Brief – เสวนาสาธารณะ “เตรียมพร้อม เติบโต เติมเต็ม: ถอดนวัตกรรมการศึกษาฉบับ Summit School สู่อนาคตของเด็กทุกคน”

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

การเตรียมเด็กๆ ให้พร้อมเติบโตอย่างเติมเต็ม เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ไม่ใช่หรือ

คำถามสำคัญท่ามกลางความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 คือเด็กๆ ของเราพร้อมเผชิญอนาคตอันผันผวน ทั้งความผกผันทางเศรษฐกิจ ความปั่นป่วนทางการเมือง และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ด้วยองค์ความรู้ ทักษะ และอุปนิสัยที่จำเป็นหรือยัง พวกเขาคนใดบ้างที่หล่นหายจากเส้นทางสู่ชีวิตอันผาสุก และผู้ใหญ่จะช่วย ‘เตรียม’ เด็กเหล่านี้ให้ ‘พร้อม’ เดินทางต่อไปได้อย่างไร

ร่วมทบทวนสถานการณ์ความพร้อมของเยาวชนไทย และแลกเปลี่ยนมุมมองจากหลากหลายตัวละครในระบบการศึกษา เพื่อเสริมสร้างทักษะการพัฒนาตนเอง ตลอดจนสร้างสรรค์กลไกในสถานศึกษาที่โอบอุ้มความหลากหลายของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ในงานเสวนา “เตรียมพร้อม เติบโต เติมเต็ม: ถอดนวัตกรรมการศึกษาฉบับ Summit School สู่อนาคตของเด็กทุกคน” ต่อยอดจากหนังสือ “Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต” (Prepared: What Kids Need for a Fulfilled Life) โดยไดแอน ทาเวนเนอร์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเครือโรงเรียนซัมมิต โรงเรียนแห่งนวัตกรรมซึ่งกำลังพลิกโฉมการศึกษาอเมริกา

 

‘จุดสตาร์ต’ ของเยาวชนไทย อยู่ที่ไหนกันบ้าง

หลังจากผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความประทับใจที่มีต่อหนังสือ ตลอดจนวิสัยทัศน์ของไดแอน ทาเวนเนอร์ ซีอีโอและนักการศึกษาผู้ผลักดันเด็กๆ ในโรงเรียนนับร้อยแห่งทั่วสหรัฐอเมริกาสู่ฝั่งฝัน ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป และมีประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดกับเด็กยากจนในชุมชนคลองเตยกว่าห้าทศวรรษ จึงชี้ให้เห็น ‘จุดสตาร์ต’ ของเด็กกลุ่มที่เธอดูแล ซึ่งส่งผลให้พวกเขาก้าวสู่ฝั่งฝันได้ช้ากว่าใคร

 

ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

 

“ความผูกพันเป็นหัวใจสำคัญ ความผูกพันในครอบครัวเป็นพื้นฐานของการพัฒนาตนเอง แต่เด็กหลายคนยังเติบโตขึ้นโดยถูกปล่อยปละละเลย ดังนั้น การสร้างความผูกพัน การจัดความเครียด การจัดการตนเอง และความเข้าใจผู้อื่น จึงเป็นประเด็นที่ครู นักการศึกษา นักวิชาการทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานของตัวเอง” เธออธิบาย

บุ๊ค – ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ Elevenfinger แรปเปอร์ผู้เติบโตในชุมชนคลองเตยเช่นเดียวกัน จึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเขาในฐานะ ‘เด็ก’ คนหนึ่งที่ไม่ได้รับการสนับสนุนข้างต้น ไม่ว่าจากโรงเรียนหรือครอบครัว

“สาเหตุหนึ่งที่ผมออกจากระบบการศึกษา คือระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อให้ผมไล่ตามความฝันของตัวเอง เด็กหลายคนก็คิดอย่างนี้ แต่ที่บ้านไม่สนับสนุน เหมือนขังเด็กไว้ให้อยู่ในเส้นทางเดียว คือต้องไปเรียนรู้ในโรงเรียนเท่านั้น ทั้งที่โรงเรียนก็ไม่ได้โอบอุ้มพวกเขา ไม่มีใครพยายามทำให้พวกเขาอยู่ในระบบและก้าวหน้าต่อไปได้”

