Workshop: Technology + Art for Social Change: ส่องประสบการณ์ ‘นวัตกรรมเปลี่ยนสังคม’ ผ่านเทคโนโลยีและศิลปะของ Eyedropper Fill

Workshop: Technology + Art for Social Change

: ส่องประสบการณ์ ‘นวัตกรรมเปลี่ยนสังคม’ ผ่านเทคโนโลยีและศิลปะของ Eyedropper Fill

 

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2562 ตลอดทั้งวันที่ สสส.

โดย โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักพิมพ์ bookscape

 

1. แนวคิด

นวัตกรรม คือ การแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์

นับแต่อดีตอันยาวนาน ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนปัญหาสังคมมาโดยตลอด จวบจนปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวไกล ทำให้งานศิลปะถูกตีความใหม่และนำไปใช้โดยผสมผสานกับเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาสังคมหลายเรื่องในรูปแบบแปลกใหม่อย่างที่คนรุ่นก่อนยากจะจินตนาการได้

ยกตัวอย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศสุดล้ำ ความสูง 7 เมตร ที่สามารถฟอกอากาศได้สามหมื่นลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ออกแบบอย่างสวยงามโดยนักออกแบบ ร่วมกับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพของคนเมือง, กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ร่วมมือกับนักออกแบบมัลติมีเดียทำแคมเปญการประท้วงผ่านการฉายภาพโฮโลแกรม ที่หน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมตัว, ศิลปิน ผู้เคยทำให้ ‘ดวงอาทิตย์’ เป็นของใครก็ได้ โดยยกดวงอาทิตย์มาไว้ใจกลางพิพิธภัณฑ์ จนกลายเป็นพื้นที่ที่สาม ซึ่งผู้คนรู้สึกถึงความเป็นชุมชนและประชาธิปไตย มาสู่ผลงานใหม่ ‘ดวงอาทิตย์น้อย’ โคมไฟโซลาร์เซลล์ ที่นักออกแบบและวิศวกรร่วมกันทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของ ‘แสงสว่าง’ ได้ยามค่ำคืน และ แว่น 360 องศาที่ฉายภาพเมืองในอนาคต ซึ่งถูกออกแบบจากการสัมภาษณ์ผู้คนบนท้องถนนในกรุงปารีส

เห็นได้ว่า นวัตกรรมใหม่ผ่านการผสมผสานของศิลปะและเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมหลายเรื่องได้อย่างตรงจุด และขยายขอบเขตไปได้กว้างไกลในแบบที่เราเองก็คาดไม่ถึง Eyedropper Fill จึงอยากชวนร่วม workshop แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีและศิลปะในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ผ่านโปรเจ็คต์ที่ทำงานร่วมกับเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน ของพวกเขา และเรียนรู้ความเป็นไปได้ใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรุ่นใหม่ไปเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านโปรเจ็คต์ระดับโลกที่น่าสนใจ รวมถึงถอดรหัสรูปแบบวิธีการสื่อสารแบบใหม่ในการแก้ปัญหาสังคมอย่างมีพลัง

 

2. รู้จัก Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เป็นทีมนักออกแบบสื่อผสม (multimedia designer) สนุกกับการออกแบบพื้นที่และงานนิทรรศการ โดยเน้นการทดลองเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม ทีม Eyedropper Fill สนใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีและศิลปะแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา

 

ผลงานเด่นของ Eyedropper Fill

ในยุคที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากระจายวงกว้างมากขึ้นทั่วประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเทพมหานคร โครงการ Conne(x)t Klongtoey ทำงานร่วมกับโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา สำนักเขตคลองเตย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของชุมชนที่ล้อมรอบไปด้วยปัญหาความยากจนและยาเสพติด โครงการฯ นำเสนอความรู้และทักษะด้านศิลปะเฉพาะทางแขนงต่างๆ ให้นักเรียนได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ทั้งการออกแบบแฟชั่น การถ่ายภาพ การสักลาย และการแต่งเนื้อร้องและทำนองเพลงแรป ร่วมกับศิลปินตัวจริงเสียงจริงในวงการ ท้ายที่สุด ผลงานของนักเรียนถูกนำไปจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จนสร้างรายได้ให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งหมดนี้เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้และเห็นถึงศักยภาพของตัวเอง ที่สำคัญ เป็นการเปลี่ยนทัศนคติในแง่ลบของตัวนักเรียนเองที่เคยชอบพูดติดปากเสมอว่า “ทำไม่ได้” จนมีความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง และลงมือสร้างผลงานผ่านความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา

สารคดีว่าด้วย ‘ชีวิต’ (เส้นทางการพัฒนา) ของชุมชนหลากหลายพื้นที่ทั่วไทย โดยนำเสนอผ่าน ‘บ้าน’ แต่ละแบบ (เช่น บ้านชุมชนแออัด บ้านริมคลอง บ้านในเขตป่า) และเรื่องเล่าของการต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อชีวิตที่ดีกว่ารอบๆ บ้านหลังนั้น ผลิตโดย บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ออกอากาศทางช่อง NOW 26

Eyedropper Fill ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในกลุ่มศิลปินหลากแขนง (นักออกแบบ นักเขียน นักดนตรี นักแสดงละครเวที พ่อครัว ช่างภาพ) ที่มาร่วมเล่าเรื่องคนจนและปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างผ่านการทำงานศิลปะร่วมกับชุมชนต่างๆ

สารคดี ณ ตอน ‘ย้ายรัง’ ของ Eyedropper Fill ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผู้คนในชุมชนพระราม 6 ซึ่งถูกไล่รื้อบ้านกว่า 4 ครั้งในช่วง 3 ปีจากการก่อสร้างทางรถไฟ ในช่วงเวลาที่พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านชั่วคราวก่อนจะย้ายไปยัง ‘บ้านมั่นคง’ อันเป็นความหวังสุดท้ายของทุกคน สารคดีเล่าเรื่องโดยใช้ศาสตร์ของมัลติมีเดีย และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะบำบัด สร้างกิจกรรมศิลปะให้ชาวชุมชน ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ จนถึงผู้สูงวัย ได้ลงมือทำร่วมกัน ผ่านการออกแบบ ‘บ้านในฝัน’ ด้วยวัสดุอุปกรณ์ภายในละแวกชุมชน เพื่อให้พวกเขาได้แสดงออกถึงความฝัน เยียวยาบาดแผลในอดีต มองเห็นพลังของตัวเองและพลังร่วมในชุมชน

“ความฝันของคุณหน้าตาเป็นยังไง?”

โปรเจ็คต์ศิลปะที่เริ่มจากการลงพื้นที่พูดคุยถึงชีวิต ความฝัน และความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองภายใต้ระบอบรัฐประหารที่ประชาชนไม่มีสิทธิแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ เรื่องราวถ่ายทอดผ่านเสียงสัมภาษณ์และภาพวาด โดยภาพทั้งหมดถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นแอนิเมชั่นและนำออกฉายบนพื้นที่ของเมืองด้วย Dreamscape Projection Cart โปรเจคเตอร์ที่ติดตั้งบนรถสามล้อ สามารถเคลื่อนที่และฉายภาพได้อย่างอิสระ จนทำให้ยอดตึก ตอม่อสะพาน หรือกำแพงตามตรอกซอกซอย กลายเป็นพื้นที่ให้ความคิดและความฝันของผู้คนในกรุงเทพมหานครได้ถูกแสดงออกมาบนพื้นที่สาธารณะอย่างเต็มไปด้วยสีสันแห่งชีวิตของผู้คนในเมือง

‘Dreamscape Project’ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “สุขล้ำน้ำตาริน” จัดขึ้นที่ Speedy Grandma โดยใช้เวลากว่าสามเดือนในการศึกษา รวบรวมข้อมูล และกลั่นกรองไอเดีย ก่อนจะทดลองทำจริง

 

3. ข้อมูลหนังสือประกอบการทำ workshop

 

Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

(Creating Innovators: The Making of Young People Who Will Change the World)

Tony Wagner เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

“คู่มือสำหรับพ่อแม่ที่อยากขัดเกลาลูกหลานให้เป็นนักคิดผู้สร้างสรรค์” — USA TODAY

 

