รู้จักปาสิ ซอห์ลเบิร์ก และทิโมธี วอล์กเกอร์ ผู้เขียน In Teachers We Trust

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) เป็นนักการศึกษาชาวฟินแลนด์ผู้มีชื่อเสียง ถูกบ่มเพาะในระบบการศึกษาที่เน้นสุขภาวะและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ขณะที่ทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ (Timothy D. Walker) เป็นครูชาวอเมริกันที่ต้องสาละวนกับการผลักดันเด็กๆ ให้มีคะแนนสูงในการทดสอบมาตรฐาน และถูกรัดรึงจนสิ้นเรี่ยวแรงด้วยระบบการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ครูในสหรัฐอเมริกา ดูอย่างไรเส้นทางของคนทั้งสองก็ไม่อาจบรรจบกันได้เลย หากไม่ใช่เพราะทิโมธีตัดสินใจเริ่มต้นอาชีพครูใหม่ในเฮลซิงกิ และฉายความเป็นไปในระบบการศึกษาชั้นนำนี้ให้คนทั่วโลกเห็นผ่านปลายปากกาของตนเอง

จุดเริ่มต้นการเดินทางของทิโมธีอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ครูชาวไทยมีความรู้สึกร่วมได้

ทิโมธีเริ่มต้นประโยคแรกในหนังสือ Teach Like Finland: สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นเหมือนสมุดปูมเดินทางของเขาว่า “ในปีแรกของการเป็นครูที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ผมดิ่งสู่ภาวะหมดไฟอย่างรวดเร็ว”

 

 

ติดตามด้วยกิจวัตรประจำวันที่อาจคล้ายคลึงกับของใครหลายคน

“ในวันทำงาน ผมจะไปถึงโรงเรียนประมาณหกโมงครึ่ง และกลับออกมาบางครั้งก็เย็นค่ำ พร้อมเป้อัดแน่นด้วยคู่มือการสอนติดมาด้วยเป็นปกติ เวลาที่ไม่ได้อยู่โรงเรียน ผมพยายามตัดขาดจากเรื่องงานแต่ทำไม่ได้ ช่วงอาหารเช้า ผมนั่งทวนแผนการสอนอย่างกระวนกระวาย และในตอนค่ำ เมื่อล้มตัวบนเตียงก็หมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ทำ ‘ผิดพลาด’ ไป ผมตื่นมากลางดึกสี่ห้าครั้งแทบทุกคืน เช้าบางวันก็วิตกกังวลมากเสียจนต้องวิ่งเข้าห้องน้ำในอพาร์ตเมนต์ไปอาเจียน มันน่าแขยงครับ ผมรู้”

สถานการณ์ระบบการศึกษาสหรัฐอเมริกาแทบไม่แตกต่างจากระบบการศึกษาไทย คือมีทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนทางเลือกซึ่งมีค่าเล่าเรียนสูงต่ำแตกต่างกัน และแทนที่จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมความหลากหลายในสังคมดังเจตนาแรกเริ่ม มันกลับเป็นอุปกรณ์ถ่างช่องว่างระหว่างชนชั้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อผสมกับภาระงานอันสาหัสของครู และการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของครูที่เป็นไปเพื่อจับผิดและบังคับครูให้บรรลุ “มาตรฐาน” ที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้กำหนด ก็ส่งผลให้ครูจำนวนมากหมดไฟอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังเริ่มต้นประกอบอาชีพ โดยครูกว่าร้อยละ 50 จะออกจากวิชาชีพภายในห้าปีเท่านั้น

ทิโมธีคิดว่าเขาเองก็คงมีชะตากรรมไม่แตกต่างกัน

“ก่อนเริ่มสอนปีแรกนี้ผมกระตือรือร้นมาก และมั่นใจเหลือเกินว่าจะ รัก งานนี้ แต่เมื่อเดือนตุลาคมมาถึงก็เริ่มยอมรับกับตัวเองว่าผม เกลียด งานนี้ มันไม่ได้นำความเบิกบานมาให้ อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามเลย”