 

บุ๊ค – ธนายุทธ ณ อยุธยา

 

น่าเศร้าที่การปล่อยปละละเลยเด็กๆ เหล่านี้ อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ร้ายแรงกว่าที่ใครจะคาดคิด

“ผู้ใหญ่ชอบถามว่าในอนาคตอยากเป็นอะไร แต่ไม่มีใครถามว่าปัจจุบันอยากทำอะไร ทั้งที่หลายอย่างไม่ตอบโจทย์ เล่าปัญหาให้ฟังก็ไม่มีใครเข้าใจ เด็กหลายคนจึงรู้สึกเหมือนต้องเผชิญปัญหาลำพัง นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด”

เมื่อตัวแทน ‘เด็ก’ และ ‘ผู้ใหญ่’ จากกรุงเทพมหานครได้แบ่งปันมุมมองของตนแล้ว จึงถึงคราวที่ ครูสอญอ หรือสัญญา มครินทร์ จากโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย โรงเรียนขยายโอกาสในจังหวัดขอนแก่น จะได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ความพร้อมของเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลบ้าง

“แค่สภาพทางภูมิศาสตร์ก็เหลื่อมล้ำแล้ว เด็กๆ ในขอนแก่นเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้น้อยกว่าเด็กๆ ในกรุงเทพฯ มาก ในจังหวัดเดียวกัน โอกาสที่ว่าก็แตกต่างกัน” ครูสอญอเข้าประเด็นทันที “ผมอยู่ในโรงเรียนขยายโอกาส เด็กๆ ในโรงเรียนก็ลูกหลานคนจนเมืองทั้งนั้น ที่เห็นชัดเจนคือปัญหาปากท้อง เด็กจะมาโรงเรียนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ เมื่อลงพื้นที่ก็พบว่าผู้ปกครองของเด็กหลายคนต้องไปรับจ้างรายวันในกรุงเทพฯ หรือเด็กคนนั้นเองที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อไม่มาโรงเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็ไม่มี เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผลักพวกเขาออกจากระบบการศึกษา”

 

ครูสอญอ – สัญญา มครินทร์

 

จะมีใครเล่าเข้าใจครูมากกว่าครูด้วยกันเอง ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่เป็นต้นตอความไม่พร้อมของเด็กๆ นั้น เป็นประเด็นที่พิธีกรอย่าง ครูทิว หรือ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล เข้าใจดีทีเดียว

“ผมเป็นครูในกรุงเทพฯ ในโรงเรียนใกล้เขตสุขุมวิท ใครก็คิดว่าเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมพอสมควร แต่เด็กในโรงเรียนมาจากชุมชนคลองเตย ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานที่หาเช้ากินค่ำ สภาพแวดล้อมอย่างนี้ทำให้เด็กไม่เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ในชีวิต” ครูทิวบอกก่อนขยายความ “ถามเด็กว่าอยากเป็นอะไร เด็กก็ตอบได้แค่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งไม่ใช่ไม่ดี แต่เด็กๆ ไม่เห็นทางเลือกอื่น รู้แค่ลุงก็ทำ พ่อก็ทำ ก็อยู่ได้นี่ ไหนจะบรรยากาศที่บ้านที่ส่งเสริมการเรียนรู้”

“ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วสะท้อนใจ ยิ่งเป็นครูนานเท่าไรยิ่งมีความหวังน้อยลงทุกวัน บางทีผมมีความตั้งใจ แต่เด็กกลับพูดแต่ว่าทำไม่ได้หรอกๆ ผู้ปกครองก็ไม่มีเวลาดูแลลูก พูดแต่ว่าให้ครูตีได้เลย”

 

ครูทิว – ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

 

แล้วปัญหาอยู่ที่ไหน

คำตอบของครูประทีปคือ ‘สายสัมพันธ์ที่อ่อนแอ’