Tony Wagner ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะพาไปสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของนักสร้างสรรค์และเจ้าของกิจการรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งวิศวกรผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จของไอโฟนรุ่นแรก ชายผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมรองเท้าด้วยความหลงใหลตั้งแต่วัยเยาว์ เด็กชายสมาธิสั้นผู้กลายเป็นนักสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ เด็กหนุ่มชาวแอฟริกาผู้เปลี่ยนความคิดเรื่องมุ้งให้กลายเป็นนวัตกรรมป้องกันมาลาเรียในบ้านเกิด และแสดงให้เห็นว่า “ผู้ใหญ่” รอบตัวเด็กมีบทบาทอย่างไรในการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ จุดประกายจินตนาการ และสอนให้รู้จักรับมือกับความล้มเหลว

Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก จะแสดงให้เราเห็นเส้นทางพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่รากฐานสำคัญอย่างวิธีการเลี้ยงดูในครอบครัว ต่อยอดสู่กระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน ก่อนจะนำไปประยุกต์ใช้ในโลกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือหนังสือที่เหมาะสำหรับพ่อแม่ ครูอาจารย์ นักการศึกษา รวมถึงบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชน “เรียนรู้” และ “เติบโต” อย่างสร้างสรรค์ เพื่อปลูกฝังนักคิดรุ่นใหม่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในอนาคต

ประวัติผู้เขียน: Tony Wagner ผู้เชี่ยวชาญประจำ Innovation Lab แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีประสบการณ์การสอนทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ Educators for Social Responsibility

 

4. เนื้อหาและกำหนดการ

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2562 เวลา 9.00-17.00 น. ณ ห้องกรีน ชั้น B1 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และมีบริการอาหารกลางวัน

เนื้อหาของ workshop

  • ถอดบทเรียนนวัตกรรมเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยีและศิลปะ

เล่าประสบการณ์สร้างสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนสังคมด้วยเทคโนโลยีและศิลปะ ผ่านโปรเจ็คต์ต่างๆ เช่น การใช้ social media platform เพื่อการเรียนรู้ในโครงการ Conne(x)t Klongtoey, การสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้คนบนท้องถนนเพื่อนำภาพวาดเมืองในฝันของพวกเขามาฉายบนพื้นที่สาธารณะในโครงการ Dreamscape และการใช้ศิลปะบำบัดผสมกับ projection mapping เพื่อเยียวยาความรู้สึกคนในชุมชนพระราม 7 ที่โดนไล่ที่ในสารคดี ณ – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน

  • ถอดรหัสเคล็ดลับการทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่

ค้นหาคำตอบผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า เราจะชวนคนรุ่นใหม่ให้กล้าคิดและสนุกกับการลงมือสร้างสรรค์อย่างไร ก่อร่างสร้างความไว้ใจระหว่างคนทำงานกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร

  • ถอดรื้อความรู้ความเข้าใจเก่าเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

สำรวจโลกใหม่ ความเป็นไปได้ใหม่ เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และงานออกแบบ เพื่อมองหาเครื่องมือใหม่ในการทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

 

5. การรับสมัคร

(1) สมัครเข้าร่วม workshop “Technology + Art for Social Change” ได้ทางอีเมล [email protected] ภายในวันที่ 24 มีนาคม เขียนชื่ออีเมลว่า “สมัคร workshop innovators”

ผู้สมัครต้องสามารถเข้าร่วม workshop ได้ตลอดทั้งวัน

รับจำนวนจำกัด 30-35 คน

(2) ข้อมูลประกอบการรับสมัครที่ต้องส่งทางอีเมล

– ประวัติส่วนตัว (โปรดระบุชื่อ-นามสกุล อายุ ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานและผลงาน)

– งานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน และ/หรือ มุ่งมั่นตั้งใจอยากทำในอนาคต

– ความคาดหวังและเหตุผลที่ต้องการเข้าร่วม workshop ครั้งนี้

(3) ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือก ภายในวันที่ 29 มีนาคม ทางเฟซบุ๊กเพจ bookscape, เว็บไซต์ bookscape.co และอีเมลผู้สมัคร

(4) ผู้ได้รับคัดเลือกต้องโอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชี บจก.บุ๊คสเคป ธนาคารกสิกรไทย บัญชีเลขที่ 037-2-64728-0 เพื่อเป็นการยืนยันการเข้าร่วม workshop ภายในวันที่ 2 เมษายน มิเช่นนั้นถือว่าสละสิทธิ์ ทั้งนี้ทางโครงการจะคืนเงิน 1,000 บาทให้เต็มจำนวน ภายหลังจากได้เข้าร่วม workshop ทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย