หลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจ “หลักการที่ 3: อิสระภายในกรอบ”

ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง
นุชชา ประพิณ ภาพ

 

“ชาติที่มีการศึกษาไม่อาจสร้างขึ้นด้วยกำลัง”

ดร.วิลโฮ ฮิรวิ (Vilho Hirvi) ผู้นำคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (National Board of Education) กล่าวประโยคข้างต้นกับข้าราชการในฟินแลนด์ที่กำลังหวั่นวิตกว่ากลัวจะสูญเสียอำนาจควบคุม หลังจากรัฐประกาศนโยบายปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่

กล่าวคือ การใช้อำนาจกำกับควบคุมโรงเรียน หลักสูตร เด็กนักเรียน และโดยเฉพาะครูนั้นไม่มีทางให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้

 

ผลการศึกษาชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อครูรู้สึกว่าการสอนเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องว่ามีพื้นฐานความรู้เฉพาะทาง มีแนวปฏิบัติเป็นมาตรฐานร่วมกัน มีกระบวนการฝึกฝนขั้นต้นอันเข้มงวด และมีอำนาจพิจารณาหรือตัดสินใจเกี่ยวกับงานของตนได้ตามหลักวิชา ครูก็มีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่ามักให้เวลานอกชั้นเรียนแก่ครูมากกว่า เพื่อให้ครูได้วางแผนและพัฒนาการสอนร่วมกันครูคนอื่นในโรงเรียน

ชวนอ่าน “หลักการที่ 3: อิสระภายในกรอบ” ซึ่งจะให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าครูและโรงเรียนในฟินแลนด์มีอิสรภาพในวิชาชีพมากแค่ไหน การกำหนดกรอบและประเมินแบบใดที่ไม่ล้นเกินจนกลายเป็นการควบคุม และการให้อิสรภาพแก่เด็กผ่านการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้นดีอย่างไร

 

หลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจ

หลักการที่ 3: อิสระภายในกรอบ

ภาพหนึ่งที่ตามติดเป็นเงาของการศึกษาคือการประเมินและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ไม่ว่าในรูปของการสอบวัดผลทุกเทอม (หรือกระทั่งมิดเทอม) การสอบวัดมาตรฐานระดับชาติประจำปี การประเมินครูที่ต้องทำเอกสารกันมากมายก่ายกอง

แต่ที่ฟินแลนด์ซึ่งไม่มีการสอบวัดผลเด็กและประเมินครูด้วยเอกสารนั้น ครูไม่ต้องกังวลเรื่องการบรรลุเกณฑ์มาตรฐาน เรื่องการทำการบ้านให้ครบถ้วน หรือเรื่องการเตรียมตัวเพื่อการสอบวัดระดับมาตรฐาน และเด็กก็ได้เรียนสิ่งที่ต้องเรียนและอยากเรียนจริงๆ ไม่ต้องนั่งคร่ำเคร่งกับการติวสอบหรือต้องอดเรียนวิชาที่ไม่มีสอบ

เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยคำว่า “ความเชื่อใจ” เพราะระบบที่ขับเคลื่อนการเรียนการสอนของฟินแลนด์นั้นต่างไปจากทั่วโลก นั่นคือพึ่งพาบทบาทของโรงเรียนในการสร้างเป้าหมายการเรียนรู้

พูดก็คือ ฟินแลนด์เชื่อใจการตัดสินใจของครูว่าควรสอนอะไรและเมื่อไร

แล้วในเมื่องานวิจัยด้านการศึกษามากมายชี้ว่า การให้อิสระพร้อมกับความเชื่อใจมีคุณูปการต่อทั้งสัมฤทธิผลของการเรียนรู้และการพัฒนาวิชาชีพ แล้วคนอื่นทั่วโลกไม่รู้เรื่องนี้หรือ? เปล่าเลย นักการศึกษารู้ ผู้กำหนดนโยบายรู้ ทุกคนรู้! แต่พอเอาเข้าจริง สิ่งไม่พึงประสงค์ที่พ่วงมากับอิสรภาพเพียงเล็กน้อยคือการประเมินและตรวจสอบอย่างละเอียด (ซึ่งหลายครั้งก็ไร้สาระ) จากภาครัฐ ดังที่ระบบการศึกษาทั่วโลกแสดงให้เห็น