“ในหนังสือ ครูพี่เลี้ยงในซัมมิตจะมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งผู้ปกครองและเด็กผ่านการเยี่ยมบ้านเพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่และปัญหา และแม้ภาระงานของครูจะมาก การไปเยี่ยมบ้านก็ยังสำคัญ หากไม่มีสายสัมพันธ์ให้ยึด การสอนของครูก็จะด้อยประสิทธิภาพกว่าที่ควร” ครูประทีปอธิบาย “เมื่อครูผูกพันกับเด็กแล้ว เด็กก็จะมีกำลังใจ เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาหลายต่อหลายคนก็ถูกดึงกลับมาด้วยความสัมพันธ์นี่เอง”

นอกจากนี้ การลงทุนของหน่วยงานภาครัฐในการจัดการศึกษาก็สำคัญ “ปัญหาคือกระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่กระทรวงเกรดเอของผู้บริหารประเทศ ไม่ใช่กระทั่งกระทรวงเกรดบี เป็นเพียงกระทรวงเกรดซีที่ไม่ได้รับความสำคัญ เมื่อไม่ได้รับความสำคัญจึงละเลยให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน ในคลองเตยมีเด็กกว่า 500-600 คน แต่มีครูภาษาอังกฤษคนเดียว ครูคอมพิวเตอร์คนเดียว แล้วจะให้เด็กเอาอะไรไปสู่อนาคต จะให้เอาอะไรไปแข่งขันในอาเซียน” เธอว่าอย่างตรงไปตรงมา

“ดูแต่ผู้อำนวยการโรงเรียนในกรุงเทพฯ ก็ได้ เป็นใครบ้าง สำเร็จการศึกษาสาขาอะไร ดูแค่นี้ก็รู้แล้วว่าการศึกษาของเด็กยากจนมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน นี่คือมหากาพย์แห่งความถดถอยที่แท้ ใครก็ตามเข้ามาต่อสู้กับอำนาจที่กดทับไม่ให้คนยากจนได้หยัดยืนก็หมดไฟ กรรมการสถานศึกษาก็มีไว้เท่านั้น ไม่ได้ช่วยเหลืออะไร บ้านเมืองก็เต็มไปด้วยปฏิวัติรัฐประหาร ไหนจะรัฐธรรมนูญที่บั่นทอนความสามารถของผู้คน”

 

ปัญหาคือกระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่กระทรวงเกรดเอของผู้บริหารประเทศ ไม่ใช่กระทั่งกระทรวงเกรดบี เป็นเพียงกระทรวงเกรดซีที่ไม่ได้รับความสำคัญ เมื่อไม่ได้รับความสำคัญจึงละเลยให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน ในคลองเตยมีเด็กกว่า 500-600 คน แต่มีครูภาษาอังกฤษคนเดียว ครูคอมพิวเตอร์คนเดียว แล้วจะให้เด็กเอาอะไรไปสู่อนาคต จะให้เอาอะไรไปแข่งขันในอาเซียน

 

นิสา แก้วแกมทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. ผู้มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเด็กๆ ในศูนย์การศึกษานอกระบบโรงเรียน เสริมว่าทางออกหนึ่งของปัญหานั้นคือการกระจายอำนาจทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

“จากประสบการณ์การทำงาน เด็กๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษามักมีปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ปัญหาที่ว่าบ้างมาจากครอบครัว หรือมาจากปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะยุคหลังโควิด-19 และบ้างมาจากโรงเรียน เด็กถูกรังแกบ้าง ครูดูแลไม่ได้ทั่วถึงบ้าง หรือสภาพแวดล้อมผลักเด็กคนนั้นไปสู่วงจรชีวิตที่ไม่เหมาะสมบ้าง” นิสาบอก “เมื่อถอยออกมาเพื่อพิจารณาปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็จะเห็นว่าปัญหาการศึกษาไทยนั้นทับถมและเรื้อรัง โดยเฉพาะการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง กระทรวงศึกษาธิการเป็นทั้งผู้บริหารโรงเรียน ทรัพยากร งบประมาณ และครู มีการถ่ายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้างแต่ไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งที่ท้องถิ่นอาจทำได้ดีกว่าส่วนกลาง”

 

นิสา แก้วแกมทอง

 

