Brief: Technology + Art for Social Change Workshop ส่องประสบการณ์ ‘นวัตกรรมเปลี่ยนสังคม’ ผ่านเทคโนโลยีและศิลปะของ Eyedropper Fill

เรื่อง: Eyedropper Fill

 

[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill ใน Workshop: Technology + Art for Social Change: ส่องประสบการณ์ ‘นวัตกรรมเปลี่ยนสังคม’ ผ่านเทคโนโลยีและศิลปะของ Eyedropper Fill เวิร์กช็อปสนุกๆ ที่ชวนคน ‘คัน’ อยากเปลี่ยนแปลงสังคมมาเจอกัน [/su_note]

 

เดือนที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่า โลกนี้ขับเคลื่อนด้วยความบังเอิญ

26 เมษายนเมื่อปีก่อน คือวันที่บทความ Third Eye View ออกไปแนะนำตัวกับผู้อ่านเป็นครั้งแรก บทความที่พวกเรา Eyedropper Fill ตั้งใจนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ การออกแบบ และเทคโนโลยี เพื่อเล่าให้คุณฟัง ว่าสามอย่างนี้เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ตัดภาพมาในวันที่ 26 เมษายนปีนี้ วันคล้ายวันเกิดครบหนึ่งขวบของบทความที่คุณกำลังอ่านอยู่ ความบังเอิญทำให้มันเป็นวันเดียวกับที่พวกเรามีโอกาสไปเล่าให้คนกลุ่มหนึ่งฟังเกี่ยวกับเรื่องราวของศิลปะ การออกแบบ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงสังคม แบบไม่พึ่งพาตัวอักษรบนจอ แต่ผ่านการพูดคุยในบรรยากาศที่แตะเนื้อต้องตัวกันได้ ในเวิร์กช็อปที่ชื่อ Technology + Art for Social Change จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ Bookscape

เวิร์กช็อปนี้เกิดขึ้นได้ไง? คงต้องย้อนกลับไปแนะนำตัวอีกครั้งว่า Eyedropper Fill เป็นกลุ่มนักออกแบบสื่อผสมผสานเพื่อสร้างประสบการณ์ ลูกค้าของเราส่วนมากคือแบรนด์ ที่มาพร้อมผลิตภัณฑ์หรือแคมเปญอะไรสักอย่างในมือ ยื่นมาพร้อมโจทย์ที่มอบหมายให้พวกเราออกแบบประสบการณ์เพื่อสื่อสารเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ หรือแคมเปญนั้นๆ ไปสู่กลุ่มผู้บริโภค นั่นคือตัวตนด้านหนึ่งของพวกเรา

ตัวตนอีกด้าน งานออกแบบของเราทำงานกับคน เราจำเป็นต้องเข้าใจคน สายตาของเราจึงไม่อาจแกล้งทำเป็นเบลอต่อปัญหาที่เกิดกับคนร่วมสังคมที่อยู่ตรงหน้าได้

ความรู้ด้านการออกแบบที่มีจะช่วยทำให้ชีวิตคนร่วมสังคมดีขึ้นได้ยังไงบ้าง?

คือคำถามที่เรามักโยนเพื่อขบคิดกันในทีมเสมอ และในช่วงเวลาคู่ขนานไปกับงาน หลักคำถามนี้เองได้ขับเคลื่อนให้เกิดโปรเจ็กต์ศิลปะ 3 ชิ้น ได้แก่ Dreamscape, ‘ณ’ บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน และ Conne(x)t Klongtoey ที่ทำขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมจากระดับเล็กถึงใหญ่ และโปรเจ็กต์เหล่านี้ได้กลายเป็นคำตอบของคำถามที่เราสงสัยมานานในที่สุด

