ทำความรู้จัก Design Thinking ในฐานะกระบวนการออกแบบนวัตกรรม

 

 

เรื่อง: เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล

 

ชวนมาทำความรู้จัก Design Thinking ในฐานะกระบวนการออกแบบนวัตกรรม และเรียนรู้วิธีใช้ Design Thinking ในการแก้ปัญหา

“กระบวนการ Design Thinking” หรือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ เป็นกระบวนการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่ง Design Thinking ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่ใช้กันมานานในสายงานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือในสายงานสถาปัตย์

Design Thinking มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในธุรกิจทุกวันนี้ เพราะถูกนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ

จริงๆ แล้ววิธีเรียนรู้ Design Thinking ที่ดีที่สุดคือ การทดลองนำ Design Thinking ไปใช้ในการทำงาน แต่หากจะให้สรุปแนวคิดหลักๆ ของ Design Thinking สามารถสรุปได้เป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่

(1) การเข้าใจปัญหาให้ถูกต้อง

(2) การคิดแบบไม่มีกรอบ

(3) การเรียนรู้ผ่านการทดลองลงมือทำ

 

STEP 1: เข้าใจปัญหาให้ถูกต้อง (Understand)

 

ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีบทบาทมากต่อการกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหา การเข้าใจปัญหาและตั้งคำถามที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงประเด็น

จริงๆ แล้ว Design Thinking มีชื่อเรียกอีกชื่อคือ “Human-Centered Design” หรือการออกแบบโดยยึด “คน” ที่เราต้องการจะแก้ปัญหาให้เป็นศูนย์กลาง

 

ที่มา: https://dscience.com/use-human-centered-design-get-jump-usability/

 

หากเราเป็น “ครู” ที่ต้องการพัฒนาการเรียนการสอนของตัวเอง สิ่งแรกที่ควรทำคือเข้าใจ “นักเรียน” … หากเราเป็น “หมอ” หรือ “พยาบาล” ที่ต้องการสร้างสรรค์บริการที่ดี ก็ต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจว่า “คนไข้” ต้องการอะไร … หากเราจะทำธุรกิจใด ก็ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ “ลูกค้า”

การที่ผู้เขียนได้ทำงานกับบริษัทและ SMEs ทำให้รู้ว่าการทำความเข้าใจ “ลูกค้า” เป็นเรื่องที่หลายองค์กรมองข้าม มีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่พัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ออกมามากมาย แต่ “หาที่ขายไม่ได้” เพราะการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ นั้นเกิดจาก “สมมติฐาน” ไม่ได้เกิดจาก “ความต้องการที่แท้จริง” ของลูกค้า

 

STEP 2: คิดแบบไม่มีกรอบ (Brainstorm)

 

แม้เราจะเข้าใจปัญหาอย่างถูกต้องแล้ว อีกอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เกิดคือ กรอบความคิดของเรา

บางครั้งไอเดียใหม่ๆ คือไอเดียที่แปลกหูแปลกตา ทว่าแม้จะสร้างสรรค์ แต่ความแปลกใหม่นั้นมักมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะถูก “โยนทิ้ง” หลังประเมิน

กระบวนการ Design Thinking เน้นให้แยกกระบวนการสร้างสรรค์ไอเดีย (Idea Generation) ออกจากการประเมินไอเดีย (Idea Evaluation) นั่นคือ ให้คิดไอเดียออกมาเยอะๆ ก่อน แล้วค่อยประเมินว่าไอเดียไหนเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร

 

บ่อยครั้งเราคิดพลางประเมินไปด้วย ซึ่งมักทำให้ไอเดียใหม่ๆ ที่ “แปลก” แต่ “มีแวว” ไม่มีโอกาสได้เกิด

 

STEP 3: เรียนรู้ผ่านการทดลองลงมือทำ (Prototype)

 

แม้ว่าจะได้ไอเดียดีๆ มากมาย บ่อยครั้งเราเพียงแค่ “คิด” แต่ไม่ “ลงมือทำ”

เสน่ห์สำคัญอีกข้อของกระบวนการ Design Thinking คือการเปลี่ยนไอเดียดีๆ ให้ “เป็นรูปเป็นร่าง” ด้วยการสร้างต้นแบบหรือแบบจำลองง่ายๆ ที่สื่อสารแนวคิด

การสร้างต้นแบบคือการลงมือทำที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่าไอเดียที่เราคิดนั้นจะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอย่างที่เราเข้าใจหรือไม่ หากเข้าใจผิดจะได้รีบแก้ไข … ก่อนจะลงทุนลงแรงไปมากเกินกว่าจะถอยกลับ

กระบวนการ Design Thinking ไม่ใช่ศาสตร์ที่ซับซ้อน และสามารถนำมาปรับใช้ได้ในหลากหลายบริบท เช่น

  • Design Thinking ในการออกแบบผลิตภัณฑ์: การศึกษาลักษณะนิสัยและชีวิตประจำวันของลูกค้าทำให้เราออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมตามวิธีใช้และข้อจำกัดต่างๆ
  • Design Thinking ในการออกแบบบริการ: เช่นเดียวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบประสบการณ์ยามได้รับบริการก็จำเป็นต้องเกิดจากความเข้าใจว่าแท้จริงแล้วลูกค้าต้องการอะไร … ธุรกิจบริการเช่น ธนาคาร โรงพยาบาล หรือแวดวงการบิน ต่างนำ Design Thinking ไปใช้อย่างแพร่หลาย
  • Design Thinking ในการพัฒนาสังคม: องค์กรประชาสังคมมากมายนำ Design Thinking ไปใช้ออกแบบวิธีแก้ปัญหาสังคม ซึ่งผู้เขียนและเพื่อนๆ เองได้ทดลองนำกระบวนการนี้มาพัฒนาการเรียนการสอนของครูและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนด้วย
  • Design Thinking กับการใช้ชีวิต: เราสามารถประยุกต์ใช้ Design Thinking กับตัวเอง … สถาบัน Stanford d. school แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นำ Design Thinking มาปรับใช้กับการ “ออกแบบชีวิต” ผ่านวิชา Design Happiness (ออกแบบความสุข) และกลั่นกรองประสบการณ์ออกมาเป็นหนังสือ Designing Your Life: คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking

กล่าวโดยสรุป กระบวนการ Design Thinking คือการปรับเปลี่ยนมุมมอง พิจารณา “ปัญหา” และเปลี่ยนให้เป็น “โอกาส” ในการแก้ปัญหานั่นเอง

 

เผยแพร่ครั้งแรก: หน้า HR & Management | หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ | วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2558

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:

เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล จบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นนักเรียนนำสอนกระบวนการ Design Thinking (D.Leader) ที่ Stanford d.school และเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่แนะนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาสู่เมืองไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้แปลหนังสือ Designing Your Life: คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking

 

 

 

 

 

 

 

 

Designing Your Life

คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking

ผู้เขียน : Bill Burnett และ Dave Evans

ผู้แปล : เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล

พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2561

ราคา : 295 บาท