ร่วมกันค้นหาความท้าทายใหม่ๆ ของการเลี้ยงลูก การสอน ให้คำปรึกษา ตลอดจนบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตรไปกับ Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก โดย โทนี วากเนอร์ นักการศึกษา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกของ Harvard Innovation Lab มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของนักสร้างสรรค์และเจ้าของกิจการรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งวิศวกรผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จของไอโฟนรุ่นแรก ชายผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมรองเท้าด้วยความหลงใหลตั้งแต่วัยเยาว์ เด็กชายสมาธิสั้นผู้กลายเป็นนักสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ เด็กหนุ่มชาวแอฟริกาผู้เปลี่ยนความคิดเรื่องมุ้งให้กลายเป็นนวัตกรรมป้องกันมาลาเรียในบ้านเกิด และแสดงให้เห็นว่า “ผู้ใหญ่” รอบตัวเด็กมีบทบาทอย่างไรในการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ จุดประกายจินตนาการ และสอนให้รู้จักรับมือกับความล้มเหลวที่พวกเขาต้องเผชิญในโลกจริง
เพื่อให้เด็กๆ เติบโตเป็นนวัตกรที่ประเทศไทยและโลกของเราต้องการในศตวรรษที่ 21
นวัตกรรมคืออะไร
มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความปรารถนาตามธรรมชาติที่จะสำรวจ ทดลอง และคิดจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ เรียกง่ายๆ ว่าการสร้างนวัตกรรมนั่นเอง แล้วนวัตกรรมคืออะไร
มันคือกระบวนการที่สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ผมมองว่านวัตกรรมคือแนวทาง อย่างไรก็ตาม เรายึดคำจำกัดความมาตรฐานที่พูดถึงการสร้างคุณค่าผ่านสินค้าและบริการใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่ หรือกระบวนการใหม่ โดยใช้วิธีการแปลกใหม่และสร้างสรรค์
— เซอร์แอนดรูว์ ลิเกียร์แมน
คณบดีวิทยาลัยธุรกิจลอนดอน
นวัตกรรมเป็นกระบวนการของการมีความคิด ความเข้าใจลึกซึ้งที่แปลกใหม่และมีคุณค่า แล้วนำไปปฏิบัติจนคนในวงกว้างยอมรับและนำไปใช้
— ริก มิลเลอร์
อธิการบดีวิทยาลัยวิศวกรรมโอลิน
นวัตกรรมจำกัดความได้ง่ายๆ คือ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาโดยไม่มีความสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบ ไม่ถือเป็นนวัตกรรมที่แท้จริง
— เอลเลน โบว์แมน
อดีตผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์
บริษัทพร็อกเตอร์ แอนด์ แกมเบิล
ทักษะสำคัญของนวัตกร
ในหนังสือ The Global Achievement Gap (2010) ของผู้เขียนได้พูดถึงทักษะใหม่เจ็ดประการที่นักเรียนทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อทำงาน เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และเป็นพลเมืองของโลกอย่างทุกวันนี้
7 ทักษะเพื่อการอยู่รอด ได้แก่
- การคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา
- การร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ และการนำด้วยการจูงใจ
- การปรับตัวและความแคล่วคล่องว่องไว
- การคิดริเริ่มและการเป็นผู้ประกอบการ
- การเข้าถึงข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล
- การสื่อสารทั้งทางการพูดและการเขียนอย่างมีประสิทธิภาพ
- การใฝ่รู้และมีจินตนาการ
5 ทักษะที่ทำให้คนมีนวัตกรรมแตกต่างจากคนไม่มีนวัตกรรม ได้แก่
- การเชื่อมโยง
- การตั้งคำถาม
- การสังเกต
- การทดลอง
- การสร้างเครือข่าย
โดยทักษะดังกล่าวแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ การทำ และ การคิด
การทำ
การตั้งคำถาม เปิดโอกาสให้นวัตกรก้าวออกจากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ และพิจารณาความเป็นไปได้ใหม่ๆ นวัตกรจะจับรายละเอียดพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในกิจกรรมของลูกค้า ผู้ผลิต และบริษัทอื่นด้วย การสังเกต ซึ่งช่วยแนะวิธีใหม่ในการทำสิ่งต่างๆ พวกเขาได้เปิดประสบการณ์ใหม่และสำรวจโลกอย่างไม่ลดละผ่าน การทดลอง ส่วน การสร้างเครือข่าย กับคนที่มีภูมิหลังแตกต่างกันจะทำให้พวกเขาได้รับมุมมองที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง
การคิด
การกระทำทั้งสี่รูปแบบข้างต้นรวมกันช่วยให้นวัตกรเกิด การเชื่อมโยง เพื่อบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ
ทักษะด้านนวัตกรรมสร้างได้!
