หลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจ “หลักการที่ 1: สอนครูให้คิด”

ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง
นุชชา ประพิณ ภาพ

 

สปอตไลต์จากนักข่าว นักการศึกษา และอาจรวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วโลก ส่องไปยังฟินแลนด์ที่กลายเป็นดินแดนในฝันด้านการศึกษา ด้วยเหตุว่าฟินแลนด์ประสบความสำเร็จทั้งด้านสัมฤทธิผลในการเรียนและความเท่าเทียมเสมอภาค ถ้าจะมีที่ไหนสักแห่งซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่นั่นคือฟินแลนด์

ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา และทิโมธี วอล์กเกอร์ (Timothy Walker) ครูชาวอเมริกันผู้จวนหมดไฟเต็มแก่แต่ยังอยู่ในวิชาชีพได้เพราะย้ายไปฟินแลนด์ ได้เขียนหนังสือ เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ ขึ้นเพื่อให้คำตอบว่าด้วยเหตุผลกลใดที่นั่นจึงประสบความสำเร็จได้ พวกเขาอธิบายว่า…

ความลับที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์แห่งแสงเหนือทางการศึกษาของฟินแลนด์หาใช่เรื่องอัศจรรย์พันลึกอื่นใด นอกจาก “ความเชื่อใจ” (trust) ในตัวครู ในระบบการศึกษา ในโรงเรียน และในตัวเด็กๆ ของพวกเขา

เมื่อสืบสาวราวเรื่องลึกลงไปอีก ก็พบว่าความเชื่อใจนั้นสัมพันธ์กับวัฒนธรรม ขนบประเพณี และบุคลิกของชาวฟินแลนด์ แต่ที่น่าสนใจ (และดูเหมือนว่าเราจะเอาอย่างได้) คือรัฐได้เปลี่ยนวิกฤตเศรษฐกิจให้เป็นโอกาสแห่งการกระจายอำนาจ เมื่องบประมาณในคลังแห้งขอด อะไรที่ตัดได้ก็ต้องตัด ส่วนไหนไม่จำเป็นก็ต้องหั่นทิ้ง เหตุนี้เองระบบตรวจสอบจากภายนอกโรงเรียนจึงหายไปเพราะกลายเป็นภาระงบประมาณ

ความเชื่อใจในตัวครูของฟินแลนด์ไม่ได้มาเพราะฟ้าประทาน ไม่ใช่ว่าวันดีคืนดีรัฐก็กระจายอำนาจตัดสินใจแก่โรงเรียน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ผู้อำนวยการก็เชื่อใจให้คุณครูจัดการและออกแบบห้องเรียนด้วยตัวเอง

ทว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะการปฏิรูปการศึกษาฟินแลนด์ในช่วงทศวรรษ 1990 และส่งผลให้เกิดความเชื่อใจในตัวครูและโรงเรียนอย่างมั่นคงจนทุกวันนี้ โดยองค์ประกอบของการปฏิรูปได้แก่

