุดจากฟินแลนด์ที่เชื่อมโลกความจริงเข้ากับห้องเรียน และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กว้างและลึกยิ่งกว่าที่เคย

ในกิจกรรมเวิร์กช็อป “Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์” ทำความเข้าใจและลงมือทดลองใช้ “การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์” ไปกับ เกตุ – พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนเสริมทักษะเชิงสร้างสรรค์อาร์คกิแห่งประเทศไทย (Arkki Thailand) ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาฟินแลนด์ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนสำหรับโลกอนาคต

 

ทำความเข้าใจ “การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์”

 

การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์คือองค์ความรู้ซึ่งกลายมาเป็นหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์ที่ได้รับการปฏิรูปและนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2016 อีกทั้งได้รับการจัดอันดับว่าเป็นหลักสูตรการศึกษาที่เตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนด้านทักษะสำหรับอนาคตได้ดีที่สุดในโลกสองปีซ้อนโดย The Economist Intelligence Unit ในปี 2018 และ 2019

ในยุคสมัยใหม่นี้ โจทย์ท้าทายที่สุดสำหรับการศึกษาทั่วโลกคือ ทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนมีทักษะต่างจากระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการกำหนดการศึกษาแห่งอนาคต ซึ่งการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์นี้ผ่านการทดสอบโดยทีมวิจัยของฟินแลนด์ว่าเหมาะกับการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แก่เด็กและเยาวชน และบรรจุอยู่ในทุกรายวิชาของหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์เรียบร้อยแล้ว

พูดง่ายๆ คือเปลี่ยนจากการเรียนรู้ด้วยการรับความรู้ (knowledge acquisition) เป็นการเรียนรู้ด้วยการสร้างความรู้ (knowledge creation) เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้และตอบโจทย์ว่าผู้เรียน “รู้ได้อย่างไร” แทนที่จะตอบเพียงว่าผู้เรียน “รู้อะไร” เหมือนแต่เดิม ซึ่งเยาวชนจำเป็นจะต้องเรียนรู้การแก้ปัญหาผ่านการคิดและใช้เหตุผลอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้วิธีพิสูจน์และสร้างข้อโต้แย้งอย่างตรงประเด็นด้วยการเรียนรู้ผ่านปัญหาและปรากฏการณ์

นอกจากนี้ การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ยังเป็นการเรียนเชิงรุก (active learning) ซึ่งให้ความสำคัญกับความสนใจ แรงจูงใจ และการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ความขวนขวายที่จะเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการไม่ใช่ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล แต่พัฒนาขึ้นได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยครูต้องลดและปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (learning facilitator) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนกำหนดทิศทางตลอดจนหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้เองตามความสนใจ

สิ่งสำคัญในการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์คือ การกระตุ้นให้เด็กมีความสนใจลึกซึ้ง และเปิดพื้นที่ให้เด็กตั้งคำถาม คิดสงสัย และสืบค้นหาคำตอบด้วยตนเอง กระบวนการเรียนรู้และเสาะหาคำตอบนี้เองที่สำคัญกว่าคำตอบหรือผลลัพธ์ในตอนท้ายสุดเสียอีก

 

5 มิติของการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์

  1. มีความครอบคลุม (Holistic)
  2. ผ่านการคัดกรองและแยกแยะความจริง (Authenticity)
  3. ความเข้าใจในบริบท (Contextuality)
  4. ความสามารถในการถามคำถาม (Problem-based inquiry)
  5. เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ (Open-ended learning process)

 

5 ขั้นตอนของการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์

หลังจากเลือกปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่เด็กๆ สนใจได้แล้ว ก็เริ่มต้นกระบวนการดังต่อไปนี้

  1. ตั้งคำถาม (Questioning) จากมุมมองอันแตกต่างหลากหลาย
  2. สืบค้น (Research) ให้ได้ข้อมูลและความเชื่อมโยงในสิ่งที่ตนสงสัย ยุคนี้การสืบค้นจากเสิร์ชเอนจิน หากคัดกรองดีๆ จะได้ข้อมูลใหม่ๆ มากมาย
  3. ศึกษา (Investigation) จากการทดลอง ประมวลผลจากคำตอบที่เป็นไปได้ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์นั้นๆ
  4. ทดสอบ (Testing) ครูแนะนำนักเรียนให้เรียนรู้แนวคิดและทักษะที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหา
  5. อธิบาย (Explanation) ผู้เรียนให้คำอธิบาย ทางออก หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์

 

รู้จัก “สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21” ทั้งเจ็ดประการ

 

นอกจากจะเปลี่ยนโจทย์การเรียนรู้จาก “รู้อะไร” เป็น “รู้ได้อย่างไร” แล้ว อาจารย์เกตุยังชวนทำความรู้จักกับทักษะข้ามสายงานทั้งเจ็ด (7 transversal skills) ที่ช่วยสร้างสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ของฟินแลนด์อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย

  1. การคิดและการเรียนรู้เพื่อที่จะเรียนรู้
  2. สมรรถนะทางวัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ และการแสดงตัวตน
  3. การดูแลตนเองและทักษะการจัดการชีวิตประจำวัน
  4. ทักษะการสื่อสารรอบด้าน
  5. ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  6. ทักษะชีวิตด้านการทำงานและทักษะผู้ประกอบการ
  7. การมีส่วนร่วม การมีบทบาทผลักดัน และความพร้อมในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

จะเห็นว่าทักษะข้ามสายงานทั้งเจ็ดไม่มีการวัดความรู้หรือเน้นการเรียนเชิงวิชาการเลย เป็นเพราะฟินแลนด์ตระหนักถึงความสำคัญของทักษะการคิด การเรียนรู้ด้วยตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์ การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม และการใช้ชีวิตในอนาคตมากกว่าการทำข้อสอบได้คะแนนดี การพัฒนาทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เด็กในอนาคตจัดการกับความซับซ้อนและปัญหาการงาน สังคมวัฒนธรรม และอารมณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่ง

 

ประสบการณ์เยี่ยมชมห้องเรียนอาร์คกิที่ฟินแลนด์

 

มีทักษะ 5 อย่างที่จะให้ช่วยเด็กรุ่นใหม่เอาชนะปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอได้ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สถาบันอาร์คกิต้องการส่งต่อให้กับเด็กๆ ตามวิสัยทัศน์ของ Pihla Meskanen ผู้ก่อตั้งอาร์คกิฟินแลนด์ จากความสำเร็จของอาร์คกิในการสร้างการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ ทำให้กระทรวงศึกษาฟินแลนด์นำกระบวนการเรียนรู้ของอาร์คกิเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงเพื่อร่างหลักสูตร

อาจารย์เกตุเล่าประสบการณ์การเยี่ยมชมโรงเรียนที่ฟินแลนด์ที่มีกระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์แบบอาร์คกิ หากมองจากภายนอก อาคารเรียนไม่ได้มีหน้าตาทันสมัยหรือแตกต่างจากอาคารอื่นๆ แต่อย่างใด ป้ายชื่อยังไม่มีด้วยซ้ำ อาจารย์เกตุย้ำบ่อยครั้งว่าคุณภาพของโรงเรียนที่ฟินแลนด์แต่ละแห่งแทบไม่ต่างกัน “โรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด”

อาจารย์เกตุเล่าต่อว่าที่นี่ส่งเสริมให้เด็กใช้เวลาไปกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นห้องเรียนก็ยืดหยุ่นพอสมควร นักเรียนเลือกได้ว่าวันไหนจะจัดโต๊ะแบบใดให้เหมาะกับการเรียนรู้ หรือกระทั่งนักเรียนที่ไม่พร้อมเรียนในวันนั้น หากมีเหตุผลและได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว สามารถแยกโต๊ะตัวเองออกไปชิดหน้าต่าง ส่วนการยกมือตอบคือเรื่องปกติ อย่างที่อาจารย์เกตุเล่าในช่วงต้นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ที่เน้นให้เด็กตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเอง

 

การศึกษาฟินแลนด์ VS สิงคโปร์

 

หากถามถึงข้อเสียของการศึกษาฟินแลนด์ อาจารย์เกตุก็ยอมรับว่ามีเช่นกัน นั่นคือการวัดมาตรฐานนักเรียนรายคน หรือทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ยาก แต่นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นที่เราควรกังวลสำหรับเยาวชนที่เราไม่สามารถคาดเดาอาชีพในอนาคตได้อีกต่อไป

“ยังมีความเข้าใจผิดว่าเราควรส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี (technology skills) ทั้งที่จริงแล้ว เราต้องการนักเรียนที่เข้าใจและมีทักษะความเป็นมนุษย์ (human skills) ในโลกแห่งเทคโนโลยีต่างหาก” แอนโธนี ซัลซิโต (Anthony Salcito) รองประธานด้านการศึกษาทั่วโลก บริษัทไมโครซอฟท์ กล่าว

ขณะที่การศึกษาสิงคโปร์พยายามวัดทักษะแห่งอนาคตต่างๆ ให้กับเด็ก การศึกษาฟินแลนด์กลับมุ่งเน้นและส่งเสริมกระบวนการคิดด้วยการเรียนการสอนผ่านปรากฏการณ์ ไม่น่าแปลกใจที่เด็กสิงคโปร์จะมีแท็บเล็ตและอุปกรณ์การเรียนไฮเทคอื่นๆ ใช้ในห้องเรียน ขณะที่การศึกษาฟินแลนด์ยังครองอันดับต้นๆ ของโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA แต่ใช้งบต่ำกว่าสิงคโปร์ 3 เท่า!

