‘ศุภวัจน์ พรมตัน’ ครูผู้พลิกห้องเรียน ด้วยการรับฟังและความเข้าใจ

 

เรื่อง: ชาลิสา เพชรดง

ภาพ: ศุภวัจน์ พรมตัน

 

หากเราต้องการเห็นเด็กทุกคนมีโอกาสเรียนอย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกัน เราควรเปลี่ยนแปลงอะไรก่อนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระหว่างระดับปัจเจกบุคคลหรือระดับโครงสร้าง? นี่คือคำถามที่น่าคิดตามหากอยากเริ่มลงมือแก้ปัญหาที่อยู่คู่การศึกษาไทยมาเป็นเวลานาน

หลายคนอาจคิดว่าปัญหานี้มีเพียงการเปลี่ยนแปลงที่ระดับโครงสร้างเท่านั้นจึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง หนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน โดยเอริก เจนเซน บอกกับเราว่า ยังมีทางเป็นไปได้เช่นกันที่ระดับปัจเจกจะสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกให้ระบบการศึกษาได้ หรือกล่าวอย่างชัดเจนก็คือ เมื่อเปลี่ยนวิธีคิด ครูหนึ่งคนก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับนักเรียนทุกคนในห้องเรียนได้

ครูมะนาว – ศุภวัจน์ พรมตัน ครูโรงเรียนนครวิทยาคม จ.เชียงราย และเจ้าของเพจเฟซบุ๊กด้านการศึกษาที่มียอดไลก์เฉียด 400,000 อย่าง “อะไรอะไรก็ครู” หนึ่งในครูที่เชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียน มาแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กับ bookscape ว่าครูในปัจจุบันต้องเผชิญกับอะไร คิดอะไรอยู่ และทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยมี “ชุดความคิดใหม่” เป็นตัวช่วย

 

ก่อนอื่น ถ้าพูดถึงปัญหาเร่งด่วนด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ครูมะนาวเห็นว่าควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ คืออะไร

ผมอยากเน้นที่เรื่องการให้งบประมาณรายหัวที่ทำให้ทุกๆ โรงเรียนต้องแข่งขันกัน สมมติโรงเรียนมีนักเรียนจำนวนมากก็จะมีงบประมาณที่มากขึ้นตาม ก็จะเกิดการแข่งขันกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้โรงเรียนตัวเองมีจำนวนนักเรียนที่มากขึ้นเพื่อให้ได้งบประมาณมาบริหารจัดการ ซึ่งบางโรงเรียน พอมีงบประมาณมากก็จะยิ่งสร้างความแตกต่างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่ว่าอย่างไรโรงเรียนใหญ่ก็ชนะ เพราะว่ามีทั้งงบประมาณและทรัพยากรที่มากกว่า อันนี้เรื่องแรก

เรื่องที่สองคือการประเมินครูที่เน้นเอกสาร หลักฐานมากเกินไป คือการจะให้รางวัลกับครูที่ทำงานดี เราพิจารณาจากเอกสารเป็นส่วนใหญ่ แทนที่จะมาดูครูที่ทุ่มเทเวลาให้กับการสอน แต่เรากลับไปดูที่เอกสารว่ามีครบตามตัวชี้วัดที่ต้องการประเมินครูหรือเปล่า ทำให้เวลาเทไปทางเอกสารมากกว่า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มีปัญหาอีกหลายๆ ด้านที่พอเห็นอยู่ แล้วส่งผลต่อกันเป็นวงกลม ดังนั้นถ้าจะเข้ามาแก้ปัญหาการศึกษา ผมว่าเริ่มตรงไหนก่อนก็ได้เพราะปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกันทั้งหมด