  • หลักสูตรที่พัฒนาในโรงเรียนท้องถิ่น ให้แต่ละโรงเรียนตัดสินใจเรื่องหลักสูตรเองตามคำแนะนำของหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติสองด้าน คือ 1) ดึงให้โรงเรียนและครูหันมาคิดและลงมือหาสิ่งที่โรงเรียนของพวกเขาควรทำ กระบวนการนี้กลายเป็นรูปแบบที่มีความหมายมากที่สุดต่อการพัฒนาวิชาชีพและการพัฒนาโรงเรียน 2) เกิดการทดลองหนทางที่แตกต่างในการให้การศึกษาและเน้นความสามารถของครู มากกว่าจะสร้างรูปแบบมาตรฐานที่มุ่งให้ทำตามกันทั้งระบบ
  • ศาสตร์แห่งการสอนที่มีครูเป็นผู้นำ ทุ่มเทรักษามาตรฐานของวิชาชีพที่อิงกับงานวิจัย เพิ่มบทบาทของครู เพิ่มอำนาจในการดูแลตนเอง เพิ่มความรับผิดชอบทางวิชาชีพที่มีร่วมกัน เหล่านี้ไม่เพียงส่งเสริมความผูกพันในการทำงานของครู แต่ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้พิสูจน์ตัวเองต่อสังคมว่า ครูสามารถเสนอวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับเด็กทุกคนได้ดีกว่าคำสั่งจากส่วนกลาง นอกจากนี้ การลงมืออย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญที่สุดซึ่งช่วยยกระดับวิธีคิดด้านการสอนคือ การยกเลิกการตรวจสอบจากภายนอก ยกเลิกการควบคุมตำราเรียน และส่งเสริมให้เกิดหลักสูตรที่อิงกับโรงเรียน
  • การประเมินที่เน้นการเรียนรู้ ปล่อยให้ครูและโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบการประเมินนักเรียน เพราะการศึกษาของครูทำให้ครูรู้ดีที่สุดว่าควรประเมินการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียนอย่างไร
  • คุณวุฒิครูระดับสูง ครูฟินแลนด์ต้องสำเร็จปริญญาระดับสูงซึ่งมีการวางมาตรฐานอย่างระมัดระวังตลอดระบบการศึกษา ครูประถมต้องจบปริญญาโทในหลักสูตรที่ต้องทำวิจัยค้นคว้าอิสระ ศึกษาทุกวิชาที่อยู่ในหลักสูตรประถมศึกษา และศึกษาวิชาเอกด้านการศึกษา (หรือการศึกษาพิเศษ) ดังนั้น เมื่อครูประถมจบจากมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยในฟินแลนด์ คุณวุฒิของพวกเขาจะได้รับการยอมรับเหมือนคนที่จบจากสาขาวิชาอื่น นี่คือพื้นฐานของการที่ “ครูทุกคนในฟินแลนด์ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญ”
กระนั้น ความเปลี่ยนแปลงจะยั่งยืนไม่ได้เลย หากปราศจากการทะนุบำรุงและบ่มเพาะความเชื่อใจในบุคลากรรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ โดยใช้หลักเจ็ดประการอันได้แก่
  1. สอนครูให้คิด
  2. บ่มเพาะความเชื่อใจในตัวครู
  3. อิสระภายในกรอบ
  4. สร้างผู้เรียนที่รู้จักรับผิดชอบ
  5. เล่นเป็นทีม
  6. แบ่งปันความเป็นผู้นำ
  7. เชื่อใจกระบวนการ

เรามาเจาะลึกหลักการที่ 1 ซึ่งก็คือ “สอนครูให้คิด” กัน

 

 

ทำไมต้องสอนครูให้คิด

 

ท่ามกลางยุคสมัยแห่งความผันผวนไม่หยุดนิ่ง เมื่อความรู้วันนี้อาจกลายเป็นของเก่าสำหรับวันรุ่งขึ้น โรงเรียนจึงถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในเมื่อเราต้องสอนเด็กให้รู้จักเรียนรู้ตลอดชีวิต ครูเองจะปฏิเสธสิ่งนั้นได้อย่างไร

หลักสูตรการผลิตครูของฟินแลนด์ก็สอนให้ครูเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตเช่นกัน ไม่ว่าด้านองค์ความรู้ อุปกรณ์การเรียนการสอน การคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถามกับความเข้าใจเดิมๆ ตลอดจนการเรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สนับสนุนการเรียนการสอน

วิชาศึกษาศาสตร์ในฟินแลนด์ยังมีอุดมคติเรื่อง “ครูที่คิดเชิงการสอน” ซึ่งการคิดเชิงการสอน (pedagogical thinking) หมายถึง กระบวนการทางความคิดที่อธิบายว่าครูตัดสินใจอย่างหลากหลายในระหว่างการสอนได้อย่างไร และหากเราต้องการสนับสนุนให้ครูคิดเพื่อตัวเองมากขึ้น เราก็จำเป็นต้องให้เวลาและพื้นที่สำหรับคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของตนแก่ครูด้วย

กล่าวคือ ขณะที่เราคาดหวังให้ครูเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดในวิชาชีพของตน ผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อม และ “เวลา” สำหรับครูให้ได้สะท้อนคิด (reflection) อยู่เสมอ

 

ระบบผลิตครูอันเป็นเอกลักษณ์ของฟินแลนด์

 

ในหลักสูตรการศึกษาครูที่มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ อาจารย์ผู้สอนมักจัดรายวิชาของตนให้มีทั้งการบรรยายและการประชุมกลุ่มเล็ก การพบปะทั้งสองรูปแบบจะทำงานประสานกัน โดยการบรรยายช่วยให้นักศึกษาเข้าใจทฤษฎีในมุมกว้าง ขณะที่การประชุมกลุ่มเล็กเป็นการวางทฤษฎีลงในบริบทจริง เพื่อให้บรรดาว่าที่ครูพร้อมรับมือสถานการณ์จริงในชั้นเรียนทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ยังมีการเยือนโรงเรียนซึ่งนักศึกษาต้องจับคู่กันแล้วไปเยือนโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่นเพื่อสังเกตและฝึกฝนวิธีการสอน ความเชื่อใจคือหัวใจของการไปเยือนโรงเรียน นักศึกษาฝึกสอนจะออกแบบ กระตุ้น ปรับใช้ ตลอดจนประเมินการเรียนรู้ของชั้นเรียนด้วยตัวเอง กล่าวคือเป็นการสอนให้นักศึกษานำทฤษฎีไปปรับใช้กับสถานการณ์จริงนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ฟินแลนด์มีระบบผลิตครูที่ประเทศอื่นในโลกไม่มี