“การคิดเชิงออกแบบ” (design thinking) เป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่าเป็นวิธีมองโลกซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับทุกกระบวนการของนวัตกรรม เป็นแนวคิดของไอดีโอ บริษัทออกแบบระดับโลกที่ก่อตั้งเมื่อปี 1991 โดยเดวิด เคลลีย์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ก่อตั้งสถาบันการออกแบบแฮสโซ แพลตเนอร์ หรือที่รู้จักกันในนาม d.school
5 คุณสมบัติของ “นักคิดเชิงออกแบบ” ได้แก่
- เห็นอกเห็นใจผู้อื่น คือสามารถมองโลกจากมุมมองที่หลากหลาย และมีทัศนคตินึกถึงผู้อื่นก่อน
- มีความคิดเชิงบูรณาการ คือสามารถมองเห็นทุกมิติของปัญหา และวิธีแก้ที่ทะลุกรอบและเป็นไปได้
- มองโลกแง่ดี โดยตั้งต้นจากสมมติฐานว่า ไม่ว่าปัญหาจะท้าทายแค่ไหนย่อมมีทางออกเสมอ
- ปฏิบัตินิยม คือกระบวนการลองผิดลองถูกที่ศึกษาปัญหาและทางแก้ไขด้วยวิธีใหม่และสร้างสรรค์
- ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ความเชื่อผิดๆ เรื่องอัจฉริยะที่สร้างสรรค์งานคนเดียวถูกแทนที่ด้วยความจริงว่าคนต่างสาขาวิชามาร่วมมือกันด้วยความกระตือรือร้น นักคิดเชิงออกแบบที่เก่งที่สุดไม่เพียงทำงานควบคู่กับคนสาขาวิชาอื่นๆ เท่านั้น หลายคนมีประสบการณ์ช่ำชองมากกว่าหนึ่งสาขาด้วย
“ดีเอ็นเอ” ของนวัตกรอาจถือเป็นชุดทักษะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการคิดเชิงออกแบบ เราไม่สามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ถ้าไม่ฝึกทักษะการฟังและการสังเกต การคิดเชิงบูรณาการเริ่มขึ้นจากความสามารถในการถามคำถามที่ดีและสร้างการเชื่อมโยง นอกจากนั้น การร่วมมือและการสร้างเครือข่ายยังมีความคล้ายคลึงกันด้วย และสิ่งที่ทักษะทั้งสามกลุ่มมีเหมือนกันก็คือ หัวใจสำคัญของการทดลอง หรือกิจกรรมที่โดยรากเหง้าแล้วต้องอาศัยการมองโลกแง่ดี ความเชื่อว่าการลองผิดลองถูกจะทำให้ค้นพบความเข้าใจที่ลึกซึ้งและแนวทางที่ดีขึ้น
คุณสมบัติที่จำเป็นสุดในการเป็นนวัตกรที่ประสบความสำเร็จ มีดังนี้
- ความสงสัยใคร่รู้ คือรู้จักถามคำถามที่ดีจนเป็นนิสัย และต้องการเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้น
- การร่วมมือ ซึ่งเริ่มต้นจากการฟังและเรียนรู้จากผู้อื่นที่มีมุมมองและความเชี่ยวชาญต่างจากเรามาก
- การคิดเชิงบูรณาการ หรือคิดแบบเชื่อมโยง
- แนวโน้มที่จะลงมือทำและทดลอง
สิ่งสำคัญที่สุดในคุณลักษณะเหล่านี้คือ มันสะท้อนชุดทักษะและนิสัยของจิตที่บ่มเพาะ สั่งสอน และชี้แนะได้! พวกเราหลายคนมักทึกทักเอาเองว่า บางคนมีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถเชิงนวัตกรรมมาตั้งแต่เกิด ขณะที่บางคนไม่มี แต่ผู้เชี่ยวชาญทุกคนในเล่มนี้มีความเชื่อร่วมกันว่า คนส่วนใหญ่สามารถมีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถเชิงนวัตกรรมมากขึ้นได้ ถ้าหากมีสภาพแวดล้อมและโอกาสที่เหมาะสม
เราจะพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็นนวัตกรได้อย่างไร
ขีดความสามารถในการคิดสร้างสรรค์เป็นผลลัพธ์จากความสัมพันธ์ของสามสิ่ง ได้แก่ ความถนัด ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ และแรงจูงใจ ผู้เขียนนำแผนภูมิที่ ดร.เทเรซา อมาบิล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่วิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ด เคยนำเสนอมาช่วยทำความเข้าใจองค์ประกอบจำเป็นของนวัตกรรม โดยแทนที่ความคิดสร้างสรรค์ด้วยคำว่า “นวัตกรรม” แผนภูมินี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการทำความเข้าใจวิธีพัฒนาขีดความสามารถของนวัตกรรุ่นใหม่ได้ดี
ความถนัด คุณไม่สามารถสร้างนวัตกรรมจากศูนย์ได้ คุณต้องมีความถนัด หรือความรู้ แม้ว่าคำถามสำคัญที่เราจะพิจารณากันต่อไปคือ ต้องมีความรู้แค่ไหน ต้องใช้ความรู้เมื่อไร และหาความรู้อย่างไรจึงจะดีที่สุด
ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างนวัตกรรมแท้จริง คุณยังต้องอาศัยสิ่งที่อมาบิลเรียกว่า “ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์” หรือทักษะของนวัตกรที่หนังสือเล่มนี้อธิบายไว้ มันคือสิ่งที่ทำให้คุณถามคำถามที่เหมาะสม สร้างเครือข่าย สังเกต เห็นอกเห็นใจ ร่วมมือ และทดลอง
ท้ายสุดที่คุณต้องมีคือ แรงจูงใจ ซึ่งสำคัญกว่าความถนัดหรือทักษะมาก
อมาบิลอธิบายว่า ความถนัดและการคิดเชิงสร้างสรรค์เป็นวัตถุดิบเฉพาะบุคคล เรียกว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติของแต่ละคนก็ได้ แต่ปัจจัยที่สามหรือแรงจูงใจนี้ เป็นตัวกำหนดสิ่งที่คนเราจะทำจริงๆ
แรงจูงใจแต่ละรูปแบบส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ไม่เหมือนกัน แรงจูงใจมีด้วยกันสองประเภท คือ ภายนอกและภายใน แรงจูงใจภายในจำเป็นต่อความคิดสร้างสรรค์มากกว่าแรงจูงใจภายนอกอยู่มาก แรงจูงใจภายนอกมาจากนอกตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นรางวัลหรือการลงโทษ
ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้านายของนักวิทยาศาสตร์สัญญาว่าจะให้เงินเป็นรางวัลหากเขา/เธอทำโครงการเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดสำเร็จ หรือถ้าเจ้านายขู่ว่าจะไล่ออกหากโครงการล้มเหลว เขา/เธอจะมีแรงจูงใจที่จะหาทางออก เงินไม่ได้ทำให้คนเลิกคิดสร้างสรรค์เสมอไป แต่ในหลายสถานการณ์ เงินก็ไม่ช่วยอะไรเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเงินทำให้คนรู้สึกว่าโดนติดสินบนหรือโดนบงการ ที่สำคัญกว่านั้น ตัวเงินเองไม่สามารถทำให้ลูกจ้างหลงใหลในงานของพวกเขาได้
แต่ความหลงใหลและความสนใจ หรือความปรารถนาจากข้างในตัวเราที่จะทำบางอย่าง คือสิ่งที่เป็นแรงจูงใจภายใน ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์จะมีแรงจูงใจภายในถ้างานคิดค้นยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวนั้นเกิดจากความสนใจแรงกล้าเกี่ยวกับภาวะเลือดออกง่าย ความท้าทายส่วนตัว หรือแรงผลักดันที่จะแก้ปัญหาที่ยังไม่เคยมีใครทำได้…
คนเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ที่สุดเมื่อมีแรงจูงใจจากความสนใจ ความพอใจ และความท้าทายจากตัวงานเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่แรงกดดันจากภายนอก
— เทเรซา อมาบิล
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่วิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ด
3 องค์ประกอบสำคัญสร้างแรงจูงใจภายใน ได้แก่
- การเล่น
- ความหลงใหล
- เป้าหมาย
ถ้าเราเห็นตรงกันว่า การพัฒนาขีดความสามารถของเด็กและเยาวชนอีกมหาศาลให้เป็นนวัตกรเป็นเรื่องจำเป็น และเห็นตรงกันว่าคุณสมบัติหลายประการของนวัตกรเป็นเรื่องที่ปลูกฝังและเรียนรู้ได้ คำถามในตอนนี้จะเป็นว่า เราจะทำอย่างไร และจะเริ่มตรงไหนดีในฐานะผู้ปกครอง ครู ที่ปรึกษา และนายจ้าง
พัฒนาความหลงใหลให้เป็นเป้าหมาย
แดเนียล พิงก์ ผู้เขียนหนังสือ Drive เขียนถึงความสำคัญของความรู้สึกเป็นอิสระ ความเชี่ยวชาญ และเป้าหมาย ในฐานะแรงจูงใจที่จำเป็นของมนุษย์ เขากังขาคำว่า ความหลงใหล เพราะมันแสดงถึงความชั่วครู่ชั่วยามหรือขับเคลื่อนด้วยอารมณ์
ความหลงใหลอย่างเดียวล้วนๆ ไม่พอที่จะรักษาแรงจูงใจให้ทำเรื่องยากและเพียรพยายามได้ งานวิจัยของผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ในช่วงวัยรุ่น นวัตกรรุ่นใหม่มักหลงใหลที่จะเรียนรู้หรือทำอะไรบางอย่าง แต่ความหลงใหลของพวกเขาวิวัฒน์ขึ้นจากการเรียนรู้และสำรวจจนกลายเป็นบางอย่างที่ลึกซึ้งขึ้น ยั่งยืนขึ้น และน่าเชื่อถือ หรือก็คือเป้าหมายนั่นเอง
เป้าหมายมีได้หลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ปรากฏบ่อยที่สุดในหนังสือเล่มนี้คือความปรารถนาที่จะ “สร้างความแตกต่าง” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งแอมะซอนต้องการ ‘สร้างประวัติศาสตร์’ สตีฟ จ็อบส์ต้องการ ‘ฝากรอยเท้าไว้ในจักรวาล’ ส่วนนิกลัส เซนสตร็อม ผู้ร่วมก่อตั้งสไกป์อยาก ‘ทำลายล้าง แต่เพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้น’ การอ้าแขนรับภารกิจเปลี่ยนแปลงโลกทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเยอะที่จะเสี่ยงและทำผิดพลาด
แน่นอนว่านวัตกรเหล่านี้ไม่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเองตามลำพัง หากได้รับความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง ครู และที่ปรึกษาตลอดทาง วิวัฒนาการสู่การเป็นนวัตกรของพวกเขาแทบทุกคนได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่อย่างน้อยหนึ่งคน และมักจะมากกว่านั้น
สิ่งที่ผู้ปกครอง ครู และที่ปรึกษาทำอาจช่วยเด็กๆ ได้มากจนคุณแปลกใจ ผู้ใหญ่แต่ละท่านเหล่านี้มักจะเดินไปบนเส้นทางของการเป็นผู้ปกครอง ครู ที่ปรึกษา ตลอดจนนายจ้างที่แตกต่างและแหวกแนวอย่างเงียบๆ พวกเขาแสดงออกอย่างแตกต่างเพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยสามารถคิดต่างได้

การเลี้ยงดูที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
คุณเรียนอะไรมันไม่สำคัญขนาดนั้นหรอกครับ การรู้ว่าจะหาสิ่งที่คุณสนใจเจอได้อย่างไรต่างหากที่สำคัญกว่า สำคัญกว่ามาก ผมมีแรงกระตุ้นนี้ และหลักคิดก็คือ หาโอกาสน่าสนใจรอบๆ ตัวให้เจอ และใช้โอกาสนั้นพาคุณไปยังจุดหมายต่อไป
— เคิร์ก เฟลป์ส
วิศวกรผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไอโฟนรุ่นแรก
คอร์ดและลีอา เฟลป์ส พ่อแม่ของเคิร์กมองว่าการเล่นเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัยเด็ก ทั้งคู่กำหนดโครงสร้างและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนให้ลูกเยอะมากเรื่องเวลาอ่านหนังสือ เวลาหน้าจอ ไปจนถึงเวลานอน แต่พวกเขากลับยืนกรานให้ลูกใช้เวลาเล่นและมีอิสระที่จะค้นพบ สำรวจ และทดลองด้วยตัวเอง และถึงจะยืนยันให้ลูกอ่านหนังสือวันละหนึ่งชั่วโมง แต่ลูกๆ ก็ได้เลือกเองว่าจะอ่านเล่มไหน ตราบใดที่ไม่ใช่หนังสือเรียน
สมัยยังเด็ก เคิร์กได้รับการส่งเสริมให้สำรวจและค้นพบโลกกว้าง รวมถึงสิ่งที่เขาสนใจที่สุดด้วย “การเล่น” ระหว่างนั้น เขาบ่มเพาะ “ความหลงใหล” วิทยาศาสตร์และการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ของเคิร์กไม่ได้ทึกทักว่าวันหนึ่งเขาจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร และไม่ได้จ้ำจี้จ้ำไชให้ลูกมุ่งไปเป็นอาชีพนั้นอย่างที่ผู้ปกครองของเด็กเก่งหลายคนชอบทำ
พ่อแม่ของเคิร์กสนับสนุนให้เขาสำรวจ เคิร์กพูดถึงพ่อแม่ว่า “ไม่ได้ใส่ใจมากหรอกว่าผมสนใจ ‘อะไร’ สิ่งที่พ่อแม่สนใจมากกว่าคือ ‘กระบวนการ’ ที่ผมใช้หาคำตอบว่าสนใจอะไร”
Parents do’s and don’ts
สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำ
- หาของเล่นส่งเสริมจินตนาการและการประดิษฐ์คิดค้นให้เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องเยอะชิ้น จำไว้ว่าบางครั้งของเล่นที่ดีที่สุดก็เรียบง่ายมากๆ สิ่งสำคัญคือจินตนาการของพวกเขา
- จำกัดการใช้เวลาหน้าจอ ทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
- วางบุฟเฟต์ (สิ่งที่เด็กๆ น่าจะสนใจ) หลากหลายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ไว้ตรงหน้าเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาลองดูว่าตัวเองสนใจอะไร แล้วจากนั้นก็ปรับจากสิ่งที่สังเกตเห็น
- ไม่จัดตารางกิจกรรมให้เด็กๆ มากหรือแน่นเกินไป ต้องให้เขามีเวลาอิสระที่จะเล่นและค้นพบ และพยายามหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับพวกเขา
- สนับสนุนให้เด็กๆ ทำตามสิ่งที่ตัวเองหลงใหลโดยไม่ห่วงว่าเขาจะทำงานอะไรในอนาคต นับเป็นการพัฒนาแรงจูงใจภายในของเด็กๆ
- ปล่อยให้เด็กๆ ตัดสินใจเรื่องใหญ่เองตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเขา
- เชื่อในความสำคัญของการให้เด็กๆ ทำตามความฝัน ทั้งยังยินยอม หรือกระทั่งส่งเสริม ให้เด็กๆ กล้าได้กล้าเสียเรื่องงานและเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก สอนพวกเขาว่าลองเสี่ยงและล้มได้ ไม่เป็นไร และสำคัญที่สุดคือให้เพียรพยายาม
- ให้เกียรติเด็กๆ และรู้จักฟัง แต่ไม่ใช่ให้อิสระเกินไป พยายามรักษาสมดุลระหว่างความเชื่อฟังและความคิดสร้างสรรค์ เพราะถ้าสอนให้เชื่อฟังมากเข้า จะฆ่าแรงผลักดันเชิงสร้างสรรค์ของเขาได้ พูดง่ายๆ คือสอนเด็กๆ ให้เข้มแข็ง แต่มอบเส้นทางให้พวกเขาฝ่าออกไปได้ด้วย
- หากเด็กรักชอบศิลปะ ก็ให้ทำในสิ่งที่หลงใหลได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต อาจตกลงกันทั้งสองฝ่ายว่าเขาต้องรับผิดชอบอะไรเพิ่มเติมบ้าง
- สอนให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ และพอใจในสิ่งที่เป็น ไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันรอบตัว
สิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรทำ
- ตามใจเด็กๆ ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการซื้อของเล่น หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- ฝังหัวเด็กด้วยความเชื่อว่าอาชีพในสาขาสะเต็ม (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) เป็นหนทางดีที่สุดหากต้องการมีอนาคตรุ่งเรือง
- ตัดสินใจอนาคตการเรียนต่อแทนเด็กๆ เนื่องจากมีประสบการณ์ชีวิตมาก่อน
- มองความฝันของเด็กๆ ที่อาจไม่อยู่ในกระแสหลักว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือน่าขบขัน บอกให้เขาหันมามองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น จะได้ไม่ต้องเสียเวลากับความคิดไม่ได้เรื่องแบบนั้น
- หากเด็กชอบศิลปะ อย่ารีบด่วนสรุปว่าเป็นศิลปินไส้แห้ง หรือทำศิลปะไปก็หาเลี้ยงชีพไม่ได้
- ห้ามไม่ให้เด็กๆ ทำอะไรก็ตามที่มีความเสี่ยงหรืออันตราย ความห่วงใยเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่ให้พวกเขาพบเจอประสบการณ์แบบนี้เลย เมื่อสักวันต้องเจอเข้าจริงๆ พวกเขาอาจตั้งรับไม่ทัน
ความท้าทายในการเลี้ยงดูนวัตกร
มีคำแนะนำฉบับรวบรัดสองข้อสำหรับผู้ปกครอง หนึ่ง ไว้ใจตัวเองในฐานะคนเป็นพ่อแม่ ทั้งสัญชาตญาณ การตัดสินใจ และค่านิยมของตัวเอง และ สอง ไว้ใจลูก ทั้งความสนใจและความสามารถเฉพาะตัวของเขา ความกระหายที่จะเรียนรู้และสร้างสรรค์ และแรงขับภายในเพื่อทำให้เต็มศักยภาพ
ผู้ปกครองควรทบทวนอำนาจหน้าที่ของตัวเองในฐานะผู้ปกครองด้วย นี่ไม่ใช่โลกที่ “พ่อ/แม่รู้ดีที่สุด” อีกต่อไปแล้ว จะตั้งข้อจำกัดอะไรบ้าง เมื่อไรจะห้ามหรือปล่อยให้ลูกตัดสินใจ เมื่อไรปกป้องหรือปล่อยวาง เมื่อไรจะเคี่ยวเข็ญให้ลูกทำการบ้านหรือสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียน เมื่อไรควรเชื่อ “ปัญญา” ของลูกหรือ “การตัดสินใจที่ดีกว่า” ของตัวเองในฐานะผู้ใหญ่ ทั้งหมดนี้เป็นการตัดสินใจที่พ่อแม่ของนวัตกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จต้องเผชิญในแต่ละวัน

การเรียนการสอนที่สรรค์สร้างนวัตกร
ในศตวรรษที่ 21 นี้ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า สิ่งที่คุณรู้สำคัญไม่เท่ากับว่าคุณทำอะไรกับสิ่งที่รู้ได้บ้าง ความสนใจและความสามารถในการสร้างความรู้ใหม่เพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆ เป็นทักษะสำคัญที่สุดประการเดียวในปัจจุบันที่นักเรียนทุกคนควรฝึกให้เชี่ยวชาญ นวัตกรที่ประสบความสำเร็จทุกคนล้วนเชี่ยวชาญการเรียนรู้ “สิ่งที่อยู่ตรงหน้า” ด้วยตัวเอง และประยุกต์ใช้ความรู้นั้นด้วยวิธีใหม่ๆ
สภาพแวดล้อมการเรียนการสอนแบบไหนที่พัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของเด็ก วิธีไหนจะพัฒนา ความถนัด ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ และ แรงจูงใจ ได้ดีที่สุด
การเรียนเปลี่ยนชีวิต
- ไม่จำเป็นต้องเรียนจากตำราเสมอไป หลายครั้งการเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำ
- แนวทางการสอนแบบสหวิทยาการ เน้นโครงงานและการร่วมมือกัน มีผลอย่างลึกซึ้งต่อพัฒนาการของเด็ก
- วิชาที่เน้นโครงงาน ซึ่งเปิดโอกาสให้ลงมือทำ การทำงานข้ามสาขาวิชา มีการทำงานเป็นทีม และสนับสนุนให้กล้าเสี่ยง
- การมีโอกาสได้ร่วมมือกับคนอื่นสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงเป็นส่วนที่น่าตื่นเต้นและสร้างแรงจูงใจได้มากที่สุด
การศึกษาแบบไหนที่ตอบโจทย์
เมื่อคนพูดถึงการสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยด้วยนวัตกรรมมากขึ้น พวกเขามักจะโต้แย้งให้จัดสรรการศึกษาให้มากขึ้นสำหรับนักเรียนทุกคน แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พบคือ แค่ให้การศึกษานักเรียนมากขึ้นแต่เป็นรูปแบบเดิมๆ ไม่อาจสร้างนักเรียนที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้
นักเรียนที่จะเป็นนวัตกรในยุคนี้ได้จะต้องมีการศึกษาที่ แตกต่าง ไม่ใช่แค่มีการศึกษาที่ มากขึ้น เท่านั้น
วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ควรสร้าง ได้แก่
- การร่วมมือ
- การเรียนรู้พหุวิทยาการ
- ความกล้าเสี่ยงอย่างรอบคอบ และการลองผิดลองถูก
- การสร้างสรรค์
- แรงจูงใจภายใน: การเล่น ความหลงใหล และเป้าหมาย