แต่ถ้าให้เชียร์ที่สุดคือเริ่มแก้ไขการให้งบประมาณโรงเรียนตามรายหัวก่อน เพราะเราอยากเห็นคุณภาพการศึกษาที่ไม่ว่าคุณจะส่งลูกคุณเข้าโรงเรียนไหน โรงเรียนนั้นก็ดี ตอบโจทย์ทุกอย่าง ไม่ต้องพยายามไปเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุด ทุกโรงเรียนต้องดีเท่ากัน ผมว่าอาจต้องเริ่มจากตรงนี้ครับ

 

อยากให้ครูมะนาวเล่าให้ฟังว่าคนทั่วไปเข้าใจอะไรผิดเกี่ยวกับครู ปัจจุบันนี้ครูเผชิญอะไรอยู่บ้าง อาจเป็นประสบการณ์จากครูมะนาวเอง หรือเสียงจากครูคนอื่นๆ จากเพจ “อะไรอะไรก็ครู”

ขอพูดถึงชื่อเพจก่อน “อะไรอะไรก็ครู” จริงๆ มาจากว่า แค่เปิดใจจะเรียนรู้ อะไรก็เป็นครูได้ทั้งนั้น แต่ฟังดูเป็นคำบ่นแล้ว (หัวเราะ) แต่พอเหนื่อยๆ ก็เริ่มไปทางนั้นครับ ตอนที่ถามกันว่า มีเรื่องอะไรที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับครู ถ้าดูคำตอบของครูที่ตอบมาก็เป็นเรื่องความมั่นคงในชีวิต มีเงินเดือน สบาย มีปิดเทอม คำตอบที่คนทั่วไปมองเข้ามาก็จะประมาณนี้ คือ ทำงานง่ายๆ สบาย มีปิดเทอม

จริงๆ แล้วเรามีทั้งครูที่ได้ปิดเทอมและไม่ได้ปิดเทอม เรื่องนี้แม้กระทั่งคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาของเราก็เข้าใจผิดว่า ครูทั้งประเทศเหมือนกันหมด

อย่างแรกเลย ครูแต่ละท่านมีงานรับผิดชอบต่างกัน ครูโรงเรียนใหญ่ก็มีงานแบบหนึ่ง ครูโรงเรียนเล็กก็มีงานอีกแบบหนึ่ง บางงานก็มีเท่าๆ กันได้รับคำสั่งมาให้ทำคล้ายๆ กัน แต่อย่างที่บอกว่า งบประมาณ ทรัพยากรต่างๆ ทำให้งานครูแต่ละโรงเรียนต่างกันไป อันนี้คือภาพที่อยากให้เข้าใจก่อนว่า ครูทั้งประเทศไม่ได้มีงานที่ทำเหมือนกันครับ

 

แล้วนอกจากลักษณะงาน มีประเด็นอะไรอีกไหมที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับครู

คนมักคาดหวังว่าครูแต่ละวิชาต้องมีความถนัดในด้านนั้นๆ เช่น เราคาดหวังว่าครูสังคมต้องกล่าวนำอาราธนาศีลได้ ครูภาษาไทยต้องสะกดคำได้ถูกหมด หรือว่าครูคณิตศาสตร์ต้องคิดเลขเร็ว อาจไม่เชิงเป็นความเข้าใจผิด แต่เป็นความคาดหวังที่ทุกคนมีต่อครูครับ

 

 

เมื่อพูดถึง “poor students” มีเด็กแบบไหนที่เข้าข่ายนี้บ้าง นอกจากเด็กยากจนขาดแคลน

ผมอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กระดับตำบล จึงรู้สึกว่าคำว่า “poor students” ยังอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจพื้นฐานของครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งส่งผลถึงหลายๆ เรื่อง ผมเคยไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่ขาดเรียนบ่อยๆ เราก็สงสัยว่าทำไมเขาไม่มาโรงเรียน ก็พบว่าเขาไปทำงานตอนกลางคืน ไปรับจ้างเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายที่บ้าน ทำให้ตอนเช้าตื่นมาโรงเรียนไม่ไหว