อาจารย์เกตุให้ข้อมูลว่า การวัดผล PISA ในปี 2021 จะเพิ่มการวัดผลเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ (creative thinking) เข้ามาด้วย ซึ่งน่าติดตามว่าอันดับโลกที่จะประกาศผลในปี 2022 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

 

เวิร์กช็อป “นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์”

 

หลังจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำความเข้าใจการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์อย่างเข้มข้นและสนุกสนานแล้ว ก็ได้เวลาแบ่งกลุ่มและลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งและนำไปต่อยอดในห้องเรียนจริง

ผู้เข้าร่วมแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ โดยเกณฑ์การแบ่งคือกลุ่มแรกเป็นครูและนักการศึกษา ส่วนกลุ่มที่สองส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมและผู้สนใจทั่วไป สองกลุ่มใหญ่นี้ยังแบ่งย่อยออกเป็นสองกลุ่มโดยความสมัครใจ ทั้งหมดจึงมีสี่กลุ่ม ซึ่งช่วงท้ายกิจกรรมจะมีตัวแทนนำเสนอหลักสูตรการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่ได้จากการระดมสมองของทุกกลุ่ม

ความน่าสนใจของปรากฏการณ์ตั้งต้นของทุกกลุ่มคือ “พิซซ่า” หนึ่งถาด ซึ่งสมาชิกทุกคนในกลุ่มจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน และคำตอบเหล่านั้นจะถูกเวียนกันอ่านทั่วทั้งกลุ่ม โดยมีโพสต์อิทสี่สี โดยสีฟ้าให้เขียนตอบว่า อาหารนี้มาจากไหน สีเขียวให้แสดงความเห็นว่า เมื่อดม ชิม หรือสัมผัสแล้ว ต่างจากที่เห็นอย่างไร สีเหลืองให้ตอบว่า อาหารดังกล่าวผลิตมาเพื่อประโยชน์อะไรบ้าง และสีชมพูถามว่า เราจะสอนวิชาอะไรได้บ้าง

นอกจากจะเกิดการแลกเปลี่ยนภายในกลุ่มแล้ว สองกลุ่มเล็กที่เป็นครูด้วยกันหรือนักกิจกรรมด้วยกัน ยังได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอย่อยๆ ภายในห้องกิจกรรมก่อนมานำเสนอรวมอีกรอบ ซึ่งสังเกตเห็นว่าแม้จะเป็นกลุ่มอาชีพเดียวกัน มุมมองและความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอหลักสูตรหรือกิจกรรมก็แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ โดยครูกลุ่มแรกแยกย่อยสิ่งที่เด็กจะได้เรียนรู้เป็นรายวิชาอันหลากหลาย ตั้งแต่วิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือมีกระทั่งวิชาแนะแนวอาชีพหรือออกแบบผลิตภัณฑ์

ขณะที่ครูกลุ่มสองเสนอเป็นกิจกรรมพิซซ่าปาร์ตี้ให้นักเรียนเป็นผู้จัดปาร์ตี้และคิดว่าต้องเตรียมอะไรบ้างเพื่อให้งานออกมาเพียบพร้อมและสนุกที่สุด ลงรายละเอียดตั้งแต่ส่วนประกอบของแป้งพิซซ่า ส่วนผสมหน้าพิซซ่าที่มาจากในท้องถิ่น ไปจนถึงเพลงที่จะเปิดในงาน ส่วนกลุ่มนักกิจกรรมและผู้สนใจอีกห้องหนึ่งก็ร่วมแบ่งปันมุมมองและเสนอความเห็นกันอย่างบรรเจิด โดยห้องกลุ่มนักกิจกรรมโดดเด่นด้านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเก็บข้อมูลเพื่อทดสอบปรากฏการณ์ สังเกตเห็นชัดเจนว่าพิซซ่าจากถาดของสองกลุ่มนี้พร่องไปไวเป็นพิเศษ

ช่วงสุดท้ายหลังจากทุกกลุ่มส่งตัวแทนออกมานำเสนอเรียบร้อยแล้ว อาจารย์เกตุได้เน้นย้ำหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์อีกรอบว่า ถึงแม้จะให้โจทย์ทุกคนคิดหลักสูตรหรือกิจกรรมออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้ายก็ตาม แต่ความจริงทุกอย่างไม่สามารถกะเกณฑ์ให้เป็นไปอย่างที่ผู้สอนต้องการและต้องปรับเปลี่ยนได้เสมอ เนื่องจากผู้เรียนต้องเป็นคนตั้งคำถามและมีข้อสงสัยขึ้นก่อน กิจกรรมในวันนี้เป็นเพียงตัวอย่างหรือตัวจุดประกายที่ช่วยเห็นผู้เข้าร่วมเห็นภาพชัดขึ้นว่าแนวทางการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์จะเป็นไปในรูปแบบใด แต่ไม่ควรไปกำหนดโจทย์หรือตีกรอบให้เด็กตั้งแต่แรก