บังเอิญว่าคำตอบนี้สะเทือนดังไปถึงสำนักพิมพ์ที่เข้มข้นเรื่องการสร้างความรู้ให้สังคมอย่าง Bookscape และบังเอิญอีกครั้ง เพราะสำนักพิมพ์กำลังอยู่ในช่วงเปิดตัวหนังสือ Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ทีมงานสำนักพิมพ์มองเห็นว่าโปรเจ็กต์ทั้งสามของพวกเรา คือ ‘นวัตกรรม’ แถมเรียกพวกเราว่านักนวัตกรรม อย่างที่เราเองก็ไม่เคยเห็นตัวเองในมุมนั้นมาก่อนอีกด้วย ความบังเอิญเหล่านี้กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมงานสำนักพิมพ์มองเห็นว่า ประสบการณ์ของพวกเราช่างสอดคล้องไปกับเนื้อหาในหนังสือพอดิบพอดี

แม้เกิดจากหลายความบังเอิญ แต่เวิร์กช็อปนี้เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์การสร้างนวัตกรรมของพวกเรา เพื่อสร้างนักนวัตกรรมคนต่อไปให้เกิดขึ้น

จากหัวข้อการเวิร์กช็อป คุณอาจจินตนาการว่าผู้เข้าร่วมคงมีแต่นักออกแบบลุคเด็กแนว หรือนักเทคโนโลยีมาดนิ่ง แต่เปล่า เพราะคนที่ทยอยมาลงทะเบียนในเช้าวันนั้นมีทั้งคนทำงานด้านสังคม ศิลปิน นักวิจัย นักชีววิทยา คนทำสื่อ ช่างภาพ ครีเอทีฟโฆษณา ข้าราชการตำรวจ ไปจนถึงรองคณบดีมหาวิทยาลัย! ทำเอาเนื้อหาและสไลด์ที่เตรียมมาในมือถึงกับสั่นด้วยความประหม่า

สูดหายใจจนความตื่นเต้นคลาย จากความกังวลที่ว่าเนื้อหาของเราจะดีพอสำหรับกลุ่มคนคุณภาพ 30 กว่าคนที่นั่งตรงหน้าหรือไม่ กลายเป็นเห็นข้อดี เพราะนี่คือโอกาสที่จะทำให้พวกเราได้รู้ว่าโปรเจ็กต์ทั้งสามของเราเป็นอย่างไร จากมุมมองที่หลากหลายมากๆ ของผู้เข้าร่วมในวันนี้

ผลัดกันแนะนำตัวพอเป็นพิธี โปรเจ็กต์แรกที่เราหยิบมาเล่าในวันนี้คือ Dreamscape โปรเจ็กต์แห่งความฝัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางศิลปะและเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

Dreamscape เกิดจากคำถามเล็กๆ ในช่วงปี 2557 ที่ประเทศไทยเพิ่งตกอยู่ใต้กฎอัยการศึกหมาดๆ เราสงสัยว่า ภายใต้กฎหมายห้ามแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ ผู้คนกำลังคิดอะไรกันอยู่

การสำรวจเริ่มต้นด้วยกระบวนการสัมภาษณ์ผู้คนตามท้องถนน ว่าพวกเขาคิดเห็นและรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่แล้วก็เหมือนจะล้มตั้งแต่เริ่ม เพราะคนส่วนใหญ่ที่เราเข้าไปถาม ต่างไม่ให้คำตอบอะไรกลับมาเลย

เช่นเดียวกับการทดลองวิทยาศาสตร์ เมื่อการทดลองล้มเหลว เราจึงเปลี่ยนสมมติฐานและตัวแปร จากยื่นไมโครโฟนสัมภาษณ์ เปลี่ยนเป็นกระดาษและสีที่เปิดโอกาสให้คนวาดภาพ ‘ฮีโร่’ ที่ตัวเองอยากได้ พื้นที่อิสระของกระดาษขาวเอื้อให้คนปลดปล่อยความฝันของตัวเองออกมา หลายคนวาดพลางเล่าไปด้วย บางคนเริ่มจากเรื่องฝันสนุกๆ ในภาพวาด แล้วจึงลากสู่เรื่องจริง คุณลุงพ่อค้าหาบเร่หวังให้ฮีโร่หน้าตาน่ารักช่วยทำให้ขนมของแกขายดีขึ้น เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจแย่มาก น้องนักเรียนมัธยมอยากให้ฮีโร่มาช่วยให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่อยากให้ผู้ใหญ่ทะเลาะกันอีกต่อไป ส่วนภารกิจฮีโร่ของคุณป้าแถววงเวียนช่างเรียบง่าย คือ “ขอถูกหวยงวดต่อไปด้วยเถิด”