ภรรยาชาวฟินแลนด์ของทิโมธีซึ่งเคยเป็นครูทดแทนในเฮลซิงกิได้แต่เฝ้าดูกิจวัตรประจำวันของสามีอย่างฉงนฉงาย และพร่ำบอกว่าเขาไม่ควรต้องเหน็ดเหนื่อยถึงเพียงนี้ จากประสบการณ์ของเธอและเพื่อน ครูในประเทศที่มีระบบการศึกษาระดับแนวหน้าชนิดที่แทบไร้คู่แข่งบนเวทีประเมินสมรรถภาพผู้เรียนระดับนานาชาติไม่เคยต้องเหน็ดเหนื่อยจนสายตัวแทบขาดเหมือนทิโมธี พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรื่นรมย์ และมีศรัทธาในตนเองอย่างเต็มเปี่ยม

ในที่สุด เมื่อสมดุลระหว่างชีวิตและการงานพังทลาย เมื่อทิโมธีไม่อาจประคับประคองทั้งตนเอง นักเรียน และครอบครัวได้ต่อไป เขาและภรรยาพร้อมลูกน้อยวัยไม่เกินห้าขวบสองคนจึงต้องโยกย้ายไปตั้งรกรากและเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เฮลซิงกิ แม้ทิโมธีจะคุ้นเคยกับเฮลซิงกิดีกระทั่งไม่คิดว่าตนจะมีประสบการณ์ตื่นตกใจทางวัฒนธรรมแล้ว (culture shock) โรงเรียนในฟินแลนด์ก็ยังทำให้เขาประหลาดใจ และหลายครั้งก็หวาดหวั่น ทั้งด้วยจำนวนชั่วโมงการทำงานของครูที่น้อย การบ้านที่เบาบาง ระยะเวลาเรียนที่สั้นและมีเวลาพักแทรกสม่ำเสมอ ตลอดจนความไว้เนื้อเชื่อใจของสังคมต่อครู

 

ก่อนเริ่มสอนปีแรกนี้ผมกระตือรือร้นมาก และมั่นใจเหลือเกินว่าจะ รัก งานนี้ แต่เมื่อเดือนตุลาคมมาถึงก็เริ่มยอมรับกับตัวเองว่าผม เกลียด งานนี้ มันไม่ได้นำความเบิกบานมาให้ อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามเลย

 

ด้วยความประทับใจเหล่านั้น ทิโมธีเขียนบล็อกเล็กๆ ชื่อ Taught by Finland เพื่อบันทึกเรื่องราวการเดินทางของเขาในฟินแลนด์ กระทั่งได้รับการติดต่อให้เขียนเป็นหนังสือ และได้รับการผลักดันจากปาสิ ซอห์ลเบิร์ก ที่สนใจเขาในฐานะ “คนนอก” ผู้พิสูจน์ว่าความสำเร็จของระบบการศึกษาฟินแลนด์นั้น “เรียนรู้” ได้

แต่ฟินแลนด์สร้างระบบการศึกษาในฝันนี้ได้อย่างไร

 

ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก นักการศึกษาและนักเขียนชาวฟินแลนด์ผู้มากประสบการณ์ และเป็นผู้นำด้านการศึกษาในหลากหลายองค์การระหว่างประเทศ อธิบายว่าความสำเร็จของระบบการศึกษาฟินแลนด์งอกงามจากเนื้อดินที่มีแร่ธาตุทรงคุณประโยชน์ห้าประการ ได้แก่

 