การณ์จึงกลับกลายเป็นว่า ความเชื่อใจค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยความไม่ไว้วางใจและการจับผิด

 

อิสระของโรงเรียนในการออกแบบหลักสูตร

แม้จะมีสิ่งที่เรียกว่า “หลักสูตรแกนกลางระดับชาติ” แต่เพราะฟินแลนด์เชื่อใจการตัดสินใจของครูว่าควรสอนอะไรและเมื่อไร หลักสูตรแกนกลางจึงไม่ใช่การรวบอำนาจหรือควบคุม

แต่ละเขต (หรือเทศบาล) เป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายในการออกแบบหลักสูตร และคอยรับประกันว่านโยบายทางการศึกษาจะบังคับใช้และดำเนินการไปอย่างเหมาะสม เช่น ตามหลักสูตรแกนกลางต้องจัดการสอนภาษาต่างประเทศ การศึกษาพิเศษ สวัสดิการของนักเรียน และในหลายเขตอาจมีการเรียนการสอนสำหรับเด็กผู้อพยพ แต่ในทางปฏิบัติ แต่ละเขตจะมอบความรับผิดชอบนี้แก่โรงเรียน โดยสามารถออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่นได้

การให้โรงเรียนตัดสินใจเรื่องหลักสูตรเองนี้นำไปสู่การปฏิวัติสองด้าน คือ 1) เป็นการดึงให้โรงเรียนและครูหันมาคิดและลงมือหาสิ่งที่โรงเรียนของพวกเขาควรทำ กระบวนการนี้กลายเป็นรูปแบบที่มีความหมายมากที่สุดต่อการพัฒนาวิชาชีพและการพัฒนาโรงเรียน 2) เกิดการทดลองหนทางที่แตกต่างในการให้การศึกษาและเน้นความสามารถของครู มากกว่าจะสร้างรูปแบบมาตรฐานที่มุ่งให้ทำตามกันทั้งระบบ และหลักสูตรใหม่นี้เองที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อใจในบรรดาครูและผู้อำนวยการ รวมทั้งสถาปนาวัฒนธรรมที่ยังกำกับการทำงานของโรงเรียนมาจนทุกวันนี้

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หลักสูตรแกนกลางระดับชาติไม่ใช่กรอบที่ควบคุมโรงเรียนและครู แต่เป็นกรอบที่รับประกันสวัสดิภาพ ความเท่าเทียม และสิทธิของนักเรียนต่างหาก

 

อิสระของครูในการใช้เวลา

 

เมื่อครูจากทั่วโลกไปเยือนโรงเรียนในฟินแลนด์และได้ใช้เวลาสังเกตการณ์สัก 1-2 วัน สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ ครูมีเวลาทำสิ่งต่างๆ ในโรงเรียนนอกเหนือจากการสอน สิ่งนี้สะท้อนว่าครูมีอำนาจทางวิชาชีพสูง

ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อครูรู้สึกว่าการสอนเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องว่ามีพื้นฐานความรู้เฉพาะทาง มีแนวปฏิบัติเป็นมาตรฐานร่วมกัน มีกระบวนการฝึกฝนขั้นต้นอันเข้มงวด และมีอำนาจพิจารณาหรือตัดสินใจเกี่ยวกับงานของตนได้ตามหลักวิชา ครูก็มีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่ามักให้เวลานอกชั้นเรียนแก่ครูมากกว่า เพื่อให้ครูได้วางแผนและพัฒนาการสอนร่วมกันครูคนอื่นในโรงเรียน ครูที่ประสบความสำเร็จจะพึ่งพาความสัมพันธ์ทางวิชาชีพกับเพื่อนร่วมงานในโรงเรียนและในเครือข่ายเพื่อนร่วมอาชีพมากกว่าครูคนอื่น