กลายเป็นว่าเรื่องราวความคิดและความรู้สึกของคนต่อสถานการณ์รัฐประหาร ที่เราหวังจะรู้ด้วยการถาม กลับเผยตัวออกมาผ่าน ‘พื้นที่’ ของศิลปะอย่างน่ามหัศจรรย์

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น Dreamscape เกิดจากความอัดอั้นเพราะถูกห้ามแสดงออกในที่สาธารณะ เราจึงอยากให้โปรเจ็กต์นี้ได้แสดงออกในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่แกลลอรี่ ภารกิจสุดท้ายจึงเป็นการนำเรื่องราวของคนในกรุงเทพ ที่เราเก็บสะสมมาร่วมร้อย คัดเลือกเรื่องราวที่น่าสนใจพอจะเป็นตัวแทนเสียงของคนทั้งหมด ออกไปโชว์ในที่สาธารณะ แต่เราจะทำได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้

ในกระบวนการสุดท้าย เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทด้วยการเป็น ‘สื่อ’ นำพาเรื่องราวเหล่านี้ออกไปให้ไกล และแยบยลมากพอ ภายใต้สถานการณ์สุ่มเสี่ยง เราจับเครื่องมืออย่าง ‘โปรเจ็กเตอร์’ ที่มีคุณสมบัติฉายภาพขนาดใหญ่ สามารถเปลี่ยนตึกริมถนนให้กลายเป็นผืนผ้าใบ แถมยังไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ บวกกับ ‘รถเข็น’ ที่ทำให้โปรเจ็กเตอร์สามารถเคลื่อนที่ไปตามซอกซอยในเมืองได้อย่างสบาย แถมหน้าตาเป็นมิตร เพราะใกล้เคียงกับรถเข็นขายปลาหมึกปิ้ง ภาพวาดฮีโร่ของคนกรุงเทพ ถูกนำมาทำให้เคลื่อนไหวกลายเป็นอนิเมชัน ถูกฉายให้กระโดดโลดเต้นราวมีชีวิตพร้อมเปล่งเสียงเรื่องเล่าความฝันจากเจ้าของภาพบนเมืองที่เงียบสงัด ราวกับ ‘พรมแดนของความฝัน’ ได้ปรากฏขึ้น

หนังสือ Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก เล่าถึงคุณสมบัติที่จำเป็นในการเป็นนวัตกรที่ประสบความสำเร็จ

  • ความสงสัยใคร่รู้ คือรู้จักถามคำถามที่ดีจนเป็นนิสัย และต้องการเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้น
  • การร่วมมือ ซึ่งเริ่มต้นจากการฟังและเรียนรู้จากผู้อื่นที่มีมุมมองและความเชี่ยวชาญต่างจากเรามาก
  • การคิดเชิงบูรณาการ หรือคิดแบบเชื่อมโยง
  • แนวโน้มที่จะลงมือทำและทดลองในฐานะนักปฏิบัติ

เรารู้ดีว่างานสร้างสรรค์ไม่มีหลักสูตร และไร้รูปฟอร์มเหมือนการเล่นอิมโพรไวส์ในดนตรีแจ๊ซ แต่สูตรทั้ง 4 ข้อนี้ก็ทำให้เรากลับไปมองงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ของเราอีกครั้ง และ ‘เช็ก’ ว่าคุณสมบัติอะไรที่มีในกระบวนการ และทำให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่ใจคิด แล้วเราก็พบว่า Dreamscape มีคุณสมบัติทั้งสี่อย่างครบถ้วน ทั้งความสงสัย การร่วมมือกับศาสตร์ที่แตกต่างอย่างศิลปะ การเชื่อมโยงและบูรณาการกับเทคโนโลยี และไอเดียบ้านๆ อย่างรถเข็น