  • การให้ความสำคัญแก่สุขภาวะของเด็กทั้งในและนอกโรงเรียน การอุดหนุนงบประมาณและทรัพยากรอย่างเพียงพอกระทั่งฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้
  • ผู้นำในระบบการศึกษาซึ่งมีที่มาจากครูที่มีศักยภาพและประสบการณ์ ตลอดจนลำดับขั้นการบังคับบัญชาในโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวราบ เพราะครูส่วนใหญ่ในฟินแลนด์ได้รับการสนับสนุนให้มีอำนาจตัดสินใจและกำหนดนโยบายในระดับต่างๆ ทำให้ผู้นำเหล่านี้มีประสบการณ์เชื่อมโยงกับบริบทการศึกษาของตนอย่างแท้จริง
  • การออกแบบนโยบายว่าด้วยเด็กและเยาวชนอย่างระมัดระวัง ภาคส่วนต่างๆ ปฏิบัติงานโดยสอดประสานกันเพื่อรับรองสวัสดิภาพของทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ
  • การมีระบบโรงเรียนที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของความเหลื่อมล้ำ ฟินแลนด์มีเพียงโรงเรียนประสม (comprehensive school) ที่รับนักเรียนโดยไม่มีการคัดเลือกหรือแบ่งแยกด้วยเกณฑ์ใดๆ ทำให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม และทำให้โรงเรียนต้องให้ความสำคัญแก่ทุกสาขาวิชาอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ เมื่อการแข่งขันระหว่างโรงเรียนน้อย ทุกโรงเรียนจึงมีแนวโน้มจะเป็นโรงเรียนที่ดีเท่าๆ กัน นักเรียนได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมคละชนชั้นและคละความสนใจตลอดเวลา
  • เนื่องจากปัจจัยก่อนหน้า เมื่อนักเรียนมีความต้องการหลากหลาย ครูจึงจำเป็นต้องมีความสามารถมากด้วย ฟินแลนด์ผลักดันการฝึกหัดครูสู่ระดับปริญญาโทซึ่งเน้นการวิจัยเหมือนวิชาชีพที่เป็นที่เคารพอื่นๆ และให้ครูมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายด้านการศึกษา ทำให้ครูและโรงเรียนได้รับความไว้วางใจ และอาชีพครูเป็นที่ดึงดูดใจของผู้มีความสามารถ

 

ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก

 

หนังสือว่าด้วยการศึกษาที่ปาสิเขียนล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสำเร็จเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Let the Children Play: How more play will save our schools and help children thrive ซึ่งกล่าวถึงการเล่นและสุขภาวะการเรียนรู้ของเด็กๆ หรือ Finnish Lessons 3.0: What Can the World Learn from Educational Change in Finland ที่ถอดบทเรียนการก้าวกระโดดของระบบการศึกษาฟินแลนด์

 

ฟินแลนด์มีเพียงโรงเรียนประสม (comprehensive school) ที่รับนักเรียนโดยไม่มีการคัดเลือกหรือแบ่งแยกด้วยเกณฑ์ใดๆ ทำให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม และทำให้โรงเรียนต้องให้ความสำคัญแก่ทุกสาขาวิชาอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ เมื่อการแข่งขันระหว่างโรงเรียนน้อย ทุกโรงเรียนจึงมีแนวโน้มจะเป็นโรงเรียนที่ดีเท่าๆ กัน นักเรียนได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมคละชนชั้นและคละความสนใจตลอดเวลา

 

จุดนี้เองที่เส้นทางของปาสิ ซอห์ลเบิร์ก และทิโมธี วอล์กเกอร์มาบรรจบกันอีกครั้ง เมื่อนักการศึกษาชาวฟินแลนด์ได้พบครูชาวอเมริกันผู้เฝ้าคิดว่าเหตุใดการเป็นครูในเฮลซิงกิจึงทำให้เขามีความสุขและสร้างสรรค์การเรียนรู้อุดมรอยยิ้มให้เด็กๆ ได้ คนทั้งสองได้คำตอบในที่สุด ว่ากุญแจสำคัญสู่สุขภาวะของครูอันนำมาซึ่งสุขภาวะของผู้เรียน “วัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจ” ครูในโรงเรียน

ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นองค์ประกอบที่ทิโมธีสัมผัสได้ในทุกระดับของระบบการศึกษาฟินแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างครูและนักเรียน ระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง ระหว่างนักเรียน หรือระหว่างครู การจัดการเรียนรู้โดยไม่เฝ้าจับผิดนักเรียนทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ งอกงาม กระทั่งพวกเขาสามารถนำการเรียนรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของตนได้ นอกจากนี้ การไม่เฝ้าจับผิดยังเป็นวิธีบ่มเพาะวินัยที่ดีกว่าการควบคุม โดยเฉพาะเมื่อผู้เรียนตระหนักได้ว่าตนเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตและการเรียนรู้ของตนเอง

 

การจัดการเรียนรู้โดยมอบอิสระและความไว้เนื้อเชื่อใจให้ผู้เรียน

 

ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างครูก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการลดความเครียดของครู ครูในฟินแลนด์ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวแม้จะประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พร้อมปฏิบัติการสอน หรือปฏิบัติการสอนได้ไม่เต็มที่ในวันหนึ่งๆ เพราะพวกเขาเชื่อว่าเพื่อนร่วมอาชีพจะให้ความช่วยเหลือ และตนจะไม่ถูกลงโทษสำหรับความผิดพลาดนั้น เพราะลำดับขั้นการบังคับบัญชาในฟินแลนด์เป็นแนวราบดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้แม้จะมีการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของครู ก็มักจะเป็นไปเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานของครูโดยผู้ที่เข้าใจปัญหาและข้อจำกัดของครูอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เพราะการผลิตครูในฟินแลนด์นั้นต้องใช้ทั้งงบประมาณและทรัพยากรมหาศาล ต้องคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างเข้มงวด และเฝ้าฟูมฟักว่าที่ครูตลอดระยะเวลาที่ศึกษาในสถาบันผลิตครู การมุ่งจับผิดและไสส่งครูจากวิชาชีพเพราะเชื่อว่าจะมีครูคนอื่นๆ ก้าวเข้ามาทดแทนจึงไม่เกิดขึ้น เมื่อครูไม่รู้สึกว่าตนถูกจับผิด ไม่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นสินค้าบนสายพานการผลิต พวกเขาก็จะไม่ปฏิบัติต่อนักเรียนเช่นนั้นด้วย ครูเหล่านี้จะมอบโอกาสให้นักเรียนลองผิดลองถูกและเติบโตบนเส้นทางของตน เพราะครูไม่ถูกลงโทษด้วยพฤติกรรมที่ “ไม่ได้มาตรฐาน” ของนักเรียนแต่อย่างใด

 

เมื่อครูไม่รู้สึกว่าตนถูกจับผิด ไม่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นสินค้าบนสายพานการผลิต พวกเขาก็จะไม่ปฏิบัติต่อนักเรียนเช่นนั้นด้วย ครูเหล่านี้จะมอบโอกาสให้นักเรียนลองผิดลองถูกและเติบโตบนเส้นทางของตน เพราะครูไม่ถูกลงโทษด้วยพฤติกรรมที่ “ไม่ได้มาตรฐาน” ของนักเรียนแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม ทิโมธีระบุว่าความไว้เนื้อเชื่อใจดังกล่าว “ไม่ได้หวือหวาแบบโครงการไอแพ็ดหนึ่งเครื่องต่อเด็กหนึ่งคน (1:1 iPad) และไม่ได้เป็นนามธรรมเชิงอุดมคติแบบ ‘แค่พวกเราเชื่อมั่นในตัวนักเรียนก็พอ!’” หนทางสู่การทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นวัฒนธรรมซึ่งหยั่งรากลึกในระบบการศึกษานั้นแสนทรหด สองนักการศึกษาต่างสัญชาติจึงต้องจับมือกันเพื่อเขียน In Teachers We Trust: The Finnish Way to World-Class Schools เพื่ออธิบายว่าการปฏิรูปการฝึกหัดครูให้พวกเขาพร้อมช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการหลากหลายและสนับสนุนเพื่อนร่วมวิชาชีพ การพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการที่สนับสนุนครูและเด็กในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่ล้วนมีความจำเป็นต่อความเจริญของสังคม และความเชื่อมั่นใน “ความหลากหลาย” ตลอดจนหนทางสู่ความสำเร็จที่แตกต่างกัน สำคัญต่อการมีระบบการศึกษาเปี่ยมคุณภาพอย่างไร

 

ในหนังสือเล่มนี้ นักการศึกษาทั้งสองได้รวบยอดแนวทางสู่ผลลัพธ์อันพึงประสงค์นั้นเป็นหลักเจ็ดประการ ได้แก่

 

