อ่าน ‘เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์’

ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง

 

ฟินแลนด์ ดินแดนไกลโพ้นทางตอนเหนือกลายเป็นที่จับตามองด้านการศึกษาจากทั่วโลก หลังจากมีการประกาศว่านักเรียนชาวฟินแลนด์อายุ 15 ปี ได้คะแนนสูงสุดในการทดสอบ PISA ซึ่งเป็นการประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในปี 2001 จากนั้นเป็นต้นมา ไม่ว่านักวิชาการ นักการศึกษา หรือนักข่าวนานาประเทศ ต่างก็พยายามคุ้ยแคะแกะหาสูตรลับสู่ความสำเร็จทางการศึกษาของฟินแลนด์

ผู้เขียนหนังสือ เชื่อใจในตัวครู ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงชาวฟินแลนด์ กับทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ (Timothy D. Walker) ครูชาวอเมริกันผู้เคยสิ้นหวังกับอาชีพการสอนและได้ค้นพบห้องเรียนในฝันที่ฟินแลนด์ จะมาร่วมกันเสนอว่า เคล็ดลับสู่การเป็นโรงเรียนชั้นนำและการศึกษาที่ดีนั้นมีปัจจัยประการหนึ่งที่สำคัญยิ่งทว่าถูกมองข้ามไป นั่นก็คือ “ความเชื่อใจ” (Trust)

ซอห์ลเบิร์กและวอล์กเกอร์พูดคุยกับครู นักศึกษาครู อาจารย์ผู้สร้างครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ไปจนถึงนักเรียนทั่วฟินแลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความเชื่อใจ อันจะทำให้เราประจักษ์ว่าเหตุใดความเชื่อใจจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขสู่เคล็ดลับการศึกษาแบบฟินแลนด์

 

ทำไมต้องสนใจการศึกษาฟินแลนด์

 

การศึกษาแบบฟินแลนด์มีลักษณะโดดเด่นจากระบบการศึกษาอื่นๆ ทั่วโลก ดังที่ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก เคยเขียนถึงรูปแบบการศึกษาของฟินแลนด์ไว้ในหนังสือ Finnish Lessons ของเขา โดยทิโมธี วอล์กเกอร์ สรุปลักษณะโดดเด่นเหล่านั้นได้ว่า

 

  • ชั่วโมงเรียนในแต่ละวันของครูและนักเรียนมีระยะเวลาสั้น
  • โรงเรียนอนุบาลจนถึงมัธยมมีช่วงพักระหว่างวันบ่อยครั้ง
  • ไม่มีการทดสอบมาตรฐานการศึกษาระดับชาติ
  • ไม่มีภาระรับผิดชอบในเชิงลงโทษสำหรับครูหรือโรงเรียน
  • หลักสูตรสร้างสมดุลทุกด้านให้เด็ก เน้นศิลปะและทักษะการใช้ชีวิตเพื่อการเติบโจและเรียนรู้เป็นองค์รวม
  • ไม่มีการตรวจสอบภายนอกจากหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ
  • มีวัฒนธรรมการเป็นผู้นำและการสอนแบบร่วมมือ
  • ครูมีอัตราการลาออกต่ำและมีสถานะทางสังคมสูง
  • มีการสนับสนุนทุนและทรัพยากรอย่างเท่าเทียม
  • ไม่มีการจำแนกนักเรียนตามความสามารถหรือภูมิหลังของครอบครัว
  • ใช้คุณวุฒิที่เน้นการวิจัยเป็นคุณสมบัติพื้นฐานสำหรับครูที่ผ่านการประเมินทุกคน

 

ทั้งๆ ที่นักเรียน ครู และผู้บริหาร ไม่ต้องเผชิญกับความเครียด คาบเรียนอันยาวนาน และภาระความรับผิดชอบที่อิงกับการสอบวัดผล แต่ฟินแลนด์กลับกลายมาเป็นผู้นำด้านการศึกษาโลกได้อย่างไร เพราะฟินแลนด์มีประชากรเพียง 6 ล้านคนอย่างนั้นหรือ เพราะฟินแลนด์มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ต่ำหรือ เพราะไม่ค่อยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือ เพราะครูฟินแลนด์ต้องจบปริญญาโทหรือ ประเทศกลุ่มนอร์ดิกอื่นๆ ก็มีสิ่งเหล่านี้เช่นกัน แต่การศึกษาฟินแลนด์ก็ยังโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ  ผู้เขียนเสนอว่า สิ่งที่ฟินแลนด์มี แล้วประเทศอื่นรวมถึงประเทศกลุ่มนอร์ดิกด้วยกันไม่มี คือความเชื่อใจ กล่าวคือความเชื่อใจในตัวครู โรงเรียน เด็ก ผู้บริหาร

โดยเฉพาะกับความท้าทายใหญ่ยิ่งที่ระบบการศึกษาทั่วโลกกำลังเผชิญคือ การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งบีบให้โรงเรียนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือกระทั่งในไม่กี่วัน โรงเรียนทั่วโลกต้องปิดไปในช่วงที่เหลืออยู่ของปีการศึกษา 2019-2020 เด็กกว่า 1,500 ล้านคนต้องเรียนหนังสือจากที่บ้าน ขณะที่บรรดาครูก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือจัดการเรียนการสอนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

บทเรียนหนึ่งที่ได้จากวิกฤตครั้งนี้คือ ระบบการศึกษาที่มองครูเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีโครงสร้างยืดหยุ่น ซึ่งทำให้โรงเรียนมีอำนาจในการบริหารหลักสูตรและปรับเปลี่ยนวิธีการสอนได้มากขึ้นนั้น ดูจะปรับตัวรับผลกระทบและหาทางแก้ไขได้รวดเร็วกว่า กล่าวคือในที่ซึ่งครูเป็นที่เชื่อใจนั้น โรงเรียนจะปรับตัวในสถานการณ์บีบคั้นได้ยืดหยุ่นกว่าด้วย