ที่สำคัญ ตั้งแต่ต้นจนจบ เราผ่านกระบวนการหลงทางและทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าโปรเจ็กต์ Dreamscape สำเร็จเป็นชิ้นงานศิลปะติดตั้งในนิทรรศการ Intimate Politik สุขล้ำน้ำตาริน ที่ Speedy Grandma Gallery และภาพยนตร์สั้น Dreamscape ก็ได้รางวัล Popular vote ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นกรุงเทพในปีนั้น แต่เมื่อถอยออกมามอง โปรเจ็กต์นี้เป็นเพียงการทดลองชิ้นแรก ที่ทำให้เรารู้จักอานุภาพของศิลปะและเทคโนโลยี และนำบทเรียนนี้ไปทดลองอีกครั้งในโปรเจ็กต์ถัดไป – สารคดี ‘ณ บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน’

 

วัตถุดิบตั้งต้นของ Dreamscape กว้างในระดับเมือง แต่กับ ‘ณ’ วัตถุดิบของเราสโคปแคบลงมาในระดับชุมชน แม้เล็กด้วยขนาด แต่เข้มข้นด้วยเรื่องราว

ชุมชนพระรามหกถูกไล่รื้อบ้านซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากปัญหาการก่อสร้างรางรถไฟสายสีแดง จนบ้านชั่วคราวกลายเป็นบ้านถาวรของพวกเขา ส่วนชุมชนบ้านโนนสมบูรณ์ที่ห่างออกไปไกลถึงขอนแก่น คือชุมชนที่ในอดีตเคยเป็นสถานที่กักกันผู้ป่วยโรคเรื้อน จนถูกสังคมรอบข้างหวาดกลัวและรังเกียจ แม้สถานะนั้นเป็นเพียงอดีตที่จบลงไปหลายสิบปีแล้ว แต่ ‘ตรา’ ที่สังคมประทับให้พวกเขา และตราที่พวกเขาประทับให้ตัวเอง ยังเหลือเป็นรอยจางในใจ ภารกิจของเราในโปรเจ็กต์นี้ คือถ่ายทอดเรื่องราวของทั้ง สองชุมชน ผ่านสารคดีโทรทัศน์

คำถามแรก หลังได้รับโจทย์จาก ‘วันโอวัน’ ผู้สร้างโปรเจ็กต์นี้ “สารคดีทีวีทำให้ชีวิตของคนต้นเรื่องดีขึ้นหรือเปล่า?”

ในการทำสารคดี เราได้เรื่องราวของเขา แต่คนต้นเรื่องกลับไม่ได้อะไรจากการเปิดเผยเรื่องราวเหล่านั้นเลย และหลายครั้งสัญชาตญาณนักขุดค้นของนักทำสารคดีก็อาจไปเปิดแผลบางอย่างของคนต้นเรื่อง และทิ้งความเจ็บปวดไว้กับพวกเขาอีกด้วย

โจทย์แรกของสารคดีชุดนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำสารคดีมอบสิ่งที่ดีให้กับทั้งเราและเขา

เรารู้ดีถึงอานุภาพของศิลปะ ในฐานะพื้นที่ปลอดภัยให้คนเผยเรื่องราวของตัวเอง เป้าหมายเราจึงชัด เราพุ่งตรงไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะบำบัด เพื่อทำให้กระบวนการศิลปะในสารคดีของเราสมบูรณ์กว่าเดิม