หรือแม้กระทั่งนักเรียนที่ประมาณคาบสี่หรือช่วงก่อนเที่ยง เขาจะหายออกไป เราก็สงสัยว่าเขารีบออกไปไหน สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าเขารีบไปโรงอาหารเพื่อกินข้าวก่อน เพราะถ้าไปช้าอาจจะไม่ได้กินกับข้าวที่อร่อยที่สุดของวันนั้น เพราะว่าในโรงอาหารมีร้านเดียวที่ขายอาหาร ซึ่งร้านจะไม่ได้ทำเผื่อเยอะ เพราะว่าถ้าทำเยอะก็อาจขายไม่หมด แล้วถ้าไปช้าก็ต้องแย่งกันต่อคิวซื้อข้าว ผมจึงคิดว่าเรื่องที่ส่งผลต่อตัวนักเรียนยังเป็นเรื่องปากท้องอยู่ ซึ่งมันส่งผลไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย

 

ครูมะนาวอาจเคยผ่านประสบการณ์ห้องเรียนที่ไม่ได้เชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้เท่ากัน ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหม

ผมเป็นครูมา 11 ปี ครูที่เข้าไปอยู่ในระบบโรงเรียนจะสอนด้วยวิธีการที่ตัวเองได้เรียนมาตอนประถมหรือมัธยม คือจำวิธีการที่เคยเรียนมา พอมาเป็นครู ครูส่วนหนึ่งก็เอาวิธีการเดิมๆ มาใช้ แล้วเราก็มีคำพูดประมาณว่า สมัยครูเรียนยังทำได้เลยแล้วทำไมตอนนี้นักเรียนทำไมได้ ยังมีความคิดแบบนี้อยู่ ทำให้พอเข้ามาอยู่ในห้องเรียนร่วมกัน ครูกับนักเรียนมีความคิดต่างกัน เกิดความรู้สึกที่ตรงข้ามกัน

จากนั้นผมมีโอกาสได้ไปอบรมการเป็นกระบวนกรจัดการเรียนรู้ (learning facilitator) ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตอนที่ไปไม่เคยได้ยินคำว่า “กระบวนกร” มาก่อน ตอนนั้นผมเป็นครูมาแล้ว 5 ปี ก็มองว่าเป็นโอกาสดี พอได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่วิทยากรจัดการเรียนรู้ให้เรา เป็นการอบรมที่ยาวประมาณสองเดือน ไปอบรมอาทิตย์เว้นอาทิตย์ เราได้เห็นกระบวนการ วิธีการที่วิทยากรใช้อบรมเรา เรารู้สึกว่า วิธีการนี้ก็เอาไปใช้ในห้องเรียนได้

ผมจึงเชื่อมั่นว่าจริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่าเราจะเรียนมาด้วยวิธีการไหน แต่ถ้ามีใครสักคน หรือมีโอกาสได้ทดลองวิธีการใหม่ๆ แล้วได้มาเห็นผลหรือประสบการณ์จากผู้เรียนตอนที่เราเป็นครู ผมว่าก็ยังสามารถเปลี่ยนได้ หลังกลับจากอบรม ผมได้ทดลองเอากระบวนการต่างๆ มาใช้ ส่วนใหญ่จะเน้นที่การกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน ปรากฏว่าบรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไป จากเดิมขนาดตัวเองเป็นครูยังรู้สึกว่าน่าเบื่อ แต่พอใช้วิธีการใหม่เห็นชัดเลยว่าห้องเรียนดีขึ้น หลังจากนั้นก็เลยเริ่มหาอะไรใหม่ๆ มาทดลองใช้เป็นประจำครับ

 

เชื่อว่าการมีโอกาสได้ทดลองวิธีการสอนใหม่ๆ เป็นประโยชน์กับครูและนักเรียนอย่างมาก ยังมีเรื่องใดอีกที่ช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนตามชุดความคิดแบบ growth mindset ได้