ชั้นเรียนควรเห็นคุณค่าของความสำเร็จทั้งแบบบุคคลและแบบกลุ่ม เช่นเดียวกับการเรียนเฉพาะทางกับการเรียนพหุวิทยาการ คุณต้อง “เสพ” ข้อมูลบ่อยๆ ก่อนจึงจะสร้างสรรค์ได้ และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงกับการกล้าลองเสี่ยงสามารถเป็นการกระทำที่รอบคอบได้ทั้งคู่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ประเด็นสำคัญคือ การศึกษาเพื่อนวัตกรรมต้องสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ และต้องปลูกฝังขีดความสามารถด้านการร่วมมือ การแสวงความรู้พหุวิทยาการ การลองผิดลองถูก และการสร้างสรรค์แนวคิด ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ ยังต้องรวมถึงแรงจูงใจภายในของทั้งการเล่น ความหลงใหล และเป้าหมายของการเรียนรู้ด้วย
Q: ปัญหาในปัจจุบันซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ได้ด้วยเครื่องมือทางปัญญาจากเพียงสาขาวิชาเดียว แต่มีบัณฑิตน้อยคนที่มีประสบการณ์วิเคราะห์ปัญหาจากมุมมองแบบสหวิทยาการ ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว แต่ควรปรับแบบไหน และอย่างไร
ทุกวันนี้ มูลค่าเพิ่มที่แท้จริงอยู่ที่ว่า คุณ ทำ อะไรกับสิ่งที่คุณรู้ได้บ้าง และเมื่อได้ ลงมือทำ เมื่อนั้นเองที่การเรียนรู้แท้จริงเกิดขึ้น … ตอนนี้เราเตรียมความพร้อมให้นักเรียนแบบเฉพาะทางมาก แต่เมื่อจะประยุกต์ใช้ความรู้กับขอบเขตปัญหา พวกเขาต้องคิดและเห็นภาพกว้างกว่านี้อีกเยอะ
— พอล บอตติโน
ศูนย์เทคโนโลยีและความเป็นผู้ประกอบการ
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
Q: มหาวิทยาลัยต้องทำอะไรเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาที่สนใจเข้าทำงานในบริษัทที่มีนวัตกรรมได้ดีขึ้น
เราต้องลบเส้นแบ่งระหว่างวิชาต่างๆ ออกไป แนวทางการเรียนรู้แบบสหวิทยาการจะช่วยให้พวกเขาเตรียมตัวรับมือปัญหาที่ต้องเผชิญได้ดีกว่า นักศึกษายังต้องมีประสบการณ์การแก้ปัญหาแบบเป็นกลุ่มให้มากกว่านี้ด้วย
— จูดี กิลเบิร์ต
ผู้อำนวยการฝ่ายคัดสรรบุคลากร บริษัทกูเกิล
Q: ครูผู้สอนควรปรับบทบาทของตัวเองแค่ไหน อย่างไร
ผู้สอนอาจต้องคิดถึงตัวเองและบทบาทของตัวเองเสียใหม่ การ “ยืนพูดคนเดียวในห้อง” จะเป็นปัญหาเมื่อพยายามกระตุ้นแรงจูงใจภายในและส่งเสริมให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง และเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้อยู่หน้าฉาก” ไปเป็น “คนยืนหลังฉาก” การเลิกควบคุมเป็นประเด็นใหญ่สำหรับครูหลายคนที่คุ้นเคยกับวิธีเดิมๆ

ที่ทำงานสร้างสรรค์
ความไม่กระตือรือร้นที่จะทำงานในบริษัทใหญ่เป็นเรื่องปกติของคนรุ่นมิลเลนเนียล และมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สำหรับบริษัทต่างๆ การดึงดูดและรักษาคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมสูงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบริษัทที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ
ความท้าทายที่ผู้นำองค์กรต้องเผชิญในการดึงดูดนวัตกรรุ่นใหม่และพัฒนาขีดความสามารถเชิงสร้างสรรค์ของพวกเขามีอะไรบ้าง หรือพูดอีกอย่างก็คือ วิธีบริหารจัดการใดที่อาจต้องเปลี่ยนเพื่อให้นวัตกรรุ่นใหม่เติบโตในบริษัท
สภาพแวดล้อมของบริษัทกับสภาพแวดล้อมที่นวัตกรต้องการเพื่อเติบโตมักจะขัดแย้งกัน บริษัททั่วไปกังวลเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน แต่กระบวนการของนวัตกรรมไม่ได้เป็นเส้นตรง และไม่น่าจะให้ผลตอบแทนระยะสั้น สตีฟ จ็อบส์ทราบเรื่องนี้ดี ดังนั้นตัวเขาเอง รวมถึงผู้นำบริษัทที่ฉลาดคนอื่นๆ จึงสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนวัตกรรมขึ้นในบริษัท
— เอลเลน คูมาตา
บริษัทที่ปรึกษาแคมเบรีย
เอลเลน คูมาตา มีประสบการณ์ฝึกอบรมผู้บริหารมานักต่อนัก เธอเป็นนักสังเกตตัวยงว่าผู้นำแบบไหนที่สร้างและไม่สร้างนวัตกรรม เธอเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทแอปเปิลช่วงทศวรรษ 1980 และเห็นว่าสตีฟ จ็อบส์มีรูปแบบการจัดตั้งบริษัทค่อนข้างแตกต่างจากบริษัทส่วนใหญ่
“เราต้องการคนที่คิดนอกกรอบ มองอนาคตในมุมที่แตกต่าง แต่องค์กรต่างๆ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับวิธีคิดเช่นนี้ ธุรกิจต่างๆ พยายามจ้างบุคลากรที่มีความสามารถตามที่ต้องการ แต่คนที่มีความคิดสร้างสรรค์จำนวนมากลังเลที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรใหญ่ ดังนั้น องค์กรใหญ่ๆ จึงมักจะไม่ได้คนที่เก่งที่สุด”
การบริหารจัดการแบบ “อุตสาหกรรม” จึงใช้ไม่ได้ผลในโลกที่ต้องอาศัยนวัตกรรมอยู่เสมอ