จะ ‘เตรียมให้พร้อม’ ได้อย่างไร

เมื่อเห็นรูปร่างและขอบเขตของปัญหาชัดเจนแล้ว ก็ถึงเวลาตอบคำถามว่า แล้วภายใต้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ตลอดจนในสภาวการณ์เช่นนี้ กำลังเล็กน้อยของครูและผู้ใหญ่ผู้ปรารถนาดีจะเปลี่ยนเส้นทางมืดมนของเด็กคนหนึ่งให้เป็นเส้นทางแห่งความพร้อมได้อย่างไร

บุ๊คคิดว่าไม่มีอะไรสำคัญกว่ากำลังใจและโอกาส “ที่เด็กหลายคนไม่มีจุดมุ่งหมายในการเรียนเพราะการเรียนไม่ตอบโจทย์ของพวกเขาและไม่ทำให้เห็นอนาคต ระบบการศึกษาต้องถูกออกแบบให้สามารถสร้างความมั่นใจว่าเรียนแล้วจะอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข หาเลี้ยงครอบครัวได้”

เขาเสริมว่า ความมั่นใจดังกล่าวสร้างได้ ผ่านการสร้าง ‘ทางเลือก’ ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษา และมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง “ระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีทางเลือกเลย เวทีส่วนใหญ่ในโรงเรียนก็ยังเป็นเวทีแสดงความสามารถทางวิชาการ ต้องมีพื้นที่ให้กิจกรรมอื่นบ้าง เด็กที่มีทักษะอื่นๆ จึงจะเห็นคุณค่าในตัวเอง และรู้สึกว่าการมาโรงเรียนนั้นดีกว่าการอยู่บ้านหรือการเรียนรู้เองในอินเทอร์เน็ต”

“เท่าที่ผมทำได้คือคอยดูแลน้องๆ ในชุมชนคลองเตยที่เล่นดนตรีด้วยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถ้าเราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น ก็คงเดินหน้าต่อไปได้ถูกทาง ก้าวไปได้พร้อมกัน”

ขณะที่ครูผู้ผูกพันกับชุมชนเช่นครูสอญอเสนออีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน “นิยามความพร้อมของเด็กแต่ละคนแตกต่างกันตามแต่ชุมชนที่พวกเขาเติบโต บางชุมชนต้องการนวัตกร บางชุมชนเพียงต้องการให้คนในชุมชนอยู่ในพื้นที่ต่อไป จะพัฒนาพวกเขาได้ เด็กต้องเห็นก่อนว่าตัวเองมีทุนอะไร รู้ว่ามีอะไรพร้อม อะไรพร่อง จึงจะไปต่อได้ การกระจายอำนาจจึงสำคัญ ครูที่ถืออำนาจในห้องเรียนต้องให้เด็กมีส่วนร่วม องค์กรและชุมชนก็ต้องร่วมกันเติมเต็มทักษะของเด็กๆ ”

 

นิยามความพร้อมของเด็กแต่ละคนแตกต่างกันตามแต่ชุมชนที่พวกเขาเติบโต บางชุมชนต้องการนวัตกร บางชุมชนเพียงต้องการให้คนในชุมชนอยู่ในพื้นที่ต่อไป จะพัฒนาพวกเขาได้ เด็กต้องเห็นก่อนว่าตัวเองมีทุนอะไร รู้ว่ามีอะไรพร้อม อะไรพร่อง จึงจะไปต่อได้ การกระจายอำนาจจึงสำคัญ ครูที่ถืออำนาจในห้องเรียนต้องให้เด็กมีส่วนร่วม องค์กรและชุมชนก็ต้องร่วมกันเติมเต็มทักษะของเด็กๆ

 

ดูเหมือนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความร่วมมือจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่นเดียวกับคำตอบของนิสาที่ชี้ว่าการพัฒนาเด็กคนหนึ่งให้ ‘พร้อม’ ด้วยทักษะ องค์ความรู้ และอุปนิสัยได้จริงนั้น ต้องยึดโยงกับชีวิตและการตัดสินใจของเด็กเองด้วย