อีกประเด็นน่าสนใจคือ “อัตราการคงอยู่ในอาชีพ” ของครูชาวฟินแลนด์ มีครูน้อยมากที่ลาออกเพราะผิดหวัง ถูกเลือกปฏิบัติ หรือได้รับค่าตอบแทนไม่เหมาะสม เหตุผลที่ครูลาออกส่วนใหญ่เป็นเพราะได้งานใหม่ในแวดวงการศึกษา เปลี่ยนไปทำงานในระดับอุดมศึกษา หรือเผชิญภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout)

การเตรียมสอน การทำงานศึกษาวิจัย การพัฒนาตัวเอง การร่วมมือกับเพื่อนครู และการทดลองหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากครูมีภาระงานสอนมากเกินไปจนไม่สามารถใช้เวลาอย่างเป็นอิสระได้

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เก็บข้อมูลพบว่าครูในฟินแลนด์ทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นภาระงานสอนในห้องเรียนอย่างมากที่สุดก็ 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กล่าวคือ ครูชาวฟินแลนด์มีเวลาสำหรับทำอย่างอื่นในโรงเรียนที่ไม่ใช่การสอนมากกว่าที่อื่นๆ ในโลก

 

อิสระของเด็กในการเลือกหัวข้อที่อยากรู้

 

ฟินแลนด์ไม่เพียงมอบอิสระและอำนาจตัดสินใจแก่ครู แต่เชื่อว่าห้องเรียนก็เป็นของเด็กด้วย

ฟินแลนด์ตัดสินใจเน้นการเรียนรู้ที่มีการบูรณาการและเป็นพหุวิทยาการตามหลักสูตรแกนกลางระดับชาติปี 2014 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เกรด 1-9) กำหนดให้นักเรียนแต่ละระดับชั้นมีโอกาสอย่างน้อยปีละครั้งที่จะได้เรียนรู้ผ่านชุดการเรียนรู้ผ่านสหวิทยาการ โดยกระตุ้นให้ครูชักจูงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ ครูชาวฟินแลนด์บางคนเรียกสิ่งนี้ว่า “การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน” (Phenomenon-Based Learning – PBL) ระบบการศึกษาฟินแลนด์มอบอิสระและอำนาจตัดสินใจให้แก่เด็กนักเรียนเช่นกัน กล่าวคือ ประเทศฟินแลนด์นำ “การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน” มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

ในชุดการเรียนสหวิชา เด็กจะแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ตั้งคำถามวิจัย พัฒนาคำถาม และสมมติฐาน จากนั้นก็ลงมือเก็บข้อมูล อาจมีการนำเสนองานอันหลากหลาย อย่างนักเรียนชายผมยาวคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องกีต้าร์โปร่งพบว่าขนาดของโพรงเสียงส่งผลต่อระดับเสียงของตัวโน้ต เด็กอีกคนทำเรื่องงานประดิษฐ์ที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตและได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งด้วย เด็กบางกลุ่มอาจสนใจประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องจิตวิทยามนุษย์ เพราะพวกเขาอยากหาคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุกราดยิงหรือการฆ่าตัวตายในโรงเรียน กรณีเช่นนี้ ครูจะขออนุญาตผู้ปกครองก่อนจะยอมให้เด็กๆ สัมภาษณ์นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน

การให้เด็กเป็นผู้ตัดสินใจเลือกหัวข้อและได้ขัดเกลาคำถามจะบ่มเพาะการคิดขั้นสูงซึ่งเป็นทักษะที่เราต่างหวังให้นักเรียนเป็น

 

อ่านบทความ “หลักการที่ 1: สอนครูให้คิด” ที่นี่

อ่านบทความ “หลักการที่ 2: บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป” ที่นี่

 

เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์
(In Teachers We Trust: The Finnish Way to World-Class School)
Pasi Sahlberg & Timothy D. Walker เขียน
ทศพล ศรีพุ่ม แปล
นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

อ่านตัวอย่างเนื้อหาและสั่งซื้อหนังสือที่นี่