“ความคิดว่าคุณสามารถบริหารจัดการและจัดตั้งบริษัทในรูปแบบการดำเนินงานแบบตะวันตกนั้นมาจากตรรกะแบบเป็นเหตุเป็นผลและเป็นเส้นตรง แต่ตรรกะแบบนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว ทุกวันนี้กระบวนการพัฒนางานและนวัตกรรมนั้นไม่ต่อเนื่องและกระโดดไปกระโดดมา” เอลเลนกล่าว
ในอดีต องค์กรหนึ่งสำเร็จได้จากการทำงานเชิงเส้นตรง (ก้าวหน้าอย่างมั่นคงตามระยะเวลา) ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน บริษัทต่างๆ แข่งขันกันด้วยโมเดลธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ถ้าอยู่ในเมืองบังกาลอร์ อินเดีย คุณสามารถซื้อโทรศัพท์มือถือได้ในราคาหนึ่งเหรียญสหรัฐ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทที-โมไบล์ที่พยายามขายโทรศัพท์ในราคา 250 เหรียญ หรือบีเอ็มดับเบิลยูที่ขายรถราคา 40,000 เหรียญ ขณะที่ยี่ห้อทาทาผลิตรถขายในราคา 2,500 เหรียญ
ความท้าทายทางธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่มีแนวทางแก้ไขแบบไม่ใช่เชิงเส้นตรง และไม่สามารถแก้ได้ด้วยเครื่องมือแบบดั้งเดิมที่เราใช้กับธุรกิจในอดีต จึงเกิดคำถามว่า จะสอน จ้างงาน และตอบแทนวิธีคิดที่ยืดหยุ่น สร้างสรรค์ และไม่เป็นเชิงเส้นตรงที่จำเป็นต่อบริษัทได้อย่างไร
นวัตกรรมสร้างได้ในที่ทำงาน
นวัตกรรมต้องการการเปลี่ยนแปลงองค์กรจากระบบที่เน้นการขับเคลื่อนสู่ประสิทธิภาพต่อขนาดใหญ่ ไปเป็นการขับเคลื่อนสู่ความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานของพนักงานให้มากขึ้น
นี่ไม่ใช่ยุคที่คนคอยผลักชิ้นส่วนเข้าระบบแล้ว แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่เกิดจากการสร้างสรรค์และร่วมมือกันต่างหาก
— แอนมารี นีล
บริษัทซิสโกซิสเต็มส์
คุณต้องออกแบบธุรกิจตามคนที่ทำงานให้คุณ มากกว่าจะออกแบบตามระบบที่คุณใช้
— แบรด แอนเดอร์สัน
อดีตซีอีโอบริษัทเบสต์บาย
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ บริษัทเบสต์บาย ร้านค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวทางการบริหารจัดการที่แตกต่างสามารถปลดปล่อยพลังของพนักงานให้เป็นนวัตกรได้อย่างไร
“เป้าหมายของคุณคือทำงานระดับปฏิบัติการให้ง่ายขึ้นเพื่อลดจำนวนตัวแปร ตอนนี้เรามีโอกาสพิเศษโอกาสเดียวที่จะปรับที่ทำงานของเราใหม่และเพิ่มความสามารถในการผลิตอย่างมหาศาล” แบรด แอนเดอร์สันกล่าว เขาดำรงตำแหน่งซีอีโอของเบสต์บายระหว่างปี 2002-2009 โดยไต่เต้าจากการเป็นพนักงานขาย เขาอธิบายว่าพยายามใช้ความสามารถของพนักงานรุ่นใหม่ในการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจอย่างไรบ้าง
“เครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ ทำให้คุณสามารถมีส่วนร่วมกับคนที่ทำงานให้คุณได้ลึกซึ้งกว่าเดิมมาก ตอนนี้พนักงานระดับสายงานที่เบสต์บายเข้าถึงความรู้แบบเดียวกับซีอีโอได้ แต่พวกเขายังเข้าถึงความรู้ได้มากกว่าซีอีโอด้วย เพราะติดต่อกับลูกค้าโดยตรง และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้คุณต้องหาการบุกเบิกใหม่ๆ ที่ใช้แข่งขันได้ ดังนั้น คุณจึงสามารถและต้องมีส่วนร่วมกับพนักงานในทางที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่บอกว่าต้องการให้เขารับมือลูกค้าอย่างไร”
พนักงานส่วนใหญ่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่เป็นประโยชน์ต่อที่ทำงาน แต่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมและผู้นำที่เหมาะสม นอกจากนี้ เครื่องมือ “หาจุดแข็ง” ที่เบสต์บายใช้เพื่อช่วยพนักงานค้นหาพรสวรรค์ของตัวเอง ยังเพิ่มประเภทของงานหน้าร้านอย่างมหาศาล
“มีคนที่รักการแก้ปัญหาเทคนิค คนที่ชอบอยู่หน้าร้านพูดคุยกับลูกค้า คนที่ชอบไปติดตั้งอุปกรณ์ตามบ้านลูกค้า ทุกหน้าที่ต้องมีการแก้ปัญหา แต่ธรรมชาติของปัญหาและสภาพแวดล้อมในการทำงานแต่ละอย่างแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งพนักงานของคุณมีทักษะหลากหลายแค่ไหน คุณยิ่งหยิบยื่นให้ลูกค้าได้มากขึ้นเท่านั้น และในขณะเดียวกัน คุณยังทำให้พนักงานมีโอกาสทำสิ่งที่เขารักมากขึ้น คุณต้องใช้ความสามารถที่แอบแฝงอยู่ในที่ทำงานให้เป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันให้ได้ คุณจะไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจค้าปลีก แต่กลายเป็นบริษัทที่ทำงานบริการ”
ทุกคนควรเป็นนวัตกร!