ผมสนับสนุนเรื่องที่ว่าผู้บริหารต้องให้อิสระครูในการออกแบบกระบวนการ หรือให้พื้นที่เราได้ทดลอง คือทุกโรงเรียนแล้วสุดท้ายปลายทางทุกคนจะพูดเรื่องโอเน็ตเป็นหลัก ถ้าเราทดลองการสอนแบบใหม่ๆ ไปแล้วผลโอเน็ตและอะไรต่างๆ ยังโอเคอยู่ ยังสามารถตอบได้ว่าสิ่งที่เราทำ ไปพัฒนาอะไร แล้วมันช่วยอะไร ให้เด็กเขาได้รู้อะไรขึ้นมาบ้าง ผมว่าการที่ผู้บริหารปล่อยให้เราลงมือไปก่อน แล้วสุดท้ายมาถอดบทเรียนกันว่าวิธีการนี้ได้ผลนะ น่าจะเป็นทางที่ตอบโจทย์

อีกอย่างผมมองว่าอาจด้วยความโชคดีที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ความคาดหวังต่อคะแนนหรือความคาดหวังต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนไม่ได้สูงมาก ทำให้ครูอย่างผมมีโอกาสได้ทดลองว่าวิธีนี้ก็ใช้ได้นะ หรือคะแนนของเด็กก็ดีขึ้นด้วย เราเองก็ได้หาวิธีใหม่ๆ มาทดลองด้วย

 

ระหว่างที่ทดลองนำวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในคาบเรียน ครูมะนาวได้สื่อสารกับเด็กๆ ด้วยไหมว่าเป็นเพราะว่าครูเชื่อในศักยภาพของพวกเธอว่าพวกเธอสามารถพัฒนาได้

ตั้งแต่ต้นคาบ ผมจะออกตัวก่อนว่า ครูอาจจะสอนน้อยกว่าที่เราคิด อาจจะชวนทำ ชวนเล่นอะไรไป แต่ผมจะสรุปทุกครั้งว่า ที่เราเล่น ที่เราทำกิจกรรมกันวันนี้ ได้ข้อสรุปอะไร ได้เรียนรู้อะไร คือช่วยกันสรุปและถอดบทเรียนร่วมกันว่าวันนี้เกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง แล้วก็ถ้ารู้สึกว่าเรียนแล้วไม่โอเคให้รีบบอก เราจะรีบเปลี่ยนวิธีการ

 

พอได้ใช้ชุดความคิดใหม่มาใช้กับกิจกรรมในห้องเรียนกับเด็กๆ บรรยากาศของห้องเรียนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ขอเท้าความก่อนครับ เมื่อก่อนผมก็เป็นครูแบบตามขนบมาก่อน เคยวางวางตัวเองในระดับที่สูงกว่าเด็ก ทีนี้พอเริ่มเปลี่ยนความคิด เริ่มฟัง สะท้อนจากสื่อ จริงๆ สื่อช่วยได้เยอะมาก ที่บอกว่าตอนนี้สังคมกำลังคาดหวังอะไร นักเรียนกำลังคาดหวังอะไร พอเราฟังเสียงสะท้อนมาเยอะ เรารู้สึกว่า การที่เรายกตัวเองอยู่เหนือลูกศิษย์ไม่ได้โอเคนะ สำหรับเรา เรารู้สึกว่าถ้ามีใครยกตัวเองเหนือกว่าคนอื่นเราก็ไม่โอเคเหมือนกัน

ดังนั้นพอปรับความคิดนี้ของตัวเองได้ จากเดิมที่ไม่อยากรับแอดเฟซบุ๊กของนักเรียน เราเริ่มกดรับ เริ่มเข้าไปดูชีวิตเขา เราเริ่มเห็นชีวิตเขา ในขณะที่ตัวเราเองก็เผยชีวิตของเราให้เด็กเห็นว่าเราก็มีมุมนี้เหมือนกัน เราก็มีความรักได้ อกหักได้ เราก็มีมุมที่ไปสังสรรค์ได้ เกิดการแลกเปลี่ยนให้เห็น เพราะเราคือมนุษย์เหมือนกัน