 

 

ความเชื่อใจคืออะไร

 

พจนานุกรมเคมบริดจ์นิยามว่า การเชื่อใจ (ใครสักคนหรืออะไร สักอย่าง) คือ “การเชื่อว่าคนคนนั้นเป็นคนดี ซื่อสัตย์ และเขาจะไม่ ทำร้ายคุณ หรือสิ่งนั้นปลอดภัยและไว้ใจได้” โดยการ “เชื่อใจครู” ในฟินแลนด์นั้นมีลักษณะสำคัญ คือ

 

การเชื่อใจครูไม่ใช่การปล่อยให้พวกเขาทำอะไรก็ได้ตามต้องการในโรงเรียน … การเชื่อใจในโรงเรียนก็มีมากกว่าการหยิบยื่นงบประมาณจากภาษีให้ แล้วสั่งให้พวกเขาจัดการตัวเองตามปรารถนา

 

ความเชื่อใจดังกล่าวมีองค์ประกอบห้าประการดังนี้

 

 

  • ความเมตตา (benevolence) หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะมีบุคคลอื่นใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอหรือความไม่มั่นใจของเขา ในโรงเรียนที่มีความเชื่อใจต่ำ ทั้งครูและนักเรียนต้องใช้พลังใจอย่างมากในการจัดการความกลัวและความอ่อนแอ การขาดความเมตตาจะทำให้คนเราเสียพลังงานไปกับการคิดหาทางหลีกเลี่ยงความผิดพลาด ความเมตตาสร้างขึ้นได้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและอบอุ่นระหว่างสมาชิกทั้งหมดในโรงเรียน
  • ความซื่อสัตย์ (honesty) หมายถึง การที่ครูจะเชื่อถือคำพูดและการกระทำของเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร และนักเรียนได้ หากความซื่อสัตย์หายไป การทรยศ ความน่าสงสัย และความไม่ไว้ใจจะเข้ามาแทนที่
  • ความเปิดกว้าง (openness) ในทางปฏิบัติ หากความเปิดกว้างเสื่อมไป ครูจะเริ่มสงสัยว่าเพื่อนร่วมงานอาจปิดบังอะไรบางอย่างและสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด และเมื่อครูรู้สึกว่าต้องแข่งขันกันเอง พวกเขาจะไม่แบ่งปันความคิดที่ดีที่สุดหรือสนับสนุนเพื่อนร่วมงาน เพราะนั่นอาจทำให้สถานะในการแข่งขันของตนสั่นคลอน
  • ความน่าเชื่อถือ (reliability) หมายถึง การที่ทุกคนในโรงเรียนรู้หน้าที่และความรับผิดชอบในระดับบุคคลและระดับกลุ่มของตน โรงเรียนที่บ่มเพาะความน่าเชื่อถือให้แก่บุคลากรได้สำเร็จ คือโรงเรียนที่ลงทุนกับการพัฒนาความเชี่ยวชาญในโรงเรียนและพัฒนาวัฒนธรรมความร่วมมือ
  • ศักยภาพ (competence) หมายถึง การที่โรงเรียนแบ่งปันความคาดหวังในวิชาชีพและความเข้าใจร่วม ซึ่งมีเพียงผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และคุณวุฒิเท่านั้นที่จะทำสิ่งนี้ได้ ความเชื่อใจในตัวครูเสื่อมลงได้หากครูขาดความรู้ ศักยภาพ และจริยธรรมทางวิชาชีพ

 

ซอห์ลเบิร์กกับวอล์กเกอร์ยังเขียนถึงประโยชน์ของความเชื่อใจไว้ว่า

 

  1. เป็นกาวประสานที่ส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกันทางสังคมเชิงบวกและความกลมเกลียวในระบบการศึกษา
  2. เป็นองค์ประกอบสำคัญของการร่วมมือกันในโรงเรียน
  3. ช่วยเพิ่มระดับความซื่อสัตย์และโปร่งใสระหว่างครู กระตุ้นครูให้ส่งเสียงและรับฟังเสียงสะท้อนทางวิชาการ
  4. เกิดความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ระหว่างครูกับนักเรียน เมื่อครูเชื่อใจนักเรียนโดยมอบหมายความรับผิดชอบและให้อำนาจในการดูแลตัวเองอย่างสมเหตุสมผลให้
  5. ความเชื่อใจมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน

 

อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมของโรงเรียนในที่หนึ่งๆ ย่อมสะท้อนวัฒนธรรมของสังคมนั้น หมายความว่าความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี และความคาดหวังต่างๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของประเทศหนึ่งย่อมส่งอิทธิพลต่อลักษณะที่โรงเรียน โดยลักษณะเด่นของสังคมฟินแลนด์ที่โดดเด่นกว่าชาติอื่นคือ 1) ชาวฟินแลนด์แสดงความเชื่อใจในระดับสูงต่อเพื่อนร่วมชาติ 2) พ่อแม่เชื่อใจลูกวัยรุ่นและให้อิสรภาพอย่างมาก 3) ระบบการศึกษาเป็นสถาบันรัฐที่ได้รับความเชื่อถือสูง

ปัจจัยหนึ่งที่อาจอธิบายได้ว่าเหตุใดชาวฟินแลนด์จึงเชื่อมั่นในระบบโรงเรียนก็คือ ที่ฟินแลนด์ การศึกษาถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกคนจึงเข้าถึงได้ ไม่มีโรงเรียนเอกชนมาขายการศึกษาให้แก่ผู้ปกครอง เนื่องจากโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาทุกแห่งได้รับงบประมาณอุดหนุนอย่างเพียงพอ กระทั่งการเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน ฉะนั้น ชาวฟินแลนด์ที่รู้ว่าการศึกษาที่ดีมีอยู่ทุกหนแห่งจึงไม่ต้องกังวลว่าโรงเรียนดีๆ อยู่ที่ไหน ผู้คนแทบทั้งหมดเชื่อว่าโรงเรียนที่อยู่ใกล้ที่สุดก็ดีเพียงพอแล้วสำหรับทุกคน