“เด็กคนหนึ่งมีจุดเตรียมความพร้อมหลายจุด อย่างปฐมวัยคือวัยทองคำแห่งการพัฒนาสมอง ม. 6 คือทางแยกระหว่างการจบการศึกษากับการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ วนเวียนในวงจรความยากจนตลอดไป การเตรียมความพร้อมจึงไม่มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคนและแต่ละช่วงวัย”

 

บทเรียนความพร้อมจากซัมมิต

เมื่อเห็นแนวทางพัฒนาความพร้อมของเยาวชนแล้ว ครูทิวตั้งคำถามอย่างรวดเร็วว่า แล้วแนวทางพัฒนาเด็กของโรงเรียนในเครือซัมมิตซึ่งเน้นเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านการจัดทำโครงงานซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขากำหนดเป้าหมาย แก้ไขปัญหา และจัดการเวลาอย่างเหมาะสมนับครั้งไม่ถ้วน ปรับใช้ในโรงเรียนไทยได้มากน้อยเพียงใด

“เท่าที่ผมรู้คือน้อย เพราะระบบการศึกษาไทยยังให้คุณค่าแก่บางผลสำเร็จเท่านั้น อย่างผลคะแนน O-NET การเข้ามหาวิทยาลัย หรือเอกสารประเมินคุณภาพทั้งหลาย ซึ่งไม่เอื้อให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง” คือคำตอบของครูสอญอ

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่ายัง ‘มีหวัง’ เพราะการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานนั้นได้รับความสนใจจากนักการศึกษายิ่งขึ้นทุกขณะ “ผู้อำนวยการโรงเรียนบางคนก็ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อให้มีการจัดการเรียนรู้แบบนี้ในโรงเรียน ผมสังเกตว่าวันที่ได้เรียนรู้ผ่านโครงงานที่ตัวเองเป็นเจ้าของ นักเรียนจะเข้าเรียนเยอะ และก็ถามผมด้วยว่าเด็กในโรงเรียนอื่นๆ ได้ทำแบบนี้ไหม เพราะสนุกมาก เด็กๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน เป็นการเสริมพลังให้ทั้งเด็กและชุมชน ความเป็นผู้นำของเด็กกลุ่มนี้จะสูงมาก สร้างความร่วมมือได้ ไปที่ไหนก็ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ไม่ได้ ‘เก่ง’ ตามตำรา น่าเสียดายที่สังคมไทยยังโฟกัสผิดจุด ถ้าโฟกัสถูกจุดคงได้เห็นอะไรดีๆ อีกมาก”

นิสาเองก็ประทับใจการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานเช่นกัน และเชื่อว่าหากได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเด็กในโรงเรียน และเด็กในศูนย์การศึกษานอกระบบโรงเรียน

“แนวคิด ‘ให้โครงงานเป็นอาหารหลักของการเรียนรู้ ไม่ใช่ของหวาน’ นั้นน่าสนใจมาก แต่ยังมีข้อจำกัดหากจะปรับใช้ในไทย อาจต้องออกแบบใหม่เพื่อให้เป็นเมนูหลักสำหรับเด็กๆ ทั้งสองกลุ่ม เพราะเด็กๆ นอกโรงเรียนไม่ได้ขาดแคลนแหล่งเรียนรู้เลย แต่พวกเขาไม่มีพี่เลี้ยงช่วยออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้ จึงต้องพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนการเรียนรู้ส่วนบุคคล (personal plan) สื่อสารกับครอบครัวของเด็ก และจัดการทรัพยากรในชุมชนได้ด้วย ระบบครูพี่เลี้ยงของซัมมิตจึงเป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจ”

สำหรับนิสาแล้ว ระบบพี่เลี้ยงของซัมมิตที่กำหนดให้เด็กทุกคนมีผู้ดูแลใกล้ชิดนั้น “จะทำให้เราเข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้ง รู้ปัญหา ความฝัน ความกังวล และนำไปสู่การออกแบบแผนการเรียนรู้ส่วนบุคคลซึ่งช่วยให้เราดูแลเด็กได้อย่างเต็มที่ ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งของแต่ละคนได้”

 