พอเราเริ่มเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เราจะเริ่มเคารพกัน จากที่เคยใช้อำนาจในห้องเรียนว่านักเรียนต้องฟัง ถ้าไม่ฟังจะถูกตัดคะแนน ถูกทำโทษ เราก็เปลี่ยนจากถ้าเขาไม่ฟังเรา เราจะทำอย่างไรให้เขาสนใจเรามากขึ้น ก็เริ่มเปลี่ยนมาสู่วิธีคิดว่า เราอยากจะสอนในห้องของเราให้ดีขึ้น มันเริ่มจากตรงนี้ แล้วก็ค่อยๆ เป็นไปในทิศทางที่อยากให้เขามีส่วนร่วมมากขึ้น

อย่างเจ็ดชุดความคิดก็สเต็ปนี้เหมือนกัน คือปรับทัศนคติระหว่างตัวครูกับนักเรียนก่อน พอปรับเสร็จ ก็เริ่มมาปรับการสอน เช่น ทำไมเราปรับการสอนแล้วนักเรียนยังไม่สนุกกับเรา เขายังไม่กล้าพูด ยังไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ยังไม่กล้าเล่นเกม ไม่กล้าทำกิจกรรม ก็เข้าไปถามเขาว่า ที่ครูทำ ยังไม่สนุกหรือ เราก็จะได้คำตอบตามมาว่า จริงๆ เขาก็อยากเล่น แต่กลัวเพื่อนแซว กลัวเพื่อนล้อ พอรู้แบบนี้เราจะไปต่อได้

 

ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กที่สอนโดยไม่ได้สอดแทรกชุดความคิด growth mindset แล้วเป็นอย่างไรบ้าง

ปกติผมทดลองกับนักเรียนห้องเดียว เต็มที่คือสองห้อง ซึ่งใช้วิธีการเดียวกัน ถ้าปีหนึ่งดูห้องเดียวก็ใช้วิธีการเดียว ถ้าปีหนึ่งดูสองห้อง สองห้องนี้ก็ใช้วิธีการเดียวเหมือนๆ กัน ถ้าจะเปรียบเทียบก็เป็นการเปรียบเทียบกับรุ่นที่ผมสอนไปก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนวิธีการสอน อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัว ผมรู้สึกถึงบรรยากาศในห้องเรียนกับการเรียนรู้ของเด็ก เป็นความรู้สึกที่ได้สัมผัสกับนักเรียนแต่ละรุ่น คือพอเราเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ไม่ว่าบทเรียนหรือวิธีการ เรารู้สึกว่ามันสนุกขึ้น บรรยากาศในห้องดีขึ้น คะแนนสอบก็ดีขึ้น

 

 

เมื่อลองเสริมชุดความคิดใหม่เข้าไปในการสอน มีเหตุการณ์ในห้องเรียนครั้งไหนที่ครูมะนาวประทับใจ

ผมไปเจอเหตุการณ์ที่นักเรียนไม่ช่วยครูหิ้วของ เราโดนถูกปลูกฝังว่าถ้าเจอครูถือของเยอะๆ จะต้องเข้าไปช่วย เรายังมีชุดความคิดนี้อยู่ ผมก็สงสัยว่าทำไมเขาไม่เข้าไปช่วยครู ซึ่งพอเข้าไปเริ่มคุย เริ่มถาม ไม่ตัดสินเด็กว่าเขาไม่มีน้ำใจ ก็ได้คำตอบว่าที่เด็กไม่ช่วย เพราะว่าเขากลัวเพื่อนจะแซว กลัวเพื่อนจะล้อว่าเขาไปทำดีเอาหน้า มันมีความคิดนี้อยู่ในตัวเด็ก