 

ที่ฟินแลนด์ การศึกษาถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกคนจึงเข้าถึงได้ ไม่มีโรงเรียนเอกชนมาขายการศึกษาให้แก่ผู้ปกครอง เนื่องจากโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาทุกแห่งได้รับงบประมาณอุดหนุนอย่างเพียงพอ กระทั่งการเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

นี่คือรากฐานของความเชื่อใจที่โรงเรียนและครูในฟินแลนด์ได้รับ

 

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ความเชื่อใจไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

 

ความเชื่อใจในตัวครูเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมชาวฟินแลนด์จึงเชื่อใจระบบการศึกษา เหตุใดผู้นำประเทศและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจจึงมอบความเชื่อใจให้โรงเรียน คนทั่วโลกที่ตั้งคำถามเหล่านี้อาจสันนิษฐานกันไปผิดๆ ว่า นักการเมือง ผู้กำกับนโยบาย และผู้ปกครอง เพียงแค่ตัดสินใจทิ้งระบบราชการที่สั่งการจากบนลงล่างไว้เบื้องหลัง แล้วเปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมที่ยกย่องผู้เชี่ยวชาญบนพื้นฐานความเชื่อใจ แต่ไม่ใช่เลย เพราะระบบการศึกษาหลายแห่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การมอบอิสระให้ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ การให้อิสรภาพมาพร้อมกับการประเมินและตรวจสอบอย่างละเอียดจากภายนอก และเหตุนี้เอง การสอบวัดมาตรฐานเป็นประจำจึงเข้ามาสู่ระบบการศึกษาทั่วโลก

 

ระบบการศึกษาหลายแห่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การมอบอิสระให้ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ การให้อิสรภาพมาพร้อมกับการประเมินและตรวจสอบอย่างละเอียดจากภายนอก และเหตุนี้เอง การสอบวัดมาตรฐานเป็นประจำจึงเข้ามาสู่ระบบการศึกษาทั่วโลก

 

การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ฟินแลนด์ได้มาเพราะต้องเผชิญวิกฤตธนาคารปี 1991 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงทำให้ภาครัฐต้องยุบสถาบันต่างๆ ปลดบุคลากร และตัดหน่วยงานที่เป็นภาระงบประมาณจนเหี้ยน แล้วหน่วยงานประเมินโรงเรียนก็ถูกยุบไปเมื่อปี 1991 นั้นเอง จากนั้น คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (National Board of Education) ก็ถือกำเนิดขึ้น ภายใต้การนำของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ใหม่อย่าง ดร.วิลโฮ ฮิรวิ (Vilho Hirvi) ทำให้หน่วยงานที่มีขนาดเล็กนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แก่การศึกษาฟินแลนด์

การสูญเสียอำนาจควบคุมของรัฐทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่รู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ ดร.วิลโฮ ฮิรวิ ก็เตือนไว้ว่า “ชาติที่มีการศึกษาไม่อาจสร้างขึ้นด้วยกำลัง” นั่นอาจหมายถึงอำนาจและการควบคุมไม่อาจให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้

อย่างไรก็ดี องค์ประกอบของการปฏิรูปการศึกษาฟินแลนด์ช่วงทศวรรษ 1990 มีองค์ประกอบต่อไปนี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความเชื่อใจในตัวครูและโรงเรียนอย่างมั่นคง

 

  1. หลักสูตรที่พัฒนาในโรงเรียนท้องถิ่น: ให้แต่ละโรงเรียนตัดสินใจเรื่องหลักสูตรเองตามคำแนะนำของหน่วยงานท้องถิ่นและดำเนินการให้สอดคล้องกับกรอบความคิดระดับชาติ ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติสองด้าน คือ 1) เป็นการดึงให้โรงเรียนและครูหันมาคิดและลงมือหาสิ่งที่โรงเรียนของพวกเขาควรทำ กระบวนการนี้กลายเป็นรูปแบบที่มีความหมายมากที่สุดต่อการพัฒนาวิชาชีพและการพัฒนาโรงเรียน 2) เกิดการทดลองหนทางที่แตกต่างในการให้การศึกษาและเน้นความสามารถของครู มากกว่าจะสร้างรูปแบบมาตรฐานที่มุ่งให้ทำตามกันทั้งระบบ และหลักสูตรใหม่นี้เองที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อใจในบรรดาครูและผู้อำนวยการ รวมทั้งสถาปนาวัฒนธรรมที่ยังกำกับการทำงานของโรงเรียนมาจนทุกวันนี้
  2. ศาสตร์แห่งการสอนที่มีครูเป็นผู้นำ: ทุ่มเทรักษามาตรฐานของวิชาชีพที่อิงกับงานวิจัย เพิ่มบทบาทของครู เพิ่มอำนาจในการดูแลตนเอง เพิ่มความรับผิดชอบทางวิชาชีพที่มีร่วมกัน เหล่านี้ไม่เพียงส่งเสริมความผูกพันในการทำงานของครู แต่ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้พิสูจน์ตัวเองต่อสังคมว่า ครูสามารถเสนอวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับเด็กทุกคนได้ดีกว่าคำสั่งจากส่วนกลาง นอกจากนี้ การลงมืออย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญที่สุดซึ่งช่วยยกระดับวิธีคิดด้านการสอนคือ การยกเลิกการตรวจสอบจากภายนอก ยกเลิกการควบคุมตำราเรียน และการส่งเสริมให้เกิดหลักสูตรที่อิงกับโรงเรียน
  3. การประเมินที่เน้นการเรียนรู้: ปล่อยให้ครูและโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบการประเมินนักเรียน เพราะการศึกษาของครูทำให้ครูรู้ดีที่สุดว่าควรประเมินการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียนอย่างไร
  4. คุณวุฒิครูระดับสูง: ครูฟินแลนด์ต้องสำเร็จปริญญาระดับสูงซึ่งมีการวางมาตรฐานอย่างระมัดระวังตลอดระบบการศึกษา ครูประถมต้องจบปริญญาโทในหลักสูตรที่ต้องทำวิจัยค้นคว้าอิสระ ศึกษาทุกวิชาที่อยู่ในหลักสูตรประถมศึกษา และศึกษาวิชาเอกด้านการศึกษา (หรือการศึกษาพิเศษ) ดังนั้น เมื่อครูประถมจบจากมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยในฟินแลนด์ คุณวุฒิของพวกเขาจะได้รับการยอมรับเหมือนคนที่จบจากสาขาวิชาอื่น นี่คือพื้นฐานของการที่ “ครูทุกคนในฟินแลนด์ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญ”