แนวคิด ‘ให้โครงงานเป็นอาหารหลักของการเรียนรู้ ไม่ใช่ของหวาน’ นั้นน่าสนใจมาก แต่ยังมีข้อจำกัดหากจะปรับใช้ในไทย อาจต้องออกแบบใหม่เพื่อให้เป็นเมนูหลักสำหรับเด็กๆ ทั้งสองกลุ่ม เพราะเด็กๆ นอกโรงเรียนไม่ได้ขาดแคลนแหล่งเรียนรู้เลย แต่พวกเขาไม่มีพี่เลี้ยงช่วยออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้ จึงต้องพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนการเรียนรู้ส่วนบุคคล (personal plan) สื่อสารกับครอบครัวของเด็ก และจัดการทรัพยากรในชุมชนได้ด้วย

 

กระนั้น การจะปรับใช้ระบบครูพี่เลี้ยงในไทยก็ไม่ง่ายนัก แม้จะมีผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ “ความใกล้ชิดและความผูกพันสำคัญต่อเด็กมากอย่างที่ได้กล่าวแล้ว” ครูประทีปค่อยๆ เรียบเรียงประสบการณ์การอุ้มชูเด็กๆ ในชุมชนคลองเตยของเธอ “เด็กหลายคนในระยะแรกห่างเหินกับครูมาก แต่เมื่อครูไปเยี่ยมบ้าน หารือกับผู้ปกครองก็เกิดกำลังใจ พร้อมต่อสู้ และตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์”

“แต่จะให้ครูไทยเป็นครูพี่เลี้ยงด้วยทั้งที่มีภาระงานมากมายก่ายกองนี่ก็ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงเกรดเอเสียที ต้องมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ในการสร้างคนสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วย” ครูประทีปทิ้งท้าย

การปรับใช้ระบบครูพี่เลี้ยงในไทยนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคเช่นกันสำหรับครูสอญอ อย่างไรก็ตาม เขาเลือกจะเชื่อว่า ‘ทัศนคติ’ ของนักการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด

“หนังสือกล่าวถึงเด็กคนที่พูดติดอ่างและได้รับกำลังใจจากครูพี่เลี้ยงจนกล่าวสุนทรพจน์สำเร็จ ผมไม่คิดว่ามีเพียงเด็กคนนั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ครูก็ได้ประโยชน์ด้วย คือได้ฟื้นจิตวิญญาณความเป็นครู ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเด็ก ดังนั้นครูอาจไม่ใช่ผู้ให้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้เรียนรู้จากเด็กได้ด้วย ทัศนคติอย่างนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก”

“ครูต้องกลับมาทำงานกับคนตรงหน้า คือทำงานกับนักเรียน รับฟังและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กจะได้แบ่งปันทุกข์สุขและสร้างอำนาจร่วมกันกับครู การไว้ใจครูและการมีอำนาจในตนจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและความใฝ่เรียนรู้” เขาอธิบาย “ถึงอย่างนั้น จำนวนนักเรียนในความดูแลก็สำคัญ ครูคนเดียวต่อนักเรียน 25 คนนี่ไม่ไหวหรอก ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนต้องมีวิสัยทัศน์ ระบบครูพี่เลี้ยงเป็นไปได้แน่ ถ้าโฟกัสถูกจุดนะ”

 

ครูต้องกลับมาทำงานกับคนตรงหน้า คือทำงานกับนักเรียน รับฟังและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กจะได้แบ่งปันทุกข์สุขและสร้างอำนาจร่วมกันกับครู การไว้ใจครูและการมีอำนาจในตนจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและความใฝ่เรียนรู้

 

เตรียมพร้อมอย่าง ‘พร้อมหน้า’

ความสำเร็จที่โดดเด่นที่สุดของโรงเรียนในเครือซัมมิตไม่ใช่การผลักดันนักเรียน ‘บางคน’ ให้มีชีวิตอันผาสุก ทว่าเป็นนักเรียน ‘ทุกคน’ ไม่ว่าจะมีพื้นเพ ทักษะ หรือบุคลิกภาพอย่างไร การไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลังเช่นนี้ดึงดูดความสนใจของนักการศึกษาทั้งในสหรัฐอเมริกาและไทย ที่ประสบปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา หรือไม่ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเช่นเดียวกัน

