หลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจ “หลักการที่ 2: บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป”

ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง
นุชชา ประพิณ ภาพ

 

 

ทำไมต้องฟินแลนด์?

เพราะฟินแลนด์ทำในสิ่งที่นักการศึกษาทั่วโลก (อาจได้แต่) ใฝ่ฝัน นั่นคือประสบความสำเร็จทั้งด้าน “สัมฤทธิผล” ในการเรียนรู้ที่ปรากฏผ่านผลประเมิน PISA และด้าน “ความเสมอภาคเท่าเทียม” ที่ผลักดันจนการศึกษากลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน

คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่คำสั้นๆ ว่า “ความเชื่อใจ”

ผู้บริหาร พ่อแม่ผู้ปกครอง กระทั่งรัฐ นักการเมือง และชนชั้นนำในสังคม ต่างยินยอมพร้อมมอบความเชื่อใจให้ครูได้มีอิสรภาพเต็มที่ในการดูแลชั้นเรียน ออกแบบหลักสูตร และประเมินการเรียนรู้ของเด็ก

ความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งที่ครูและระบบการศึกษาฟินแลนด์ต้องแบกไว้บนบ่า จึงคือการธำรงความเชื่อใจนั้นไว้ ซึ่งก็คือการรักษาคุณภาพนั่นเอง

การแข่งขันเพื่อเข้าเรียนครูนั้นดุเดือดถึงขนาดว่ามีผู้สมัครเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ผ่านเข้ารอบ แต่ใช่ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นนักเรียนหัวกะทิที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม ตรงกันข้าม บรรดาผู้สร้างครูในฟินแลนด์รู้ดีว่าศักยภาพในการสอนสามารถพบได้อย่างเท่าเทียมกันในกลุ่มคนที่หลากหลาย เช่น นักกีฬาเยาวชนหรือนักดนตรี มักมีบุคลิกที่เผยให้เห็นว่าเป็นครูที่ดีได้โดยไม่ต้องมีประวัติการศึกษายอดเยี่ยม

bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จะพาสำรวจปรากฏการณ์แสงเหนือแห่งการศึกษา ผ่านหลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจ ซึ่ง “หลักการที่ 2: บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป” นี้จะช่วยให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ฟินแลนด์บ่มเพาะความเชื่อใจให้คนรุ่นต่อไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอด้วยวิธีการใด มีกลไกควบคุมคุณภาพห้องเรียนและครูอย่างไรโดยไม่ต้องอาศัยการประเมินจากหน่วยงานภายนอก และการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างจริงจังสำคัญมากขนาดไหนสำหรับเด็กนักเรียน

ถ้าพร้อมแล้วก็ลุยเลย

 

หลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจ

หลักการที่ 2: บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป

 

 

ยากกว่าการได้มาคือการรักษาความเชื่อใจไว้ และหนทางเดียวที่จะคงความเชื่อใจในตัวครูไว้ได้ คือการรักษาคุณภาพครู

ระบบการผลิตครูของฟินแลนด์ที่มีอัตราแข่งขันสูงจึงจริงจังอย่างยิ่งกับการฝึกสอนนักศึกษาครู นอกจากข้อกำหนดที่ให้มหาวิทยาลัยที่มีคณะศึกษาศาสตร์ทุกแห่งต้องมีโรงเรียนฝึกสอนที่บริหารโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย ฟินแลนด์ยังมีระบบอาจารย์ฝึกสอนประกบนักศึกษาฝึกสอนแบบใกล้ชิด ชนิดเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ในห้องเรียน แล้วให้คำชี้แนะกันหลังจากนั้น

หลักสูตรการผลิตครูนั้นต้องผ่านกระบวนการฝึกหัดที่มีรายวิชาจำนวนมาก งานวิจัยอิสระ และการฝึกสอนในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือ บ่มเพาะครูรุ่นใหม่ที่ “รู้จักคิดเพื่อตนเอง”

ทั้งนี้ ในการฝึกสอน นักศึกษามีอิสรภาพในห้องเรียนของตัวเองก็จริง ทว่าอาจารย์ก็ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งความสมดุลนี้สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เปี่ยมแรงสนับสนุนที่ทำให้บรรดา “ว่าที่ครู” ได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติอันมีค่า

 

พลังแห่งการฝึกฝน

 

 

นักศึกษาครูที่จับคู่กันมาฝึกสอนในโรงเรียนสาธิต ต้องฝึกสอนร่วมกัน 50 ชั่วโมงในระยะเวลา 5 สัปดาห์ พวกเขาแต่ละคนจะได้สอนบทเรียนคนละ 25 ชั่วโมง โดยมีอีกคนหนี่งเป็นผู้ช่วยในชั้นเรียน สถานการณ์จำลองที่เหมือนจริงนี้ทำให้นักศึกษาเห็นว่าการสอนนั้นเป็นความพยายามร่วมกันเสมอ

ก่อนนักศึกษาฝึกสอนจะได้เข้าห้องเรียนไปพบปะกับนักเรียนเป็นครั้งแรก อาจารย์ฝึกสอนประจำชั้นนั้นๆ จะพูดอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่นักศึกษาต้องรู้ และวางหลักเกณฑ์กันตั้งแต่แรกว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้เองที่ช่วยป้องกันสถานการณ์กระอักกระอ่วน และช่วยให้นักศึกษาปรับตัวได้เร็วขึ้นด้วย