 

บ่มเพาะความเชื่อใจในตัวครูด้วย “หลักเจ็ดประการ”

 

สอนครูให้คิด

ในหลักสูตรการศึกษาครูที่มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ อาจารย์ผู้สอนมักจัดรายวิชาของตนให้มีทั้งการบรรยายและการประชุมกลุ่มเล็ก การพบปะทั้งสองรูปแบบนี้จะทำงานประสานกัน โดยการบรรยายช่วยให้นักศึกษาเข้าใจทฤษฎีในมุมกว้าง ขณะที่การประชุมกลุ่มเล็กเป็นการวางทฤษฎีลงในบริบทจริง เพื่อให้บรรดาว่าที่ครูพร้อมรับมือสถานการณ์จริงในชั้นเรียนทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ยังมีการเยือนโรงเรียน ซึ่งนักศึกษาต้องจับคู่กันแล้วไปเยือนโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่นเพื่อสังเกตและฝึกฝนวิธีการสอน ความเชื่อใจคือหัวใจของการไปเยือนโรงเรียน นักศึกษาฝึกสอนจะออกแบบ กระตุ้น ปรับใช้ ตลอดจนประเมินการเรียนรู้ของชั้นเรียนด้วยตัวเอง กล่าวคือเป็นการสอนให้นักศึกษานำทฤษฎีไปปรับใช้กับสถานการณ์จริงนั่นเอง

ที่ฟินแลนด์มีระบบผลิตครูในแบบที่ประเทศอื่นในโลกไม่มี คือทุกมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูต้องมีโรงเรียนฝึกสอนอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตในมหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาต้องฝึกสอนในโรงเรียนฝึกสอนซึ่งบริหารโดยมหาวิทยาลัย เพื่อสังเกต ฝึกฝน และเรียนรู้การสอน โดยมีบุคลากรที่มีประสบการณ์และคุณวุฒิระดับสูงช่วยให้คำชี้แนะ

 

 

กลยุทธ์ฝึกครูให้คิด จึงหมายถึงหลักสูตรวิชาชีพครูสมัยใหม่ที่มักสอนให้ครูคิดอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจพฤติกรรมกับอารมณ์ของตนเมื่ออยู่ในโรงเรียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ วิชาศึกษาศาสตร์ในฟินแลนด์ยังมีอุดมคติเรื่อง “ครูที่คิดเชิงการสอน” ซึ่งการคิดเชิงการสอน (pedagogical thinking) หมายถึง กระบวนการทางความคิดที่อธิบายว่าครูตัดสินใจอย่างหลากหลายในระหว่างการสอนได้อย่างไร และหากเราต้องการสนับสนุนให้ครูคิดเพื่อตัวเองมากขึ้น ก็ต้องให้เวลาและพื้นที่สำหรับคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของตนแก่ครู โดยในทางปฏิบัติคือ เมื่อเริ่มปีการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนจะมอบสมุดบันทึกซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังแก่ครู เป็นการแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมุ่งเน้นการทบทวนและสะท้อนการปฏิบัติงาน หรืออาจเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการเริ่มต้นการประชุมแต่ละสัปดาห์ด้วยการสะท้อนคิด (reflection) แล้วแลกเปลี่ยนกันในคณะครูและผู้อำนวยการ

 

บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป

การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่แรกช่วยป้องกันสถานการณ์กระอักกระอ่วนได้ อาจารย์จะบอกกับนักศึกษาฝึกสอนตั้งแต่แรกเลยว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ พร้อมกันนั้น นักศึกษาต้องวางแผนการสอนที่ชัดเจนด้วย

ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “การอภิปรายผลตอบรับ” (feedback discussion) ซึ่งมุ่งให้นักศึกษาขบคิดเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่ได้จากประสบการณ์ในชั้นเรียน จากนั้นจึงประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนครั้งถัดไป

กลยุทธ์บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป เริ่มต้นด้วยการที่อาจารย์ผู้ดูแลนักศึกษาฝึกสอนใช้เวลาบรรยายเกี่ยวกับเด็กนักเรียนให้นักศึกษาฟังเป็นส่วนใหญ่ในช่วงแรกเริ่ม จากนั้นบทสนทนาแบบเห็นหน้าจะช่วยให้นักศึกษาค้นหาหนทางบ่มเพาะความเชื่อใจในหมู่เด็กนักเรียน และรับมือกับความต้องการเฉพาะตัวของแต่ละคนได้ อีกสิ่งที่มีค่ายิ่งซึ่งทุกโรงเรียนทำได้คือ การให้ครูได้แลกเปลี่ยนข้อค้นพบจากเด็กนักเรียนของตน ครูสามารถสร้างบทสนทนาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางได้โดยพูดคุยเกี่ยวกับเด็กแต่ละคนใน 4 ด้าน ได้แก่ ความสนใจ ศักยภาพ ความท้าทาย และกลยุทธ์ เกี่ยวกับนักเรียน