  • การฝึกหัดครูให้เป็นผู้สามารถวิเคราะห์ ดำเนินการวิจัย และปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน รวมถึงสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้
  • การมีระบบแนะแนวและถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างครูที่ราบรื่นและทรงประสิทธิภาพ
  • การให้อิสระแก่ครูภายในกรอบความคิดหลวมๆ ว่าด้วยผลลัพธ์อันพึงประสงค์ เผื่อแผ่พื้นที่สำหรับการเติบโตและใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน ไม่ใช่รัดรึงครูด้วยกฎและมาตรฐานที่ผู้อื่นเป็นผู้กำหนด
  • การบ่มเพาะผู้เรียนให้สามารถรับผิดชอบการเติบโตและการเรียนรู้ของตนได้ ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในการกำหนดเส้นทางการเรียนรู้ของตนด้วย
  • การปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันและเกื้อกูลกันและกันของครู ไม่ให้ครูต้องวิตกกังวลเพราะถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง
  • การแบ่งปันความเป็นผู้นำทางการศึกษาในวิชาชีพ มอบโอกาสให้ความคิดริเริ่มและนวัตกรรมการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้อันหลากหลายได้ผลิบาน
  • การเชื่อมั่นในกระบวนการเติบโตของทั้งครูและผู้เรียน มอบโอกาสและพื้นที่ในการลองผิดลองถูก ตลอดจนแสวงหาเส้นทางการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใคร

 

วิดีโอแนะนำหนังสือ In Teachers We Trust

 

ในศตวรรษที่ระบบการศึกษาอันทรงประสิทธิภาพเป็นที่ต้องการมากกว่ายุคใด เพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมต่อการดำเนินชีวิตท่ามกลางความผันผวนของโลกในอนาคต หนังสือเล่มนี้ดูจะมาถึงมือนักอ่านชาวไทยและนักอ่านทั่วโลกอย่างถูกที่ถูกเวลาที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ควรจะส่งท้ายบทความนี้ด้วยถ้อยคำส่งท้ายของปาสิ ซอห์ลเบิร์กในคำนำหนังสือ Teach Like Finland ที่ว่า แม้จะมีนักการศึกษาและผู้กำหนดนโยบายจากหลายประเทศถามเขาว่าจะปรับใช้ภูมิปัญญาของฟินแลนด์ในประเทศปลายทางได้อย่างไร ปาสิก็มักจะตอบอย่างชัดเจนว่าอย่าทำเช่นนั้นเลย

“ไม่ว่าอย่างไร ผมก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะถ่ายโอนระบบการศึกษาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่มีชีวิตและวัฒนธรรมซับซ้อนเช่นเดียวกับพืชหรือต้นไม้ซึ่งจะเติบโตได้ดีก็แต่ในดินและภูมิอากาศบ้านเกิดเท่านั้น” ดังนั้น หากต้องการผลลัพธ์เช่นระบบการศึกษาฟินแลนด์ หนทางที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้กรอบความคิด เป้าหมาย และแนวทางของระบบการศึกษาแนวหน้านี้ แล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสังคม พร้อมกับที่ปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนให้เกื้อหนุนระบบการศึกษาและสุขภาวะของมนุษย์ในระบบการศึกษานั้นอย่างแท้จริง

 

หากต้องการผลลัพธ์เช่นระบบการศึกษาฟินแลนด์ หนทางที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้กรอบความคิด เป้าหมาย และแนวทางของระบบการศึกษาแนวหน้านี้ แล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสังคม พร้อมกับที่ปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนให้เกื้อหนุนระบบการศึกษาและสุขภาวะของมนุษย์ในระบบการศึกษานั้นอย่างแท้จริง

 

เหมือนการศึกษาฟินแลนด์อย่างไรละ กำหนดเป้าหมายและกรอบความคิดคร่าวๆ ร่วมกัน จากนั้นมอบโอกาสให้ทุกคนเติบโตอย่างสร้างสรรค์บนเส้นทางที่เหมาะสมกับตนเอง!

ปัจจุบัน ปาสิ ซอห์ลเบิร์กเป็นศาสตราจารย์ด้านนโยบายด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย และทิโมธี วอล์กเกอร์ยังประกอบอาชีพครูอย่างมีความสุขในฟินแลนด์ ติดตามผลงานวิชาการของปาสิ ซอห์ลเบิร์กได้ที่เว็บไซต์ https://pasisahlberg.com/ รวมถึงบัญชีทวิตเตอร์ของเขาคือ @pasi_sahlberg นอกจากนี้ ยังติดตามความเคลื่อนไหวและบทเรียนหลากหลายของทิโมธีในฟินแลนด์ได้ที่ช่อง Tim Walker ในยูทูบ และบัญชี @timdwalk ในทวิตเตอร์

อดใจรอสักนิด แล้วพบกับ In Teachers We Trust ฉบับภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์ bookscape เร็วๆ นี้!