ด้านนักศึกษาเองก็ต้องเตรียมแผนการสอนอย่างละเอียดและนำไปเล่าให้อาจารย์ฟังตอนเริ่มภาคเรียนด้วย โดยอาจารย์จะไม่นั่งลงวางแผนร่วมกับนักศึกษาเพราะจะทำให้นักศึกษาไม่ฝึกอะไรเลย อาจารย์หวังให้นักศึกษาทุกคนปฏิบัติตัวเหมือนผู้เชี่ยวชาญ โดยจะคอยแนะเรื่องการจัดลำกับแผนการสอนหรือหน่วยย่อยในแผนเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในการประเมินการฝึกสอนนั้นไม่มีการให้เกรด มีแค่ผ่านกับฝึกใหม่อีกครั้ง

 

พลังแห่งผลตอบรับ

 

 

การตอบรับเป็นหนทางสำคัญที่ครูพี่เลี้ยงในฟินแลนด์ใช้สร้างความเชื่อใจและสนับสนุนนักศึกษาฝึกสอนของพวกเขา อาจารย์ฝึกสอนหรือครูพี่เลี้ยงจะเน้นเสมอว่าการนั่งสังเกตการณ์และให้ผลตอบรับนั้นไม่ใช่การจับผิด แต่เป็นการประเมินการเรียนรู้อย่างลงลึกในรายละเอียด แต่ทั้งนี้ ครูพี่เลี้ยงบางคนเน้นให้นักศึกษาประเมินตัวเองก่อน โดยต้องใคร่ครวญถึงการสอนของตนแล้วให้ผลตอบรับแก่ตัวเอง

“ผมบอกพวกเขาเสมอว่าให้ทบทวนทุกอย่าง… ผมไม่อยากตัดสินผล เพราะการให้คะแนนและการประเมินเหล่านี้จะฝังลึกอยู่ในตัวเรา” โอลลิ มาอาตา (Olli Määtä) ครูพี่เลี้ยงและครูวิชาภาษาต่างประเทศโรงเรียนนอร์สซี

ใครอีกที่ควรให้ผลตอบรับแก่นักศึกษาฝึกสอน? ก็เด็กๆ ผู้รับการสอนน่ะสิ

แม้เหล่านักศึกษาฝึกสอนจะพยายามอย่างหนักในการริเริ่มอะไรใหม่ๆ แต่หลายครั้งก็ล้มเหลว ครูพี่เลี้ยงเน้นย้ำความจริงข้อนี้ และบรรดาว่าที่ครูจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรหรือวิธีการสอนแบบไหนใช้ไม่ได้ผล

“ไม่เข้าใจ” “บ่าเบื่อ” “ต้องนั่งจ้องแต่สไลด์พาวเวอร์พอยต์เหรอ?” เหล่านี้เป็นตัวอย่างของผลตอบรับที่ไม่อ่อนโยนเอาเลย แต่ระหว่างการให้ผลตอบรับ นักเรียนชายคนหนึ่งก็ให้ความเห็นที่น่าสนใจ

“ผมคิดว่าจริงๆ แล้วผลตอบรับที่แย่มีคุณค่ามากนะครับ ถ้าคุณไม่เคยล้มเหลว คุณจะไม่มีวันเรียนรู้ ถ้าคุณไม่รู้ว่าอะไรแย่สำหรับตัวคุณ คุณก็ไม่รู้ว่าจะทำให้ตัวเองดีขึ้นได้ยังไง ไม่รู้ว่าควรพัฒนาตัวเองยังไง … และผมก็คิดว่ามันเข้าใจได้ไม่ยากเลยหากคุณไม่ได้รับผลตอบรับดีๆ เพราะคุณเพิ่งสอนเป็นครั้งแรกนี่นา”

 

เคล็ดลับการส่งต่อห้องเรียน

 

 

การส่งต่อห้องเรียนไม่ใช่แค่การมอบห้องเรียนให้แก่ครูผู้มีคุณภาพเท่านั้น และระบบการศึกษาฟินแลนด์ตระหนักดีว่าเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน ไซมอนอาจมีประเด็นที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ และคลาราก็อาจมีจุดที่ครูควรสนับสนุนให้ดีขึ้นได้อีก

แม้โดยปกติ โรงเรียนฟินแลนด์จะมีบันทึกของโรงเรียนที่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับเด็กในห้องเรียนต่างๆ อยู่แล้ว ทว่าปาสิ ซอห์ลเบิร์ก กับทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ ผู้เขียน เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ เสนอว่า

การมอบโอกาสให้ครูได้แลกเปลี่ยนข้อค้นพบจากเด็กนักเรียนของตนจะช่วยให้ข้อมูลและรายละเอียดที่ประเมินค่าไม่ได้เกี่ยวกับนักเรียนแต่ละคน

พวกเขาแนะให้ครูสร้างบทสนทนาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางโดยมุ่งเน้นการพูดคุยใน 4 ด้าน ได้แก่ ความสนใจ ศักยภาพ ความท้าทาย และกลยุทธ์ โดยเฉพาะในช่วงท้ายปีการศึกษาหรือก่อนวันเปิดภาคเรียน โดยครูควรเข้าร่วมการหารือเรื่องต่างๆ อย่างน้อยสองครั้ง หนึ่ง ในการส่งต่อห้องเรียนให้ครูชั้นถัดไป และสอง ในการรับช่วงห้องเรียนต่อจากครูชั้นเดิม

เห็นได้ชัดว่าปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ฟินแลนด์รักษาคุณภาพและความเชื่อใจไว้ได้ คือการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

 

 

พบกับ “หลักการที่ 3: อิสระภายในกรอบ” ได้เร็วๆ นี้

อ่านบทความ “เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ (ฉบับย่อ)” ที่นี่

อ่านบทความ “หลักการที่ 1: สอนครูให้คิด” ที่นี่ 

 

เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์
(In Teachers We Trust: The Finnish Way to World-Class School)
Pasi Sahlberg & Timothy D. Walker เขียน
ทศพล ศรีพุ่ม แปล
นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

อ่านตัวอย่างเนื้อหาและสั่งซื้อหนังสือที่นี่