อิสรภาพในการดูแลชั้นเรียนไม่ใช่แค่การส่งต่อชั้นเรียนให้ครูผู้มีความสามารถ แต่คือการรักษาสมดุลอันละเอียดอ่อนให้ดำเนินไปจากรุ่นสู่รุ่น คือการให้นักศึกษาฝึกสอนได้พบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีแรงสนับสนุน ทำให้พวกเขาได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติอันมีค่า เหล่านี้คือต้นแบบการบ่มเพาะครูแบบฟินแลนด์

 

อิสรภาพในการดูแลชั้นเรียนไม่ใช่แค่การส่งต่อชั้นเรียนให้ครูผู้มีความสามารถ แต่คือการรักษาสมดุลอันละเอียดอ่อนให้ดำเนินไปจากรุ่นสู่รุ่น คือการให้นักศึกษาฝึกสอนได้พบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีแรงสนับสนุน ทำให้พวกเขาได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติอันมีค่า

 

อิสระภายในกรอบ

ครูในฟินแลนด์ไม่ต้องกังวลเรื่องการบรรลุเกณฑ์มาตรฐาน เรื่องการทำการบ้านให้ครบถ้วน หรือเรื่องการเตรียมตัวเพื่อการสอบวัดระดับมาตรฐาน นอกจากนี้ครูฟินแลนด์ยังมีเวลาทำสิ่งต่างๆ ในโรงเรียนนอกเหนือจากการสอน และผู้คนก็ดูเชื่อใจกันและกัน

ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อครูรู้สึกว่าการสอนเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องว่ามีพื้นฐานความรู้เฉพาะทาง มีแนวปฏิบัติเป็นมาตรฐานร่วมกัน มีกระบวนการฝึกฝนขั้นต้นอันเข้มงวด และมีอำนาจพิจารณาหรือตัดสินใจเกี่ยวกับงานของตนได้ตามหลักวิชา ครูก็มีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ครูที่ประสบความสำเร็จจะพึ่งพาความสัมพันธ์ทางวิชาชีพกับเพื่อนร่วมงานในโรงเรียนและในเครือข่ายเพื่อนร่วมอาชีพมากกว่าครูคนอื่น โดยระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่ามักให้เวลานอกชั้นเรียนแก่ครูมากกว่า เพื่อให้ครูได้วางแผนและพัฒนาการสอนร่วมกันครูคนอื่นในโรงเรียน

 

วิดีโอว่าด้วยการร่วมมือเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพการเรียนรู้ของ OECD

 

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่าครูในฟินแลนด์ทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นการสอน 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยครูประถมสอน 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนครูมัธยมสอน 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เท่ากับว่าครูชาวฟินแลนด์มีเวลาสำหรับทำอย่างอื่นในโนโรงเรียนที่ไม่ใช่การสอนมากกว่าที่อื่นๆ ในโลก อีกประเด็นน่าสนใจคืออัตราการคงอยู่ในอาชีพของครูชาวฟินแลนด์ มีครูน้อยมากที่ลาออกเพราะผิดหวัง ถูกเลือกปฏิบัติ หรือได้รับค่าตอบแทนไม่เหมาะสม เหตุผลที่ครูลาออกส่วนใหญ่เป็นเพราะได้งานใหม่ในแวดวงการศึกษา เปลี่ยนไปทำงานในระดับอุมดศึกษา หรือเผชิญภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout)

หลักสูตรแกนกลางระดับชาติของฟินแลนด์ปี 2014 อาจสร้างความเข้าใจผิดๆ ว่าฟินแลนด์ยกเลิกการแบ่งเนื้อหาเป็นรายวิชา ความจริงแล้วไม่ใช่เลย ตรงกันข้าม ฟินแลนด์ตัดสินใจเน้นการเรียนรู้ที่มีการบูรณาการและเป็นพหุวิทยาการ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เกรด 1-9) กำหนดให้นักเรียนแต่ละระดับชั้นมีโอกาสอย่างน้อยปีละครั้งที่จะได้เรียนรู้ผ่านชุดการเรียนรู้ผ่านสหวิทยาการ โดยกระตุ้นให้ครูชักจูงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ ครูชาวฟินแลนด์บางคนเรียกสิ่งนี้ว่า “การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน” (Phenomenon-Based Learning – PBL) ระบบการศึกษาฟินแลนด์มอบอิสระและอำนาจตัดสินใจให้แก่เด็กนักเรียนเช่นกัน กล่าวคือ ประเทศฟินแลนด์นำ “การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน” มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

 

ฟินแลนด์ตัดสินใจเน้นการเรียนรู้ที่มีการบูรณาการและเป็นพหุวิทยาการ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เกรด 1-9) กำหนดให้นักเรียนแต่ละระดับชั้นมีโอกาสอย่างน้อยปีละครั้งที่จะได้เรียนรู้ผ่านชุดการเรียนรู้ผ่านสหวิทยาการ โดยกระตุ้นให้ครูชักจูงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ ครูชาวฟินแลนด์บางคนเรียกสิ่งนี้ว่า “การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน” (Phenomenon-Based Learning – PBL)

 

ฟินแลนด์ไม่เพียงมอบอิสระและอำนาจตัดสินใจแก่ครู แต่ระบบการศึกษาฟินแลนด์เชื่อว่าห้องเรียนก็เป็นของเด็กด้วย ในชุดการเรียนสหวิชา เด็กจะแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ตั้งคำถามวิจัย พัฒนาคำถาม และสมมติฐาน จากนั้นก็ลงมือเก็บข้อมูล อาจมีการนำเสนองานอันหลากหลาย อย่างนักเรียนชายผมยาวคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องกีต้าร์โปร่งพบว่าขนาดของโพรงเสียงส่งผลต่อระดับเสียงของตัวโน้ต เด็กอีกคนทำเรื่องงานประดิษฐ์ที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตและได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งด้วย เด็กบางกลุ่มอาจสนใจประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องจิตวิทยามนุษย์ เพราะพวกเขาอยากหาคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุกราดยิงหรือการฆ่าตัวตายในโรงเรียน กรณีเช่นนี้ ครูจะขออนุญาตผู้ปกครองก่อนจะยอมให้เด็กๆ สัมภาษณ์นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน

 

สร้างผู้เรียนที่รับผิดชอบเป็น

ในคาบเรียนที่ชื่อ “รายการที่ต้องทำ” เด็กๆ มีหลายอย่างต้องทำ รวมถึงการบ้านคณิตศาสตร์ตามอัธยาศัยด้วย ระหว่างนั้นเอง เด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ทำการบ้านเสร็จแล้ว หยิบสมุดของตัวเองมาที่โต๊ะกลมหลังห้อง เปิดสมุดเฉลยแล้วพลิกหาหน้าที่ตรงกับงานของตัวเอง เขาตรวจการบ้านตัวเองได้ และเห็นสิ่งนี้ได้ในโรงเรียนประถมทั่วฟินแลนด์ แม้กระทั่งกับนักเรียนเกรดหนึ่ง

นี่เป็นตัวอย่างของกระบวนการที่บ่มเพาะให้นักเรียนดูแลและรับผิดชอบตัวเองได้ และสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเชื่อใจที่ครูมอบแก่นักเรียนเช่นเดียวกับที่ตัวเองได้รับ แน่นอนว่าหากความเชื่อใจที่ครูมอบให้ถูกใช้ในทางที่ผิด ทั้งครูและนักเรียนอาจถอยหลังสักก้าวเพื่อเริ่มก้าวใหม่อย่างมั่นคงขึ้น ดังที่ครูคนหนึ่งพูดกับนักเรียนว่า “เอาละ คราวนี้พวกเราได้ลองทำแล้ว และดูเหมือนว่าเรายังต้องฝึกอีกมาก เพราะฉะนั้น เราอาจจำเป็นต้องถอยหลังไปสักก้าว” นี่ละคือระบบฝึกหัดความเชื่อใจ และนี่ละคือการเรียนรู้

กลยุทธ์การบ่มเพาะผู้เรียนที่รับผิดชอบเป็น มีวิธีปฏิบัติอันเรียบง่ายอย่างหนึ่งที่เห็นได้ทั่วไปในฟินแลนด์ ซึ่งครูจะจับคู่กับครูต่างระดับชั้นอีกคนหนึ่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองชั้นเรียนเป็นเวลาหนึ่งปี วิธีนี้เรียกว่า กุมมิต (kummit แปลว่าพ่อแม่ทูนหัว) วิธีนี้เป็นการผูกพันชั้นเรียนทั้งสองนานสิบเดือน ประกอบด้วยนักเรียนที่จับคู่กันและคอยช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ และยังผนึกกำลังครูซึ่งมีภารกิจร่วมกันในการทำสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็กๆ โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระของครู แม้แนวทางนี้จะมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนเป็นหลัก แต่ครูมือใหม่ก็ได้รับคำแนะนำที่สำคัญและเป็นธรรมชาติจากครูที่มีประสบการณ์มากกว่าด้วย

 

ครูจะจับคู่กับครูต่างระดับชั้นอีกคนหนึ่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองชั้นเรียนเป็นเวลาหนึ่งปี วิธีนี้เรียกว่า กุมมิต (kummit แปลว่าพ่อแม่ทูนหัว) ประกอบด้วยนักเรียนที่จับคู่กันและคอยช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ และยังผนึกกำลังครูซึ่งมีภารกิจร่วมกันในการทำสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็กๆ แม้แนวทางนี้จะมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนเป็นหลัก แต่ครูมือใหม่ก็ได้รับคำแนะนำที่สำคัญและเป็นธรรมชาติจากครูที่มีประสบการณ์มากกว่าด้วย

 

อันนิ-มาริ อันต์ติลา (Anni-Mari Anttila) ครูโรงเรียนเอสโป ได้พัฒนากรอบการทำงานที่หลากหลายเพื่อบ่มเพาะอำนาจการตัดสินใจของนักเรียนเกรด 3-6 ของเธอ เรียกว่า “ความเชื่อใจสามระดับ” (Three Levels of Trust) เป็นวิธีที่เกิดจากความเชื่อมั่นของเธอที่ว่า นักเรียนควรได้สนุกกับอิสรภาพตามสัดส่วนของความสามารถในการกำกับดูแลตัวเอง กล่าวคือระดับการกำกับดูแลตัวเองเป็นตัวกำหนดว่าควรมอบอิสรภาพแก่เด็กๆ มากเพียงใด เช่น ความเชื่อใจระดับ 1 นักเรียนทำงานได้เฉพาะในชั้นเรียน ความเชื่อใจระดับ 2 นักเรียนทำงานในชั้นเรียนหรือในโถงทางเดินที่ครูจะได้ยินหรือสังเกตงานของพวกเขาได้เมื่อชะเง้อออกมาดูนอกห้อง ส่วนความเชื่อใจระดับ 3 นักเรียนทำงานที่ใดก็ได้บนชั้นสาม รวมถึงพื้นที่ที่ครูมองไม่เห็นหรือได้ยินไม่ชัดได้

 

 

 

เล่นเป็นทีม

“คุณภาพครู” กลายเป็นศัพท์ที่ยอมรับให้ใช้กันเพื่อวัดศักยภาพของครูแต่ละคนบนพื้นฐานคะแนนการสอบวัดระดับของนักเรียน โดยละเลยปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมและปัญหาเชิงโครงสร้าง หลีกเลี่ยงการปฏิรูปเชิงระบบ เพียงเพราะเชื่อว่า ขอแค่ครูเก่ง นักเรียนก็เก่ง จากนั้นก็แยกครูที่ดีกับครูที่แย่ออกจากกันโดยใช้มาตรฐานที่ชวนกังขาอย่างคะแนนสอบของนักเรียน