ผู้เขียนเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถและต้องกลายเป็นนวัตกรได้ ไม่ใช่เฉพาะคนที่ทำงานให้บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้น และการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดโอกาสให้คุณเป็นนวัตกรที่ดีขึ้นเสมอไป
แลร์รี แคตซ์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ The Race between Education and Technology เล่าว่า
“งานที่มีมูลค่าเพิ่ม [หรือมีนวัตกรรม] มาจากสองแหล่ง คือ หนึ่ง การวิเคราะห์ระดับสูงและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ และ สอง อะไรก็ตามที่อาศัยความเห็นอกเห็นใจ งานมือค่าแรงต่ำที่ใช้คนทำ ตั้งแต่งานตัดผมจนขับรถแท็กซี่หรือการเลี้ยงเด็ก งานดั้งเดิมที่จำเจของชนชั้นกลางกลายเป็นงานโภคภัณฑ์ที่แทนที่ได้ด้วยเครื่องจักรหรือแรงงานในต่างประเทศ แต่มีหลายอย่างที่มีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่มที่ทำได้ด้วย ‘คนตัวเป็นๆ’ ”
ตัวอย่างเช่น คุณจะบริหารบ้านพักคนชราด้วยการจ้างพนักงานแบบคนทำงานห้างค้าปลีกที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำก็ได้ ซึ่งหลักๆ ก็คงปล่อยให้คนแก่นอนเฉยๆ บนเตียง หรือจะจ้างพนักงานที่ผ่านการอบรมมาอย่างดี (และค่าตอบแทนสูงกว่ามาก) ซึ่งเข้าใจอาการอัลไซเมอร์สและวิธีทำให้ผู้อาวุโสมีชีวิตดีขึ้น งานเหล่านี้นับว่ามีนวัตกรรมมากพอๆ กับการออกแบบไอแพดรุ่นต่อไป
บ่อยครั้งที่ซีอีโอผู้มั่นใจเกินร้อยของบริษัทชั้นนำในแต่ละวงการของสหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จเพราะคิดว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองดีอยู่แล้ว บริษัทเหล่านั้นส่วนใหญ่ปิดกิจการไปแล้ว
นวัตกรรมบังคับให้มีการท้าทายทั้งสมมติฐานว่าอะไรจำเป็นหรือเป็นไปได้ รวมถึงผู้มีอำนาจที่คอยแก้ต่างให้สมมติฐานเหล่านั้นด้วย เช่นที่เซมยอน ดูคาช นวัตกร ผู้ประกอบการ นักลงทุนอิสระ และผู้ปกครองที่ประสบความสำเร็จกล่าวว่า “คุณไม่สามารถแยกนวัตกรรมออกจากการแข็งข้อได้” ถ้าคุณเป็นนวัตกร การปฏิบัติตามคำสั่งไม่ใช่ธรรมชาติของคุณ
เส้นทางนวัตกร: ปรับเปลี่ยนบทบาท ส่งเสริมอำนาจแบบใหม่
เราได้เห็นแล้วว่าการที่ครูของนวัตกรยอมทิ้งมาตรการการใช้อำนาจและการควบคุม จำเป็นต่อการเปลี่ยนบทบาทจาก “คนพูดหน้าห้อง” เป็น “คนอยู่หลังฉาก” ขนาดไหน ผู้ปกครองของนวัตกรก็สละอำนาจแบบโบราณด้วยเช่นกัน เพื่อให้ลูกมีพื้นที่สำรวจ ค้นพบ และทำผิดพลาด หรือแม้แต่ล้มเหลวด้วยตัวเอง เรายังได้เห็นว่าบริษัทที่มีนวัตกรรมหลายแห่งแบ่งปันข้อมูลกับพนักงานระดับสายงานและรับฟังความคิดเห็นของพนักงานกันอย่างไร
ผู้มีอำนาจยังคงสำคัญต่อนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ แต่ต้องไม่ใช่ผู้มีอำนาจประเภทที่มาพร้อมตำแหน่งหรือยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ต้องเป็นผู้มีอำนาจที่เชี่ยวชาญ และสามารถรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ สามารถตั้งคำถามที่ดี กำหนดค่านิยมที่ดี ช่วยให้แต่ละคนทำงานได้เต็มความสามารถ และสร้างวิสัยทัศน์และความรับผิดรับชอบร่วมเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ต้องเป็นผู้มีอำนาจที่เสริมสร้างพลังให้ทีมหาทางออกให้ปัญหาใหม่ๆ ได้ดีกว่าเดิม
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ปกครอง ครู ที่ปรึกษา หรือนายจ้างก็ตาม คุณต้องทบทวนแหล่งที่มาของอำนาจตัวเอง เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นเป็นนวัตกรได้
คำถามก็คือ พวกเราที่มีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่ง สามารถพัฒนาอำนาจแบบใหม่ซึ่งต้องสร้างขึ้นเองและต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นด้วยได้หรือไม่
สถาบันการศึกษาและสถานที่ทำงานของเราจะตระหนักถึงความสำคัญและส่งเสริมอำนาจแบบใหม่นี้หรือเปล่า
เราสามารถขยับจากระบบการรับผิดรับชอบที่ต้องเชื่อฟังคำสั่งจากบนลงล่างทั้งในโรงเรียนและบริษัทมาเป็นรูปแบบความรับผิดรับชอบแบบตัวต่อตัวมากขึ้น คือเท่าเทียมและมีความสัมพันธ์ต่อกันได้หรือไม่
และสุดท้าย เราพร้อมหรือยังที่จะไม่เพียงฝืนทน แต่ต้อนรับและเฉลิมฉลองการตั้งคำถาม การทำลายล้าง และแม้แต่การแข็งข้อที่มาพร้อมกับนวัตกรรม
การพัฒนาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จำเป็นอย่างมากต่อ “การสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก” และมีแนวโน้มจะเป็นตัวกำหนดระดับความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของทั้งประเทศและโลกเราในอนาคต