นิสาผู้คลุกคลีกับเด็กๆ นอกระบบโรงเรียนเชื่อว่า “เราต้องสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลองผิดลองถูกและเข้าใจตนเองของเด็ก เหมือนกระบะทราย หรือที่เรียกกันว่าแซนด์บ็อกซ์”

เธอขยายความว่า “อัตราการเข้าโรงเรียนประถมศึกษาของไทยนั้นสูง และลดลงเหลือเพียงร้อยละ 70 ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่เกินร้อยละ 30 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และในจำนวนนั้นไม่เกินร้อยละ 10 จะเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา”

“โรงเรียนต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาฝัน ได้คิด ได้ทดลอง และมีทางเลือกที่หลากหลาย เด็กจึงจะเห็นเส้นทางในชีวิตที่ชัดเจน และพัฒนาความพร้อมของตนเองผ่านการลองผิดลองถูกได้ในสถานศึกษา ไม่ใช่ให้ไปขวนขวายหาเองนอกโรงเรียน ที่เด็กๆ ออกจากระบบการศึกษา ก็เพราะความต้องการนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง”

นิสาชี้ว่า “นอกจากสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่ดีในโรงเรียนแล้ว ก็ต้องสร้างระบบนิเวศที่ว่านอกโรงเรียนสำหรับเด็กกลุ่มนี้ที่ไม่ยินดีไปโรงเรียนด้วย ต้องสำรวจชุมชนของพวกเขา สำรวจว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร อยู่ที่ไหน และก็ต้องสร้างความร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษานอกโรงเรียน โดยใช้ทรัพยากรในชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ให้พวกเขาผูกพันกับชุมชนและเห็นความสำคัญของชุมชน เห็นชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ ประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ จนยินดีกลับมาพัฒนาชุมชนในอนาคตแทนที่จะย้ายออกไป ใครจะรู้ พวกเขาอาจจะเป็นผู้นำชุมชน ดูแลน้องๆ รุ่นต่อไปก็ได้”

 

โรงเรียนต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาฝัน ได้คิด ได้ทดลอง และมีทางเลือกที่หลากหลาย เด็กจึงจะเห็นเส้นทางในชีวิตที่ชัดเจน และพัฒนาความพร้อมของตนผ่านการลองผิดลองถูกได้ในสถานศึกษา ไม่ใช่ให้ไปขวนขวายหาเองนอกโรงเรียน ที่เด็กๆ ออกจากระบบการศึกษาก็เพราะความต้องการนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง

 

นอกจากชุมชนแล้ว องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีส่วนสร้างความพร้อมที่พร้อมหน้าได้เช่นกัน ครูประทีปกล่าวว่า “ชุมชนและองค์กรที่อยู่ใกล้เคียงเด็กต้องเป็นมือที่โอบอุ้มเด็กขึ้นเสมอ ให้เขามั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ถ้าเราสร้างชุมชนที่ดูแลเด็กแบบนั้นได้ ทุกคนก็จะก้าวไปด้วยกันได้จริง”

ท้ายที่สุดแล้ว หัวใจของการสร้างความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมเฉพาะบุคคล หรือความพร้อมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังก็ไม่แตกต่างกัน คือการสร้างความร่วมมือและอำนาจในตนเองของผู้เรียนนั่นเอง

“โครงสร้างการกระจายอำนาจไปสู่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต้องชัดเจน ว่าหากเด็กเข้าโรงเรียนในระบบไม่ได้ ก็ต้องมีศูนย์การศึกษานอกระบบโรงเรียน และศูนย์ที่ว่าต้องเชื่อมโยงชุมชนกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เด็กให้ได้ เพื่อเป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมของเด็ก ผู้ประกอบการต้องการแรงงานที่มีทักษะหรือคุณลักษณะใดก็ต้องสื่อสาร หากถักทอสายใยแห่งความเอื้ออาทรในชุมชนได้ ก็จะปลดปล่อยศักยภาพของเด็กได้ พวกเขาจะประสบความสำเร็จได้อย่างที่ใจต้องการ”

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต

Diane Tavenner เขียน

รสลินน์ ทวีกิตติกุล แปล

304 หน้า