ชาวฟินแลนด์ดูจะเข้าใจว่า ครูและโรงเรียนเพียงอย่างเดียวไม่อาจสร้างปาฏิหาริย์ได้ พวกเขาจึงเน้นไปที่ศักยภาพแบบกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะของ “ครูยอดมนุษย์” คนใดคนหนึ่ง งานวิจัยพบว่าโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพแห่งอื่นๆ นอกจากในฟินแลนด์ก็มองว่าการสอนเป็น “กีฬาประเภททีม ไม่ใช่ความกล้าหาญของคนคนเดียว” ทุกโรงเรียนจึงจำเป็นต้องบ่มเพาะสิ่งที่เรียกว่าทุนทางสังคม

ทุนทางสังคมคือเครือข่ายความสัมพันธ์ที่บุคคล กลุ่ม หรือหน่วยบางอย่างสร้างขึ้นและใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ในโรงเรียนที่มีทุนทางสังคมดี เราจะเห็นครูพูดถึงงานของตนในฐานะวิถีปฏิบัติแบบร่วมมือร่วมแรง พวกเขาเข้าถึงชั้นเรียนของครูคนอื่นได้เป็นปกติ ประชุมกันเป็นประจำ และร่วมกันวางแผน โรงเรียนเช่นนี้มีความเชื่อใจในตัวครูสูงกว่าโรงเรียนที่มีทุนทางสังคมต่ำ โดยการสร้างทุนทางสังคมนั้นมีวัตถุดิบสามอย่างได้แก่

 

  1. ตารางสอนที่ยืดหยุ่น: เพราะอาชีพครูมีมากกว่าการสอนในห้องเรียน ครูยังต้องการเวลาสำหรับพัฒนาตัวเอง เตรียมบทเรียน ขัดเกลาบทเรียน ประเมินและให้ผลตอบรับแก่นักเรียน รวมถึงการร่วมกันเรียนรู้ในทางวิชาชีพและงานวิจัย
  2. ศูนย์ความร่วมมือ: ตารางเรียนอันเป็นเอกลักษณ์ของฟินแลนด์ (กำหนดให้หนึ่งคาบยาว 60 นาที แต่ให้สอนอย่างน้อย 45 นาที จะสอนครบชั่วโมงก็ได้แต่ไม่บังคับ) ก่อให้เกิดวัฒนธรรมห้องพักครูที่กรุ่นกลิ่นกาแฟ การพูดคุยอย่างเป็นกันเอง และความสงบ เป็นสถานที่แห่งการพักผ่อน สร้างความร่วมมือระหว่างครู และดึงพลังจากเพื่อนร่วมงาน ห้องพักครูคือพลังชีวิตในฐานะครู
  1. วิธีคิดแบบอิงกลุ่ม: ในระบบโรงเรียนที่มีศักยภาพหลายแห่งซึ่งให้ครูมีตารางสอนที่ยืดหยุ่นและมีศูนย์ความร่วมมือ การพัฒนาทางวิชาชีพมักเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาพิเศษ แต่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การสอนและการเรียนรู้โดยทั่วไปในแต่ะวัน แต่ละสัปดาห์ ซึ่งประสานเกี่ยวโยงกันอย่างไม่อาจแยกขาด นอกจากนี้ ชาวฟินแลนด์ยังเชื่อในความสำคัญของการบ่มเพาะทุนทางสังคม สุขภาวะของครูคนหนึ่งๆ เป็นเรื่องส่วนรวมที่ต้องดูแลกัน เพื่อประโยชน์สุขของบุคลากรและเพื่อประโยชน์ต่อโรงเรียนด้วย

 

“ท้ายที่สุดแล้ว ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ประสบความสำเร็จได้เพราะหลักปรัชญาของที่นี่ ไม่ใช่ความรับผิดชอบชอบของครูคนใดคนหนึ่ง หรือการเปรียบเทียบกันระหว่างโรงเรียน แต่เป็นปรัชญาของความเท่าเทียม ชุมชน และความสำเร็จร่วมกัน” – ยอร์มา โอลลิลา (Jorma Ollila) อดีตซีอีโอของโนเกีย

 

แบ่งปันความเป็นผู้นำ

โรงเรียนฟินแลนด์มีระบบที่บ่มเพาะความเป็นผู้นำทั้งในตัวครูและนักเรียน โดยอาจเริ่มจากการที่ผู้บริหารหรือผู้อำนวยการโรงเรียน “เปิดประตู”

หลายครั้ง บรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษเกิดขึ้นจากการปะทะและแบ่งแยกแบบ “พวกเรา vs พวกเขา” หนึ่งในกระบวนทัศน์พื้นฐานที่ใช้ในการบริหารโรงเรียนและแนวทางสร้างทีมเวิร์กคือแนวทางที่แพร่หลายที่สุดในฟินแลนด์คือ โยรือ (Jory ย่อมาจาก johtoryhmä ที่แปลว่ากลุ่มบริหารจัดการ) โยรือคือทีมผู้นำที่ขับเคลื่อนด้วยครู อาจประกอบด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนและครูคนอื่นๆ อีกห้าคน แล้วสมาชิกกลุ่มโยรือนี้จะไปเป็นผู้นำของกลุ่มครูที่สุ่มแบ่งเป็นทีมกันในภายหลัง วิธีนี้ช่วยให้ครูที่อยากแบ่งปันความเห็นหรือสะท้อนความคิดแต่ไม่อยากคุยกับผู้อำนวยการโดยตรง จะได้พูดคุยผ่านสมาชิกโยรือ

นอกจากนี้ ในฟินแลนด์ ผู้อำนวยการเป็นครูที่ผ่านการฝึกฝนและมักใช้เวลาหลายปีในชั้นเรียนก่อนจะไปเป็นผู้บริหารโรงเรียน ผู้อำนวยการจำนวนมากยังคงมีวิชาสอนในแต่ละสัปดาห์ สำหรับที่นี่แล้ว มีความคาดหวังโดยทั่วไปว่าผู้อำนวยการต้องวางเท้าอย่างน้อยข้างหนึ่งไว้ในห้องเรียนเสมอ