ทีนี้ผมเลยเอาภาพคนไปช่วยถือของ มีคุณป้าถือของมา มีชายหนุ่มเข้าไปช่วย แล้วชวนนักเรียนคุยว่า เมื่อเห็นภาพนี้แล้วรู้สึกอย่างไร นักเรียนก็ตอบเป็นเชิงบวกมาก จากนั้นผมบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ลองคิดลบดูซิ พอคิดลบปุ๊บ เด็กที่เขาคิดบวกได้ข้อสองข้อ แต่กลับคิดลบได้เยอะมาก ผมก็เลยให้ดูภาพต่อมา เป็นภาพนักเรียนชายช่วยนักเรียนหญิงถือกระเป๋า ทีนี้ความคิดของนักเรียนกลายเป็นลบหมดเลย

โดยพื้นฐานทุกคนมีความคิดที่เป็นบวกอยู่ แต่ว่าด้วยอะไรบางอย่าง ไม่ว่าด้วยการสะกิด ด้วยคำพูดของเพื่อนๆ รอบตัว ทำให้เขาคิดลบได้เหมือนกัน ดังนั้นผมจึงบอกว่าในภาพเดียวกัน แม้กระทั่งตัวเราเอง ยังมองได้สองมุม ดังนั้นทำไมเราต้องสนด้วยว่าคนอื่นจะคิดกับเราเป็นลบหรือบวก ถ้าเรารู้สึกบวกกับตัวเอง เราคิดบวกของเราก่อนดีไหม

ผมรู้สึกว่าคาบนั้นเป็นคาบที่รู้สึกประทับใจเพราะว่าเราเอาเนื้อหาที่ต้องเรียนออกไปนิดหนึ่ง แล้วเอาภาพที่จะมาชวนนักเรียนคุยกัน แล้วนักเรียนเขาอยู่กับเราตลอด อาจจะไม่ได้เล่นเกม วิ่งไปวิ่งมา แต่ว่าการได้นั่งคุยแลกเปลี่ยนกัน อันนี้ก็คือ active learning อย่างหนึ่ง ที่รู้สึกประทับใจเพราะนักเรียนอยู่กับเราตลอด แล้วเขาคิดตามเราตลอด แล้วสุดท้าย เราไม่ได้ตัดสินว่านักเรียนต้องคิดแบบไหน แต่เขาได้คำตอบด้วยตัวเขาเอง

 

มีคาบไหนที่ไม่ประสบความสำเร็จไหม และมีสาเหตุจากอะไร

ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ตัวเราเหมือนกัน เรารู้สึกว่าวันนี้อยากลองใช้วิธีสอนแบบเลกเชอร์ดูบ้าง ให้เขาจดตามที่เราสอนบ้าง ปรากฏว่าเขาไม่โอเค บางคนก็หลับ จริงๆ ก็เป็นความผิดพลาดของเราส่วนหนึ่ง แล้วก็มีบางคาบที่ให้นักเรียนมาเรียนร่วมกันสองห้อง จำนวนนักเรียนต่อห้องที่ผมสอนปกติอยู่ที่ 20-30 คน แต่วันนั้นมี 60 คนอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วกิจกรรมที่เราออกแบบไว้ เมื่อจำนวนนักเรียนในห้องเยอะเกินไปเราก็ควบคุมไม่ได้ ทำให้รู้สึกผิดหวังกับคาบนั้นครับ

 