นั่นคือทุกมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูต้องมีโรงเรียนฝึกสอนที่บริหารโดยมหาวิทยาลัยอย่างน้อยหนึ่งแห่ง

และหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตในมหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาต้องฝึกสอนในโรงเรียนฝึกสอนซึ่งบริหารโดยมหาวิทยาลัย เพื่อสังเกต ฝึกฝน และเรียนรู้การสอน โดยมีบุคลากรที่มีประสบการณ์และคุณวุฒิระดับสูงช่วยให้คำชี้แนะ

 

 

พื้นที่ปลอดภัยสำหรับครู

 

ถ้าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นสถานที่ที่ได้คิด เสี่ยง ลองผิดลองถูก และล้มเหลว

โรงเรียนก็ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับครู ให้ครูได้คิด เสี่ยง ลองผิดลองถูก และล้มเหลวเช่นกัน

ที่ฟินแลนด์ ครูไม่มีภาระงานสอนที่มากเกินไป เป็นเหตุให้ครูที่นั่นมีเวลาได้คิดใคร่ครวญ พัฒนาตัวเอง เตรียมการสอน และทำงานศึกษาวิจัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายการศึกษาไม่เชื่อใจครู

ทว่าเพียงการพร่ำบอกให้ครูรู้จักคิดนั้นอาจไม่เพียงพอ สิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนทำได้คือ “การแสดงออกว่ารับฟัง” หากครูคิด สะท้อนความเห็น หรือเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกคนต่างไขหูทำเป็นไม่ได้ยิน บรรยากาศแห่งการคิดก็ย่อมหายไป ซ้ำร้าย อาจนำไปสู่ความหวาดกลัวที่จะคิด ลองผิดลองถูก และไม่กล้าล้มเหลว

ผู้เขียนให้ทริกง่ายๆ แก่ผู้บริหารโรงเรียนเอาไว้ แค่มอบสมุดบันทึกหนึ่งเล่มให้ครูแต่ละคน นี่เป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังที่บอกให้เหล่าคุณครูรู้ว่า โรงเรียนของเรามุ่งเน้นการคิดทบทวน และสนใจความเห็นด้านการปฏิบัติงานที่เหล่าครูสะท้อนออกมา

 

บ่มเพาะความกล้าแสดงออก

 

ในตอนท้ายของแต่ละบท ผู้เขียนได้ให้ไอเดียง่ายๆ สำหรับสร้างความเชื่อใจเพื่อเป็นแนวทางสำหรับบ่มเพาะความเชื่อใจกันในโรงเรียน ในหมู่เพื่อนร่วมงาน และระหว่างครูกับผู้ปกครองและเด็ก สำหรับหลักการสอนครูให้คิดนั้น ผู้เขียนเสนอว่าควร

  • เชิญครูให้มาร่วมกำหนดวาระการประชุมครั้งต่อไป
  • เก็บข้อมูลภาคสนามร่วมกันเป็นคู่ และให้ครูมีโอกาสได้นำเสนอสิ่งที่ค้นพบกับคณะครูด้วยกัน
  • ระหว่างการประชุมคณาจารย์ ให้ระดมความเห็นอย่างเป็นระบบ
  • หรือลองจัดงานวิจารณ์หนังสือทางเลือก

การจัดงานวิจารณ์หนังสือทางเลือกนั้น นอกจากฝึกครูให้คิดแล้ว ยังบ่มเพาะความกล้าแสดงความเห็น การรู้จักแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นการกระชับสัมพันธ์ระหว่างคณาจารย์ด้วย

แต่ก็อย่างไรที่เรารู้กัน และครูไทยคงรู้ดีกว่าใคร ก่อนจะทำอะไรต่อมิอะไรที่กล่าวมาได้ ครูต้องมีเวลาว่างจากภาระงานสอนสักหน่อย

 

อ่าน เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ (ฉบับย่อ) ที่นี่

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ใน เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์

Pasi Sahlberg & Timothy D. Walker เขียน

ทศพล ศรีพุ่ม แปล

256 หน้า

ดูตัวอย่างเนื้อหาและสั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่