 

ในฟินแลนด์ ผู้อำนวยการเป็นครูที่ผ่านการฝึกฝนและมักใช้เวลาหลายปีในชั้นเรียนก่อนจะไปเป็นผู้บริหารโรงเรียน ผู้อำนวยการจำนวนมากยังคงมีวิชาสอนในแต่ละสัปดาห์ สำหรับที่นี่แล้ว มีความคาดหวังโดยทั่วไปว่าผู้อำนวยการต้องวางเท้าอย่างน้อยข้างหนึ่งไว้ในห้องเรียนเสมอ

 

ส่วนการส่งเสริมความเป็นผู้นำในตัวนักเรียนนั้น กฎหมายฟินแลนด์กำหนดให้โรงเรียนทั้งหมดต้องจัดให้มีสภานักเรียนแม้แต่ระดับประถม โดยพวกเขาจะมีบทบาทต่อประเด็นที่กระทบต่อตัวพวกเขาเอง บางโรงเรียนก็มีระบบที่ให้นักเรียนซึ่งโตกว่าจับกลุ่มกับนักเรียนที่อายุน้อยกว่าเพื่อให้เด็กวัยรุ่นได้ช่วยเหลือและนำเด็กวัยรุ่นคนอื่น หรือในโรงเรียนประถม ครูยังอาจแต่งตั้งหัวหน้าโต๊ะซึ่งจะนำเพื่อนๆ คนอื่นในโต๊ะ และตำแหน่งนี้จะเวียนไปยังนักเรียนคนอื่นๆ ด้วย

 

เชื่อใจกระบวนการ

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์เข้าใจดีว่า “เด็กทุกคนมีความต้องการเฉพาะ” และเด็กทุกคนเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นต้องเรียนได้หากมีเงื่อนไขการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทำให้ฟินแลนด์ต่างจากประเทศตรงที่ 1) ครูทั้งหมดต้องเรียนวิชาการศึกษาพิเศษ 2) นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะทำงานกันเป็นทีมเพื่อเข้าช่วยเหลือเด็กๆ ให้เร็วที่สุด รวมถึงมีมาตรการเชิงป้องกันก่อนเกิดปัญหาด้วย 3) ระบบสาธารณสุขทำงานร่วมกับนักการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่ต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษ  หนึ่งในคำอธิบายเรื่องที่ฟินแลนด์มีชัยเหนือประเทศอื่นทั้งด้านความสำเร็จในการเรียนรู้และความเท่าเทียม ก็คือวิถีทางที่เด็กผู้มีความต้องการพิเศษถูกค้นพบและได้รับความช่วยเหลือ รวมถึงระบบการศึกษาพิเศษเช่นนี้ด้วย

 

 

จุดเด่นอีกประการคือการประเมินนักเรียน ที่นี่ไม่มีการประเมินมาตรฐานนักเรียนจนกว่าจะจบชั้นมัธยมปลายและสอบเข้ามหาวิทยาลัย การประเมินการศึกษาของฟินแลนด์ประกอบด้วย 1) โรงเรียนใช้การประเมินโดยสุ่มตัวอย่าง การประเมินเนื้อหาการสอน การประเมินตนเอง และรายงานจากองค์การบริหารท้องถิ่น 2) นักเรียนจะได้รับการประเมินจากครูเป็นหลัก ครูมีอิสระในการออกแบบการทดสอบตามที่เห็นสมควร

ส่วนการประเมินครูนั้น ฟินแลนด์มีจุดเด่นอยู่ที่การสนับสนุนครูในการทำงานแต่ละวันและให้ผลตอบรับแก่ครูในเชิงประเมินค่าด้วยวิธีที่ดำเนินอย่างเป็นกันเอง มากกว่าจะวิจารณ์แบบสรุปรวบยอด เป็นทางการ และส่งผลกระทบกระเทือนสูง หรือผู้อำนวยการอาจใช้ “การพูดคุยแบบเจาะจง” ประจำปี โดยใช้แบบฟอร์มที่มุ่งพิจารณาองค์ประกอบสี่ประการคือ ทักษะในการร่วมมือ การริเริ่ม การปรับตัว และศักยภาพเฉพาะด้านของครู

 

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์เข้าใจดีว่า “เด็กทุกคนมีความต้องการเฉพาะ” และเด็กทุกคนเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นต้องเรียนได้หากมีเงื่อนไขการเรียนรู้ที่เหมาะสม

 

ระบบการศึกษาและโรงเรียนที่ดีไม่อาจสร้างได้ด้วย “ครูยอดมนุษย์” ไม่กี่คน เพราะนี่เป็นกีฬาประเภททีม และต้องเป็นทีมที่เชื่อใจกัน นอกจากเชื่อใจในตัวครูแล้ว ยังต้องถักทอความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างโรงเรียน ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปกครอง ครู ตลอดจนเด็กนักเรียน

ผู้เขียนย้ำเสมอว่าการสร้างและธำรงความเชื่อใจนั้นไม่ง่ายเลย ด้วยธรรมชาติของมันที่ได้มายากทว่าสูญเสียไปง่ายๆ แต่ก็อย่างที่ครูคนหนึ่งพูดไว้ในหนังสือเล่มนี้ “ถ้าคุณเอาแต่จ้องมอง คุณเรียนรู้ไม่ได้หรอก” เหมือนการปั่นจักรยานนั่นละ ลองดูก่อน เดี๋ยวก็เรียนรู้และเป็นเอง

 

 

ทำความรู้จักผู้เขียนเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้

 

เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์

Pasi Sahlberg และ Timothy D. Walker เขียน

ทศพล ศรีพุ่ม แปล

256 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่