มีประสบการณ์ที่สามารถช่วยนักเรียนให้กลับมาเรียนโดยใช้ชุดความคิดใหม่ช่วยไหม

ความล้มเหลวของเทอมที่แล้วคือมีนักเรียนในรุ่นเดียวกันออกไปสามคน เป็นนักเรียนที่ผมเป็นครูประจำชั้นสองคน เขาออกไปก่อนแล้วก็กลับเข้ามา ผมไปช่วยคุยว่าอยากให้กลับมาเล่นฟุตบอล จะได้มาซ้อมกันต่อ พอหมดช่วงฟุตบอลแล้วเขาก็หายออกไป มีช่วงหนึ่งที่เขามาๆ หายๆ เราก็ได้สอบถามเขา ก็ได้รู้ว่าพอเขาออกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่ เพื่อนในห้องก็เป็นอีกรุ่นหนึ่งแล้ว เลยรู้สึกไม่ค่อยสนิท แล้วก็อายเพื่อนด้วยที่ต้องกลับมา ก็เลยหลุดออกไป ที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือนักเรียนที่ออกไปอีกสองคนไม่ได้มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ยังถือว่ามีศักยภาพที่มาโรงเรียนได้

ในมุมมองของครูที่มองเข้าไป คิดว่าการช่วยเหลือให้งบประมาณสนับสนุน มีส่วนช่วยได้เยอะมาก นักเรียนบางคนตัดสินใจว่าจะเรียนต่อหรือไม่ บางทีก็ตัดสินใจแค่ว่าเขายังค้างค่าเทอมของเทอมที่แล้วอยู่ประมาณ 3,000 บาท ในมุมเราอาจมองว่าเป็นเงินไม่มาก แต่สำหรับเขารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่อยากเรียนต่อแล้ว

อีกอย่างคือการให้เป้าหมายในชีวิตเขา เหมือนกับนักเรียนจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าในเมื่อจบ ม.6 แล้ว เขาก็ต้องออกมาช่วยที่บ้านทำการเกษตร เขาก็บอกว่าแล้วจะต้องเรียนจนจบ ม.6 ทำไม ในเมื่อออกตอนนี้ก็ทำงานได้เลย ก็เป็นอีกเหตุผลที่เขาหลุดออกไป ในบทบาทครู ผมมีเพื่อนที่ค่อนข้างหลากหลาย ผมไปขอความช่วยเหลือบ้าง เพื่อนก็คอยช่วยเหลือ คอยป้อนงานให้เด็กทำบ้าง เด็กก็จะมีรายได้ แล้วก็สามารถมาเรียนต่อได้

 

โควิด 19 สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยเหลื่อมล้ำจริง ทั้งเรื่องการเรียนรู้และเรื่องเศรษฐฐานะ และในไม่ช้าจะเป็นปัญหาใหญ่ไปมากกว่านี้ เราจะทำอะไรได้บ้าง แล้วถ้าใช้ชุดความคิดใหม่มาช่วยจะเป็นจริงได้ไหม ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ

จริงๆ ผมยังมองไม่เห็นการที่จะลดความเหลื่อมล้ำ แต่การใช้คำสั่งเดียวกับทั้งระบบ ผมคิดว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคน เราจำเป็นต้องกลับมาคุยกันต่อว่าทำอย่างไรจึงจะให้อิสระกับแต่ละโรงเรียนได้ตัดสินใจเลือกวิธีวัดและประเมินผลให้เหมาะกับบริบทและพื้นที่ของตัวเอง นี่คือสิ่งที่สถานการณ์โควิดทำให้เราเห็นภาพชัดมากที่สุด สอง เราเห็นภาพความเหลื่อมล้ำแน่นอน บางคนมีอุปกรณ์เข้าถึง บางคนไม่มีอุปกรณ์เข้าถึง สาม เราเห็นวิธีการเรียนรู้อันหลากหลายของเด็กๆ ธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนที่ต่างกัน

จริงๆ การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กบางคนไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาอยู่กับการเรียนออนไลน์มานานแล้ว ถ้าเขาเข้าถึงอุปกรณ์ได้ เขาสามารถเรียนร้องเพลงได้ เรียนเต้นได้ เรียนในสิ่งที่เขาอยากรู้ได้ สิ่งสำคัญคือการประเมินว่าการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้นมีความหมายและถูกนับรวมอยู่ในการเรียนด้วย ผมอยากให้เราไปเจอกันตรงปลายทางว่า ถ้าเรากำหนดว่าคุณจะต้องได้เรียนเท่านี้ คุณไม่ต้องเรียนตามที่เรากำหนดก็ได้ แต่ปลายทางคุณสามารถไปถึงความสำเร็จนั้นได้ไหม คืออยากให้กระบวนการเป็นไปตามความถนัดของแต่ละบุคคลมากกว่า