นักศิลปะบำบัดช่วยเราออกแบบกระบวนการทำสารคดีในครั้งนี้ โครงร่างสารคดีที่เราเขียนร่วมกันบนโต๊ะ คือเราจะนำกระบวนการศิลปะบำบัดเข้าไปทำกับชุมชนทั้งสองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือให้พวกเขาเผยความรู้สึกและเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับชุมชนของตัวเองออกมา จากนั้นจึงใช้เครื่องมือของสารคดีถ่ายทำ บันทึกเรื่องระหว่างกระบวนการเอาไว้

เรื่องราวต่างกัน วิธีการของศิลปะจึงต่างตาม สำหรับชุมชนพระรามหก ปัญหาของเขาคือการไม่มีบ้านที่มั่นคงถาวรให้ชีวิต เราเลยนำตัวต่อเลโก้และอุปกรณ์เครื่องเขียนพื้นฐานให้ชาวชุมชนเริ่มจากจินตนาการบ้านของตัวเองขึ้นมา บ้านแบบไหนที่อยากอยู่ บ้านของเรามีอะไรบ้าง ระหว่างประดิษฐ์ประดอยและเล่าเรื่องบ้านในฝัน สิ่งที่สะท้อนออกมาคือความขาดหายไม่เติมเต็มในชีวิตจริง ย้อนกลับไปสู่เรื่องราวเมื่อครั้งถูกไล่รื้อบ้านอย่างไม่รู้ตัว

สำหรับชุมชนโนนสมบูรณ์ ความรู้สึกถูกรังเกียจและกีดกันจากสถานะผู้ป่วยโรคเรื้อนประทับอยู่ในใจ ในขณะที่บนร่างกายหลายคนถูกประทับด้วยรอยแผลที่เรื้อรังจากโรคนิ้วมือนิ้วเท้าที่กุดจากความป่วยไข้ในอดีต ทิ้งความไม่สมบูรณ์ตรงข้ามกับคำว่าโนนสมบูรณ์อันเป็นชื่อชุมชน นักศิลปะบำบัดออกแบบกระบวนการที่ให้ชาวชุมชนใช้ร่างกายอย่างการเล่นเงา ให้ชาวชุมชนได้เผชิญหน้ากับความไม่สมบูรณ์ แต่พร้อมกันก็ทำให้เห็นว่า ความไม่สมบูรณ์นี้ก็มีพลัง สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ไม่แพ้ร่างกายที่สมบูรณ์เลย

วันจบกระบวนการ เป็นเหมือน ‘ไคลแม็กซ์’ ในสารคดีสำหรับคนดูทางบ้าน และมันยังเป็นไคลแม็กซ์ของชาวชุมชนทั้งสองด้วย สำหรับโนนสมบูรณ์ พวกเขาได้แสดงละครเงาร่วมกับนักศิลปะบำบัด แม้มือไม้ไม่สมบูรณ์ แต่ออกมาเป็นละครเงาที่สมบูรณ์ทางความรู้สึก สำหรับชาวชุมชนพระรามหก เราใช้เทคโนโลยีทรงอานุภาพที่เคยใช้ใน Dreamscape อย่างโปรเจ็กเตอร์มาสร้างสรรค์ดินแดนขนาดใหญ่บนลานทรายหน้าชุมชน ให้พวกเขานำบ้านที่สร้างสำเร็จมาวางลงบนที่ดินในฝัน ตามแต่ละคนอยากจะอยู่ บรรยากาศในคืนนั้นคล้ายวันปีใหม่ชุมชน แต่ละบ้านออกมาคุยกันกลั้วรอยยิ้มและหัวเราะ แม้บ้านและผืนดินตรงหน้าจะเป็นความฝัน แต่บทสนทนาที่แต่ละบ้านคุยกันก็ทำให้ต่างคนต่างเห็นตัวเองในอนาคตอันใกล้ขึ้นมารางๆ และที่สำคัญ กระบวนการในคืนนั้นราวกับเป็นการกระซิบบอกชาวชุมชนเบาๆ ว่า พวกเขามีสิทธิ์ที่จะฝัน

กระบวนการศิลปะที่เคลือบด้วยเรื่องราวปัญหาสังคม แต่อินไซด์ระดับความรู้สึก ออกสู่สายตาผู้คนผ่านโทรทัศน์ มันอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในใจพวกเขาที่เราคนทำไม่อาจรับรู้ได้ ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนต้นเรื่อง คือสิ่งที่เราเห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านรอยยิ้ม คำขอบคุณพร้อมจับมือเรา (ทำให้เราคิดว่า เราต่างหากที่เป็นฝ่ายต้องขอบคุณ) จากชาวชุมชนทั้งสอง

Dreamscape และ ณ เป็นเสมือนการทดลองที่จบลงไปแล้ว ในโปรเจ็กต์สุดท้ายที่เรานำมาแชร์ เป็นโปรเจ็กต์ที่อยู่ระหว่างการทดลองและก่อสร้าง โปรเจ็กต์นี้เริ่มต้นด้วยเรื่องใหญ่อย่าง ‘การศึกษา’ และมีเป้าหมายใหญ่ที่สุดคือ สร้างนวัตกรคนใหม่ให้เกิดขึ้น

 

Conne(x)t Klongtoey เริ่มต้นจากความสงสัยเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย จากต้นทุนทางประสบการณ์ตรงของพวกเราในวัยเรียน ที่ต้องเรียนในห้องเรียนที่ไม่ถูกใจเอาซะเลย บวกกับต้นทุนจากสังคมรอบตัวปัจจุบันที่เต็มไปด้วยคำบ่น ไปจนถึงก่นด่าระบบการศึกษา ทำให้เราเห็นว่าการศึกษาไทยในปัจจุบันก็ยังไม่ไปไหนไกล จากที่เราประสบในวันวาน จากต้นทุนทั้งสอง คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วเราสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ไหม?

เป็นความบังเอิญที่เราได้รู้จักครูจากโครงการ Teach For Thailand ทำให้เรามีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ในโรงเรียนมัธยมต้นธรรมดาแห่งหนึ่ง ที่ไม่ธรรมดาด้วยพื้นที่ที่มันตั้งอยู่

โรงเรียน ‘ชุมชนหมู่บ้านพัฒนา’ ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนคลองเตย ชุมชนที่คนทั่วไปมีภาพจำเกี่ยวกับยาเสพติด ความรุนแรง และอาชญากรรม

เด็กมัธยมในคลองเตยมีทั้งความเหมือนและความต่างจากเด็กทั่วไป มีความห่าม ความซน ความไร้เดียงสา แต่สัญชาตญาณและไหวพริบการเอาตัวรอดสูงกว่าเด็กทั่วไปเท่าตัว ด้วยสังคมที่โหดหินในคลองเตยหล่อหลอม อีกหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนคือ ทุกคนไม่มีวิชาที่ชอบ และไม่ชอบห้องเรียนเอาซะเลย

ความชอบของเด็กกลุ่มนี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่ห้องเรียนไม่มีให้ เด็กบางคนมีทักษะการแต่งเนื้อเพลงและแร็ปสดระดับเทพ บางคนเคาะจังหวะได้ราวมือกลองอาชีพ แต่ใช้บานประตูห้องเรียนเป็นกลองแทน บางคนวาดรอยสักบนแขนขาเพื่อนด้วยปากกาน้ำเงินได้ มีแววศิลปิน บางคนชอบแต่งตัว บางคนรักการถ่ายรูป

คำถามของเราก็คือ หากเด็กเหล่านี้ได้เรียนในเรื่องที่ตัวเองรัก ผลที่ได้จะเป็นอย่างไร?