 

ระบบการประกวดและระบบอำนาจขัดแย้งกับเจ็ดชุดความคิดมาก ทำอย่างไรให้ สพฐ. เข้าใจเรื่องนี้ และโรงเรียนจัดการตัวเองได้

ผมมองสองส่วน คือ คำสั่งการจากส่วนกลางที่ระบุมาอย่างชัดเจนว่าจะให้ครูทำอะไรบ้าง มีทั้งความสับสน ที่สั่งกลางๆ มาแล้วโรงเรียนปฏิบัติไม่ได้หรือว่าเราเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน กับแบบที่มีมาเลยว่าจะต้องทำตามสเต็ปนี้ 1 2 3 4 ผมว่าตรงนี้คือสิ่งที่ส่วนกลางกำลังทำอยู่ ทีนี้กลับมาที่โรงเรียนบ้าง โรงเรียนคือครูและผู้บริหาร คือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับตัวผู้เรียนมากที่สุด คือคนที่รู้ปัญหาและรู้บริบทมากที่สุด เป็นไปได้ไหมที่โรงเรียนจะมีอิสระ หรือเรียกร้องอิสระให้กับโรงเรียนว่าเราจะทำด้วยวิธีการนี้เป็นวิธีการของโรงเรียน

อันนี้อาจเป็นช่วงที่ไม่ได้เกี่ยวกับช่วงโควิดด้วยนะครับ เป็นภาพรวมทั่วไปเลย ครูจะต้องมั่นใจในความสนิทสนม หรือมั่นใจว่าคุณคือคนที่รู้จักนักเรียนในห้องเรียนมากกว่าคนที่สั่งให้คุณทำอะไร คือถ้าครูมีความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าเรารู้จักเด็กมากกว่า เรามีวิธีการทำให้เด็กเรียนรู้ด้วยวิธีของครูเองมากกว่าที่ระบบสั่งการมา ครูจะลุกขึ้นมาแล้วก็ทำในวิธีที่ตัวเองเชื่อได้หรือไม่ อาจดูขัดแย้งกับการทำงานที่เป็นระบบ แต่ว่าจริงๆ แล้ว คนที่อยู่กับนักเรียนคือครู คือคนที่ใกล้ชิดกับเด็กๆ ที่สุด ถ้าครูมีความคิดอย่างนี้ หรือเกิดวิธีการอย่างนี้ในห้องเรียน ผมว่าเราเริ่มที่ตัวครูได้

 

ครูมะนาวมีอะไรอยากฝากทิ้งท้ายไหม

โดยส่วนตัวผมไม่ได้คาดหวังกับระบบที่เป็นกรอบการทำงานของครู แต่สิ่งที่ทำให้ผมมีความหวังอยู่คือเราเห็นเพื่อนครู เราเห็นเพื่อนๆ ในเครือข่ายขยับและทำอะไรกันอยู่ มีการจับกลุ่มแล้วแลกเปลี่ยนวิธีการสอนกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แต่ว่า 2-3 ปีนี้เริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เรารู้สึกว่านี่แหละคือบรรยากาศและกระบวนการที่จะมาเปลี่ยนการศึกษา เปลี่ยนที่ห้องเรียน และผมว่านี่คือความหวังที่ชัดเจนที่สุดของการศึกษาไทยในตอนนี้

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งจากเสวนาสาธารณะ “Poor Students, Rich Teaching สอนเปลี่ยนชีวิต – สู้ความเหลื่อมล้ำด้วยพลังแห่งการสอน” โดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

 

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่