เมื่อหัวสงสัย มือก็ไม่รอช้า เราประสานกับทางโรงเรียน เปลี่ยนเวลาหนึ่งชั่วโมงหลังเลิกเรียนให้เป็นคลาสศิลปะ 4 แขนง ได้แก่ คลาสแต่งเพลงแร็ป คลาสศิลปะรอยสัก คลาสออกแบบแฟชั่น และคลาสถ่ายภาพ โดยใช้ข้อดีของการทำงานในสายศิลปะและออกแบบของพวกเรา ดึงวิทยากรมืออาชีพที่น่าสนใจมาเป็นผู้สอนเด็กๆ

คลาสกินเวลาหลายเดือน ไปได้สวยบ้าง เหลวเป๋วบ้าง นักเรียนหล่นหายไปตามทางบ้าง หากมองจากจุดแรกคงไม่เชื่อว่าวันหนึ่งนักเรียนคลาสศิลปะเหล่านี้จะสามารถผลิตผลงานคุณภาพ จนสามารถเป็นนิทรรศการได้ นิทรรศการ Conne(x)t Klongtoey ถูกจัดขึ้นที่ O.P. Place ในช่วงเวลาเดียวกับเทศกาล Bangkok Design Week 2019

ผลงานในนิทรรศการที่โดดเด้งจนนักออกแบบหลายคนยังชอบจนต้องซื้อกลับไป ได้แก่ หนังสือ ภาพถ่าย My echo, My shadow and Me ฝีมือเด็กคลาสภาพถ่ายที่ถ่ายชีวิตตัวเองในคลองเตยได้สวยเกินคลองเตย อัลบั้มเพลงแร็ปเฉพาะกิจ School Town King จากคลาสแร็ป ที่ติดหูจนใครที่เข้ามาในนิทรรศการเป็นต้องร้องตาม ชุดจากคลาสออกแบบแฟชั่นที่ล้อดีไซน์ชุดครุยจบการศึกษา ที่ตัดเย็บโดยผ้าที่นักเรียนในคลาสออกแบบลายเอง ชิ้นนี้แม้ไม่ขายเพราะมีตัวเดียว แต่คนที่มาในนิทรรศการต่างหยิบมาสวมและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วยดีไซน์ที่เปรี้ยวจี๊ด จนแทบไม่ได้แขวนบนราว

การเล่น (Play) ความหลงใหล (Passion) และเป้าหมาย (Purpose) หรือชื่อเล่นคือ 3P เป็นองค์ประกอบ เพื่อสร้างแรงจูงใจภายใน ตามที่หนังสือ Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก เล่า หากนำแนวคิดนี้ทาบบนโปรเจ็กต์ Conne(x)t Klongtoey เราจะพบว่ากิจกรรมที่เด็กเล่นสนุกนอกวิชาเรียน เป็นเหมือนสัญญาณที่ส่งไปหาคนรอบข้างว่าพวกเขากำลังชอบสิ่งนั้น เมื่อจับเด็กให้อยู่กิจกรรมที่ชอบเป็นเวลานานพอจนเกิดความหลงใหล เป้าหมายจึงผุดขึ้นโดยอัตโนมัติ

จากคำถามที่ว่า “ศิลปะและเทคโนโลยี ช่วยทำให้ชีวิตคนร่วมสังคมดีขึ้นได้ยังไงบ้าง?” ในตอนต้น นิทรรศการ Conne(x)t Klongtoey เป็นเหมือนก้อนคำตอบขนาดใหญ่ที่ทำให้เราพยักหน้าและบอกตัวเองในใจว่า สมมติฐานที่เราตั้งไว้เป็นไปได้จริง เงินจากการขายหนังสือและอัลบั้มเพลงถึงมือเด็กในชุมชน จากเด็กหญิงและเด็กชายกลายเป็นช่างภาพที่มีหนังสือภาพถ่ายเป็นของตัวเอง มีเสื้อผ้าที่ตัวเองร่วมออกแบบ มีนิทรรศการ และได้รับคำชมจากคนร่วมพันที่แวะเวียนกันมาในแต่ละวัน หลังจากนี้เป็นอย่างไรไม่อาจรู้ แต่บัดนี้ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้เกิดขึ้น ที่สำคัญ ‘นวัตกรคนใหม่’ ได้เกิดขึ้นแล้ว

พักขยับเนื้อขยับตัวก่อนเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของเวิร์กช็อป Technology + Art for Social Change จากนั่งไว้ระยะ แบ่งผู้พูด-ผู้ฟัง คราวนี้ทุกคนขยับตัวมาใกล้พร้อมจะคุยแลกเปลี่ยน เราเตรียมวัตถุดิบตั้งต้น เป็นงานศิลปะและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงสังคมจากต่างแดน หลายชิ้นเคยเล่าผ่าน Third Eye View มาแล้ว เช่น งานศิลปะกำจัดฝุ่น หรือศิลปินที่ทำให้ดวงอาทิตย์เป็นของทุกคน แต่ไม่นานเมื่อมีคนเริ่มถาม เริ่มแชร์ หัวข้อการสนทนาก็เปลี่ยนจากเรื่องที่เราเตรียมมา กลายเป็นเรื่องของทุกคน

อย่างที่บอกตอนต้น ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปนี้มาจากสายอาชีพและแบคกราวน์ที่ต่างกัน แต่ทันทีที่เริ่มพูดคุยกัน เราพบความเหมือนของคนกลุ่มนี้ นั่นคือทุกคนล้วนมีความ ‘คัน’ อยากทำอะไรบางอย่างให้สังคมดีขึ้น เพียงแต่ว่า ก่อนหน้าที่ทุกคนจะเจอกัน ต่างคนต่างอยู่กันแบบเหงาๆ ในโลกของตัวเอง ปัญหาที่แต่ละคนอยากจะแก้จึงดังเงียบๆ อยู่ในตัว ถูกมองผ่านมุมมองของตัวเองเพียงคนเดียว

 

ชั่วโมงท้ายจึงมีบรรยากาศคล้ายการบำบัดกลุ่ม แต่ละคนโยนประเด็นปัญหาในใจไว้ตรงกลาง ให้ทุกคนช่วยกันถาม ช่วยกันกระเด้งกระดอนไอเดีย เมื่อปัญหาเดิมถูกมองด้วยสายตาใหม่จากคนต่างศาสตร์ มุมมองใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาจึงปรากฏ ไม่ใช่แค่สองหรือสามมุม แต่มันคือสามสิบมุมที่บูรณาการไอเดียจากสามสิบคน และโชคดีมากๆ ที่คนกลุ่มนี้มีพลังงานเหมือนกัน คือทุกคนเปิดรับมุมมองของคนอื่น แบบที่เราไม่ต้องเกร็งแม้วัยจะต่างกันขนาดไหน จากที่เราพูดอยู่ฝ่ายเดียวในช่วงแรก กลายเป็นนั่งตาแป๋วฟังไอเดียที่น่าสนใจ และโปรเจ็กต์ล้ำๆ จากผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปของเราแทน

เวลาของเวิร์กช็อปสิ้นสุด แต่การสนทนายังไม่สิ้นสุด จากผู้เข้าร่วมที่มาเจอกันด้วยความบังเอิญ เย็นวันนั้นหลายคนได้ ‘เครือข่าย’ กลับไป บางคนถึงกับได้เพื่อนร่วมโปรเจ็กต์คนใหม่กลับไปด้วย

จากหัวข้อตั้งต้นคือ Technology + Art for Social Change เทคโนโลยีและศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม กลายเป็นว่าหลังเวิร์กช็อปจบ สมการใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นอีกมากมาย เราคงได้เห็นโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ที่เกิดจากการทำงานข้ามศาสตร์เกิดขึ้นอีกมากมายในเวลาอันใกล้

ไม่แน่วันหนึ่งเราอาจพบเวิร์กช็อปงานศิลปะจากการสอบปากคำที่ตำรวจและศิลปินทำงานร่วมกัน คลาสภาพถ่ายและกราฟิกดีไซน์สำหรับคุณครูปฐมวัย หรือชีววิทยา+การโฆษณาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

ถ้าถึงวันนั้นขึ้นมาจริงๆ อย่าลืมชวนเราไปฟังด้วยนะครับ